|
|
|
| 1 | 2 |
3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 |
10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 |
17 | 18 | 19 | 20 | 21 | 22 | 23 |
24 | 25 | 26 | 27 | 28 | 29 | 30 |
|
|
|
|
- ตอบคำถาม
เอาละ อาตมาพูดไว้นี้ก็เยอะแยะแล้ว ไม่ทราบจะมีเวลาเหลือที่จะถามตอบปัญหากันอีกหรือเปล่า ต่อไปนี้ก็เรียกว่ามาคุยกัน โดยวิธีของการซักถามตอบปัญหา ใครมีอะไรก็ยกตั้งเป็นคำถามขึ้นมา ขอเชิญ
ถาม: อย่างนั้น นรกที่เขาว่ากันไว้ ที่มีกระทะทองแดง ก็คงจะไม่มีจริงหรือ ? ตอบ: อ้าว ต้องขอโทษนะ ได้บอกว่านรก-สวรรค์ในพระไตรปิฎกมี ๓ ระดับ คือ ๑. ระดับที่ว่าเป็นแหล่งเป็นโลก เป็นภพอะไรนั่นน่ะ ที่ว่าหลังจากตายไปแล้ว จะไปประสบหรือไปเกิด อันนี้ถ้าถือตามตัวอักษร พระไตรปิฎกก็มี แต่บอกว่า ถึงแม้ว่ามี ก็อย่าเอาไปปนกับวรรณคดี หรือภาพจิตรกรรมฝาผนังว่าจะต้องวิจิตรพิสดารถึงอย่างนั้น เพราะเป็นธรรมดาของนักวรรณคดี ที่จะต้องมีจินตนาการและวิธีพูดวิธีทำ ให้คนเห็นจริงเห็นจังมากขึ้นคือต้องมีการปรุงแต่งสูง แต่ว่าแก่นนั้นมีอยู่ ก็ลองๆ ไปอ่านดูในพระสูตรที่อาตมาอ้างไว้เมื่อกี้นี้ ก็จะมีกล่าวถึงวิธีการลงโทษอะไรต่ออะไรเหมือนกัน ก็ไม่ได้ปฏิเสธขั้นนี้แต่อย่าไปปรุงแต่งให้วิจิตรพิสดารถึงขั้นนั้น ถ้าเป็นวรรณคดี มันก็ต้องเสริมกันบ้างละ แม้แต่เรื่องคนธรรมดาก็ยังมีการบรรยายภาพสร้างจินตนาการมากมายจนเลยความจริง อย่างหน้าตาของคนนี้บรรยายความสวยงามจนกระทั่งคนหน้าเป็นพระจันทร์ แล้วคนหน้ากลมเป็นพระจันทร์อย่างนั้น มันจะไปน่าดูอะไร มันเป็นไปไม่ได้ ถาม: ท่านคะ แต่ที่มีในพระสูตร ก็เรียกได้ว่ามีการปรุงแต่งอยู่ใช่ไหมคะ พูดถึงนรก-สวรรค์ เช่นพยายามบรรยายให้เห็นว่านรกน่ากลัว และสวรรค์สวยงามน่าอยู่ ก็เรียกว่าปรุงแต่งแล้วใช่ไหมคะ ?
ตอบ: ในพระสูตรจริงๆไม่บรรยายวิจิตรพิสดาร แต่ในอรรถกถา ฎีกา พรรณนาเยอะ แต่ก็จัดว่ายังน้อยกว่าทางวรรณคดี เช่น ในเรื่อง ไตรภูมิ ซึ่งเป็นขั้นประมวล แล้วเขียนอธิบายเพิ่มเติม แหล่งสำคัญที่มาของไตรภูมิ ก็มาจากชั้นอรรถกถาฎีกา ในพระไตรปิฎกก็คล้ายๆ เป็นเชื่อ หรือเป็นแกน อรรถกถาฎีกาก็มาอธิบายขยายออกไป เรื่องการบรรยายให้เห็นเป็นภาพพจน์นั้น เกี่ยวกับวิธีพูดด้วยวิธีพูดอย่างที่ว่าให้เห็นภาพพจน์นั้น ต้องพูดจนมองเห็นภาพเลย ถ้าพูดให้เห็นภาพเป็นจริงเป็นจังได้ คนนั้นก็พูดเก่ง สิ่งที่ไม่สามารถมองเห็น มันพูดยาก การจะมาทำให้คนอื่นเข้าใจ ก็ต้องพูดให้เห็นภาพ การพูดให้เห็นภาพนี้ บางทีก็อาจจะต้องมีการสร้างภาพขึ้นมาบ้าง ทีนี้ นรก-สวรรค์นี้ เราลองวิเคราะห์ง่ายๆ ในกรณีที่เมื่อมีจริงอย่างนั้น เป็นภพเป็นภูมิ มันจะเหมือนกับชีวิตในโลกนี้ได้อย่างไร ถ้าเหมือนจริง ก็เห็นด้วยตาสิ แต่นี่มองไม่เห็นด้วยตาใช่ไหม ว่ากันตามหลักนะ นรกนี้เห็นด้วยตาไหม สวรรค์เห็นด้วยตาไหม ไม่เห็น เมื่อไม่เห็น สภาพชีวิตก็ต้องไม่เหมือนกับมนุษย์ใช่ไหม เมื่อไม่เหมือน วิธีการลงโทษ ความทุกข์ทรมานอะไรๆ นี้จะต้องแปลกไป ไม่เหมือนกับของมนุษย์ ถาม: มีปัญหากราบเรียนถามท่านต่อไปว่า เมื่อยอมรับว่ามีเป็นภพภูมิเช่นนี้มันอยู่ที่ไหน อยู่ข้างล่างหรือข้างบน ? ตอบ: นี่แหละวรรณคดีก็ว่าตามความรู้สึกของคน แต่ที่จริงในจักรวาลนี้ไม่มีล่างมีบน จะกำหนดที่ไหนเป็นล่างเป็นบนได้ล่ะ
ถาม: ถ้าหากนรก-สวรรค์ขึ้นอยู่กับระดับจิตของคน ทีนี้ คนเราเวลาใกล้จะตาย ถ้าเราคิดดี เราก็จะไปดี ถ้าเผื่อคนที่เป็นโจรมาตลอดชีวิต พอถึงตอนใกล้ตาย เกิดคิดดี เขาก็จะได้ไปดี แต่อีกคนหนึ่งทำดีมาตลอดชีวิต เกิดมาคิดไม่ดีตอนตาย ไม่กลายเป็นว่าทำดีมาตลอดชีวิตแล้ว ไม่ได้รับผลดีตอบสนองเลยหรือคะ ? ตอบ: มี มันเป็นอย่างนั้นได้จริง แต่ว่าไม่ต้องไปกลัวหรอกเอาตัวอย่างเลย เอาเรื่องที่มีในคัมภีร์ เช่น เรื่องพระนางมัลลิกา ซึ่งเป็นสาวกสำคัญของพระพุทธเจ้า ตอนตายนั้น จิตไม่ดีสักหน่อย ก็เลยตกนรกไปเจ็ดวัน เจ็ดวันเท่านั้นแล้ว ก็ไปดี ไปสวรรค์ต่อไป คือเวลาจิตจะดับ สำคัญที่สุดว่าจิตเศร้าหมองหรือผ่องใส คนที่ทำแต่ความชั่วมาตลอด พื้นภูมิของจิตเป็นอย่างนั้นแล้ว จะให้คิดดีได้นั้น มันยากเหลือเกิน จึงเป็นกรณียกเว้น เหมือนกับน้ำที่ไหลบ่าท่วมทำนบไหลแรงมา จะให้ว่ายทวนกระแสนี้ยากที่สุด การสร้างระดับจิตที่เป็นอยู่ธรรมดาหนักไปข้างไหน ก็ทำให้มีแนวโน้มว่า เมื่อตาย จิตจะเป็นอย่างนั้น นี้เอาหลักทั่วไปก่อน กรณียกเว้นนี้ยาก แรงดันไปทางหนึ่ง แล้วจะหักกลับอีกทางนั้น ยากแน่ แต่มันก็มี เป็นกรณียกเว้น ก็ตามเหตุปัจจัยนั่นเอง คนทำดีมาตลอด แต่เวลาตาย อาจจะนึกอะไรสักอย่างไม่ดี ที่เคยทำไว้ ก็เลยเสียไป แต่นรก-สวรรค์ไม่ใช่นิรันดร ต่อไปสิ้นระยะนั้นแล้ว ก็กลับไปดีได้อีก ฝ่ายตรงข้ามก็เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น ไม่ต้องไปกลัว กลับจะเตือนให้ไม่ประมาท แต่ทั่วไปก็ต้องเป็นไปตามแรงสะสม เป็นเรื่องของเหตุของผล แม้แต่ในชาตินี้ ก็เหมือนกัน เหตุปัจจัยซับซ้อน ก็เห็นเป็นยกเว้น
(มีต่อ)
Create Date : 04 พฤศจิกายน 2567 |
Last Update : 4 พฤศจิกายน 2567 14:03:48 น. |
|
0 comments
|
Counter : 56 Pageviews. |
|
|
|
|
|
|
|
|
BlogGang Popular Award#20
|
|
|