Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2548
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
16 สิงหาคม 2548
 
All Blogs
 
วิเคราะห์ Somersault ผ่านทฤษฏีจิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis) ของซิกมันด์ ฟรอยด์



บทความชิ้นนี้เป็นรายงานในวิชา media analysis ส่ง รศ.ดร.กาญจนา แก้วเทพ (ได้อ่านก่อนอาจารย์อีกนะครับ เพราะผมต้องส่งพรุ่งนี้) ผมไม่ได้ edit ภาษานะครับ อาจมีอ่านยากบ้างนิดหน่อย

ความยาวประมาณ 3 หน้า A4 ครับ

ภาพยนตร์เรื่อง Somersault เป็นภาพยนตร์จากประเทศออสเตรเลีย เข้ามาฉายในไทยอย่างเงียบ ๆ ตามประสาหนังที่ไม่ได้เป็นกระแสหลักอย่างหนังฝากฮอลลีวูด ในบทความชิ้นนี้ผู้วิเคราะห์ใช้ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis) ของ ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) เป็นหลัก เพื่อให้เห็นสภาพของตัวละครในภาพยนตร์

Somersault ดำเนินเรื่องโดยหญิงสาววัยรุ่นนามว่า ‘ไฮดี้’ เธออาศัยอยู่กับแม่เพียงลำพัง ความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับเธอนั้นไม่ราบรื่นนัก นอกจากแม่ไม่ค่อยมีเวลาให้เธอแล้ว แม่ยังชอบพาแฟนใหม่มาที่บ้านบ่อย ๆ

ช้าวันหนึ่งในระหว่างที่แม่ของเธอออกไปทำงาน ไฮดี้ก็นั่งคุยกับแฟนหนุ่มของแม่แล้วก็ลงเอยด้วยการกอดจูบกัน แต่ใครจะรู้ว่าเวลาเดียวกัน แม่ของเธอกลับมาบ้านแบบไม่ทันตั้งตัว ไฮดี้ถูกเฉดหัวออกจากบ้านทันที

ไฮดี้ฝากความหวังว่าเธอจะไปอาศัยอยู่กับชายหนุ่มที่เคยมอบผ้าพันคอให้กับเธอ แต่ทุกอย่างก็กลับไม่เป็นไปอย่างที่คิด เขาปฏิเสธหล่อนอย่างไม่มีเยี่อใย ชีวิตของไฮดี้เริ่มเคว้งคว้าง เงินที่มีติดตัวเริ่มหมด เธอเริ่มทำทุกวิถีทางเพื่อหาใครที่สามารถให้ได้เกาะติดอาศัยไปด้วย แต่จนแล้วจนรอดเธอก็ถูกปล่อยลอยแพไว้เพียงคนเดียวเสมอ

เหตุการณ์หลังจากนี้ ไฮดี้ได้พบกันโจ ชายหนุ่มที่ปิ๊งเธอตั้งแต่แรกพบ เธอพยายามสานต่อความสัมพันธ์ให้กลายเป็นความรัก แต่ดูเหมือนว่าความรักของเธอและเขานั้นจะต่างกันโดยสิ้นเชิง

เมื่อใช้ทฤษฎีจิตวิเคราะห์วิเคราะห์มุ่งไปที่ตัวดำเนินเรื่องอย่างไฮดี้ จะพบว่า ไฮดี้นั้นเป็นคนที่พยายามหาความรักมาเติมเต็มให้กับชีวิตของเธอ แต่ความรักที่เธอหามามักจบลงด้วยการมีเซ็กซ์เสมอ เธอเข้าใจว่าความรักกับเซ็กซ์นั้นคือสิ่งเดียวกัน ดังนั้นทุกครั้งที่เธอเหงา เธอมักจะปล่อยตัวไปกับการมีเซ็กซ์เพราะหวังที่จะได้ความรักจากชายที่เธอร่วมรักด้วย

