Group Blog
 
All Blogs
 

รำลึำถึง ยาขอบ (๖)

  รำลึกถึงยาขอบ (๖)


กำเนิด โขติ แพร่พันธุ์


















เรื่องกำเนิดของยาขอบ ซึ่งเล่าโดย ทายาทของ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชุภาพ นี้คัดมาจาก หนังสือ ยาขอบอนุสรณ์ เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๐ ยังไม่จบ โปรดรอตอนต่อไป.




 

Create Date : 30 กันยายน 2558    
Last Update : 30 กันยายน 2558 15:33:41 น.
Counter : 757 Pageviews.  

รำลึกถึงเรือดำน้ำ

บันทึกของคนเดินเท้า

เรื่องของเรือดำน้ำ

เจียวต้าย

เรื่องราวของเรือดำน้ำนั้น ได้รับการกล่าวขวัญถึงกันอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๘ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุที่กองทัพเรือได้มีความประสงค์จะจัดหาเรือดำน้ำ มาเพิ่มเขี้ยวเล็บให้แก่ราชนาวีไทย จำนวน ๒ ลำเท่านั้น แต่มีทั้งผู้ประสงค์ดี และประสงค์ร้าย ตลอดจนผู้ที่รู้น้อยพลอยรำคาญ พากันออกมาให้ความเห็นอย่างมากมายหลายแง่หลายมุม โดยเฉพาะพวกกลุ่มหลัง ที่เห็นว่าประเทศไทยไม่ควรจะมีเรือดำน้ำให้ล้ำหน้าเพื่อนบ้าน ก็จะให้ความเห็นว่าอ่าวไทยนั้นตื้น ดำแล้วอาจจะติดโคลนไม่โผล่ หรือไม่จำเป็นเพราะเราไม่ได้ไปรุกรานใคร หรือว่า เรือดำน้ำที่เคยมีมาแล้ว ก็ไม่เห็นได้ทำอะไร ได้แต่จอดเฉย ๆ จนสนิมแดงอยู่ที่หน้ากรมอู่ เป็นต้น

และไม่ว่ากองทัพเรือในปัจจุบัน จะจัดหาเรือดำน้ำได้สำเร็จหรือไม่ก็ตาม เพราะว่าแม้จะมีเรื่องที่เกี่ยวกับเรือดำน้ำ อย่างชนิดที่มีหลักฐานชัดเจน ลงพิมพ์ในวารสารของทหารเรือ เช่น นาวิกศาสตร์ ของราชนาวิกสภา อยู่อย่างสม่ำเสมอ เกือบจะทุกเดือนกันยายนของทุกปีแล้วก็ตาม บุคคลที่ยังไม่รู้เรื่องราวเกี่ยวกับเรือดำน้ำ ก็คงยังไม่รู้อยู่เช่นเดิม เพราะไม่เคยสนใจจะอ่าน และกลับเชื่อตามความเห็นผิด ๆ นั้น อย่างงมงายต่อไป

เรื่องของเรื่องก็คือว่า ผมมีเพื่อนบ้านเป็นทหารเรือดำน้ำอยู่ถึง ๒ คน ตั้งแต่เมื่อหลายสิบ กว่าปีมาแล้ว ท่านทั้งสองนั้นคือ จ่าโท อุทัย สุนทรสิงห์ และ จ่าโท รัตน์ พุ่มพวง ทั้งคู่เป็นทหารเรือดำน้ำ ท่านแรกประจำเรือหลวงวิรุณ เป็นพรรคนาวินเหล่าปืน ครั้งสุดท้ายมียศเป็นนาวาโท ได้เกษียณอายุ และย้ายภูมิลำเนาไปจากหมู่บ้านของผมนานแล้วด้วย อีกท่านหนึ่งประจำเรือหลวงสินสมุทร เป็นพรรคนาวินเหล่าปืนเช่นกัน ยศครั้งสุดท้ายเรือเอก แต่ได้ลาออกจากราชการเมื่อ อายุได้ ๕๑ ปี จนถึงขณะที่ผมชวนคุยเรื่องเรือดำน้ำ ท่านก็ยังแข็งแรงดีอยู่

ท่านได้เล่าถึงวีรกรรมของเรือหลวงวิรุณ ซึ่งจอดอยู่ที่หน้าท่าราชวรดิษฐ์ ในขณะที่เครื่องบินสัมพันธมิตร บินมาทิ้งร่มบรรจุเวชภัณฑ์ที่ท้องสนามหลวง ในตอนปลายสงครามโลกครั้งที่สอง คราวนั้นมีการสั่งพร้อมรบบนเรือ ทางเครื่องบินขับไล่สองลำตัวที่คุ้มกันเครื่องบินทิ้งร่ม จะคิดอย่างไรไม่ทราบ ได้จิกหัวดิ่งลงยิงกราดด้วยปืนกลมายังเรือดำน้ำที่จอดทอดทุ่นอยู่เป็นคู่ เรือของท่านถูกกระสุนปืนของเครื่องบิน ถากลำกล้องปืนสามนิ้วที่หัวเรือ เป็นรอยบากให้เห็นได้ถนัด

ท่านเล่าว่า นาวาโท อุทัย สุนทรสิงห์ ร.น.เป็นนักเรียนจ่าทหารเรือเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๖ เรียนเพียงปีเดียว สำเร็จออกรับราชการ พ.ศ.๒๔๗๗ ได้รับยศ จ่าตรี เรือเอก รัตน์ พุ่มพวง ร.น.เป็นนักเรียนจ่าทหารเรือเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๗ เรียน ๒ ปีสำเร็จออกรับราชการ พ.ศ.๒๔๗๙ ได้รับยศ จ่าตรี และประจำเรือหลวงรัตนโกสินทร์

ท่านทั้งสองได้ออกเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น ซึ่งกองทัพเรือไทยได้สั่งต่อเรือดำน้ำไว้ ๔ ลำ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๗๙ ระหว่างรอเรือก็ได้ฝึกศึกษากับเรือดำน้ำญี่ปุ่น จนถึง พ.ศ.๒๔๘๑ เรือดำน้ำทั้ง ๔ ลำจึงสำเร็จเรียบร้อย ให้ทหารเรือไทยลงประจำเรือเพื่อฝึกหัดทั้งบนผิวน้ำและใต้น้ำ รวมทั้งการใช้อาวุธ ซึ่งมีตอร์ปิโดในท่อหัวเรือ ๔ ท่อ ขนาด ๔๕ ซ.ม.และอะไหล่อีก ๔ ลูก กับมีปืนขนาด ๓ นิ้วตั้งอยู่บนดาดฟ้าหัวเรือกับปืนกลขนาด ๘ ม.ม.อีก ๑ กระบอกด้วย มีทหารประจำเรือประมาณ ๓๐ คน ความเร็วเรือประมาณ ๑๐ น็อต ดำได้ลึก ๖๐ เมตร ดำได้นานประมาณ ๒๔ ชั่วโมง รัศมีทำการไกล ประมาณ ๔๐๐๐ ไมล์

เรือหมายเลข ๑ ชื่อ มัจฉาณุ เป็นชื่อลูกชายของหนุมาณ กับนางมัจฉาในเรื่องรามเกียรติ์ หมายเลข ๒ วิรุณ ซึ่งมาจากชื่อยักษ์วิรุณจำบังในเรื่องรามเกียรติ์เช่นเดียวกัน หมายเลข ๓ สินสมุทร จากเรื่องพระอภัยมณี หมายเลข ๔ พลายชุมพล จากเรื่องขุนช้างขุนแผน ซึ่งต่างก็เป็น ผู้มีฤทธิ์เดชในเรื่องดำน้ำดำดินทั้งสิ้น

เมื่อฝึกจบแล้วทหารเรือไทยก็ได้นำเรือดำน้ำทั้ง ๔ ลำ เดินทางกลับประเทศไทย โดยแล่นบนผิวน้ำตลอดทางและได้แวะที่ไต้หวันก่อน แล้วจึงมุ่งตรงมายังประเทศไทย

ระหว่าง พ.ศ.๒๔๘๑ - ๒๔๘๓ ทหารเรือดำน้ำทั้ง ๔ ลำ ก็ได้ทำการ ฝึกการเดินเรือทั้งผิวน้ำและใต้นำ และการใช้อาวุธตลอดจนยุทธวิธีของเรือดำน้ำ ซึ่งจะทำการฝึกบริเวณเกาะคราม จังหวัดชลบุรี ถ้าถึงฤดูมรสุมก็ย้ายไปฝึกทางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ตอนเกิดยุทธนาวีที่เกาะช้าง เมื่อ ๑๗ มกราคม ๒๕๘๓ ในสงครามอินโดจีน เรือหลวงสินสมุทรจอดอยู่ที่สัตหีบ พอได้รับโทรเลขทราบข่าวการรบ ก็ได้รับคำสั่งให้ออกเดินทางไปยังเกาะช้าง แต่ต้องใช้เวลาทั้งวัน จึงไปถึงยุทธภูมิเมื่อเวลาเย็น ได้เห็นแต่เรือหลวงธนบุรีเกยตื้นอยู่

แต่หลังจากนั้นก็เคยได้ออกลาดตระเวนทางทิศตะวันออก ไปจนถึงอ่าวเรียมฐานทัพเรือของฝรั่งเศส โดยไม่ได้โผล่ขึ้นมาเหนือน้ำเลย บางครั้งถึง ๑๒ ชั่วโมง ซึ่งนับว่านานที่สุดเท่าที่เคยดำมา แต่ก็ไม่ได้ปฏิบัติการอย่างใด เพราะได้รับคำสั่งว่าญี่ปุ่นเข้ามาไกล่เกลี่ยให้หยุดยิงแล้ว

