Group Blog
 
All Blogs
 

กล้วยไทย : สิบสองสัตว์

เมื่อยามแรกเริ่มเกิดมานั้น 'มนุษย์' นับได้ว่าเป็นสัตว์วิเศษชนิดหนึ่ง ที่มีเพียบพร้อมไปทั้งพลังกาย และมันสมอง จึงไม่แปลกที่โลกนี้ จะตกอยู่ภายใต้การดูแลของมนุษย์ แต่เมื่อใดก็ตามที่มนุษย์พลาดพลั้ง และถูกสิ่งที่เรียกว่ากิเลสเข้าครอบงำแล้วนั้น จะทำให้มนุษย์ กลายร่างมาเป็นสัตว์อีกชนิด ที่เรียกว่า'คน' สัตว์ที่มีพร้อมทั้งพละกำลังและสมองไม่ต่างจากมนุษย์ แต่ผิดกันที่สัตว์ชนิดนี้ มีความต้องการทะยานอยากที่จะครอบครองซึ่งทุกสิ่งที่ตนต้องการ ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม และมันก็เป็นการเปิดทางให้สันดาน หรือสัญชาตญาณของสัตว์ชนิดต่างๆเข้ามาครอบครองครอบงำร่างกายและจิตใจของสิ่งที่เคยเป็นมนุษย์อีกต่อหนึ่ง ...

นี่คือเรื่องราวที่เราจะได้ประสบในงาน Studio Album ชุดที่ 3 จากวงดนตรี Metal ชื่อไทยๆอย่าง'กล้วยไทย'ที่ในงานชุดนี้ เลือกที่จะหยิบยกวิธีการเล่าเรื่องแบบกึ่ง Concept Album โดยนำเอาลักษณะเด่น หรือลักษณะนิสัยของสัตว์หลากชนิด มาเล่าผ่านสัตว์วิเศษ 2 ชนิดอย่าง'มนุษย์'และ'คน' ทำให้งานชุดนี้ได้ว่า ทั้งภาคดนตรี และภาคเนื้อหานั้น หนักหน่วงกว่าทุกอัลบั้มที่กล้วยไทยเคยทำกันมาเลยทีเดียว

'สิบสองสัตว์'ชุดนี้ ออกห่างจากงานชุดที่แล้วของวงถึง 4 ปี และเหตุที่มันเนิ่นนานถึงขนาดนั้น ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะช่วงหนึ่ง กล้วยไทยเคยมีแผนการที่จะจำหน่ายงานชุดนี้กับบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง RS Promotion แต่กับปัญหาที่มากมายและยาวนาน ทำให้กำหนดการวางแผงของสิบสองสัตว์ ต้องถูกยืดระยะเวลาออกไปเรื่อยๆ จนในที่สุด ทางวงก็ตัดสินใจนำเอางานชุดนี้ออกมาขายกันเอง ในบ้านเล็กๆที่พวกเขาสร้างกันขึ้นมาในชื่อ 'Banana Record' และนั่นก็ถือเป็นจุดสิ้นสุดการรอคอยของชาวหัวกล้วยทุกคนแทบจะในทันที

สำหรับคนที่ไม่คุ้นหูกับชื่อของวงกล้วยไทยเท่าไหร่นัก พวกเขาคือวงดนตรีใต้ดิน ที่เริ่มออกเดินทางมาแทบจะพร้อมๆกับวงอย่าง Ebola ที่ตอนนี้น่าจะเรียกได้ว่า มีชื่อเสียงในระดับประเทศไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่กล้วยไทยเองไม่ได้เลือกที่จะทำเพลงให้เข้าถึงคนกลุ่มใหญ่มากขึ้นเหมือนอย่าง Ebola ในทางกลับกัน พวกเขาเลือกที่จะทำเพลงให้หนักหน่วงมากขึ้นไปเรื่อยๆตามอายุของวง และนั่นก็ทำให้พวกเขามีแฟนเพลงระดับเดนตายอยู่เป็นจำนวนมาก มากพอที่จะทำให้ทางวงสามารถทำคอนเสิร์ตใหญ่ของตัวเองได้ในปี 2548 ที่ผ่านมา โดยแฟนคลับของวงกล้วยไทยนั้น เรียกตัวเองว่า 'สมาคมชาวหัวกล้วยแห่งประเทศไทย'

จุดเด่นอย่างยิ่งที่จะไม่พูดถึงไม่ได้ของวงกล้วยไทย นั่นก็คือพวกเขาเป็นวงที่เลือกที่จะทำงานกันเองในแทบจะทุกขั้นตอน เช่นในอัลบั้มสิบสองสัตว์นี้ นอกจากว่ากล้วยไทยจะแต่งเพลงกันเองทุกเพลง , เป็น Producer เอง , อัดดนตรีสดทุกชิ้นกันเองแล้ว ตัววงยังมี Credit พ่วงเข้าไปในตำแหน่งอย่าง Mix Down Engineer , ออกแบบปก , Chorus , Creative , Art Director รวมถึงกำกับและตัดต่อ Music Video เองอีกด้วย และงานนอกเหนือจากภาคดนตรีที่ทางวงรับผิดชอบกันเอง ก็ออกมาดูดีเอามากเสียด้วย ไม่ว่าจะเป็นปกอัลบั้ม หรือการ mix down ที่ทำออกมาได้ดีเอามากๆ

