ออกกำลังความคิด
Group Blog
 
All Blogs
 

General Equilibrium เศรษฐศาสตร์แนวแฟนตาซี ตอนกล่องของ Edgeworth



ปกป้อง หรือ อาจารย์ป้อง , มิตรทางปัญญาและสหายสมัยเรียนธรรมศาสตร์ , เคยเขียนแนะนำหนังสือเรื่อง The Making Modern Economic : the lives and ideas of the great thinkers ของ นาย Mark Skousen

หลังจากที่ผมมีโอกาสได้อ่านหนังสือเล่มดังกล่าวแล้ว ผมรู้สึกถึงเสน่ห์แบบแปลกๆของนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังทั้งหลาย และทำให้นึกไปถึงคำพูดที่ว่า “มีเส้นบางๆกั้นกลางระหว่างอัจฉริยะกับคนบ้า” ครับ

อย่างไรก็ตามผมกลับคิดว่าความบ้าหรือเพี้ยน(Freak) ของคนเหล่านี้มีเสน่ห์และไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใครแถมยังสร้างประโยชน์ให้กับโลกวิชาการ ซึ่งต่างจากคนดีๆ ที่มักจะบ้าอำนาจ บ้าชื่อเสียง บ้าเกียรติยศ

หัวเรื่องที่จั่วไว้คงเป็นศัพท์เฉพาะทางที่เด็กเศรษฐศาสตร์คงจะคุ้นเคยเป็นอย่างดี ใช่แล้วครับ! วันนี้ผมจะเขียนเกี่ยวกับเรื่องของ General Equilibrium ซึ่งแปลเป็นไทยว่า "ดุลยภาพทั่วไป"

สมัยที่ผมเริ่มเรียนเรื่องนี้ใหม่ๆ ผมมักประหลาดใจในความช่างคิดของกูรูเศรษฐศาสตร์ทั้งหลายว่า ทำไม (แ ... ง) ไม่มีอะไรให้คิดแล้วเหรอ เพราะหลังจากที่เราเจอกราฟตั้งแต่เส้นเดียวไปยังหลายเส้น บางเส้นก็เป็นเส้นตรงบางเส้นเว้าแบบ Convex บางเส้นคว่ำแบบ Concave แถมยังเจอการ Shiftของกราฟทั้งแบบปกติและพิสดาร สารพัดที่จะเจอครับ สุดท้ายพอมาถึงเรื่อง General Equilibrium ผมกลับมาเจอ "กล่อง" (Box) อีก โอ้!...พระเจ้ายอด มันจอร์จมากเลย

ด้วยเหตุนี้เองทำให้ผมมองว่าเรื่อง General Equilibrium มีความเป็นแฟนตาซีสูง เพราะ มันมีความสวยงามอยู่ในตัว เพียงเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าตลาดทุกตลาดในระบบเศรษฐกิจนั้นมันมี ดุลยภาพอย่างไร หรือพูดให้ยากขึ้นไปอีก คือ ทุกตลาดมันจะหาทางปรับตัวเข้าหาดุลยภาพของมันเองจนท้ายที่สุดเกิดดุลยภาพทั่วไปทั้งหมด ดังนั้นเรื่องของ General Equilibrium จึงมีความแตกต่างจาก Partial Equilibrium ที่พิจารณาเจาะจงไปที่ตลาดใดตลาดหนึ่ง

