Group Blog
 
<<
กันยายน 2553
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
 
24 กันยายน 2553
 
All Blogs
 

พื้นที่ เวลา บริบท ที่หมุนวนรอบ "ภาพยนตร์"

ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 23 กันยายน 2553







การก่อตัวขึ้นของสื่อใหม่อย่างอินเทอร์เน็ต นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่วงการการวิจารณ์ภาพยนตร์มากพอสมควร อย่างน้อยที่สุดเรามีนักคิดนักเขียนด้านภาพยนตร์เพิ่มขึ้นมากมายจากในอดีตที่นิ้วมือทั้งสองข้างก็เหลือแหล่เกินพอที่จะนับ อินเทอร์เน็ตมีส่วนประกอบมากมายให้คนธรรมดาสามัญได้เข้าถึงความรู้ใหม่ๆ ของโลกภาพยนตร์ พร้อมกับเขียนเสนอออกมาในรูปแบบบทความ หรือความคิดเห็นถ่ายทางเว็บบอร์ด บล็อก รวมถึงเว็บยอดนิยมอย่างเฟซบุ๊คและทวิตเตอร์ตามสะดวก


ห้าถึงหกปีที่แล้ว เริ่มมีผลงานวิจารณ์ภาพยนตร์เผยแพร่ในเว็บบล็อกโดยบล็อกเกอร์หน้าใหม่และมี อัตราการเพิ่มขึ้นของทั้งบทความและตัวนักวิจารณ์เองเป็นสถิติแบบคร่าวๆ ที่น่าพอใจ ผู้เขียนเองก็เป็นหนึ่งในบล็อกเกอร์เหล่านั้นและได้รู้จักกับบล็อกเกอร์คน อื่นๆ วันเวลาผ่านไปก็ยิ่งรู้จักกันจากเครือข่ายใยแมงมุมนี้มากขึ้นๆ ซึ่งผู้เขียนเองได้พบว่ามีนักเขียนวิจารณ์ภาพยนตร์ตามบล็อก หรือตามเว็บต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย ซึ่งหลายๆ บทความอ่านแล้วก็ได้ประเด็นน่าสนใจ


เมื่ออ่านไปได้สักพักสิ่งที่ผู้เขียนพบเห็นถึงปัญหาในงานเขียนโดยรวมของ นักวิจารณ์หน้าใหม่ คือ มักจะมุ่งเน้นการวิเคราะห์โครงเรื่อง ตัวละคร อันเป็นขนบ พร้อมกับหาสัญญะที่แฝงอยู่ในหนังอันเป็นการมองระหว่างบรรทัดหาประเด็นที่ผู้ กำกับต้องการสื่อ ทว่ากลับละเลยไม่ค่อยให้ความสนใจกับบริบทแวดล้อมในภาพยนตร์เรื่องที่กำลัง วิเคราะห์เท่าใด ส่งผลให้ชิ้นงานที่ออกมายังไม่แสดงให้เห็นถึงความคิดที่ลุ่มลึกเท่าใดนัก


แล้วบริบทไอ้ที่ว่านี้มันแปลว่าอะไร อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ จาก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ได้ให้คำนิยามของคำว่าบริบท ไว้ในบทความชื่อ สังคมไทยไม่รู้จัก "บริบท" (กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 19 ส.ค. 2553) โดยอรรถจักร์สรุปสั้นว่าๆ คำว่า "บริบท" มีความหมายถึงสภาพแวดล้อมที่สัมพันธ์/เป็นเงื่อนไข/ก่อให้เกิดอุบัติการณ์ หนึ่งๆ ขึ้นมา เราเชื่อว่าไม่มีอุบัติการณ์ใดเกิดขึ้นจากสุญญากาศได้ และเราไม่เชื่อว่าอุบัติการณ์หนึ่งๆ เกิดขึ้นได้จากเจตจำนงของคนเพียงอย่างเดียว ผู้เขียนขอสรุปง่ายๆ คือ ทุกเหตุการณ์นั้นล้วนมีเงื่อนไขสิ่งแวดล้อม ทั้งด้าน พื้นที่ เวลา ความคิด ฯลฯ แวดล้อมอยู่


การเกิดขึ้นมาของภาพยนตร์แต่ละเรื่องย่อมมีปัจจัยแวดล้อมทั้งด้านพื้นที่ เวลา และความคิด ณ ขณะนั้นซึ่งได้หล่อหลอมเข้าไปสู่กระบวนการระบบคิดของผู้กำกับและทีมงาน ตัวผู้กำกับเองนั้น จะทำหนังสักเรื่องหนึ่งออกมาจะต้องเกิดจากการตกตะกอนทางความคิด ซึ่งความคิดเหล่านี้ เกิดจากการได้ประสบการณ์บางอย่างทั้งทางตรงและทางอ้อม อาจจะเกิดจากการอ่าน การได้ฟัง การได้ยิน รวมไปถึงการได้ไปประสบพบเจอเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านั้นด้วยตนเอง ดังนั้น หนังเรื่องหนึ่งๆ จึงมักจะมีกลิ่นอายบรรยากาศอันเกิดจากบริบทที่แวดล้อม ณ ขณะนั้น การที่นักวิจารณ์เพิกเฉยต่อบริบทของภาพยนตร์ย่อมส่งผลให้ไม่เข้าปรากฏการณ์ ที่เกิดขึ้นในเรื่องอย่างร้อยเปอร์เซ็นต์