ขณะที่ทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกในประเทศไทย เมื่อ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ เริ่มสงครามมหาเอเซียบูรพานั้น เรือหลวงสินสมุทรได้จอดอยู่ที่หน้ากรมสรรพาวุธบางนา พอทราบข่าวรัฐบาลไทยก็ตกลงใจ ยินยอมให้กองทัพญี่ปุ่นผ่านประเทศไทยได้แล้ว ตลอดระยะเวลาของสงครามโลกครั้งที่ ๒ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๘๕ - ๒๔๘๘ เรือดำน้ำก็ไม่ได้ออกไปปฏิบัติการในทะเลหลวงเลย คงอยู่ภายในอ่าวไทยเท่านั้น

จนกระทั่งสงครามสงบลง ประเทศญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้สงคราม เรือดำน้ำก็ไม่สามารถจะดำน้ำได้ เพราะแบตเตอรี่หมดอายุใช้งาน โดยปกติเมื่อเรือแล่นบนผิวน้ำ เครื่องยนต์ก็จะอัดประจุไฟฟ้า ลงในหม้อแบตเตอรี่ ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นพิเศษเก็บเอาไว้ ถึงเวลาดำน้ำก็ใช้ไฟฟ้าในแบตเตอรี่นั้น เดินเครื่องยนต์ดีเซล แบตเตอรี่ก็เป็นของญี่ปุ่น ประเทศไทยยังทำเองไม่ได้ และไม่สามารถจะหาซื้อได้จากที่อื่น แม้เมื่อกองทัพไทยได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา ก็ไม่มีการสนับสนุนแบตเตอรี่ ของเรือดำน้ำชนิดนี้อีกด้วย และนี่คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้เรือดำน้ำของราชนาวีไทยทั้ง ๔ ลำ ต้องจอดทอดทุ่น อยู่ที่ท่าราชวรดิษฐ์ตลอดเวลา เพราะแม้จะแล่นบนผิวน้ำได้ แต่ก็ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะเรือยาวเพียง ๕๑ เมตร ใช้บรรทุกอะไรก็ไม่ได้ จึงไม่ได้ใช้งาน จนกระทั่งปลดระวางออกจากประจำการ ประมาณ พ.ศ.๒๔๙๔ แล้วก็จอดอยู่อย่างนั้นต่อไป โดยทาสีกันสนิมไว้อย่างเดียวจนมองดูเหมือนเรือขึ้นสนิม และต่อมาอีกหลายปีจึงได้ขายทอดตลาดเป็นเศษเหล็กไป

แต่มีอยู่ลำหนึ่ง ซึ่งไม่ทราบว่าชื่ออะไร ทางกองทัพเรือได้เก็บ
หอบังคับการเรือ กับปืนประจำเรือ ไปตั้งไว้ที่หน้าพิพิธภัณฑ์ทหารเรือสมุทรปราการ อยู่จนถึงบัดนี้

ส่วนเรือหลวงธนบุรีนั้น ทางกองทัพเรือกู้ขึ้นมา แต่ซ่อมไม่คุ้มค่า จึงยก หอบังคับการและป้อมปืนหน้า ขึ้นไว้บนบก ที่หน้าโรงเรียนนายเรือสมุทรปราการ

เรือเอก รัตน์ พุ่มพวง ร.น.นั้น เมื่อพ้นจากเรือหลวงสินสมุทรแล้ว ก็ได้ไปรับเรือหลวงลิ่วลม จากสหรัฐอเมริกา เมื่อกลับมาก็ได้เลื่อนยศเป็นนายทหารสัญญาบัตร ต่อมาได้ย้ายไปประจำเรือหลวงบางปะกง แล้วจึงได้ขึ้นบกไปรับราชการ ที่ฐานทัพเรือสัตหีบ จนถึง พ.ศ. ๒๕๐๘ ได้รับเงินเดือนเต็มขั้นชั้นยศเรือเอก และมีวันทวีคูณในฐานะนักดำสิบกว่าปี จึงขอลาออกจากราชการเพื่อรับบำนาญ

กองทัพเรือได้กำหนดให้วันที่ ๔ กันยายน เป็น วันเรือดำน้ำ ซึ่งทหารเรือที่เคยประจำการในเรือดำน้ำทั้ง ๔ ลำ ก็ได้มาพบปะสังสรรค์กันเป็นประจำทุกปี จนถึงปัจจุบัน เรือเอก รัตน์ พุ่มพวง ร.น.ก็ไปร่วมงานด้วยทุกครั้งไม่เคยขาด เพิ่งจะเว้นไปตั้งแต่ ๔ กันยายน ๒๕๓๘ เนื่องจากสุขภาพไม่อำนวย ครั้งสุดท้ายก็ยังได้พบกันประมาณ ๓๐ กว่าคน

สุดท้ายท่านได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรือดำน้ำว่า เมื่อครั้งก่อนนั้นกองทัพเรือตั้งใจจะมีกองเรือดำน้ำทั้งกอง แต่ได้เริ่มจัดหามาเพียง ๔ ลำ เพื่อใช้เป็นเรือฝึกก่อน พอดีเกิดสงคราม ปัจจุบันนี้กองทัพเรือก็ควรจะมีเรือดำน้ำอย่างน้อย ๔ ลำเท่าเดิม เพราะเรือดำน้ำไม่ใช่จะเป็นอาวุธในเชิงรุกเท่านั้น แต่ยังสามารถตั้งรับ ป้องกันอ่าวไทยโดยจอดซุ่มอยู่ใต้น้ำที่ไหนก็ได้ ไม่มีใครรู้ตำแหน่งแห่งที่ แต่แม้ว่าจะต้องการเพียง ๒ ลำเท่านั้น ก็ดูเหมือนจะยากเย็นเต็มที มีแต่อุปสรรคขัดขวางตลอดเวลา ท่านอยากจะเห็นเรือดำน้ำในราชนาวีไทยอีกสักครั้ง แต่ก็คงจะไม่สมปรารถนา

เรือเอก รัตน์ พุ่มพวง ร.น. ได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา เมื่อ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๔๖ อายุประมาณ ๘๐ ปีเศษ

และ นาวาโท อุทัย สุนทรสิงห์ นั้นได้ข่าวจาก วารสารนาวิกศาสตร์ ฉบับประจำ เดือน ธันวาคม ๒๕๕๒ ในภายหลัง ว่าท่านได้ถึงแก่กรรมเมื่อ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๕๒ อายุได้ ๙๔ ปี.

########

ถนนนักเขียน ห้องสมุดพันทิป
W3460177
๗ พฤษภาคม ๒๕๔๘





ความภาคภูมิใจในปัจจุบันของ เรือเอก รัตน์ พุ่มพวง ก็คือ ได้มอบบุตรชายไว้ในกองทัพเรือแทนตัวคนหนึ่ง คือ พลเรือตรี สุรศักดิ์ พุ่มพวง ร.น. ผู้บังคับการคนแรกของ เรือหลวงจักรีนฤเบศร ซึ่งเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกของราชนาวีไทย และ สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงกระทำพิธีปล่อยลงน้ำ ณ ประเทศเสปน เมื่อ ๒๐ มกราคม ๒๕๓๙ และได้เดินทางมาถึงฐานทัพเรือสัตหีบ เมื่อ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๔๐
เรือลำนี้นับว่าเป็นเรือรบที่ทรงคุณค่าที่สุด ของกองทัพเรือไทยในปัจจุบัน.
















ข้อมูลจำเพาะ เรือดำน้ำ มัจฉาณุ วิรุณ สินสมุทร พลายชุมพล
บริษัทมิตซูบิชิ ประเทศญี่ปุ่น เป็นผู้สร้าง
ประเภทเรือดำน้ำชายฝั่ง ขนาด ๓๗๐ ตัน (Coastal Submarine)
ปืนใหญ่ประจำเรือ ขนาด ๗๖ ม.ม.๒๕ คาลิเบอร์
ตอร์ปิโดประจำเรือ แบบ ๔๕ ฉ. ใช้ดินระเบิดในหัวรบ ๒๐๐ ก.ก.
ราคาเรือ ๔ ลำ ๓,๒๘๐,๐๐๐ บาท
ตอร์ปิโดลูกละ ๑๑,๒๙๐ บาท
นายทหารเรือ และทหารประจำเรือชุดแรก ออกเดินทางไปญี่ปุ่นเมื่อ ๓๑ พฤษภาคม ๒๔๗๙
เรือคู่แรกคือ มัจฉาณุ และวิรุณ วางกระดูกงูเมื่อ ๖ พฤษภาคม ๒๔๗๙ ปล่อยลงน้ำเมื่อ ๒๔ ธันวาคม ๒๔๗๙ รับมอบเรือเมื่อ ๔ กันยายน ๒๔๘๐
เรือคู่หลังคือ สินสมุทร และพลายชุมพล วางกระดูกงูเมื่อ ๑ ตุลาคม ๒๔๗๙ ปล่อยลงน้ำเมื่อ ๑๔ พฤษภาคม ๒๔๘๐ รับมอบเรือเมื่อ ๒๕ พฤษภาคม ๒๔๘๑
เรือทั้ง ๔ ลำ ในความควบคุมของ เรือเอก ซุ้ย (กนก) นพคุณ ผู้บังคับการเรือหลวงมัจฉานุ นำเรือถึงท่าเรือสัตหีบเมื่อ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๘๑
ทำพิธีขึ้นระวางประจำการเมื่อ ๑๙ กรกฎาคม ๒๔๘๑
ปลดประจำการเมื่อ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๔๙๔
ข้อมูลและภาพประกอบ ได้จากเรื่อง เรือดำน้ำในฝันและเรือดำน้ำจริงของไทย โดย พลเรือเอก ประพัฒน์ จันทวิรัช ร.น. อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ ใน นาวิกศาสตร์ ปีที่ ๗๘ เล่ม ๙ ประจำเดือน กันยายน ๒๕๓๘

##########
จาก นิตยสารโล่เงิน
กันยายน ๒๕๓๙




 

Create Date : 11 กรกฎาคม 2558    
Last Update : 11 กรกฎาคม 2558 14:25:54 น.
Counter : 759 Pageviews.  

