เรื่องที่ไม่มีสอนในโรงเรียนแพทย์: The Untold Stories from The Medical School.
refer(er)



"การกระทำ" เป็นหนึ่งในสิ่งที่จะกำหนดคุณค่าของใครคนหนึ่ง

เมื่อวานมีแพทย์ฝึกหัด โทรศัพท์มาขอส่งผู้ป่วยคนหนึ่งมารักษาต่อที่โรงพยาบาล

"หนูแค่รับหน้าที่ refer (ส่งต่อ) คนไข้เท่านั้นเองค่ะ ไม่รู้รายละเอียดเท่าไหร่หรอก" ฟังแล้วน่าจับมาเล่นละครนางฟ้าซาตานเป็นอย่างยิ่ง
ผมถือว่านี่เป็นหนึ่งในภาวะวิกฤตของความรับผิดชอบต่อหน้าที่แพทย์ !!!

...โอ้โห ร้ายแรงอย่างนั้นเลยหรือ ?!
...คำตอบง่าย ๆ ถ้าคิดเรื่องการส่งคนป่วยข้ามโรงพยาบาลได้แค่นี้ ไม่ต้องใช้หมอก็ได้ ใช้เจ้าหน้าที่ธุรการก็พอ

แต่ถ้าอยากจะส่งต่อผู้ป่วยให้ดี และให้ได้ตามหลักวิชาการ เมื่อคุณต้องโทรศัพท์ติดต่อโรงพยาบาลอื่นเพื่อส่งต่อผู้ป่วย ให้ดังต่อไปนี้
...รับรองผล หากโทร.ไปแล้วยังโดนด่า ให้ด่ากลับ แล้วรีบวางหู ที่เหลือค่อยว่ากันใหม่


1. ประเมินความเร่งด่วน / ให้การรักษาเบื้องต้นที่เหมาะสม
โดยให้แบ่งตามที่มีความรู้พื้นฐานมา emergency-urgency-elective เพื่อกำหนดเวลาในการประเมินผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บก่อนการส่งต่อ

ถ้ารายไหนอาการหนัก ก็คงไม่ต้องเสียเวลาไปซักประวัติย้อนอดีตกันจนไปเขียนอัตตชีวประวัติได้เป็นเล่ม ๆ ให้ซักประวัติ/ตรวจร่างกายที่สำคัญ ๆ แล้วให้การรักษาให้ผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บนั้นเป็นเบื้องต้นก่อน ให้อาการคงที่พอที่จะเดินทางโดยรถตู้โรงพยาบาลได้

..อย่าคาดหวังว่าจะมีเฮลิคอปเตอร์หรือเครื่องบินเจ็ทมารับ (ชีวิตผมเคยเห็นครั้งเดียวตอนเยอรมันมารับเหยื่อสึนามิที่โรงพยาบาล แถมพ่วงเอาพวกสแกนดิเนเวียติดไปด้วยทั้งกลุ่ม)

แต่ถ้ารายไหนพอจะรอได้สักพัก ไม่ได้รีบร้อน ประเภทก่อนขึ้นรถ refer คนไข้ขอไปเข้าห้องน้ำก่อนได้ ก็ค่อย ๆ ซักประวัติ ค่อย ๆ ตรวจร่างกาย คุยกับคนไข้ กับญาติให้เรียบร้อยเสียก่อน การรักษาในเบื้องต้น หรือการรักษาใด ๆ ที่ศักยภาพของโรงพยาบาลมีได้ ก็จงให้กับคนเจ็บคนป่วยให้เรียบร้อยเสียก่อน เพราะกรณีเช่นนี้ ไม่ต้องการ golden period ไม่มีชั่วโมงวิกฤต ทั้งหมดอยู่ที่ "จังหวะ" และ "เวลา" ที่เหมาะสมเท่านั้นเอง


