อะไรเล่า เป็นของหนัก....ทำไมถูกเรียกว่าสัตว์..

อะไรเล่า เป็นของหนัก

ภิกษุ ท. ! เราจักแสดงภาระ (ของหนัก)... แก่พวกเธอ. เธอทั้งหลาย
จงฟังข้อนั้น.
ภิกษุ ท. ! อะไรเล่า เป็นของหนัก ? ภิกษุ ท. ! อุปาทานขันธ์ทั้งห้า
นั้นแหละ เรากล่าวว่าเป็นของหนัก. ห้าอย่างเหล่าไหนเล่า ? ห้าอย่างคือ
ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นคือ รูป, ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นคือ
เวทนา, ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นคือ สัญญา, ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่ง
ความยึดมั่นคือ สังขาร, และขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นคือ วิญญาณ.
ภิกษุ ท. ! นี้ เราเรียกว่า ของหนัก แล.
- ขนฺธ. สํ. ๑๗/๓๒/๔๙.

เรียกกันว่า “สัตว์” เพราะติดเบญจขันธ์


“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! คนกล่าวกันว่า ‘สัตว์ สัตว์’ ดังนี้, เขากล่าวกันว่า ‘สัตว์’ เช่นนี้
มีความหมายเพียงไร ? พระเจ้าข้า !”

ราธะ ! ฉันทะ (ความพอใจ) ราคะ (ความกำหนัด) นันทิ (ความเพลิน)
ตัณหา (ความทะยานอยาก) ใด ๆ มีอยู่ ในรูป, สัตว์ ย่อมเกี่ยวข้อง ย่อมติด
ในรูปนั้น ด้วยฉันทราคะเป็นต้นนั้น เพราะฉะนั้น สัตว์นั้น จึงถูกเรียกว่า
“สัตว์ (ผู้ข้องติด)” ดังนี้;
ราธะ ! ฉันทะ ราคะ นันทิ ตัณหา ใด ๆ มีอยู่ในเวทนา, สัตว์ย่อม
เกี่ยวข้อง ย่อมติดในเวทนานั้น ด้วยฉันทราคะเป็นต้นนั้น เพราะฉะนั้น
สัตว์นั้น จึงถูกเรียกว่า “สัตว์” ดังนี้;
ราธะ ! ฉันทะ ราคะ นันทิ ตัณหา ใด ๆ มีอยู่ในสัญญา, สัตว์ย่อม
เกี่ยวข้อง ย่อมติดในสัญญานั้น ด้วยฉันทราคะเป็นต้นนั้น เพราะฉะนั้น
สัตว์นั้น จึงถูกเรียกว่า “สัตว์” ดังนี้;
ราธะ ! ฉันทะ ราคะ นันทิ ตัณหา ใด ๆ มีอยู่ในสังขารทั้งหลาย,
สัตว์ย่อมเกี่ยวข้อง ย่อมติดในสังขารทั้งหลายเหล่านั้น ด้วยฉันทราคะเป็นต้นนั้น
เพราะฉะนั้น สัตว์นั้น จึงถูกเรียกว่า “สัตว์” ดังนี้;
ราธะ ! ฉันทะ ราคะ นันทิ ตัณหา ใดๆ มีอยู่ในวิญญาณ, สัตว์
ย่อมเกี่ยวข้อง ย่อมติดในวิญญาณนั้น ด้วยฉันทราคะเป็นต้นนั้น เพราะฉะนั้น
สัตว์นั้น จึงถูกเรียกว่า “สัตว์” ดังนี้ แล.
- ขนฺธ. สํ. ๑๗/๒๓๒/๓๖๗.

ของหนัก และ สัตว์ มีด้วยอาการดังนี้แล



Create Date : 16 มีนาคม 2556
Last Update : 16 มีนาคม 2556 9:05:08 น.
Counter : 1292 Pageviews.

0 comment
พระศาสดาทรงแสดงธรรมเพราะเห็นความจำเป็น ของสัตว์บางพวก....

5 พระสูตรที่สำคัญ หลังพระศาสดาทรงตรัสรู้แล้ว...