เบื้องหลังของเพลงสดุดีมหาราชา

============ก่อนจะมาเป็นเพลง..."สดุดีมหาราชา"============

ขอนำเบื้องลึกเบื้องหลัง มาแปะกระทู้
ให้ได้ดูได้อ่านเรื่องดีๆ ซักเรื่องนะครับ

เรื่องดีๆที่ว่า...เป็นเรื่องของคนที่ทำความดี แต่ไม่ต้องการเอ่ยนาม...

(เมื่อชาติที่แล้วคงชอบปิดทองหลังพระ)

หลายๆท่านในที่นี้...หรือ แม้แต่คนไทยทั้งประเทศ คงรู้จัก
และเคยร้องเพลงนี้กันกระหึ่มก้องฟ้าเมืองไทยกันมาแล้วทุกคน

"สดุดีมหาราชา" ครับ...เพลงนี้ แทบจะกลายเป็นเพลงประจำชาติไปแล้ว

ร้องได้แม้แต่เด็กตัวน้อย ไปจนถึง ชราชน...

ก็เลยอยากจะนำเสนอถึงเบื้องลึก เบื้องหลัง ก่อนจะมาเป็นเพลงนี้
ให้ได้ทราบกัน

บางท่านก็คงได้ทราบกันมาเป็นเลาๆ บ้างแล้ว

ความจริงเรื่องนี้ ผมอยากจะเล่าให้ฟังนานแล้ว แต่เจ้าตัวผู้ริเริ่ม
ผู้ได้รับแรงบรรดาลใจ ให้เกิดมีเพลงนี้ขึ้นมา
เค้าไม่ต้องการที่จะเปิดตัว แสดงออกว่า

ที่เกิดเพลงนี้ขึ้นมา เพราะฉันเอง..!

ส่วนใหญ่คนในวงการภาพยนตร์ที่อยู่เบื้องหลัง มักจะมีความคิดกันแบบนี้

ผมเองในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของผู้ที่อยู่เบื้องหลังในวงการภาพยนตร์ไทย
ก็เลยไม่พูดถึง

อ้าว...พูดถึงเพลง แต่ไปพาดพิงถึงภาพยนตร์...ครับ..

ก็เพราะเพลงนี้เกิดจากเป็นเพลงในภาพยนตร์ไทยเรื่องหนึ่ง เมื่อ พ.ศ.2509

"ลมหนาว"
ภาพยนตร์โดยคุณชรินทร์ นันทนาคร นั่นแหละครับตัวต้นเหตุ

เผอิญวันนี้ เรื่องนี้ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะชน โดยคุณ "ซูม" ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ก็เลยเกิดความคิดขึ้นมา
ว่าควรเผยแผ่ให้เป็นที่รู้กัน โดยทั่วไป

เรื่องราวเหล่านี้คุณ ชรินทร์ นันทนาคร เขียนไว้นานแล้ว ในหนังสือที่ระลึก
ของครู "สมาน กาญจนผลิน" แล้วก็หยุดอยู่เพียงแค่นั้น

เมื่อคุณซูมออกมาเผยแพร่ ผมก็เลยถือโอกาส ก็อปมาขยายต่อซะเลย

ขอบคุณครับคุณซูม..!!

จากคุณ : ~นายเฉิ่มศักดิ์~
เขียนเมื่อ : 21 ส.ค. 54 12:20:26
ถูกใจ : นายเก่าคนก่อน, T-H-F-C



--------------------------------------------------------------------------------

bookmark เก็บเข้าคลังกระทู้ ส่งต่อกระทู้ พิมพ์ หน้าหลัก กระทู้ก่อนหน้า กระทู้ถัดไป








--------------------------------------------------------------------------------

ความคิดเห็นที่ 1

ผม....(ชรินทร์ นันทนาคร) ทราบข่าวการเสียชีวิตของ "น้าหมาน"
(สมาน กาญจนผลิน) จากคุณเพชรา เชาวราษฎร์ทางโทรศัพท์
ขณะทัวร์คอนเสิร์ตอยู่ที่อเมริกา กลับมาก็ได้ไปแสดงความเสียใจต่อบรรดาทายาทของน้าหมาน และได้รับการขอร้องให้เขียนเล่าถึงเบื้องหลังบทเพลงสำคญที่สุด ที่ชื่อ


"สดุดีมหาราชา"

รับปากแล้วลังเลเพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา ผมไม่เคยเอาชื่อของตัวเองเข้าไปผูกพันกับผลงานแต่งเพลง
จนกระทั่งคุณ พูลศรี เจริญพงษ์ ผู้รวบรวมข้อเขียนไว้อาลัยโทรฯ มาบอกว่าให้เขียนเถอะ เพราะความความจริงไม่ใช่เรื่องเสียหาย

ก็ขอย้อนหลังไปเมื่อปี พ.ศ. 2507 ผมมีโอกาสขึ้นไปดูสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ที่บ้านป่าแป๋
ที่มีน้ำพุร้อนสวยที่สุดที่เชียงใหม่ เห็นแม๊วเป๊อะของเต็มกระบุงขึ้นดอยมา
ที่ขอบกระบุงมีธง ภ.ป.ร.ผืนน้อยเสียบอยู่ ถามดูได้ความว่าซื้อมาจากในเมือง อันละ 8 บาท
จะเอาไปติดบูชาที่ประตูบ้านในวันสำคัญ้ของเจ้าพ่อหลวง

ผมมองตามธงผืนนั้นไกลออกไปในระหว่างหุบเขา และจะด้วยอะไรก็ไม่รู้ ผมนึกชื่อขึ้นมาได้ชื่อหนึ่งว่า

"สุดดีมหาราชา"

เก็บชื่อ และคิดว่าจะทำอะไรอยู่ 2 ปีจึงได้ไปพบผู้มีพระคุณท่านหนึ่งซึ่งผมนับถือเสมือน "พ่อ"

ท่านคือ พระยาศรีวิศาลวาจา

กราบเรียนถามท่านว่าถ้าเราจะแต่งเพลงรักและบูชาพระเจ้าอยู่หัว และพระราชินีของเรา โดยใช้ถ้อยคำธรรมดาง่ายๆแบบชาวบ้าน
จะเป็นการมิบังควรหรือเปล่า ท่านบอกเป็นความคิดที่ดีมาก รีบไปทำได้เลย

นักประพันธ์เพลงที่ฝีมือดีมีมากมายในบ้านเรา แต่ผู้ที่จะมาสร้างทำนองเพลงอันสำคัญนี้
คงจะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก "น้าหมาน" หรือคุณสมาน กาญจนผลิน เพราะตลอด 10 ปีที่ผ่าน
เคยบันทึกเสียงเพลงด้วยกันมา ผมทราบดีว่าคนคนนี้ "อัจฉริยะ"

ปัญหาอยู่ที่เนื้อร้อง ผมตรงไปพบ คุณสุรัฐ พุกกะเวส นักประพันธ์เพลงอาวุโส และช่วงนั้น
ท่านเป็นนายกสมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิงด้วย ท่านขอเวลา 2 วัน ถึงเวลาไปรับเนื้อเพลงปรากฏว่ายาวมาก
ถ้อยคำส่วนใหญ่จะเป็นราชาศัพท์ ไม่ตรงกับใจที่หวังไว้ ถึงอย่างไรก็ถือว่าได้เริ่มต้นกันแล้ว

คิดอยู่อีกนานว่าจะทำอย่างไร เผอิญได้พบกับคุณ ชาลี อินทรวิจิตร ในร้านอาหาร "สีทันดร"
ผมระบายความในใจและสิ่งที่อยากจะได้ให้เขาฟัง บอกชื่อเพลงให้เขาไปว่า "สดุดีมหาราชา"

รุ่งขึ้นรับชาลีที่บ้านหลังศาลเจ้าแซ่ซิ้ม ธนบุรี ตี 5 ครึ่งบึ่งไปบ้านน้าหมานในซอยข้างวัดเทพธิดาราม
พอเริ่มแต่งเพลง ชาลีเริ่มเกร็ง เนื้อร้องต้องมาก่อนเอาง่ายๆแบบชาวบ้านแต่ประทับใจ ผมบอก...

ชาลีเถียง ....นั่นแหละยากแล้ว

จากคุณ : ~นายเฉิ่มศักดิ์~
เขียนเมื่อ : 21 ส.ค. 54 12:30:17










ความคิดเห็นที่ 2

ชาลีก็ถามผมขึ้นมาลอยๆว่า....
"เออ ชรินทร์ ถ้าเผอิญในหลวงท่านมาในซอยนี้ แล้วเราไปเจอพระองค์ท่านเราจะทำยังไง"
ผมก็บอกไปว่า "เราคงต้องนั่ง หรือคุกเข่าพนมมือ...ขอเดชะข้าพระพุทธเจ้า....แล้วเรามีอะไรก็กราบบังคมทูลพระองค์ท่าน"

ชาลีรีบเขียนในกระดาษ

....ขอเดชะองค์พระประมุขภูมิพล มิ่งขวัญปวงชนประชาชาติไทย....

