Group Blog
 
All Blogs
 

บทกวีเพื่อชีวิต

บันทึกจากวรรณคดี

บทกวีเพื่อชีวิต

พ.สมานคุรุกรรม

บทกวีที่จะกล่าวถึงนี้ ไม่ได้หมายถึงบทกวีเพื่อประชาชน ที่เฟื่องฟูอยู่ในประเทศไทย โดยเริ่มตั้งแต่เมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้วมา ทั้งที่เป็นวรรณกรรม และบทเพลง ร้อง ซึ่งยังนิยมกันมาจนถึงบัดนี้ หากแต่หมายถึงบทกวี ที่ปรากฎอยู่ในพงศาวดารจีนเมื่อเกือบสองพันปีก่อน และยังมีชื่อเสียงมาจนถึง ปัจจุบันเช่นเดียวกัน

เมื่อเอ่ยถึงบทกวีเจ็ดก้าวของ โจสิด ท่านผู้อ่านจำนวนมาก ย่อมจะรู้จักเป็นอย่างดี ว่าอยู่ในวรรณคดีอมตะ เรื่อง สามก๊ก ซึ่งมีผู้เรียบเรียงเป็นภาษาไทยอย่างแพร่หลาย มากมายหลายสำนวน

โจสิดเป็นบุตรของโจโฉ ตัวละครเอกในเรื่องสามก๊ก ซึ่งไม่แน่ใจว่า จะเป็นพระเอกหรือผู้ร้าย เพราะผู้เรียบเรียงบางท่านก็ยกย่องว่า เป็นนักปกครองที่ เฉลียวฉลาด เป็นขุนศึกที่มีความสามารถ แต่บางท่านก็ประนามว่าเป็นผู้ที่มีใจโหดเหี้ยม เจ้าเล่ห์เพทุบาย และคดโกง โจโฉเป็นมหาอุปราชของพระเจ้าเหี้ยนเต้ ฮ่องเต้องค์สุดท้ายของราชวงศ์ฮั่น รับราชการมีความชอบมากมาเป็นเวลานาน จึงได้เลื่อนขึ้นเป็น วุยก๋ง และสุดท้ายได้เป็นเจ้าวุยอ๋อง แต่หลังจากนั้นไม่นาน ก็ถึงแก่กรรมด้วยโรคปวดศรีษะเรื้อรัง

โจโฉ มีบุตรชายห้าคน เกิดจากภรรยาคนแรกชื่อ โจงั่ง ซึ่งได้ถึงแก่ความตายในการบที่เมืองอ้วนเซีย และมีบุตรที่เกิดจากภรรยาคนที่สองอีกสี่คน ได้แก่ โจผี โจเจียง โจสิด และโจหิม กับมีบุตรหญิงอีกหนึ่งคน ซึ่งได้ถวายให้เป็นมเหสีของ พระเจ้าเหี้ยนเต้คือ โจเฮา

เมื่อโจโฉถึงแก่กรรม โจผีได้เลื่อนเป็นอ๋อง ในตำแหน่งของบิดาแล้ว โจเจียงซึ่งมีความเก่งกล้าสามารถในการรบทัพจับศึก ก็ยกทหารสิบหมื่นจากเมืองเตียงฮัน มาคำนับพี่ชายและช่วยงานศพบิดา แต่กลัวว่าโจผีจะเข้าใจผิด จึงมอบกองทัพที่ยกมานั้นให้แก่พี่ชาย และได้รับการแต่งตั้งให้ไปเป็นเจ้าเมืองเอียงเหลง

ส่วนโจหิมน้องชายคนเล็กซึ่งอยู่เมืองเซียวหวย ไม่ได้มาในงานศพบิดา โจผีจึงให้นายทหารผู้ใหญ่คุมพลไปจับตัวมาลงอาญา โจหิมกลัวพี่ชายเป็นอันมาก ก็ผูกคอตายเสีย

แต่โจสิดซึ่งอยู่ที่เมืองลิมฉี เมื่อได้ข่าวการตายของน้องชายคนสุดท้องแล้วก็มิได้เกรงกลัว นั่งเสพสุรารออยู่ จนนายทหารที่ถือคำสั่งของโจผีไปถึง ก็ให้ทหารไล่ตี เตลิดเปิดเปิงออกจากเมือง กลับมาแจ้งแก่โจผีที่เมืองเงียบกุ๋น ซึ่งทำให้โจผีโกรธมาก จึงสั่งให้ทหารเอกของบิดาชื่อเคาทู คุมทหารสามพันไปจับตัวเอามาลงโทษให้ได้ เคาทูเป็นผู้มีฝีมือเข้มแข็งไม่มีใครสู้ได้ ก็จับตัวโจสิดพร้อมด้วยบุตรภรรยาและบ่าวไพร่ในเรือน มัดใส่เกวียนเอามาให้โจผี

นางเปียนซีมารดาของโจผีทราบข่าว ก็ร้องไห้เข้าไปหาโจผี อ้อนวอนขอโทษแทนบุตรชายว่า โจหิมก็ตายไปแล้ว เจ้าโจสิดคนนี้มักพอใจเสพสุราและอวดดี ขอให้ไว้ชีวิตมันเพื่อเห็นแก่มารดาเถิด โจผีว่าน้องคนนี้ฉลาดเฉลียวนักตนเองก็รัก ที่จะลงโทษก็หวังจะให้หลาบจำ อย่าได้กระทำความชั่วสืบไป ไม่ถึงกับฆ่าแกงหรอกมารดาอย่าได้วิตกไปเลย

ความจริงโจสิดนั้นเป็นคู่แข่งกับโจผีมา ตั้งแต่ครั้งที่โจโฉผู้บิดา ได้เลื่อนเป็นที่วุยอ๋องใหม่ ๆ แล้วคิดจะตั้งทายาท แต่ยังลังเลใจอยู่ เพราะโจผีเป็นบุตรคนโตมีความสุขุมลึกซึ้ง เวลาไปทัพก็เอาไปด้วย แต่ใจนั้นรักโจสิดมากกว่าเพราะมีสติปัญญาดี ทำโคลงสรรเสริญเกียรติยศบิดา และให้พรต่าง ๆ เป็นอันมาก รวมทั้งโคลงซึ่งประดับไว้ที่ปราสาทเมืองเงียบกุ๋นด้วย จึงปรึกษากับขุนนางทั้งปวงว่า ควรจะตั้งผู้ใดเป็นทายาท กาเซี่ยงที่ปรึกษาก็ว่าขอให้พิเคราะห์ดูอย่าง อ้วนเสี้ยว กับ เล่าเปียว นั้นเถิด

เรื่องก็มีอยู่ว่าอ้วนเสี้ยวเจ้าเมืองกิจิ๋วนั้น มีบุตรชายสามคนคือ อ้วนถำ อ้วนซง และ อ้วนฮี เมื่อใกล้จะตาย นางเล่าซือมารดาของอ้วนซง แอบอ้างแต่งตั้งให้ อ้วนซงเป็นเจ้าเมืองแทนบิดา ครั้นอ้วนเสี้ยวตายไปด้วยความเจ็บไข้ พี่น้องทั้งสามก็ได้แต่แก่งแย่งสมบัติกัน ไม่ช่วยกันรบกับโจโฉ จึงถูกโจโฉฆ่าตายทีละคนจนหมด

ฝ่ายเล่าเปียวเจ้าเมืองเกงจิ๋วนั้นมีบุตรชายสองคนคือ เล่ากี๋ กับ เล่าจ๋อง เล่ากี๋เป็นลูกเมียเก่าจึงถูกส่งไปเป็นเจ้าเมืองกังแฮ เมื่อเล่าเปียวป่วยตาย นางชัวฮูหยินมารดาของเล่าจ๋อง ก็ปลอมหนังสือแต่งตั้งให้เล่าจ๋องเป็นเจ้าเมืองเกงจิ๋วแทนบิดา แล้วก็เกลี้ยกล่อมให้ยอมอ่อนน้อมแก่โจโฉ แต่โจโฉก็ไม่เลี้ยงไว้ เอาไปฆ่าเสียทั้งแม่ทั้งลูก