เธอตามหาความรักมาเติมเต็มผ่านการมีเซ็กซ์ โดยไม่สนใจว่าถึงวิธีการว่าจะได้มาได้อย่างไร ส่งผลให้เธอปล่อยชีวิตให้เป็นไปตามใจปรารถนา คิดอยากจะกินเหล้าก็กิน คิดอยากจะนอนกับใครก็ทำ ซ้ำยังเคยเดินแก้ผ้ากลางหิมะตอนตีสามโดยไม่แคร์สายตาใคร ชีวิตของเธอไร้กฎระเบียบกฎเกณฑ์มากำหนด ทุกอย่างทำไปเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเอง



ประเด็นนี้สามารถอธิบายโดยใช้หลักการทำงานทางจิตของมนุษย์ ฟรอยด์ได้จำลองโครงสร้างการทำงานของจิตมนุษย์ขึ้นมา โดยแบ่งออกเป็นสามส่วนคือ อิด (id) อีโก้ (ego) และ ซุปเปอร์อีโก้ (superego)

ฟรอยด์เสนอว่า มนุษย์เราเกิดมาพร้อมกับ อิด อันประกอบด้วยแรงขับดันของสัญชาตญาณต่าง ๆ คือ สัญชาตญาณทางเพศ (Sex Instinct) และสัญชาตญาณความก้าวร้าว (Death Instinct) มนุษย์เราไม่สามารถจะแสดงออกซึ่งความปรารถนาทุกอย่างได้ ดังนั้นมนุษย์จึงถูกกล่อมเกลา อบรมบ่มเพาะ กลายเป็น อีโก้ ซึ่งเป็นการทำงานตาม “หลักการแห่งความเป็นจริง” พร้อมกันนั้นสังคมได้สร้างตัวแทนของพ่อแม่ในรูปแบบมาตรฐานของสังคมที่เรียกว่า ซุปเปอร์อีโก้ ที่ทำงานตามหลักศีลธรรม ขึ้นมาในระบบจิตของมนุษย์

สรุปง่าย ๆ อิดก็คือความปรารถนาที่เราต้องการ ส่วนซุปเปอร์อีโก้คือบรรทัดฐานทางสังคมที่เป็นกฎเกณฑ์ปฎิบัติในชีวิต และอีโก้ก็คือตัวของเราที่อยู่ตรงกลาง

อีโก้จะต้องพยายามประสานงานระหว่างแรงผลักระหว่างอิดและซุปเปอร์อีโก้ เพราะทั้งสองอย่างนั้นต่างเรียกร้องอย่างไม่สมจริง (Unrealistic) เป็นเป็นปรารถนาสิ่งต่าง ๆ อย่างสุดโต่ง

เมื่อมองจากทฤษฎีแล้วจะพบว่าไฮดี้เป็นคนที่อีโก้ถูกอิดครอบงำอยู่ โดยปกติ อีโก้นั้นจะรักษาสมดุลอยู่เสมอ ไม่ให้ทั้งซุปเปอร์อีโก้และอิดมาเข้าควบคุม แต่ถ้าหากอีโก้ถูกซุปเปอร์อีโก้ครอบงำ ก็จะกลายเป็นที่ยึดติดอยู่กับศีลธรรมกฎระเบียบต่าง ๆ มากจนเกินไป ในทางกลับกันหากถูกอิดครอบงำ คน ๆ นั้นก็จะกลายเป็นคนที่ทำแต่ตามความปรารถนาของตนเอง ไม่สามารถยับยั้งชั่งใจได้ ซึ่งลักษณะนี้เป็นลักษณะของไฮดี้