และ...ด้วยบุคคลประเภทนี้เองที่ทำให้ พระศาสดาแสดงซึ่งธรรมอันวิเศษ....

มารทูลให้นิพพาน ๑
อานนท์ ! ครั้งหนึ่งเมื่อเราอยู่ที่ตำบลอุรุเวลา ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา,
ที่ต้นไทรเป็นที่พักร้อนของเด็กเลี้ยงแพะ เมื่อได้ตรัสรู้ใหม่ๆ, มารผู้มีบาปได้เข้า
มาหาเราถึงที่นั้น ยืนอยู่ในที่ควรแล้วกล่าวกะเราว่า “ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า
จงปรินิพพานเถิด ขอพระสุคตจงปรินิพพานเถิด, บัดนี้เป็นเวลาสมควรปรินิพพาน
ของพระผู้มีพระภาคแล้ว”. เราได้กล่าวกะมารนั้นว่า :-
“ท่านผู้มีบาป ! เราจักไม่ปรินิพพานก่อน, ตลอดกาลที่ ภิกษุ...
ภิกษุณี...อุบาสก..อุบาสิกา ผู้เป็นสาวก (และสาวิกา) ของเรา ยังไม่เป็นผู้ฉลาด
________________________________
๑. บาลี มหา. ที. ๑๐/๑๓๑/๑๐๒. ตรัสแก่พระอานนท์ ที่ปาวาลเจดีย์
ยังไม่ได้รับคำแนะนำ ยังไม่แกล้วกล้า ยังไม่เป็นพหุสูต ทรงธรรม ปฏิบัติธรรม
ควรแก่ธรรม ปฏิบัติถูกต้อง ปฏิบัติตามธรรม, ยังต้องเรียนความรู้ของอาจารย์ตน
ต่อไปก่อน จึงจักบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก กระทำให้ตื้น
ซึ่งพระสัทธรรม จนข่มขี่ปรัปวาทที่เกิดขึ้น ให้ราบเรียบโดยธรรมแล้วแสดงธรรม
ประกอบด้วยความน่าอัศจรรย์ได้. ท่านผู้มีบาป ! และเราจักไม่ปรินิพพานก่อน,
ตลอดกาลที่พรหมจรรย์ (คือศาสนา) นี้ ยังไม่ตั้งมั่น รุ่งเรืองแผ่ไพศาล เป็นที่รู้จัก

แห่งชนมาก เป็นปึกแผ่นแน่นหนา จนกระทั่งเทวดาและมนุษย์ ท. สามารถ
ประกาศได้ด้วยดี”.


ทรงท้อพระทัยในการแสดงธรรม ๑
ราชกุมาร ! ความคิดข้อนี้ได้เกิดขึ้นแก่เราว่า “ธรรมที่เราบรรลุแล้วนี้
เป็นธรรมอันลึก สัตว์อื่นเห็นได้ยาก ยากที่สัตว์อื่นจะรู้ตาม, เป็นธรรมระงับ
และประณีต ไม่เป็นวิสัยที่จะหยั่งลงง่าย ๆ แห่งความตรึก เป็นของละเอียด
เป็นวิสัยรู้ได้เฉพาะบัณฑิต, ก็สัตว์เหล่านี้ มีอาลัยเป็นที่ยินดี ยินดีแล้วในอาลัย
เพลิดเพลินแล้วในอาลัย, สำหรับสัตว์ผู้มีอาลัยเป็นที่ยินดี ยินดีเพลิดเพลิน
ในอาลัยนั้น, ยากนักที่จะเป็นปฏิจจสมุปบาทอันมีสิ่งนี้ (คือมีอาลัย) เป็นปัจจัย,
ยากนักที่จะเห็นธรรมเป็นที่สงบระงับแห่งสังขารทั้งปวง, คือ ธรรมอันถอนอุปธิ
ทั้งสิ้น ความสิ้นตัณหา ความคลายกำหนัด ความดับโดยไม่เหลือ และนิพพาน.
หากเราพึงแสดงธรรมแล้วสัตว์อื่นไม่พึงรู้ทั่วถึง ข้อนั้นจักเป็นความเหนื่อยเปล่า
แก่เรา, เป็นความลำบาก แก่เรา.” โอ, ราชกุมาร ! คาถาอันอัศจรรย์เหล่านี้
ที่เราไม่เคยฟังมาแต่ก่อน ได้ปรากฏแจ่มแจ้งแก่เราว่า :-
________________________________
๑. บาลี ม.ม. ๑๓/๔๖๑/๕๐๙. ตรัสแก่โพธิราชกุมาร.
“กาลนี้ ไม่ควรประกาศธรรมที่เราบรรลุได้แล้วโดยยาก. ธรรมนี้,
สัตว์ที่ถูกราคะโทสะรวบรัดแล้ว ไม่รู้ได้โดยง่ายเลย. สัตว์ที่กำหนัด
ด้วยราคะ ถูกกลุ่มมืดห่อหุ้มแล้ว จักไม่เห็นธรรมอันให้ถึงที่ทวน
กระแส, อันเป็นธรรมละเอียดลึกซึ้ง เห็นได้ยากเป็นอณู”. ดังนี้.
ได้ตรัสรู้แล้ว –โปรดปัญจวัคคีย์ ๒๒๓
ราชกุมาร ! เมื่อเราพิจารณาเห็นดังนี้, จิตก็น้อมไปเพื่อความขวนขวายน้อย
ไม่น้อมไปเพื่อการแสดงธรรม.