และนอกจากนี้ ในอัลบั้มนี้ กล้วยไทยได้มีการปรับสมาชิก จากเดิมที่นักร้องนำสองคนในวง แต่ในงานชุดนี้ โจว นักร้องนำอีกคน ติดภารกิจส่วนตัวจนไม่สามารถกลับมาทำอัลบั้มร่วมกับวงได้ จึงเหลือเพียง'เอส'ที่ทำหน้าที่ร้องนำเพียงคนเดียวเท่านั้น และในชุดนี้ กล้วยไทยก็ยังคงร่วมงานกับ'ต๋อย - เทิดศักดิ์ จันทร์ปาน'คนดนตรีเบื้องหลัง ที่ฝีไม้ลายมือได้รับการยอมรับจาก Super Star ระดับเอเชียอย่าง Jay Chou มาแล้ว โดนต๋อย เป็นคนที่อยู่ร่วมกับวงมาตั้งแต่ตั้งไข่ จนถึงวันนี้ก็ยังคงมาร่วมงานกับกล้วยไทย ในฐานะ Co-Producer และ Mastering Engineer

ผมเชื่อว่า นี่จะกลายเป็นอัลบั้มที่เป็น Masterpiece ของวงการเพลง Metal ไทยภายในเวลาอันใกล้นี้อย่างแน่นอน และเมื่อต้นปีหน้ามาถึง เวลาแห่งการแจกรางวัลทางดนตรีของสถาบันต่างๆ ผมจะไม่แปลกใจเลย ที่จะเห็นชื่ออัลบั้มสิบสองสัตว์ของกล้วยไทย ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลในสาขาต่างๆอย่างมากมาย

====================

Artist : กล้วยไทย
Album : สิบสองสัตว์
Producer : กล้วยไทย
Co - Producer : เทิดศักดิ์ จันทร์ปาน
Label : Banana Record

====================

* กล้วยไทย ประกอบไปด้วย ...
- วสกร เดชสุธรรม (เอส) : ร้องนำ
- สันติ ชัยปรีชา (หนึ่ง) : กลอง
- ยุทธนา โพธิ์กิ่ง (ต้อง) : เบส
- ยุทธภูมิ ขวัญคุ้ม (บี) : กีต้าร์
- สุชาติ สามไถคาม (โจ) : กีต้าร์

* ใครจะรู้ว่า สมาชิกของวงร๊อคหนักหน่วงอย่างกล้วยไทย คือกำลังหลักในการทำอัลบั้ม'เกาะบันไดวัด'ของ'กลุ่มเรียนเชิญผู้มีจิตศรัทธา' ที่พูดถึงเรื่องการใช้ชีวิตตามหลักศาสนาพุทธกันแทบจะเพียวๆเลยทีเดียว

* ระหว่างที่วงกล้วยไทยเว้นการออกอัลบั้มไปนั้น เอส-วสกร เดชสุธรรม นักร้องนำของวง ได้มีโอกาสไปทำอัลบั้มเดี่ยวในรูปแบบของการเป็นนักเขียนเพลง , นักแต่งเพลง ในนามของ 'Eskimo Project' สังกัด Spicy Disc




 

Create Date : 08 ตุลาคม 2552    
Last Update : 8 ตุลาคม 2552 6:46:06 น.
Counter : 3310 Pageviews.  

บอย โกสิยพงษ์ : Rhythm&Boyd Eleventh

เป็นเวลา 11 ปีพอดีที่ 'บอย โกสิยพงศ์' เริ่มเส้นทางบนงานสายดนตรีอย่างเต็มตัวด้วยอัลบั้มเดี่ยวชุดแรกของตัวเอง ในชื่อชุด 'Rhythm&Boyd' โดยในงานชุดนั้นมีเพลงดังที่น่าจะเรียกได้ว่าเป็นตำนาน และวิทยุก็ยังเปิดมาจนถึงทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็น 'ฤดูที่แตกต่าง' 'เจ้าหญิง' 'ลมหายใจ' และเป็นการแจ้งเกิดให้นักร้องอย่าง 'นภ พรชำนิ' 'รัดเกล้า อามระดิษ' 'ป๊อด ธนชัย อุชชิน' ที่อาจจะเรียกได้ว่ายังคงเป็นหน้าใหม่ในวันนั้น แต่ทุกวันนี้ พวกเขาเหล่านั้นคือนักร้องในระดับคุณภาพในบ้านเราทั้งสิ้น...

และในปีนี้ ซึ่งเป็นปีที่ 11 ของอัลบั้ม Rhythm&Boyd พอดิบพอดี บอย โกสิยพงศ์ จึงได้ทำการสร้างงานภาคต่อของผลงานชุดนั้นออกมา พร้อมกับอีก 11 นักร้องหน้าใหม่ระดับคุณภาพ และเมื่อเวลาผ่านไป 11 ปี ... ตำนานบทนั้นก็ได้เวลาที่จะถูกสานต่อเสียที...