2. จะส่งไปเมื่อไหร่ ??
ถ้าตอบคำถามนี้ไม่ได้ในเบื้องต้น ให้ถาม staff ที่รับผิดชอบคนไข้คนนี้ก่อน ถ้าเป็นเจ้าของไข้เองให้ตั้งสติ นโมสามจบ แล้วคิดคำตอบด้วยตัวเอง

เมื่อมีเหตุที่ต้องส่งคนป่วยต่อแล้ว และให้การรักษาเบื้อต้นตามความเหมาะสมแล้ว ก็มาดูภาวะของคนเจ็บคนป่วยกันอีกทีว่าจะต้องไปในบัดเดี๋ยวนี้ หรือว่ารอพรุ่งนี้ก่อนค่อยส่ง หรือว่าจะรอให้เรารักษาเสร็จก่อนแล้วค่อยให้กลับบ้าน แล้วไปติดตามการรักษาที่บ้านเกิดเมืองนอนในอีกหนึ่งเดือน-สองเดือนข้างหน้าก็ได้ มีระดับความเร่งรีบอยู่หลายระดับ ต้องประเมินทั้งความรุนแรงของโรค ศักยภาพของโรงพยาบาล สถานการณ์ข้างเคียง ฯ

ถ้ารีบ ก็ต้องหาทางส่งไปให้เร็ว ใช้รถโรงพยาบาลเพราะตามระเบียบเขาให้ใช้รถคันนี้เท่านั้น อย่าลากคนไข้ให้ไปกับรถกระบะ หรือให้ญาติถ่อสังขารไปเช่ารถมาเอง เพราะกรณีรีบด่วน ผู้ป่วยต้องอยู่ในความดูแลของระบบตลอดเวลา ถ้าไม่มีรถโรงพยาบาล เช่นคนขับรถไส้ติ่งแตก นอนโรงพยาบาลอยู่ ก็ให้จัดหารถที่มีความเหมาะสมรองลงมา เช่นรถโรงพยาบาลข้างเคียง หรือโรงพยาบาลเอกชน

ถ้าไม่รีบ หรือรักษาเสร็จแล้ว ให้คนไข้กลับบ้าน ก็บอกเขาว่าจะต้องไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลใกล้บ้านเมื่อไหร่ หรือมีอาการอะไรถึงค่อยไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน พร้อมกับเขียนใบส่งตัว หรือเขียนบันทึกข้อความ ให้คนไข้ถือกลับไปรักษาต่อด้วย เพราะหมออีกโรงพยาบาลหนึ่งคงไม่สามารถนั่งเทียน บริกรรมคาถาแล้วรู้ว่าคนไข้เป็นอะไรแน่

แต่ถ้ากลาง ๆ คาบลูกคาบดอก พอจะรอได้บ้าง แต่ไม่กล้ารับไว้รักษาเองจนเต็มกลืน ก็รอเวลาที่เหมาะสม ค่อยส่งไปรักษาต่อ อาจจะเป็นพรุ่งนี้เช้า วันจันทร์เช้า (ซึ่งต้องระวัง เพราะบางทีเล่นหยุดติดต่อกันสี่วัน เอาคนป่วยนอนรอ มีหวังเดี้ยงกันพอดี) ให้พิจารณาความจำเป็นเป็นราย ๆ ไปครับ ไม่มีใครบอกได้เป็นข้อ ๆ ปล้อง ๆ แน่

ให้คิดอยู่เสมอว่าการส่งผู้ป่วย-คนเจ็บ ไปรักษาต่อโรงพยาบาลอื่น ไม่ใช่แค่โทรศัพท์ครั้งเดียวเสร็จ ญาติต้องเตรียมตัว เตรียมเสื้อผ้า แปรงสีฟัน ยาสีฟัน ผ้าอนามัย ... พยาบาลต้องสรุปชาร์ท เคลียร์ค่ารักษา เจ้าหน้าที่ธุรการต้องจัดการเรื่องสิทธิ์การรักษา คนขับรถต้องไปหากาแฟ-กระทิงแดงมากินก่อนออกเดินทาง ไม่นับโรงพยาบาลปลายทางที่ต้องรับคนไข้ต่อ ต้องมาเริ่มกระบวนการรับคนไข้ใหม่อีกหนึ่งรอบ