พรหมอาราธนา ๑
ราชกุมาร ! ครั้งนั้น ความรู้สึกข้อนี้ ได้บังเกิดขึ้นแก่สหัมบดีพรหม
เพราะเธอรู้ความปริวิตกในใจของเราด้วยใจ. ความรู้สึกนั้นว่า “ผู้เจริญ !
โลกจักฉิบหายเสียแล้วหนอ ผู้เจริญ ! โลกจักพินาศเสียแล้วหนอ, เพราะเหตุที่
จิตแห่งพระตถาคต ผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า น้อมไปเพื่อความขวนขวายน้อย,
ไม่น้อมไปเพื่อแสดงธรรม” ดังนี้. ลำดับนั้น สหัมบดีพรหมได้อันตรธานจาก
พรหมโลก มาปรากฏอยู่เฉพาะหน้าเรา รวดเร็วเท่าเวลาที่บุรุษแข็งแรง เหยียดแขน
ออกแล้วงอเข้าเท่านั้น.
ราชกุมาร ! ครั้งนั้น สหัมบดีพรหม ห่มผ้าเฉวียงบ่า ประคองอัญชลี
เข้ามาหาเราถึงที่อยู่ แล้วกล่าวคำนี้กะเราว่า “พระองค์ผู้เจริญ ! ขอพระผู้มีพระภาค
จงแสดงธรรมเพื่อเห็นแก่ข้าพระองค์เถิด, ขอพระสุคตจงแสดงธรรมเถิด, สัตว์ที่มีธุลีในดวงตา
แต่เล็กน้อย ก็มีอยู่, เขาจักเสื่อมเสียเพราะไม่ได้ฟังธรรม. สัตว์ผู้รู้ทั่วถึงธรรม จักมีโดยแท้”
ดังนี้. ราชกุมาร ! สหัมบดีพรหมได้กล่าวคำนี้แล้ว ยังได้กล่าวคำอื่นสืบไปอีก
(เป็นคาถา) ว่า :-
________________________________
๑. บาลี ม.ม. ๑๓/๔๖๒/๕๑๐. ตรัสแก่โพธิราชกุมาร. ปาสราสิสูตร มู.ม. ก็มี.
“ธรรมไม่บริสุทธิ์ ที่คนมีมลทิน ได้คิดขึ้น, ได้มีปรากฏอยู่ในแคว้นมคธแล้ว,
สืบมาแต่ก่อน; ขอพระองค์จงเปิดประตูนิพพานอันไม่ตาย. สัตว์ทั้งหลายจงฟังธรรม
ที่พระองค์ผู้ปราศจากมลทินได้ตรัสรู้แล้วเถิด. คนยืนบนยอดชะง่อนเขา เห็นประชุมชน
ได้โดยรอบ ฉันใด; ข้าแต่พระผู้มีเมธาดี ! ผู้มีจักษุเห็นโดยรอบ ! ขอพระองค์จงขึ้นสู่

