Group Blog
 
 
กุมภาพันธ์ 2551
 
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
242526272829 
 
29 กุมภาพันธ์ 2551
 
All Blogs
 

ลิเก : รากเหง้าแห่งภูมิปัญญาที่คนไทยหลงลืม

หลังจากผลงานของนักศึกษาชิ้นแรกเกี่ยวกับเรื่อง "ร้านเล่า" เผยแพร่ออกไป ได้รับเสียงตอบรับที่ดีมาก ก็ขอขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านนะครับ

สารคดีชิ้นต่อมาเป็นเรื่องเกี่ยวกับลิเกโดย ทัศนีย์ มากคล้าย หรือ บีม ก่อนเขียนสารคดีชิ้นนี้ เธอปรึกษาผมหายครั้ง ด้วยว่าไม่รู้จะเขียนเรื่องอะไรดี ผมเลยไต่ถามถึงอดีตภูมิหลังและก็พบว่าเธอชอบดูลิเกและอ่านนวนิยายเป็นอันมาก ผมเลยบอกว่าเขียนเรื่องลิเกจากความทรงจำดู โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับหลังม่านลิเก หลายคนคงอยากรู้

เวลาเรียนในห้อง ยามที่ผมเปิดวงสนทนาเกี่ยวกับหนังสือที่ชอบอ่าน เธอมักเป็นประเด็นโดนแซวจากเพื่อนว่าเป็นเจ้าแม่นวนิยาย อ่านได้ไม่มีเบื่อ อ่านได้ทุกเรื่อง บ้างเลยแซวว่าเธอเป็นคนที่ชื่นชอบอารมณ์เพ้อฝันมโนรมย์ยิ่งนัก

ตัวผมที่เป็นอาจารย์เองก็ใช่ย่อย สมัยเด็ก แม่ผมรับหนังสืออย่างสกุลไทย สตรีสาร และขวัญเรือนมาอ่าน ส่งผลให้ผมได้อ่านนิยายมาตั้งแต่วัยเยาว์ แม้ส่วนมากจะเน้นอ่านเรื่องผีก็ตาม (อาทิเช่น ภูติแม่น้ำโขง อะไรทำนองนี้)

ก็ขอเชิญทุกท่านอ่านข้อเขียนชิ้นที่สองจากผลงานเด็กในคลาสของผมครับ



--------------------------




ลิเก : รากเหง้าแห่งภูมิปัญญาที่คนไทยหลงลืม

โดยทัศนีย์ มากคล้าย

เห่ เฮ เฮ เฮ้ เฮเห่เฮ เฮเห่เฮ เฮเห่เฮ เฮ้เฮเฮเฮ
สาลามานา ฮัดชาสาเก
ปลาดุกกระดุกกระดิก เอาไปผัดพริกอร่อยดีเฮ
สวัสดีพ่อแม่ทั้งหลาย พี่น้องหญิงชายที่สนใจลิเก
................................. .................................
ฮาเลวังกา รีบ ๆ เข้ามาดูลิเก

เสียงคำร้องข้างบนนี้ฉันสามารถร้องตามและยังจำติดหูได้ตลอดมา

เมื่อครั้งที่ฉันยังเป็นเด็กหญิงตัวเล็กๆ เมื่อได้ยินเสียงผู้ชายที่แต่งตัวคล้ายแขก สวมหมวกหนีบออกมายืนจับไมค์ร้องเพลง ซึ่งชาวบ้านมักเรียกกันว่า การออกแขก ฉันเป็นอันต้องวิ่งไปหน้าเวทีเพื่อจับจองพื้นที่ (โดยการนำเสื่อหรือกระดาษหนังสือพิมพ์มาปูนั่ง) รอชมการแสดงลิเกที่กำลังจะเริ่มขึ้นอย่างใจจดใจจ่อ