3. มีขั้นตอนการส่งต่อผู้ป่วยอย่างไรบ้าง ?
เริ่มต้นเลยก็ต้องบอกคนเจ็บคนป่วยก่อน จากนั้นบอกญาติ ในบางกรณีก็อาจจำเป็นต้องขอความเห็นหรือให้ผู้ป่วยและญาติตัดสินใจ แต่ในบางกรณี การตัดสินใจอยู่ที่แพทย์ เพียงบอกให้ญาติรับทราบก็พอ ดูเป็นราย ๆ ไปนะครับ เช่น มีคนบาดเจ็บ ช็อค ความดันโลหิตต่ำ มาโรงพยาบาลชุมชน อันนี้คงไม่ต้องขอความเห็นจากใคร เพราะหากไม่ส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลใหญ่ ก็จะต้องเสียคนเจ็บไปแน่ มีทางเดียวคือรักษาให้เหมาะสมแล้วบอกญาติว่า "ต้อง" ไปรักษาต่อเท่านั้นพอ

จากนั้นก็บอกโรงพยาบาลปลายทาง โทร.ไปคุยกับเขาเลยโดยตรง ขอสายอาจารย์แพทย์ หรือแพทย์เวร แล้วคุยรายละเอียดให้ทราบ อย่างที่บอกไว้เมื่อข้อที่ 1. ถ้ามีเวลาก็คงต้องซักถามรายละเอียดให้ดี ถ้าไม่มีเวลาหรือเร่งด่วนมากก็รวบรัดเสียหน่อย อย่าเยิ่นเย้อชนิดที่คุยกันสิบนาทีแล้วเพิ่งบอกว่าคนไข้ช็อคอยู่นะครับ !!!

หลายโรงพยาบาลจะมีปัญหาเรื่องการส่งต่อผู่ป่วยไปโรงพยาบาลใหญ่ ๆ โดยมักจะพบได้ในพื้นที่ที่มีโรงพยาบาลใหญ่หลายโรงอยู่ใกล้กัน และอยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเหมือน ๆ กัน โทร.ไปคุยแล้วอาจได้คำตอบว่า "ไม่มีเตียง" "ไม่มีเครื่องช่วยหายใจ" ฯลฯ

ในความเป็นจริง จะมีการจัดระบบการส่งต่อผู้ป่วยไว้แล้ว เช่น โรงพยาบาลชุมชน ก. จะสามารถส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลไหนได้บ้าง การโทร.ไปคุยแล้วได้รับการปฏิเสธ ไม่ได้หมายความว่าไม่ให้ส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลนั้น แต่สิ่งที่ผู้ส่งต้องทำคือหาทางติดต่อโรงพยาบาลอื่นที่อยู่ใกล้เคียงและมีศักยภาพเพียงพอ ...ถ้าไม่มีโรงพยาบาลไหนที่มีศักยภาพเพียงพอหรือไม่มีโรงพยาบาลอื่นสามารถรับผู้ป่วย-เจ็บได้ ก็ต้องส่งไปโรงพยาบาลที่มีระเบียบหรือข้อบังคับกำหนดไว้อยู่นั่นเอง ใครโวยมา ให้โวยกลับได้ !!!


