กำแหง..หนุมาน
วันพฤหัสฯ ที่จะถึงนี้ เป็นวันอาสาฬหบูชา และต่อด้วยวันเข้าพรรษา ป้าและหลาย ๆ ท่านที่ทำงานก็จะได้หยุดงานยาวถึง 4 วัน
ป้ามีโปรแกรมเดินทางไปถือศีลที่ปากช่อง โดยจะออกเดินทางเช้ามืดของวันอาสาฬหฯ อันเป็นสาเหตุให้ป้าต้องหายไปจากหน้าบล็อกฯ เป็นเวลาหลายวัน
ทีนี้ก็เกรงว่าคุณ ๆ ทั้งหลายที่ไม่มีโปรแกรมไปค้างอ้างแรมที่ไหนจะเหงา ที่สำคัญจะได้ไม่ลืม ปอ..ป้า ด้วย...( อิ ๆ .. ).. ป้าก็เลย เอาเรื่องโขนเฉลิมกรุงมาฝากไว้ให้อ่านให้ดูแก้เหงา แต่ขอร้องอย่างหนึ่งว่า เมื่อดูหน้าโขนแล้วอย่าจินตนาการว่าเป็นหน้าป้า..นะคะ

ครือ...เมื่อ..วันเสาร์ที่ 5 ก.ค. ที่ผ่านมานี้ ป้าได้มีโอกาสไปดูโขนที่ศาลาเฉลิมกรุง ซึ่งงานนี้เขาจัดเนื่องในวาระครบรอบ 75 ปี ของศาลาเฉลิมกรุง การแสดงครั้งนี้ให้ชื่อว่า กำแหงหนุมานข้าราชบริพารผู้ภักดี ดูรายชื่อนักแสดงแล้วเห็นว่าใช้คนแสดงเป็นหนุมานถึง 11 คน ทีเดียว ก็น่าอยู่หรอกเพราะเต้นเป็นลิงอยู่ร่วม 2 ชั่วโมง ถ้าใช้คนเดียว คนคนนั้นคงจะต้องเป็นมนุษย์มหัศจรรย์เป็นแน่แท้....
การแสดงทั้งหมดมีอยู่ด้วยกัน 5 องก์ แต่ก่อนที่จะเล่าเรื่องหนุมานผู้เก่งกาจ ป้าขอนำประวัติศาลาเฉลิมกรุงที่เขาเขียนไว้ในสูจิบัตรงานมาฝากก่อนค่ะ...

กำเนิดศาลาเฉลิมกรุง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใฝ่พระราชหฤทัยในเชิงการถ่ายรูปมาตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์ ขณะที่ยังคงดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกฯ อยู่นั้น ก็ยังทรงฉายรูปอยู่เสมอ อีกทั้งยังทรงได้รับเหรียญรางวัลพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหลายครั้ง จากการส่งรูปถ่ายฝีพระหัตถ์เข้าร่วมประกวดในการประชันรูปถ่าย ซึ่งจัดขึ้นในงานออกร้านประจำปีของวัดเบญจมบพิตร
นอกจากนี้ ยังทรงฝักใฝ่พระราชหฤทัยในด้านภาพยนตร์และการถ่ายภาพยนตร์ด้วย ทรงโปรดการทอดพระเนตรภาพยนตร์ และทรงสนพระทัยในกิจกรรมความเคลื่อนไหวของวงการภาพยนตร์มาตั้งแต่ครั้งมิได้เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ

ในยุคนั้น สื่อบันเทิงที่เฟื่องฟูมากที่สุดในโลกก็คือ ภาพยนตร์ ประกอบกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใฝ่พระราชหฤทัยในโรงภาพยนตร์ โดยเฉพาะทรงถ่ายภาพยนตร์ด้วยพระองค์เอง เพื่อทรงบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ อยู่เสมอ ภาพยนตร์ฝีพระหัตถ์ของพระองค์ส่วนใหญ่จึงถือเป็นแนวสารคดี เช่น เหตุการณ์ขณะเสด็จประพาสสถานที่ต่าง ๆ พระราชพิธีสำคัญ ๆ ซึ่งเป็นพระราชพิธีที่หาดูไม่ได้อีกแล้วในปัจจุบัน
นอกจากนี้ ยังทรงโปรดการสร้างภาพยนตร์ ด้วยทรงเห็นว่าพสกนิกรจะมีความเพลิดเพลินสนุกสนานและได้รับสารประโยชน์จากภาพยนตร์ คือ เป็นการถ่ายทอดวัฒนธรรม และเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์แห่งช่วงเวลานั้น ๆ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 9 ล้านบาท เพื่อโรงมหรสพที่ทันสมัย และใหญ่ที่สุดของเอเชียในยุคสมัยนั้น และพระราชทานนามเพื่อเป็นเกียรติแก่หม่อมเจ้าสมัยเฉลิมกฤดากร ผู้ออกแบบ และเป็นอนุสรณ์แห่งการเฉลิมฉลองกรุงเทพมหานคร 150 ปี ว่า ศาลาเฉลิมกรุง