อย่างที่เราทราบกันดีว่า "เศรษฐศาสตร์จุลภาค" นั้นเติบโตอย่างมั่นคงในแผ่นดินยุโรป โดยมีสำนัก Cambridge เป็นหัวขบวน ภายใต้การนำของปรมาจารย์ Alfred Marshall และ Authur C. Pigou ขณะที่ในเวียนนามีสำนักคิดที่เรียกตัวเองว่าเป็นพวก Austrian School มีนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำเชื้อสายออสเตรียน อย่าง Carl Menger , Ludwig Von Missie และ Eugen Bohm Bawerk (สำหรับรายหลังนี้ จัดเป็นยอดรัฐมนตรีคลังของออสเตรีย ถึงขนาดที่รัฐบาลออสเตรียนำหน้าของเขาไปปรากฏบนธนบัตรเลยทีเดียว) ส่วนในสวีเดนมีสำนัก Stockholm ของ Knut Wicksell ต่อมาสำนักนี้พัฒนาตัวเองจนขึ้นชื่อในเรื่องทฤษฎีการค้าระหว่างประเทศ และฐานที่มั่นสุดท้ายของวิชาเศรษฐศาสตร์จุลภาคอยู่ที่สวิสเซอร์แลนด์ครับ ภายใต้การนำของ Leon Walras และ Vifredo Pareto ทั้งสองสร้างสรรค์ให้สำนัก Lusanne มีชื่อเสียงในเรื่องของ General Equilibrium โดยเฉพาะ Walras ได้รับการยกย่องเป็นพิเศษจากนักเศรษฐศาสตร์รุ่นหลังว่าเป็นผู้บุกเบิกเอาวิชาคณิตศาสตร์มาผสมกับเศรษฐศาสตร์ได้อย่างลงตัว

กลับมาที่พระเอกของเราครับ , ผมขอแนะนำนักเศรษฐศาสตร์เผ่าพันธุ์ไอริช นามว่า Francis Ysidro Edgeworth (1845 – 1926 ) ครับ Edgeworth เป็นนักเศรษฐศาสตร์ร่วมสมัยเดียวกับ Leon Walras (1834-1910) Alfred Marshall (1842-1924 )และ Vifredo Pareto (1848 - 1923) ทั้งหมดล้วนมีอิทธิพลต่อการสร้างองค์ความรู้ของวิชาเศรษฐศาสตร์จุลภาค

Edgeworth มีประวัติการศึกษายอดเยี่ยม เขาจบการศึกษาที่ Trinity College โดยนอกจากจะมีพื้นความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ระดับเอกอุแล้วเขายังชำนาญการทางสถิติชนิดที่หาตัวจับยาก Edgeworth เริ่มงานเป็นอาจารย์สอนเศรษฐศาสตร์และการเมือง (Political Economy) ที่ Oxford อีกสำนักหนึ่งที่เป็นคู่แข่งกับ Cambridge School ซึ่งงานส่วนใหญ่ของเขาเป็นงานที่ใช้คณิตศาสตร์เป็นเครื่องมืออธิบายเศรษฐศาสตร์ ผมตั้งข้อสังเกตว่าช่วงเวลาดังกล่าววิชาเศรษฐศาสตร์เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งเพราะมีคณิตศาสตร์มาเป็นอาวุธสำคัญที่สนับสนุนความคิด

นักเรียนเศรษฐศาสตร์หลายคนคงจะยังไม่ทราบว่า Edgeworth นี่เองที่เป็นผู้ประดิษฐ์เส้น Indifference Curve ในเรื่อง Utility ซึ่งเจ้าเส้น IC นี้แหละครับที่ทำให้ Alfred Marshall ใช้อธิบายที่มาของเส้นดีมานด์ที่ชื่อ Marshallian Demand อย่างไรก็ตาม แม้คนส่วนใหญ่จะไม่รู้ว่าเขาเป็นคนคิดเส้น IC แต่กล่องเจ้าปัญหาของเขาหรือ Edgeworth Box ก็ได้รับการจดจำในฐานะที่เป็นเครื่องมืออธิบายการแลกเปลี่ยนของผู้บริโภค 2 คน ที่มีสินค้า 2 ชนิด แล้วเอามาแลกกันจนกว่าจะได้รับความพอใจด้วยกันทั้งคู่ ซึ่งแนวคิดการแลกกันหรือ Exchange / Trade กันนั้น ได้ถูกนำมา ต่อยอดอธิบายเรื่องของ General Equilibrium