โจโฉได้ฟังกาเซี่ยงที่ปรึกษาเตือนสติ ก็เห็นด้วยว่า การแต่งตั้งให้น้องเป็นใหญ่กว่าพี่นั้นไม่ถูกต้อง จึงตั้งให้โจผีเป็นทายาทตำแหน่งเจ้าชีจู๊ และได้รับสมบัติสืบทอดจากบิดาในครั้งนี้โดยชอบธรรม

โจผีปลอบใจมารดาแล้ว ก็ออกมานั่งว่าราชการ สั่งให้เอาตัวโจสิดมาชำระ และว่าตามฉบับของท่าน เจ้าพระยาพระคลัง (หน) ว่า

“ ข้ากับเจ้าเป็นพี่น้องร่วมท้องกัน บัดนี้เราได้เป็นเจ้าแทนที่บิดาเราแล้ว ขุนนางผู้ใหญ่ก็เกรงกลัวเรา เหตุใดเจ้าจึงอุกอาจ ไม่เกรงกลัวเราเลย เมื่อบิดายังอยู่ย่อมใช้ให้เจ้าทำโคลงให้ดู เราสงสัยว่าคารมคนอื่นทำให้ ถ้าเจ้าทำได้จริง จงเดินไปเจ็ดก้าว ว่าโคลงให้ได้เนื้อความในพี่น้องเรา ให้เอาเนื้อความอื่นมาเปรียบในพี่น้องเรา อย่าให้ออกชื่อพี่น้อง ถ้าทำได้เราจะยกโทษ ถ้าทำไม่ได้เราจะลงโทษให้ถึงตาย “

โจสิดก็ว่า “ ท่านจงห้ามปากเสียงให้สงบ แล้วคอยฟังเถิด “ แล้วก็ก้าวเดินพลางว่าคำโคลงขึ้นหนึ่งบท ในเวลาที่กำหนด และได้ความสมบูรณ์ลึกซึ้ง เป็นที่ยกย่องมาจนทุกวันนี้ ซึ่งมีความเป็นร้อยแก้วตามสำนวนของท่านเจ้าพระยา ดังนี้

คั่วถั่วเอากิ่งถั่วมาเป็นฟืนใส่ไฟ เมล็ดถั่วในกระทะจะไหม้
ก็เพราะกิ่งถั่ว ต้นรากอันเดียวกันนั่นเอง เหตุใดจึงเร่งไฟเข้าให้หนักนัก

ในสามก๊กฉบับวณิพกของ ยาขอบ ได้คัดโคลงภาษาอังกฤษของ C.H. Brewitt Taylor มา ดังนี้

They were boiling beans on a beanstalk fire;
Came a plaintive voice from the pot,
“Oh! why, since we sprang from the self-same root,
Should you kill me with anger hot?”

ซึ่งในสามก๊กฉบับแปลใหม่ ของ วรรณไว พัธโนทัย ได้เรียบเรียงเป็นกลอน เอาไว้ว่า

เขาต้มถั่วด้วยถั่วเป็นต้นต้น
มันร้อนรนร้องลั่นจากอวยใหญ่
โอ้เกิดหน่อเดียวกันใช่ห่างไกล
เหตุไฉนเข่นฆ่าไม่ปราณี

และในสามก๊กฉบับคลาสสิค ของ วิวัฒน์ ประชาเรืองวิทย์ ก็ได้เรียบเรียงไว้เป็นกาพย์มีความว่า

เถาถั่วเผาต้มถั่ว ร่ำระรัวถั่วในกระทะ
ร่วมรากเกิดแล้วจะ เร่งเผาผลาญกันทำไม

ส่วนสามก๊กฉบับนายแพทย์ ของ หมอพัตร นั้นเรียบเรียงเป็นโคลงดังนี้

คั่วถั่วเอากิ่งนั้น ทำฟืน เผาแฮ
เมล็ดถั่วสุดทนฝืน ป่นไหม้
โอ้เมล็ดกิ่งก้านยืน เหง้าราก เดียวนา
ไฉนจึงรุนเร่งได้ ดั่งเกรี้ยวโทโส

สำนวนสุดท้ายเป็นของ “เล่าเซี่ยงชุน” ผู้เรียบเรียงสามก๊กฉบับลิ่วล้อก็เป็นกลอนแปดเช่นเดียวกัน

เมล็ดถั่วถูกคั่วกะทะใหญ่
กลางเปลวไฟไหม้เชื้อร้อนเหลือหลาย
ทั้งกิ่งก้านรากเถาเผาวอดวาย
โอ้น่าอายแท้จริงเราเหง้าเดียวกัน.

เมื่อโจผีได้ฟังโคลงบทนี้แล้ว ก็ระลึกถึงความรักความผูกพัน ระหว่างพี่น้องได้ จึงต้องหลั่งน้ำตาออกมาด้วยความเสียใจ และยอมอภัยให้แก่น้องชาย แต่ก็จำต้องเนรเทศให้พ้นหูพ้นตา ออกไปเป็นเจ้าเมืองอันเหียง ห่างไกลเสียจากเมืองหลวง

หากไม่ได้บทกวี อันเกิดจากไหวพริบปฏิภาณ และสติปัญญาที่เฉียบแหลมบทนี้ โจสิดก็คงจะสิ้นชีวิตเสียตั้งแต่วันนั้น เป็นแน่แท้.

###########

จาก นิตยสารโล่เงิน
ตุลาคม ๒๕๔๒




 

Create Date : 12 เมษายน 2552    
Last Update : 12 เมษายน 2552 8:39:53 น.
Counter : 1560 Pageviews.  

เล่าเรื่องนามปากกา

บันทึกของคนเดินเท้า

เล่าเรื่องนามปากกา

เทพารักษ์

ผมเริ่มเขียนหนังสือส่งไปตามหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ เมื่ออายุประมาณ ๑๖-๑๗ ปี โดยใช้นามปากกา “เพทาย” จนกระทั่งเรื่องสั้นเรื่องแรก ได้ลงพิมพ์ในนิตยสารโบว์แดง รายปักษ์ เมื่อ ตุลาคม ๒๔๙๑ แล้วก็เขียนเรื่องสั้นต่อมาอีกเป็นระยะเวลาเกือบสิบปี มีเรื่องสั้นได้ลงพิมพ์ในหน้าหนังสือฉบับต่าง ๆ ทั้งรายเดือน รายสัปดาห์ รายวัน และ รายลอตเตอรี่ ประมาณ ๕๐ เรื่อง และนามปากกานี้ ก็มีนามสกุลงอกออกมาเป็น เพทาย ทิพยสุนทร

ต่อมาผมเข้ารับราชการทหาร ตั้งแต่พลทหาร จนเป็นนายสิบ และเลื่อนเป็นนายทหาร ผมก็ทำงานเกี่ยวกับหนังสือมาตลอด จึงได้เขียนเรื่องต่าง ๆ ในนิตยสารประจำหน่วย ต่อไป ทั้งเรื่องสั้น บทกลอน สารคดี และเรื่องขำขัน โดยใช้นามปากกาต่าง ๆ กว่าสิบชื่อ ที่สำคัญเช่น นายพิศดาร พัชรรัตต์ จอจาน , ห่อ ปูเค็ม , ฒูฬญ์ ปภัสสร และ เจียวต้าย

จนถึง พ.ศ.๒๕๑๘ จึงได้เข้าร่วมอยู่ในกองบรรณาธิการ จนถึง พ.ศ.๒๕๓๐ จึงได้เป็น ผู้ช่วยบรรณาธิการ ซึ่งต้องทำหน้าที่ทุกอย่างทุกประการแทน บรรณาธิการ จนถึง พ.ศ.๒๕๓๓ จึงพ้นหน้าที่นั้น และเกษียณอายุราชการเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๕

เมื่อใกล้จะเกษียณอายุ ได้เริ่มนำเอาวรรณคดีอมตะจากพงศาวดารจีนเรื่อง สามก๊ก ฉบับท่าน เจ้าพระยาพระคลัง(หน) มาเรียบเรียงเป็นตอนสั้น ๆ เป็นสามก๊กฉบับลิ่วล้อ โดยใช้นาม ปากกา “เล่าเซี่ยงชุน” ส่งไปลงพิมพ์ในวารสารของทหารเหล่าต่าง ๆ ในกองทัพบก เช่น กองพลทหารราบที่ ๓ กองพลทหารราบที่ ๔ กองพลทหารราบที่ ๙ กองพลทหารม้าที่ ๑ ศูนย์การทหารม้า สระบุรี ศูนย์การทหารปืนใหญ่ ลพบุรี กรมการรักษาดินแดน กรมการสรรพาวุธทหารบก และหน่วยอื่นนอกกองทัพบก รวมแล้วกว่าสิบชื่อ เป็นจำนวนเกือบสองร้อยตอน

