เรื่องที่ไม่มีสอนในโรงเรียนแพทย์: The Untold Stories from The Medical School.
Prime time

ความเร่งด่วนที่ต้องใช้โอกาสและการฉกฉวย

โรงพยาบาลที่ผมทำงานอยู่เป็นโรงพยาบาลใหญ่ อัตราหลายร้อยเตียง แต่เอาเข้าจริงจำนวนเตียงมักจะล้นออกมานอกกรอบ มีคนเคยพูดว่าในแต่ละวันคนป่วยในตึกผู้ป่วยในอาจมียอดถึงหนึ่งพันเตียงก็มี เพื่อนที่เคยมาฝึกงานที่นี่เมื่อสิบสี่ปีก่อนเรียกตัวเองว่า "Extern พันเตียง"

การผ่าตัดผู้ป่วยนอกเวลาราชการจะถูกจัดเป็น "การผ่าตัดฉุกเฉิน" มีห้องและทีมผ่าตัดที่พร้อมจะเปิดห้องผ่าตัดฉุกเฉินนอกเวลาราชการอยู่สองทีม สำหรับเปิดห้องผ่าตัดสองห้อง ..มีเพียงสองทีมและหมายถึงสองห้องผ่าตัดที่รองรับประชากรหนึ่งล้านห้าแสนคน ในขณะที่การผ่าตัดทั้งหลายในโรงพยาบาลชุมชนกลายเป็นความเสี่ยงที่ไม่มีใครอยากรับ

เมื่อมี "Case" ฉุกเฉินที่ไม่สามารถรอได้ จะมีทีมที่สามรออยู่ที่หอพัก(หรือบ้านในละแวกใกล้เคียง) สำหรับเปิดห้องที่สามอยู่ตลอดสิบหกชั่วโมงนอกเวลาราชการในวันธรรมดา และยี่สิบสี่ชั่วโมงในวันหยุดทุกประเภท หากทีมที่หนึ่งและทีมที่สองกำลังอยู่ระหว่างการผ่าตัดรายอื่นอยู่

ปัญหาสำคัญคือมันเป็นสภาวะคอขวดที่ไม่สามารถแก้ได้เพราะขาดบุคลากร
ปัญหาที่สำคัญกว่าคือหมอหลายคนไม่คิดว่ามันเป็นปัญหา
และปัญหาที่สำคัญที่สุดคือหลายคนชินกับการใช้ห้องผ่าตัดนอกเวลาราชการเป็นที่ทำเงิน ! ทั้งที่รู้ว่าเวลาอันมีค่าของหลายคนต้องหมดไปกับการรอ "ทีมสาม" ที่ต้องใช้เวลาเตรียมการผ่าตัดนับครึ่งชั่วโมง

.................


ห้องผ่าตัดนอกเวลาราชการเป็นห้องที่ถูกแย่งชิงมากที่สุด (ในขณะที่ห้องฉุกเฉินนอกเวลาราชการกลับไม่ค่อยมีใครอยากไปตรวจ) มีหมออย่างน้อยสามหรือสี่แผนกต้องการใช้ห้องอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเวลา "Prime time"