นี่น่าจะนับได้ว่าเป็นอัลบั้มใหม่ของบอยจริงๆหลังจาก Million ways to love part1 เมื่อ 3 ปีที่แล้ว โดยแนวทางดนตรีของบอยเอง น่าจะแบ่งได้หลายด้าน ทั้ง R&B ในแบบที่ทำใน Rhythm&Boyd ทั้งชุดแรก และชุดนี้ หรือความเรียบง่ายแต่ลงตัวและไพเราะในแบบอัลบั้ม Simplified หรือบทเพลงที่เน้นให้กำลังใจ และมองโลกในแง่บวกของชีวิตอย่าง Million ways to love

ถ้าหากใครที่ได้ฟังและเป็นแฟนเพลงของบอยจริงๆ ก็จะรู้ว่า บอย สามารถทำทุกอัลบั้มได้อย่างดีเยี่ยมไร้ที่ติ และในอัลบั้มนี้ ที่เป็นเหมือนภาคต่อของอัลบั้มชุดแรก ที่หลายๆคนอาจจะยกให้เป็น 1 ในอัลบั้มเพลงไทยสากลที่ดีที่สุดตลอดกาล โดยผู้กำกับคนเดิมและทีมงานเดิม ผมไม่คิดว่ามันมีส่วนไหนด้อยไปกว่า Rhythm&Boyd ชุดแรกเลยแม้แต่น้อย ...

ทั้ง 12 เพลงในงานชุดนี้ น่าจะเรียกได้ว่าเป็น Masterpiece อีกชิ้นของบอยอย่างแท้จริง ทุกบทเพลงล้วนมีพลังอยู่ในตัวเองมากมายอย่างไม่น่าเชื่อ ความรู้สึกแบบเดิมๆที่อาจจะขาดหายไปบ้างใน Million ways to love กลับมาอย่างเต็มเปี่ยม และนักร้องทั้ง 11 คนต่างก็ทำหน้าที่ของตัวเองในแต่ละบทเพลงได้อย่างสมบูรณ์แบบเหมือนกับเหล่านักร้องหน้าใหม่เมื่อตอน Rhythm&Boyd ชุดแรกเคยทำได้มาก่อนแล้ว และพวกเขาเหล่านี้ก็คือพลังสำคัญสำหรับ บอย โกสิยพงษ์ และวงการเพลงไทยในยุคต่อจากนี้ เหมือน นภ พรชำนิ , ป๊อด โมเดิร์นด๊อก ได้อย่างแน่นอน

ถ้าหาก Rhythm&Boyd เมื่อ 11 ปีที่แล้ว คือรูปแบบของดนตรี R&B ในตอนนั้น มาถึงตอนนี้ อัลบั้ม E1even1h ก็น่าจะนับได้ว่าเป็นรูปแบบของดนตรี R&B ในยุคนี้ได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสไตล์การร้องและดนตรีที่ค่อนข้างเปลี่ยนไปไม่น้อยจากยุคนั้น คุณคงไม่ได้ยินเพลงแบบ 'เจ้าหญิง' หรือ 'ลมหายใจ' จากงานชุดนี้ของ บอย โกสิยพงษ์ แต่หากคุณลองที่จะเปิดใจฟังโดยไม่ยึดติดอยู่กับมาตราฐาน R&B แบบที่ชายคนนี้เคยทำเอาไว้ในผลงานชุดแรกของเขาเอง ผมเชื่อว่าทุกเพลงในงานชุดนี้คงจะมอบความสุขให้คุณได้ไม้แพ้ผลงานในภาคแรกเลยทีเดียว

แต่นั่นก็ขึ้นอยู่กับสิ่งนึง..

ว่าคุณกำลังคาดหวังในสิ่งที่ศิลปินอยากจะนำเสนอ หรือคาดหวังแค่สิ่งที่คุณอยากได้ยิน...?

==========================

Artist : บอย โกสิยพงษ์
Album : Rhythm&Boyd E1even1h
Producer : บอย โกสิยพงษ์
Lable : Love is

===========================

*ผมอาจจะพูดได้ว่า งานในชุดนี้มีมาตราฐานเทียบเท่ากับงานแรกของเขา แต่หากหวังที่จะมีเพลงดังระดับเดียวกับที่ 'เจ้าหญิง' 'ลมหายใจ' หรือ 'ฤดูที่แตกต่าง' ทำได้ ผมคิดว่าคงจะยากหน่อย ไม่ใช่เพราะคุณภาพของตัวเพลง แต่เป็นที่พฤติกรรมของผู้บริโภคมากกว่า





 

Create Date : 05 กันยายน 2551    
Last Update : 5 กันยายน 2551 3:41:25 น.
Counter : 866 Pageviews.  