เหมือนลมเย็นพัดมาวูบหนึ่ง แล้วก็พาความวิตกกังวลที่สุมอยู่ในหัวใจผมมานานหายไปในพริบตา
ผมดึงเนื้อเพลงบรรทัดนั้นส่งให้น้าหมาน ท่านพรมนิ้วลงบนคีย์เปียโนไล่เสียง ไม่นานเลย
แล้วทำนองเพลงก็หลั่งไหลมา ครั้งเดียวก็ดีเยี่ยม เป็นทำนองที่เราท่านทั้งหลายร้องสดุดีมหาราชาจากวันนั้นถึงวันนี้

ได้บรรทัดแรกมาเราสามคนก็หายจากอาการเกร็ง...ฟ้าดินเป็นใจเราแล้ว
ก็แต่งต่อจนจบท่อน สดุดีมหาราชา...สดุดีมหาราชินี
แล้วชาลีก็พูดขึ้นอีกว่า...ต่อไปนี้เป็นท่อนจบความไพราะทั้งหลายทั้งปวงจะต้องมารวมกันอยู่ที่ตรงนี้....และนี่คือเนื้อเพลง...

...อ่าองค์พระสยมบรมราชันย์ขวัญหล้า...

อ่านบรรทัดที่หนึ่งผมก็นิ่ง ชาลีเขาอ่านสีหน้าผมออกยิ่งกว่าอ่านแบบเรียนเร็ว....ชาลีพูดเสียงดัง...

"กูตามใจมืงมา 8 บรรทัดแล้ว จะแต่งตามใจกูสักบรรทัดไม่เชียวหรือวะ...ชรินทร์"

เออ.... ก็ต้องรีบประนีประนอมขอฟังทำนองจากน้าหมานก่อน ถ้าเพราะก็คงไม่ยาก

น้าหมานอ่านเนื้อแล้วไล่คีย์เปียโน...บอกว่าทำนองจะขาดไป 2 ห้อง ต้องทำสะพานดนตรีลงมารับกับคำร้องท่อนสุดท้าย

...อ่าองค์พระสยม...แล้วท่านก็ดีดให้ฟัง
อีกครั้ง อัจฉริยะชนคนธรรมดาสำแดงฤทธิ์ทางดนตรี ดีดทีเดียวก็ไพเราะจับใจ ท่านผู้อ่านลองร้องดูเถอะครับ...

...อ่าองค์พระสยมบรมราชันย์ขวัญหล้า เปล่งบุญญาสมสง่าบารมี
ผองข้าพระพุทธเจ้า น้อมเกล้าขออัญชุลี สดุดีมหาราชา สดุดี มหาราชินี...

เพลงสดุดีมหาราชาเผยแพร่สู่ประชาชนครั้งแรก โดยบรรจุไว้ในภาพยนตร์เพลงพระราชทาน "ลมหนาว" ที่ผมสร้าง
ฉายที่ศาลาเฉลิมกรุงเมื่อปี 09 เป็นตอนใกล้จบเรื่อง
มีภาพนักโทษการเมือง และพระเอกของเรื่องที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ เนื่องในวันเฉลิมพระชนม์พรรษา
เดินออกจากคุกและพร้อมใจกันก้มกราบระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ

ผู้คนที่เข้ามาดูภาพยนตร์ในรอบแรก ต่างลุกขึ้นยืนถวายความเคารพ คนเฝ้าประตูใหญ่ด้านข้างของเฉลิมกรุงก็เปิดประตู

ผู้คนเข้าใจว่าภาพยนตร์จบแล้ว ต่างก็กรูกันออกไปเต็มถนนเจริญกรุง

ไม่นานก็ได้เรื่อง

ตำรวจพาตัวผมไปที่โรงพักพระราชวังเพราะมีคนไปแจ้งความว่าผมเอาเพลงอะไรก็ไม่รู้มาเปิดแทนเพลงสรรเสริญพระบารมี

จากคุณ : ~นายเฉิ่มศักดิ์~
เขียนเมื่อ : 21 ส.ค. 54 12:39:15










ความคิดเห็นที่ 3

อธิบายให้ตำรวจฟังยังไงก็ไม่เข้าใจ ทางโรงก็ไม่กล้าฉายหนัง ผมก็ต้องโทรถึงที่พึ่งของผม

พักใหญ่ที่พึ่งของผมท่านก็มา ตำรวจตั้งแถวกันพรึบพรับทั่วทั้งโรงพักและทุกอย่างก็จบลงด้วยรอยยิ้มและความเข้าใจ

ภาพยนตร์ก็ฉายได้ตามปกติ

จากวันนั้นถึงวันนี้ เพลง "สดุดีมหาราชา" ได้กลายเป็นเพลงของประชาชนคนไทยทั้งประเทศไปแล้ว
ถ้าสวรรค์มีจริง อัจฉริยะชนคนธรรมดา และเป็นคนดีที่พร้อมอย่างน้าหมาน ท่านคงยิ้มอย่างเป็นสุขอยู่บนนั้น.




ครับ...เป็นบันทึกเรื่องราวที่เขียนโดย
คุณชรินทร์ นันทนาคร


ต้นเหตุ...ก่อนจะเป็นเพลง..."สดุดีมหาราชา"


ผมเพียงนำมาเล่าสู่กันฟัง...!!

จากคุณ : ~นายเฉิ่มศักดิ์~
เขียนเมื่อ : 21 ส.ค. 54 12:42:48




 

Create Date : 02 กรกฎาคม 2558    
Last Update : 2 กรกฎาคม 2558 8:18:28 น.
Counter : 660 Pageviews.  

คนรักรถไฟ

บันทึกของคนเดินเท้า

คนรักรถไฟ

เทพารักษ์

ผมเป็นคนชอบโดยสารรถไฟมาตั้งแต่ยังหนุ่มแน่น เริ่มเดินทางด้วยรถไฟไปท่องเที่ยวต่างจังหวัด ซึ่งสมัยนั้นเรียกว่าทัศนาจร เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๒ ถึงจังหวัดเชียงใหม่ และน้ำตก แม่กลาง กับเพื่อนอีกสองคน คือ นายออดกับนายผี แล้วก็ไป มหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร กับสมุทรสงคราม ด้วยรถไฟสายแม่กลอง กับนายออด นายแมวและนายหงอก

ต่อมาก็ไปบางปะอิน อยุธยาพิษณุโลก กับเพื่อนหน้าเดิม ๆ ไปสะพานข้ามแม่น้ำแคว จังหวัดกาญจนบุรี ด้วยรถไฟสาย ธนบุรี น้ำตก อีกครั้งหนึ่ง เลยไปน้ำตกไทรโยคน้อย ด้วยรถไฟสายเดิม

และเมื่อเวลาล่วงเลยจากครั้งแรกได้ประมาณ ๑๐ ปี ก็ได้กลับไปเยือน ห้วยแก้วจังหวัดเชียงใหม่ อีกครั้งหนึ่ง

สมัยนั้นไปด้วยรถไฟชั้นสามเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นกลางวันหรือกลางคืน เพราะมีเพื่อนร่วมขบวนร่วมทางมากมาย นั่งบ้างนอนบ้างยืนบ้าง คึกคักครึกครื้นดี เพราะยังแข็งแรงถึงไหนถึงกัน

ต่อมาหลังเกษียณอายุราชการแล้ว ไปกับครอบครัวหรือเพื่อนอาวุโสด้วยกัน ก็มักจะไปกลางคืนโดยรถนอนโท บางทีก็ปรับอากาศด้วย เพราะต้องการความสบาย จังหวัดไหนที่มีรถไฟผ่านจะต้องไปกลับโดยรถไฟ รถนอนนั้น มีเก้าอี้นั่งข้างหน้าต่างซ้ายขวาข้างละสองคน เมื่อถึงเวลานอนคนหนึ่งจะต้องนอนเตียงบนและอีกคนหนึ่งต้องนอนเตียงล่าง ด้วยราคาที่แพงกว่าข้างบน ซึ่งต้องปีนบันไดขึ้นไป และทุกเที่ยวผมจะต้องจอง เตียงนอนชั้นบน ที่ใคร ๆ เขาไม่ชอบ ซึ่งจะจองได้ง่ายกว่าเตียงล่าง

จนเมื่อ เดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๗ เพื่อนคนหนึ่งที่สนิทกันมาก ซึ่งไม่ใช่เพื่อนเมื่อหนุ่ม แต่เป็นนักเรียนวัดรุ่นเดียวกัน มาคบกันเมื่อเข้าวัยกลางคนแล้ว ชื่อค่อนข้างจะเรียกยากคือ นายเฉวียน ชวนไปเยี่ยมญาติที่เชียงใหม่อีกครั้งหนึ่ง นัยว่าเป็นพี่ชายของลูกสะใภ้คนโต แต่อายุใกล้เคียงกันคือวัยใกล้เกษียณราชการ แม้จะอายุน้อยกว่าเราทั้งสองร่วม ๑๐ ปี

ครั้งนั้นเราไปรถด่วนสายเหนือ ชั้นนอนโทปรับอากาศ ผมนอนเตียงบนตามอัธยาศัย ส่วนเพื่อนนอนเตียงล่าง รถไฟออกจากหัวลำโพงประมาณทุ่มครึ่ง เราขึ้นที่สถานีสามเสนโดยนั่งรออยู่ที่ร้าน อาหารตามสั่งหลังสถานี จนหมดเหล้าไทยเหรียญทองไปครึ่งแบน กับเบียร์ตัวใหญ่หนึ่งขวด พอได้ขึ้นรถและหาที่นั่งเรียบร้อยแล้ว ก็บรรเลงต่อ เพื่อนของผมคนนี้เป็นคนมีมนุษยสัมพันธ์ดีมาก ระหว่างเวลาตั้งแต่สองทุ่มไปจนถึงเวลากางเก้าอี้ให้เป็นเตียงนอน เขาก็ผูกมิตรสัมพันธ์กับทุกคนที่เดินผ่านมา ทั้งนายตรวจตั๋ว ตำรวจรถไฟ พนักงานปูเตียง จนถึงพนักงานรถเสบียงทั้งชายหญิง เมื่อเขาปูที่นอนมาถึงเตียงผม ซึ่งอยู่ข้างบน เจ้าหน้าที่เขาก็ดึงหิ้งลงมาจากเพดานรถ กลายเป็นเตียงนอน และเครื่องนอนสองชุด สำหรับปูทั้งเตียงบนเตียงล่าง ส่วนด้านล่างเขาก็ดึงม้านั่งและพนักพิงทั้งคู่ให้เข้ามาต่อกัน ก็วางที่นอนลงไปพอดี