มีหลาย ๆ ฉาก ที่แสดงให้เห็นว่าจิตใจของเธอ ที่อีโก้ถูกอิดเข้าครอบงำ เช่นในฉากที่เธอจูบกับแฟนแม่ของตัวเอง ซุปเปอร์อีโก้ที่เป็นเรื่องของบรรทัดฐานสังคม กฎระเบียบต่าง ๆ บอกว่านั้นคือแฟนแม่ เป็นคนที่แม่รัก ดังนั้นเราจึงควรเคารพและให้เกียรติ เพราะว่ากันตามจริงคน ๆ นั้นก็คือพ่อเลี้ยง แต่อิดของเธอกลับบอกว่า แฟนของแม่ก็ช่างประไร เขาทั้งหล่อ แถมยังมีรอยสักเสียอีก ฉันอยากที่จะมีอะไรกับเขาสักที แล้วในที่สุดอำนาจความปรารถนาของเธอที่ทะลักออกมาจากอิด ก็เข้าครอบงำจิตเธอไว้ ส่งผลให้ในที่สุดก็เผลอตัวกอดจูบกับแฟนของแม่ตัวเอง

หรือฉากในช่วงหลัง ๆ ที่เธอพบว่าตัวเองถูกทอดทิ้งจากโจ เธอก็เริ่มใช้ชีวิตเหลวแหลก วัน ๆ หมดไปกับการกินเหล้า เมายาและมั่วเซ็กซ์ ซุปเปอร์อีโก้ย่อมบอกว่า ชีวิตของคนเรานั้นควรทำงาน ไม่ใช่ปล่อยเวลาให้ผ่านไปเปล่า ๆ หมกมุ่นอยู่แต่กับความบันเทิง รวมถึงเรื่องเกี่ยวกับการเสพย์ยาก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ เพราะยาเสพย์ติดนั้นมีแต่ผลร้ายให้กับชีวิต



แต่อิดของเธอกลับต่อต้านและทรงพลังกว่า ไหน ๆ ชีวิตก็เส็งเคร็งแบบนี้ สู่เก็บเกี่ยวความสุขที่หาได้ง่าย ๆ ดีกว่า ไม่ต้องไปเสียเวลาอะไรมากมาย กินเหล้า เมายา มั่วเซ็กซ์ ทำให้มีความสุขได้ และด้วยแรงปรารถนาของเธอที่รุนแรงเกินกว่ากฎระเบียบต่าง ๆ จะควบคุมไหว อีโก้ของเธอถูกครอบงำด้วยอิดเสียแล้ว เธอจึงแสดงพฤติกรรมออกมาอย่างที่ใจเธออยากทำ

ส่วนประเด็นอื่นเกี่ยวกับจิตวิเคราะห์ในภาพยนตร์เรื่องนี้ คือเรื่อง ของกลไกการป้องกันตนเองทางจิต (Defense Mechanism) กลไกการป้องกันตนเองทางจิตเป็นกลไกที่อีโก้สร้างขึ้นมาเพื่อพยายามรักษาสมดุลระหว่างอิดกับซุปเปอร์อีโก้ เพื่อให้แรงผลักของทั้งสองฝ่ายมีทางระบายออกมา เพราะหากไม่มีการระบายออก ก็จะยิ่งเก็บสะสมมากขึ้น ๆ จนในที่สุดก็อาจจะระเบิดออกมา กลายเป็นภาวะทางจิต

ในชีวิตของเราแต่ละวัน ล้วนใช้กลไกการป้องกันทางจิตอยู่ตลอดเวลา เช่น เมื่อเกิดความรู้สึกโกรธก็เก็บกดอารมณ์ความรู้สึกไว้ไม่ให้แสดงออกมาทางสีหน้า การไประบายอารมณ์กับสิ่งของ การเพ้อฝัน จินตนาการต่างๆ หรืออย่างพวกกลุ่มองุ่นเปรี้ยว มะนาวหวาน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นกลไกการป้องกันทางจิต