จากนั้นก็บอกพยาบาลประจำหอผู้ป่วย เพื่อวางแผนจัดการ ...อย่าคิดว่าโทรศัพท์เสร็จแล้ว ทางโน้นเขารับแล้ว ก็หมดหน้าที่เรา ถ้าเป็นไปได้ก็สอบถามดูว่ามีรถ มีคนพร้อมอยู่หรือเปล่า ถ้าพยาบาลหรือฝ่ายบริหารขอให้รอ จะรอได้หรือไม่ รอได้นานแค่ไหน ซึ่งผมว่าเป็นเรื่องของการจัดการ บางเรื่องก็ต่อรอง ผ่อนปรนได้ แต่บางเรื่องคงต้องยืนยันตามหลักวิชาการ หรือถ้ารอได้ก็บอกไปเลยว่ารอได้ จะได้ไม่ทำความยุ่งยากให้คนอื่นโดยไม่จำเป็น

เตรียมประวัติ ผลการตรวจร่างกาย ผล lab และ film ให้เรียบร้อย ให้ญาติไปยืม film หรือบางคนใจดีจะให้ถ่ายเอกสารประวัติการรักษา ก็จัดการให้เรียบร้อยไปเลยทีเดียวในระหว่างรอกระบวนการทางธุรการของโรงพยาบาล ถ้าจะต้องไปยืม film ก็ให้ญาติไปยืมให้เรียบร้อยเสีย ผลเจาะเลือดต่าง ๆ ก็ลอกลงในใบส่งตัว ถ้าใบส่งตัวไม่พอก็แนบบันทึกข้อความไปด้วยอีกใบ (ผมทำอย่างนี้ประจำ ไม่ต้องกลัวว่าจะเป็นคนแรกของโลกที่ทำอย่างนี้)

ที่สำคัญ เขียนให้คนอ่านออก ลายมือดีพอควร ไม่ถึงกับต้องตัวตรงเต็มบรรทัดก็ได้ รายละเอียด วัน-เวลา ก็ลงให้ชัดเจน อย่าเขียนแบบตัวอย่างข้างล่างนี้

"MCA 15 min. PTA" เพราะสรุปแล้วก็ไม่รู้ว่าไปโดนอะไรเข้าตอนกี่โมง คงแปลเป็นไทยได้แค่ว่า
"อุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ (อาจเป็นขับจักรยานยนต์ชนยานอวกาศ หรือเมาแหกโค้งชนเสาไฟฟ้าก็ได้) 15 นาทีก่อนมาถึงโรงพยาบาลของข้าพเจ้า แต่ส่วนจะเป็นกี่โมง-วันไหน นั้นข้าพเจ้าไม่บอก"
อย่างนี้น่าจับมาเขกหัวสักทีสองที

-----------------------------------------------------

ต่อไปเป๊นกรณีศึกษา

แพทย์ฝึกหัด จะส่งผู้ป่วยที่ไม่รีบด่วน ไม่ร้ายแรง รักษาโดยการสังเกตอาการ และรักษาตามอาการ (โดยทั้งสองโรงพยาบาลต่างมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้ทั้งคู่) ให้กลับไปรักษาต่อโรงพยาบาลใกล้บ้าน ญาติใจร้อน อยากกลับไปวันนี้ แต่รถออกไปหมดแล้ว กว่าจะกลับก็ดึก ออกไปอีกรอบไม่ไหว ญาติไปติดต่อเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่จึงให้ญาติไปติดต่อรถโรงพยาบาลเอกชน ค่ารถ 4900 บาท คนไข้กับญาติทำงานกรีดยาง รายได้วันละร้อยบาท

