All Blog
"คูโบต้า"เดินหน้า“เกษตรปลอดการเผา”
"คูโบต้า"เดินหน้า“เกษตรปลอดการเผา”ชูมหาสารคามต้นแบบนำร่องพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน

สยามคูโบต้า ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จังหวัดมหาสารคาม ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือภายใต้โครงการเกษตรปลอดการเผา (Zero Burn) ในจังหวัดมหาสารคาม มุ่งสร้าง “มหาสารคาม มหานครปลอดการเผา” เพื่อช่วยลดปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5  สร้างรายได้เพิ่มหลังการเก็บเกี่ยวจากการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร ภายใต้องค์ความรู้ KUBOTA (Agri) Solutions เกษตรครบวงจร สานต่อการพัฒนาภาคเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน

นายวีรพงศ์ วิรบุตร์ ผู้จัดการภาคอีสานอาวุโส – แทรกเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า “ประเทศไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์ “ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5” ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการดำเนินชีวิตประจำวัน สยามคูโบต้าในฐานะผู้นำด้านเครื่องจักรกลการเกษตรในภูมิภาคอาเซียน ได้เล็งเห็นความสำคัญในการแก้ปัญหาดังกล่าว จึงดำเนินโครงการเกษตรปลอดการเผา (Zero Burn) ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาภาคเกษตรกรรมได้อย่างยั่งยืน”



 



 
ในปีพ.ศ. 2562 สยามคูโบต้า ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและให้ความรู้แก่เกษตรกรร่วมกันกับพันธมิตรทางธุรกิจทั้งภาครัฐและเอกชน จึงเกิดแนวคิดในการจัดตั้ง “โครงการเกษตรปลอดการเผา (Zero Burn)” โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ส่งเสริมให้เกษตรกรทำเกษตรปลอดการเผา เพื่อลดมลพิษที่บางส่วนมาจากการเผาในที่โล่งจากภาคเกษตรกรรม

ตลอดจนสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัสดุเหลือใช้หลังการเก็บเกี่ยว เช่น ฟางข้าว ตอซังข้าว ใบอ้อย และใบข้าวโพด โดยนำนวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร (Machinery Solutions) และองค์ความรู้ด้านการเกษตร (Knowledge Solutions) ภายใต้องค์ความรู้ KUBOTA (Agri) Solutions เกษตรครบวงจรมาประยุกต์ใช้เพื่อจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

โครงการเกษตรปลอดการเผา (Zero Burn) มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้พื้นที่ภาคการเกษตรของไทยกว่า 140 ล้านไร่ ให้ปลอดการเผา 100% ภายในปีพ.ศ. 2565 สยามคูโบต้าจึงมุ่งเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการปลอดการเผาผ่านกิจกรรมรณรงค์และสัมมนาโครงการฯ ในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี เชียงใหม่ และมหาสารคาม พร้อมทั้งลงพื้นที่ส่งเสริมการจัดตั้งจังหวัดปลอดการเผา ในพื้นที่เกษตรเป้าหมาย 5 จังหวัด ได้แก่ มหาสารคาม ชัยนาท อุบลราชธานี ศรีสะเกษ และมุกดาหาร  โดยมีจังหวัดมหาสารคามและชัยนาทเป็นจังหวัดต้นแบบที่พร้อมนำร่องแนวคิดการทำเกษตรปลอดการเผาแบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ   


ในปีนี้ สยามคูโบต้าจึงเดินหน้าสานต่อโครงการฯ ดังกล่าว โดยการร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือโครงการเกษตรปลอดการเผา (Zero Burn) จังหวัดมหาสารคาม ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จังหวัดมหาสารคาม และผู้แทนจำหน่ายคูโบต้า มหาสารคาม เพื่อผลักดันให้เป็นจังหวัดต้นแบบนำร่องแห่งแรกในการขับเคลื่อนโครงการเกษตรปลอดการเผา (Zero Burn) ให้เป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “มหาสารคาม มหานครปลอดการเผา” โดยได้รับเกียรติจาก ว่าที่ร้อยตรี กฤษณพงศ์ ศรีพงษ์พันธุ์กุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีวันนี้

“สยามคูโบต้าร่วมส่งเสริมองค์ความรู้และวิธีการทำการเกษตรปลอดการเผา  พร้อมหาช่องทางการตลาด เพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในจังหวัดมหาสารคามจากการจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยวางแผนสนับสนุนด้านเครื่องจักรกลการเกษตร ด้วยการมอบส่วนลดเครื่องอัดฟางเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่เกษตรเป้าหมาย” นายวีรพงศ์ กล่าว