ปราสาท อันสำเร็จด้วยธรรม, จักเห็นหมู่สัตว์ผู้เกลื่อนกล่นด้วยโศก ไม่ห่างจาก
ความโศก ถูกชาติชราครอบงำ, ได้ฉันนั้น. จงลุกขึ้นเถิด พระองค์ผู้วีระ !
ผู้ชนะสงครามแล้ว ! ผู้ขนสัตว์ด้วยยานคือเกวียน ! ผู้ไม่มีหนี้สิน ! ขอพระองค์
จงเที่ยวไปในโลกเถิด. ขอพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม สัตว์ผู้รู้ทั่วถึงธรรม
จักมีเป็นแน่” ดังนี้.


ทรงเห็นสัตว์ดุจดอกบัว ๓ เหล่า ๑
ราชกุมาร ! ครั้งนั้น เรารู้แจ้งคำเชื้อเชิญของสหัมบดีพรหมแล้ว,
และเพราะอาศัยความกรุณาในสัตว์ ท. เราตรวจดูโลกด้วยพุทธจักขุแล้ว. เมื่อ
เราตรวจดูโลกด้วยพุทธจักขุอยู่, เราได้เห็นสัตว์ ท. ผู้มีธุลีในดวงตาเล็กน้อยบ้าง
มีมากบ้าง, ผู้มีอินทรีย์แก่กล้าบ้าง อ่อนบ้าง, มีอาการดีบ้าง เลวบ้าง,
อาจสอนให้รู้ได้ง่ายบ้าง ยากบ้าง; และบางพวกเห็นโทษในปรโลก โดยความ
เป็นภัยอยู่ก็มี; เปรียบเหมือนในหนองบัวอุบล บัวปทุม บัวบุณฑริก, ดอกบัว
บางเหล่าเกิดแล้วในน้ำ เจริญในน้ำ อันน้ำพยุงไว้ ยังจมอยู่ในนํ้า, บางเหล่าเกิดแล้ว
ในน้ำ เจริญในน้ำ อันน้ำพยุงไว้ ตั้งอยู่เสมอพื้นนํ้า, บางเหล่าเกิดแล้ว ในน้ำเจริญ
ในน้ำ อันน้ำพยุงไว้ โผล่ขึ้นพ้นนํ้า อันน้ำไม่ถูกแล้ว, มีฉันใด, ราชกุมาร !
________________________________
๑. บาลี. ม.ม. ๑๓/๔๖๓/๕๑๑. ตรัสแก่โพธิราชกุมาร. ปาสราสิสูตร มู.ม. ก็มี.
เราได้เห็นสัตว์ทั้งหลายเป็นต่างๆ กันฉันนั้น. ราชกุมาร ! ครั้งนั้น เราได้รับรอง

กะสหัมบดีพรหมด้วยคำ (ที่ผูกเป็นกาพย์) ว่า :-

“ประตูแห่งนิพพานอันเป็ นอมตะ เราเปิ ดไว้แล้วแก่สัตว์เหล่านั้น,
สัตว์เหล่าใดมีโสตประสาท สัตว์เหล่านั้น จงปลงศรัทธาลงไปเถิด,
ดูก่อนพรหม ! เรารู้สึกว่ายาก จึงไม่กล่าวธรรมอันประณีต
ที่เราคล่องแคล่วชำนาญ ในหมู่มนุษย์ ท.” ดังนี้.
ราชกุมาร ! ครั้งนั้น สหัมบดีพรหม รู้ว่า ตนเป็นผู้ได้โอกาสอัน
พระผู้มีพระภาค ทรงกระทำแล้วเพื่อแสดงธรรม, จึงไหว้เรากระทำประทักษิณแล้ว
อันตรธานไปในที่นั้น นั่นเอง.