ต่อมาจึงได้เขียนเรื่องเกี่ยวกับข่าวคราวที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง ทั้งปัจจุบันและอดีต เป็น บันทึกของคนเดินเท้า โดยใช้นามปากกา “เทพารักษ์”

ถัดมาอีกก็เรียบเรียงวรรณคดีไทย เช่นเรื่องรามเกียรติ์ ขุนช้างขุนแผน และ พระอภัยมณี โดยใช้นามปากกา “ฑ.มณฑา “

พร้อมกันก็เรียบเรียงพงศาวดารสมัยกรุงศรีอยุธยา จากฉบับ พระพนรัตน์ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม โดยใช้นามปากกา “พ.สมานคุรุกรรม”

และยังมีอีกสองนาม คือ “วชิรพักตร์” เขียนเรื่องความหลังเมื่อครั้งยังรับราชการ และ “ประภัสสร” เขียนบทร้อยกรอง และเรื่องที่เกี่ยวกับธรรมะ

สุดท้ายก็คือนามปากกา “เจียวต้าย” ที่เคยเขียนแต่เรื่องขำขัน ก็เอามาใช้เป็นนามสำหรับติดต่ดกับสมาชิกในห้องต่าง ๆ ของ เวปพันทิปดอทคอม อยู่ในปัจจุบัน

และคงจะอยู่จนตราบเท่าที่จะมีแรงคิดและเขียน

แม้เมื่อจำต้องจากไปอย่างไม่กลับมาแล้ว ชื่อข้างต้นนั้นก็คงจะอยู่ในพันทิป ตลอดไป.........

#############




 

Create Date : 10 เมษายน 2552    
Last Update : 10 เมษายน 2552 19:39:08 น.
Counter : 771 Pageviews.  

ชีวิตของบรรณาธิการ

บันทึกของคนเดินเท้า

ชีวิตบรรณาธิการ

เทพารักษ์

นิตยสารทหารสื่อสารได้เริ่มอุบัติขึ้นในวงการหนังสือพิมพ์ของกองทัพบก เป็นปีที่ ๑ ฉบับที่ ๑ เมื่อเดือนเมษายน ๒๔๙๑ เป็นหนังสือราย ๒ เดือน ราคาขายปลีก เล่มละ ๓.๕๐ บาท คิดค่าบำรุงปีละ ๖ เล่ม เป็นเงิน ๑๘ บาทถ้วน

นิตยสารทหารสื่อสารเคยมีบรรณาธิการมาแล้วกว่า ๑๐ คนในระหว่างเวลา ๕๒ ปีที่ผ่านมา ไม่นับคณะอนุกรรมการจัดทำหนังสือที่ระลึก ฉบับพิเศษวันทหารสื่อสาร ซึ่งผมได้รับเกียรติให้เป็นผู้ช่วยบรรณาธิการของท่านที่ ๘ พ.อ.บุญชัย รวยรุ่งเรือง และท่านที่ ๙ พ.อ. ขราวุธ เขมะโยธิน ซึ่งเป็นนักเขียนยอดเยี่ยม ในเรื่องที่เกี่ยวกับวิทยาการอันทันสมัยของ ทหารสื่อสาร ปัจจุบันท่านได้เลื่อนยศเป็นพลตรี และออกไปรับราชการนอกเหล่าทหารสื่อสารแล้ว แต่ก็ยังส่งเรื่องใหม่ ๆ มาให้เหมือนเดิม

บรรณาธิการท่านแรกคือ พ.ท.ชิต อัมพะเตมีย์ เป็นบรรณาธิการอยู่ได้เพียงปีเดียว และไม่พบเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับประวัติของท่านเลย ทั้งส่วนตัวและราชการ สำหรับท่านที่จะกล่าวถึงนี้เป็นท่านที่ ๒ เริ่มรับหน้าที่ในปีที่ ๒ ของ นิตยสารทหารสื่อสาร ในเวลาต่อมาท่านได้เป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียง ของหนังสือพิมพ์ในกองทัพบก และได้เป็นบรรณาธิการ ยุทธโกษ วารสารหลักของกองทัพบก ซึ่งจัดทำโดยกรมยุทธศึกษาทหารบก

แต่ในช่วงแรกของการเป็นบรรณาธิการ นิตยสารทหารสื่อสารนั้น ท่านเล่าไว้ใน หนังสือเล่มที่ ๑ ปีที่ ๑๓ ประจำเดือนมกราคม ๒๕๐๕ หลังจากได้พ้นหน้าที่ไปแล้วเป็นเวลากว่า ๑๐ ปี ว่ามีความลำบากทั้งกายและใจอย่างไร เป็นการเล่าอย่างเปิดอก จึงขอคัดลอกมาให้อ่านกัน ในสมัยที่ห่างจากยุคของท่านมากว่า ๕๐ ปี เพื่อเป็นกำลังใจแก่ท่านที่เป็นผู้จัดทำ และเป็นความรู้สำหรับผู้อ่าน ในยุคปัจจุบันด้วย ท่านเล่าไว้ว่า

.......เริ่มตั้งแต่หนังสือ ทหารสื่อสาร เป็นหนังสือขนาด ๘ หน้ายก ผมก็ไม่มีความรู้เสียแล้ว ส่งหนังสือมาให้เล่มหนึ่งถามว่ากี่ยก ผมก็ตอบไม่ได้ ปก ๒ สีนั้นอย่างไร ๓ สี อย่างไรไม่เข้าใจทั้งนั้น ดัมมี่คืออะไรไม่รู้จัก ไม่เคยทำ ดูอะไร ๆ ก็จะไม่รู้ไม่ทราบไปเสียทั้งนั้น ต้องวิ่งวุ่นไปขอความช่วยเหลือจากท่านที่เคยเป็นบรรณาธิการ และท่านที่เคยทำหนังสือมาแล้ว ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน ให้ช่วยแนะนำและให้ความรู้

ฝ่ายทหารนั้น ในกรมการทหารสื่อสารขณะนี้ก็มีเหลืออยู่คนหนึ่ง คือคุณสุทิน (พ.ท. สุทิน สัมปัตตะวนิช) ได้ช่วยเหลือผมอย่างมาก ผมสังเกตุได้ว่า คนที่เป็นบรรณาธิการนั้น ไม่ว่าทหารหรือพลเรือนมักจะมีอะไรคล้าย ๆ กันอยู่อย่างหนึ่ง คือชอบคุย และไม่ค่อยปิดบังความรู้ พอรู้ว่าผมเป็นบรรณาธิการมือใหม่ ก็ช่วยประคับประคองเต็มที่ไม่มีรังเกียจเลย เวลาผมไปหาก็ ต้อนรับขับสู้ และแนะนำหรือสอนวิชาการทำหนังสือให้เป็นอย่างดีทุกครั้งไป.....