ดังนั้น อย่าแปลกใจเลยครับเวลาที่เราเรียนเรื่อง General Equilibrium แล้วเราจะคุ้นเคยกับชื่อ Edgeworth Box , Walrasian Economy และ Pareto Optimal

สำหรับผมแล้วสิ่งเหล่านี้ยังเป็นแฟนตาซีทางเศรษฐศาสตร์ที่ดูยังไงคนธรรมดาๆอย่างเราๆท่านๆคงไม่อยากคิดอะไรให้มันสลับซับซ้อนใช่มั๊ยครับ

Hesse004




 

Create Date : 29 ธันวาคม 2550    
Last Update : 29 ธันวาคม 2550 12:13:43 น.
Counter : 1101 Pageviews.  

ศิลปะของชาลี แชปลิน



ผมว่าความสุขอย่างหนึ่งของคนรักศิลปะ คือ การได้เขียนถึงสิ่งที่ตัวเองรักครับ สำหรับผมแล้ว, ศิลปะเป็นความบันเทิงที่ช่วยให้ผมหย่อนอารมณ์ได้ทุกครั้งและบางครั้งศิลปะยังทำให้ผมได้เรียนรู้ประสบการณ์ทางอ้อมที่วิเศษจากชิ้นงานเหล่านั้นด้วย

จะว่าไปแล้ว"ภาพยนตร์"ก็จัดเป็นศิลปะประเภทหนึ่งนะครับ แม้ว่าศิลปะจะถูกจัดให้เป็น"สินค้าฟุ่มเฟือย"ตามความคิดของนักเศรษฐศาสตร์ เพราะตัวเนื้องานศิลปะมีความยืดหยุ่นต่อรายได้สูง กล่าวคือ เวลาที่เรามีรายได้มาก เราก็อยากจะบันเทิงเริงรมย์สนุกสนาน ทำให้เราอยากเสพงานศิลปะทั้งดูหนัง ฟังเพลง หรือ แม้กระทั่งสะสมภาพเขียน แต่พอรายได้เราลดลง ความต้องการเหล่านี้ของเราดูจะฟุ่มเฟือยเกินไปเพราะต้องคำนึงถึงปากท้องเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ตามผมติดใจคำพูดของท่าน ศาสตรจารย์ศิลป์ พีรศรี บิดาศิลปะไทยสมัยใหม่ที่เคยกล่าวไว้ว่า “ชีวิตมนุษย์นั้นสั้นแต่ศิลปะนั้น ยืนยาว”ครับ

กลับมาที่เรื่องที่ผมอยากเขียนใน Blog นี้ต่อครับ, ผมเชื่อว่าหลายท่านคงรู้จัก
ชาลี แชปลิน (Charles Chaplin) และหลายท่านคงเคยผ่านตาหนังของเขามาบ้างแล้ว ในฐานะคนรักหนัง , ผมกำลังสะสมดีวีดี Charles Chaplin ซึ่งหาไม่ค่อยจะง่ายนัก ทุกวันนี้ดีวีดีราคาลิขสิทธิ์ที่ผมทราบคือมีสนนราคาเหยียบหลักพันเลยครับ

หลายท่านคงสงสัยว่าทำไมคนถึงชอบหนังของ Chaplin กันนักหนา โดยส่วนตัวแล้ว ผมมีเหตุผลดังนี้ครับ

1. หนังของ Charles Chaplin เป็นหนังที่ดูเพลิน ไม่ต้องปีนกระได ไต่ภูเขาขึ้นไปดู เพื่อที่จะเข้าใจความคิดของผู้กำกับ เพราะโดยปกติแล้วสายหนังที่มาจากผู้กำกับยุโรปมักจะเป็นหนังที่ดูยาก พูดง่ายๆคือเป็น "หนังอาร์ต" แต่สำหรับ หนังของ Chaplin แล้ว แม้ว่าเขาจะเป็นอังกฤษชนโดยกำเนิดแต่การที่ได้ทำงานกับชาวอเมริกันมาตั้งแต่สมัยเริ่มดังนั้น ทำให้เขาสามารถสื่อสารงานศิลปะของเขาได้อย่างเข้าอกเข้าใจ รสนิยมของคนดูหนังที่ต้องการเพียงแค่ความบันเทิง แต่อย่างไรก็ตามหนังของเขากลับแฝงไปด้วยปรัชญา ข้อคิดและมุมมองที่น่าสนใจหลายอย่างจนอาจกล่าวได้ว่า Charles Chaplin เป็นนักสังเกตการณ์ชั้นยอดของประวัติศาสตร์ศิลปะเลยก็กว่าได้