ฉันชื่นชอบและดูลิเกมาตั้งแต่เด็ก เพราะในสมัยนั้นเมื่อหมู่บ้านมีการจัดงานบุญหรือมีมหรสพครั้งใด มักมีลิเกด้วยทุกครั้งไป ซึ่งการมาแสดงของลิเกนั้นมีหลายแบบ เช่น มีเจ้าภาพจ้างเหมามาฉลองตามงานบุญต่าง ๆ บ้าง หรือคณะลิเกมาลงเวทีปิดวิกเพื่อเรี่ยไรเงินจากคนดูเองบ้าง
ลิเกเริ่มปรากฏหลักฐานที่เด่นชัดในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยที่พวกชาวไทยมุสลิมในกรุงเทพรวมตัวกันแสดงลิเกถวายหน้าพระที่นั่ง เนื่องในงานพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ในปี 2423 เมื่อคนไทยที่มีบรรดาศักดิ์เห็นจึงอยากให้มีการร้องสวดในงานวันสำคัญของตัวเองบ้างเพื่อเป็นการเสริมบารมีของตน จึงได้ขอร้องให้พวกแขกมุสลิมมาสวดให้จนกลายเป็นที่นิยมขึ้นมา แม้กระทั่งชาวบ้านก็อยากให้มีคนมาสวดหรืออวยพรให้ในวันสำคัญของตนบ้าง แต่ไม่มีอำนาจวาสนาถึงกับให้พวกแขกมาสวดให้ได้
จึงหาคนไทยมาสวดมาร้องให้โดยเริ่มใช้เพลงไทยในการร้อง จนในที่สุดก็เอาเรื่องละครนอกมาดัดแปลงเล่น แต่เพื่อจะให้รู้ว่านี่คือ ดิเกร์ หรือเพี้ยนจนเป็น ยี่เก และ ลิเก จึงต้องมีการออกแขกบอกไว้ต้นการแสดง

หลังจากที่ลิเกพยายามดัดแปลงการแสดงให้แตกต่างจากรูปแบบการสวดของชาวมุสลิมแล้ว ลิเกก็ได้ยึดแบบอย่างการแสดงจากละครนอก ทำให้ลิเกในสมัยนั้นมีแต่ผู้ชายล้วน

คณะลิเกในยุคแรกๆที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ คณะดอกดิน เสือสง่า พ่อดอกดินเป็นบุคคลที่มีพรสวรรค์ในการเล่นลิเกมากถึงแม้จะร่างกายไม่ค่อยสมบูรณ์แต่กระนั้น วงการลิเกก็ยังต้องจารึกชื่อของท่านไว้ในประวัติศาสตร์ลิเกไทย เพราะท่านเป็นคนแรกที่นำชายจริง หญิงแท้มาเล่นตามบทบาท และมีรูปแบบการแสดงที่มีแบบแผน นอกจากนี้พ่อดอกดินยังได้คิดเพลง รานิเกลิง อันเป็นสัญลักษณ์ของการร้องลิเกขึ้นใหม่แทนการใช้เพลงหงส์ทองเดิม ลิเกนั้นได้มีวิวัฒนาการหลากหลายรูปแบบและมีชื่อเรียกต่างกันคือ ลิเกบันตน ลิเกลูกบทและลิเกทรงเครื่อง

ลิเกบันตน เป็นการแสดงเรื่องราวละครชุดสั้นๆ ใช้รำมะนาเป็นเครื่องดนตรีแต่เครื่องแต่งกายและสำเนียงเจรจายังเลียนแบบชาวมุสลิมอยู่

ด้านลิเกลูกบทเกิดจากพวกปี่พาทย์นำลิเกบันตนไปแสดงประกอบการบรรเลงเพลงลูกบทโดยใช้ปี่พาทย์ทำเพลงรับแทนการใช้ลูกคู่ร้องประกอบการตีรำมะนาแบบเดิม ส่วนลิเกทรงเครื่องเกิดจากการผสมผสานการแสดงของลิเกบันตนและลิเกลูกบทเข้าด้วยกันซึ่งเดิมแต่งตัวด้วยเสื้อคอกลม นุ่งโจงกระเบนและมีผ้าคาดเท่านั้น ครั้งถึงยุคพระยาเพชรปาณี(ผู้ให้กำเนิดวิกลิเกคนแรก)ท่านได้นำเครื่องแต่งกายของข้าราชการในสมัยรัชกาลที่ 5 มาดัดแปลง จึงเรียกกันว่าแต่งองค์ทรงเครื่องและเพี้ยนมาเป็นลิเกทรงเครื่อง

โรงลิเกนับว่าเป็นสถานที่สำคัญสำหรับการแสดงลิเก ยังจำได้ว่าแต่ก่อนนั้นเด็กๆหลายคนรวมทั้งตัวฉันจะชอบไปห้อยโหนต้นมะยมข้างเวทีเพื่อแอบดูลิเกว่าพวกเขาทำอะไรกันบ้าง

