"แมงเม่าของเมื่อวันวาน คือ เซียนหุ้นของพรุ่งนี้"
Group Blog
 
All Blogs
 
Trader’s Diary: การเข้าใจพุทธศาสนาแบบผิดๆ ในหนังสือ The Zurich Axioms พุธที่ 24 มี.ค.53

วันนี้ช่วงเช้าตลาดเปิดกระโดดต่อเนื่อง จากเย็นเมื่อวานที่มีออเดอร์เข้ามาไล่ซื้อหุ้น Big Cap อย่างหนัก โดยเฉพาะ PTT

ผมลองวาดกราฟในภาพระดับ 5 นาที พบว่าแท่งเทียนราคาฟอร์มตัวเป็นรูปธงสามเหลี่ยม และได้หลุดกรอบล่างลงมาอย่างแรงในตอนเที่ยงก่อนตลาดปิดประมาณครึ่งชั่วโมง แล้วมีแรงไล่ซื้อกลับในช่วงเปิดตลาดภาคบ่าย ก่อนจะเทไหลรูดลงมาทำ Low ในตอนเย็นก่อนปิดตลาด ทำให้แท่งเทียนระดับวันเกิด Shooting Star ขึ้น มีโอกาสที่วันพฤหัส ราคาอาจจะย่อลงมาเพื่อปิด Gap ที่เปิดไว้ (อีกแล้ว) แถวๆ 782 จุด

อย่างไรก็ตาม 3 รุม 1 อีกแล้ว ต่างชาติรับของอยู่แต่ผู้เดียวโดยมีการซื้อสุทธิเข้ามากว่า 2,600 ล้านบาท แต่ที่น่าจับตาคือ ต่างชาติกลับมา Net Short ด้วยวอลุ่มถึง 1,800 กว่าสัญญา ซึ่งในจำนวนนี้ ก็อาจจะมาจาก GF ก็เป็นได้เนื่องจากตลาดอนุพันธ์ไม่ได้ทำการแยกในรายสินค้าไว้ให้

สมัยที่ผมทำงานอยู่ในบริษัทหลักทรัพย์ เคยให้เจ้าหน้าที่ที่ติดต่อตลาดอนุพันธ์โดยตรงสอบถามในที่ประชุมว่า.....

ทำไมจึงไม่แยกการสรุปการซื้อขายสุทธิของ Futures ซึ่งประกอบด้วย S50, SSF และ GF ออกมาให้เห็นชัดเจนทางตลาดอนุพันธ์ ให้เหตุผลว่า “ไม่สามารถแยกได้”…..

มันจะไม่สามารถแยกได้ยังไงไม่ทราบ???

สงสัยกลัวรายย่อยจะรู้กลยุทธ์ของ “สถาบัน” “ต่างชาติ และ “พอร์ทบริษัท”

และคงกลัวรายย่อยจะ “รวย” ในอนุพันธ์กระมัง

ช่วงเย็นผมได้คุยกับเพื่อนเทรดเดอร์ท่านหนึ่ง ถึงมุมมองต่อตลาดที่เกิดขึ้นในวันนี้ว่าส่งสัญญาณอะไรบ้าง เพื่อต้องการความเห็นจากหลายๆ คน เพราะเมื่อผมเกิด Bias ขึ้น การคิดวิเคราะห์มันก็จะ Bias ได้เหมือนกัน จึงจำเป็นต้องเปรียบเทียบกับหลายๆ ความคิดเห็น

ซึ่งก็ใกล้เคียงกับที่ผมคิดไว้คือ ราคาอาจจะย่อลงมาเพื่อปิด Gap ที่เปิดไว้ในวันอังคารแถวๆ 782 หากต่างชาติยังรุมซื้อกันอยู่ ก็มีโอกาสที่จะขึ้นไปทดสอบระดับ 800 จุด จากนั้นจึงจะเป็นการปรับฐาน “อย่างที่มันควรจะเป็น” ได้แล้ว

ซึ่งระยะเวลาก็ยังคงอยู่ที่ผมได้ฟันเฟิร์มไว้เมื่อวันจันทร์ คือ ปรับฐานแน่ ในช่วง 1-2 สัปดาห์นี้

ช่วงค่ำ ผมมีโอกาสได้นั่งอ่านหนังสือเกี่ยวกับการเก็งกำไรของชาวสวิส ชื่อว่า The Zurich Axioms: เล็งให้แม่น เก็งให้รวย โดย Max Gunther แปลโดย ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ ซึ่งเป็นหนังสือในเครือซีเอ็ดบุ๊ค



มีความตอนหนึ่งในบทที่ 1 หน้า 22-23 ผู้เขียนได้อ้างถึงพุทธศาสนาในความเข้าใจที่ผิดๆ ว่า “ความสงบหลีกหนีความกังวล” ในคำสอนของพุทธ ทำให้ “จน”