....บรรณาธิการทุกคนย่อมไม่พ้นที่จะต้องไปหาเรื่อง(คือขอเรื่องเขามาลงพิมพ์) ถ้าไม่ขยันไปหาเรื่อง เรื่องก็อาจไม่พอตีพิมพ์ให้เต็มเล่ม จะเขียนเองก็ไม่มีสติปัญญาจะทำได้ทัน และแม้จะมีสติปัญญาเขียนให้เต็มเล่มได้ ก็คงไม่มีใครอ่าน

เรื่องการไปหาเรื่องของผม ได้ผลดีพอสถานประมาณ คือไปหาเรื่องสิบกว่าครั้ง ก็คงได้มาสัก ๒ - ๓ เรื่องไม่เหลวเปล่า นอกจากนั้นผมยังเป็นคนโชคดีอยู่ไม่น้อย คือบางครั้งที่ไปหาเรื่อง ก็ได้มาทั้งเรื่องและทั้ง แประ แต่ส่วนมากไม่ค่อยได้เรื่องได้แต่ แประ

อีกเรื่องหนึ่งก็คือการไปหาแจ้งความ ในสมัยที่ผมเป็นบรรณาธิการนั้น ต้องอาศัยแจ้งความมาช่วยในการทำหนังสืออย่างมาก ผมเองก็อยากได้ค่าแจ้งความมาก ถึงกับครั้งหนึ่งออกไปหาแจ้งความ ที่บริษัทแห่งหนึ่งด้วยตัวเอง พาเพื่อนนายทหารไปด้วยคนหนึ่ง แต่งเครื่องแบบนายพันโก้ไปทั้งสองคน พอไปถึงผู้จัดการกุลีกุจอต้อนรับอย่างดี พอรู้ความประสงค์ว่ามาขอแจ้งความเท่านั้น รู้สึกว่าเข้าแสดงอาการคล้าย ๆ จะเสื่อมความนิยม หรือทำท่าคล้าย ๆ จะเบื่อหน่ายผมขึ้นมาทันที แต่ด้วยมารยาท ผู้จัดการถามผมว่า

"หนังสือพิมพ์ทหารสื่อสารของท่านนี่ พิมพ์คราวละเท่าใด"

ผมตอบไปว่าพิมพ์ครั้งละ ๑,๕๐๐ สองเดือนเล่ม ความจริงเวลานั้นผมพิมพ์ครั้งละ ๖๐๐ เท่านั้น เพราะมีสมาชิกเพียง ๕๐๐ เศษ ๆ แต่ที่ผมต้องพูดเท็จออกไปดังนั้น ก็เพราะมีผู้รู้คนหนึ่งแนะนำว่าเวลาไปหาแจ้งความให้บอกจำนวนพิมพ์มาก ๆ เข้าไว้ บริษัทห้างร้านจึงจะนิยมให้แจ้งความ

ผมบอกแล้วก็เอากำหนดราคาค่าแจ้งความให้ผู้จัดการ ผู้จัดการขอตัวหายออกไปจากห้อง ปล่อยผมไว้กับเพื่อนนายทหาร ให้อยู่กับน้ำเย็น ๒ แก้ว ครู่ใหญ่ ๆ จึงกลับเข้ามาบอกว่า

"ผมเสียใจมากครับ ปีนี้เราไม่มีงบประมาณค่าโฆษณาเหลืออยู่เลย เอาไว้โอกาสหน้าค่อยมาใหม่เถอะครับ"

เอาไว้โอกาสหน้า ค่อยมาใหม่เถอะครับ ฟังดูคล้าย ๆ ไปข้างหน้าเถอะครับ เข้าไปเทียว

ผมทราบดีว่า ที่ผู้จัดการบริษัทบอกว่า เสียใจมากนั้น ไม่ใช่ความจริง เพราะความจริงผู้จัดการคงดีใจมาก ในการที่ผมกับเพื่อนกลับมาเสียได้ ผมสิควรเสียใจอย่างมาก เพราะยอมบาปลงทุนโกหกทั้งที ก็ยังหาได้ค่าแจ้งความสักบาทหนึ่งไม่

ตั้งแต่นั้นมา หัวเด็ดตีนขาด ผมก็ไม่ยอมไปหาแจ้งความที่ไหนอีก และไม่ยอมใช้หรือไหว้วานใครให้ไปหาแจ้งความอีก ตลอดมาจนตราบเท่าทุกวันนี้......

สำหรับเรื่องที่ท่านเขียนขึ้นเป็นเรื่องแรกนั้นได้ลงพิมพ์ใน นิตยสารทหารสื่อสาร เล่ม ๓ ปีที่ ๑ ประมาณเดือนสิงหาคม ๒๔๙๑ ซึ่งได้รับคำชมเชยจากบรรณาธิการคนแรกว่า มีฝีไม้ลายมือคมขำ ชื่อเรื่อง เพื่อนทหาร.....ท่านจนนักหรือ นามปากกา ร.ด.

ซึ่งท่านได้ปลอบใจเพื่อนทหารว่า ความจริงแล้วที่ว่าจนนั้น เรายังมีอีกหลายอย่างหลายสิ่ง ที่เป็นสมบัติของเราอยู่

..........ถ้ามองในแง่ดีก็พอค่อยยังชั่ว เลยลองนึกดูว่าเวลานี้เรามีสมบัติอะไรเหลืออยู่พอเป็นหน้าเป็นตากับเขาบ้าง บังเอิญโชคดียังมีสมบัติเหลืออยู่มากพอใช้

๑. มีลมอากาศหายใจได้โดยไม่ขาดแคลน ไม่ถูกขึ้นราคาไม่จำกัดโควต้า มีจำนวนเพียงพอแก่การที่จะหายใจไปได้อีกนาน จนกว่าเราจะตาย เห็นจริงว่าลมอากาศนี้ราคาแพง หาค่าบ่มิได้จริง ๆ โชคดีอะไรอย่างนี้

๒. มีแสงอาทิตย์ใช้โดยไม่จำกัด จะเลือกเอาอย่างอ่อน ๆ ก็ได้ ในตอนเช้าตรู่รุ่งอรุณ หรือตอนเย็นย่ำใกล้ค่ำ หรือจะเลือกเอาอย่างแรงจนแทบปิ้งปลาสุกก็ได้ ในตอนบ่ายเที่ยง แสงอาทิตย์นี้จึงเป็นสมบัติอันประเสริฐยิ่ง

๓. แม่พระคงคาหาได้ง่าย อาบกินชุ่มชื่นสบาย เมื่อไม่พอพระพิรุณท่านอุตส่าห์ส่งเพิ่มเติมมาให้ อาบก็เย็นดื่มก็ชุ่มอารมณ์ไม่ต้องซื้อหาเหมือนสุราโรงหรือแม่โขง

๔. ความสงบสงัด พอหาได้ไม่ยาก พระท่านว่า ความสงบ ความสงัด เป็นยอดของความสุขอันหนึ่ง เราอยากสุขดังทำนองนั้น ก็เลี่ยงไปตามวัดวาอาราม ตามสวน พอพ้นชุมชนสักหน่อยก็หาได้ นั่งไปคิดอะไรไปสบายดี

๕. มีแสงสว่างจากดวงอาทิตย์ และจากดวงจันทร์ ดูได้ชมได้ไม่มีใครหวงห้าม หรือ เก็บค่าผ่านประตู แสงอาทิตย์อันอุดมด้วยสีหลาก ๆ สี มีไม่ซ้ำกันในวันหนึ่ง เปลี่ยนแปลงแสดงความงาม แข่งขันกันกับแสงจันทร์อันลมุลลมัยนิ่มนวลชวนตา งามกันไปคนละรูป และบังเอิญแท้ เราเป็นคนมีโชคดี มีสายตาทั้งสอง ได้มองเห็นแสงสว่างอันประเสริฐนี้อีกเล่า

๖. การที่เราได้มีเงินรายได้ประจำเดือนอยู่ทุก ๆ เดือนนี้ ก็สำคัญไม่ใช่เล่น เป็นสมบัติที่ไม่นึกว่าจะมีได้ถึง คล้ายกับได้รับมรดกมาเป็นจำนวนไม่น้อย อย่างคนใดได้เงินเดือน ๔๐๐ บาท คิดแล้วเปรียบเทียบดูว่า กว่าจะได้ดอกเบี้ยเดือนละ ๔๐๐ บาทนี้ เราจะต้องมีเงินต้น ถ้าคิดดอกเบี้ยร้อยละ ๑ ต่อเดือน ก็ถึง ๔๐,๐๐๐ บาท เกิดมาโชคดีแท้ ๆ มีเงินต้นถึงสี่หมื่น อันจะทำดอกเบี้ยให้อย่างแน่นอน ไม่บิดพริ้วเหมือนลูกหนี้อื่น ถึงเดือนละ ๔๐๐ บาท

๗. เวลาอีกอย่างหนึ่ง ทั้ง ๆ ที่เป็นเงินเป็นทองถึงอย่างนั้นแล้ว เราก็เรียกเอาเวลามาเป็นของเราได้ วันละ ๒๔ ชั่วโมงไม่แพ้ผู้ใดเลย แล้วเราจะใช้เป็นเวลานอนสักกี่ชั่วโมงก็ได้ ทำงานกี่ชั่วโมงก็ได้ ทอดทิ้งให้เสียไปเปล่ากี่ชั่วโมงก็ได้ เวลาไม่ว่า ทั้ง ๆ ที่เป็นเงินเป็นทอง ใครใช้เวลาอย่างไร เราก็ใช้เวลาได้อย่างนั้น และใช้ได้โดยเสรี เท่าที่ใจเราอยากจะใช้ไปในทางใด

ดังนี้ เพื่อนทหาร ใครจะยังแสดงว่าตนเป็นคนจนอีกหรือ.........