โรงลิเกมีทั้งแบบสร้างชั่วคราวและแบบถาวรซึ่งจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือส่วนหน้าและส่วนหลังโดยใช้ฉากที่ทำจากผ้าดิบเขียนเป็นภาพต่าง ๆ กั้น ภาพที่นิยมก็คือภาพท้องพระโรง

ด้านบนของฉากมีชื่อคณะพร้อมเบอร์โทรศัพท์บอกไว้อย่างชัดเจนซึ่งถือเป็นการโฆษณาไปในตัว ส่วนหน้าเวทีจะใช้สำหรับแสดง และสิ่งที่เห็นจะขาดไม่ได้เลยบนเวทีก็คือ เตียง ซึ่งในภายหลังพบว่า เป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุดในการแสดงเพราะใช้ได้เอนกประสงค์ไม่ว่าจะเป็นราชอาสน์ของพระราชา ภูเขา บ้าน หรือแม้แต่เป็นเตียงของยาจกสุดแล้วแต่จะสมมติขึ้นมา
ด้านขวาของเวทีเป็นปีกยื่นออกไปสำหรับเป็นที่ตั้งของวงปี่พาทย์ซึ่งประกอบด้วยเครื่องดนตรีหลักได้แก่ ระนาดเอก ปี่ ขลุ่ย ตะโพน ฉิ่งและฉาบ สำหรับส่วนหลังของโรงลิเกจะเป็นที่สำหรับพักผ่อน เตรียมการแสดง แต่งตัวและแต่งหน้าโดยการแต่งหน้าของลิเกนั้นเริ่มมีในยุคลิเกทรงเครื่องโดยแต่งเลียนแบบละครรำ ซึ่งมี 3 ขั้นตอนหลัก คือ ผัดหน้า เขียนคิ้วและทาปาก อีกวิธีหนึ่งที่ลิเกชอบทำนั่นก็คือ การแรเงาสันจมูกให้ดูโด่ง

นอกจากขั้นตอนที่กล่าวมาแล้ว เชื่อว่าการแต่งหน้าของลิเกยังมีการใช้คาถามากมายเพื่อให้คนดูติดใจ ซึ่งตัวลิเก ถือเป็นความลับเฉพาะตัว บ้างก็ได้มาจากพ่อแม่หรือจากพระเกจิอาจารย์วัดต่าง ๆ นั่นก็คือการเสกแป้งผัดหน้า หรือเสกลิปสติกทาปากให้ต้องตาต้องใจคนดูมีคารมคมคาย ด้นกลอนมิมีติดขัด เป็นต้น แต่โดยรวมแล้วการแต่งหน้าของลิเกไม่มีแบบแผนตายตัว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรสนิยมหรือสมัยนิยม

ลิเกแต่ละคณะปกติแล้วจะมีนักแสดงประมาณ 10 คน ประกอบด้วย พระเอก นางเอก ตัวพ่อตัวแม่ของนางเอกหรือพระเอก พระรอง ตัวตลก ตัวโกง นางอิจฉา เป็นต้น ลิเกเป็นอาชีพที่ผู้เล่นจะรู้หน้าที่ของตน มีความเป็นระเบียบ สงบและเคารพนับถือผู้อาวุโสไม่ว่าผู้นั้นจะมีตำแหน่งใดในคณะก็ตามและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นที่เคารพบูชาของชาวลิเกก็คือรูปศีรษะฤาษี หรือที่ลิเกและคนในวงการนาฏศิลป์เรียกว่า พ่อแก่ ฉะนั้นก่อนเริ่มการแสดง ทุกคนในคณะลิเกต้องไหว้พ่อแก่ก่อนโดยเชื่อกันว่าจะเป็นการช่วยปัดเสนียดจัญไรต่างๆออกไปก่อนเริ่มการแสดง ซึ่งถือเป็นอีกขวัญกำลังใจหนึ่งของผู้แสดง