และได้อ้างถึงงานเขียนของ ซิกมัน ฟรอยด์ ที่เหน็บแนมผู้ที่ปฏิบัติเพื่อแสวงหาความสงบ ว่าเป็นผู้ที่ “เสียเปรียบ” เพราะได้แค่ความสุขจาก “ความสงบ” ไม่ได้รับความสุขจาก “ความผจญภัย” และ “ความเสี่ยง”

ผมขอนำข้อความดังกล่าวมาอ้างถึง และขออนุญาตซีเอ็ดไว้ ณ ที่นี้ด้วย

“.....
คำสั่งสอนในพุทธศาสนาบางข้อถึงกับกล่าวไว้ว่า “มนุษย์เราไม่ควรดิ้นรนแสวงหาสิ่งของมาไว้ในครอบครองให้มากเกินไปจนทำให้เกิดความโลภ แต่ควรจะบริจาคสิ่งที่ตนเองมีให้กับผู้อื่นเสียด้วยซ้ำ” รากฐานของคำสั่งสอนดังกล่าวคือ “ยิ่งคุณเป็นเจ้าของทรัพย์สินน้อยเพียงใด ความวุ่นวายในจิตใจก็น้อยลงเพียงนั้นด้วย”

อย่างไรก็ดี ปรัชญาที่อยู่เบื้องหลัง “หลักการลงทุนแบบสวิส” กลับเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับคำสั่งสอนข้างต้น จริงอยู่ที่ว่าความกังวลเป็นสิ่งที่ดีในบางครั้ง แต่นักเก็งกำไรชาวสวิสจะบอกกล่าวให้คุณฟังว่า ถ้าหากจุดประสงค์หลักของชีวิตคุณคือการวิ่งหนีความกังวลแล้ว คุณก็จะจนอยู่อย่างนั้นตลอดไป และคุณก็จะมีชีวิตที่น่าเบื่อและไร้ความหมายอย่างที่สุด
......”

“.....
ฟรอยด์ยังได้พูดเหน็บแนมการทำโยคะหรือวิธีปฏิบัติอื่นๆ ในทางศาสนาเพื่อให้บรรลุถึงความสงบ โดยได้เขียนไว้ในหนังสือเล่มหนึ่งว่า “ใครก็ตามที่สามารถบรรลุเป้าหมายของการเล่นโยคะหรือการปฏิบัติเพื่อแสวงหาความสงบ คือผู้ที่ได้สละแล้วซึ่งชีวิต” แต่สละเพื่ออะไรล่ะ? เพราะเขาผู้นั้นก็คงได้แต่ลิ้มรสของความสุขอันเกิดจากความสงบเท่านั้น ซึ่งฟังดูแล้วก็เป็นเรื่องที่เสียเปรียบมากทีเดียว

การผจญภัย คือ สิ่งที่ทำให้ชีวิตมีรสชาติและน่าอยู่มากขึ้น และโอกาสที่คุณจะร่วมผจญภัยก็คือการลองเสี่ยงด้วยตนเองเป็นครั้งเป็นคราว
.....”


ข้อเขียนดังกล่าว เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ผู้เขียนนั้นเข้าใจพุทธศาสนาเพียงแค่ “เปลือก” เท่านั้น โดยเข้าใจว่า.....

“ความสงบ” คือ การไม่ดิ้นรนเพื่อ “หาเงิน” และ

“ความสงบ” คือ การอยู่เฉยๆ นิ่งๆ ไม่ออกไปผจญภัย หรือ ทำอะไรเลย

ในบทความต่อๆ มาเกี่ยวกับเทรดเดอร์ชื่อ ลิเวอร์มอร์ ในหน้า 27-29 เกี่ยวกับความชื่นชอบในความ “กังวล” ว่า

“.....
เขามีความกังวลเกี่ยวกับสิ่งที่เขาเก็บเอาไว้ตลอดเวลา แม้กระทั่งเวลานอน แต่เขาก็ได้กล่าวเสริมขึ้นว่าเขาพอใจกับมัน “มันคือวิถีทางที่ผมต้องการ ผมจะไม่มีวันสนุกกับชีวิตเลย ถ้าหากผมรู้อยู่แก่ใจตลอดเวลาว่าผมจะรวยขนาดไหนในวันรุ่งขึ้น”
.....”