เมื่อเขาจัดการเรื่องนี้เสร็จ เพื่อนก็ขอบคุณ และให้รางวัลเจ้าหน้าที่ไปตามสมควร เช่นเดียวกับพนักงานรถเสบียงที่ได้รับไปหลายคนแล้ว ผมก็กำจัดน้ำเปลี่ยนนิสัยไปหลายกระป๋อง เห็นว่าพอสมควรแล้วก็ปีนบันได้ขึ้นไปนอน ปิดม่านบังแสงไฟแล้ว ก็นอนแกว่งไปมาเหมือนนอนเปล ในไม่ช้าก็หลับไป ปล่อยให้เพื่อนนั่งโจ้ต่อไปคนเดียวหรือสองคน กับเจ้าหน้าที่รถเสบียงที่หมดงานแล้ว ก็ไม่ได้เอา ใจใส่

เราตื่นนอนตอนเช้าล้างหน้าล้างตาแล้ว ก็ลงจากรถไฟที่สถานีลำพูน เพราะญาติของเพื่อนทำงานอยู่ลำพูน เป็นที่ทำการสาธารณสุขจังหวัด ทักทายปราศรัย อาบน้ำอาบท่าและถอนตอนเช้าแล้ว เขาก็พาเรานั่งรถยนต์ของเขาและภรรยา ไปไหว้พระธาตุหริภุญชัย และเจ้าแม่จามเทวี จนถึงเวลาเย็นก็เดินทางด้วยรถยนต์คันเดิมไปเชียงใหม่ กินอาหารค่ำที่บ้านญาติคนที่สอง อำเภอเมือง แล้วไปพักที่บ้านญาติคนแรก ใกล้วัดพันหลัง อ.ดอยสะเก็ด

รุ่งขึ้นนัดพบญาติคนที่สาม แล้วขึ้นรถตู้ไปเขื่อนแม่งัด อำเภอแม่แตง แต่ก็ไม่ได้เห็นตัวเขื่อน คงจะอยู่ทางด้านหน้าเขื่อนที่มีน้ำมาก กินอาหารกลางวันที่ร้านริมน้ำแล้ว ไปชมวัดเด่นสะหลีศรีเมืองแถน อำเภอแม่แตง ตอนเย็นไปชมสวนพฤกษศาสตร์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ อำเภอ แม่ริม ค่ำกลับมากินอาหารที่ร้าน ป.ปลาหนึ่ง อำเภอเมือง แล้วไปนอนบ้านญาติคนที่สาม อำเภอสันทราย

รุ่งขึ้นอีกวันหนึ่ง ได้พบกับญาติคนที่สี่ พักผ่อนพูดคุยกัน ตั้งแต่อาหารเช้าจนเลยอาหารกลางวัน ถึงเวลา ๑๖.๐๐ น.อำลามาขึ้นรถด่วนพิเศษขบวนเดิมกลับกรุงเทพ ออกจากเชียงใหม่ ๑๖.๔๕ น. ระหว่างทางตั้งแต่ก่อนมืดจนถึงเวลานอน ก็เหมือนเดิม คือผมปีนขึ้นไปนอนก่อน ทิ้งเพื่อนให้มีปฏิสัมพันธ์กับพนักงานรถเสบียง ตามสบาย จนถึงสถานีบางซื่อจึงตื่นนอน และถึงสถานีสามเสนเมื่อ ๐๖.๑๕ น. จึงแยกย้ายกับกลับ ผมแวะลงสวนอ้อย เพื่อนกลับไปซอยวัดพระเงิน

ไปเที่ยวเชียงใหม่คราวนี้ ได้รู้จักเพื่อนใหม่อีกสี่คนพร้อมทั้งครอบครัว ซึ่งได้ติดต่อส่ง ส.ค.ส.กันมาอีก ๒-๓ ปี แล้วก็ร้างรากันไป

จนเวลาล่วงไปหกปี ถึง พ.ศ.๒๕๕๓ เดือนมกราคม นายเฉวียน ได้จัดงานแต่งงาน
หลานสาวปู่ จึงได้พบกับญาติกลุ่มนี้ ที่มาจากเชียงใหม่ในนี้งานสองครอบครัว คือญาติที่หนึ่ง และที่สาม ได้คุยกันจนงานเลิกและไปส่งตัวเจ้าบ่าวเจ้าสาวเรียบร้อยแล้ว เราชวนเขาค้างเพื่อพรุ่งนี้จะได้พาเขาเที่ยวกรุงเทพบ้าง แต่เขาอยู่ไม่ได้ เพราะเช่ารถตู้มา ต้องกลับคืนนี้ ถึงเชียงใหม่พรุ่งนี้เช้า จึงจำต้องลากันไปด้วยความอาลัย

เวลาผ่านไปจนถึงเดือนตุลาคม จึงได้ข่าวจากเชียงใหม่อีก แต่เป็นข่าวร้ายว่าญาติที่สามผู้เป็นสามีที่ดวดกันมาอย่างสูสี ได้ป่วยเป็นมะเร็ง ต้องผ่าตัดใหญ่ เพื่อนอยากจะไปเยี่ยมแทนญาติที่อยู่ทางกรุงเทพ ก็มาชวนผมซึ่งไม่ได้อิดออดลังเลเลย ทั้ง ๆ ที่อายุใกล้จะครบ ๘๐ ปีแล้ว เป็นการเดินทางไกลที่มีผู้ออกปากว่า ผู้เฒ่าอายุแปดสิบ จะขึ้นรถไฟไปเยี่ยมญาติอายุหกสิบเศษ ซึ่งป่วยอยู่เชียงใหม่ห่างไปกว่า ๗๐๐ ก.ม.

การเดินทางก็เหมือนหนังม้วนเก่า เพียงแต่คราวนี้ขอนอนเตียงล่างทั้งสองคน เพราะไม่สามารถจะปีนขึ้นไปนอนเตียงบนได้แล้ว ตั้งแต่ได้ขึ้นรถไฟ เพื่อนก็ดำเนินกรรมวิธีแบบเดิม ๆ แต่ความชราไม่ปรานีผมผู้ไม่เจียมสังขาร เลยเกิดอาการเวียนศีรษะ แม้จะค่อย ๆ ละเลียดเบียร์ขวดที่สองไม่หมดจนถึงเวลานอน อาการก็กำเริบอย่างน่าตกใจ

ผมเคยนอนแต่เตียงบน ได้ยินเสียงล้อกระทบรางดังพอประมาณเหมือนเพลงกล่อมให้หลับได้ไม่ยาก แต่เมื่อมานอนเตียงล่างเป็นครั้งแรก พอหูซ้ายแนบกับหมอนก็ต้องสะดุ้ง เสียงล้อรถดังก้องขึ้นไปในสมอง และรู้สึกถึงความกระแทกกระเทือน เหมือนกับว่าไม่มีหมอนและที่นอน กั้นกลางระหว่างตัวเรากับล้อรถเลย ดูเหมือนว่าเรานอนกับพื้นรถเท่านั้น ศีรษะที่ปวดอยู่แล้วก็ยิ่งกำเริบ แม้ว่าจะพลิกมานอนหงาย เสียงจะลดลงนิดหน่อย แต่อาการสะเทือนก็ยังเหมือนเดิม และผมเป็นคนที่ไม่นอนตะแคงจะไม่หลับด้วย แม้จะพยายามทำสมาธิหรือสวดมนต์เท่าไรก็ไม่สำเร็จ

เวลาค่อย ๆ ล่วงไปทีละชั่วโมงด้วยความอืดอาดยืดยาด และไม่รู้สึกว่าได้หลับเลย อาจจะเผลอเคลิ้มไปด้วยความง่วงสุดขีดบ้างนิดหน่อย แต่จิตก็รับรู้ถึงเสียงที่ดังและการสั่นไหวโยกคลอน ตลอดเวลา ตั้งแต่ประมาณสี่ทุ่ม กว่าจะผ่านสองยาม ตีหนึ่ง ตีสอง ตีสาม จนถึงตีสี่ ก็ลุกขึ้นไปล้างหน้าล้างตา แล้วกลับมานั่งสังเกตอาการตนเอง ปรากฏว่าโผเผเหมือนจะเป็นลม ต้องกลืนยาหอมชนิดเม็ดไปหลายสิบเม็ด มีคลื่นที่ทำให้ผะอืดผะอมในท้อง แต่ก็ยังไม่ถึงกับจะอาเจียน

เวลาเช้าประมาณแปดโมงก็ผ่านถ้ำขุนตาน เพื่อนสั่งอาหารเช้าแบบฝรั่งมากิน พร้อมกับดื่มถอน ผมไม่กล้าถอน แต่สั่งข้าวต้มหมูมา ก็กระเดือกไม่ลง ได้แต่ซดน้ำอุ่น ๆ ไม่มีแก่จิตแก่ใจที่จะมองดูวิวทิวทัศน์ เพราะทำให้เวียนหัวมากขึ้น ต้องนั่งหลับตาไปพลาง ๆ

