เรื่องที่ไม่มีสอนในโรงเรียนแพทย์: The Untold Stories from The Medical School.
ไปศาล



ศาลยุติธรรมนะครับ แล้วก็เอาเฉพาะไปเป็นพยานนะ เรื่องอื่นผมไม่รู้......

ขออนุญาตเขียนแบบลูกทุ่ง จากประสบการณ์ตัวเองนะครับ แต่ถ้าจะเอาความรู้เรื่องเกี่ยวกับกฎหมาย คงต้องสอบถามท่านผู้รู้จริงในภายหลัง
ลองที่ web site นี้ก็ได้ครับ medlawstory.com

แต่ถ้าจะเอาแบบประสบการณ์ตรง ก็นั่งล้อมวงอ่านได้เลยครับ

ปกติหมายศาลจะผ่านมาทางเจ้าหน้าที่ธุรการที่ทำงานนี้ประจำ แต่ถ้าอยู่โรงพยาบาลเล็ก ๆ เขาอาจเอาไปให้ที่บ้านก็ได้ครับ เดิมเขาจะมีหมายมาให้อย่างเดียว เดี๋ยวนี้มีจดหมายส่งทางไปรษณีย์มากำชับอีกด้วยว่า

"การไปเป็นพยานศาล เป็นหน้าที่พลเมือง (หรืออะไรทำนองนั้น) ถ้าไม่ไปจะมีความผิด และอาจถูกหมายเรียกได้... ถ้าท่านถูกใครข่มขู่ ให้แจ้งด้วย"

เท่าที่ทราบมาและเคยมีประสบการณ์ด้วยตัวเอง วัน-เวลานัดนั้นขอเลื่อนได้ครับ แต่ถ้าจะเลื่อน อยากให้มีเหตุผลจำเป็นจริง ๆ เพราะระบบนัดของศาลในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปพอสมควร โดยการเลื่อนนัดของเราอาจมีผลต่อระยะเวลาพิจารณาคดีที่เพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น ผมเคยขอเลื่อนจากบ่ายเป็นเช้าวันเดียวกันครั้งหนึ่ง ก็ราบรื่นดีไม่มีปัญหา


ขั้นตอนต่าง ๆ มีดังต่อไปนี้ครับ

1. เตรียมเอกสาร
ถ้าเป็นคนไข้ในโรงพยาบาลที่เราทำงานอยู่ก็ให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบไปถ่ายเอกสารเวชระเบียน-OPD card ยืมฟิล์ม ตามผล patho (ถ้ามี) มาให้เรียบร้อย เอาไปอ่านทำความเข้าใจก่อน ถ้าเราย้ายโรงพยาบาลแล้วมีหมายศาลให้ไปขึ้นให้ปากคำ ก็ต้องรีบติดต่อโรงพยาบาลเดิมที่เคยทำงานอยู่ให้จัดการส่งเอกสารที่ได้กล่าวถึงไปแล้วมาให้ครบ ย้ำว่าต้องครบนะครับ เตรียมให้เรียบร้อยก่อน ถ้าไม่ได้ใช้ค่อยเอามาคืน ให้ติดต่อผ่านโรงพยาบาลนะครับ จะได้หลักฐานที่มีการยืนยันอย่างถูกต้อง (ให้โรงพยาบาลเดิมรับรองสำเนามาให้เรา แล้วเราไปรับรองต่อที่ศาลอีกที) อย่าติดต่อเอง แล้วต้องรีบติดต่อแต่เนิ่น ๆ ด้วย
...รู้ ๆ กันอยู่ว่าระบบราชการไทยว่องไวขนาดไหน

เอกสารเหล่านี้จะอยู่ในมือทนาย-อัยการ แล้วเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นที่เขาไม่สามารถถ่ายเอกสารไปได้ หน้าที่ของเราอันหนึ่งเมื่อไปศาลก็คือต้องรับรองว่าเอกสารที่ทนายหรืออัยการนำมาแสดงนั้นเป็นเอกสารที่ถ่ายมาจากต้นฉบับจริง

แล้วไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มีใครได้เอกสารเหล่านี้ไป ...แพทย์มักจะเป็นคนสุดท้ายที่ได้เอกสารเหล่านี้เสมอ แม้จะได้ตัวจริงมาก ก็จงอย่าหวังว่าจะแก้ไขอะไรได้ ดังนั้นจำไว้ให้ดีว่าถ้าจะบันทึกหรือจะเขียนอะไร ก็จงทำเสียตั้งแต่ตอนคนเจ็บคนป่วยยังอยู่ในโรงพยาบาล หัดไว้ให้เป็นนิสัย