และผู้เขียนก็ชื่นชอบความ “กังวล” ว่าดี เป็นหนทางที่ชาวสวิสชื่นชอบ เพราะทำให้ชีวิต “ไม่น่าเบื่อและไร้ความหมาย”

ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ผู้เขียนไม่เข้าใจในแก่นพุทธศาสน์ เลยว่าให้ “ปล่อยวาง” ใน “กองทุกข์” ที่เกิดขึ้น เมื่อความ “กังวล” บังเกิดขึ้น ก็ให้ทำการ “ปล่อยวาง” ในทุกข์นั้น ไม่ใช่มาทำให้ชีวิตประจำวันเกิดความเครียด กังวลแม้กระทั่งเวลานอน

ผมอยากจะชี้ให้เห็นว่า “ความกังวล” นั้น เป็นส่วนหนึ่งของ “ทุกข์” ที่ต้อง “ปล่อยวาง”

และการปล่อยวางเพื่อ “ความสงบ” ก็ไม่ใช่การไม่ลงมือทำอะไร หรือ ไม่ออกไปผจญภัยแต่อย่างใด ในคำสอนขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตรัสไว้ใน อริยสัจ 4 คือ.....

ให้รู้ว่าอะไรเป็นทุกข์ สาเหตุของการเกิดทุกข์ หนทางแห่งการดับทุกข์ และการป้องกันไม่ให้ทุกข์ใหม่เกิดขึ้นอีก เมื่อทำได้ครบ คือทุกข์ใหม่ไม่บังเกิด นั่นคือนิพพาน จบการเวียนว่ายตายเกิด

แต่สำหรับปุถุชนทั่วไป เช่น เทรดเดอร์ เมื่อกองทุกข์เกิดขึ้น ก็ให้รับรู้ไปที่ตัวทุกข์ รู้ถึงสาเหตุ และรีบดับทุกข์ จากนั้นจึงใช้องค์มรรคเพื่อป้องกันไม่ให้ทุกข์ใหม่เกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นได้ยากกว่าเดิมสำหรับปุถุชนทั่วไป วนเวียนแบบนี้ไปเรื่อยๆ นั่นคือ

เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป นั่นเอง…..



“ไม่ใช่ สงบ สงัด อย่างเดียว แล้วสมองกลวง ไม่ลงมือลงไม้ทำอะไร”

โดยข้อมูลอริยสัจ 4 ดังกล่าวนำมาจาก วิกิพีเดีย ดังนี้

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ทุกข์
ทุกข์ในทางพระพุทธศาสนา ถือเป็นกิจในอริยสัจ 4 ที่ชาวพุทธต้องกำหนดรู้เพื่อละและปล่อยวางในลำดับต่อไปในกิจทั้งสี่ในอริยสัจ อันได้แก่ รู้ทุกข์ เพื่อค้นหาสาเหตุในการดับทุกข์ (สมุทัย) แล้วจึงตั้งจุดมุ่งหมายในการดับทุกข์ (นิโรธ) และดำเนินตามเส้นทางสู่ความดับทุกข์ (มรรค) คือสละ ละ ปล่อยวาง ไม่ยึดติดในใจด้วยอำนาจกิเลส

ทุกข์เป็นความจริงอันประเสริฐข้อที่ 1 ในอริยสัจจ์ 4 ทุกขอริยสัจจ์ ซึ่งพระพุทธองค์ได้อธิบายไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตรดังนี้

1. ชาติ หมายถึง ความเกิด ความบังเกิด ความหยั่งลงเกิด เกิดจำเพาะ ความปรากฏแห่งขันธ์ ความได้อายตนะครบ ในหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ

2. ชรา หมายถึง ความแก่ ภาวะของความแก่ ฟันหลุด ผมหงอก หนังย่นเป็นเกลียว ความเสื่อมแห่งอายุ ความแก่หง่อมแห่งอินทรีย์ ในหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ

3. มรณะ หมายถึง ความเคลื่อน ภาวะของความเคลื่อน ความแตกทำลาย ความหายไป มฤตยู ความตาย ความทำกาละ ความทำลายแห่งขันธ์ ความทอดทิ้งซากศพไว้ ความขาดแห่งชีวิตินทรีย์ จากหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ

4. โสกะ หมายถึง ความแห้งใจ กิริยาที่แห้งใจ ภาวะแห่งบุคคลผู้แห้งใจ ความผาก ณ ภายใน ความแห้งผาก ณ ภายใน ของบุคคลผู้ประกอบด้วย ความพิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ถูกธรรมคือ ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่ง กระทบแล้ว

5. ปริเทวะ หมายถึง ความคร่ำครวญ ความร่ำไรรำพัน กิริยาที่คร่ำครวญ กิริยาที่ร่ำไรรำพัน ภาวะของบุคคลผู้คร่ำครวญ ภาวะของบุคคลผู้ร่ำไรรำพัน ของบุคคลผู้ประกอบด้วย ความพิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ถูกธรรมคือทุกข์ อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบแล้ว

6. ทุกข์ (กาย) หมายถึง ความลำบากทางกาย ความไม่สำราญทางกาย ความเสวยอารมณ์ อันไม่ดีที่เป็นทุกข์เกิดแต่ กายสัมผัส