7thScene




ผลงานชิ้นแรกจากค่าย LOVEiS ค่ายใหม่ของ'บอย โกสิยพงษ์' และ 'สุกี้ กมล สุโกศล' ที่ร่วมกันสร้างขึ้นมาภายหลังจากที่ Bakery Music ที่พวกเขาเพียรพยายามสร้างกันมาร่วม 10 ปี ได้ตกไปอยู่ในมือค่ายใหญ่ค่ายหนึ่ง ผู้บริหารทั้ง 3 คน ณ ขณะนั้นจึงต้องตัดสินใจหันหลัง และเดินออกมาจากค่ายที่พวกเขาร่วมกันสร้างขึ้นมาเองกับมือ บทบาทใน Bakery Music ของพวกเขาได้จบลง ก่อนที่จะเริ่มนับหนึ่งใหม่กับ LOVEiS โดยจาก 3 ผู้บริหาร เหลือเพียงบอย และสุกี้เท่านั้น ก่อนที่ภายหลัง สุกี้จะขออำลาหน้าที่ผู้บริหารไปอีกคน โดยผลงานชิ้นแรกของค่าย LOVEiS ก็คือ Love is Compilation vol.1 ซึ่ง 7th Scene ก็เป็นหนึ่งในกลุ่มศิลปินหน้าใหม่ที่รวมอยู่ในอัลบั้มนั้นด้วย

'โลกที่มีเธอ' คือเพลงที่ประกอบรวมอยู่ในส่วนของศิลปินหน้าใหม่ ซึ่ง ณ ตอนนั้น นอกจาก Lipta แล้ว 7th Scene คืออีกวงในงานชุดนั้น ที่น่าจับตามองมากในงานชุดนั้น ว่าพวกเขาจะเติบโตไปในทิศทางใด ด้วยดนตรี Pop ที่มีสำเนียงและรายละเอียดเฉพาะตัว บวกกับเสียงสังเคราะห์ที่ถูกต่อเติมสอดใส่เข้ามาได้อย่างลงตัว และไม่รกมากจนเกินไป ความพอดีตรงนี้เอง ที่ทำให้ผม ณ ตอนนั้น เริ่มที่จะสนใจและติดตามวงดนตรีเล็กๆจากรั้วจุฬาฯวงนี้

โดยก้าวต่อไปของ 7th Scene นั้นก็ไม่ได้ปล่อยให้แฟนๆที่หลงรักเพลงในแบบ 7th Scene ต้องคอยกันนานเกินไปนัก แม้จะยังไม่มีอัลบั้มเต็มออกมาอย่างเป็นทางการ แต่ทุก Single ที่พวกเขาได้ทำเอาไว้ก็ได้การตอบรับที่ดีเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเพลง'บวก'ที่ได้ทำร่วมกับ บอย โกสิยพงษ์ เพื่อเป็นเพลงประกอบโฆษณา Coke หรือว่าจะเป็นอัลบั้มแนะนำศิลปินหน้าใหม่ ที่กำลังจะออกอัลบั้มเต็มกับ LOVEiS ในอนาคต ที่ใช้ชื่อว่า The Strangers vol.1 ซึ่งเพลงของ 7th Scene ก็ได้รับการตอบรับที่ดีอีกเช่นกัน ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะทั้ง 3 เพลงที่ปล่อยออกมา ล้วนเป็นเพลงที่ดี และมีความสมบูรณ์ลงตัวทั้งในทาง Pop ที่ยังมีการทดลองอะไรแปลกๆใหม่ๆลงไปในตัวเพลง

แต่ปัญหาของ 7th Scene ในตอนนั้น ที่ผมและคงมีอีกหลายๆคนเริ่มกลัว นั่นก็คือ เพลงที่พวกเขาปล่อยออกมาทั้งหมดในตอนนั้น มีความคล้ายคลึงกันมากจนเกินไป ทั้งอารมณ์,ทำนอง หรือแม้กระทั่งสัดส่วนต่างๆของเพลง ก่อนที่พวกเขาจะทำให้ความวิตกเหล่านั้นของผม กลายเป็นเพียงสิ่งที่ผมตีตนไปก่อนไข้ก็เพียงเท่านั้น เมื่ออัลบั้มเต็มของพวกเขาออกมา

ทั้ง 12 เพลงในงานอัลบั้มเต็มชุดแรกของ 7th Scene นี้ คือดนตรี Pop ชั้นดี ที่เต็มไปด้วยการทดลองทางเสียงสังเคราะห์ปลิวว่อนอยู่อย่างถ้วนทั่วแทบจะในทุกเพลง พวกเขาไม่ได้ปล่อยให้พวกเราเคลิ้มฝันไปกับความไพเราะใน Sense ทาง Pop ของพวกเขาเสียจนเราลืมตัว เสียงสังเคราะห์และการทดลองของพวกเขาก็พร้อมจะดึงเราให้กลับมาอยู่กับดนตรีของพวกเขาได้ทุกเมื่อ แต่ก็เช่นเดียวกัน พวกเขาก็ไม่ปล่อยให้เราต้องตั้งใจฟังบรรดาสรรพเสียงที่พวกเขาเอามาเรียงร้อยใส่ในเพลงได้นานนักหรอก ความไพเราะในแต่ละบทเพลงก็จะดึงเราให้หลุดลอยและจินตนาการไปถึงประสบการณ์ในอดีตของเรา ที่ช่างตรงกับเพลงที่พวกเขากำลังขับร้องอยู่เสียเหลือเกิน เช่นกัน