2. โดยบุคลิกการแสดงของ Charles Chaplin แล้ว เขาเป็นคนที่เกิดมาเพื่อสร้างความสุขให้กับคนอื่นโดยแท้จริงครับ แม้ชีวิตจริงของเขาจะไม่ได้ตลกเหมือนในหนังก็ตาม

3. Charles Chaplin เป็นดาราตลกและเป็นผู้กำกับที่มีความเก่งกาจในการเรียกอารมณ์คนดูให้คล้อยตามกับการแสดงหรือบทที่เขากำกับได้ชนิดที่เรียกว่าจำได้ไม่มีวันลืม สิ่งเหล่านี้สะท้อนความเป็นอมตะของศิลปินผู้นี้

4. Charles Chaplin เป็นศิลปินที่ยิ่งใหญ่โดยแท้ เพราะเขาสามารถถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกทั้งหมดจากประสบการณ์ชีวิตผ่านตัวละครในภาพยนตร์ของเขา ซึ่งตามอัตชีวประวัติของเขา เขาได้เล่าไว้อย่างละเอียดถึงช่วงเวลาที่ลำบากที่สุดในวัยเด็ก เรื่องราวการต่อสู้ชีวิตของแม่ ช่วงเวลาที่รุ่งเรืองในการทำงานกับสตูดิโอดังอย่าง Key Stone และ United Artist ผ่านมรสุมชีวิตในการใช้ชีวิตคู่เช่นเดียวกับศิลปินผู้โด่งดังทั้งหลาย ถูกภัยการเมืองคุกคามจนกระทั่งถูกตั้งข้อหาว่าเป็น"คอมมิวนิสต์" แต่ท้ายที่สุด Chaplin ก็ได้พิสูจน์ตัวเองในความเป็นของแท้ว่า สิ่งที่เขาเชื่อมั่นมาตลอดคือคุณงามความดีของมนุษย์ การมองโลกในแง่มุมที่รื่นรมย์อยู่เสมอแม้เวลาเจอภัยพิบัติ ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้มักปรากฏ อยู่ในตัวของศิลปินที่ยิ่งใหญ่ที่ยังเชื่อมั่นความดีงามของมนุษย์แบบไม่ยโสโอหังต่อธรรมชาติ

ผมรู้จักหนังของ Charles Chaplin ตั้งแต่อยู่ชั้นประถม 4 ครับ ช่วงเวลานั้นวีดีโอกำลังเป็นที่นิยม ดังนั้นการได้ดูหนังของ Chaplin จึงเป็นสิ่งแปลกใหม่สำหรับวัยเด็ก แทบทุกฉากในหนังเรื่อง Modern Time ที่ Chaplin เป็นนักแสดงนำ เขียนบท และ กำกับ ยังคงจำตราตรึงใจของผมมาจนถึงทุกวันนี้

ภาพหนุ่มหนวดจิ๋มอารมณ์ดีที่มักเผชิญโชคร้ายอยู่เสมอในห้วงยามที่สังคมปั่นป่วนวุ่นวาย แต่สุดท้ายเขาก็เอาตัวรอดมาจนได้ด้วยการมองโลกในแง่ดี มองทุกอย่างว่าสามารถแก้ปัญหาได้ ไม่ท้อแท้กับการมีชีวิตอยู่ ไอเดียเหล่านี้ยังปรากฏในหนังเรื่อง City Light ที่ Chaplin ปลอบใจเศรษฐีขี้เหล้าว่า Be Brave and Face Life แม้จะเป็นหนังเงียบแต่วลีสั้นๆทั้งสองกลับทำให้ผมคิดว่ามันน่าจะเป็นคำขวัญที่ดีได้สำหรับคนที่กำลังเผชิญหน้ากับความทุกข์