7. โทมนัส หมายถึง ความทุกข์ทางจิต ความไม่สำราญทางจิต ความเสวยอารมณ์อันไม่ด ีที่เป็นทุกข์เกิดแต่ มโนสัมผัส (สัมผัสทางใจ นึกคิดขึ้นมา)

8. อุปายาส หมายถึง ความแค้น ความคับแค้น ภาวะของบุคคลผู้แค้น ภาวะของบุคคลผู้คับแค้น ของบุคคล ผู้ประกอบด้วยความพิบัติ อย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ถูกธรรมคือ ทุกข์ อย่างใดอย่างหนึ่ง กระทบแล้ว

9. ความประจวบกับสิ่งไม่เป็นที่รัก หมายถึง ความประสบ ความพรั่งพร้อม ความร่วม ความระคน ด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (ความรู้สึกทางกาย) อันไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ หรือด้วย บุคคลผู้ปรารถนาสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ปรารถนาสิ่งที่ไม่เกื้อกูล ปรารถนาความไม่ผาสุก ปรารถนาความไม่เกษมจากโยคะ (กิเลส) ซึ่งมีแก่ผู้นั้น

10. ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก หมายถึง ความไม่ประสบ ความไม่พรั่งพร้อม ความไม่ร่วม ความไม่ระคน ด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หรือด้วยบุคคลผู้ปรารถนาประโยชน์ ปรารถนาสิ่งที่เกื้อกูล ปรารถนาความผาสุก ปรารถนาความเกษม จากโยคะ คือ มารดา บิดา พี่ชาย น้องชาย พี่หญิง น้องหญิง มิตร อมาตย์ หรือ ญาติสาโลหิต ซึ่งมีแก่ผู้นั้น

11. ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น หมายถึง ความปรารถนาย่อมบังเกิดแก่ สัตว์ผู้มีความเกิดเป็นธรรมดา สัตว์ผู้มีความแก่เป็นธรรมดา สัตว์ผู้มีความเจ็บเป็นธรรมดา สัตว์ผู้มีความตายเป็นธรรมดา สัตว์ผู้มี โสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาสเป็นธรรมดา อย่างนี้ว่า โอหนอ ขอเราไม่พึงมีความเกิดเป็นธรรมดา ขอความเกิดอย่ามีมาถึงเราเลย ขอเราไม่พึงมีความแก่เป็นธรรมดา ขอความแก่อย่ามีมาถึงเราเลย ขอเราไม่พึงมีความเจ็บเป็นธรรมดา ขอความเจ็บอย่ามีมาถึงเราเลย ขอเราไม่พึงมีความตายเป็นธรรมดา ขอความตายอย่ามีมาถึงเราเลย ขอเราไม่พึงมี โสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาส เป็นธรรมดา ขอโสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาส อย่ามีมาถึงเราเลย สัตว์ไม่พึงได้สมความปรารถนา

สรุปว่าอุปาทานขันธ์ 5 ทั้งหมดนั่นเองที่เป็นทุกข์ เป็นโทษ เป็นภัยที่สุด.

//th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B8%81%E0%B8%82%E0%B8%B1%E0%B8%87


สมุทัย
สมุทัยคือเหตุให้เกิดทุกข์ ทุกสิ่งทุกอย่างมันมีเหตุผลทั้งนั้น เหตุของทุกข์คือตัวสมุทัย เช่น เราต้องการ อยากได้ อยากดี อยากเป็น แล้วขวนขวายหาก็ต้องเดือดร้อนเป็นทุกข์ ได้บ้างไม่ได้บ้าง ถูกใจบ้างไม่ถูกใจบ้าง เศร้าโศกเสียใจเดือดร้อนวุ่นวาย เรียกว่า มันประสบเหตุให้เกิดทุกข์ คือความอยาก พระองค์เรียกว่าตัณหาสามคือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ไม่นอกเหนือไปจากตัณหาสามประการนี้

1. กามตัณหา คือ ความอยากได้ คนเกิดขึ้นมาด้วยกาม กินอยู่ด้วยกาม นอนอยู่ในกาม นั่งอยู่ในกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ไม่หนีไปจากห้าอย่างนี้ ผู้ใดเกิดมาต้องวุ่นวายอยู่กับของเหล่านี้แหละ เดือดร้อนอยู่กับของเหล่านี้ คือมันข้องมันติด ไปไม่หลุด ไปไม่พ้น

2. ภวตัณหา คือความอยากเป็น อยากได้โน่นอยากได้นี่ ได้แล้วก็อยากได้อีก เป็นแล้วก็อยากเป็นอีก ไม่อิ่มไม่พอเป็นสักที นี่ก็เป็นทุกข์ เพราะความไม่อิ่มไม่พอ เรียกว่า ภวตัณหา พระองค์ได้ละแล้ว