ในภาพยนตร์เรื่อง Somersault ไฮดี้ซึ่งเป็นหญิงสาววัยรุ่นผู้ขาดความอบอุ่นจากผู้เป็นแม่ เธอเองก็มีวิธีการในการจัดการหาทางออกให้กับตัวเอง โดยเธอจะตัดกระดาษจากตามแผ่นพับใบปลิว หนังสือพิมพ์ โฆษณาต่าง ๆ แล้วเอามาแปะในสมุดของเธอ พร้อมกับแต่งเรื่องราวขึ้นมาใหม่ เช่น เธอไปเที่ยวสวนสนุกกับแม่ ไปญี่ปุ่น ฯลฯ เธอหยิบเอาสมุดเล่มนี้มาอ่านเสมอยามที่เธอเหงา

วิธีการที่ไฮดี้ใช้ เป็นการใช้กลไกการป้องกันทางจิตแบบการใช้จินตนาการ (Fantasy) การใช้จินตนาการจะทำให้ผู้ใช้รู้สึกหลุดออกจากโลกของความเป็นจริง แล้วเข้าไปอยู่ในโลกที่ตัวเองนึกฝันเอาไว้ อย่างกรณีของไฮดี้ เธอเลือกที่จะเก็บสิ่งต่าง ๆ มาสร้างเรื่องครอบครัวที่แสนอบอุ่นของเธอเพื่อที่จะหลุดออกไปความจริงที่แสนปวดร้าวว่าแม่แท้ ๆ ของเธอเองนั้นก็ไม่ได้สนใจเธอเท่านั้นนัก เมื่อเธอหลุดจากโลกความจริงสู่โลกจินตนาการ แรงปรารถนาต่าง ๆ ที่ถูกกักเก็บไว้ก็จะค่อย ๆ ถูกระบายออกมา เป็นการรักษาสมดุลไม่ให้อีโก้ซึ่งเป็นภาวะของตัวตนต้องทำงานหนัก

ฉากสุดท้ายของเรื่อง เธอเข้าใจเรื่องราวต่าง ๆ มากขึ้น เธอเริ่มเข้าใจว่าความรักคืออะไรหลังจากผ่านเหตุการณ์ร้าย ๆ มาเยอะ ในที่สุดเธอก็ตัดสินใจโทรกลับบ้านเพื่อให้แม่มารับ และเธอก็ได้รู้ว่าสุดท้ายแล้วแม่ของเธอก็ยังรักเธอและพร้อมให้อภัยเธอเสมอ ซึ่งนี้คือความรักที่เธอเคยเฝ้าฝันหา

หากมองถึงชื่อ Somersault หรือการตีลังกากลับหลัง ก็เปรียบเหมือนการจะไปถึงจุดมุ่งหมายที่ต้องการนั้นเป็นไปได้ยากแสนยาก กว่าจะกระโดดตีลังกาได้ก็ต้องฝึกอย่างหนักแถมยังเสี่ยงต่ออันตรายนานับประการ ก็เหมือนกับความรักที่ไฮดี้ต้องการ กว่าที่เธอจะได้มาซึ่งความรักที่เธอปรารถนา ก็ต้องอุปสรรคให้ได้เรียนรู้มากมาย แต่สุดท้ายเมื่อค้นพบแล้ว ก็เป็นความสุขที่ยิ่งใหญ่ ที่น้อยคนจะได้สัมผัส

โดยสรุปแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ที่เต็มไปด้วยแนวคิดทางจิตวิทยา ตัวละครล้วนมีปมในจิตใจ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงเรื่องของแรงปรารถนา การต่อสู้กันระหว่าง อิด อีโก้ และ ซุปเปอร์อีโก้ รวมไปถึงการใช้กลไกการป้องกันตนเองทางจิต นับว่าเป็นหนังอีกเรื่องหนึ่งที่สามารถเป็นตัวอย่างในการศึกษาจิตวิเคราะห์ในภาพยนตร์ได้ต่อไป



Create Date : 16 สิงหาคม 2548
Last Update : 16 สิงหาคม 2548 16:04:53 น. 15 comments
Counter : 8772 Pageviews.