ผู้เขียนขอยกตัวอย่างภาพยนตร์สักสองสามเรื่องในสองสามยุคเป็นตัวอย่าง เพื่อให้ทุกท่านได้เห็นภาพชัด ตัวอย่างแรก ตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 50 ถึง 70 ประเทศอเมริกาได้ตัดสินใจส่งกำลังรบของตนเข้าสู่ประเทศเวียดนามใต้ เพื่อช่วยเหลือรัฐบาลไซง่อนในการรับมือเวียดกงตามนโยบายต้านคอมมิวนิสต์ 20 ปีที่ประชาชนอเมริกันต้องทนทุกข์ต่อสงครามที่พวกเขาเองก็ยังไม่รู้ว่ารบกับ ใคร และ รบไปเพื่ออะไร มีวัยรุ่นจำนวนมากที่เอาชีวิตไปทิ้งไว้ราวกับเปลวเทียนจำนวนมากที่ดับไป เพียงลมพัดผ่านวูบเดียว ภาพยนตร์เกี่ยวกับสงครามเวียดนามที่ออกมา ณ ขณะนั้น ที่ถูกยกระดับให้กลายเป็นหนังคลาสสิกล้วนมีกลิ่น "ต่อต้าน" สงครามทั้งสิ้น ทั้ง Apocalypse Now Platoon The Deer Hunter ฯลฯ หรือหนังยุค 90’s อย่าง Born on the fourth of July (เยอะจนโดนแขวะว่าสงครามเวียดนามได้กลายเป็นสินค้าเสียแล้ว)


สงครามเวียดนามจัดได้ว่าเป็นสงครามครั้งสำคัญที่มนุษย์ได้แสดงความแอบ เสิร์ด (Absurd) คือไร้สาระ ไร้เหตุผล ออกมา ทหารที่ถูกส่งเข้าไปรบล้วนแล้วถูกสร้างภาพเวียดกงที่เป็นปีศาจไว้ในหัวแถม ยังไม่รู้อีกว่าแท้ที่จริงแล้วพวกเขาเข้าไปรบทำไม ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา ได้สะท้อนความไร้สาระนี้ออกมาใน Apocalypse Now โดยเฉพาะในฉากคลาสสิกที่กองพันทหารม้าส่งเฮลิคอปเตอร์ไปถล่มหมู่บ้านเวียดก งติดริมทะเลที่คลื่นแรงเหมาะกับการเล่นกระดานโต้คลื่น พร้อมเปิดเพลง Ride of the Valkyries เพื่อลดขวัญกำลังใจศัตรู ด้วยความที่ผู้กองชื่นชอบการเล่นโต้คลื่นมาก จึงสั่งให้ลูกน้องเล่นโต้คลื่นท่ามกลางกระสุนปืนที่สาดมาจากเวียดกง ในที่สุด ผู้กองเลยแก้ปัญหาด้วยการโทรเรียกเครื่องบินรบมาถล่มหมู่บ้านด้วยนาปาล์ม เพียงเพื่อจะได้เล่นกระดานโต้คลื่นอย่างสุขใจ


พฤติกรรมเช่นนี้หากไม่เข้าใจถึงความแอบเสิร์ดของสงครามเวียดนามเราอาจจะ งุนงงกับพฤติกรรมที่ลงทุนถึงขนาดนี้ของผู้กองท่านนี้ก็เป็นได้ แต่ถ้าคิดดูดีๆ แล้ว การส่งทหารเข้ามารบของอเมริกาก็แอบเสิร์ดพอกัน ไม่น่าแปลกใจที่หน่วยย่อยๆ ของพวกเขาเองก็จะหาเหตุผลในการกระทำของตัวเองไม่ได้


อีกสักหนึ่งตัวอย่าง เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้เขียนได้เปิดภาพยนตร์เกี่ยวกับนาซีและยิวในนักศึกษาชม ปฏิเสธไม่ได้ว่าชะตากรรมที่ยิวได้รับจากรัฐบาลนาซีนั้นเจ็บปวดยิ่งนัก ภาพยนตร์หลายเรื่องถ่ายทอดเรื่องราวทุกข์ระทมนี้มากมายโดยเฉพาะในยุคทศวรรษ ที่ 90’s เป็นต้น เช่น Schindler's List งานจริงจังของสตีเฟน สปีลเบิร์ก The Pianist ของ โปลันสกี้ ฯลฯ งานเหล่านี้ได้รับรางวัลมากมายในเวทีระดับโลก แน่นอนว่า ภาพยนตร์เหล่านี้ได้ทำการผลิตซ้ำความน่าสงสารของชะตากรรมที่ชาวยิวต้องได้ รับ ชาวประชาที่ได้ชมต่างเสียน้ำตาและต่างสาปแช่ง และเกลียดฮิตเลอร์เข้ากระดูกดำ


