เรื่องที่ไม่มีสอนในโรงเรียนแพทย์: The Untold Stories from The Medical School.
เช้าชาม...



นักเรียน ม.ปลาย ที่มาฝึกงานที่โรงพยาบาลถามผมว่า "ทำงานเป็นหมอนั้นสบายไหม ? รายได้ดีไหม ?"
"แล้วแต่ว่าจะเลือกแบบไหน ได้ทั้งนั้น" ผมตอบแบบฟังแล้วน่าจับมาเขกหัว

แต่ผมตอบจริง ๆ นะ ไม่ได้ตอบเล่น ๆ ...
งานของแพทย์นั้นต่างจากเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ในโรงพยาบาล แทบจะโดยสิ้นเชิง !!!

ผมยังไม่เคยได้ยินว่าโรงพยาบาลไหนให้แพทย์ต้องมาลงเวลาและเซ็นชื่อทำงาน (อาจมีแต่คงน้อยมาก) ไม่นับแพทย์ประจำบ้านหรือแพทย์ฝึกหัดซึ่งต้องทำงานภายใต้การควบคุมของแพทย์อาวุโสหรืออาจารย์แพทย์ ซึ่งมีระบบการฝึกอบรมมาควบคุม แพทย์คนหนึ่งสามารถ เข้า-ออก ที่ทำงาน (โรงพยาบาล) ได้แทบจะไม่จำกัด

วันไหนนั่งรถผ่าน clinic สักแห่ง ลองสังเกตเวลาปิด-เปิด ดูสิ 07:00-08:30 / 12:00-13-00 / 16:30-20:00 (บางแห่งดีหน่อย เปิดห้าโมงเย็น)

หมอสามารถเข้าไปทำงานสักเก้าโมงเช้า เก้าโมงครึ่ง หรือสายกว่านั้นได้ ตราบใดที่เขายังสามารถรักษาสถานะของตัวเองไว้ได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรเลยกับการรักษาสถานะข้าราชการคนหนึ่งเอาไว้

หลายคนอาจ "อ้าง" ว่าต้องอยู่เวร ต้องปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ ..ทั้งที่ในความเป็นจริงการอยู่เวรในบางวัน ไม่ได้ต่างไปจากการทำงานปกติในแต่ละวันเลย กล่าวคือทำงานในเวลาราชการตามปกติ ส่วนนอกเวลาราชการก็อยู่กับบ้าน หรือเปิดคลีนิก ไม่ได้ถูกตามตัวมาดูแลคนไข้ในโรงพยาบาลในช่วงนอกเวลาราชการเลย หรือไม่ก็มีนักเรียนแพทย์เวชปฏิบัติ (Extern) และแพทย์ฝึกหัดคอยดูแลคนไข้นอกเวลาราชการให้ กลายเป็นว่าเอาการอยู่เวรซึ่งไม่หนักเกินกำลัง เป็นข้ออ้างที่จะได้เข้าทำงานสาย เลี่ยงงานได้มากกว่าคนอื่น

ผลของมันทำให้หมออีกหลายคนซึ่งทำงานหนักจริง อยู่เวรแล้วไม่ได้นอนจริง ๆ พลอยได้รับผลเสียจากการกระทำของคนส่วนน้อย (หรืออาจไม่น้อย ?)

วันก่อนมีประชุมองค์กรแพทย์ (วันหลังจะเล่าเรื่ององค์กรนี้ให้ฟัง) วาระหนึ่งที่พูดถึงกันก็คือที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอก ช่วงบ่ายแก่ ๆ ใกล้เลิกงาน พอคนไข้ขาดช่วงหมอก็จะกลับบ้านบ้าง ไปห้องพักแพทย์บ้าง ฯ พอมีคนไข้มา หมอก็ไม่ค่อยอยากจะมาตรวจนัก เพราะบางทีมีแค่คนเดียวหรือสองคน พอหนัก ๆ เข้า ก็มีคนไข้เขียนร้องเรียนขึ้นมา องค์กรแพทย์ก็เลยต้องมาหาทางออกว่าจะทำอย่างไรให้แพทย์มาตรวจคนไข้ได้ตลอดเวลา หรือมีแพทย์รอรับปรึกษาจากห้องตรวจผู้ป่วยนอกในช่วงบ่ายได้ตลอดเวลาราชการ ใจจริงก็ไม่ใช่ว่าจะให้อยู่ถึงสี่โมงครึ่งตามเวลาราชการเป๊ะ ๆ หรอกครับ เพราะส่วนมากพอใกล้สี่โมงเย็น คนไข้ก็ไม่ค่อยมาแล้ว โอกาสตรวจไปจนถึงสี่โมง-สี่โมงครึ่งนั้นน้อยอยู่แล้ว

