All Blog
ยึดซากหมูกี้“ผวา"ส่งภัตตาคาร"ชื่อดัง

ยึดซากหมูกี้ 558 ตัวลักลอบจากประเทศเพื่อนบ้าน หวั่นติดเชื้อ"ผวา"ส่งภัตตาคารขายหมูหันชื่อดังหลายแห่งในกรุง ไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค 

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่าชุดปฏิบัติการพิเศษพญาไท กรมปศุสัตว์ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.พระโขนง นำหมายศาลเข้าตรวจค้นและจับกุมพ่อค้ารายใหญ่ลักลอบนำซากหมูเล็กแช่แข็ง (หมูกี้) ไม่สามารถระบุแหล่งที่มาได้ จำนวน 558 ตัว น้ำหนักกว่า 1,400 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 3.4 แสนบาท เก็บรวบรวมไว้ในห้องเย็นชั้นล่างของตึกแถว 3 ชั้นสำหรับอยู่อาศัย แล้วนำส่งขายตามภัตตาคารที่จำหน่ายหมูหัน เป็นเมนูหลักชื่อดังหลายแห่งในกรุงเทพฯ หวั่นเป็นหมูกี้ลักลอบจากประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค และเสี่ยงแพร่เชื้อแอฟริกาอหิวาต์ในสุกร ซึ่งเป็นโรคระบาดร้ายแรง

 


 
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2562 ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพิเศษพญาไท กรมปศุสัตว์ นำโดยนายสัตวแพทย์จิรภัทร อินทร์สุข ตำแหน่งนายสัตวแพทย์ชำนาญการ ขอหมายศาลอาญาและร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาล สน.พระโขนง นำโดยร้อยตำรวจเอกสมบูรณ์ อีสา รองสารวัตรสอบสวน เข้าตรวจค้นตึกแถว 3 ชั้น 3 คูหา เลขที่ 228 อ่อนนุช 35 แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง 

จากการสืบทราบทางลับ พบว่ามีชั้นล่างของตึกแถวเป็นห้องเย็น เพื่อเก็บรวบรวมซากหมูเล็กแช่แข็งไม่ทราบแหล่งที่มา แล้วลักลอบขนย้ายใส่รถยนต์เพื่อส่งขายให้กับภัตตาคารที่มีชื่อเสียงในกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีหมูหันเป็นเมนูหลักจำหน่ายให้กับลูกค้าที่มารับประทานอาหาร ผลการตรวจค้นตึกแถวดังกล่าว มีเนื้อที่รวม 100 ตารางวา โดยชั้นบนเป็นที่พักอาศัย ส่วนชั้นล่างมีห้องเย็น 2 ห้อง ขนาด 6x3 เมตร และ 4x2 เมตร และในห้องเย็นทั้ง 2 ห้อง ตรวจพบซากหมูเล็กแช่แข็งอยู่ภายใน ซึ่งเจ้าของไม่สามารถระบุแหล่งที่มาของซากหมูเหล่านี้ได้ จำนวน 558 ซาก เฉลี่ยน้ำหนักซากละ 2.5-3 กิโลกรัม รวมน้ำหนักทั้งหมดประมาณ 1,400 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 3.4 แสนบาท

 


 
เจ้าของรับสารภาพว่าได้นำส่งซากหมูเหล่านี้ไปขายให้กับภัตตาคารรวม 4 แห่ง ซึ่งเป็นภัตตาคารชื่อดังในกรุงเทพฯ ที่มีหมูหันเป็นเมนูหลักจำหน่ายให้กับลูกค้าที่มารับประทานอาหาร เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพิเศษพญาไทในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงได้แจ้งข้อหาในการกระทำความผิดตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ.2559 มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“ปฏิบัติการครั้งนี้ ในเบื้องต้นตรวจพบซากหมูเล็กแช่แข็งจำนวนมากที่เจ้าของไม่สามารถนำหลักฐานแหล่งที่มาและไม่มีเอกสารหลักฐานที่ผ่านการตรวจสอบจากพนักงานตรวจโรคสัตว์มาแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ จึงมีความผิดตามกฏหมาย และทำให้มีความเสี่ยง  ต่อเชื้อโรคระบาดปะปนมากับซากสัตว์ ไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำการอายัดซากหมูทั้งหมด เพื่อตรวจสอบแหล่งที่มาให้แน่ชัด เก็บตัวอย่างซากหมูส่งห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจพิสูจน์เชื้อโรคปนเปื้อนและตรวจดีเอ็นเอ

 