แม้ 7th Scene จะยังไม่สามารถผสมผสานทั้งทางด้าน Pop และทางด้านการทดลองให้หันหน้าเข้าหากันได้อย่างกลมกล่อมมากนัก เราจะยังสามารถเห็นได้ถึงรอยต่ออันไม่เนียนสนิทนี้ได้ในหลายๆเพลง ที่ปูพื้นมาด้วยเสียงสังเคราะห์อันน่าสนใจ ก่อนจะบิดเข้าสู่ท่อน chorus ที่มี Melody ติดหู โดยในการเปลี่ยนนี้ 7th Scene ยังไม่สามารถปิดรอยเชื่อมนี้ได้เท่าที่ควรจะเป็น แต่นี่คงไม่ใช่ข้อเสียที่ร้ายแรงนัก เพราะประสบการณ์ในย่างก้าวต่อๆไปจะหล่อหลอมพวกเขาเอง ซึ่งถ้าหากจะพูดกันจริงๆแล้ว ศิลปินที่ออกมาเพียงอัลบั้มเดียว แต่สามารถหาจุดเด่นของตัวเองได้ขนาดนี้ นับว่ามีอยู่เพียงหยิบมือเท่านั้นเอง

และเมื่อก้าวแรกของพวกเขาทำได้มั่นคงขนาดนี้ ก้าวต่อๆไปก็คงไม่เป็นปัญหาแล้ว

====================

Artist : 7th Scene

Album : 7th Scene

Producer : 7th Scene

Label : LOVEiS

====================



* เสียงกลองที่มีพลังและพริ้วไหวในงานชุดนี้ เป็นฝีมือของ 'เอก - เอกพงศ์ เชิดธรรม' มือกลองที่มีฝีมือและลายเซ็นต์ชัดเจนมากที่สุคนนึงแห่งวง Crescendo

* 7th Scene ประกอบไปด้วย ...

- อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข ( แสตมป์ ) : ร้องนำ , คอรัส

- กฤช จินตนาภรณ์พันธ์ ( อาร์ต )​ : กีต้าร์

- ชัชวาล วิศวบำรุงชัย (​ ชัช ) : Keyboard

* อาร์ต มือกีต้าร์ของวง ได้รับหน้าที่ให้เป็น Sound Engineer ในอัลบั้ม Rhythm & Boyd E1even1h ของ บอย โกสิยพงษ์​ด้วย

ไม่จริงใช่ไหม - 7thScene

ไม่จริงใช่ไหม - 7th Scene

คำร้อง,ทำนอง - แสตมป์ , ชัช
เรียบเรียง - อาร์ต
ต้นฉบับดั้งเดิมโดย - แสตมป์




 

Create Date : 16 กรกฎาคม 2551    
Last Update : 16 กรกฎาคม 2551 9:37:00 น.
Counter : 883 Pageviews.  

ไทร - มหรสพชีวิต




ก่อนหน้านี้ ผมไม่เคยได้ยินหรือคุ้นชื่อของ'ไทร' หรือในชื่อจริงนามสกุลจริงตามปกอัลบั้มว่า 'ไทร - อำนาจ ศิระวงษ์ธรรม' มาก่อนเลย จนกระทั่งผมบังเอิญได้ฟังเพลง'คนที่ทำเหมือนเงินซื้อไม่ได้เอาใจยาก'เข้า ทั้งชื่อเพลงและชื่อของไทร ก็ถูกบันทึกลงในสมองของผมทันที ว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่เขาออกอัลบั้มมา ผมจะต้องเป็นคนแรกๆที่จะได้เป็นเจ้าของผลงานชิ้นนี้อย่างแน่นอน

และแล้ว'มหรสพชีวิต'ผลงานอัลบั้มขนาดความยาว 5 เพลงนี้ก็มาอยู่ในมือผมตามที่ตั้งใจเอาไว้แต่แรกจนได้ แม้จะมีเพียงแค่ 5 track ในงานชุดนี้ แต่ในความรู้สึกของผม ทั้ง 5 track นี้ต่างก็ทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างครบถ้วนและพอดิบพอดีแล้ว ซึ่งถ้าหากจะเพิ่มเข้ามาให้เต็ม 10 เพลงตามมาตราฐาน ก็อาจจะทำให้งานชุดนี้ไม่'เต็ม'ทางความรู้สึกเท่านี้ก็ได้ เป็นความรู้สึกที่ผมเคยรู้สึกกับงานชุด'ผลไม้'ของ ณภัทร สนิทวงศ์ เลยครับ ซึ่งมันก็ทำให้เราประจักษ์ว่า มาตราฐานอัลบั้มเพลงทั่วไป ไม่จำเป็นที่จะต้องมีความยาว 10 เพลงเป็นบรรทัดฐานแต่อย่างใด แต่มันอยู่ที่ว่าเราจะจัดสรรยังไงให้งานออกมากลมกล่อมแบบที่มันควรจะเป็นต่างหาก