คำถามที่น่าสนใจต่อประเด็นบริบทนี้ คือ เวลาผ่านไปนานมากแล้วไยจึงต้องผลิตซ้ำภาพยนตร์ที่แสดงความสงสารต่อยิวอีก ทั้งๆ ที่หากดูบริบทสังคมในเวลานี้ ปัญหาความขัดแย้งในประเทศอิสราเอลระหว่างชาวยิวและชาวปาเลสไตน์ เป็นปัญหาเรื้อรังที่ยากจะแก้ไข ถึงกับมีสงครามกลางเมืองบ่อยๆ มีนักวิจารณ์ภาพยนตร์หลายท่านได้วิเคราะห์เชิงทฤษฎีสมคบคิดว่า ภาพยนตร์แนวสงสารยิวกำลังสร้างความชอบธรรมให้แก่อิสราเอลต่อการกระทำต่อชาว ปาเลสไตน์ ในขณะที่ภาพยนตร์ ซึ่งเล่าจากฟากปาเลสไตน์มีน้อยมากที่ได้ฉายในเทศกาลภาพยนตร์ระดับโลก (ผู้เขียนเคยชมเพียง Divine Intervention ของ อีเลีย สุไลมาน เท่านั้น) จากกรณีนี้หากนักวิจารณ์ยังคงติดอยู่อดีตถึงบริบทความน่าสงสารของยิวย่อมมี โอกาสทำให้พลาดในการตีความหมายเชิงสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาที่ปรากฏใน ภาพยนตร์ได้


ดังนั้น นักวิจารณ์หนังหน้าใหม่ จึงควรมองภาพยนตร์ให้รอบด้านด้วยแว่นตาของสังคมวิทยา มานุษยวิทยา ประวัติศาสตร์ ฯลฯ จะช่วยทำให้เห็นมุมมองหลายประเด็นที่แฝงในภาพยนตร์ได้แจ่มแจ้งชัดยิ่งขึ้น





 

Create Date : 24 กันยายน 2553
3 comments
Last Update : 24 กันยายน 2553 0:17:08 น.
Counter : 2243 Pageviews.

 

เป็นบทความที่น่าสนใจมากครับ

ออกตัวเลยว่า ติดตาม Blog ของพี่มาตั้งแต่ก่อนเริ่มเขียน Blog เป็นของตัวเอง


แต่ผมขออ่านข้ามย่อหน้าที่ 6 - 9 เนื่องจากยังไม่ได้ชมหนังเหล่านั้น และเกรงว่าจะเสียอรรถรสในการชม

แต่พอเข้าใจว่า การวิจารณ์ภาพยนตร์ให้ลึกซึ้ง ควรพิจารณาจาก บริบททางสังคมและประวัติศาสตร์ที่มีผลโดยตรงต่อตัวผู้สร้างเป็นสำคัญ (ซึ่งก็ไม่มั่นใจนักว่าเข้าใจถูกต้อง 100%)





ผมเขียน Blog วิจารณ์ภาพยนตร์มาประมาณสองปี ก็ได้รับคำวิจารณ์บ้าง

แต่ถ้าพี่มีเวลาว่างก็รบกวนวิจารณ์บทวิจารณ์ของผมหน่อยนะครับ

เพราะคำวิจารณ์ของพี่ย่าจะช่วยให้ผมได้มองเห็นตัวเองในมุมมองของผู้อื่น และช่วยให้ผมได้พัฒนางานเขียนให้เหมาะสมขึ้น


ขอบคุณล่วงหน้าครับ

ไม่ว่างไม่เป็นไรนะครับพี่

 

โดย: navagan 24 กันยายน 2553 9:45:50 น.  

 

มีนักศึกษาอยากวิจารณ์หนังขึ้นมาบ้างหรือยัง ^^

 

โดย: grappa 27 กันยายน 2553 9:47:51 น.  

 

ขอบคุณเอ็นทรี่นี้ครับท่านพี่ ที่ซึ่งทุกอย่างที่พี่ว่ามาสำหรับหนังวิจารณ์หน้าใหม่นั้นผมโดนเต็มๆ ฉะนั้นพออ่านเอ็นทรี่นี้แล้วสิ่งที่ผมควรทำให้มากขึ้นกว่าเดิมคือศึกษาและเปิดสมองรับทุกสิ่งอย่างให้มากขึ้น เพื่อเป็นพื้นในการวิจารณ์ต่อไำป ^^

 

โดย: Seam - C IP: 58.11.21.149 30 กันยายน 2553 19:15:05 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


I will see U in the next life.
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




Friends' blogs
[Add I will see U in the next life.'s blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.