เรื่องที่ไม่มีสอนในโรงเรียนแพทย์: The Untold Stories from The Medical School.

อุดมการณ์ของใครของมัน

เพิ่งจะได้ดู The Bodyguards and the Assasins เมื่อไม่นานมานี้เอง ปกติผมไม่ค่อยพิศมัยหนัง "ปลอมประวัติศาสตร์" แบบนี้เท่าใดนัก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังที่สร้างออกมา "อวย" ใครสักคนหรืออุดมการณ์อะไรสักอย่างที่ผมรู้สึกว่ามันต้องการวุฒิภาวะทางอุดมการณ์ในระดับหนึ่งถึงจะรับสารในหนังได้อย่างที่คนสร้างต้องการ(หรืออย่างน้อยก็ได้คิดอย่างที่คนสร้างอยากให้คิดต่อยอดออกไป) ไม่อย่างนั้นอาจหลุดโลกและออกจากโรงหนังมาอย่างเลื่อนลอย อย่างที่เคยถูกหลอกให้เข้าไปดูหนังหลายเรื่องตอนเรียนชั้นประุถมแล้วกลับออกมาถามตัวเองว่านี่หนังอะไร ?



เข้าเรื่องดีกว่า...

หนังเรื่องนี้หลายคนชอบมาก แม้มันจะเป็นหนังที่ออกมาเหมือนเรื่องอื่นที่ดูแล้วดาษดื่น ตื่นตา และเหนือจริงไปบ้าง แต่นัยยะที่อยู่ในเนื้อในหนังทำให้ต้องกลับมาย้อนถามตัวเองตอนจบได้ทั้งคืน...จนง่วงหลับไปเองและตื่นขึ้นตอนเช้าก็คงยังไม่ได้คำตอบอยู่ดี ข้อดีของหนังคือมันไม่ "บิด" ประวัติศาสตร์เหมือนหนังเควนตินที่ย้อนสงครามโลกครั้งที่สองกลับมาใหม่ซึ่งดูจะสนองความต้องการตัวเองเสียมากกว่า(แต่ดันถูกใจคนอื่นจนยอมจ่ายเงินไปดู) แก่นในประวัติศาสตร์ของหนังเรื่องนี้ตรงไปตรงมา "หมอซุน" ดร.ซุนยัดเซน เดินทางจากญี่ปุ่นมาประชุมร่วมกับแนวร่วมประชาชนต่อต้านราชวงศ์ชิงที่ฮ่องกงนั้นเป็นเรื่องจริงในประวัติศาสตร์ แต่สำหรับเรื่อง bodyguards หรือ assasins นั้นโกหกทั้งเพ ! ปัญหาก็คือทำไมเรื่อง "โกหกทั้งเพ" ถึงทำออกมาได้น่าดู ?

ง่าย ๆ เลยก็คือเพราะมันไม่จริง ! อยากจะใส่ไข่ ใส่ขิง ใส่พริกไทยอย่างไรก็ไม่มีปัญหา ตราบที่คำตอบของมันคือหมอซุนปฏิวัติประเทศจีนได้สำเร็จ และไม่มีใครถามว่า 'หมอ... หมอชิงสุกก่อนห่ามหรือเปล่าครับ ?' อุดมการณ์ของหมอซุนบรรลุผล ประชาชนจีน 400 ล้านคน(ในขณะนั้น)ได้รับการปลดปล่อยจากการเป็นไพร่และได้รับประชาธิปไตยในที่สุด (หมายเหตุวงเล็บใหญ่-การปกครองแบบคอมมิวนิสต์จีนนั้นพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็ นับเป็นประชาธิปไตยแบบหนึ่ง มีการเลือกตั้งและการโหวต เพียงแต่มันอยู่ใต้เงาของเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพเท่านั้นเอง... อ้อ...พวกเขาสิ้นสุดยุคอุดมการณ์นี้ด้วยการสลายการชุมนุมที่สี่แยกเทียนอันเหมินในที่สุด)