คุยกันไปคุยกันมาสักพัก ก็มีคนบอกว่าให้ตัดแค่สามโมงครึ่งพอ ถ้ามาหลังจากนั้นให้มาตรวจใหม่วันพรุ่งนี้...

แหม อย่างนี้ก็เกินไปหน่อยมั๊งพี่... จะหาเรื่องกลับบ้านกันตั้งแต่ยังไม่สี่โมงเย็น สุดท้ายก็ได้ข้อตกลงกันมาว่าอย่างไรก็ตาม หมอก็ต้องมีหน้าที่ตรวจ หรืออย่างน้อยก็ต้องสามารถให้คำปรึกษาได้ จนถึงสี่โมงเย็น หลังจากนั้นให้ส่งไปปรึกษาห้องฉุกเฉิน

ไม่รู้ว่าเป็นหมอกันมานานจนลืมไปแล้วหรือเปล่าว่าตอนเรียนหมอนั้นเขาสอนมาให้ทำหน้าที่รักษาคนป่วย หรือไม่ก็ทั้งตระกูลเป็นหมอกันหมด ไม่สบายอะไรก็มีพ่อแม่เอายามาประเคนให้ถึงบ้าน ถึงไม่ได้รู้เลยว่าคนที่ต้องลำบากเดินทางมาไกล ๆ นี่เขาเหนื่อยยากแค่ไหน หรือไคนที่ไม่มีเงินพอจะเดินทางแล้วเดินทางอีกหลายรอบ ต้องไปกู้เงินเป็นค่าเดินทางนั้นจะลำบากขนาดไหน

เท่านี้ยังไม่พอ บางคนยังอยากให้จำกัดคนไข้ว่าไม่ให้เกินกี่คนต่อวัน หรือให้ตรวจไม่เกินสี่โมงครึ่ง ถ้าเหตุผลดีหรือมีความเหมาะสมก็คงไม่เท่าไหร่ (เช่นตรวจมาตั้งแต่เช้าแล้ว หรือต้องใช้เครื่องมือพิเศษ ทำความสะ อาดไม่ทัน เป็นผู้เชี่ยวชาญคนเดียวในโรงพยาบาล) เพราะคงไม่มีใครอยากให้หมอที่ทำงานเต็มที่ต้องเหนื่อยจนเกินกำลัง แต่คนที่พูดในที่ประชุมว่าขอให้จำกัดคนไข้นี่เขาเปิดคลีนิกตอนกลางวันด้วย แถมคนไข้เยอะอีกต่างหาก กว่าจะกลับโรงพยาบาลมาตรวจคนไข้นอกช่วงบ่ายก็ปาเข้าไปบ่ายโมงครึ่ง บางวันถึงบ่ายสองก็มี ก็เลยทำให้กว่าจะตรวจเสร็จ ปาเข้าไปสี่โมงครึ่ง-ห้าโมง ..สรุปได้ว่าหมอไม่สามารถเสกคาถาหายตัวจากคลีนิกมายังโรงพยาบาลได้นี่

แล้วใครว่าหมอทำงานหนัก ?