 



 
นายธัญญวัฒน์ ชาญพินิจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม ประธานในพิธี เปิดเผยว่า “หน่วยงานภาครัฐและเอกชน จังหวัดมหาสารคาม พร้อมร่วมมือกับสยามคูโบต้า ผลักดันนโยบายงดการเผาในพื้นที่การเกษตรของภาครัฐผ่านโครงการเกษตรปลอดการเผา (Zero Burn)  เพื่อแก้ไขปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 ในจังหวัดมหาสารคาม พร้อมทั้งแก้ไขปัญหาการเผาทำลายหน้าดิน มุ่งสู่เป้าหมายในการลดการเผาในพื้นที่การเกษตรของจังหวัดมหาสารคามให้เป็น 0% ภายในปี 2565 พร้อมทั้งยังมุ่งสร้างรายได้เกษตรกรในจังหวัด ด้วยการจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรอย่างยั่งยืน”

สยามคูโบต้ามุ่งมั่นที่จะผลักดันให้แนวคิดการทำเกษตรปลอดการเผาเป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลาย ด้วยการขยายพื้นที่ความร่วมมือโครงการฯ ไปยังทั่วประเทศ เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำความรู้และประสบการณ์ไปปรับใช้และลงมือปฏิบัติจริงกับพื้นที่การเกษตรของตนเอง พร้อมส่งต่อความรู้ไปยังภาคการเกษตรทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมภาคเกษตรกรรมให้เข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป







 



Create Date : 05 สิงหาคม 2563
Last Update : 5 สิงหาคม 2563 18:38:17 น.
Counter : 688 Pageviews.

1 comment
พช.จัดงานศิลปาชีพประทีปไทย รวมสุดยอดงานหัตถศิลป์-สินค้าOTOPกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก
กรมการพัฒนาชุมชน  เตรียมจัดงานศิลปาชีพประทีปไทย OTOP ก้าวไกลด้วยพระบารมี ปี 2563 เฉลิมพระเกียรติ “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง” ตระการตากับผ้าอัตลักษณ์ ผ้าชนะการประกวด พร้อมชมแฟชั่นโชว์ผ้าไทย เลือกซื้อผลิตภัณฑ์หัตถศิลป์อันทรงคุณค่า ฝีมือสุดประณีตจากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ และสุดยอดผลิตภัณฑ์ OTOP ทั่วไทย


 



 
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นประธานแถลงข่าวการจัดงาน “ศิลปาชีพประทีปไทย OTOP ก้าวไกลด้วยพระบารมี” ปี 2563 ภายใต้แนวคิด “สืบสานพระราชปณิธาน รังสรรค์งานศิลปาชีพ ความภาคภูมิใจแห่งแผ่นดิน” โดยมี ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมการพัฒนาชุมชน ร่วมงาน ณ ลานอีเดน ชั้น 3 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์


 



 

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า  เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิม  พระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระราชชนนีพันปีหลวง ครบรอบ 88 พรรษา  และด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณต่อการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาของคนไทย ภายใต้โครงการส่งเสริมศิลปาชีพและมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ อีกทั้งยังมีพระประสงค์เพื่อการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาของคนไทยให้คงอยู่สืบไป ซึ่งต่อมาหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ได้น้อมนำเอาแนวพระราชดำริดังกล่าวไปขยายผลในการพัฒนา และส่งเสริมอาชีพให้กับประชาชนกันอย่างกว้างขวาง


 



 
รวมถึงโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ OTOP ซึ่งเป็นโครงการที่สืบเนื่องมาจากการส่งเสริมอาชีพของพระองค์ท่านเช่นกัน โดยปีนี้กำหนดให้มีพิธีเปิดงานอย่างเป็นทางการ ในวันจันทร์ที่ 10 สิงหาคม 2563 เวลา 15.00 น.  ณ อาคารชาเลนเจอร์ 2 อิมแพ็ค เมืองทองธานี

“ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนทุกท่าน ร่วมน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและเฉลิมพระเกียรติพระองค์ท่านในงานนี้ และขอชวนแฟนพันธุ์แท้ที่ชื่นชอบผลิตภัณฑ์จากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ และผลิตภัณฑ์ OTOP โดยเฉพาะผ้าไทย มาชม ชิม ช้อป และภาคภูมิใจกับผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาไทย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสร้างโอกาส สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้ผู้ผลิตผู้ประกอบการ” อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าว

อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า งานในปีนี้ จัดขึ้นภายใต้รูปแบบชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ตามมาตรการด้านสาธารณสุข เพื่อความปลอดภัยแก่ผู้เข้าชมงานอย่างเข้มข้น สำหรับไฮไลท์กิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย 1) นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระราชชนนีพันปีหลวง  2) การจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ



 



 
3)การจัดแสดงและจำหน่ายผลงานของศิลปิน OTOP 4) การจัดแสดงและจำหน่ายผ้าอัตลักษณ์ เช่น ผ้านาหมี่นศรี จ.ตรัง, ผ้าแพรวา จ.กาฬสินธุ์, ผ้ายกทอง จ.นครศรีธรรมราช, ผ้าแต้มตระกรอ จ.อุทัยธานี, ผ้ากาบบัว จ.อุบลราชธานี, ผ้าจกคูบัว จ.ราชบุรี เป็นต้น 5) การจัดแสดงและจำหน่ายผ้าชนะเลิศการประกวดจากโครงการสืบสานอนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน ซึ่งเป็นโครงการที่กรมการพัฒนาชุมชนร่วมกับสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ รณรงค์ให้คนไทยสวมใส่ผ้าไทย



 



 
6) OTOP Premium เป็นการจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP ที่เข้าร่วมในโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของกรมการพัฒนาชุมชน เช่น ผ้าทออีสานสู่สากล, OTOP แบรนด์เนม      7) OTOP Frist Lady 8) OTOP 3-5 ดาว 9) OTOP ชวนชิม และผัก ผลไม้  นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการแสดง เช่น การเดินแฟชั่นโชว์ผ้าไทย การแสดงศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนกิจกรรมการส่งเสริมการขาย อาทิ สินค้าราคาพิเศษ  พร้อมลุ้นรับโชคสร้อยคอทองคำทุกวัน !!


 




สำหรับการจัดงานในปีนี้ คาดว่าจะมียอดเงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท กรมการพัฒนาชุมชนได้จัดงานในรูปแบบวิถีใหม่ New Normal มีการดำเนินมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เพื่อความปลอดภัยและสร้างความมั่นใจในการมาเที่ยวชมงาน จึงอยากชวนพี่น้องคนไทยมาช่วยกันอุดหนุนและเป็นกำลังใจให้กับผู้ผลิตผู้ประกอบการ เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก และกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้เดินหน้าต่อไป




 
 
 



Create Date : 03 สิงหาคม 2563
Last Update : 3 สิงหาคม 2563 19:05:23 น.
Counter : 608 Pageviews.

0 comment
ธ.ก.ส.สร้างพื้นที่ป่าในประเทศเพิ่มขึ้น 5 แสนไร่
ธ.ก.ส. พร้อมนำเงินจากการออก Green Bond เป็นทุนสนับสนุนสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยสร้างพื้นที่ป่าในประเทศเพิ่มขึ้น 5 แสนไร่ และหนุนการสร้างงานสร้างรายได้ ในระบบเศรษฐกิจชุมชนฐานรากกว่าแสนล้าน

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จัดกิจกรรมปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 68 พรรษา พระบาทสมเด็จ พระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 10



 



 
ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นให้ชุมชนตระหนักถึงคุณค่าของต้นไม้ การมีส่วนร่วมในการสร้างพื้นที่ป่าและดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม โดยมีนายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. ผู้บริหารและพนักงาน ธ.ก.ส. พร้อมด้วยเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมงาน ณ โรงเรียนบ้านบนนา ตำบลช่างเคิ่ง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่

นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในชนบท ควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินโครงการธนาคารต้นไม้สนับสนุนให้เกษตรกรและชุมชนปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง



 



 
โดยมีชุมชนเข้าร่วมโครงการแล้ว 6,844 ชุมชน มีผู้ร่วมปลูกต้นไม้กว่า 130,000 ราย มีต้นไม้ปลูกเพิ่มในประเทศกว่า 1.2 ล้านต้น และเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในเชิงเศรษฐกิจให้กับเกษตรกรผู้ปลูกต้นไม้ มีการแปลงมูลค่าต้นไม้เป็นทรัพย์สิน เพื่อนำมาใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันสินเชื่อ

ถึงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก โดยคำนวณปริมาณการกักเก็บคาร์บอนของต้นไม้ตีเป็นมูลค่า เพื่อช่วยลดปัญหาโลกร้อนและสร้างรายได้ให้กับชุมชน เพื่อสร้างความต่อเนื่องในการสนับสนุนโครงการ ในปี 2563 ธ.ก.ส. ได้ระดมทุนโดยการออกพันธบัตรด้านสิ่งแวดล้อม Green Bond จำนวน 6,000 ล้านบาท จากเป้าหมาย 20,000 ล้านบาท (ในปีบัญชี 2563-2567)



 



 
เพื่อนำมาใช้เป็นทุนสนับสนุนการดำเนินงานโครงการด้านสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้กับคนในชนบท เช่น สินเชื่อปลูกป่าสร้างรายได้ สินเชื่อรักษ์ป่าไม้ไทยยั่งยืน โดยมุ่งสนับสนุนให้ประชาชนหันมาปลูกป่าเพื่อการออม การสร้างมูลค่าเพิ่มจากป่าไม้ในเชิงเศรษฐกิจ การสนับสนุนชุมชนท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ สินเชื่อเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำ

เพื่อให้ประชาชนมีน้ำใช้ในช่วงหน้าแล้ง สินเชื่อ New Gen Hug บ้านเกิด เพื่อกระตุ้นและสนับสนุนให้ทายาทเกษตรกรและคนรุ่นใหม่ ที่มีทักษะความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยี ด้านการตลาดและการจัดการ หันมาร่วมพัฒนาภาคเกษตรกรรม และสินเชื่อ SMAEs ที่มุ่งสนับสนุนผู้ประกอบการในการพัฒนาและยกระดับสินค้าการเกษตร เป็นต้น



 



 
การดำเนินโครงการจะบูรณาการร่วมกับส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ในการดูแลด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น การป้องกันและควบคุมมลพิษ การจัดการ น้ำเสีย การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การอนุรักษ์ ความหลากหลายทางชีวภาพและพลังงานหมุนเวียน เป็นต้น

ทั้งนี้เป้าหมายและประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ คือ ทำให้ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น 500,000 ไร่ มีการปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นกว่า 100 ล้านต้น โดยสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากมูลค่ารวมของต้นไม้ 400,000 ล้านบาท มูลค่าจากการเก็บของป่าขาย 1,130 ล้านบาทต่อปี สามารถกักเก็บคาร์บอนได้ 950,000 ล้านตันต่อปี มูลค่าคาร์บอนเครดิต 95 ล้านบาทต่อปี มูลค่าระบบนิเวศบริการ 89,737 บาทต่อไร่ต่อปี โดยมีเกษตรกรได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 38,000 ครัวเรือน อีกทั้งเกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นกว่า 155,000 ราย







 

 



Create Date : 31 กรกฎาคม 2563
Last Update : 31 กรกฎาคม 2563 17:37:01 น.
Counter : 632 Pageviews.

0 comment
กสร.ผนึกกำลังยกระดับป้องกัน-แก้ปัญหาใช้แรงงานเด็กแบบเลวร้าย
"กสร."ระดมความเห็นขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย จัดทำกรอบการดำเนินการให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน มุ่งพัฒนาและยกระดับการดำเนินการป้องกันและแก้ไขการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ให้หมดสิ้นไปในปี ค.ศ. 2025 

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ถือเป็นหน่วยงานหลักในการรวบรวมข้อมูลการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการใช้ในแรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย



 



 
เพื่อตอบข้อคำถามในรายงานสถานการณ์เด็กเลวร้ายของกระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกา ที่ใช้สำหรับการประเมินผลการดำเนินการในการแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบ  ที่เลวร้ายของประเทศไทยเป็นประจำทุกปี และเพื่อรวบรวมผลการดำเนินการตามนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ภายใต้คณะกรรมการระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี

ที่ผ่านมาการดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้รับร่วมมือจากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง แต่การรวบรวมข้อมูลจากผลการดำเนินการพบว่า ข้อมูลกระจายอยู่ในแต่ละหน่วยงาน ซึ่งบางหน่วยงานอาจไม่ทราบถึงความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน กรมจึงได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อชี้แจงการดำเนินการด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายขึ้น



 



 
โดยได้เชิญผู้แทนหน่วยงานหลักภายใต้คณะกรรมการระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด  ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง และผู้แทนองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ร่วมกันระดม