เราคงจะเห็นกันได้อย่างชัดเจนว่า เรื่องแรกในชีวิตการเขียนหนังสือของท่านบรรณาธิการ ท่านที่ ๒ ของ ทหารสื่อสาร เมื่อ ๕๐ ปีก่อนนี้ มีสำนวนที่คมคาย ลึกซึ้ง และเป็นความจริงแท้แน่นอน อยู่จนถึงปัจจุบันนี้อย่างไร และจะเป็นความจริงอยู่อย่างนั้นตลอดไป

ขอบันทึกชื่อเสียง และข้อคิดของท่านไว้ในความจดจำรำลึก ด้วยความเคารพอย่างสูง ท่านผู้นี้คือ พ.อ.พิพิธ แก้วกูร

ท่านถึงแก่กรรมเมื่อ ๑๖ มีนาคม ๒๕๑๔

##########






 

Create Date : 02 เมษายน 2552    
Last Update : 2 เมษายน 2552 19:00:33 น.
Counter : 838 Pageviews.  

ชาวนากับซีซาร์และตั๋งโต๊ะ

บันทึกจากอดีต

ชาวนากับซีซาร์และตั๋งโต๊ะ

พ.สมานคุรุกรรม

การสรรหาตัวนายกรัฐมนตรีมาแทนท่านเดิม ที่ได้ลาออกจากตำแหน่งไป เมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ นั้น เป็นเรื่องที่ควรจะได้บันทึกไว้ ในประวัติศาสตร์การเมืองของไทยอีกเรื่องหนึ่ง เพราะฝ่ายที่ได้เป็นแกนจัดตั้งรัฐบาล คือพรรคประชาธิปัตย์ เดิมได้คะแนนจาก ส.ส.ที่สนับสนุน ๑๙๖ เสียง ฝ่ายตรงข้ามได้ ๑๙๗ เสียง แต่ ส.ส.พรรคประชากรไทย ซึ่งมีเสียงทั้งหมด ๑๘ เสียง และสนับสนุนฝ่ายตรงข้ามนั้น กลับยกพวกมาสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ ๑๒ เสียงเหลืออยู่เพียง ๖ เสียงทั้งหัวหน้าพรรค ทำให้ทางประชาธิปัตย์มีเสียงสนับสนุน ๒๐๘ เสียง ได้เป็นแกนจัดตั้งรัฐบาลขึ้นสำเร็จ เมื่อ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ หัวหน้าพรรคได้เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นสมัยที่ ๒

ทางฝ่ายหัวหน้าพรรคประชากรไทย ซึ่งแตกออกเป็น ๒ เสี่ยงนั้น เมื่อสื่อมวลชนไปถามความรู้สึก ท่านก็ตอบตามแบบของท่านว่า

.....ผมเองนั่งดูสถานการณ์ต่าง ๆ มาตลอด จึงนั่งคิดถึงนิทานอีสปที่ เรียนมาตั้งแต่เด็ก ๆ ไม่น่าเชื่อว่า ๓ พันกว่าปี คนจะคิดนิทานเหล่านี้ไว้คือ เรื่องชาวนากับงูเห่า เป็นเรื่องที่มาเปรียบเปรยกับการเมืองในขณะนี้ได้ นิทานอิสปทำเรื่องนี้ไว้ให้ คุณคิดว่าจริงหรือไม่จริง คุณต้องคิดว่าการเลือกตั้งครั้งที่แล้วเป็นอย่างไรผมเป็นคนอย่างไร และบัดนี้ชาวนาจะทำอย่างไร อีสปยังโชคดีที่เจอตัวเดียว แต่ผมเจอ ๑๒ ตัว.....

นิทานอีสปที่กล่าวถึงนั้น กำเนิดขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.๓๓ และ พระยาเมธาธิบดี ได้นำมาเรียบเรียงเป็นภาษาไทย ใช้เป็นแบบสอนอ่านในชั้นมูลศึกษาของไทยเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๔ เนื้อเรื่องก็มีอยู่ว่า

วันหนึ่งในฤดูหนาว ชาวนาออกไปพบงูเห่านอนตัวแข็งอยู่บนคันนา ด้วยความหนาว ทำให้เป็นเหน็บชาไปทั่วทั้งตัว ชาวนาผู้นั้นนึกสมเพชอยากจะช่วยชีวิตไว้ จึงจับงูอุ้มมา เมื่องูเห่าได้ไอตัวคนอบอุ่นเช่นนั้น ไม่สู้นานนักก็ค่อย ๆ ขยับตัวขึ้นได้ทีละน้อย จนแข็งแรงดีอย่างเดิม แล้วก็เห่าฟ่อ ๆ และกัดชาวนาเข้าที่แขนเป็นแผลลึก พิษร้ายแล่นซึมซาบเข้าไปโดยรวดเร็ว ในไม่ช้าก็ลงนอนตายอยู่ในที่นั้นเอง แต่เมื่อจะขาดใจชาวนาผู้นั้นร้องขึ้นว่า

" ทำคุณแก่สัตว์ร้าย ให้โทษเช่นนี้แลหนอ "

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า วิสัยพาลแล้วย่อมไม่รู้จักที่จะกตัญญูต่อผู้ใด

อีกสำนวนหนึ่งท่านว่า.....ไอ้บรูตุสตัวจริงมันเกิดแล้ว เตรียมจะแทง ผม ผมไม่ใช่ ซีซ่าร์ แต่โชคดีกว่าซีซ่าร์หน่อย ที่มีกระจกหลังส่องดูคนจะแทง เห็นก่อนเลยหลบทัน หรือถ้าคิดว่าผมเป็นชาวนา ถูกงูเห่ากัดตอนจบมันต้องตาย แต่ผมมันบังเอิญรู้ใส่เสื้อวอร์มกันไว้เสียก่อน.....

เรื่อง บรูตุส ทรยศต่อ ซีซาร์ ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ของโรมันนั้น ส่วนใหญ่ก็ทราบเรื่องราวกันเป็นอย่างดีว่า ซีซาร์ต้องตายด้วยฝีมือของบรูตุสลูกเลี้ยงของเขาเอง แต่การที่ท่านหัวหน้าพรรคประชากรไทย บอกว่ารอดจากถูกลอบแทงเพราะมีกระจกหลังนั้น กลับไปเหมือนประวัติศาสตร์ของสามก๊ก เมื่อเกือบสองพันปี เข้าอย่างเหมาะเจาะ เรื่องก็มีอยู่ว่า

ในสมัยที่ ตั๋งโต๊ะ ได้ยึดอำนาจการปกครองถอด หองจูเปียน ออกจากราชบัลลังก์ แล้วยก หองจูเหียบ ขึ้นเป็นพระเจ้าเหี้ยนเต้ และสถาปนาตนเองเป็น อัครมหาเสนาบดี ผู้สำเร็จราชการแทนฮ่องเต้ นั้น ตั๋งโต๊ะมีพฤติกรรมที่โหดร้ายทารุณ จนทำให้ขุนนางทั้งหลายเกลียดชัง แต่ไม่สามารถทำอย่างใดได้ เพราะเกรงฝีมือของ ลิโป้ ทหารเอกซึ่งเป็นลูกเลี้ยงของตั๋งโต๊ะ แต่ โจโฉกลับรับอาสาที่จะไปกำจัดตั๋งโต๊ะเสียให้จงได้ เรื่องก็มีอยู่ในฉบับของ ท่านเจ้าพระยาพระคลัง(หน) ดังนี้