คำถามที่หนังเรื่องนี้ถามผมคือ
อุดมการณ์ในการปฎิวัตินั้นเป็นอุดมการณ์แบบรวมหมู่จริงหรือ ?
ผู้คนที่เสียสละแม้กระทั่งชีวิตนั้นเป็นไปเพื่ออุดมการณ์เดียวกันจริงหรือ ??
คนที่ทำเพื่อสิ่งอื่นนอกเหนือจากอุดมการณ์สูงสุดนั้นนับได้ว่าเป็นการเสียสละเพื่อการปฏิวัติหรือไม่ ?

ไม่-ไม่-และ ไม่... สามคำตอบสำหรับสามคำถามที่ดูเหมือนจะตรงไปตรงมา ...แต่ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงแล้วการปฏิวัติสำเร็จลงได้อย่างไรในเมื่อต่างคน ต่างก็มีอุดมการณ์ของตัวเอง ไม่ยึดโยงกันด้วยความคิดรวมหมู่อันยิ่งใหญ่อย่างที่พรรคคอมมิวนิสต์บอกไว้ ทุกคนไม่จำเป็นต้องมีจุดหมายอันยิ่งใหญ่ เป้าประสงค์ของแต่ละคนอาจเล็กน้อยหรือไร้ค่าในสายตาบางคน แต่กับตัวเขาแต่ละคนแล้วมันอาจยิ่งใหญ่และมันให้คำตอบกับชีวิตแต่ละคนได้ในที่สุด ไม่ว่าเขาจะทำมันสำเร็จหรือไม่ก็ตาม



นึก ถึงเพลง "ไผ่แดง" ที่เทียรี่ เมฆวัฒนา เคยร้องไว้ "...แต่ละคน แต่ละอย่าง แต่ละอุดมการณ์" ใช้อธิบายเรื่องนี้ได้ดี ดร.ซุนเป็นตัวแทนของอุดมการณ์ใหม่ เข้าร่วมประชุมในที่ประชุมซึ่งมีแต่คนแต่งตัวแบบ conservative เป็นเครื่องหมายถึงการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพที่กำลังก่อตัวขึ้น (ตัดเปีย เปลี่ยนเครื่องแต่งตัว เปลี่ยนวิถีชีวิต) แล้วคนอื่น ๆ ล่ะ ? อาจารย์นักวิชาการ เจ้าสัวใหญ่เจ้าของหนังสือพิมพ์ คนขายเต้าหู้ ลูกสาวเจ้าของคณะงิ้ว คนลากรถ ผีพนัน และขอทาน ทั้งหมดถูกชักพาให้เข้ามาในขบวน bodyguards ด้วยจุดมุ่งหมายส่วนตัวที่ต่างกัน พวกนี้มีอุดมการณ์ยิ่งใหญ่หรือเปล่า ?

องค์กรลับเฉพาะกิจที่ก่อตั้งขึ้นอย่างฉุกละหุกไม่มีทางจะสร้างอุดมการณ์รวมหมู่ ขึ้นมาได้เป็นแน่ แต่ละคนต่างมีจุดมุ่งหมายของแต่ละคน บ้างทำเพื่อตัวเอง บ้างทำเพื่อผู้อื่น คนหนึ่งอาจทำเพื่อพิสูจน์คุณค่าของตัวเอง อีกคนอาจทำเพื่อหญิงที่ตนรัก(หรือเคยรัก) คนหนึ่งอาจทำเพื่อล้างแค้น แต่อุดมการณ์แบบ "ไม่รวมหมู่" แบบนี้นี่แหละที่ต้องถูกยึดโยงเข้าด้วยกัน ในขณะที่ลงสนามเข้าสู้ศึกนั้นไม่มีใครคิดว่าสิ่งที่เขาหรือเธอทำจะต้องประสบความสำเร็จในบั้นปลาย ทุกคนถูกสิ่งที่ตัวเองยึดมั่นฉุดเข็นให้ก้าวต่อไปข้างหน้า แม้ว่ามันจะนองไปด้วยเลือดและอาบด้วยความตาย (just do it; Nike)