 
หากผลตรวจพิสูจน์ ดีเอ็นเอพบว่าเป็นดีเอ็นเอของหมูที่เลี้ยงในประเทศเพื่อนบ้าน จะถูกดำเนินคดีเพิ่มรวมถึงขยายผลเพื่อให้ถึงตัวผู้กระทำผิดและผู้ร่วมขบวนการลักลอบนำเข้าต่อไป ซึ่งการตรวจสอบครั้งนี้เป็นไปตามกฎหมาย เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและเป็นหนึ่งในมาตรการที่เข้มงวด เพื่อป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรที่อาจแพร่ระบาดจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาในประเทศไทย อันจะทำให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูของไทยอย่างรุนแรงได้” อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวในที่สุด

ทั้งนี้ หากประชาชนต้องการข้อมูลเพิ่มเติมหรือพบเห็นการกระทำผิดด้านปศุสัตว์ โปรดติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อขอรับข้อมูล หรือแจ้งเบาะแสการกระทำความผิดเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย โดยแจ้งผ่านแอพพลิเคชั่น DLD 4.0 ที่ดาวน์โหลดและติดตั้งได้ในโทรศัพท์ทุกระบบ

 


 



Create Date : 10 มิถุนายน 2562
Last Update : 10 มิถุนายน 2562 9:09:19 น.
Counter : 886 Pageviews.

2 comment
แฉ ! คนไทยเกือบหมื่นหนีเข้าญี่ปุ่น
"กรมกิจการสตรีฯ"ถกสถานการณ์คนไทยในญี่ปุ่น เผยอยู่ผิดกฏหมายเกือบหมื่น พบปัญหาไม่รู้ภาษา-กม.กระทบประกันสุขภาพ-อาชีพ แนะช่องทางช่วยเหลือทำโมเดลขยายผลไปประเทศอื่น
 
 
นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  มอบหมายให้นางสาววิจิตา รชตะนันทิกุล รองอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เป็นประธานในการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อจัดทำแนวทางการพัฒนาระบบการให้ความช่วยเหลือสตรีและครอบครัวไทย ของเครือข่ายหญิงไทยในต่างประเทศ ณ โรงแรม Prince Hotel Sunshine City กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
 
 
โดยมีวิทยากรร่วมจากกระทรวงการต่างประเทศ ได้แก่ อัครราชทูตที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น (นางสาวแคทรียา ปทุมรส) ผู้อำนวยการกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทย  ในต่างประเทศ กรมการกงสุล (นายบัญชา ยืนยงเจริญ) พร้อมด้วยคณะ และผู้แทนกรมบัญชีกลางเข้าร่วมสังเกตการณ์ ซึ่งการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้มีเครือข่ายหญิงไทยในประเทศญี่ปุ่นเข้าร่วมการประชุมทั้งสิ้น 32 คน จากจำนวน 30 เครือข่าย ในประเทศญี่ปุ่น   อาทิ เครือข่ายคนไทยในญี่ปุ่น สมาคมเด็กไทยกรุ๊ป กลุ่มคนไทยในไซตามะ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอาชีพหลากหลาย เช่น อาจารย์ นักกฎหมาย ล่าม พนักงานของรัฐญี่ปุ่น ลูกจ้างทั่วไป แม่บ้าน เป็นต้น อายุระหว่าง 30-70 ปี


 



 



 

 
 
ทั้งนี้ ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับ สถานการณ์ทั่วไป สภาพปัญหา และข้อเสนอเพื่อขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐ สถานการณ์ทั่วไป พบว่ามีคนไทยอาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่น จำนวน 51,003 คน เป็นหญิง 72% เป็นชาย 28% พำนักระยะยาว 61.2% และพำนักผิดกฎหมาย จำนวน 6,860 คน สภาพปัญหาหญิงไทยและครอบครัวที่สำคัญ คือ การสื่อสารภาษาญี่ปุ่น ความรู้เรื่องกฎหมาย ซึ่งผลมาจากการไม่รู้ภาษาและกฎหมาย ส่งผลให้เกิดปัญหา  การประกันสุขภาพ การประกอบอาชีพ เศรษฐกิจในครอบครัว การเลี้ยงดูบุตร ความเข้าใจวัฒนธรรมของญี่ปุ่น  บทบาทของเครือข่ายหญิงไทยในประเทศญี่ปุ่น ได้มีการรวมตัวกันตามภูมิภาคต่าง ๆ ให้ความช่วยเหลือโดยตรงหรือผ่านช่องทาง social media ทาง facebook และ Line Group
 