....โจโฉ จึงตอบว่า

" ท่านทั้งปวงเป็นขุนนางมาแต่ก่อน คิดจะทำนุบำรุงแผ่นดิน และจะกำจัดตั๋งโต๊ะเสียครั้งนี้ สิมิได้เล่า ชวนกันมานั่งร้องไห้ ข้าพเจ้าจึงหัวเราะเล่น ซึ่งปู่และบิดาข้าพเจ้าเป็นข้าราช การมาแต่ก่อนนั้น ข้าพเจ้าก็คิดกตัญญูต่อแผ่นดินอยู่ ทำไมแก่ตั๋งโต๊ะนี้ จะฆ่าเสียเมื่อไรก็จะได้ "

อ้องอุ้น จึงว่า

" ที่ตัวว่านี้เรายังไม่เห็นจริง ซึ่งตัวจะคิดฆ่าตั๋งโต๊ะประการใดนั้น จงว่าให้เราประจักษ์ก่อน "

โจโฉจึงตอบว่า

" ซึ่งข้าพเจ้าทำความเพียร ไปฝากตัวให้ตั๋งโต๊ะใช้สอย จนสนิทมากทุกวันนี้ ใช่จะเห็นแก่ลาภสักการสิ่งใดหามิได้ เพราะคิดกตัญญูต่อแผ่นดิน จะคิดฆ่าตั๋งโต๊ะเสียให้จงได้ แต่ขัดสนด้วยอาวุธดีไม่มีถือ ข้าพเจ้ารู้ว่ากระบี่สั้นอย่างดีของท่านมีอยู่ ถ้าท่านเป็นใจด้วยดังนี้แล้ว ข้าพเจ้าจะขอยืมกระบี่สั้นเหน็บซ่อนเข้าไปให้ถึงตัวตั๋งโต๊ะ แล้วจะฆ่าเสียจึงจะตัดเอาศรีษะมาให้ท่านจงได้”

อ้องอุนได้ฟังดังนั้นมีความยินดีนัก จึงลุกขึ้นคุกเข่าคำนับ แล้วรินสุราให้ โจโฉรับเอาจอกสุรามาแล้วจึงสาบานตัวว่า

" ข้าพเจ้าจะขอฆ่าตั๋งโต๊ะเสียให้จงได้ "

อ้องอุ้นมีความยินดี จึงเข้าไปหยิบเอากระบี่สั้น ออกมาให้ โจโฉก็ลาอ้องอุ้นและ ขุนนางทั้งปวงไป

ครั้นเวลารุ่งเช้า โจโฉจึงเอากระบี่สั้นเหน็บซ่อนเข้าในเสื้อ แล้วไป ณ บ้านตั๋งโต๊ะ จึงถามนายประตูว่ามหาอุปราชอยู่ที่ไหน นายประตูบอกว่า มหาอุปราชอยู่ในที่ดูหนังสือ โจโฉก็ขึ้นไปเห็นตั๋งโต๊ะดูหนังสือ ลิโป้นั้นคอยรับใช้อยู่ ตั๋งโต๊ะแลมาเห็นโจโฉก็ถามว่า

" เป็นไฉนวันนี้จึงมาสายไป "

โจโฉบอกว่า

" ม้าซึ่งข้าพเจ้าขี่นั้นป่วยเท้า จัดหาม้าขี่ก็ยังไม่ได้ จึงมาสายไป "

ตั๋งโต๊ะได้ฟังดังนั้นจึงสั่งลิโป้ว่า

" ม้าเขาเอามาให้แต่เมืองซีหลงตัวหนึ่ง จงไปเอาม้ามาให้แก่โจโฉ "

ลิโป้ไปแล้วตั๋งโต๊ะก็นอนลง ผินหน้าเข้าไปดูหนังสือข้างผนังตึก โจโฉเห็นดังนั้นก็ดีใจว่าลิโป้ก็ไปแล้ว ทีนี้เห็นจะสมความคิดกูเป็นมั่นคง จึงชักกระบี่สั้นออก แล้วเดินเข้าไปจะฆ่าตั๋งโต๊ะ ตั๋งโต๊ะแลเห็นเงากระจกซึ่งแขวนอยู่ที่ผนังตึกนั้น จึงตกใจผินหน้าออกมาถามโจโฉว่า

" ถอดกระบี่ถือเข้ามา จะทำร้ายกูหรือ "

พอดีลิโป้ก็มาถึง ฝ่ายโจโฉก็ตกใจเห็นจะมิสมคิด จึงคุกเข่าลง ชูกระบี่ยื่นด้ามเข้าไปให้ตั๋งโต๊ะ แล้วแก้ตัวว่า

" ซึ่งข้าพเจ้าจะทำร้ายท่านหามิได้ ทุกวันนี้ท่านมีคุณแก่ข้าพเจ้านัก ข้าพเจ้าจะหาสิ่งใดมาสนองคุณมิได้ มีแต่กระบี่สั้นเล่มนี้มีราคามากเป็นของปู่ย่าตายายได้ต่อ ๆ กันมา จนถึงข้าพเจ้า จึงเอามาสนองคุณท่าน "

ตั๋งโต๊ะก็เชื่อมิได้สงสัย จึงรับเอากระบี่มาดูเห็นว่าดีจริง จึงส่งให้ลิโป้เก็บไว้...........

แม้ว่าโจโฉจะทำการครั้งนี้ไม่สำเร็จ และหนีรอดไปได้ก็ตาม แต่ต่อมาตั๋งโต๊ะก็ถูกฆ่าตายจนได้ ด้วยน้ำมือของลิโป้ ซึ่งเป็นบุตรเลี้ยงของตน เช่นเดียวกับซีซาร์

นิทานเรื่องนี้ จะสอนให้รู้อะไรบ้างก็มิทราบ เพียงแต่เห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ ได้ไปพ้องพานใกล้เคียงกับอดีต เสียจนท่านหัวหน้าพรรคประชากรไทย ต้องออกปากว่ากล่าว ดังที่ได้นำมาบันทึกไว้

ส่วนในตอนจบของเรื่องนี้ ก็คงจะทราบกันดีแล้วว่า ระหว่างชาวนากับงูเห่าเหล่านั้น ใครตายก่อนกัน.

##########
จาก สุรสิงหนาท วารสารของกองพลทหาราบที่ ๙
มกราคม ๒๕๔๑




 

Create Date : 25 มกราคม 2552    
Last Update : 25 มกราคม 2552 7:10:00 น.
Counter : 561 Pageviews.  

ทหารทำทีวี

ความหลังโคนต้นไทร

ทหารทำทีวี

“ วชิรพักตร์ “

ขณะนั้นเป็นเวลา ๑๗๐๐ เศษ ผมเข็นกล้องถ่ายโทรทัศน์หมายเลข ๒ ในห้องส่งเล็กรูปหกเหลี่ยม ที่ทันสมัยที่สุด เพิ่งสร้างเสร็จมาเมื่อสองปีที่แล้ว เข้าหาข้างฝาด้านหนึ่ง เพื่อจับภาพนาฬิกาซึ่งกำลังเดินผ่านเวลาห้าโมงเย็น เมื่อเฟรมภาพได้พอเหมาะดีแล้วก็ล็อคกล้องไว้

แล้วเข็นกล้องหมายเลข ๑ ไปตั้งตรงหน้าโต๊ะสำหรับโฆษกหรือผู้ประกาศ จะนั่งกล่าวเปิดรายการของสถานีโทรทัศน์แห่งนี้ ขณะนั้นยังไม่มีผู้ใดมานั่ง แต่ก็กะเฟรมภาพให้พอดีกับโต๊ะสี่เหลี่ยมตัวเล็กนั้น แล้วก็ล็อคกล้องไว้เช่นเดียวกัน

กล้องถ่ายโทรทัศน์ที่ว่านี้ มีขนาดกว้างยาวและสูง ขนาดปี๊บน้ำมันก๊าดสองใบเรียงกัน ตั้งอยู่บนขาหยั่งสามขา ปกติจะยาวเกือบเมตร แต่อาจจะยืดออกได้เป็นสองเท่า ตั้งอยู่บนแท่นล้อเลื่อนรูปสามเหลี่ยม มีล้อยางสามล้อ เพื่อให้เคลื่อนที่ได้ในเวลาปฏิบัติงาน