จนเวลาล่วงไปถึงสามโมงเช้าก็ผ่านลำพูนซึ่งไม่ต้องลง รอไปลงเชียงใหม่เลย เพราะญาติที่ทำงานลำพูนเกษียณอายุราชการแล้ว กลับไปอยู่บ้านของตนที่เชียงใหม่

เมื่อถึงสถานีเชียงใหม่ ก็พบหน้าเขามารอรับกระเป๋าขึ้นรถปิคอัพ มุ่งตรงไปที่บ้านขางวัดพันหลังทันที พอลงจากรถยกมือรับไหว้ภรรยาเจ้าของบ้านผู้ไปรับเราแล้ว ผมก็ขอตัวไปแถวโคนต้นไม้ในสวนกะว่าจะอาเจียนให้คลายความทุกข์เสียหน่อย แต่ก็ไม่ออก ปั่นป่วนมวนท้องอยู่อย่างนั้น จนต้องขอความกรุณาเจ้าของบ้านเอาข้าวสวยไปต้มให้หน่อยหนึ่งพอกลืน ๆ ไปได้บ้าง ท้องก็อืดเต็มทีเหมือนจะอิ่มแทบแย่แล้ว

ที่บ้านญาติคนที่หนึ่งนี้เอง ที่ได้ทราบว่าญาติคนที่สามซึ่งเป็นมะเร็งนั้น ได้ผ่าตัดใหญ่และกลับมาอยู่บ้านเดินเหินได้แล้ว รอเวลาจะต้องผ่าตัดอีกครั้ง ดูเหมือนจะเรื่องกระดูกกดทับเส้นประสาทที่หลัง ซึ่งสมองของผมมันไม่รับฟังอะไรแล้ว คอยระวังว่ามันจะอาเจียนเมื่อไรเท่านั้น

เพื่อนคุยไต่ถามสารทุกข์สุขดิบกับญาติ จนใกล้เวลาเที่ยง ก็พากันขึ้นรถออกไปหาอาหารกลางวันกิน ที่ร้านมือชื่อเสียงเรื่องอาหารพื้นเมือง สิ่งที่สั่งส่วนใหญ่เป็นต้มแซ่บ ลาบ ก้อย อะไรทำนองนั้น ซึ่งผมไม่รู้จักเลย และนำด้วยรสเผ็ดทั้งนั้น จึงขอไข่เจียวมากินกล้อมแกล้มกับขาวสวยนิดหน่อย และดื่ม โคล่า จะให้มันเรอมันก็ไม่เรอ อืดอยู่จนกินอะไรไม่เข้า แต่ผมก็พยายามวางหน้าให้เป็นปกติ แม้ว่าผิวหน้าจะแสดงอาการไม่สบายอยู่บ้าง ใครห่วงใยถามไถ่ก็ว่ายังพอทนได้ แล้วก็กลืนยาหอมอยู่เป็นระยะ

ออกจากร้านนี้จึงเลยไปบ้านญาติคนที่สาม ซึ่งอยู่ที่บ้านอำเภอสันทราย เพื่อเยี่ยมอาการป่วยตามที่ตั้งใจมา ในใจของผมนั้นคิดว่าค่อนข้างผิดหวัง เพราะคาดว่าคนไข้น่าจะนอนอยู่ที่โรงพยาบาล บนเตียงที่เต็มไปด้วยสายช่วยชีวิตต่าง ๆ ระโยงรยางค์ แต่เมื่อเขาไม่ได้อยู่ในสภาพที่นึกไว้ ก็รู้สึกยินดีด้วยตัวเขาก็มานั่งคุย กับญาติคนที่หนึ่งและเพื่อนของผม ส่วนตัวผมพยายามอดทนต่อความไม่สบายที่รุมเร้าอยู่ ระหว่างนั้นแม่บ้านก็ออกไปซื้อหาอาหารสำเร็จรูปบ้าง มาประกอบนิดหน่อยบ้าง จนใกล้เย็นก็เป็นการเลี้ยงอาหารเย็น เพื่อนผมซึ่งยังกินเหล้าได้นิดหน่อยทุกมื้อ ก็กินเหล้ากับเพื่อนของญาติที่มาสมทบด้วย แต่ผู้ป่วยกินน้ำหวานที่คล้ายโคล่า ผมก็อาศัยกินด้วยพร้อมข้าวต้มกับไข่เจียวฉุกเฉินตามเคย เขาคุยเรื่องอะไรกันเฮฮา ผมก็พลอยยิ้มไปด้วย เช่นเดียวกับผู้ป่วยซึ่งดูซีดเซียวพอกัน

จนค่ำมืดลงประมาณสองทุ่ม ก็นั่งรถปิดอัพกลับมานอนที่บ้านญาติคนที่หนึ่งตามเดิม ก่อนอาบน้ำเขาก็ตั้งขวดสำรองไว้บนโต๊ะรับแขก ไม่ทราบว่าเพื่อนจะยังดื่มต่อได้หรือเปล่า ผมขอตัวไปอาบน้ำ และพยายามจะให้มันถ่ายมันก็ไม่ออก อาบน้ำเสร็จก็ขอลาเข้านอน สวดมนต์แล้วก็ข่มตาให้หลับ เพราะเงียบสนิท ไม่มีสรรพสำเนียงใด ๆ รบกวนเลย และคงจะหลับไปด้วยความอ่อนเพลียละเหี่ยใจ

จนรู้สึกตัวตื่นขึ้นกลางดึก ประมาณสองยาม และรูด้วยสัญชาตญาณว่าจะอาเจียนแล้ว จึงรีบลุกไปเข้าห้องน้ำ แทบไม่ทันผมกลัวว่าจะเลอะเทอะพื้นห้องน้ำเขา จึงหันไปหาโถส้วม ขออภัยท่านผู้อ่าน ที่จะต้องรายงานผลว่า อาเจียนออกมาสามครั้งติด ๆ กัน เกือบเต็มโถส้วมทีเดียว เมื่อชำระล้างทั้งส้วมและตนเองแล้ว ก็กลับมานอนหลับผล็อยไปจนเช้าเลย

เมื่อตื่นขึ้นมาอาการผะอืดผะอมได้คลายลงแล้ว แต่อ่อนเพลียอย่างมาก จนอยากจะไปโรงพยาบาล ให้น้ำเกลือสักถุงหนึ่ง แต่ก็เกรงใจเจ้าของบ้านกับเพื่อนที่พาไป จะวิตกว่าเป็นเรื่องใหญ่โต ชวนมาเยี่ยมคนไข้ ดับกลับเป็นคนไข้เสียเอง แผนการต่าง ๆ จะรวนเรหมด จึงขอให้เจ้าบ้านพาไปหาหมอคลินิก ก่อนที่จะไปที่ไหน เขาก็พาไปสถานอนามัยประจำอำเภอ คุณหมอผู้หญิงซักถามอาหารแล้วก็ให้ยาแก้อาเจียนมาสี่ห้าเม็ด ไม่ยักฉีดยาอะไรให้อุ่นใจบ้างเลย เข้าตำราหมอยาเม็ดนั่นเอง

หลังจากนั้นก็ต้องยอมทน กับอาการที่คล้ายกับเมื่อวาน แต่เบากว่าสักครึ่ง เพื่อนไป ไหว้พระที่วัดอะไรก็จำไม่ได้ ผมรออยู่ที่รถก็ย้ายไปนั่งบังแดดตากลมที่หอระฆัง พอได้ชื่นใจบ้าง เมื่อเสร็จธุระแล้วเขาก็พาไปกินอาหารกลางวันที่ตลาด ผมสั่งเกี๊ยวน้ำมาค่อย ๆ บรรจงเคี้ยวกลืน เพื่อนก็กินเย็นตาโฟโดยไม่มีน้ำดีกรีกลั้วคอ จึงได้ทราบว่า เมื่อเช้าก็ไม่ได้ถอนด้วย เพราะเริ่มมีอาการคล้าย ๆ ที่เราเป็นอยู่คือท้องอืดและไม่ถ่าย เสร็จแล้วก็ไปสถานีรถไฟ เพราะรถขากลับนี้เป็นคนละขบวนกับขาไป ออกจากเชียงใหม่ ๑๔.๓๐ น. แต่ถึงกรุงเทพเช้าเหมือนกัน

ร่ำลาญาติที่มาส่งแล้วก็นั่งรอขบวนรถไม่นาน ก็ถอยเข้ามาจอดในชานชลา เป็นรถนอนโทปรับอากาศเช่นเดิม ทั้งเราและเพื่อนก็หายกระปรี้กระเปร่าแบบขามาเสียสิ้น จนกระทั่งรถอกเดินทางไปแล้ว ๒-๓ ชั่วโมง พอตะวันรอนอ่อนอัศดง แดดร่มลงเย็นยอแสง เพื่อนก็สั่งเหล้าแบนน้ำแข็งหนึ่งกระติก เมื่อได้มาแล้วก็จัดแจงชงอย่างรวดเร็ว ผมจึงงัดเอาเบียร์กระป๋องที่ตุนไปจากกรุงเทพโดยยังไม่ไดลิ้มรสเลย ออกมาเปิด ใส่กรบอกน้ำแข็ง เราชนกันอึกแรกด้วยความหวังว่าคงจะพ้นทุกข์ และรอดคืนนี้ ไปถึงบ้านโดยสวัสดิภาพได้

เพราะเมื่อผมนั่งรออยู่บนขบวนรถไฟก่อนที่จะออกจากสถานีเชียงใหม่นั้น ผมได้ขอยืมโทรศัพท์พกพาของเพื่อน โทร.ไปปรึกษาลูกชายคนเล็กที่อยู่จังหวัดสระบุรี เขาเห็นด้วยที่ไม่แสดงความป่วย ให้ใครเห็นเป็นเรื่องใหญ่โต แต่เมื่อถึงกรุงเทพให้รีบไปโรงพยาบาลมิชชั่นทันที