ฝ่าย assasins นั้นก็แสดงตัวอย่างชัดเจนถึงอุดมการณ์ทางการเมืองชนิด "ชักธงรบสีเดียว" ทุกคนลุยไปตายข้างหน้า ทำทุกสิ่งทุกอย่างที่พวกเขาเชื่อ แล้วไปจบมันในถนน (นั่นทำให้ผมนึกถึงกลุ่มคนที่ใส่เสื้ออะไรสักสีเป็นสัญลักษณ์ในบางประเทศขึ้นมาเลยทีเดียว) ไม่ว่าอุดมการณ์ของพวกเขาจะถูกหล่อหลอม ชักจูง หรือปลูกฝังมาอย่างไร พวกเขาก็เชื่อในสิ่งที่ตัวเองกระทำ (ไม่อย่างนั้นคงไม่มีใครยอมตายเพื่อแลกกับชีวิตคนอื่นหรือบางครั้งก็ตายเปล่าเป็นแน่) มันนำไปสู่การปะทะสังสรรค์โดยที่ไม่มีการเจรจา ไม่มีการปรองดอง ไม่ต้อขอคืนพื้นที่ ไม่มีกระชับวงล้อม มีเพียงไม่คุณก็ผมเท่านั้นที่จะยืนอยู่ได้ในที่สุด ฉากกระหน่ำแทงรถลากเป็นตัวอย่างที่ดีของความเชื่อนั้น เพียงแค่ทำให้เสร็จแล้วก็จบ....

..........

ข้อเสียของอุดมการณ์ก็คือมันไม่มีตัวตนให้จับต้อง และมันไม่ได้มีอันเดียว ! คนคนหนึ่งอาจคิดแบบหนึ่ง ยึดกุมอุดมการณ์ของตัวเองไว้อย่างหนึ่ง แต่มันไม่สามารถรับประกันได้ว่าสิ่งนั้นจะช่วยให้มีชีวิตอยู่รอดไปกินข้าวเย็นที่บ้านได้ (tonight we dine in hell; 300) อุดมการณ์ของคนคนหนึ่งอาจไปขวางทางของอีกคนหนึ่งเต็ม ๆ และเป็นไปไม่ได้ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะหยุดหรือปล่อยให้มันผ่านไปได้ ฉากที่มองเห็นได้อย่างเป็นรูปธรรมคือการวิวาทะกันระหว่างอาจารย์กับลูกศิษย์ใน safe house ที่จบลงด้วยการไม่ยอมรับกันและกันของทั้งสองฝ่าย ก่อนที่จะระเบิดออกมาเป็นการต่อสู้กันทางกายภาพ อันเป็นตัวแทนของการปฏิวัติจีนในเวลาไม่กี่ปีหลังจากนั้นได้เป็นอย่างดี

ดูหนังเรื่องนี้จบแล้ว ได้ข้อคิดอย่างหนึ่งว่าไม่ควรมีใครต้องตายเพราะอุดมการณ์ของผู้อื่น หากจะต้องสังเวยชีวิตใครสักคนเพื่ออุดมการณ์ของเรา ก็ต้องเป็นตัวเรานั่นเอง




 

Create Date : 05 สิงหาคม 2553
0 comments
Last Update : 9 สิงหาคม 2553 8:33:41 น.
Counter : 1615 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


Zhivago
Location :
นครศรีธรรมราช Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]




มนุษย์เข้มแข็ง
กว่าที่ตนคิดไว้เสมอ
New Comments
Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2553
 
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
5 สิงหาคม 2553
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add Zhivago's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.