โดยกระบวนการให้ความช่วยเหลือ ส่วนใหญ่ จะเป็นการให้คำปรึกษา การส่งต่อ case ไปยังสถานทูตไทย หรือสถานกงสุล สมาคม มูลนิธิ เพื่อให้การช่วยเหลือ ทั้งกรณีความรุนแรง การเงิน หรือส่งกลับ โดยความถี่ในการช่วยเหลือหญิงไทย ประมาณวันละ 10-15 ราย นอกจากนี้ กลุ่มเครือข่ายหญิงไทย ได้มีการจัดทำเอกสารแปลภาษาญี่ปุ่นเป็น ภาษาไทย เช่น คู่มือด้านสุขภาพ คู่มือเรียนอักษรภาษาญี่ปุ่น (คันจิ) เพื่อเป็นการเผยแพร่และแบ่งปันการเรียนรู้ซึ่งกันและกันโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายด้วย


 



      



 


 
 
สำหรับผลสรุปของการดำเนินโครงการ พบว่า กลุ่มเครือข่ายที่เข้าร่วมโครงการ มีความพึงพอใจอย่างมาก และมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างแข็งขัน มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐเพื่อการช่วยเหลือหญิงไทย ที่ประสบปัญหาต้องการความช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรม ต่อเครือข่ายหญิงไทยให้มีการทำงานลักษณะเพื่อนช่วยเพื่อน self help group อย่างต่อเนื่อง และยั่งยืน ได้แก่ อบรมให้ความรู้แก่หญิงไทย ก่อนเดินทางไปอยู่ประเทศญี่ปุ่น 2) ระบบการประสานส่งต่อการช่วยเหลือหญิงไทย การเชื่อมโยงข้อมูลการช่วยเหลือของเครือข่ายหญิงไทย และภาครัฐ ทั้งในประเทศญี่ปุ่น และประเทศไทย
 

3) การอบรมวิธีการให้ความช่วยเหลือหญิงไทยของกลุ่มเครือข่ายโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของเครือข่าย 4) การสนับสนุนการจัดทำโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณ การมี license สำหรับล่าม ที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือหญิงไทย 6) สายด่วนการช่วยเหลือ เช่น 1300 ควรเพิ่มช่องทางเร่งด่วน ผ่าน socail media : facebook/ line/ เว็ปไซต์  ทั้งนี้ในส่วนของเว็ปไซต์ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว อยู่ระหว่างการปรับปรุงเว็ปไซต์ “เครือข่ายหญิงไทย ในต่างประเทศ” (yingthai.dwf.go.th) เพื่อให้เป็นช่องทางหนึ่งสำหรับเครือข่ายหญิงไทยในต่างประเทศในการประสานการดำเนินงานกับภาครัฐ

 
   

 


 
โดยเห็นว่า การจัดกิจกรรมเครือข่ายหญิงไทย ในครั้งนี้ ควรจะมีการติดตามผลในปีต่อไป และสามารถเป็นแบบอย่าง model ขยายผลไปยังประเทศอื่น ๆ อาทิ สาธารณรัฐเกาหลี เพื่อสร้างภาคีเครือข่ายหญิงไทย ให้เป็นภาคประชาคมทำงานคู่ขนานกับภาครัฐ ในการลดผลกระทบของผู้หญิงไทยในต่างประเทศ และสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนา ที่ยั่งยืน SDG เป้าประสงค์ที่ 5 ด้านความเสมอภาคของสตรี ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาของสตรีในกลุ่มเสี่ยงต่อพหุวัฒนธรรม โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังด้วย


 





 
  
 



Create Date : 06 มิถุนายน 2562
Last Update : 6 มิถุนายน 2562 11:23:34 น.
Counter : 813 Pageviews.

0 comment
สพฉ.ผุดนวัตกรรม OIS-เปิด AML ระบุพิกัดผู้ป่วยแม้ไม่มี App
สพฉ.เสวนา"นวัตกรรมเทคโนโลยีระบบการแพทย์ฉุกเฉินยุคใหม่"พัฒนาระบบบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินแก่ผู้ป่วย ผุดนวัตกรรม OIS ช่วยผู้ป่วยฉุกเฉินจากต้นทาง-ปลายทางเตรียมประสาน GOOGLE เปิดระบบ AMLที่เครื่องโทรศัพท์ ระบุพิกัดผู้ป่วยฉุกเฉินผ่านโทรศัทพ์ได้ปกติแม้ไม่มี Application

ในการจัดการประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติครั้งที่ 13  ประจำปี 2562  ภายใต้หัวข้อ "มุ่งสู่ยุคใหม่การแพทย์ฉุกเฉินไทย" (Conference Program of National EMS Forum 2019 : Next Generation) ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ได้มีการจัดเสวนาพิเศษให้ข้อ "นวัตกรรมเทคโนโลยีระบบการแพทย์ฉุกเฉินยุคใหม่" Ems System Technology Innovation" โดยมีวิทยากรในด้านการปฏิบัติในระบบการแพทย์ฉุกเฉินเข้าร่วมเป็นวิทยากร

นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า การพัฒนาเรื่องของเทคโนโลยีเพื่อการสื่อสารและสารสนเทศ เป็นส่วนหนึ่งของการทำให้ระบบการแพทย์ฉุกเฉินประสบผลสำเร็จเนื่องจากที่ผ่านมาเราพบปัญหาและอุปสรรคในการช่วยเหลือฉุกเฉินอยู่หลายส่วน โดยเฉพาะประชาชนในกลุ่มประชากรเปราะบาง


 



 


 
สพฉ.จึงต้องเร่งพัฒนาให้ประประชาชนทุกคนได้มีโอกาสในการเข้าถึงการให้บริการในนะบบการแพทย์ฉุกเฉินอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ซึ่งในขณะเดียวกันในเชิงป้องกันก็มีความสำคัญทีเราจะพัฒนาควบคู่กันไปด้วย  โดยการพัฒนาทั้งสองสิ่งที่จำเป็นที่สุดที่จะเข้ามาช่วยหนุนเสริมการพัฒนาก็คือเทคโนโลยี ซึ่งในแต่ละพื้นที่เรามีผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินหลายกลุ่ม ถ้าต่างคนต่างทำ จะทำให้การช่วยเหลือไม่เป็นระบบเดียวกัน เราจึงจำเป็นต้องพัฒนาระบบกลางขึ้นมา เพื่อให้พื้นที่นำไปใช้ร่วมกันได้ ทั้งรัฐและเอกชน

 
รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกล่าวเพิ่มเติมว่า ในการพัฒนานั้นสพฉ.ได้อาศัยภาครัฐหลายหน่วยงานมาให้ความรู้ มาช่วยในการคิดนวัตกรรมต่างๆเพื่อพัฒนาระบบดิจิทัลเรียลไทม์การให้บริการทางด้านการแพทย์ฉุกเฉินให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อาทิเช่น การสื่อสารด้วยอินเตอร์เน็ทมีทั้งภาพ เสียง และวีดีโอ
 
 


 
การพัฒนาการช่วยเหลือกลุ่มผู้พิการทางการได้ยินให้เข้าถึงการให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินผ่านล่ามภาษามือ หรือแม้กระทั่งชาวต่างชาติสามารถใช้ระบบแปลภาษาได้โดยไม่ต้องใช้ล่าม  หรือพื้นที่ที่ห่างไกลเราก็จะมีระบบดาวเทียม ระบบวิทยุ อินเตอร์เน็ต เพื่อสนันสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งทั้งหมดต้องให้ทุกหน่วยงานพิจารณาร่วมกันโดยใช้ระบบกลางมาดำเนินการ
 
"ระบบที่เกิดขึ้นจะสนับสนุนให้แพทย์สามารถทำงานช่วยเหลือผู้ป่วยได้ ปัจจุบันเราได้พัฒนาเป็นระบบ CIS ที่ประชาชนแค่โทรผ่านโทรศัพท์ธรรมดาไม่ต้องผ่านแอพพลิชั่นเราก็สามารถรู้พิกัดผู้ป่วยได้เลย โดยระบบนี้จะมีความคลาดเคลื่อนเพียง 7 เมตรเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีระบบ เทเลเมดีซีน ที่อยู่ในรถพยาบาลแต่ละคัน ที่รถพยาบาลทุกคันจะต้องติดตั้งจีพีเอส
 
ซึ่งทั้งหมดนี้เรียกว่าระบบปฏิบัติการ  OIS  ที่สามารถเชื่อมต่อกับแพทย์ดำเนินการ โดยแพทย์จะรู้ถึงสัญญาณชีพหรือคลื่นหัวใจของผู้ป่วย แพทย์จะเห็นคนไข้ผ่านกล้อง และระบบสามารถดึงลายพิมพ์นิ้วมือ เพื่อดูข้อมูลด้านสุขภาพของผู้ป่วยซึ่งแพทย์จะนำข้อมูลเหล่านั้นมารักษาผู้ป่วยอย่างทันท่วงทีได้" นพ.ไพโรจน์กล่าว