2. ศึกษาข้อมูล
ที่ต้องโดนถามแน่ ๆ ก็คือ ชื่อ-นามสกุลของเรา เรียนจบตั้งแต่เมื่อไหร่ เรียนจบที่ไหน เชี่ยวชาญสาขาอะไรเป็นพิเศษ ทำงานมาแล้วกี่ปี ครั้งแรก ๆ ก็อาจต้องนั่งคิดกันหน่อย แต่ถ้าไปขึ้นศาลสักสองสามครั้งแล้ว แทบจะบอกออกมาก่อนอัยการหรือทนายถามเสียอีกครับ

ต่อมาก็คือ ชื่อ-นามสกุลผู้ป่วย มาโรงพยาบาลวันที่เท่าไหร่ กี่โมง ใครนำส่งโรงพยาบาล เจ็บ-บาดเจ็บ-ป่วย เป็นโรคอะไร รักษาอย่างไร มีโรคแทรกซ้อนอะไรบ้าง รักษาแล้วผลเป็นอย่างไร นอนโรงพยาบาลกี่วัน พิการไหม ตายไหม รักษากี่วันจึงหายเป็นปกติ มาติดตามการรักษาครั้งล่าสุดเมื่อไหร่ ...ข้อมูลพวกนี้ควรจะแม่นพอสมควร ถึงเวลาขึ้นศาลบางคนก็จะพลิกไปพลิกมา ดูแล้วไม่เรียบร้อย (บางคนบอกว่าในศาลห้ามเปิดอ่าน แต่ผมเห็นหลายคนเปิดเป็นประจำ) เคยเห็นเจ้าหน้าที่ท่านหนึ่ง ไม่ถืออะไรติดมือขึ้นไปนั่งในคอกพยานเลย คิดเอาจากความทรงจำอย่างเดียว แต่ก็ตะกุกตะกัก พูดแล้วต้องหยุดคิดนาน ๆ ซึ่งผมว่าเสียบุคลิกมากกว่าอีก

ผมจะสรุปรายละเอียดสั้น ๆ แล้วเขียนใส่กระดาษแผ่นเล็ก ๆ ติดไว้ที่หน้าแรก หรือเขียนไว้ที่ด้านหลังแผ่นสุดท้าย พอขึ้นไปบนคอกพยานก็คว่ำไว้ ก็จะมองเห็นที่เขียนไว้พอดี

3. ทบทวนความรู้ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง
ต้องอ่านทบทวนให้ดีครับ ศึกษาทุกแง่มุมที่มีแนวโน้มจะถูกซักถาม เคยมีคำถามที่หลายคนไม่คิดว่าจะถูกถาม เช่น

"จากประสบการณ์ของคุณหมอ เป็นไปได้ไหมว่าการร่วมประเวณีบนพื้นดินจะทำให้หัวเข่าของฝ่ายชายมีแผลถลอกได้ ?"

เล่นเอาคนตอบหน้าแดงไปเลย

ถ้าไม่เตรียมตัวให้ดี เราก็จะถูกต้อนอยู่บนคอกพยานครับ ต้องอ่านทั้งหนังสือนิติเวช และสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องด้วย

ที่เจอบ่อย ๆ ก็สองกรณีครับ

อันแรกคือคดี rape ... ให้คิดอยู่เสมอว่า rape = physical(body) assult + psychological assult + sexual assult แล้วทบทวนทั้งสามประเด็นนี้ให้ดี ทบทวนบทความหรือหนังสือที่เกี่ยวข้อง ทั้งเรื่องการทำร้ายร่างกาย ปัญหาทางจิต และประเด็นการล่วงละเมิดทางเพศ ...การตรวจพบ-ไม่พบ sperm หรือ Acid phosphatase (ไม่ใช่ alcaline phosphatase นะครับ เคยมีคนส่งผิดด้วย) เป็นเรื่องที่ต้องไปทบทวนความรู้ที่เกี่ยวข้องให้ดี แต่ก็อย่าลืมอีกสองประเด็นที่เหลือ เมื่อถึงเวลาจะถูกถามอย่างแน่นอน