3. วิภวตัณหา คือความไม่อยากเป็น ไม่อยากได้โน่นไม่อยากได้นี่ ก็เป็นทุกข์เหมือนกัน เพราะความไม่อยาก จึงเป็นเหตุให้เดือดร้อนเป็นทุกข์เรียกว่า วิภวตัณหา

ขันธวิบากทุกข์ซึ่งยังมีร่างกายอันนี้อยู่จึงจำเป็นจะต้องเสวยทุกข์อยู่ด้วยกันทุกรูปทุกนาม

สมุทัยเป็นของควรละ อย่างความอยาก เราอยากได้โน่น อยากได้นี่ เราไม่เอาละ สละทิ้งเลย ปล่อยวางเลย สละได้จริงๆ นั่นแหละสมุทัยคือ ตัณหา

//th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B8%A2


นิโรธ
นิโรธ 5 หมายถึง ความดับกิเลส ภาวะไร้กิเลสและไม่มีทุกข์เกิดขึ้น มี 5 ประการ ได้แก่

1. วิกขัมภนนิโรธ ดับด้วยข่มไว้ คือ การดับกิเลสของท่านผู้บำเพ็ญฌาน ถึงปฐมฌานขึ้นไป ย่อมข่มนิวรณ์ไว้ได้ ตลอดเวลาที่อยู่ในฌานนั้น

2. ตทังคนิโรธ ดับด้วยองค์นั้นๆ คือ ดับกิเลสด้วยธรรมที่เป็นคู่ปรับ หรือธรรมที่ตรงข้าม เช่น ดับสักกายทิฏฐิด้วยความรู้ที่กำหนดแยกรูปนามออกได้ เป็นการดับชั่วคราวในกรณีนั้นๆ

3. สมุจเฉทนิโรธ ดับด้วยตัดขาด คือ ดับกิเลสเสร็จสิ้นเด็ดขาด ด้วยโลกุตตรมรรค ในขณะแห่งมรรคนั้น ชื่อ สมุจเฉทนิโรธ

4. ปฏิปัสสัทธินิโรธ ดับด้วยสงบระงับ คือ อาศัยโลกุตตรมรรค ดับกิเลสเด็ดขาดไปแล้ว บรรลุโลกุตตรผล กิเลสเป็นอันสงบระงับไปหมดแล้ว ไม่ต้องขวนขวายเพื่อดับอีก ในขณะแห่งผลนั้น ชื่อ ปฏิปัสสัทธินิโรธ

5. นิสสรณนิโรธ ดับด้วยสลัดออกได้ หรือดับด้วยปลอดโปร่งไป คือ ดับกิเลสเสร็จสิ้นแล้ว ดำรงอยู่ในภาวะที่ดับกิเลสแล้วนั้น ยั่งยืนตลอดไป ภาวะนั้นชื่อนิสสรณนิโรธ ได้แก่อมตธาตุ คือ นิพพาน

//th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%98


มรรค
มรรค (ภาษาสันสกฤต : มรฺค; ภาษาบาลี : มคฺค) คือ หนทางถึงความดับทุกข์ เป็นส่วนหนึ่งของอริยสัจ (เรียกว่า มัคคสัจจ์ หรือ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ) และนับเป็นหลักธรรมสำคัญอย่างหนึ่งในพระพุทธศาสนา ประกอบด้วยหนทาง 8 ประการด้วยกัน เรียกว่า "มรรคมีองค์แปด" หรือ "มรรคแปด" (อัฏฐังคิกมรรค) โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. สัมมาทิฏฐิ คือ ปัญญาเห็นชอบ หมายถึงเห็นถูกตามความเป็นจริงด้วยปัญญา
2. สัมมาสังกัปปะ คือ ดำริชอบ หมายถึง การใช้สมองความคิดพิจารณาแต่ในทางกุศลหรือความดีงาม
3. สัมมาวาจา คือ เจรจาชอบ หมายถึงการพูดสนทนา แต่ในสิ่งที่สร้างสรรค์ดีงาม
4. สัมมากัมมันตะ คือ การประพฤติดีงาม ทางกายหรือกิจกรรมทางกายทั้งปวง
5. สัมมาอาชีวะ คือ การทำมาหากินอย่างสุจริตชน
6. สัมมาวายามะ คือ ความอุตสาหะพยายาม ประกอบความเพียรในการกุศลกรรม
7. สัมมาสติ คือ การไม่ปล่อยให้เกิดความพลั้งเผลอ จิตเลื่อนลอย ดำรงอยู่ด้วยความรู้ตัวอยู่เป็นปกติ
8. สัมมาสมาธิ คือ การฝึกจิตให้ตั้งมั่น สงบ สงัด จากกิเลศ นิวรณ์อยู่เป็นปกติ