เย็นนั้นผมค่อย ๆ ดื่มเบียร์กระป๋องเดียว แกล้มข้าวผัดไม่หมดจานพออยู่ท้อง แล้วก็เข้านอน แต่เสียงล้อรถไม่ดังเท่าขาไป อาจจะเป็นเพราะนอนตรงที่ไม่ตรงกับล้อรถก็ได้ และอาการปวดหัวได้หายไปแล้ว จึงหลับยาวไปจนถึงดอนเมือง ส่วนเพื่อนก็ไม่ได้อยู่คุยกับใครจนดึกดื่นเหมือนกัน

เมื่อล้างหน้าล้างตาแล้วก็ขอโทรศัพท์ ไปหาลูกชายคนโตที่บ้านสวนอ้อย เล่าเรื่องอาการป่วยและให้มารับพ่อที่สถานีสามเสน เพื่อพาไปเข้าโรงพยาบาลมิชชั่นเลย และบอกแม่ให้รู้เรื่องด้วย

รถไฟมาจอดที่สานีสามเสนตรงตามเวลา คือประมาณ ๐๖.๓๐ น. เราลงจากรถแล้วก็ไม่เห็นลูกชายที่ให้มารับเลย เพราะโบกี้คันที่เรานั่งอยู่เลยหน้าสถานีมามาก ต้องเดินย้อนกลับไป จึงเห็นเจ้าลูกชายวิ่งมาช่วยรับกระเป๋าของทั้งสองคน ซึ่งแทบจะไม่มีแรงหิ้วทั้งคู่ แล้วก็ออกจากสถานีไปหารถแท็กซี่

ผมตัดสินใจกลับไปดูอาการที่บ้านก่อน จึงบอกแท็กซี่ให้ผ่านสวนอ้อยแล้วขึ้นสะพาน กรุงธน ไปซอยวัดพระเงิน ใกล้บางใหญ่ แต่ยังอยู่ในอำเภอบางกรวยรวดเดียวเลย เมื่อถึงสวนอ้อยก็ลงจากรถพร้อมด้วยลูกชายเดินเข้าบ้านจบรายการเชียงใหม่ครั้งสุดท้ายเพียงแค่นี้

และเป็นรายการที่ทารุณที่สุดในชีวิต เป็นการเตือนจากธรรมชาติว่า ถึงเวลาที่จะต้องเจียมเนื้อเจียมตัว เจียมกายเจียมใจ รับความเสื่อมของสังขารอย่างแท้จริง แต่คนรักรถไฟอย่างผมก็คงไม่ยอมเข็ดเขี้ยวกับการเดินทางโดยรถไฟไทยเสียทีเดียวหรอก เพียงแต่ต้องจดจำไว้ว่าเลิกชื่นชมกับรถนอนโทได้แล้ว จากวันนี้เวลาจะเดินทางโดยรถไฟ ต้องไปด่วนชั้นหนึ่งหรือชั้นสองปรับอากาศ เวลากลางวันเท่านั้น เมื่อถึงที่หมายแล้วจึงค่อยนอนให้สบาย ในโรงแรมสี่หรือห้าดาว เพื่อถนอมสังขารอันทรุดโทรม เท่านั้น

ถึงอย่างไรก็ยังรักรถไฟไทย อย่างไม่จืดจางเลย.

###############

ห้องไร้สังกัด เวปพันทิป
๒๘ เมษายน ๒๕๕๔

ถนนนักเขียน ห้องสมุดพันทิป
๖ พฤษภาคม ๒๕๕๔









 

Create Date : 21 กรกฎาคม 2555    
Last Update : 21 กรกฎาคม 2555 17:59:23 น.
Counter : 1164 Pageviews.  

วันสุดท้าย (ของศตวรรษที่แปด)

บันทึกของคนเดินเท้า

วันสุดท้าย (ของทศวรรษที่แปด)

 

“เทพารักษ์”

 

                        เมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๕๓ เราได้เขียนถึง วันแรกของทศวรรษที่แปด วางในห้อง         ไร้สังกัด เวปพันทิป เพื่อนฝูงที่รู้ว่ารุ่งขึ้นจะเป็นวันเกิดครบรอบ ๗๙ ปี ขึ้นวันแรกของ อายุ ๘๐ ของเรา ต่างก็อวยพรวันเกิดกันอย่างมากมาย ทำให้ซาบซึ้งพอควรว่า เรายังมีคนที่หวังดีอยู่อีกไม่น้อย ที่อยากจะให้เรามีชีวิตต่อไป แม้จะอยู่มานานมากแล้วก็ตาม

 

                        แล้วเราก็อยู่มาจนถึงวันสุดท้ายของทศวรรษที่แปดจนได้ ใน ๓๖๕ วันที่ผ่านมา เราก็ได้ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ ในการเขียน บันทึกของผู้เฒ่า วางในห้อง ไร้สังกัด จนอาการขัดข้องของหัวไหล่และสะบักข้างขวาเพิ่มมากขึ้น จึงได้ทุเลาการเขียนลง เหลือวันละครึ่งหน้า แล้วสามวันจึงนำไปวางทีหนึ่ง แต่ก็ไม่มีโรคอื่นที่จะมาคุกคามเอาชีวิตเราเลย

 

                    ลองเหลียวไปดูชีวิตที่ผ่านมาทั้งสิบสองเดือน ว่าในแต่ละเดือนมีเหตุการณ์อะไรที่สำคัญในชีวิตเกิดขึ้นบ้าง

 

                                    มีนาคม

 

                                        วันที่ ๒๐ ไปถวายสังฆทานที่วัดราชผาติการาม เพราะรูปที่เรานิมนต์ไว้ท่านเท้าเจ็บ ไม่ได้ออกไปรับบาตร

 

                                    เมษายน

 

                                        ปีนี้งดจัดงานสงกรานต์ทุกแห่งในกรุงเทพ เพราะมีเหตุการณ์ชุมนุมประท้วง และการสลายการชุมนุมที่สี่แยกคอกวัว มีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บ หลายร้อยคน สงกรานต์ถนนข้าวสาร ที่อยู่ใกล้ที่สุด จึงไม่มีงานให้ฝรั่งเที่ยว

 

                                                ตนเองเดินเหยียบตะปูตำเท้า เลยหกล้มหัวเข่าถลอก รักษากว่าสิบวันจึงหาย แต่ต้องฉีดยากันบาดทะยักอีกเดือนละเข็ม จนครบสามเข็ม

 

                                    พฤษภาคม

 

                                                วันที่ ๒๗ เป็นวันครบรอบ ๘๖ ปี ของทหารสื่อสาร สถาบันที่มีพระคุณต่อชีวิตของเราอย่างยิ่งแห่งหนึ่ง ส่งเรื่องไปให้หนังสือที่ระลึกเช่นเคย เป็นเรื่องของท่านเจ้ากรมที่เพิ่งถึงแก่กรรม

 

                                    มิถุนายน

 

                                        เมื่อวันที่ ๒๒ ตอนเช้าถวายสังฆทานภิกษุสามรูป อุทิศส่วนกุศลให้น้า ซึ่งเป็นเจ้าของบ้านที่ได้อาศัยมาเจ็ดสิบปีแล้ว

 

                                                ตอนกลางคืนฝนตกหนัก น้ำนองเข้ามาท่วมพื้นชั้นล่าง ต้องรอจนเช้าจึงให้ลูกชาย จัดการกวาดถูพื้น ตัวเราไม่มีแรงแล้ว

 

                                    กรกฎาคม

 

                                        ลูกชายคนเล็กได้รับปริญญาโท มีการฉลองกันนิดหน่อย

 

                                    สิงหาคม

 

                                        ผู้มีพระคุณได้ถึงแก่กรรม เมื่ออายุ ๙๖ ปีเศษ ตั้งศพบำเพ็ญกุศล และรับพระราชทานเพลิง ที่วัดมกุฎกษัตริยาราม

 

                                    กันยายน

 

                                        วันที่ ๑๖ เป็นวันตายครบรอบ ๔๖ ปี ของลูกชายคนโต ตักบาตรสามรูปอุทิศส่วนกุศลให้ตามเคยที่ได้ทำตลอดมา

 

                                                และได้รับการขออนุญาต นำคำคมในสามก๊กของเรา ที่เคยลงในห้องสมุด เวปพันทิป ไปประกอบเรื่องสามก๊ก ฉบับที่พิมพ์ใหม่ มีแทรกภาพฝีมือ ครูเหมเวชกรทั้งเล่ม

 

                                    ตุลาคม

 

                                        เดินทางไปเยี่ยมเพื่อนที่ป่วยเป็นมะเร็ง ที่เชียงใหม่ แต่ตนเองกลับป่วยเพราะนอนบนรถไฟไม่หลับ ได้พยายามรักษาตัวไว้ จะกลับมาเข้าโรงพยาบาลที่กรุงเทพ แต่พอกลับมาก็หายดี

 

                                                วันที่ ๑๑ ครบรอบปีที่ ๖๒ ของการเขียนหนังสือ แต่ได้หยุดเขียนมาตั้งแต่ครบ ๖๐ ปีแล้ว

 

                                    พฤศจิกายน

 

                                                ทอดกฐินแบบประหยัด แก่วัดบ้านยาง ตำบลน้ำดำ อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ ที่วัดใหม่ยายมอญ บางขุนนนท์ เพื่อวันเกิดอายุครบ  ๘๐ ปี ในเดือน มีนาคม ๒๕๕๔

 

                                    ธันวาคม

 

                                        ไปลอยอัฐิและอังคารของท่านผู้มีพระคุณ รวมทั้งของแม่ น้า และคุณตา ที่สัตหีบด้วยการทำพิธีของทหารเรือภาค ๑ เป็นประเพณีที่เราจะเริ่มใช้กับตนเองเหมือนกัน

 

                                    มกราคม

 

                                        บันทึกไว้ดังนี้ .....สวัสดีปีใหม่ ย่างเข้าปีที่ ๘๑ อีกสามเดือนอายุก็จะครบ ๘๐ ปี บริบูรณ์ เป็นคนแก่หรือคนชราอย่างแท้จริง ตา หู  ฟัน เสื่อมหมด ยังดีที่ไม่ต้องเดินถือไม้เท้า ถ้าเริ่มในปีนี้ ก็จะต้องเปลี่ยนพฤติกรรมที่เคยทำอย่างแน่นอน แต่จะนับถอยหลังไปถึงเท่าไรก็ไม่มีโอกาสรู้.........