 


 
ขณะที่ ดร.ณัฐนันท์ ทัดพิทักษ์กุล นักวิจัย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ  กล่าวว่า  ปัจจุบันการรับเรื่องเกี่ยวกับการแพทย์ฉุกเฉินมีการขยายขอบเขตมากขึ้นโดยเฉพาะในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอมริกา การรับเรื่องจะเป็นคีย์เวิร์ด จากเสียงมาเป็นวีดีโอคอลแล้วจึงมากลายเป็นเท็กซ์หรือข้อมูล
 

 

 
 

ที่สำคัญคนพิการหรือหูหนวกตาบอด สามารถเข้าถึงได้อย่างทั่วถึง ไม่เท่านั้นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติก็สามารถเข้าถึงด้วยการแปลภาษาได้อีกด้วย  สำหรับในประเทศไทยสิ่งที่แรกที่เราจะต้องทำคือระบบคอลเซ็นเตอร์ที่เราจะต้องสามารถวีดีโอคอลรวมได้ด้วยรวมทั้งยังคงระบบซัพพอร์ทเพื่อใช้กับระบบเดิมในการเพิ่มประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตามการแจ้งเหตุฉุกเฉินความสำคัญอยู่ที่การทราบพิกัดยกตัวอย่างเช่นในต่างประเทศจะทีระบบ AML หรือการส่งพิกัดทางมือถือแบบอัตโนมัติเพื่อมาช่วยในเรื่องนี้ ยกตัวอย่างกรณีที่มีนักปีนเขาโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือเมื่อโทรมาที่เบอร์ฉุกเฉินแล้วสายได้ถูกตัดหรือขาดการติดต่อไปหากเป็นระบบเดิมก็จะไม่สามารถทราบถึงพิกัดแต่เมื่อมีระบบ AML นี้ขึ้นมาก็จะทำให้ทราบถึงพิกัดแบบอัตโนมัติซึ่งมีประโยชน์เป็นอย่างมาก โดยในประเทศไทยขณะนี้กำลังติดต่อประสานเพื่อพูดคุยกับบริษัท GOOGLE ที่ต่อไปเพียงผู้ขอความช่วยเหลือโทรมาที่เบอร์ 1669 แม้โทรมาแล้วแต่ขาดการติดต่อก็จะทราบถึงพิกัดทันที

 


 
รศ.ดร.อัศนีย์  ก่อตระกูล ผู้อำนวยการศูนย์ความรู้เฉพาะด้านวิศวกรรมความรู้และวิศวกรรมภาษา มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์  กล่าวว่า ปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการจัดเก็บข้อมูลของผู้ป่วยในระบบการแพทย์ฉุกเฉินปัจจุบันนี้เราได้เก็บข้อมูลผ่านกระดาษหรือไม่ เพราะหากเก็บข้อมูลในกระดาษเพียงอย่างเดียวจะทำให้ประสิทธิภาพการแลกเปลี่ยนข้อมูลลดลง จึงถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องเปลี่ยนมาเป็นระบบดิจิตอล
 
ที่ผ่านมาจะเห็นว่าข้อมูลของผู้ป่วยผู้บาดเจ็บจะมีความสำคัญที่สุดถ้าเรามีการเก็บอย่างถูกต้องแม่นยำก็จะทำให้การบริการมีประสิทธิภาพมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่นกรณีของการเกิดสึนามิ การส่งข้อมูลต่างๆ จะมาจากหลายภาคส่วนและส่งมาที่ส่วนกลาง ซึ่งจุดสำคัญคือมีการส่งข้อมูลผ่านกระดาษเป็นส่วนใหญ่ เมื่อข้อมูลมาส่วนกลางจึงทำให้ข้อมูลส่วนใหญ่มักไม่ตรงกันหรือคลาดเคลื่อน การจัดการผ่านระบบคอมพิวเตอร์ที่มีการตรวจสอบความถูกต้องอย่างแม่นยำก็จะช่วยในการให้บริการมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ดร.ธีรวัฒน์  อิสสริยะกุล ผู้จัดการส่วนบริหารความปลอดภัยและมาตรฐานเทคโนโลยีสารสนเทศ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันนี้ระบบเอไอหรือ หุ่นยนต์  จะเข้ามามีบทบาทหลักในการทำงานของทุกภาคส่วน ทุกอย่างกำลังจะเข้าสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งระบบการแพทย์ฉุกเฉินก็สามารถทำได้ โดยเฉพาะขณะนี้หลายประเทศได้มีการเปิดให้ใช้บริการ 5G แล้ว
ซึ่งระบบนี้ จะมีความเสถียรและสามารถรับส่งข้อมูลระดับใหญ่ได้ ต่อไประบบนี้ก็จะมาช่วยแพทย์ทำการผ่าตัดทางไกลได้ ซึ่งประเทศไทยต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 3 ปี ถึงใช้ได้ นอกจากนี้มีความสำคัญที่ต้องพูดถึง ปีที่ผ่านมา ประเทศสิงคโปร์ เคยทำข้อมูลของประชาชน รั่วไหลออกมากว่า 1.5 ล้านคน จนทำให้ ผู้ป่วยได้รับผลกระทบ