Prime time คือเวลาระหว่างสองทุ่มถึงเที่ยงคืน นอกจากผู้ป่วยฉุกเฉินจริง ๆ ที่ต้องได้รับการผ่าตัดในขณะนั้นแล้ว ยังมีผู้ป่วยอีกหลายคนที่ "กึ่งฉุกเฉิน" ถึง "ไม่ฉุกเฉิน" มารอรับการผ่าตัดในสภาวะที่ทรัพยากรไม่เอื้ออำนวยนี้ หมอส่วนหนึ่ง(ส่วนใหญ่)ปิดคลีนิกสองทุ่มก่อนเดินทางมาเพื่อผ่าตัดผู้ป่วยที่รอคิวโดยติดอยู่ในสภาวะคอควดที่ว่านี้ ในขณะที่หมอหลายคนเลือกผู้ป่วยที่ไม่รีบด่วนมาเข้าผ่าตัดต่อเนื่องกันไป (เข็นเข้า-ผ่าตัด-เข็นออก-เข็นเข้า-ผ่าตัด...) เพื่อจองความเป็นเจ้าของห้องผ่าตัดห้องนั้น (หนึ่งในสองห้องที่เตรียมไว้รับผู้ป่วยฉุกเฉิน) และหมออีกคนจากอีกแผนกก็จะใช้วิธีเดียวกันหรือใกล้เคียงกันในการยึดครองห้องผ่าตัดเพื่อรวบรวมการผ่าตัดไว้ในช่วง prime time นี้ และนั่นหมายความว่าหมอคนที่สามต้องรอประมาณครึ่งชั่วโมงสำหรับการเปิดห้องผ่าตัดห้องที่สาม และหากมีหมอคนที่สี่แล้วละก็ เขาหรือเธอจะต้องรอให้ห้องใดห้องหนึ่งเสร็จสิ้นการผ่าตัดเสียก่อน จึงจะเริ่มการผ่าตัดได้

เป็นไปได้ว่าในแต่ละคืนอาจไม่ต้องตาม "ทีม 3" เลย แต่อย่างน้อยในแต่ละคืน การใช้บริการของสองทีมแรกมักจะเต็มหรือเกือบเต็มเนื่องจากจะต้องมีหมออย่างน้อยหนึ่งแผนก(บางครั้งถึงสามคนจากสามแผนก)ต้องการใช้ห้องผ่าตัดหลังสองทุ่ม ...เวลา Prime time

การผ่าตัดนอกเวลาราชการถูกระเบียบบังคับว่าผู้ผ่าตัดต้องอยู่เวร ได้ค่าเวร 400 บาทต่อหนึ่งเวร (แปดชั่วโมงนับเป็นหนึ่งเวร คืนหนึ่งมีสองเวร และวันหยุดได้สามเวรต่อวัน) หมอผ่าตัดได้ค่าผ่าตัดตั้งแต่สองร้อยถึงหนึ่งพันสองร้อยบาทต่อการผ่าตัดหนึ่งครั้ง ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของการผ่าตัด อัตรานี้กำหนดโดยระเบียบราชการ สี่ร้อยบาทแรกของเงินที่ได้จากการผ่าตัดจะถูกหักเป็นค่าเวร (ถ้าเวรไหนไม่ผ่าตัดเลยจะได้ค่าเวรสี่ร้อยบาท) แต่.. ไม่มีใครเป็นคนควบคุมให้การผ่าตัดที่ทำนอกเวลาราชการเป็นการผ่าตัดเฉพาะกรณีฉุกเฉินหรือเร่งด่วนเท่านั้น

และนี่เป็นคำตอบว่าทำไมจึงมีแต่คนอยากเอาคนป่วยของตนเองมาผ่าตัดนอกเวลาราชการ

การกระทำเช่นนี้ได้รับการยอมรับในทางปฏิบัติจนเกือบจะกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรไปแล้ว คนรุ่นก่อนทำแบบนี้เพื่อให้คนรุ่นต่อไปได้เห็น และไม่ว่าจะด้วยการขาดความรับผิดชอบหรือด้วยการไม่เห็นเป็นเรื่องผิดปกติ ผู้ป่วยหลายคนจึงถูกเลือกให้เข้ามารับการผ่าตัดนอกเวลาราชการ ทั้งที่ตารางการทำงานและการผ่าตัดในเวลาราชการยังมีว่างและพร้อมรองรับการผ่าตัดที่ไม่ฉุกเฉินอยู่เสมอ

เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องความรับผิดชอบส่วนบุคคลที่บ่อยครั้งมีผลกระทบไปถึงผู้อื่น (หมอ-ผู้ป่วย-ญาติ) การนำผู้ป่วยที่ไม่ฉุกเฉินเข้าผ่าตัดในห้องใดห้องหนึ่ง (และทั้งสองห้องเมื่อมีหมอสองคนทำแบบเดียวกัน) ย่อมทำให้คนที่จำเป็นต้องใช้ห้องในยามฉุกเฉินจริง ๆ ต้องได้รับผลเสียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผมอาจเป็นพวก "สุดขั้ว" ในบางเรื่อง (หรือหลายเรื่อง) แต่สำหรับเวลาครึ่งชั่วโมงหรือสี่สิบห้านาทีสำหรับบางคนนั้นอาจหมายถึงอะไรสักอย่างที่มีความหมายมากจนไม่สามารถหาสิ่งใดมาแลกได้เลย และเวลาเช่นนั้นจะมีค่ามากขึ้นหากมันเกิดขึ้นกับตัวเองหรือคนใกล้ชิด

.................


โรงพยาบาลเคยสังคายนาระเบียบการผ่าตัด "ฉุกเฉิน" นอกเวลาราชการออกมาเป็นกฎ และตั้งพยาบาลหัวหน้าเวรผ่าตัดขึ้นมาเพื่ออยู่เวรเพิ่มขึ้นอีกคนหนึ่ง (ได้รับเงินเวร) เพื่อดูแลให้การผ่าตัดนอกเวลาเป็นไปตามระเบียบที่ได้จัดทำกันไว้ แน่นอนว่าข้อแรกของกฎก็คือ ห้องผ่าตัดนอกเวลาราชการมีไว้สำหรับผ่าตัดในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น

ระเบียบถูกนำไปวางไว้ในลิ้นชักบนสุดในตู้ข้างโทรศัพท์.. เพียงแต่ทุกวันนี้มันก็ยังคงอยู่ในนั้น ระเบียบห้องผ่าตัดที่บรรจงร่างขึ้นนั้นแทบจะมีไว้เพียงเพีอให้ผ่านการรับรองคุณภาพโรงพยาบาลเท่านั้นเอง พยาบาลหัวหน้าเวรผ่าตัดทำได้แค่เพียงเป็นผู้รับจัดคิวผ่าตัด ความเร่งด่วนและฉุกเฉินถูกจัดวางไว้เป็นดันดับสอง.. ถัดจากเวลาสะดวกที่หมอแต่ละคนต้องการผ่าตัด แน่นอนว่าถ้าคุณอยู่ในสถานการณ์เร่งด่วนอย่างถึงที่สุด คุณอาจต้องรอครึ่งชั่วโมง(หรืออาจถึงสี่สิบห้านาที) ในขณะที่มีห้องผ่าตัดอีกสองห้องกำลังผ่าตัดผู้ป่วยไม่ฉุกเฉินอยู่... น่าตระหนก

สภาวะ "เจ้าของห้อง" ยังคงถูกยึดถือและปฏิบัติอยู่ตลอดมา เรื่องมันจะง่ายกว่านี้ถ้าทุกคนมีผลประโยชน์ร่วมกันและไม่มีใครต้องเสียประโยชน์ จะเสียก็ตรงที่ว่าหลายต่อหลายอย่างไม่สามารถซื้อหามาได้ด้วยเงิน

และก็มีหลายอย่างเหมือนกันคนที่คนเชื่อว่าซื้อหามาได้ด้วยเงินแต่เพียงอย่างเดียว...




Create Date : 15 กรกฎาคม 2551
Last Update : 16 กรกฎาคม 2551 0:35:04 น. 1 comments
Counter : 861 Pageviews.

 



ถึงว่า ทำไมหมอชอบนัดนอกเวลาบ่อยๆ เรื่องมันเป็นแบบนี้นี่เอง


โดย: f a i f u n (oHsINa ) วันที่: 20 กรกฎาคม 2551 เวลา:8:36:30 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Zhivago
Location :
นครศรีธรรมราช Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]




มนุษย์เข้มแข็ง
กว่าที่ตนคิดไว้เสมอ
New Comments
Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2551
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
15 กรกฏาคม 2551
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add Zhivago's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.