ในวันอาทิตย์ที่ 2 กรกฎาคม 2476 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี ( ม.ร.ว. มูล ดารากร ) เป็นผู้แทนพระองค์มาประกอบพิธีเปิด ภาพยนตร์ที่จัดฉายเรื่องแรกคือเรื่อง มหาภัยใต้ทะเล เป็นภาพยนตร์ต่างประเทศเสียงในฟิล์ม และฉายต่อไปตามโปรแกรม
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำรายได้ทั้งหมดจากการเก็บค่าผ่านประตูเข้าชมภาพยนตร์ในวันนั้น เป็นจำนวนเงิน 1,178 บาท 10 สตางค์ ยกให้แก่กองการกุศลสภากาชาดสยาม.....จบประวัติศาลาเฉลิมกรุง
 ทีนี้ก็มาถึงเรื่องราวของโขนซึ่งมีทั้งหมด 5 องก์ อย่างที่บอกแต่แรก เริ่มจาก...
องก์ที่ 1 ชื่อว่า คำสั่งสอนบิดรมารดา รับใส่เกศาคุ้มวันตาย เป็นเรื่องกำเนิดหนุมาน ซึ่งเกิดจาก คฑา จักร ตรี และพลังของพระอิศวร โดยกำหนดให้พระพายเป็นพ่อ และนางสวหะ เป็นแม่ เมื่อหนุมานเกิดมา ได้รับคำสั่งสอนจากบิดามารดาจึงจดจำ แล้วเดินทางตามหาพระราม เพื่อถวายตัวเป็นข้าในพระองค์

องก์ที่ 2 ชื่อว่า อาสานาย อย่าทำการเกินรับสั่ง เมื่อทศกัณฐ์ลักนางสีดาไป ในระหว่างทางสดายุเข้าขวาง จึงถูกทศกัณฐ์ฆ่าตาย หนุมานซึ่งถวายตัวเป็นข้าพระรามแล้ว ได้อาสาออกสืบทางไปกรุงลงกา และนำแหวนกับผ้าสไบไปถวายนางสีดา ได้รับการช่วยเหลือจากพญานกสัมพาที พี่ของสดายุ พาไปดูเกาะลงกา หนุมานได้ลอบเข้าสวนขวัญกรุงลงกา ไปถวายแหวนกับผ้าสไบให้นางสีดา แต่เพียงผู้เดียว หนุมานได้เข้าทำลายสวนและฆ่าสหัสกุมาร ลูกของทศกัณฐ์ตายทั้ง 1,000 ตน และเผาลงกาวอดวาย หนุมานจึงถูกพระรามตำหนิที่ทำการเกินที่พระองค์สั่ง

องก์ที่ 3 ชื่อว่า ให้ระวัง รับอาสา อย่าบาดหมาง ขวางทางกันพระรามให้สุครีพ หนุมาน นิลพัท จองถนนข้ามไปกรุงลงกาตามหนทางที่หนุมานไปสืบมา แต่หนุมานกับนิลพัท มีความแค้นต่อกันมาก่อน จึงเกิดวิวาทกัน พระรามตัดสินให้นิลพัทไปอยู่กองหลัง คอยส่งเสบียงให้หนุมานจองถนนให้สำเร็จ นางสุพรรณมัจฉา ลูกทศกัณฐ์มาขัดขวางตามคำสั่งพ่อ หนุมานจับได้จึงสามารถสร้างถนนข้ามไปลงกาสำเร็จ