สำหรับหนังเด่นๆที่ผมอยากแนะนำให้ท่านผู้อ่านลองไปหาชมกัน ได้แก่ Modern Time , City Light , Gold Rush และ The Kid หนังทั้ง 4 เรื่องที่กล่าวมาข้างต้นล้วนเป็นผลงานสุดยอดของ Chaplin ที่สะท้อนความคิดและจิตวิญญาณความเป็นศิลปินของเขาออกมาได้ดีที่สุด นอกจากนี้หนังแต่ละเรื่องสะท้อนสภาพสังคมอเมริกันในยุคที่กำลังก้าวไปสู่ทุนนิยมอย่างเต็มตัว แต่กลับขาดทุนทางสังคม อาทิ ความเอื้ออาทรต่อกัน ความมีน้ำใจ แม้กระทั่งความสามัคคี

Modern Time (1936)เป็นหนังที่เสียดล้อวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งสำคัญในสหรัฐอเมริกาช่วงทศวรรษที่ 30 หนังทำให้เรารู้ว่าสมัยที่เกิด The Great Depression มันหนักหนาสาหัสอย่างไรในความรู้สึกของชาวอเมริกัน อย่างไรก็ตาม Chaplin ยังแสดงให้เห็นความหวังของการมีชีวิตอยู่ต่อไปในตอนจบของเรื่อง เมื่อเขาและนางเอกเดินควงคู่กันไปบนถนนที่ทอดยาวโดยมีดวงอาทิตย์ที่กำลังจะตกดินขับให้เห็นหนทางที่ยังไม่มืดมนไปเสียทีเดียว

City Light (1931) เป็นภาพสะท้อนความรักของชายจรจัดที่หลงรักหญิงสาวตาบอด โดย Chaplin พยายามทำทุกวิถีทางให้คนที่เขารักได้มองเห็นเป็นปกติ แม้ภายหลังเจ้าหล่อนจะมารู้ความจริงว่าชายจรคนนั้นไม่ใช่เทพบุตรอย่างที่คิดไว้ ฉากที่หญิงสาวจับมือของ Chaplin แล้วรู้ว่าคนที่ช่วยหล่อนมาตลอดเป็นแค่คนกระจอกงอกง่อยธรรมดา น่าจะเป็นฉากรักที่โรแมนติคฉากหนึ่ง พร้อมกับดนตรีคลาสสิคที่บรรเลงอย่างเนิบเนียนทำให้เราอดไม่ได้ที่จะมีน้ำตาคลอไปด้วย

Gold Rush (1925) เป็นหนังที่ฉายให้เห็นกระแสตื่นทองในอเมริกา ภาพของการตื่นทองของนักเผชิญโชคทำให้เห็นอัตตลักษณ์ความเป็นตัวตนของอเมริกันชนตั้งแต่สมัยนั้นแล้วว่าพวกเขาบูชาวัตถุ บูชาความร่ำรวย มากน้อยเพียงไร กล่าวกันว่าฉากที่ Chaplin ใช้ส้อมจิ้มมันฝรั่งมาเต้นรำไปมานั้นเป็นฉากที่แสดงถึงอัจฉริยะความเป็นตลกของเขาได้ดีทีเดียว

