All Blog
"ปศุสัตว์"ขอความร่วมมือปชช.นำสัตว์เลี้ยงฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ตามพระปณิธาน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี โครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ที่มุ่งให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ปลอดจากโรคพิษสุนัขบ้า ไม่มีผู้เสียชีวิตและสัตว์จากโรคพิษสุนัขบ้า

กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการร่วมมือในการควบคุม ป้องกันและกำจัดโรคพิษสุนัขบ้ากับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อย่างเข้มงวดต่อเนื่อง เนื่องจากโรคพิษสุนัขบ้าอันตรายติดต่อได้ทั้งสัตว์และคน เป็นแล้วไม่มีทางรักษา จึงต้องควบคุมและป้องกันการเกิดโรค และขอความร่วมมือผู้เลี้ยงสัตว์ทุกคนเลี้ยงสัตว์อย่างรับผิดชอบ รักไม่ทอดทิ้ง และพาสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) เกิดจากเชื้อไวรัส เป็นโรคอันตรายติดต่อได้ในคนและสัตว์ ถึงแม้จะใช้ชื่อว่าโรคพิษสุนัขบ้า แต่สามารถติดได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เช่น สุนัข แมว โค กระบือ หนู กระรอก กระต่าย ลิง ค้างคาว เป็นต้น ในประเทศไทย สัตว์ที่พบว่ามีการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าสูงสุด คือ สุนัข





 





 
โดยในปี พ.ศ.2564 ข้อมูลจากระบบฐานข้อมูล Thai Rabies Net พบว่า สุนัขพบผลบวกต่อโรคพิษสุนัขบ้าสูงถึง ร้อยละ 86 จากจำนวนสัตว์ที่พบผลบวกทั้งหมด โรคนี้ติดต่อได้จากการสัมผัสกับน้ำลายจากการถูกกัด ข่วน หรือเลียบริเวณที่มีบาดแผล รอยถลอก รอยขีดข่วน หรือถูกเลียบริเวณเยื่อบุตา หรือปาก

นอกจากนี้ การชำแหละซากสัตว์หรือรับประทานผลิตภัณฑ์ดิบจากสัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าก็สามารถติดโรคได้ ซึ่งอาการของโรคที่พบในสัตว์ มี 3 ระยะ ได้แก่ ระยะเริ่มแรก มีอาการประมาณ 2-3 วัน โดยสุนัขจะมีอารมณ์ และอุปนิสัยเปลี่ยนไปจากเดิม เริ่มมีไข้เล็กน้อย ม่านตาขยายกว้างกว่าปกติ กินข้าว กินน้ำ ลดลง ระยะที่ 2 เป็นระยะตื่นเต้น จะเริ่มมีอาการทางระบบประสาท สุนัขจะกระวนกระวาย ตื่นเต้น ไม่อยู่นิ่ง กัดแทะสิ่งของ สิ่งแปลกปลอม กัดทุกสิ่งไม่เลือก โดยไม่แสดงอาการเจ็บปวด เสียงเห่าหอนเปลี่ยนไป ตัวแข็ง บางตัวล้มชัก

ระยะสุดท้าย เป็นระยะอัมพาต สุนัขจะมีคางห้อยตก ลิ้นมีสีแดงคล้ำห้อยออกนอกปาก น้ำลายไหล และไม่สามารถใช้ลิ้นได้ สุนัขบางตัวอาจแสดงอาการขยอกหรือขย้อน คล้ายมีของติดลำคอ ทรงตัวไม่ได้ เริ่มเป็นอัมพาต โดยอาการอัมพาตจะเริ่มจากขาหลัง และตายในที่สุด ซึ่งโดยส่วนใหญ่สัตว์จะตาย ภายใน 10 วันหลังแสดงอาการ นอกจากนี้ พรบ.โรคพิษสุนัขบ้า ยังได้ระบุถึงอาการของโรคพิษสุนัขบ้า ไว้ว่าอาจแสดงอาการได้ทั้งดุร้ายหรือเซื่องซึม