องก์ที่ 4 ชื่อว่า ถวายชีวัน มิห่วงตัว คิดกลัวภัย ทศกัณฐ์ ให้มัยราพณ์ ลอบลักพระรามไปขังไว้ในกรุงลงกา หนุมานตามไปช่วย ได้พบกับมัจฉานุลูกชายที่เกิดกับนางสุพรรณมัจฉา เมื่อครั้งจองถนนข้ามไปลงกา มัจฉานุให้ความช่วยเหลือหนุมานผู้พ่อ จนหนุมานตามไปช่วยพระรามกลับมาได้ และฆ่ามัยราพณ์ตาย ผลงานครั้งนี้ พระรามทรงรางวัลให้หนุมานขึ้นครองกรุงอโยธยากึ่งหนึ่ง เมื่อเสร็จศึกลงกา หนุมานวางกลเข้าไปสามิภักดิ์ทศกัณฐ์ และลวงเอากล่องดวงใจทศกัณฐ์มาได้ ทำให้พระรามชนะศึกลงกา

องก์ที่ 5 ชื่อว่า อย่าใฝ่สูง เกินศักดิ์ รู้จักตน เมื่อเสร็จศึกลงกา พระรามทรงบำเหน็จให้หนุมานขึ้นครองกรุงอโยธยากึ่งหนึ่งตามที่ทรงประทานไว้ แต่หนุมานไม่สามารถขึ้นนั่งบัลลังก์บัญชาการได้ ด้วยเป็นสิ่งสูงเกินศักดิ์ของตน หนุมานจึงได้ถวายคืนบำเหน็จแก่พระราม พระรามจึงทรงประทานเมืองที่สร้างขึ้นใหม่ให้แก่หนุมานครอง ชื่อว่า เมืองนพบุรี และประทานสมัญญาว่า พระยาอนุชิตจักรกฤษณ์พิพรรธพงศา....เป็นอันจบตอน กำแหงหนุมาน ข้าราชบริพารผู้ภักดี

ดูจบแล้วก็ต้องยอมรับว่า เดี๋ยวนี้วิวัฒนาการด้านการแสดงโขนได้รับการพัฒนาให้ทันสมัยมากขึ้นกว่าเดิม จากที่เคยได้ดูมา เช่น การนำสลิงมาผูกตัวหนุมาน ให้ผู้แสดงได้สวมบทบาทลิงได้อย่างผาดโผนตื่นเต้น การนำหุ่นละครโรงเล็กมาร่วมการแสดงบางตอน ฉากก็จัดได้สวยงามตระการตากว่าเดิม อีกทั้งยังมี subtitle เป็นภาษาอังกฤษให้ชาวต่างชาติได้เข้าใจเนื้อหาการแสดงแต่ละฉากด้วย นอกจากนี้คำพูดบทกลอนคารมของตัวละครก็ทันสมัย เลยทำให้ป้าคิดถึงคุณคนสาฯ ที่ท่านก็มีสำนวนโวหารไม่ด้อยไปกว่ามืออาชีพในโรงละครเลย...

ได้รับความสนุกสนานรื่นเริงบันเทิงใจมาแล้ว ป้าก็ขอนำความสุข ความสนุกนี้ มาฝากหมู่เฮาชาวบล็อกฯ ที่ไม่มีโอกาสไปชมของจริง ได้ชมรูปภาพและเรื่องราวโขนตอนนี้ด้วยกันค่ะ ส่วนท่านไหนได้ไปดูเหมือนป้า ก็อย่าว่าคนแก่เอามะพร้าวห้าวมาขายสวนนะคะ...ก็คนแก่อยากเล่าอ่ะ....
ท้ายนี้ ป้าขออนุโมทนาบุญล่วงหน้ากับคุณ ๆ ที่จะไปทำบุญเนื่องในวันสำคัญทางศาสนาที่จะถึงนี้ด้วย...และขอให้กุศลผลบุญที่คุณตั้งใจทำ จงส่งผลให้คุณและครอบครัว ตลอดจนคนที่คุณรัก ประสบแต่ความสุข ความเจริญ คิดสิ่งใดอันเป็นสุจริต ก็ขอให้สมความมุ่งมาดปรารถนา จงทุกประการ..เทอญ

กลับมาจากถือศีลแล้ว ป้าจะพาไปเที่ยวอินเดียต่อค่ะ.....

Create Date : 15 กรกฎาคม 2551 |
|
48 comments |
Last Update : 19 มีนาคม 2558 16:11:50 น. |
Counter : 4553 Pageviews. |
|
 |
|