 

                              กุมภาพันธ์

 

                                                ไปทำบุญวันเกิดน้องสาว ที่วัดคำพราน อำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี

 

                    ดูแล้วก็เป็นชีวิตธรรมดา ของคนธรรมดาเท่านั้น แล้วก็มาถึงเดือน มีนาคม เพื่อนคนหนึ่งในห้องไร้สังกัด เวปพันทิป เอาคำทำนายชะตาชีวิตของคนเกิดเดือนนี้มาวาง อ่านดูแล้วดีมาก จนไม่กล้าคัดลอกมาเผยแพร่ ขอขอบคุณดอกไม้ที่มอบให้ ก็แล้วกัน

 

                        จากเดือน มกราคม ซึ่งคิดว่าจะรามือในการเขียนเรื่องลงอินเตอร์เนต เพราะสุขภาพไม่ดี กลับได้เรียนรู้ถึงวิธีที่จะเอาภาพ ในแฟ้มของเรา หรืออัลบั้มของเรา มาวางในหน้ากระทู้ ในบล็อกของเราได้ ทั้งภาพแผ่นโปสการ์ด  และภาพที่อยู่ในกล้องดิจิตอล และแม้แต่ภาพในกระทู้อื่น บล็อกอื่น เวปอื่น ก็ทำได้เช่นกัน จึงมีข้อเขียนเล็ก ๆ น้อย ๆ มาวางในกระทู้เพิ่มขึ้นอีกมากมาย แต่ลงแรงพิมพ์น้อยกว่าเดิม และมีผู้สนใจในภาพโบราณที่เอามาประกอบ บันทึกของผู้เฒ่า และ ภาพเก่าเล่าเรื่อง มากพอสมควร ก็เลยกลับมาตั้งกระทู้ทุกวันเช่นเดิม

 

                        เราเคยมีเรื่องคุยกันเล่น ๆ กับเพื่อนในวงน้ำลำไย เมื่ออายุเกิน ๖๐ ปีขึ้นไปแล้วทุกคนว่า เราอยู่มาจนถึงป่านนี้แล้ว อีกเมื่อไรจะตายก็ไม่รู้ เราควรจะเอาเงินที่จะช่วยเวลาไปงานศพเพื่อน มาให้เพื่อนเสียก่อนตอนยังไม่ตายจะดีกว่า แล้วคนรับก็ออกใบเสร็จให้ พอถึงเวลาตายจริง ๆ ก็เอาใบเสร็จใส่ซองไปให้เจ้าภาพที่วัด น่าจะเป็นผลดีแก่ผู้ตายโดยตรงมากกว่า แล้วเราก็คาดว่าเจ้าภาพงานศพของเราจะวางหน้าอย่างไร แล้วก็หัวร่อเฮอากันไปทั้งวง

 

                        แต่เมื่อเวลาผ่านมาอีก ๑๐ ปี เราอายุ ๗๒ ปี เพื่อนที่เคยคุยกันในเรื่องนั้น ก็ตายไปแล้วหลายคน โดยไม่มีใครได้รับซองก่อนตายเลย เพราะเป็นเรื่องคุยกันเล่น ๆ สำหรับคนที่ไม่ประมาทต่อความตาย ไม่ได้อยากตาย แต่ก็ไม่หวั่นวิตกต่อความตาย เพราะชีวิตมาถึงปลายทางแล้ว

 

                        ในปีใหม่สองสามปีที่ผ่านมา เราก็ได้ทำหนังสือเป็น ส.ค.ส. ส่งให้เพื่อนที่สนใจหลายราย เมื่อจะถึงปีใหม่ พ.ศ.๒๕๕๔ ซึ่งจะครบ ๘๐ ปีบริบูรณ์ ในวันที่ ๑๙ มีนาคม เราจึงเอาหนังสือแจกงานศพ ที่พิมพ์ไว้ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๙ อายุ ๗๕ ปี โดยใช้เงินค่าตอบแทนจากสำนักพิมพ์ ที่พิมพ์เรื่อง “เปาบุ้นจิ้น...ผู้ทรงความยุติธรรม” โดยตั้งใจไว้ว่าตายเมื่อไรเจ้าภาพก็จะได้เอาไปแจกเป็นที่ระลึกในงานศพ จะได้ไม่ต้องเสียเงินอีก แต่ถ้าอยู่ถึงวันนั้น ก็จะได้แจกในงานทำบุญอายุแทน ครั้นเมื่อใกล้เวลาเข้ามาก็ไม่คิดจะทำบุญใหญ่โตอะไร เพราะไม่รู้จะฉลองไปทำไม จึงคิดจะเอามาแจกเพื่อนในขณะที่เรายังมีชีวิตอยู่ดีกว่า

 

                        แล้วก็ได้เสนอความคิดนั้นออกไป ใน บันทึกของผู้เฒ่า เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน ขอให้เพื่อนที่สนใจจะรับหนังสือเล่มนี้ ซึ่งมีชื่อว่า “สิ่งที่ยังเหลืออยู่” ให้แจ้งที่อยู่สำหรับส่งทางไปรษณีย์ ทางหลังไมค์เพื่อจะได้จัดส่งให้ตามลำดับ แล้วก็จดชื่อเพื่อนที่เคยอวยพรวันเกิดเมื่อปีที่แล้ว เอามาทบทวนว่าท่านไหนจะต้องการบ้าง ถ้าท่านไหนยังไม่ได้อ่านบันทึกนั้น ก็จะส่งหลังไมค์ไปเตือน แต่ถ้าอ่านแล้วเฉย ๆ ก็ถือว่ายังไม่ต้องการ ซึ่งมีเพื่อนแจ้งชื่อที่อยู่มามากกว่า ๕๐ ท่าน เราก็ทยอยจัดส่งไปจนหมด ก่อนที่จะถึงเดือนธันวาคม ๒๕๕๓

 

                        แต่มีอยู่ท่านหนึ่ง มีศรัทธากับกิจกรรมอันนี้ของเรา ได้ขอมีส่วนร่วมในเรื่องที่เราตั้งใจทำให้เพื่อน โดยส่งเงินมาให้จำนวนหนึ่ง ซึ่งท่านคงจะไม่ได้ตั้งใจที่จะช่วยก่อนที่จะจัดงานศพเป็นแน่ แต่บังเอิญตรงกับความคิดเล่น ๆ ของเราเมื่อก่อนโน้นอย่างน่าประหลาด เราจึงกราบรับมุทิตาจิตนั้น ด้วยความขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่ง

 

                        แล้วเราก็ได้ใช้เงินจำนวนนั้นไปในเรื่องที่ท่านศรัทธา คือค่าซองและแสตมป์ที่ส่งหนังสือให้เพื่อน รายละ ๗ บาทเท่านั้น  และค่าถ่ายเอกสารหนังสือเล่มอื่นที่ส่งให้ผู้ที่คุ้นเคยเคารพนับถือ ในเดือนธันวาคม และ มกราคม ต่อจากนั้นก็บริจาคทำบุญร่วมกับของเรา ที่ทำเป็นประจำทุกสัปดาห์ โดยให้เจ้าหน้าที่เขียนใบอนุโมทนา เป็นชื่อ “ผู้ไม่ประสงค์จะออกนาม” เพราะเราไม่รู้ชื่อจริงของท่าน จากวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์ ท่าพระจันทร์ วัดอินทรวิหาร เทเวศร์ วัดชลประทานรังสฤษฏ์ ปากเกร็ด วัดโบสถ์สามเสน และมูลนิธิปอเต็กตึ๊ง หมุนเวียนไปทุกวันอาทิตย์ ตลอดมา และยังมีเหลือก็จะได้ร่วมถวายสังฆทานภิกษุ ในวันเกิดปีนี้ ๓ รูปจนหมดเงินจำนวนที่บริจาคมา ขอได้โปรดอนุโมทนาในกุศลผลบุญครั้งนี้

 

                    และจะได้เก็บรวบรวมใบอนุโมทนาเหล่านั้น ใส่ซองไว้ให้เจ้าภาพของเราต่อไป ไม่ทราบว่าเขาจะหัวเราะหรือร้องไห้กันแน่

 

                    จึงขอบันทึกไว้ด้วยความซาบซึ้งในกุศลเจตนาของท่านผู้บริจาค และเพื่อให้เพื่อนที่ได้อ่านบันทึกนี้ ร่วมอนุโมทนาโดยทั่วกันด้วย.

##############




 

Create Date : 20 มีนาคม 2555    
Last Update : 20 มีนาคม 2555 8:31:44 น.
Counter : 642 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  

เจียวต้าย
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 45 คน [?]




เชิญหารายละเอียดได้ ที่หน้าบ้านชานเรือนครับ
Friends' blogs
[Add เจียวต้าย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.