ความคิดเห็นถึงแนวทางการดำเนินการ การจัดเก็บข้อมูล การคัดกรอง ควบคุมดูแล และส่งเสริมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย รวมไปถึงการดำเนินคดี และกระบวนการยุติธรรม เพื่อจะได้สรุปจัดทำเป็นกรอบการดำเนินการที่ชัดเจน และเป็นไปในแนวทางเดียวกันต่อไป



 



 
การประชุมเชิงปฏิบัติการฯในครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสที่ดีให้หน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องได้มีโอกาสรับทราบข้อมูลปัญหา และคำนิยามที่ถูกต้องชัดเจนเกี่ยวกับแรงงานเด็กในรูปแบบ ที่เลวร้าย รวมทั้งได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ นำเสนอข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ

ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนา และยกระดับการดำเนินการป้องกันและแก้ไขการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายให้ดียิ่งขึ้นไป รวมถึงการร่วมมือ ในการดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Plans: SDGs)ในการขจัดการใช้แรงงานเด็กทุกรูปแบบให้หมดสิ้นไปในปี ค.ศ. 2025







 
 

 



Create Date : 30 กรกฎาคม 2563
Last Update : 30 กรกฎาคม 2563 17:20:36 น.
Counter : 572 Pageviews.

0 comment
"กรมส่งเสริมการเกษตร"จ้างงานเกษตรโครงการฟาร์มตัวอย่าง
กรมส่งเสริมการเกษตร เดินหน้าดำเนินงานระยะ 2 -3 ในโครงการฟาร์มตัวอย่าง ต้านภัยโควิด-19 เตรียมจ้างเหมาบริการงานเกษตร 150 บ./คน/วัน ในฟาร์มตัวอย่าง ฯ 17 จังหวัด รวม 30 ฟาร์ม

 



 
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ศูนย์อำนวยการใหญ่โครงการจิตอาสาพระราชทาน ได้จัดทำโครงการฟาร์มตัวอย่าง ต้านภัยโควิด 19 ขึ้น เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เช่น ตกงาน ขาดรายได้ กลับถิ่นฐานภูมิลำเนา

โดยน้อมนำโครงการฟาร์มตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อช่วยเหลือประชาชนในลักษณะ การจ้างแรงงาน ให้ประชาชนมีรายได้ควบคู่ไปกับการฝึกอบรมองค์ความรู้ต่างๆ ด้านพัฒนาฝีมือแรงงาน และด้านการเกษตร โดยใช้แนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ ดำเนินการใน 17 จังหวัด รวม 30 ฟาร์ม



 



 
นายอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า โครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริ แบ่งการดำเนินการเป็น 3 ระยะ คือ เตรียมพื้นที่ปฏิบัติงาน จำหน่ายแบ่งปันและจัดตั้ง กลุ่มวิสาหกิจเพื่อสังคม และขยายผลสร้างเครือข่าย (พอเพียง)

โดยในระยะแรก กรมส่งเสริมการเกษตร ได้สนับสนุนพืชผักสวนครัวให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการฯ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 รวมทั้งสิ้น 1,104 คน ใน 17 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง สกลนคร นครพนม มุกดาหาร มหาสารคาม บึงกาฬ บุรีรัมย์ อุบลราชธานี อ่างทอง สิงห์บุรี ราชบุรี นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา และพัทลุง



 


 
ขณะนี้เข้าสู่ระยะที่ 2 กรมส่งเสริมการเกษตร เตรียมดำเนินการจ้างเหมาบริการงานเกษตรผู้เข้าร่วมโครงการฯ ในอัตรา 150 บาท/คน/วัน โดยจะเริ่มกิจกรรมตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนกรกฎาคม 2563 เป็นระยะเวลา 45 วัน (ไม่รวมวันเสาร์ อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์) เพื่อเป็นแหล่งอาหารและจ้างแรงงานให้แก่ประชาชนในพื้นที่ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ในพื้นที่โครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริ ใน 17 จังหวัด ยังเป็นแหล่งเรียนรู้งานด้านการเกษตรจนสามารถนำไปประกอบอาชีพสร้าง รายได้ ในอนาคตให้แก่ผู้ที่สนใจได้ ทั้งนี้ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัดในพื้นที่ 17 จังหวัดใกล้บ้านท่าน
ในพื้นที่ 17 จังหวัดใกล้บ้านท่าน





 




 



Create Date : 25 กรกฎาคม 2563
Last Update : 25 กรกฎาคม 2563 16:20:24 น.
Counter : 594 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  

สมาชิกหมายเลข 3402302
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



contact >> parwnation@gmail.com
hello welcome
contact =>>parwnation@gmail.com
New Comments