อริยมรรคมีองค์แปด เป็นทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา) คือทางที่นำไปสู่การพ้นทุกข์ ที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้แล้ว ด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน

มรรคมีองค์แปด สามารถจัดเป็นหมวดหมู่ได้เป็น ศีล สมาธิ ปัญญา

ข้อ 3-4-5 เป็น ศีล (สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ)
ข้อ 6-7-8 เป็น สมาธิ (สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ)
ข้อ 1-2 เป็น ปัญญา (สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ)

//th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%84

---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

จากอริยสัจ 4

ดังนั้น “ความกังวล” จัดได้ว่าเป็นความ “โทมนัส” หรือ ความทุกข์ทางจิต เมื่อเรารู้แล้วว่า “ความกังวล” คือ “กองทุกข์”จึงต้องรู้ไปถึง “สาเหตุของการเกิดความกังวล”

“สาเหตุของการเกิดความกังวล” เกิดจาก ภวตัณหา และ วิภวตัณหา ผสมรวมกัน กล่าวคือ อยากให้หุ้นที่เราซื้อวิ่งขึ้นไป เมื่อวิ่งไป ก็อยากให้วิ่งขึ้นไปอีกเรื่อยๆ และไม่อยากให้หุ้นที่เราซื้อตกลง ไม่อยากให้มีข่าวร้ายใดๆ เข้ามากระทบทำให้หุ้นเราตก

เมื่อเรารู้ถึง “สาเหตุของการเกิดความกังวล” แล้ว เราจะ “ดับความกังวล” ได้อย่างไร

“การดับความกังวล” อันเป็นกองทุกข์ สำหรับปุถุชนทั่วไป เช่น เทรดเดอร์ จึงดับด้วย วิกขัมภนิโรธ และ ตทังคนิโรธ กล่าวคือ การดับความกังวลด้วยสมาธิญาณ และการดับความกังวลด้วยสิ่งที่ตรงข้ามกัน คือ “ความไม่กังวล”

พอเราสามารถดับกองทุกข์แห่ง “ความกังวล” ออกไป เราจะมีวิธีป้องกันตัวเราเองอย่างไรไม่ให้ “ความกังวล” เกิดขึ้นใหม่

“วิธีป้องกันไม่ให้ความกังวลเกิดขึ้น” สรุปสั้นๆ คือ ต้องใช้ ศีล สมาธิ และปัญญา เพื่อป้องกัน โดยหลักๆ แล้วเริ่มจาก.....

สัมมาอาชีวะ ก่อน คือ ทำมาหากินอย่างสุจริตชน การเทรด ก็คืออาชีพแบบสุจริตชน หากเราไม่ทำให้การเทรดเป็นการพนัน ซึ่งถือว่าเป็น “เมรัย” ชนิดหนึ่ง

จากนั้นก็ไล่เรียงกันไปตามองค์มรรค ที่เกิดขึ้น ณ ขณะใดขณะหนึ่งในการเทรด

ซึ่งสำหรับปุถุชนทั่วไป กองทุกข์ใหม่ เช่น “ความกังวล” นั้น เกิดขึ้นได้เสมอ เพราะยังไม่บรรลุ “มรรค ผล นิพพาน”

แต่เมื่อเรารู้เท่าทัน กองทุกข์ เหตุแห่งการเกิดทุกข์ หนทางแห่งการดับทุกข์ และการป้องกันไม่ให้เกิดบนกองทุกข์นั้นๆ

นั่นแหละคือความหมายของคำว่า “สงบ” สำหรับปุถุชนทั่วไป คือ.....

“รู้เท่าทัน” และ

“รีบดับซะ”

ไม่ใช่ สงบ คือ ให้นิ่งๆ เฉยๆ ละทิ้งทุกอย่าง ไม่ทำอะไรเลย ไม่พยายามที่จะทำกำไร หรือ ไม่ออกไปผจญภัยในโลกภายนอก

หากเป็นดังนั้น คุณก็สละทางโลกและ “บวชเรียน” ปฏิบัติธรรมเพียงอย่างเดียวเพื่อเข้าถึง “นิพพาน”

การที่ผู้เขียน เข้าใจเพียงแค่ “เปลือก” ไม่เข้าใจไปถึง “แก่นของพุทธศาสน์” แล้วนำมากล่าวอ้างแบบผิดๆ เช่นนี้ เป็นเรื่องที่ต้องได้รับการทำความเข้าใจให้ท่องแท้ ถูกต้อง เพราะจะนำทางไปสู่หนทางที่ “ผิด” ได้ แม้กระทั่งเป็นชาว “พุทธ” เองก็ตาม

ปัจจุบัน มีให้เห็นมากมายสำหรับชาวพุทธที่เข้าใจเพียงแต่ “เปลือก” ตัวอย่างเช่น

การเข้าใจว่า “หลักกาลามสูตร” สอนให้ลูกอกตัญญูต่อ “พ่อแม่” ไม่ให้เชื่อในคำสั่งสอนของพ่อแม่ จนกว่าจะลองปฏิบัติด้วยตัวเอง