ผมคิดว่านี่เป็นอัลบั้มเพลง Folk ที่ถึงแก่นของดนตรี Folk ที่สุดชุดหนึงเลยทีเดียว แต่ก่อนอื่น เราควรจะมาทำความเข้าใจกันก่อน ว่าดนตรี Folk มันเป็นเช่นไรกันแน่ ดนตรี Folk ไม่ใช่การมานั่งเกากีต้าร์โปร่งแล้วร้องเพลงรักจีบสาว และที่แน่ๆ ดนตรี Folk ไม่ใช่ Jack Johnson!! จริงๆแล้วดนตรี Folk มีที่มาจากคนแอฟริกัน โดยใช้การใส่จังหวะทำนองเข้าไปในเรื่องเล่าต่างๆ เพื่อที่จะได้สามารถสืบทอดเรื่องราวต่างๆจากรุ่นสู่รุ่นได้อย่างที่ผิดเพี้ยนน้อยที่สุด นี่ก็คือที่มาของคำว่า Folk ที่แปลว่าพื้นบ้านนั่นเอง ก่อนที่จะพัฒนามาเป็น Ballad ในเวลาต่อๆมา

ใน'มหรสพชีวิต' ไทรอัดเรื่องราวของสังคมในช่วงปัจจุบัน และแนวคิดแบบไทยๆเอาไว้แน่นเอี้ยด โดยสิ่งเหล่านี้ได้แทรกซึมอยู่ในแทบจะทุกประโยคตลอด 5 เพลงหรือ 26 นาทีในงานชุดนี้ 'มหรสพชีวิต'จึงเป็นอัลบั้มเพลง Folk ที่เข้มข้นไปด้วยเนื้อหา และชัดเจนในแนวทางเป็นอย่างมากเลยทีเดียว โดยนอกจากเนื้อหาที่เข้มข้นปนอารมณ์ขันแบบ Black Comedy แล้ว ตลอดทั้ง 26 นาทีบน cd แผ่นนี้ สิ่งที่เราจะได้ยินนอกเหนือจากนี้ มีเพียงเสียงร้องของไทร และกีต้าร์โปร่งเท่านั้น แถมด้วยเวลาในการอัดเพียงแค่ 26 นาทีตามในแผ่นเท่านั้น โดยใช้วิธีการอัดแบบรวดเดียวจบตามใน cd ที่เราได้ยินเลย ก่อนที่จะเอามาตัดแยกเป็นเพลงๆกันทีหลัง แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่างานชุดนี้ถูกทำออกมาอย่างไม่ใส่ใจใยดี กลับกัน...ด้วยวิธีการทำงานแบบนี้ มันยิ่งแสดงว่าผู้สร้างงานได้เตรียมตัวมาดีขนาดไหน และแม้จะใช้เวลาในการบันทึกเสียงเพียงแค่ 26 นาท แต่ขั้นตอนในการใช้ความคิดผลิตงาน จากการที่ได้ฟังงานชุดนี้อย่างตั้งใจ ผมกล้ายืนยันเลยว่า มันต้องยาวนานกว่า 26 นาทีมากนัก...

ผมอยากนำอัลบั้มมหรสพชีวิตนี้ไปเปรียบเทียบกับภาพยนต์เรื่องหนึ่ง นั่นก็คือ 'Dogville'(2003) หนังจากเบลเยี่ยม กำกับโดย Lars von trier แสดงนำโดยนักแสดงที่หลายๆคนน่าจะรู้จักกันดีอย่าง นิโคล คิดแมน โดยตัวหนังสื่อเน้นไปที่การตีแผ่สังคม และกลไกการเอาตัวรอดของมนุษย์ ผ่านหมู่บ้านเล็กๆที่ชื่อ Dogville และที่ผมเห็นว่า ควรจะหยิบยกนำมาเปรียบเทียบกับมหรสพชีวิตนี้ นั่นก็เพราะว่าในหนังเรื่อง Dogville นี้แทบจะไม่มีสิ่งที่เรียกว่า'ฉาก'แบบที่หนังทุกเรื่องเค้ามีกันเลย ฉากแต่ละฉาก , บ้านแต่ละหลัง ถูกสมมติขึ้นโดยโครงสร้างแบบง่ายๆ โดยใช้สีขาวทาลงบนพื้น เพื่อแบ่งเขตเป็นหลัก