อันที่จริงคนที่ทำมากก็มี ทำน้อยก็มี บางคนทำให้กับโรงพยาบาลแต่เพียงอย่างเดียว รายได้ก็จำกัดตามระบบราชการ บางคนจึงมีทางออกไปทำโรงพยาบาลเอกชนบ้าง ไปเปิดคลีนิกบ้าง

แต่พอถึงจุดหนึ่ง หลาย ๆ คนกลับทำคลีนิกให้เต็มที่ และทำให้โรงพยาบาลเป็นทางออก (outlet) ของคลีนิก แทนที่จะทำงานโรงพยาบาลให้เต็มที่ แล้วทำให้คลีนิกเป็นทางออกของโรงพยาบาล ซึ่งถ้าทำได้อย่างนี้จริง ๆ มันก็จะเป็นการถ่วงสมดุลย์ที่พอเหมาะ ไม่หนักจนเกินไปทางด้านใดด้านหนึ่ง

แต่บ่อยครั้งที่แพทย์กลับใช้ความเป็นบุคคลากรหายาก ทำประโยชน์ให้กับตนเองมากจนเกินงาม ...บางครั้งมากจนไปกระทบกับสวัสดิภาพของผู้ป่วยเจ็บในโรงพยาบาล

ผู้บริหารก็ไม่มีหนทางจะจัดการได้อย่างเต็มที่ ระเบียบราชการจึงกลายเป็นดาบที่มีไว้ใช้สำหรับตัดหัวข้าราชการที่ไม่มีทางออกที่ดีกว่าเท่านั้นเอง ผมเคยบอกไว้ในบทความก่อนหน้านี้ว่าโอกาสที่แพทย์คนหนึ่งจะถูกให้ออก/ไล่ออกจากราชการนั้นน้อยมาก ๆ

ลองซื้อหวยรัฐบาลงวดละใบ ตั้งแต่เริ่มทำงานไปจนเกษียณ โอกาสถูกรางวัลที่หนึ่งของคุณจะมากกว่าโอกาสถูกให้ออก/ไล่ออก จากราชการหลายสิบเท่า

เมื่อใดก็ตามที่เข้ามาในระบบแล้ว ก็แทบจะไม่มีโอกาสถูกตรวจสอบจากระบบได้เลยว่าทำงานให้กับราชการเต็มเม็ดเต็มหน่วยหรือเปล่า หรือถึงแม้จะเบียดบังงานราชการมากสักเพียงใด ก็ไม่มีระบบใดมาจัดการได้อย่างเหมาะสมได้เลย

หลายคนจึงหลีกเลี่ยงไปทานมื้อเช้าชามหนึ่ง แล้วไปเปิดคลีนิก สาย ๆ ค่อยเข้ามาโรงพยาบาล เที่ยง ๆ ออกไปกินมื้อเที่ยง แต่หลายชามหน่อย ช่วงบ่ายเลยเข้าช้า แต่พอเย็น ๆ จะไปเปิดคลีนิก ไม่ต้องกินข้าวก็ได้ เปิดตั้งแต่สี่โมงยังสองทุ่มครึ่ง


นักเรียนแพทย์อ่านแล้วเลือกเอาเองว่าจะเป็นแบบไหน คำปฏิญาณก่อนรับใบประกอบโรคศิลป์ พูดแล้วอย่าคืนคำ !!!

สำหรับผม วันที่รับใบประกอบโรคศิลป์ คนอื่นเขาตะโกนกันปาว ๆ แต่ผมไม่เผยอริมฝีปากแม้แต่นิดเดียว


Create Date : 30 เมษายน 2549
Last Update : 17 กรกฎาคม 2550 10:34:10 น. 2 comments
Counter : 717 Pageviews.

 
อุดมการณ์กับอุดมกู บางทีก็พูดยากครับ ผมว่ามันต้องบาลานซ์กันให้ดีน่ะฮะ

สวัสดีตอนสายๆครับ


โดย: keano (jonykeano ) วันที่: 5 พฤษภาคม 2549 เวลา:10:00:58 น.  

 
ผมอ่าน blog หัวข้อนี้ทั้งหมดแล้ว ชอบทุกอันเลยครับ คิดว่าทำให้ได้เห็นมุมมองของคุณหมอที่มากกว่าที่เคยเห็นใน Thaiclinic


โดย: คนแถวนี้* IP: 124.120.136.167 วันที่: 11 พฤษภาคม 2549 เวลา:15:38:13 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Zhivago
Location :
นครศรีธรรมราช Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]




มนุษย์เข้มแข็ง
กว่าที่ตนคิดไว้เสมอ
New Comments
Group Blog
 
 
เมษายน 2549
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
30 เมษายน 2549
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add Zhivago's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.