 


 


 
นอกจากนี้ต้องระวังเรื่องการปล่อยไวรัสเรียกค่าไถ่ ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา  ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลของผู้ป่วยด้วย เพราะถูกไวรัสเรียกค่าไถ่หรือ  ransom were โดยโรงพยาบาลไม่สามารถนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉิน มารักษายังโรงพยาบาลได้ เพราะข้อมูลถูกโจมตี จนต้องส่งไปยังโรงพยาบาลใกล้เคียง  ส่งผลกระทบมากมาย เรื่องนี้ต้องระวัง
 
นอกจากนี้ยังมีกรณีประเทศเวเนซุเอลา ที่ไฟฟ้าดับทั้งประเทศนาน 1 สัปดาห์ สำหรับผู้ป่วยฉุกเฉิน ถ้าเกิน 24 ชั่วโมง หรือ 48 ชั่วโมง  ก็สามารถทำให้เสียชีวิตได้ เรื่องนี้ต้องระมัดระวัง ดังนั้นจึงมีข้อแนะนำความปลอดภัยในการใช้ "Internet of medical things" ดังนี้ 1.ตั้งรหัสผ่านให้ปลอดภัย 2.หากไม่มีความจำเป็นใช้อินเตอร์เน็ต ก็ให้ปิด ไม่จำเป็นต้องเปิดตลอดเวลา 3.อุปกรณ์ที่เกี่ยวกับระบบการแพทย์ฉุกเฉิน เมื่อเราได้รับเครื่องมาแล้ว ควรตั้งรหัสผ่านให้ทั้งหมด และ 4.ควรจะมีการอัพเดทซอร์ฟแวร์ตลอดเวลา เพื่อป้องกันข้อผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นมาจากระบบเดิมของเครื่องมือช่วยชีวิต
 
ดร.กิตติ วงศ์ถาวรวราวัฒน์  หัวหน้าทีมนวัตกรรมและข้อมูลเพื่อสุขภาพ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ  กล่าวว่า ขณะนี้เราได้นำระบบสื่อสารและสารสนเทศการแพทย์ฉุกเฉิน โดยการใช้ระบบ ITEMS 3 (OIS) Operation Information System ที่ติดตั้งระบบกับศูนย์รับแจ้งเหตุ หน่วยปฏิบัติการโรงพยาบาล และรถปฏิบัติการเพื่อเชื่อมต่อข้อมูลในการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินที่ทำงานแบบ real time มาใช้ออกปฏิบัติในการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินตั้งแต่ต้นทางที่รับส่งผู้ป่วยจนถึงปลายทางในการนำส่งผู้ป่วย โดยเราได้เริ่มทดลองใช้จังหวัดอุบลราชธานี โดยระบบนี้มีความสำคัญอยู่ที่ในขณะที่เรามีการลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง ทีมแพทย์ที่ไม่ได้อยู่บนรถจะสามารถให้คำแนะนำหรือให้การช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินผ่านการ Monitor จากระบบได้ OIS ได้

 