ภาพจากหนังเรื่อง Dogville

ทั้งนี้ ผู้กำกับได้เคยกล่าวเอาไว้ว่า เขาต้องการให้คนดูมุ่งเน้นไปที่ประเด็นของหนัง มากกว่าที่จะโดนองค์ประกอบอื่นๆดึงความสนใจไป ไม่ว่าจะเป็นฉาก หรือองค์ประกอบอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งผมขอบอกว่าเขาทำสำเร็จ (อย่างน้อยๆก็กับผมคนนึง ที่มัวแต่ดูและเพลิดเพลินกับการคิดตามประเด็นต่างๆที่ผู้กำกับต้องการจะนำเสนอ จนลืมสนใจกับความผิดแผกของฉากไปเลย)

และส่วนที่ผมบอกว่า มันควรจะถูกหยิบยกเอามาเปรียบเทียบกับอัลบั้มมหรสพชีวิตนี้ นั่นก็เพราะว่าอัลบั้มนี้นั้นก็ถูกขับเน้นที่จะนำเสนอไปที่แก่นแกนในตัวเนื้อหาของมัน มากกว่าที่จะนำเอาสารพัดเสียงดนตรี ที่คงจะไม่ต่างไปจากฉากในอัลบั้มชุดนี้ ให้โดดเด่นออกมา จนอาจจะบดบังเนื้อหาที่ศิลปินตั้งใจจะพูดถึงไป แต่แค่เพียงกีต้าร์และเสียงร้องของไทรก็ดูจะเพียงพอแล้ว เหมือนที่บท และเส้นสีขาวแทนฉาก ที่พอเพียงสำหรับ Dogville เช่นกัน

เพราะเนื้อหาในงานชุดนี้เพียงอย่างเดียว มันก็ควรค่ามากพอที่จะให้ทุกคนต้องฟังมัน เพราะงานชุดนี้มันไม่ต่างไปจากการตีแผ่แนวคิดแบบไทยๆ ให้เราได้หันกลับมามองตัวเองอีกครั้ง ว่าเรากำลังเดินไปในทางไหนกันแน่ โดยไม่ต้องรอให้ใครมาสะกิดเตือน ...

====================
Artist : ไทร - อำนาจ ศิระวงษ์ธรรม
Album : มหรสพชีวิต
Producer : อำนาจ ศิระวงษ์ธรรม
Label : อิสระ
====================

* //soundsyndrome.exteen.com/20060424/entry Entryที่ผมเคยเขียนถึงอัลบั้ม ผลไม้ ของ ณภัทร สนิทวงศ์ เอาไว้ครับ เป็นอีกอัลบั้มที่อยากแนะนำให้ชาว Folk ไปหามาฟังมากๆ ^^

* หนังเรื่อง Dogville ถ้าใครอยากหามาดู ลองไปดูที่ร้าน Boomerang ได้ครับ เห็นเค้าเอามาขายใหม่อยู่ ราคา 89 บาทเท่านั้นเอง :D



๒๑ มีนาคม ๒๕๔๙ - ไทร


21 มีนาคม 2549 - ไทร




 

Create Date : 20 มิถุนายน 2551    
Last Update : 20 มิถุนายน 2551 23:58:29 น.
Counter : 1367 Pageviews.  

Greasy Cafe : สิ่งเหล่านี้



ชื่อของ Greasy Cafe อาจจะไม่ได้เป็นชื่อที่เป็นที่รู้จักของแฟน Smallroom ในยุคใหม่ๆมากนัก เพราะหลังจากเพลง 'หา' และ 'พบ' ในอัลบั้ม Smallroom 001 และ 002 แล้ว เราก็ไม่ค่อยจะได้ยินชื่อของ Greasy Cafe อีก มาจนเมื่อปีที่แล้วกับเพลง cover ในโครงการ สนามหลวงConnect จนมาถึงอัลบั้มเต็มของเขาในปีนี้ ที่ใช้ชื่อว่า'สิ่งเหล่านี้'

Greasy Cafe คือชื่อที่ใช้ในการทำเพลงของ 'เล็ก อภิชัย ตระกูลเผด็จไกร' ช่างถ่ายภาพนิ่งในกองถ่ายภาพยนต์ รวมถึงช่างภาพฝีมือดี (ภาพประกอบทุกภาพใน cd แผ่นนี้ คือฝีมือของเล็กทั้งหมด) ที่ทำให้เราได้รู้ว่า ฝีมือในการทำเพลงของเขา ก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าฝีมือในการถ่ายภาพของเขาเลยแม้แต่น้อย โดยในงานชุดนี้นั้น เล็กได้ผู้ช่วยในการทำเพลงในตำแหน่ง Co-Producer เป็นมือกีต้าร์รุ่นใหม่ที่มีฝีมือจัดจ้านน่าจับตามองที่สุดคนนึง นั่นก็คือ 'รัฐ พิฆาตไพรี' หรือที่แฟนเพลงรู้จักเขาในตำแหน่งมือกีต้าร์ของวง Tattoo Color เพื่อนร่วมค่าย Smallroom ซึ่งนอกจากรัฐ จะรับหน้าที่เป็น Co-Producer แล้ว เขายังมาช่วยแจมในการใส่สำเนียง Solo กีต้าร์กับเล็ก ในเพลง 'เกษมสำราญ' ซึ่งสำหรับแฟนๆของ Tattoo Color แล้ว สำเนียงกีต้าร์อันเป็นเอกลักษณ์ของรัฐ คงจะเป็นที่คุ้นหูกันดี โดยไม่ต้องรอให้ใครมาสะกิดเตือนแต่อย่างใด