 
ชอบดูหนังแนวนี้


โดย: Zantha วันที่: 16 สิงหาคม 2548 เวลา:12:12:30 น.  

 
จริงๆ หลังมานี่ ทฤษฎีของฟรอยด์
ก็ถูกล้มล้าง มาพอสมควรแล้วนะคะ
การจับหนังใส่ทฤษฎีที่เป็นแท่งๆ
ทื่อ ๆ อันตรายเหมือนกัน

ลองหาทฤษฎีใหม่ๆ หลังฟรอยเดียน
มาอ่านสิคะ อย่างทฤษฏีของ Lacan
หรือคนอื่นๆ ที่ซับซ้อนกว่านี้สิคะ
จะสนุกกว่านี้มาก




โดย: grappa วันที่: 16 สิงหาคม 2548 เวลา:12:30:58 น.  

 
พี่ดองคะ.. แก้คำผิดนิดนึง ก้าวก้าว-> ก้าวร้าวนะคะ..



เอ่อ.. อ่านแล้วแบบ อยากดูอ่ะ เพิ่งรู้ว่าการดูหนังมันสามารถวิเคราะห์อะไรออกมาได้ขนาดนี้เลยเหรอ


โดย: stubborn IP: 202.28.27.3 วันที่: 16 สิงหาคม 2548 เวลา:12:35:57 น.  

 
ตอบคุณ grappa ครับ

ผมเข้าใจที่คุณ grappa ว่าไว้นะครับ เพียงแต่ว่าโจทย์ที่อาจารย์ให้มาคือให้วิเคราะห์ภาพยนตร์บนพื้นฐานของแนวคิด จิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ เศรษฐศาสตร์การเมือง สตรีนิยม สัญญวิทยา สังคมวิทยา รวมถึงวัฒนธรรมศึกษา นะครับ

คือให้วิเคราะห์ในกรอบที่เรียนมาก่อน ก็เลยไม่ได้เอาอันอื่นมาวิเคราะห์ด้วย

และด้วยความสัตย์จริง ผมก็ได้เรียนมาแต่ของฟรอยด์ครับ ถ้าเพิ่มแนวคิดอื่นเข้าไปด้วย เกรงว่าเวลาแค่สามชั่วโมงคงเรียนกันไม่พอ

ใจจริงถ้ารู้มากกว่านี้ก็อยากวิเคราะห์ให้ได้ลึกกว่านี้ครับ เพราะตัวผมเองก็จบวิชาโทจิตวิทยา (แต่ตอนนี้เข้าหม้อเข้าไหหมดแล้ว)

อย่างฟรอยด์ ผมก็เข้าใจครับว่ามีการล้มล้างแนวคิดหลายอย่างของฟรอยด์ อย่าง Oedipus Complex ที่ฟรอยด์บอกว่าเป็นเรื่องสากล แท้ที่จริงแล้วก็ไม่ใช่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมเอเชียบ้านเรา

เอาเป็นว่ารายงานชิ้นนี้วิเคราะห์แบบจิตวิทยาคลาสสิคละกันนะครับ


โดย: I will see U in the next life. วันที่: 16 สิงหาคม 2548 เวลา:12:45:10 น.  

 
ความจริงต้นฉบับจะมีวิเคราะห์ด้วยแนวคิดสตรีนิยมอีกนิดหน่อยนะครับ แต่ไม่ได้เอามาลงไว้เดี๋ยวมันจะยาวเกิน

ขอบคุณคุณ grappa ที่ชี้แนะครับ


โดย: I will see U in the next life. วันที่: 16 สิงหาคม 2548 เวลา:12:48:59 น.  

 
มาเยี่ยมก่อนไปนอน อิอิ หนังแนวนี้น่ะ ดูแล้วนึกถึงเพื่อนค่ะ เพราะมันจิตป่วงไว้จะซื้อให้มันเป็นของขวัญ เหอๆ


โดย: Special Ed. วันที่: 16 สิงหาคม 2548 เวลา:13:12:33 น.  