 
นอกจากนี้ระบบนี้ยังสามารถบอกให้ทราบถึงตำแหน่งจุดเกิดเหตุ ชุดปฏิบัติการที่ออกช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินคือชุดอะไร และรถฉุกเฉินกำลังแล่นไปที่ไหน ซึ่งเราจะรู้ถึงข้อมูลทั้งหมด ทั้งนี้เราต้องยอมรับว่าเจ้าหน้าที่ยังมีความคุ้นชินกับระบบอาจจะต้องใช้เวลาสักระยะ หากที่จังหวัดอุบลราชธานีมีความสำเร็จแล้วเราก็จะขยายระบบนี้ไปทั่วประเทศ ทั้งนี้ข้อดีของระบบ OIS จะทำให้แพทย์เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรถและสามารถช่วยในการตัดสินใจเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นพ.เกรียงศักดิ์ ปินตาธรรม  โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์  กล่าวว่า  ในฐานะผู้ใช้งาน EMS ระบบงานส่งต่อระหว่างสถานพยาบาลถือเป็นสิ่งสำคัญ ปัญหาสำคัญก็คือ การจะติดตั้งระบบมอนิเตอร์ ต้องใช้การลงทุนจำนวนมาก ซึ่งระบบนี้จะประสานได้ทั้งศูนย์รับแจ้งเหตุและคนสั่งการ ทำให้รู้ว่ารถพยาบาลที่รับผู้ป่วยอยู่ตรงไหน เป็นต้น  ตรงนี้ถือเป็นประโยชน์อย่างมาก  ที่ผ่านมามีการทดลองใช้ในพื้นที่จังหวัดเชียงรายเช่นกัน แต่การดำเนินการ บุคลากรยังไม่คุ้นชิน คงต้องใช้เวลาสักระยะ

 



 




 



Create Date : 03 มิถุนายน 2562
Last Update : 3 มิถุนายน 2562 15:08:57 น.
Counter : 1073 Pageviews.

5 comment
เครื่องตรวจวัดสุขภาพเบื้องต้น
"ธ.ก.ส."ร่วมสปสช.-สวทช.พัฒนาเครื่องตรวจวัดสุขภาพเบื้องต้น
 
ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกความร่วมมือ การพัฒนาและผลิตเครื่องตรวจวัดสุขภาพเบื้องต้นอัตโนมัติ ตามโครงการรู้เท่าทันเท่ากับการป้องกันโรคไม่ติดต่อเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เฉลิมพระเกียรติ ระหว่าง นายแพทย์ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และนายกษาปณ์ เงินรวง ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคาร เพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

ทั้งนี้เพื่อร่วมมือพัฒนาและผลิตเครื่องตรวจวัดสุขภาพเบื้องต้นอัตโนมัติ เพื่อให้ประชาชนและเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. สามารถเข้าถึงเครื่องวัดได้ด้วยตนเอง และยังเป็นการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์สำหรับการดูแลและเฝ้าระวังสุขภาพของผู้ถูกวัด ตลอดจนสามารถรับฟังข้อมูลการ  แปลผลพร้อมคำแนะนำในการดูแลสุขภาพ โดยจะนำไปติดตั้ง ณ สาขา ธ.ก.ส. กระจายไปยัง 10 จังหวัด ๆ ละ 10 เครื่อง ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี


 



 


















 





 



Create Date : 03 มิถุนายน 2562
Last Update : 3 มิถุนายน 2562 7:57:31 น.
Counter : 750 Pageviews.

2 comment
"กสม.-ก.ล.ต."หนุนบริษัทประกอบธุรกิจไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน
"กสม.-ก.ล.ต."ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือหนุนบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ประกอบธุรกิจไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนตามหลักการชี้แนะฯสหประชาชาติ

สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สำนักงาน กสม.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จัดการสัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่อง "สิทธิมนุษยชน: ปัจจัยขับเคลื่อนความสามารถในการแข่งขันของบริษัทจดทะเบียนไทยสู่ความยั่งยืนตามหลักการชี้แนะเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ (UNGPs)" และจัดพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจและสิทธิมนุษยชนด้วยการนำหลักการชี้แนะฯ ไปปฏิบัติระหว่าง สำนักงาน กสม. และ ก.ล.ต. 

นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวเปิดการสัมมนาและปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ "การขับเคลื่อนหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย" สรุปว่า ภาคธุรกิจเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศ แต่การประกอบธุรกิจยังมีผลกระทบด้านลบต่อผู้คน สิ่งแวดล้อม และมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนที่ซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะการประกอบการของบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่มีผู้ผลิตในห่วงโซ่อุปทานจำนวนมาก สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกได้แสดงให้เห็นว่า การประกอบธุรกิจที่ไม่คำนึงถึงสิทธิและผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของผู้คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้ก่อให้เกิดปัญหาตามมาอย่างมากมาย และในที่สุดปัญหาดังกล่าวจะย้อนกลับมาส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจเอง ทำให้เกิดความเสียหายทางธุรกิจทั้งในแง่การเงินและภาพลักษณ์ทั้งอาจส่งผลเสียต่อประเทศในภาพรวมด้วย ซึ่งไม่อาจนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน


 


 