ท่านจะทำอย่างไร ???
A. บอกญาติกับคนป่วยว่าอาการไม่หนัก รอได้ ที่นี่ก็มีหมอคอยดูอยู่ รอให้พร้อมค่อยส่งไปรักษาต่อ เก็บเงินไว้ไปร้องคาราโอเกะตอนหายดีแล้วดีกว่า
B. โทรศัพท์ติดต่อโรงพยาบาลปลายทาง แต่ไม่ต้องบอกว่าจะให้มากับรถโรงพยาบาลเอกชน ถ้ามีปัญหาระหว่างทาง แพทย์ที่โรงพยาบาลปลายทางก็รับผิดชอบเอง เพราะรับโทรศัพท์แล้ว แล้วก็อนุญาตให้ส่งไปแล้วด้วย
C. ด้วยสปิริตอันสูงส่ง ท่านจึงบันทึกไว้ในหนังสือส่งตัวว่า ผู้ป่วยเดินทางไปโดยรถของโรงพยาบาลเอกชน โดยการติดต่อของญาติ ซึ่งแพทย์โรงพยาบาลเอกชนไม่รับทราบด้วยเลย หากเกิดเหตุอันไม่พึงประสงค์ ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว (ข้าพเจ้าชอบข้าวมันไก่ร้านปากซอยมาก ช่วยห่อไปเยี่ยมด้วย)
D. แอบส่งไปเลย ไม่ต้องโทร.บอกก่อน ลายเซนก็เขียนให้หวัด ๆ เข้าไว้ จะได้ไม่มีใครอ่านชื่อออก ไม่เสื่อมเสียแก่วงศ์ตระกูล เพราะยังไงก็ต้องรับอยู่แล้ว กะอีแค่ส่งคนไข้ไปรักษาใกล้บ้าน ทำเป็นเรื่องมากไปได้

พิจารณาเอาเองก็แล้วกันนะครับ

-----------------------------------------------------

...พยายามมองให้คนคนหนึ่งเป็นคนคนหนึ่ง อย่ามองคนเป็นกระดูกขาท่อนบนหัก หรือมองคนเป็นกระเพาะ(อาหาร)ทะลุแต่เพียงอย่างเดียว แล้วเราจะมองเห็นปัญหาที่อีกหลาย ๆ คนมองไม่เห็น ซึ่งเด็กรุ่นหลังยิ่งมายิ่งมองเห็นมันน้อยลงไปทุกที

เราต้องพบเหตุการณ์เหล่านี้อยู่เป็นระยะ เพราะบ่อยครั้งที่เราลืมนึกไปว่าที่แท้แล้ว เราส่งผู้ป่วยต่อไปอีกโรงพยาบาลหนึ่งเพราะอะไร ?
ขอให้ตอบคำถามนี้โดยหลีกเลี่ยงคำตอบว่า "เพราะมันคือหน้าที่" แล้วเราจะคิดได้ว่าต้องทำอย่างไรบ้าง


ท้ายที่สุด อยากให้แพทย์ฝึกหัด และนักศึกษาแพทย์เวชปฏิบัติจงระลึกอยู่เสมอว่า ตนเองเป็นหนึ่งในผู้ร่วมดูแลรักษาผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บ และให้ใช้โอกาสในการเรียนรู้จากกระบวนการนี้ อย่าทำตัวเป็นเพียง "ผู้ส่งต่อผู้ป่วย" ซึ่งหากทำเช่นนี้ จะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย


Create Date : 17 พฤษภาคม 2549
Last Update : 17 กรกฎาคม 2550 10:32:00 น. 2 comments
Counter : 1027 Pageviews.

 
อืม ดูวุ่นวายพอสมควรนะครับกับชีวิตข้างนอกโรงเรียนแพทย์นี่

แล้วอีกหนึ่งปีข้างหน้าผมจะรอดไหมนี่


โดย: keano (jonykeano ) วันที่: 25 พฤษภาคม 2549 เวลา:20:10:19 น.  

 
อ่านแล้วอืม เหมาะไปเล่นเรื่องนางฟ้าซาตานจริงๆ เหอๆ


โดย: นายเบียร์ วันที่: 28 พฤษภาคม 2549 เวลา:4:34:04 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Zhivago
Location :
นครศรีธรรมราช Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]




มนุษย์เข้มแข็ง
กว่าที่ตนคิดไว้เสมอ
New Comments
Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2549
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
17 พฤษภาคม 2549
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add Zhivago's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.