อีกประเด็นที่พบบ่อยก็คือเมาแล้วขับ (หรือไม่เมา?) อย่าใจเย็นว่าตรวจระดับแอลกอฮอล์ในเลือดแล้วจะไม่มีปัญหา เพราะกฎหมายกำหนดระดับแอลกอฮอล์ไว้แล้วว่าเอาเท่าไหร่ เกินหรือไม่เกินก็เห็น ๆ กันอยู่ ความสำคัญมันอยู่ตรงที่ว่า ระดับแอลกอฮอล์เท่าไหร่ จะมีอาการอย่างไรบ้าง จะง่วง จะซึม หรือจะมีอาการอย่างไร ให้ไปอ่านมาด้วย และอย่าลืมว่าที่เจาะระดับแอลกอฮอล์นั้นมันกี่ชั่วโมงหลังดื่ม แล้วระดับแอลกอฮอล์ในเลือดนั้นมันลดลงได้เร็วแค่ไหน เพราะไม่ใช่ว่าดื่มเสร็จแล้วมาเจาะเลือดทันที ไหนจะขึ้นรถไปยักแย่ยักยันเสียบกุญแจ ไหนจะขับรถอีก แล้วพอชนกันเสร็จก็ต้องรอให้ตำรวจเอามาส่งโรงพยาบาลอีก ต้องเตรียมข้อมูลส่วนนี้ให้ดี

ที่เหลือก็เป็นพวกอุณหภูมิร่างกาย ลดลงเท่าไหร่ต่อชั่วโมง ตายมานานเท่าไหร่ การเกร็งมือ-เท้า ทิศทางกระสุน ชนิดกระสุน การตกของเลือด ฯ ต้องอ่านและศึกษามาด้วยเช่นกันครับ

4. ปฏิบัติตนวันไปศาล
-ไปตามเวลานัด แต่ในความเป็นจริง การไปเบิกความครั้งหนึ่ง ต้องมีผู้เกี่ยวข้องอย่างน้อย ๆ ก็เกือบสิบคน มาเร็วบ้าง มาช้าบ้าง ตามประสาคนไทยครับ สำหรับผมก็จะยกเวลาช่วงเช้านั้นหรือบ่ายนั้นให้งานนี้ไปเลย เพราะถึงแม้เขาจะสอบเราเป็นคนแรก แต่กว่าจะได้เดินเข้าคอกพยาน บางทีก็เกือบสิบโมงครึ่งก็มี (ถ้าเป็นช่วงเช้า) กว่าจะเสร็จก็เกือบเที่ยง เพราะฉะนั้น ไม่ต้องนัดอะไรไว้เลยครับ

-เอาหมายศาลไปด้วย เตรียมเวชระเบียนและ OPD card ที่ถ่ายเอกสารไว้ไปด้วย จัดเรียงหน้าให้ดี ส่วนสำคัญก็ทำเครื่องหมายไว้ หรือพับมุมไว้ให้เปิดดูได้ง่าย (เสร็จจากให้การก็ส่งคืนโรงพยาบาล ให้โรงพยาบาลจัดการทำลายตามระบบ อย่าเก็บไว้เอง จะมีปัญหาภายหลังถ้าหายหรือมีคนเอาไป)

-แต่งตัวให้เรียบร้อย ใส่เสื้อเชิร์ท แขนสั้นหรือแขนยาวก็ได้ แต่ถ้าเป็นแขนยาว-ห้ามพับแขนเสื้อ เขาถือว่าไม่สุภาพ เสื้อใส่ไว้ในกางเกงให้เรียบร้อย บางคนก็ตัดปัญหาโดยใส่เสื้อกาวน์ไปเลย ใส่ถุงเท้าและรองเท้าหนังหรือผ้าใบก็ได้ ห้ามลากรองเท้าแตะ เพราะเขาจะให้ถอดรองเท้าแตะไว้หน้าห้อง ...คงตลกพิลึกที่หมอเดินเท้าเปล่าไปให้การในศาล

-ไปถึงศาลก็ไปถามที่สำนักงานว่าคดีที่จะมาให้การนั้นอยู่บัลลังก์ไหน บางแห่งก็จะติดบอร์ดไว้ให้ เสร็จแล้วก็ไปที่ห้องพิจารณาคดี บอกเจ้าหน้าที่ (เสมียนศาล) ว่าเราเป็นใคร มาเป็นพยานคดีไหน จะติดต่ออัยการได้อย่างไร หรือให้เขาช่วยพาเราไปพบอัยการเพื่อพูดคุยกันก่อนการซักพยานว่าอัยการจะถามคำถามไปในทางใด เราจะได้เตรียมคำตอบหรือค้นหาข้อมูลจากเวชระเบียนไว้ก่อน ...คำถามคือ ทำไมต้องเป็นอัยการ เป็นทนายจำเลยไม่ได้หรือ ? เดี๋ยวจะตอบให้ในตอนท้ายครับ