ชาวบ้านในสมัยก่อนนิยมดูการแสดงลิเกเป็นอย่างมาก เพราะลิเกเป็นการแสดงที่สนุกสนาน มีการดำเนินเรื่องเร็วแต่ตลกขบขัน นอกจากตัวพระเอกนางเอกที่ช่วยชูโรงแล้ว ตัวแสดงที่เป็นที่
ชื่นชอบของคนทุกเพศทุกวัยก็คือตัวตลกหรือที่มักเรียกว่า ตัวโจ๊ก ซึ่งช่วยสร้างสีสันให้กับเรื่องเป็นอย่างดี แต่เมื่อสื่อและเทคโนโลยีต่างๆเข้ามา เช่น วิทยุ โทรทัศน์ ส่งผลกระทบให้ลิเกได้รับความนิยมลดลงจนคณะลิเกจำนวนไม่น้อยต้องผันตัวเองไปทำอาชีพอื่นเลยก็มี แต่กระนั้นลิเกก็ยังพยายามหาช่องทางเพื่อให้ตนเองสามารถขึ้นมายืนอยู่ได้อีกครั้ง นั่นก็คือการแสดงลิเกผ่านวิทยุและโทรทัศน์ จนทำให้ลิเกกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง ซึ่งลิเกที่ได้รับความนิยมในขณะนั้นก็คือ สมศักด์ ภักดี ที่รู้จักกันในนามของพระเอกลิเกเงินล้าน

มีลิเกที่ไหน สิ่งที่จะขาดไม่ได้เลยก็คือมีแม่ยกที่นั่น คำว่าแม่ยกมีที่มาอย่างไรไม่แน่ชัด แต่แม่ยกคือบุคคลที่ถือว่ามีความสำคัญต่อลิเก ซึ่งส่วนมากเป็นหญิงวัยกลางคน สาวแก่ แม่หม้าย ที่มักอุปการะบรรดาพระเอกลิเกเพราะเอ็นดูอย่างลูกหลานหรือพิศวาสทางชู้สาวก็มี โดยการให้พวงมาลัยธนบัตรตามกำลังทรัพย์

แม้ว่าบนเวทีชีวิตลิเกจะดูหรูหรา สนุกสนาน หรือถึงแม้จะมีอุปสรรคแต่สุดท้ายแล้วก็จบด้วยความสุข แต่ในชีวิตจริงของพวกเขานั้นน่าสงสารและต้องเจอกับอุปสรรคต่างๆอยู่ไม่น้อยเพราะลิเกถูกจัดเป็นการแสดงเชิงนาฏพานิชย์ซึ่งต้องยืนหยัดด้วยลำแข้งของตัวเอง ขาดการอุปถัมภ์หรือส่งเสริมจากหน่วยงานใดๆทั้งสิ้น ลิเกจึงต้องหาวิธีเล่นที่แปลกใหม่ ทันสมัย ตรงใจคนดู ดังนั้นรูปแบบการ-แสดงจึงผิดแปลกจากละครที่มีแบบแผน มีการใช้คำราชาศัพท์ผิดหรือมีการร่ายรำพอเป็นพิธีแต่ร้องเป็นส่วนใหญ่ ดังมีคนเปรียบเทียบว่า “ละครรำเป็นท่า ลิเกรำเป็นที” ทำให้ได้รับคำดูถูกเหยียดหยามต่างๆนานาว่าลิเกเป็นของต่ำ ดังบทกลอนของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
กล่าวไว้ว่า

“ลิเกลามกตลกเล่น รำเต้นสิ้นอายขายหน้า
ไม่ควรจดจำเป็นตำรา มันจะพาเสียคนป่นปี้เอย”

ปัจจุบันฉันได้มีโอกาสดูลิเกน้อยมากโดยเฉพาะการได้มาร่ำเรียนในเมืองใหญ่ที่ได้ชื่อว่ามีความเจริญเช่นนี้ หรือแม้แต่งานบุญงานวัดในหมู่บ้าน ลิเกที่เคยมีให้ดูตลอด แต่เมื่อ 10 ปีให้หลังมานี้ แทบจะไม่มีเงาของลิเกจนคนรุ่นใหม่บางคนอาจไม่เคยดูหรือรู้จักลิเกด้วยซ้ำไป

ลิเกในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมากทั้งด้านกระบวนการรำที่มีน้อยลง เนื้อเรื่องที่ใช้ก็ดัดแปลงไปจากเดิมมากโดยเน้นบทชิงรักหักสวาทจบเกือบไม่เหลือความสละสลวยแห่งภาษาและคำกลอนไว้ ยิ่งปัจจุบันกระแสเพลงลุกทุ่งที่ได้รับความนิยมทำให้ลิเกนำเพลงลูกทุ่งมาร้องแทนการออกแขก ข้อนี้ฉันมีประสบการณ์โดยตรงจากการได้ชมลิเกคณะหนึ่งที่วัดพระสิงห์เมื่อเทศกาล ปี๋ใหม่เมืองปีที่แล้ว ซึ่งชาวคณะลิเกก็ได้ออกตัวว่าต้องทำเช่นนี้เพื่อให้เข้ากับสมัยนิยม เพราะถ้าไม่มีการแสดงเพิ่มเติมดังกล่าว ก็จะไม่มีคนนิยมหา

ลิเกเป็นการแสดงที่อยู่กับคนไทยมาช้านาน โดยมีการนำละครมาผสมผสานและพัฒนาการแต่งกายรวมทั้งดนตรี การร้อง การรำ บวกกับแนวคิดและภูมิปัญญาชาวบ้านกลายมาเป็นศิลปะ การแสดงที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ลิเกจะอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีคนดู อย่าดูถูกหรือเหยียดหยามว่าลิเกต้อยต่ำ เพราะลิเกนั้นคือผลงานที่เกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้านที่สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อตอบสนองความบันเทิงของคนไทยมาช้านานทั้งยังเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่า หากผู้ใดดูถูกลิเก ผู้นั้นคงได้ชื่อว่าดูถูกรากเหง้าแห่งวัฒนธรรมของตนเองเป็นได้


เอกสารและข้อมูลประกอบการเขียน

1.“ลิเก” โดยศาสตราจารย์ ดร.สุรพล วิรุฬห์รักษ์, เจนภพ จบกระบวนความ,บุญเลิศ นาจพินิจ
2.“ลิเกไทย” โดย พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ
3. ยี่เก จาก “ดอกดิน” ถึง “หอมหวล” โดย เจนภพ จบกระบวนความ สำนักศิลปะวัฒนธรรม
4. //th.wikipedia.org/wiki/




 

Create Date : 29 กุมภาพันธ์ 2551
19 comments
Last Update : 29 กุมภาพันธ์ 2551 14:32:35 น.
Counter : 4090 Pageviews.

 

ชอบดูลิเก ตล๊กอ่า หนุกดีอ่า


จารย์แฮะ ช่วงนี้เราตามไล่ลบเพลงไทยอะ แฮะแ ฮะ กัวเจอลิขสิทธิดีเพลงไทยมีมะกี่เพลงอ่า

 

โดย: Bernadette 29 กุมภาพันธ์ 2551 15:56:06 น.  

 

ของน้องคนนี้เน้นที่ข้อมูลเป็นหลักนะคะ ข้อมูลเยอะทีเดียว

แต่นำเสนอแบบแข็งๆ ไปนิด

น้องเค้าอาจจะกลัวว่าเป็นสารคดี เลยไม่กล้าใส่ลีลามาก

ที่จริงคนชอบอ่านนิยายเยอะๆ ถ้ารู้จักจับจุดการเขียนนิยาย เอามาปรับใช้กับการเขียนสารคดี (แต่ไม่ใช่บิดเบือนความจริงนะคะ) จะทำให้มีเสน่ห์น่าอ่านเลยหละค่ะ


แต่ตอนเราเขียน เราก็ไม่กล้าเล่นเหมือนกัน เน้นข้อมูลที่ไปหามาได้เป็นหลัก แหะๆ แล้วครูก็แนะนำประมาณนี้น่ะค่ะ

 

โดย: สาวไกด์ใจซื่อ 29 กุมภาพันธ์ 2551 19:29:45 น.  

 

ผมคนหนึ่งครับที่ชอบศิลปะการแสดงไทย โดยเฉพาะดนตรีไทยและการแสดงทางนาฏศิลป์ มาอ่านแล้วก็ขอแสดงความคิดเห็นสักหน่อย