The Kid (1920) นับเป็นหนังน่าประทับใจอีกเรื่องหนึ่งที่ Chaplin แสดงคู่กับ Jackie Coogan ดาราเด็กชื่อดังสมัยนั้น หนังว่าด้วยเรื่องของ Chaplin ที่ต้องรับบทเป็นพ่อบุญธรรมจำเป็นเพื่อเลี้ยงเด็กที่ถูกแม่นำมาทิ้งไว้ ตลอดเวลาเขาได้เลี้ยงดูเด็กคนนี้เป็นอย่างดี อบรมสั่งสอนแต่สิ่งที่ดี ผมสังเกตอยู่อย่างหนึ่งเวลาดูหนังของ Chaplin คือเขามักจะแทรกความเรียบง่ายลงไปในฉากธรรมดา อย่างเช่น ฉากที่เขาสอนให้เด็กน้อยสวดมนต์ขอบคุณพระเจ้าก่อนกินอาหาร แม้ว่าอาหารที่อยู่บนโต๊ะจะไม่ได้วิเศษวิโสอะไรนัก แต่ Chaplin ต้องการให้เด็กสำนึกถึงคุณค่าที่มีต่อสิ่งต่างๆรอบตัว ไม่ว่าสิ่งเหล่านั้นจะเล็กน้อยเพียงใด

ผมยังรักที่จะดูหนังของ Charles Chaplin อยู่ครับ เพราะทุกครั้งที่ผมเปิดดูผมรู้สึกรื่นรมย์กับชิ้นงานศิลปะเหล่านี้เสมอ และด้วยความที่เป็นหนังเงียบทำให้เราสามารถสังเกตอิริยาบถของตัวแสดงได้ตลอดเวลา สิ่งเหล่านี้เป็นศิลปะที่ปรากฏในหนังของ Charles Chaplin ซึ่งยากนักที่จะหาใครมาทดแทนเขาได้ครับ

Hesse004




 

Create Date : 28 ธันวาคม 2550    
Last Update : 29 ธันวาคม 2550 11:57:27 น.
Counter : 3450 Pageviews.  

Hermann Hesse กับ สิทธารถะ



ก่อนอื่นผมขออนุญาตแนะนำตัวเองก่อนนะครับ ผมใช้นามใน Blog ว่า Hesse004 นามที่ว่านี้มีที่มาจากชื่อของ Hermann Hesse (1877-1962) ครับ

Hesse เป็นนักเขียนเยอรมันสัญชาติสวิส เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมเมื่อปี ค.ศ.1946 ครับ อย่างไรก็ตามอย่าหาว่าผมดัดจริตใช้ชื่อนักเขียนต่างประเทศเลยนะครับ เพราะโดยส่วนตัวแล้วผมประทับใจนักเขียนท่านนี้มากเข้าขั้นว่าหลงรักเลยทีเดียว

ผมรู้จักงานเขียนของ Hesse ตั้งแต่สมัยเรียนปี 1 ที่ธรรมศาสตร์ หนังสือชื่อ "สิทธารถะ" สะดุดตาผมโดยบังเอิญระหว่างที่หาหนังสือในห้องสมุด

ก่อนหน้านี้ผมไม่เคยได้ยินชื่อ Hermann Hesse มาก่อน สังเกตแต่เพียงว่าหน้าปกสิทธารถะมีชื่อ สดใส เป็นผู้แปล หลังจากที่ยืมหนังสือเล่มนี้ไปอ่าน ผมประทับใจในงานชิ้นนี้ของ Hesse มากประกอบกับสำนวนแปลของท่านอาจารย์สดใสทำให้หนังสือเล่มนี้มีเสน่ห์อย่างยิ่ง

หนังสือเล่มนี้ได้ถ่ายทอดเรื่องราวการแสวงหามรรคของมนุษย์ผู้หนึ่งที่เชื่อมั่นในวิถีของตัวเอง บรรยากาศตามท้องเรื่องจึงย้อนไปไกลถึงสมัยพุทธกาลเลยครับ กล่าวกันว่าในช่วงสมัยดังกล่าวเป็นช่วงที่เกิดปราชญ์ขึ้นมากมายในโลก ทั้ง พระพุทธองค์ ขงจื๊อ คุรุนานักเทพ เป็นต้น