การเข้าใจว่า “การกินหรือฉีดยาปฏิชีวนะเป็นการทำผิดศีลปาณาติบาต” เพราะยาไปทำลาย “ชีวิต” ของ “เชื้อโรค”

การเข้าใจว่า “การบนบานศาลกล่าว พระภูมิ เจ้าที่ คือของศาสนาพุทธ” ทำให้เวลากราบไหว้พระพุทธรูป อันเป็นตัวแทนของ “พระพุทธเจ้า” จึงติดการบนบานศาลกล่าวมาด้วย แทนที่จะระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า

การเข้าใจว่า “ไสยศาสตร์ การปลุกเสก การทำพระเครื่อง คือของศาสนาพุทธ”

ฯลฯ อีกมากมาย

ผมประมาณการณ์ได้ว่า “ชาวพุทธแท้” ที่เข้าใจและศึกษาพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าจริงๆ นั้น มีไม่ถึง 10% ของปุถุชนทั่วไปที่เรียกตัวเองว่า “ชาวพุทธ” ด้วยซ้ำ

ทั้งนี้เป็นเพราะการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่ได้ปลูกฝังให้เด็กๆ ที่นับถือศาสนาพุทธ ได้เข้าใจในศาสนาอย่างจริงจัง และทำให้การศึกษาน่าสนใจ กลับกลายเป็นว่า “วิชาพุทธศาสนา” เป็นวิชาที่น่าเบื่อสำหรับเด็ก และลามมาจนถึงผู้ใหญ่ จนคนวัยชรา ที่ไม่ยอมศึกษา “ศาสนา” เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ “น่าเบื่อ” และ “ไกลตัว”

ทั้งๆ ที่ “ธรรมะ คือ ธรรมชาติ”

ขอจบเรื่องศาสนาพุทธไว้เพียงเท่านี้ เพื่อนใน twitter ฝากลิงค์นี้มาให้ซึ่งดีมากๆ เลยครับ

//www.luangta.com/thamma/thamma_book_search.php

---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

เมื่อวานมีคำถามของคุณ diabloth ดังนี้

สวัสดีครับพี่หมากเขียวมีคำถามมาถามอีกแล้วครับ ว่าระบบที่ผมใช้เทรดมันยังไม่เกิดสัญาณขายแต่ราคามันขึ้นมาจนกำไรเกินค่าเฉลี่ยแล้ว เช่นสมมุติว่าระบบผมเวลามีกำไรจะได้กำไรสูงสุดต่อครั้งคือ50%และเฉลี่ยต่อครั้งคือ25%ถ้าตอนนี้ผมกำไร35%แล้วและสภาพตลาดมันเข้าสู่ภาวะซื้อมากเกินไปพี่ว่าผมควรจะทำอย่างไรดีครับ

1.ขายทำกำไรทั้งหมดเพราะได้กำไรเกินค่าเฉลี่ยแล้ว
2.ถือต่อเพราะระบบยังไม่เกิดสัญญาณขาย
3.ขายบางส่วนเพื่อดึงเอากำไรบางส่วนออกมา
4.แก้ไขระบบโดยเพิ่มตัวแปรอื่นเข้าไปเพื่อแก้ปัญหานี้เช่นถ้าตอนนี้ใช้การตัดกันของEMAก็อาจจะเพิ่มRSIเข้าไปอีกเพื่อแก้ไขการแลคของEMA

ตอบ
ผมจะดูย้อนหลังก่อนว่าระบบที่ใช้ เก็บกำไรมามากน้อยเพียงใด หากช่วงต้นปีเก็บกำไรมาน้อย หรือขาดทุนมา การได้กำไรรอบใหญ่ๆ นี้จนทำให้เกินค่าเฉลี่ยมานิดหน่อย อาจจะไม่ใช่เรื่องแปลก

ต่อมาดูว่า ไม้ต่อไปโอกาสที่จะ “ถูก” มากกว่า “ผิด” หรือเปล่า อย่างระบบของผม MK 105 เก็บกำไรมา 3 ไม้ติดๆ กันแล้ว ดังนั้นไม้ที่ 4 ที่จะเป็นการตัดลงนี้ น่าจะเป็นสัญญาณที่ “ผิด” ผมก็จะปล่อยกำไรไป รอจนกว่ามันจะตัดลงแล้วค่อยปิดสถานะ หรือ ถ้าจังหวะดีๆ ผมก็อาจจะไม่ปิดสถานะเพราะสัญญาณที่บอกให้ปิดทำกำไรนั้น อาจเป็นสัญญาณที่ “ผิด” ครับ