ขอชื่นชมว่าน้องค้นคว้าข้อมูลมาได้ดีครับ และเรียบเรียงข้อมูลต่างๆได้กระชับอ่านสนุก พูดเรื่องลิเกทรงเครื่องทำให้พี่นึกถึงครูบุญยัง เกตุคง ท่านศิลปินแห่งชาติ ซึ่งท่านเป้นนักดนตรีมีชื่อ(ระนาดทุ้ม) แต่ท่านได้ศิลปินแห่งชาติสาขาลิเกทรงเครื่องครับ โดยท่านเป็นศิษย์ของครูเต๊ก เสือสง่า (ถ้าจำชื่อท่านไม่ผิด) หากน้องได้ทราบและได้ชมภาพ ก็จะยิ่งเห็นวิวัฒนาการเรื่องเครื่องแต่งกายของลิเกรวมทั้งการร้องรำครับ


ขอแก้ต่างแทนเสดจในกรมดำรงฯ คืออย่างนี้ครับ อย่างที่บอกว่า พี่คนหัวเก่า 555 คือที่ท่านไปดูถูกลิเก ไม่ใช่เพราะว่ามันเป็นของชาวบ้านหรือพื้นบ้านนนะครับ การแสดงชั้นสูงหลายอย่างก็มาจากพื้นบ้าน แต่พี่คิดว่าที่เสด็จในกรมท่านบอกแบบนั้น เพราะว่า นาฏการแสดงอื่นๆของไทยนั้น โดยมากได้รับการ "จัดระเบียบ" ให้มีความสวยงามลงตัวมีระเบียบแบบแผน ทำให้ไม่ว่าไปร้องเล่นที่ไหน ก็คงมาตรฐานสม่ำเสมอ ไม่นอกลู่นอกทาง อีกอย่าง การโลนหรือตลกลามกนั้น โบราณถือเป็นส่วนหนึ่งของพิธีเกี่ยวกับความเจริญของพืชพันธ์ก็จริง แต่มักจะร้องเล่น ในการแสดงพื้นบ้านที่เป้นขั้นตอนของการเก็บเกี่ยวหรือขั้นตอนอื่นๆ เช่น เพลงเกี่ยวข้าว เพลงเรือ เป็นต้น แต่หากเล่นลามกในการแสดงที่เกิดเส้นแบ่งระหว่างนักแสดงกับผู้ชม อย่างลิเก คงทำให้เกิดความรู้สึกไม่ดี ในคนดูบางส่วนมันต่างกับแบบแรกนะครับ เพราะแบบแรก การร้องเล่นในการเกษตร ตัวผูแสดงก็เป็นทั้งผูเล่นและผูชมไปพร้อมๆกัน คือช่วยกันร้องเล่น และเส้นแบ่งไม่ชัดเจน

เรื่องว่าจะเอาแบบโบราณ หรือจะต้องปรับตัว ก็เห็นใจนะครับ เพราะว่า อย่างที่น้องบอก ลิเกก็ต้องกินข้าว ต้องหาเงิน จึงต้องปรับไปตามกระแส เรื่องนี้ไม่ใช่แค่ลิเกหรอกครับ การแสดงทางวัฒนธรรมต่างๆ ก็มีคนยืนอยู๋สองข้าง
ข้างนึงก็บอกว่า การแสดงนาฏศิลป์ต้องปรับตัวไปตามสมัย ให้สมสมัยและให้อยู่ได้ แต่อีข้างก็บอกว่า ถ้าปรับตัว ของเก่า ของดีก็จะไม่เหลือเค้าเลย เหมือนการแสดงสารพัดที่หายไปมากแล้ว ต่างฝ่ายต่างก็มีเหตุผลที่ฟังขึ้น ข้อนี้เป็นประเด้นถกเถียงในทางการอนุรักษ์มามากแล้วครับ
แต่การที่ลิเกยังคงมีความเปลี่ยนแปลน เพราะยังไม่ตายนะครับ แสดงว่ายังมีคนดู ข้อนี้ไม่รู้จะดีใจดีไหม
อีกอย่างแม้จะบอกว่า การแสดง ที่สุดแล้วก็มีเพื่อความบันเทิงของมนุษย์ จะยังไงก็ควรต้องให้ความบันเทิงตามที่ผู้ชมต้องการ แต่นี่ไม่ใช่วิธีคิดในการแสดงทางตะวันออกครับ(คิดว่าเมื่อก่อนฝรั่งก็คิดแบบนี้ แต่เมื่อเกิดการปฏิรูป แยกศาสนาออกจากทางโลกย์ จึงทำให้เกิดเส้นแบ่งที่ชัดเจน)
ในทางตะวันออกนั้น การแสดงเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมครับ เพราะฉะนั้นการแสดงจึงเป็นสิ่งที่ไม่ได้ให้แค่ความสนุกอย่างเดียว แต่ให้คุณค่าในเชิงพิธีกรรม สังคม ศีลธรรม แม้ขนาดพาให้คนดูไปสู่ทิพยภาวะก็ยังทำได้ เพราะศิลปะเป็นของละเอียด ฉะนั้นผู้แสดงจะต้องคิดเรื่องนี้ให้มากครับ เหมือนที่อาจารย์ไมเคิล ไรท์เคยพูดว่า "ศิลปินที่รูจักไหว้ครูบาอาจารย์(คือยังมีจิตวิญญาณแบบตะวันออก)คือเทวดาพวกหนึ่ง" ไม่ใช่พวกเต้นกินรำกินครับ