-ก่อนขึ้นให้การ เขาจะให้สาบาน จะอ่านเอาจากที่ติดไว้ที่บนโต๊ะหรือสรุปเอาเองก็ได้ เขาไม่ถือครับ แต่ไม่สาบานไม่ได้ ...ต้องทำอย่างไม่มีเงื่อนไขครับ

-ขั้นตอนการซักถาม อัยการจะถามคำถามทั่วไปเหมือนที่บอกไว้ข้างต้น และจะมาเข้าประเด็นที่ต้องการ (อาจมีทนายโจทย์มาร่วมซักด้วย; เพิ่งเจอเมื่อครั้งล่าสุดนี้เอง) และสลับกับทนายจำเลย บางทีก็จะมีซักรอบสอง-รอบสาม อยู่ที่ว่าเราชี้แจงประเด็นได้ชัดเจนหรือไม่ครับ ถ้าไม่อย่าโดนซักมาก หรือบางทีอาจหลีกเลี่ยงการไปขึ้นศาลได้ ผมแนะนำให้เขียนใบชันสูตรและเวชระเบียนให้เรียบร้อย ได้รายละเอียด อ่านง่ายครับ (ประสบการณ์ส่วนตัว; รายไหนเขียนน้อย ๆ ต้องไปขึ้นศาลทุกราย แต่รายไหนเขียนละเอียด ไม่ค่อยจะได้ไปขึ้น)

-ตอบคำถามด้วยความเป็นกลาง คนชี้ผิดถูกคือผู้พิพากษา ข้อนี้สำคัญที่สุด เมื่อใดก็ตามที่เราไม่เป็นกลาง ความยุติธรรมก็จะไม่บังเกิด และส่วนใหญ่ศาลจะเชื่อความเห็นจากพยานที่เป็นแพทย์ ดังนั้น หากไม่รู้ก็ตอบว่าไม่รู้ ไม่ได้ตรวจก็บอกไม่ได้ตรวจ จำไม่ได้ก็บอกจำไม่ได้ การไปเป็นพยานศาลไม่ใช่การไปสอบ จึงไม่จำเป็นต้องตอบให้ถูกหมด แต่จะบอกว่าไม่รู้ ไม่ทราบ จำไม่ได้ ไม่ได้บันทึกไว้ไปเสียทั้งหมดก็คงแย่เหมือนกัน ตอนเดินลงจากคอกพยานคงรู้สึกไร้ค่าพิกล ถ้าบันทึกข้อมูลไว้ดี เตรียมข้อมูลมาดี และทบทวนความรู้มาดี ก็จะช่วยให้การถามตอบได้ข้อมูลที่ดีและถูกต้อง กระบวนการยุติธรรมก็จะดำเนินไปได้ด้วยดีเช่นกันครับ

-เสร็จกระบวนการซักพยานแล้วก็รอสักครู่ เจ้าหน้าที่จะเอาคำให้การของเราที่พิมพ์แล้วมาให้อ่านและลงชื่อกำกับ พยายามดูคำผิดถูกให้ดี เพราะคนที่พิมพ์จะฟังจากเทปซึ่งผู้พิพากษาพูดอัดไว้ด้วยภาษากฎหมาย ซึ่งจะแปลงจากคำถาม-คำตอบของอัยการ-ทนาย กับเราอีกที กระบวนการทั้งหมดสามขั้นตอน อาจผิดตอนไหนก็ได้ เมื่ออ่านเสร็จแล้วก็ลงลายมือชื่อกำกับครับ

-เจ้าหน้าที่ของศาลจะเอาเอกสารมาให้หนึ่งใบ ไปเบิกที่หน่วยงานธุการของศาลได้ค่ามาให้การครั้งละ 200 บาทครับ เดิมให้เฉพาะคดีแพ่ง แต่ปัจจุบันให้หมดทุกคน-ทุกคดีครับ