 
เสียดายมากๆ ที่ไม่ได้ดูหนังเรื่องนี้

แต่มาอ่านแทนละกัน


โดย: สาวไกด์ใจซื่อ วันที่: 16 สิงหาคม 2548 เวลา:14:11:15 น.  

 
ลืมบอกไปหน่อยว่า

ซาว์ดแทรกซ์หนังเรื่องนี้เพราะม๊ากสสสสสสส์ครับ


โดย: I will see U in the next life. IP: 161.200.255.162 วันที่: 16 สิงหาคม 2548 เวลา:14:44:35 น.  

 


โดย: มะแต้มมะตูม วันที่: 16 สิงหาคม 2548 เวลา:14:44:49 น.  

 
ใครไปดูหนังเรื่องนี้มาแล้วคิดยังไง บอกกล่าวเล่าให้ฟังกันบ้างนะครับ


โดย: I will see U in the next life. วันที่: 16 สิงหาคม 2548 เวลา:17:17:34 น.  

 
ยังไม่ได้ไปดูเลย เอาไว้มีโอกาสแล้วค่อยไปดูแล้วกัน น่าสนุกนะคะ

มีข่าวมาแจ้งให้ทราบค่า

มาร่วมเล่นเกมส์กันได้ที่บล็อกนะคะ มีรางวัลแจกฟรีด้วยค่า ส่งถึงบล็อกเลย ไม่ยาก แต่อยากให้ตอบกันนะจ๊ะ

ไปล่ะ แว็บ!!!


โดย: รัตน์ดา วันที่: 17 สิงหาคม 2548 เวลา:7:38:28 น.  

 
ไปดูมา หลาย สัปดาห์แล้ว

ก็สนุกดี

แต่ บอกตามตรง

ว่าไม่ได้คิดลึกซึ้งขนาดนั้น

แต่ พอได้อ่าน แล้ว

ก้ทำให้เข้าใจหนังมากขึ้น

แทงกิ้วๆๆ



โดย: pok IP: 161.200.83.89 วันที่: 17 สิงหาคม 2548 เวลา:16:08:33 น.  

 
เข้ามาดูเพราะอาจารย์ให้ทำรายงานเรื่องทฤษฎีของฟรอยด์แต่กลับได้อ่านการวิเคราะห์หนังออกมาเป็นทฤษฎีมีประโยชน์สำหรับหนูมากพี่ดองเยี่ยมจริง ๆ ค่ะ Thank


โดย: ชิวชิว IP: 61.7.158.43 วันที่: 11 มกราคม 2549 เวลา:18:32:49 น.  

 
อยากให้ช่วยใช้ทฤษฎีทางจิตวิทยาของนักจิตวิทยาวิเคราะห์หนังเรื่องนี้อีกสักคนได้ไหมค่ะ เพราะจะต้องทำรายงานส่งอาจารย์ ถึง2ทฤษฎีอ่ะค่ะ จะเป็น แอดเลอร์ โรเจอร์ หรืออิริคสัน ทำนองนี้อ่ะค่ะ


โดย: จิจิ IP: 182.232.81.51 วันที่: 1 ตุลาคม 2553 เวลา:11:20:28 น.  

 
เราเคยดูเรื่องนี้ตอนวัยรุ่น ไม่ค่อยเข้าใจไฮดี้แต่ชอบงานด้านภาพที่สวยงามและอ้างว้างจับใจ ขอบคุณที่วิเคราะห์ทางด้านจิตวิทยานะคะ (มาแสดงความคิดเห็นช้าแต่ก็มานะ)


โดย: I will see you then IP: 49.230.146.49 วันที่: 10 กรกฎาคม 2566 เวลา:18:30:02 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

I will see U in the next life.
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




Friends' blogs
[Add I will see U in the next life.'s blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.