นักแสดงและผู้เกี่ยวข้องต้องแยกให้ออกว่า สิ่งไหนควรคงไว้ สิ่งไหนควรเปลี่ยน ให้สมสมัย เพื่อไม่ให้ทิ่งไปซะหมด หรือเก็บแต่ของไม่ดีไว้ ขอยกตัวอย่างของการแสดงที่พี่คิดว่าทำได้ดี คือหุ่นละครเล็กครับ หุ่นละครเล็กนั้น ปรัปเปลี่ยนในเชิงเทคนิค ทั้งตัวหุ่นรวมทั้งการใช้เอฟเฟคต่างๆ แต่ การแต่งกายหุ่น การให้สี ท่ารำและดนตรี ยังคงแบบโบราณ ไม่ได้เปลี่ยนเลยครับ คิดว่าเป็นตัวอย่างที่ดี

แลกเปลี่ยนซะมากเลย ขออภัยด้วยที่ ใช้พิ้นที่อาจารย์ช้างซะมากมาย 555

ยังไงให้กำลังใจครับ
ขอให้เขียนงานมาอีกนะครับ

อ่อ ขอแถมนิดนึง คือ ถ้าน้องใส่ แง่มุมส่วนตัว ต่อลิเก หรือประสบการณ์สนุกๆในเชิงอารมณ์ความรูสึกอีกนิด จะสนุกและดียิ่งกว่านี้ครับ

 

โดย: พ.หมี IP: 58.9.137.86 29 กุมภาพันธ์ 2551 19:32:04 น.  

 

ขอรบกวนท่านอาจารย์ ช่วยเอา ไอ้ดอกๆ ที่มันอยู่ในช่องพิมพ์คอมเม้นท์หน่อยนะครับ ทำให้พิมพ์ได้ลำบากมาก พิมพ์ผิดพิมพ์ถูก เพราะไอ้ดอกๆ นี้มันกวนสายตาครับ

นี่คือตัวอย่างของสิ่งที่ควรเอาทิ้งไป 55555

 

โดย: พ.หมี IP: 58.9.137.86 29 กุมภาพันธ์ 2551 19:36:37 น.  

 

 

โดย: Darksingha 29 กุมภาพันธ์ 2551 20:08:17 น.  

 

ตั้งใจให้พิมพ์ยาก

 

โดย: I will see U in the next life. 29 กุมภาพันธ์ 2551 20:09:25 น.  

 

สันดานมากครับ..

รบกวนอ.ช้างบอกพี่ริคด้วยนะครับว่า มหาศิวราตรี ปีนี้วันที่ 6 มีค.ครับ เริ่มก่อนทุ่มนึงเล็กน้อยนะครับ

รายละเอียดอ.ช้างไปดูในบอร์ดนะครับ

 

โดย: พ.หมี IP: 58.9.137.86 29 กุมภาพันธ์ 2551 20:17:02 น.  

 

โอเคครับ พราหมณ์หมี

แต่พี่เขาต้องมาเล่นคอนเสิร์ตเชียงใหม่วันที่ 8 ไม่รู้ไปได้เปล่า

 

โดย: I will see U in the next life. 29 กุมภาพันธ์ 2551 20:28:06 น.  

 

ชอบความแน่นของข้อมูลและเนื้อหาครับอาจจะขาดเรื่องบรรยากาศไปบ้างแต่ด้วยความจำกัดของหน้ากระดาษที่อาจารย์กำหนดก็น่าจะอภัยได้ ตรงย่อหน้าสรุปแม้จะไม่ประทับใจมากนัก แต่ก็จัดว่าอยู่ในเกณท์ดี ยังไงตบมืออีกครั้งสำหรับ ความพยายามในการเรียบเรียงข้อมูล

 

โดย: Slowboy2525 IP: 118.172.27.250 29 กุมภาพันธ์ 2551 20:28:33 น.  