ทรงแสดงธรรมเพราะเห็นความจำเป็น
ของสัตว์บางพวก ๑
ภิกษุ ท. ! บุคคลบางคนในโลกนี้ ได้เห็นหรือไม่ได้เห็นตถาคตก็ตาม
ได้ฟังหรือไม่ได้ฟังธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้วก็ตาม ก็หาเข้ามาสู่คลอง
แห่งกุศลธรรมได้ไม่. แต่บุคคลบางคนในโลกนี้ ได้เห็นหรือไม่ได้เห็นตถาคตก็ตาม
ได้ฟังหรือไม่ได้ฟังธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้วก็ตาม ย่อมเข้ามาสู่คลอง
แห่งกุศลธรรมทั้งหลายได้โดยแท้. ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ ต่อเมื่อได้เห็นตถาคต

หรือได้ฟังธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว จึงเข้ามาสู่คลองแห่งกุศลธรรม
ทั้งหลายได้ ถ้าไม่ได้เห็นตถาคต หรือไม่ได้ฟังธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว
ย่อมไม่เข้ามาสู่คลองแห่งกุศลธรรมทั้งหลายได้เลย.
________________________________
๑. บาลี ติก. อํ. ๒๐/๑๕๒/๔๖๑. ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย.
ภิกษุ ท. !
ในบุคคล ๓ ประเภทนั้น มีบุคคลอยู่ประเภทหนึ่ง ซึ่ง
ต่อเมื่อได้เห็นตถาคตหรือได้ฟังธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว จึงจะเข้ามาสู่คลอง

แห่งกุศลธรรมทั้งหลายได้, ถ้าไม่ได้เห็นตถาคต หรือไม่ได้ฟังธรรมวินัยที่ตถาคต
ประกาศแล้ว ย่อมไม่เข้ามาสู่คลองแห่งกุศลธรรมทั้งหลายได้เลย. เราเพราะเห็น
แก่บุคคลประเภทนี้แหละ จึงอนุญาตให้มีการแสดงธรรม. และเพราะอาศัยบุคคล
ประเภทนี้เป็นหลักอีกเหมือนกัน จึงจำต้องแสดงธรรมแก่บุคคลประเภทอื่นด้วย.




Create Date : 15 มีนาคม 2556
Last Update : 15 มีนาคม 2556 10:34:38 น.
Counter : 855 Pageviews.

0 comment
ผู้เห็นแต่จะทะเลาะวิวาท..(คนในสังคมวันนี้ควรใคร่ครวญ)

ผู้เห็นแต่จะทะเลาะวิวาท๑
ภิกษุ ท. ! พอที ! พวกเธอทั้งหลาย อย่าหมายมั่นกันเลย, อย่า
ทะเลาะกันเลย, อย่าโต้เถียงกันเลย อย่าวิวาทกันเลย (ดังนี้ถึง ๒-๓ ครั้ง).
เมื่อตรัสอย่างนี้แล้ว มีภิกษุบางรูปทูลขึ้นว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นธรรมสามี !
ขอพระองค์จงหยุดไว้ก่อนเถิด พระเจ้าข้า ! ขอจงทรงขวนขวายน้อยเถิด พระเจ้าข้า ! ข้าแต่พระ
ผู้มีพระภาคเจ้า ! ขอจงทรงประกอบในสุขวิหารในทิฏฐธรรม อยู่เถิด พระเจ้าข้า ! พวก
ข้าพระองค์ทั้งหลายจักทำให้เห็นดำเห็นแดงกัน ด้วยการหมายมั่นกัน ด้วยการทะเลาะกัน ด้วย
การโต้เถียงกันด้วยการวิวาทกัน อันนี้เอง” ดังนี้.
กาลนั้นแล ในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงครองจีวร ถือบาตร เสด็จเข้าไปสู่เมือง
โกสัมพี เพื่อบิณฑบาต. ครั้นทรงเที่ยวบิณฑบาตในเมืองโกสัมพีแล้ว ภายหลังภัตตกาล กลับจาก
บิณฑบาตแล้ว ทรงเก็บบริกขารขึ้นมาถือไว้ แล้วประทับยืน ตรัสคาถานี้ว่า :-
“คนไพร่ ๆ ด้วยกัน ส่งเสียงเอ็ดตะโร แต่หามีคนไหนสำคัญ
ตัวว่า เป็นพาลไม่. เมื่อหมู่แตกกัน ก็หาได้มีใครรู้สึกเป็นอย่างอื่น
ให้ดีขึ้นไปกว่านั้นได้ไม่.
พวกบัณฑิตลืมตัว สมัครที่จะพูดตามทางที่ตนปรารถนาจะพูด
อย่างไร ก็พูดพล่ามไปอย่างนั้น หาได้นำพาถึงกิเลสที่เป็นเหตุแห่งการ
ทะเลาะกันไม่.”