Hesse มีวิธีการเล่าเรื่องได้อย่างฉลาด เช่น ตอนพระสมณโคม ที่ว่าด้วยบทสนทนาของพราหมณ์หนุ่มสิทธารถะกับพระพุทธองค์ซึ่งสุดท้ายแล้ว สิทธารถะเลือกที่จะไม่บวชเป็นภิกษุในพุทธศาสนา ดังคำพูดตอนหนึ่งที่สิทธารถะทูลพระพุทธองค์ว่า " พระองค์ทรงบรรลุก็โดยการแสวงหาตามวิธีการของพระองค์เอง โดยการคิดการบำเพ็ญเพียร โดยความรู้และการตรัสรู้ พระองค์ไม่ได้เรียนจากการสอน ด้วยเหตุนี้แหละพระสมณโคดม ข้าจึงคิดว่าไม่มีผู้ใดพบทางหลุดพ้นโดยการเรียนจากคำสอน " คำพูดดังกล่าวตรงกับคำถามที่ผมคิดอยู่เสมอว่าสภาวะนิพพานหรือการบรรลุธรรมของแต่ละคนมันจะเหมือนกันหรือเปล่า?

ประโยคที่ยกมาข้างต้นถ้าดูเพียงเผินๆเราอาจจะสรุปว่าสิทธารถะเป็นคนดื้อและเชื่อมั่นในตนเองสูง แต่อย่างไรก็ตาม Hesse ได้แสดงให้เห็นว่าสิทธารถะพยายามหามรรคาหลายหนทางเพื่อไปสู่วิถีแห่งการหลุดพ้นด้วยตัวเอง

หลังจากแสวงหาทางหลุดพ้นโดยอาศัยโลกของโลกกุตระแล้ว สิทธารถะเลือกที่จะหันหลังให้กับโลกดังกล่าวและ เลือกที่จะเรียนรู้โลกแห่งโลกียะที่สิทธารถะไม่คุ้นเคยมาก่อน เขาได้เรียนรู้เพศรสจากหญิงงามเมืองอย่างกมลา เรียนรู้กลการค้าจากกามสวมีพ่อค้าใหญ่ เรียนรู้การเสพสุขของวิถีของปุถุชนที่ครั้งหนึ่งเขาเคยห่อปากอย่างเย้ยหยันวิถีเช่นนี้ ทุกอย่างเป็นโลกที่เขาไม่เคยสัมผัสมาก่อนนับตั้งแต่เติบโตมาจากตระกูลพราหมณ์และเข้าสู่การแสวงหาด้วยการเป็นสมณะ

ผมตั้งข้อสังเกตว่า Hesse เขียนเรื่องนี้โดยให้ชีวิตของสิทธารถะล้อตามแบบพุทธประวัติขององค์สมณโคดม เช่น ชื่อของสิทธารถะก็มีความคล้ายคลึงกับชื่อของ "เจ้าชายสิทธัตถะ" อย่างไรก็ตามสิทธารถะกลับมีชีวิตที่กลับกันกับพระพุทธเจ้าโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกผนวชในพระชันษา 29 พรรษาโดยเลือกที่จะทิ้งโลกของโลกียะไว้เบื้องหลัง แต่สำหรับสิทธารถะแล้ว เขากลับเลือกที่จะทิ้งโลกของโลกุตระไว้และมุ่งแสวงหาโลกของปุถุชนแทน

อย่างไรก็ตามสิทธารถะกลับพบว่าโลกที่เขาลิ้มลองอยู่นั้นมันกลับไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการ เสียงในใจบอกให้เขาแสวงหามรรควิถีของการหลุดพ้นต่อไป