แนวเพลงโดยหลักของ Greasy Cafe เราอาจจะนิยามแบบสั้นๆง่ายๆได้ว่าเป็นเพลง Pop แต่ลองปะยี่ห้อค่ายอย่าง Smallroom แล้วนั้น คงจะไม่ทำเพลง Pop แบบดาษดื่นธรรมดาทั่วไปออกมาให้สาวกผิดหวังกันอย่างแน่นอน โดยที่ผมกล้าฟันธงได้เลยว่า งานของ Greasy Cafe ชุดนี้ จะต้องเป็นที่ถูกใจของแฟนเพลงเก่าๆของ Smallroom ที่มักจะบ่นว่า วงใหม่ๆของค่ายนี้ไม่ค่อยตรงใจพวกเขามากนัก แต่กับอัลบั้ม'สิ่งเหล่านี้'ของGreasy Cafeนี่แหละ ที่จะสามารถเรียกร้องให้แฟนเพลงเหล่านั้น หันกลับมาหลงรัก Smallroom อีกครั้ง

จุดเด่นที่สุดในงานชุดนี้สิ่งแรกที่ผมสามารถบอกได้ตั้งแต่ครั้งแรกที่เปิดฟังนั้น คงจะเป็นเสียงกีต้าร์ในงานชุดนี้นั่นเอง การเรียบเรียงที่ทำให้เสียงกีต้าร์ไฟฟ้าและกีต้าร์โปร่งสามารถทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างยอดเยี่ยมและกลมกลืนกันอย่างมากที่สุด และยังสามารถทำหน้าที่เล่าเรื่องและแสดงอารมณ์ของเพลงได้อย่างชัดเจน ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ออกมาจากมันสมองและปลายนิ้วของเล็กเองทั้งหมด รวมถึงเสียงเบสกลอง และคีย์บอร์ดต่างๆด้วยเช่นกัน

นอกจากเสียงกีต้าร์ที่โดดเด่นแล้ว เนื้อร้องก็เป็นอีกส่วนที่ทำออกมาได้อย่างยอดเยี่ยมไม่แพ้กัน อาจจะด้วยความที่เล็กทำงานอยู่ในวงการภาพยนต์ด้วยก็ได้ เนื้อเพลงแต่ละเพลงในงานชุดนี้ นอกจากจะไพเราะสวยงามราวบทกวีแล้ว ยังทำหน้าที่ราวกับเป็นภาพยนต์เรื่องหนึ่งในแต่ละเพลง ซึ่งถ้าหากจะเปรียบเทียบเป็นภาพยนต์แล้ว บทเพลงของ Greasy Cafe นั้นคงจะเป็นภาพยนต์ที่เต็มไปด้วยบททีลึกซึ้งแต่เป็นธรรมชาติ โดยดำเนินเรื่องราวไปบนฉากหลังที่อาจจะไม่ได้เป็นสถานที่วิจิตรงดงามอะไรมากมาย อาจจะเป็นป้ายรถเมล์ กำแพงบ้านในหมู่บ้านธรรมดาๆแห่งหนึ่งที่เต็มไปด้วยตะไคร่น้ำ ฯลฯ แต่ด้วยแสงสีต่างๆ ก็ทำให้สถานที่นั้นงดงามแบบเป็นธรรมชาติ มันคือความงดงามที่เรามองเห็นกันอยู่ทุกวัน จนอาจจะเผลอมองข้ามกันไปนั่นเอง

เมื่อมองกลับมาในแง่ที่มันเป็นบทเพลงอีกครั้ง อัลบั้มสิ่งเหล่านี้ของ Greasy Cafe ก็คืองานเพลง Pop ที่อาจจะไม่ได้มีส่วนผสมใดๆที่วิจิตรพิศดารไปมากกว่าที่เพลง Pop เคยเป็น แต่งานชุดนี้หยิบเอาแง่มุมงดงามที่สุดของความธรรมดาเหล่านั้นมาเล่าอย่างมีรสนิยมเท่านั้นเอง

====================

Artist : Greasy Cafe

Album : สิ่งเหล่านี้

Producer : อภิชัย ตระกูลเผด็จไกร

Co-Producer : รัฐ พิฆาตไพรี ( รัฐ Tattoo Color )

Label : Smallroom

====================

* Greasy Cafe คือชื่อในการทำเพลงของ เล็ก - อภิชัย ตระกูลเผด็จไกร ช่างภาพนิ่งในกองถ่ายภาพยนต์



สิ่งเหล่านี้ - Greasy Cafe




 

Create Date : 13 มิถุนายน 2551    
Last Update : 13 มิถุนายน 2551 3:50:08 น.
Counter : 1373 Pageviews.  

1  2  

เด็กน้อยกว่า
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]


ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add เด็กน้อยกว่า's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.