พวกใด ยังผูกใจเจ็บอยู่ว่า ‘ผู้นั้นได้ด่าเรา ได้ทำร้ายเรา ได้เอา
ชนะเรา ได้ลักทรัพย์ของเรา’ ; เวรของพวกนั้น ย่อมระงับไม่ลง.
พวกใด ไม่ผูกใจเจ็บ ‘ผู้นั้นได้ด่าเรา ได้ทำร้ายเรา ได้เอาชนะ
เรา ได้ลักทรัพย์ของเรา’ ; เวรของพวกนั้น ย่อมระงับได้.
ในยุคไหนก็ตาม เวรทั้งหลาย ไม่เคยระงับได้ด้วยการผูกเวร
เลย, แต่ระงับได้ด้วยไม่มีการผูกเวร. ธรรมนี้เป็นของเก่าที่ใช้ได้
ตลอดกาล.
คนพวกอื่น ไม่รู้สึกว่า ‘พวกเราจะแหลกลาญก็เพราะเหตุนี้’ ;
พวกใด สำนึกตัวได้ในเหตุที่มีนั้น ความมุ่งร้ายกันย่อมระงับได้
เพราะความรู้สึกนั้น.
ความกลมเกลียวเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน (ในการทำตามกิเลส) ยัง
มีได้แม้แก่พวกคนกักขฬะเหล่านั้น ที่ปล้นเมืองหักแข้งขาชาวบ้าน
ฆ่าฟันผู้คน แล้วต้อนม้า โค และขนเอาทรัพย์ไป ; แล้วทำไมจะ
มีแก่พวกเธอไม่ได้เล่า ?
ถ้าหากไม่ได้สหายที่พาตัวรอด เป็นปราชญ์ ที่มีความเป็นอยู่ดี
เป็นเพื่อนร่วมทางแล้วไซร้, ก็จงทำตัวให้เหมือนพระราชา ที่ละ
แคว้นซึ่งพิชิตได้แล้วไปเสีย แล้วเที่ยวไปคนเดียว ดุจช้างมาตังคะ
เที่ยวไปในป่าตัวเดียว ฉะนั้น.
การเที่ยวไปคนเดียว ดีกว่า เพราะไม่มีความเป็นสหายกันได้กับ
คนพาล. พึงเที่ยวไปคนเดียว และไม่ทำบาป ; เป็นคนมักน้อย
ดุจช้างมาตังคะ เป็นสัตว์มักน้อย เที่ยวไปในป่า ฉะนั้น”.
ดังนี้แล้ว ได้เสด็จไปยัง พาลกโลณการคาม.

๑. บาลี พระพุทธภาษิต อุปักกิเลสสูตร อุปริ. ม. ๑๔/๒๙๕/๔๔๐, ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายผู้ทิ่มแทงกัน
ด้วยหอกคือปาก จนภิกษุรูปหนึ่ง ทูลขอร้องให้พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไประงับเหตุ ณ ที่โฆสิตาราม ใกล้เมืองโกสัมพี.
 ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์

พระสูตรนี้มีประโยชน์มาก หากใคร่ครวญด้วยปัญญา และแทงตลอดด้วยความเห็น...

1.คนไพร่เมื่อส่งเสียงด่าทอ ก็หามองเห็นว่าตนเป็นคนพาลไม่

2.คนมีการศึกษา เมื่อลืมตัวทำในสิ่งที่ไม่ควร ก็หามองเห็นว่าตนคือในการทำสิ่งนั้นไม่

3.พวกที่ผูกใจเจ็บ เวรย่อมระงับไม่ได้ ส่วนพวกที่ไม่ผูกใจเจ็บ เวรย่อมระงับลงได้

    เวรย่อมระงับด้วยการไม่ผูกเวร

4.ความกลมเกลียวยังมีได้กับคนพาล แล้วทำไมจะมีไม่ได้กับผู้มีการศึกษา

5.หากไม่มีเพื่อนที่ดีที่จะคบหา สู้ไปคนเดียวแล้วไม่ทำอกุศลยังจะดีกว่า.....