การนำ RSI เข้ามาใช้ในการเก็บกำไร ก็เป็นเครื่องมือที่ดี แต่อาจจะทำให้เรา “ขาย” ออกมาก่อนที่ระบบจะให้ “ขาย” และพลาดกำไรรอบใหญ่ๆ ได้ และก็ขึ้นอยู่ว่าคุณตั้งเงื่อนไขให้ RSI ขึ้นไปถึงระดับใด 70, 80 หรือว่า 90 ถึงให้ขาย

ดังนั้นถ้าให้ผมเลือก 4 ข้อที่คุณว่ามา ผมเลือกข้อ 2 กับ ข้อ 4 แต่ไม่ใช่ RSI อย่างเดียว แต่เป็นปัจจัยอื่นๆ ที่ผมกล่าวไว้ข้างต้น

---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

วันนี้ยาวมากๆ และหนักไปทางศาสนาเป็นส่วนใหญ่ หวังว่าคงจะไม่เบื่อครับ

ป.ล.ในส่วนที่เป็นหลักในการเก็งกำไรนั้น ผมว่าน่าสนใจ ถ้าตัดประเด็นศาสนาออกไป หนังสือเล่มนี้ก็เป็นหนังสือที่เทรดเดอร์ควรอ่านเล่มนึงครับ


"แมงเม่าของเมื่อวันวาน คือ เซียนหุ้นของพรุ่งนี้"



Create Date : 25 มีนาคม 2553
Last Update : 26 มีนาคม 2553 12:12:05 น. 7 comments
Counter : 11600 Pageviews.

 
ขอบคุณครับพี่หมากเขียว
ครั้งนี้ยาวมากเลย ห้าห้า
ผมยังอ่านไม่จบครับ แต่ ขอลงชื่อไว้ก่อนครับ
ขอมีสมาธิเดี๋ยวอ่านต่อ


โดย: Brocobrocco (Brocobrocco ) วันที่: 25 มีนาคม 2553 เวลา:20:03:08 น.  

 
ขอบคุณสำหรับคำตอบครับพี่ เข้ามาอ่านเก็บไว้เป็นประสบการณ์ครับ


โดย: diabloth (diabloth ) วันที่: 25 มีนาคม 2553 เวลา:20:23:59 น.  

 
ขอบคุณมากครับท่านพี่
ติดตามอ่านเสมอครับ :D


โดย: humi วันที่: 25 มีนาคม 2553 เวลา:21:04:59 น.  

 
ขอบคุณครับ

อูย ยาวๆ แบบนี้

ต้อง Print ไปอ่านล่ะ



โดย: afood วันที่: 25 มีนาคม 2553 เวลา:21:39:17 น.  

 
สุดยอดครับ


โดย: Catrule วันที่: 25 มีนาคม 2553 เวลา:22:54:19 น.  

 
ขอบคุณมากครัับพี่หมากเขียว โดยเฉพาะเรื่องของอริยสัจ 4


โดย: smokerfield วันที่: 26 มีนาคม 2553 เวลา:9:56:05 น.  

 
การเข้าใจผิดเกี่ยวกับพุทธศาสนา
โดยเฉพาะชาวต่างชาติ ซึ่งขาดความเข้าใจที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับพุทธศาสนา

กล่าวได้ว่า ชาวต่างชาติโดยเฉพาะ "ฝรั่ง" มักจะมองว่า ศาสนาเป็นเพียงเรื่องทางโลกซึ่งเขามีสิทธิที่จะเลือกนับถือ อาจจะไ้ว้เพียงเพื่อแก้ความเหงา ความเบื่อ
หรืออื่นๆตากแต่จะว่าไป
คำว่าศาสนาก็เท่ากับว่าเป็นเพียงวัตถุอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่สัจธรรม
ความเข้าใจเกี่ยวกับคริสตศาสนาในมุมมองของฝรั่ง ก็นำมาซึ่งความเข้าใจในพุทธศาสนาในแบบฉบับของเขา ซึ่งค่อนข้างแตกต่างกันทีเดียว


โดย: ปั้น (sukhum101 ) วันที่: 26 มีนาคม 2553 เวลา:16:09:24 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมากเขียว
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 42 คน [?]




สวัสดีครับทุกท่าน...ผมหมากเขียวแห่งสินธร...จาก Head of Prop Trade สู่ Private Trader อิสรภาพที่รอคอย



สงวนลิขสิทธิ์ © พ.ศ.2553 โดย หมากเขียว™ ห้ามลอกเลียน ทำซ้ำ หรือคัดลอกส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความที่เขียนโดยข้าพเจ้านอกจากจะได้รับอนุญาต

Copyright © 2010.All rights reserved. These articles and photos may not be copied, printed or reproduced in any way without prior written permission of Mhakkeaw™.
Friends' blogs
[Add หมากเขียว's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.