5. ข้อห้ามและข้อควรระวัง
-ที่สำคัญที่สุดคือ ต้องควบคุมอารมณ์ให้ดี และข่มความรู้สึก (โดยเฉพาะความโกรธ) ให้ได้ ฝ่ายอัยการจะเป็นคนชี้ประเด็นและต่อภาพปริศนาภาพหนึ่งโดยมีคำให้การของแพทย์เป็นหนึ่งในตัวต่อภาพปริศนาแผ่นนั้น ทนายจำเลยจะเป็นผู้มองหาช่องว่างที่มีเพื่อทำให้ภาพปริศนาไม่สมบูรณ์ หรืออาจต่อภาพปริศนาภาพใหม่ขึ้นมาโดยมีคำให้การของแพทย์เป็นหนึ่งในตัวต่อภาพปริศนาอันใหม่นี้อีกเช่นกัน

จงอย่าไปเล่นตามเกมส์ของทนาย ควบคุมตัวเองให้อยู่ในความสงบและเป็นกลางมากที่สุดด้วยข้อมูลและความรู้ที่มี คำถามบางคำถามอาจเป็นคำถามที่ยั่วยุความโมโห-โกรธ หรืออาจมีการกระทบกระเทียบอยู่ในท่าที จงอย่าให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้เป็นอันขาด

แต่สำหรับอัยการ โดยทั่วไปท่าทีของอัยการจะเป็นบุคลิกกลาง ๆ ของข้าราชการที่พร้อมจะช่วยเหลือผู้อื่น และให้ความเป็นมิตรกับแพทย์มากอยู่แล้ว จึงไม่ค่อยพบปัญหาเหล่านี้เมื่ออัยการเป็นผู้ซักพยาน (แพทย์)

-ตอบไม่ได้หรือไม่รู้นั้นไม่ผิด ถ้าไม่สามารถให้ความเห็นได้อย่างแน่นอนด้วยตัวเอง ให้ตอบว่า "ต้องขอความเห็นจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ" (เว้นเสียแต่ว่าเราเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเสียเอง; ซึ่งนี่เป็นเหตุผลว่าทำไมถึงต้องทบทวนความรู้ทั้งหลายเสียก่อน) การ "มั่ว" จะทำให้ความบริสุทธิ์ของข้อมูลเสียไป ผู้ประเมินและวิเคราะห์ก็จะทำได้ไม่ดี และจะทำให้เกิดผลเสียตามมาในที่สุด

-ศาลยุติธรรม ไม่ใช่เวทีสารภาพบาป ...ข้อนี้ฝากไว้แค่นี้ ที่เหลือให้ไปคิดเอาเอง




Create Date : 20 พฤษภาคม 2549
Last Update : 17 กรกฎาคม 2550 10:26:09 น. 1 comments
Counter : 2575 Pageviews.

 
คุณหมอเขียนแนะนำได้ดีมากครับ
ผมเคยสืบหมอนิติเวชท่านหนึ่ง ท่านเบิกความตามที่เราต้องการโดยแทบจะไม่ต้องถามอะไรเลย วันนั้นผมถามแค่คำถามแรกคำถามเดียวว่า "พยานจบการศึกษาจากที่ไหน ?" ที่เหลือคุณหมอโซโล่จนจบม้วนเลย ทนายจำเลยถามค้านอย่างไรก็ไม่แตก ในที่สุดก็ต้องเลิกถามไปเอง

สำหรับหมอนั้นถ้าไปเบิกความ สำหรับในคดีอาญาจะเป็นพยานผู้ชำนาญการพิเศษซึ่งทำความเห็นเป็นหนังสือได้แต่ต้องไปเบิกความประกอบหนังสือนั้น เวลาเบิกความก็อาจดูผลการตรวจชันสูตรบาดแผลหรือศพแล้วเบิกความตามนั้นได้ ศาลท่านไม่ค่อยเคร่งครัดกับหมอว่าจะต้องเบิกความจากความทรงจำ

สำหรับผมแล้วโดยส่วนตัวเห็นว่าหมอส่วนใหญ่งานจะค่อนข้างยุ่ง เพราะฉะนั้นจะพยายามให้ทนายจำเลยรับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพยานที่เป็นหมอให้มากที่สุด หมอจะได้ไม่ต้องเสียเวลาไปเบิกความที่ศาลบ่อยๆ ครับ


โดย: Gunnersaurus วันที่: 24 พฤศจิกายน 2549 เวลา:6:28:36 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Zhivago
Location :
นครศรีธรรมราช Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]




มนุษย์เข้มแข็ง
กว่าที่ตนคิดไว้เสมอ
New Comments
Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2549
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
20 พฤษภาคม 2549
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add Zhivago's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.