ณ ริมฝั่งน้ำเขาเกือบเลือกที่จะฆ่าตัวตาย เคราะห์ดีที่สติดึงเขากลับมาได้ทัน ถึงตอนนี้สิทธารถะไม่ต่างอะไรกับคนแพ้ รู้สึกถึงความไร้ค่าของการมีชีวิต พ่ายแพ้ต่อโลก และกิเลส แต่การได้พบชายแจวเรือข้ามฟากอย่าง วาสุเทพ ทำให้วิธีคิดของสิทธารถะเปลี่ยนไป อาจเพราะด้วยวัยที่โตขึ้นความลำพองในการใช้ชีวิตที่ผ่านมาดูจะลดลง อัตตาที่เคยพอกพูนจากการยึดมั่นในสิ่งต่างๆกลับค่อยๆหายไป
เขาเรียนรู้จากวาสุเทพ ชายแจวเรือธรรมดา เรียนรู้สัจธรรมจากแม่น้ำ

" แม่น้ำกลับเป็นปลายทางของทุกคน ต่างโหยหา ปรารถนาและระทมทุกข์ แล้วเสียงของแม่น้ำก็มีแต่ความหวนไห้ เจ็บปวดและปรารถนาไม่รู้อิ่ม แม่น้ำไหลสู่จุดหมาย สิทธารถะเห็นแม่น้ำอันประกอบด้วยตัวเขา ญาติมิตร และผู้คนที่เคยพบ เร่งไหลพลิ้วไปข้างหน้า ทั้งสายน้ำและ เกลียวคลืนต่างรีบรุดทุกข์ทรมานไปสู่เป้าหมายอันหลายหลาก ไปสู่น้ำตก สู่ทะเล สู่กระแสน้ำ สู่ห้วงมหาสมุทร และแม่น้ำบรรลุถึงเป้าหมายไปตามลำดับ น้ำเปลี่ยนเป็นไอแล้วระเหยกลายเป็นฝนตกสู่พื้น กลายเป็นน้ำพุ ห้วยธารและแม่น้ำ เปลี่ยนใหม่แล้วกลับไหลอีก แต่เสียงเรียกขานนั้นได้เปลี่ยนไปแล้ว มันยังส่งกังวาลเศร้าอย่างเสาะค้น แต่ก็มีเสียงอื่นๆควบคู่มาด้วย เสียงแห่งความสนุกเบิกบาน และเสียงแห่งความเศร้า เสียงความดี เสียงความเลว เสียงหัวเราะและเสียงคร่ำครวญเป็นสรรพเสียงนับร้อยพัน"

"สิทธารถะ" นับเป็นหนังสือที่ผมหยิบมาอ่านบ่อยที่สุดครับ ผมตั้งใจว่าทุกๆปี ผมจะอ่านสิทธารถะอย่างน้อย 1 รอบ ซึ่งในแต่ละปีผมพบว่าผมมองสิทธารถะเปลี่ยนไปตามโลกที่ผมรู้จักและวัยที่โตขึ้น

ผมว่าการมีชีวิตอยู่เป็นเรื่องของศิลปะในการสร้างความสมดุลให้กับชีวิตตัวเอง ทุกวันนี้เราลืมถามเสียงในใจของเราว่าเราต้องการทำอะไรหรืออยากทำอะไร เสียงในใจของเราถูกกลบไปด้วยกระแสของโลกาวัตถุ บางหนเราไม่สามารถนำพาตัวเองให้หลุดจากโลกของโลกียะได้ขณะที่บางทีเราก็ไปยึดติดกับสิ่งที่แสวงหามากจนเกินไปจนเราไม่อาจพบเจอ

ผมว่ามนุษย์ทุกคนเป็นเหมือนพุทธองค์ เป็นเหมือนสิทธารถะ ที่พยายามดิ้นให้หลุดพ้นจากสังสารวัฎของการมีชีวิต ซึ่งเราก็ไม่แน่ใจว่าเราจะได้พบกับมันในชาตินี้หรือชาติไหน

Hesse004

ปล. ขอขอบคุณหนังสือ สิทธารถะของ Hermann Hesse แปลโดย สดใส ขันติวรพงษ์




 

Create Date : 28 ธันวาคม 2550    
Last Update : 28 ธันวาคม 2550 13:57:50 น.
Counter : 626 Pageviews.  


hesse004
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]


ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add hesse004's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.