โรคนี้ถ้าติดแล้วไม่มีทางรักษา ต้องควบคุมและป้องกันซึ่งตาม พรบ.โรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2535 ได้กำหนดให้เจ้าของสัตว์ต้องจัดการให้สัตว์เลี้ยงทุกตัว ได้แก่ สุนัข และแมว ได้รับการฉีดวัคซีนจากสัตวแพทย์หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นหนังสือจากสัตวแพทย์หรือผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ ตามกำหนดเวลา โดยให้เริ่มฉีดเข็มแรกที่อายุตั้งแต่ 2 – 4 เดือน จากนั้นกระตุ้นเข็มที่ 2 หลังจากเข็มแรก 1 เดือน และกระตุ้นซ้ำเป็นประจำทุกๆ ปี (ตามกำหนดปีละ 1 ครั้ง)

สำหรับสัตว์กลุ่มอื่นๆ เช่น โค กระบือ สุกร ตามระยะเวลาที่กำหนดในกฎกระทรวงและควรเน้นในการป้องกันการเข้าออกของสัตว์อื่น โดยเฉพาะสุนัข ไปยังคอกเลี้ยงสัตว์นั้นๆ แต่ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าสัตว์ได้รับการฉีควัคซีนแล้ว หากถูกสัตว์สงสัยหรือสัตว์ป่วยด้วยโรคพิษสุนัขบ้ากัดหรือข่วน ก็ควรได้รับการฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าโดยเร็วที่สุดหลังถูกกัด ตามโปรแกรมที่เหมาะสมต่อไปด้วย

สิ่งที่สำคัญที่สุดในการควบคุมและป้องกันโรคนี้คือ เจ้าของควรเลี้ยงสัตว์อย่างรับผิดชอบ ไม่ปล่อยวิ่งในที่สาธารณะ โดยขาดผู้ดูแล และไม่นำสัตว์เลี้ยงไปปล่อยทิ้งให้เป็นปัญหาต่อสังคมในอนาคต และควรระมัดระวังตนเอง โดยการไม่ไปแหย่ แย่ง หยิบ ยุ่งกับสัตว์จรจัด หรือสัตว์ที่ไม่ทราบประวัติวัคซีนแน่ชัด อันจะเป็นความเสี่ยงให้ได้รับโรคพิษสุนัขบ้า





 





 
หากถูกสุนัขหรือแมวที่สงสัยโรคพิษสุนัขบ้ากัด หรือข่วน ให้รีบล้างแผลด้วยสบู่ให้สะอาด ใส่ยาแผล หากเป็นไปได้จับสัตว์สงสัยกักขังไว้ และรีบพบแพทย์ เพื่อรับวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าหลังสัมผัสโดยเร็วที่สุด พร้อมทั้งแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่เพื่อทราบและเร่งดำเนินการตรวจสอบในพื้นที่ภายใน 12 ชั่วโมง

สำหรับประเทศไทยรายงานสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 7 มีนาคม 2565 พบรายงานสัตว์ตรวจพบให้ผลบวกต่อโรคพิษสุนัขบ้าสะสม จำนวน 42 ตัว เฉลี่ยพบผลบวกต่อโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์รายวันเฉลี่ยอยู่ที่ 0.6 ตัว/วัน ส่วนใหญ่เป็นการพบโรคในสุนัข อยู่ที่ร้อยละ 98 ของสัตว์ที่พบผลบวกทั้งหมด และส่วนใหญ่เป็นสุนัขที่ไม่มีและไม่ทราบประวัติการมีเจ้าของ อยู่ที่ร้อยละ 89 ของสุนัขที่พบผลบวกทั้งหมด จังหวัดที่พบการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าสูงสุด คือจังหวัดชลบุรี 29 ตัวอย่าง รองลงมาคือ จังหวัดสมุทรปราการ 3 ตัวอย่าง

ปัจจุบันพบมีรายงานผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าในปี พ.ศ.2565 แล้ว 1 ราย ในพื้นที่อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี โดยพื้นที่ที่พบการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย ในช่วงระยะ 1 เดือนย้อนหลัง และยังอยู่ในระยะของการเฝ้าระวังโรค ได้แก่ ชลบุรี สงขลา สมุทรปราการ อุบลราชธานี และนครสวรรค์ ทั้งนี้ หากประชาชนต้องการข้อมูลหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่เว็บไซต์ สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ และสามารถติดตามสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าได้ที่ //www.thairabies.net




 





 



Create Date : 09 มีนาคม 2565
Last Update : 9 มีนาคม 2565 18:50:04 น.
Counter : 417 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สมาชิกหมายเลข 3402302
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



contact >> parwnation@gmail.com
hello welcome
contact =>>parwnation@gmail.com
New Comments