 
ในปี 2554 สหประชาชาติได้รับรอง "หลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน" (The United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights : UNGPs) อันเป็นการวางกรอบของการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในบริบทของการประกอบธุรกิจไว้ 3 เสาหลัก ได้แก่ (1) เสาหลักในการคุ้มครอง ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐ (2) เสาหลักในการเคารพ ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับภาคธุรกิจ เช่น การเคารพต่อสิทธิแรงงาน และสิทธิของชุมชนในพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนจากการดำเนินธุรกิจ และ (3) เสาหลักในการเยียวยา ซึ่งเป็นความรับผิดชอบทั้งของภาครัฐและภาคธุรกิจร่วมกันสำหรับการขับเคลื่อนหลักการชี้แนะฯ ในประเทศไทย กสม. ได้จัดการสัมมนาเพื่อเผยแพร่และขับเคลื่อนหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติครั้งแรก เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2560

 



 
 

 
โดยจัดให้มีการลงนามในปฏิญญาความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนหลักการชี้แนะฯ ระหว่าง กสม. หน่วยงานของรัฐ ได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงพาณิชย์ และองค์กรภาคธุรกิจ ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็คประเทศไทย โดยมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นสักขีพยาน ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ นับจากนั้น  กสม. ได้จัดกิจกรรมเพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการชี้แนะฯ มาอย่างต่อเนื่อง และได้จัดทำคู่มือประเมินความเสี่ยงและผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน สำหรับธุรกิจเพื่อให้ภาคธุรกิจนำไปปรับใช้กับสถานประกอบการของตนเอง ตลอดจนได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อส่งเสริมความรู้ในการดำเนินธุรกิจที่สอดคล้องกับหลักการชี้แนะฯ ให้กับภาครัฐวิสาหกิจด้วย

"การสัมมนาในวันนี้ ได้ก้าวสู่การดำเนินการเพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชนตามหลักการชี้แนะฯ ของสหประชาชาติให้แก่บริษัทเอกชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ อันจะส่งผลดีทั้งต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทและการพัฒนาประเทศ" นายวัส กล่าว



 


 


 
หลังจากนั้น ได้มีพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจและสิทธิมนุษยชนด้วยการนำหลักการชี้แนะฯ ไปปฏิบัติ ระหว่าง สำนักงาน กสม. กับ ก.ล.ต. โดย นายโสพล จริงจิตร เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นผู้ลงนามในนามสำนักงาน กสม. และ นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล  เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์  เป็นผู้ลงนามในนาม ก.ล.ต. และ นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายวรวิทย์ จำปีรัตน์ ประธานกรรมการในคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และนางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะผู้กำกับดูแลงานด้านสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และประธานคณะทำงานขับเคลื่อนธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาที่ยั่งยืน ร่วมเป็นสักขีพยาน

 



 


 
นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวในการสัมมนาหัวข้อ "แนวโน้มและทิศทางการขับเคลื่อนประเด็นธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนในภาคตลาดทุนไทย" สรุปว่า รูปแบบธุรกิจที่มักมีผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชน ได้แก่ (1) ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อาทิ พลังงาน เหมืองแร่ เขตเศรษฐกิจพิเศษ  โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ  การลงทุนของบริษัทไทยในต่างประเทศ และ (2) ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการใช้แรงงาน  ซึ่งมักประสบปัญหาในการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน

สำหรับแนวโน้มในอนาคต การประกอบธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชนจะได้รับความสำคัญมากขึ้นจากประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ และมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นกติกาของการค้าการลงทุนระหว่างประเทศในอนาคต ขณะนี้สหประชาชาติกำลังพิจารณายกร่างสนธิสัญญาที่จะสร้างพันธกรณีทางกฎหมายสำหรับการประกอบการหรือการลงทุนของธุรกิจในต่างประเทศด้วย


 



 


 
"ในยุคโลกาภิวัฒน์การประกอบธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และไม่แสวงหาประโยชน์โดยมุ่งผลกำไรเพียงอย่างเดียว กลายเป็นมาตรฐานที่ประเทศคู่ค้าหรือร่วมลงทุนกับไทยคาดหวังภาคธุรกิจจึงควรรู้จัก เข้าใจ และนำหลักการชี้แนะฯ ไปปฏิบัติให้เกิดการดำเนินธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชนเพื่อความยั่งยืนขององค์กรและสังคม" นางประกายรัตน์ กล่าว

 





 



Create Date : 02 มิถุนายน 2562
Last Update : 2 มิถุนายน 2562 9:20:35 น.
Counter : 720 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  

สมาชิกหมายเลข 3402302
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



contact >> parwnation@gmail.com
hello welcome
contact =>>parwnation@gmail.com
New Comments