ตัวกล้องมีเล็นส์ถ่ายภาพสี่เล็นส์ ขนาดที่ใช้จับภาพกว้าง ๓๙ มิลลิเมตร และสำหรับจับภาพแคบลงมาคือ ๓ นิ้ว ๔ นิ้ว และ ๕ นิ้ว ขณะนี้กำลังใช้เล็นส์ขนาด ๓ นิ้วทั้งสองกล้อง

ระหว่างนี้ฝ่ายเครื่องส่งโทรทัศน์ ก็เปิดเครื่องแล้วฉายภาพตารางอะไรออกมาอันหนึ่ง มีเส้นตรงเส้นโค้ง และแถบสีขาวเทาดำ ดูเหมือนเขาจะเรียกว่าแพทเทอร์น ส่งออกอากาศล่วงหน้าก่อนเริ่มรายการ สำหรับให้ช่างโทรทัศน์ หมุนปุ่มต่าง ๆ บนหน้าปัทม์เครื่องรับ ปรับภาพให้เรียบร้อยเสียก่อน คือเส้นตรงก็ให้ตรงจริง ๆ ไม่คดงอขยุกขยิก เส้นโค้งวงกลมก็ให้มันกลมแน่ ไม่เป็นรูปไข่หรือบิดเบี้ยว เป็นรูปขนมเปียกปูนหรือสี่เหลี่ยมคางหมู

ฝ่ายเสียงก็ลองระบบเสียงดูบ้างว่าเป็นอย่างไร ครั้งแรกก็ลองเสียงหวีดยาวแสบแก้วหู เขาเรียกว่าอะไรก็จำไม่ได้เสียแล้ว ซึ่งเป็นเสียงที่รบกวนประสาทมาก ถ้าสุนัขได้ยินอาจจะหอนรับก็ได้ พอกะว่าผู้ฟังหูสะอาดดีแล้ว ก็เริ่มเปิดแผ่นเสียงออกอากาศต่อไป บางวันอาจเป็นเพลงคลาสสิคอย่างไพเราะเสนาะโสต บางทีก็เป็นเพลงไลท์มิวสิค ป๊อบปูล่าซองส์ หรือเพลงฮิตประจำสัปดาห์ประจำเดือนประจำปี หรืออาจเป็นเพลงไทยลูกกรุงชานกรุงจนถึงลูกทุ่ง แล้วแต่อารมณ์ หรือว่าที่จริงก็คือตามรสนิยมของเจ้าหน้าที่เสียงในวันนั้น แต่รับรองว่าเพลงไทยแท้ที่เรียกว่าไทยเดิมนั้น ไม่มีให้ฟังเป็นแน่

เมื่อใกล้จะถึงเวลาออกอากาศเปิดสถานี ผู้ประกาศเข้ามานั่งประจำที่บนโต๊ะ แคบ ๆ หน้ากล้อง ๑ นั้นแล้ว ทางฝ่ายแสงในห้องส่งก็เปิดไฟจัดไฟให้ส่องผู้ประกาศ คล้ายกับการจัดแสงในห้องถ่ายภาพนิ่ง ตามร้านถ่ายรูปทั่วไป ด้วยการเอาไม้ลำยาว ๆ เขี่ยให้ดวงโคมหันไปมาตามต้องการ

ในขณะนั้นเจ้าหน้าที่ปรับกล้อง บนห้องควบคุม ก็ปรับภาพที่ได้รับจากห้องส่ง ผ่านเล็นส์ขึ้นไปเข้าเครื่องปรับ ที่เรียกย่อว่า CCU ฟังดูคล้าย ๆ ห้องฉุกเฉินของผู้ป่วยโรคหัวใจ ปรับให้ภาพของผู้ประกาศสวยใกล้ความจริงมากที่สุด แต่แม้โฆษกผู้นั้นจะแต่งหน้าให้งามหยดย้อยเพียงใด แต่งกายด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์ หรือจะเป็นสูทสีอะไร เมื่อถ่ายออกมาเป็นภาพแล้ว ก็จะมีแค่สีขาวกับดำ หรืออาจจะมีสีเทาแทรกอยู่บ้างเท่านั้น แต่ก็พอจะรู้ว่าเธอผู้นั้นสวยมิใช่น้อย ในสมัยนั้นยังใช้ผู้ประกาศเปิดสถานีเพียงคนเดียวเท่านั้น คิดว่าทางสถานีคงจะคัดคนที่สวยที่สุด เท่าที่มีอยู่ มาทำหน้าที่เปิดสถานีก็ได้

เมื่อปรับทางเทคนิคของเครื่องมือ ทั้งภาพแสงเสียงเรียบร้อยแล้ว ก็ฉายสไลด์เป็นภาพทหารกำลังปักธงหรืออะไรประมาณนั้น ฝ่ายเสียงก็เปิดเพลงมาร์ชทหารสื่อสาร ให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการออกอากาศ ได้รับทราบว่าจะเริ่มเปิดสถานีแล้ว

ภายในห้องส่งนี้ มีผู้รับผิดชอบทั้งหมดอยู่นายหนึ่ง เรียกว่าผู้กำกับเวที จะต้องดูแลความเรียบร้อยทุกอย่างทุกประการ ที่จะออกอากาศไปสู่ท่านผู้ชมทางบ้าน เช่นดูหน้าตาโฆษกสาวสวยว่า เขียนคิ้วเท่ากันหรือเปล่า ทรงผมหรือวิกที่สวมมานั้น อยู่กะร่องกะรอยเป็นอันดีแล้วหรือไม่ ป้ายชื่อที่วางอยู่ตรงหน้าได้กึ่งกลาง ไมโครโฟนอันเบ่อเริ่มหัวมู่ทู่ ที่วางแอบอยู่ข้างป้ายชื่อนั้น อย่าให้โผล่ออกมาในกรอบภาพเป็นอันขาด เพราะจะไปข่มบุคลิกภาพของโฆษกอย่างมากทีเดียว ส่วนนาฬิกาของกล้อง ๒ นั้น ต้องกำลังเดินอยู่และต้องแน่ใจว่า ตรงกับเวลามาตรฐานของประเทศไทยอย่างแน่นอนแล้ว ถ้ามีเรื่องอะไรที่ยังไม่ถูกไม่เหมาะ จะติดต่อกับผู้กำกับรายการ ที่อยู่ในห้องควบคุมข้างบน ก็จะพูดผ่านปากพูดหูฟังที่ติดอยู่กับตัวกล้อง เมื่อเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างเรียบร้อย ก็ยกมือขวาขึ้นงอนิ้วหัวแม่มือไปชนกับนิ้วชี้ ให้เป็นวงกลม ชูเข้าไปที่หน้ากล้อง ให้ผู้กำกับรายการเห็น แทนคำว่า O.K. แปลว่าพร้อมแล้ว

ผู้กำกับรายการซึ่งนั่งอยู่ในห้องควบคุม ดูแลเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย เป็นผู้มีอำนาจเต็มในการสั่งอะไรแก่ใครก็ได้ ในการออกอากาศ คำสั่งของเขาจะผ่านไมโครโฟนตรงหน้า กระจายไปยังห้องต่าง ๆ ด้วยเครื่องขยายเสียง และลงมาเข้าหูฟังที่สวมอยู่บนศรีษะของเจ้าหน้าที่กล้อง ในห้องส่ง และต่อสายพิเศษออกมาสำหรับผู้กำกับเวทีด้วย เพราะขณะนั้นวิทยุและโทรศัพท์มือถือ ยังไม่มีใช้กันอย่างแพร่หลายเหมือนปัจจุบัน คำสั่งของเขาเป็นเด็ดขาด ผู้ได้รับคำสั่งจะต้องปฏิบัติตามทันที อย่างรวดเร็วและถูกต้อง ถ้ามีการขัดข้องด้วยประการใด ผู้ปฏิบัติจะต้องรีบรายงานทางเครื่องขยายเสียง หรือปากพูดหูฟังที่ว่า เข้ามายังลำโพงในห้องควบคุม ดังนั้นขณะที่กำลังปฏิบัติงานออกอากาศอยู่ ไม่ว่าใครจะพูดคุยหรือบ่นอะไร หรือด่าใคร ก็จะได้ยินทั่วกันหมดทุกคน