****ขอให้ใคร่ครวญด้วยปัญญานะครับ



Create Date : 14 มีนาคม 2556
Last Update : 14 มีนาคม 2556 10:10:35 น.
Counter : 781 Pageviews.

0 comment
ภวตัณหาบริบูรณ์.ได้ด้วยอาการอย่างนี้
ภวตัณหาบริบูรณ์.ได้ด้วยอาการอย่างนี้
การไม่สำรวมอินทรีย์บริบูรณ์แล้ว ย่อมทำทุจริต ๓ ประการให้บริบูรณ์ ;
ทุจริต ๓ ประการบริบูรณ์แล้ว ย่อมทำนิวรณ์ ๕ ประการให้บริบูรณ์ ;
นิวรณ์ ๕ ประการบริบูรณ์แล้ว ย่อมทำอวิชชาให้บริบูรณ์ ;
อวิชชาบริบูรณ์แล้ว ย่อมทำภวตัณหาให้บริบูรณ์.
ภิกษุ ท. ! อาหารแห่งภวตัณหานี้ ย่อมมีได้ด้วยอาการอย่างนี้และ
บริบูรณ์แล้วด้วยอาการอย่างนี้.

- ทสก.อํ.๒๔/๑๒๔/๖๒.

****นี่คืออาหารของ ภวตัณหา...




Create Date : 13 มีนาคม 2556
Last Update : 13 มีนาคม 2556 9:56:49 น.
Counter : 851 Pageviews.

0 comment
นั่นแหละ คือที่สุดแห่งทุกข์ ละ......

“สิ่งนั้น” หาพบในกายนี้

“แน่ะเธอ ! ที่สุดโลก แห่งใด อันสัตว์ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่
อุบัติ; เราไม่กล่าวว่าใคร ๆ อาจรู้ อาจเห็น อาจถึง ที่สุดแห่งโลกนั้น ด้วยการไป.
“แน่ะเธอ ! ในร่างกายที่ยาวประมาณวาหนึ่งนี้ ที่ยังประกอบด้วย
สัญญาและใจนี่เอง, เราได้บัญญัติโลก, เหตุให้เกิดโลก, ความดับสนิท
ไม่เหลือของโลก, และทางดำเนินให้ถึงความดับสนิทไม่เหลือของโลก ไว้”
ดังนี้แล.
- จตุกฺก. อํ. ๒๑/๖๒/๔๕.

เมื่อ “เธอ” ไม่มี!
พาหิยะ ! เมื่อใดเธอเห็นรูปแล้ว สักว่าเห็น, ได้ฟังเสียงแล้วสักว่าฟัง,
ได้กลิ่น, ลิ้มรส, สัมผัสทางผิวกาย, ก็สักว่า ดม ลิ้ม สัมผัส, ได้รู้แจ้งธรรมารมณ์
ก็สักว่าได้รู้แจ้ง แล้ว ; เมื่อนั้น “เธอ” จักไม่มี. เมื่อใด “เธอ” ไม่มี; เมื่อ
นั้นเธอก็ไม่ปรากฏในโลกนี้, ไม่ปรากฏในโลกอื่น, ไม่ปรากฏในระหว่าง
แห่งโลกทั้งสอง : นั่นแหละ คือที่สุดแห่งทุกข์ ละ.
- อุ. ขุ. ๒๕/๘๓/๔๙.




Create Date : 12 มีนาคม 2556
Last Update : 12 มีนาคม 2556 9:20:10 น.
Counter : 878 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  

รู้ธรรม
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]



ภิกษุทั้งหลาย จักไม่บัญญัติสิ่งที่ไม่เคยบัญญัติ จักไม่เพิกถอนสิ่งที่บัญญัติ
ไว้แล้ว, จักสมาทานศึกษาในสิกขาบทที่บัญญัติไว้แล้วอย่างเคร่งครัด
All Blog