 

ชอบดูลิเกที่ไม่เพี้ยนน่ะคะ
คือไม่มีที่ร้องเพลงลูกทุ่งตลกๆเข้ามาแทรก

แล้วก้ชอบไปแอบบดูเขาแต่งตัวหลังเวทีค่ะ
ไม่ใช่ทะลึ่ง..แต่มันเป็นละครชีวิตจริงๆ
(Life after.เอ๊ย!!.behind the scene)

ขอบคุณที่เล่าสู่กันฟังค่ะอาจารย์

zwani.com myspace graphic comments
Thank You Graphic Comments

 

โดย: เริงฤดีนะ 29 กุมภาพันธ์ 2551 22:40:32 น.  

 

จำความได้ ตอนเด็กๆเคยดูอยู่ครั้งหนึ่ง

 

โดย: printcess of the moon 1 มีนาคม 2551 17:37:26 น.  

 

เเถวๆ บ้านผม ยังมีเล่นกันอยู่เลยครับ เเต่เพี้ยนไปมาก ดูไม่ค่อยสนุกเท่าไหร่

เเต่จะไปเอาอะไรมากก็ไม่ได้
เพราะส่วนใหญ่ เป็นลิเกเเก้บน ฮา

 

โดย: Dark Secret 1 มีนาคม 2551 21:10:22 น.  

 

อย่าเอาดอกๆ นี่ออกไปนะ ฮ่าๆๆๆ

เรื่องลิเกนี่ไม่ค่อยสันทัดเท่าไหร่ แล้วก็ไม่ได้้ชอบดูด้วย แต่เคยนั่งรถผ่าน เห็นวิกลิเกร้างคนแล้วมันเปลี่ยวใจพิกล

 

โดย: strawberry machine gun 2 มีนาคม 2551 19:19:31 น.  

 

เขียนได้เก่งจังครับ อ่านตามอย่างตั้งใจเลย ^^

 

โดย: Tony Koon (tk_station ) 2 มีนาคม 2551 20:53:59 น.  

 

ผมชอบลิเก และยิ่งชอบโขนครับ

 

โดย: เจ้าชายไร้เงา 4 มีนาคม 2551 3:30:19 น.  

 

เฮียเป็นอาจารย์เหรอเนี่ย (O_O)
แอบเพิ่งรู้ ... แต่มั่นใจว่าเป็นอ.ที่ดีแน่นอน
ในฐานะเคยไปเป็นลูกศิษย์มา 1 ครั้ง
เกรดวิชานั้นก็งดงาม ขอบคุณค้าบ *โค้งๆ*

ว่าแต่ที่บอกในบล็อคว่าต้องอาศัยสกิล
สกิลอะไรอ่ะค้าบ แนะนำหน่อยๆ T^T
ถึงฟ้าจะถอดใจแล้ว .. แต่ก็ยังคงยกเวทและวิดพื้นทุกวันอยู่นะ เผื่อๆ ไว้ 555

 

โดย: สาวแว่นเลี้ยวซ้าย (สาวแว่นเลี้ยวซ้าย ) 4 มีนาคม 2551 10:13:16 น.  

 

You've hit the ball out the park! Inrcedible!

 

โดย: Zakaria IP: 213.82.45.148 27 พฤศจิกายน 2555 15:48:21 น.  

 

iWGvS0 , [url=//olbudxubtluy.com/]olbudxubtluy[/url], [link=//znntjwnlrunm.com/]znntjwnlrunm[/link], //hylkmnkggrrr.com/

 

โดย: tlecsr IP: 68.233.237.133 1 ธันวาคม 2555 9:37:24 น.  

 

SYff0x , [url=//grlrroamtmmm.com/]grlrroamtmmm[/url], [link=//mmrbduynkoze.com/]mmrbduynkoze[/link], //jzgnigesqcjr.com/

 

โดย: ltlthtnzo IP: 193.190.137.138 5 ธันวาคม 2555 5:14:56 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


I will see U in the next life.
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




Friends' blogs
[Add I will see U in the next life.'s blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.