ผู้กำกับรายการนี้ขณะที่ทำหน้าที่ จะต้องใช้ประสาททุกส่วนให้เป็นประโยชน์ คือตาดูผังการจัดรายการในแผ่นกระดาษ และดูภาพที่ปรากฏอยู่บนจอภาพเล็ก ๆ ตรงหน้า ที่มาจากกล้องโทรทัศน์ ซึ่งขณะนั้นทั้งสถานีมีเพียง ๔ กล้อง ตั้งอยู่ที่ห้องส่ง ๒ ยังไม่ใช้งาน ๒ กล้อง และกำลังเตรียมออกอากาศทางห้องส่ง ๑ อีก ๒ กล้องเท่านั้น หูคอยฟังเสียงต่าง ๆ จากผู้ปฏิบัติงานทุกฝ่าย และฟังเสียงที่กำลังส่งออกอากาศด้วย ปากก็สั่งงานที่จะให้ผู้ใด ฝ่ายใด ทำอะไร ในนาทีต่อไป สมองก็ต้องคิดถึงสิ่งที่จะต้องส่งออกไปสู่ประชาชน ทางเครื่องรับตามลำดับในผังรายการ มือทั้งสองคอยควบคุมปุ่มและสวิทช์ต่าง ๆ เพื่อจะตัดภาพจากกล้อง และเครื่องฉายสไลด์ จากห้องต่าง ๆ ให้ถูกต้องตามรายการ คงจะเหลือแต่จมูกเท่านั้น ที่ไม่ต้องใช้งาน เพราะแม้เวลาจะล่วงมาเกือบห้าสิบปีแล้ว โทรทัศน์ก็ยังไม่มีกลิ่น

เมื่อผู้กำกับรายการเห็นว่า ภาพแสงเสียงสไลด์พร้อมแล้ว และนาฬิกาเดินมาถึงเวลา ๑๗๒๘ ซึ่งเป็นเวลาใกล้จะเปิดสถานีได้แล้ว ก็สั่งให้ห้องฉายสไลด์เปลี่ยนภาพทหารเป็น ข้อความคำโคลงพระราชนิพนธ์ สยามานุสติ ฝ่ายเสียงก็เปลี่ยนแผ่นเสียงเป็นเพลงสยามานุสติ ที่ผู้คนทั้งบ้านทั้งเมืองคุ้นหูเป็นอย่างดี เมื่อจบเพลงนี้แล้วสไลด์ก็เปลี่ยนเป็น ภาพกงจักรภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ วางอยู่บนช่อชัยพฤกษ์ อันเป็นเครื่องหมายกองทัพบก ฝ่ายเสียงก็เปิดเพลงมาร์ช กองทัพบก บอกยี่ห้อของสถานี

แล้วผู้กำกับรายการก็โยกสวิทช์ที่เป็นแผงอยู่ตรงหน้า เฟดภาพเครื่องหมายกองทัพบกให้เลือนออก ภาพนาฬิกาจากกล้อง ๒ ก็เข้ามาแทนที่ เข็มวินาทีกำลังเดิน เสียง ติ๊ก ติ๊ก…..พอถึงเวลา ๑๗๓๐ ตรง ภาพนาฬิกาก็เลือนหายไป มีภาพใบหน้าอันสวยสดของผู้ประกาศ จากกล้อง ๑ เข้ามาแทนที่ เธอผู้นั้นเริ่มประกาศรายการของสถานีในวันนั้น เป็นการเริ่มงานประจำวันของสถานีโทรทัศน์ ช่องหนึ่งในจำนวนที่มีอยู่ด้วยกันเพียงสองช่องเท่านั้น

ผมตกใจตื่นขึ้น เมื่อเสียงจากโทรทัศน์ที่ตั้งอยู่ตรงหน้า ดังฟู่ ๆ และมีภาพเกล็ดหิมะปลิวอยู่ทั่วจอภาพ จากสถานีวิทยุโทรทัศน์ช่องหนึ่ง ในหลายช่องที่ยังไม่ได้ออกอากาศ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง

เรื่องราวที่ผมเล่ามาตั้งแต่ต้นนั้น เป็นภาพที่ยังติดค้างอยู่ในอนุสติของผม ทั้ง ๆ ที่เวลาได้ผ่านมากว่า ๔๕ ปีแล้ว เป็นภาพที่เกิดขึ้นจริง ที่ผมร่วมแสดงอยู่ในนั้นด้วย

โฆษกผู้ประกาศเปิดสถานีในขณะนั้นอาจเป็น คุณรำไพ ปรีเปรม หรือ คุณรัศมี ควรพินิจ ฝ่ายฉากน่าจะเป็น คุณอุรีย์ แสงสายัณห์ หรือ คุณวันชัย สุวรรณชฎ ผู้กำกับรายการ คุณบุญส่ง หักฤทธิ์ศึก คุณชูเลิศ บุญยะสุต หรือ คุณธนิต อัญชันบุตร ผู้กำกับเวที คุณวิเศษ วิสานนท์ ห้องฉายสไลด์ คุณบุญเก็บ โอสถจันทร์ ห้องควบคุมเสียง คุณสว่างจิตต์ สิงหเสนี ไมโครโฟน คุณประเสริฐ นพรัตน์ โคมไฟในห้องส่ง คุณชนะชัย ระกิติ ควบคุมแสง คุณวัฒนา กีชานนท์ ห้องควบคุมเท็คนิค คุณสมภาษ จันทรา เจ้าหน้าที่กล้อง คุณสมยศ หิรัญคุปต์ หรือ คุณไพฑูรย์ นิมิปาล และอีกหลายคนที่จำไม่ได้ หรือลืมเลือนไปตามกาลเวลา

หัวหน้าฝ่ายเทคนิคคือ พันเอก การุณ เก่งระดม
ยิง ส่วนหัวหน้าฝ่ายจัดรายการนั้น จำได้แม่นยำและไม่เปลี่ยนแปลง ตลอดเวลากว่ายี่สิบปี ท่านผู้นั้นคือ พันเอก ถาวร ช่วยประสิทธิ์ เมื่อท่านพ้นหน้าที่จากหัวหน้าฝ่ายจัดรายการแล้ว จึงได้เป็นนายพล

แต่ทั้งหมดทั้งที่เอ่ยชื่อ และไม่ได้เอ่ยชื่อ รวมทั้งจำไม่ได้ว่าขณะนั้นมียศชั้นใดนั้น ต่างก็เป็นทหารสื่อสาร จากกรมการทหารสื่อสารทั้งสิ้น ตั้งแต่ผู้อำนวยการจนถึงพลขับรถ และ ภารโรง ทั้งหมดได้เกษียณอายุราชการไปแล้ว และหลายคนก็ได้เกษียณอายุจากโลกนี้ไปแล้วด้วย

สถานีโทรทัศน์แห่งนี้ เป็นสถานีที่ ๒ ของประเทศไทย คือ สถานีโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง ๗ ออกอากาศในระบบ ขาวดำ มีชื่อย่อว่า HS A TV หรือ ททบ. เรื่องที่เล่านี้อยู่ในระหว่าง พ.ศ.๒๕๐๓ หลังจากที่ได้เปิดสถานีมาแล้ว ๒ ปี เป็นสถานีวิทยุโทรทัศน์ ที่ทหารเป็นผู้ดำเนินงานโดยตลอด.

และเป็นต้นกำเนิดของ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง ๕ ระบบสี ใน พ.ศ.๒๕๔๗ ที่มีคำขวัญว่า ช่องห้า นำคุณค่าสู่สังคมไทย และส่งผ่านดาวเทียมออกไปทั่วโลก นี่เองแหละครับ.

#########

หนังสือที่ระลึก วันสถาปนา สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก
มกราคม ๒๕๔๘





 

Create Date : 12 มกราคม 2552    
Last Update : 12 มกราคม 2552 10:06:13 น.
Counter : 2294 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  

เจียวต้าย
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 45 คน [?]




เชิญหารายละเอียดได้ ที่หน้าบ้านชานเรือนครับ
Friends' blogs
[Add เจียวต้าย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.