 |
|
|
| 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 |
7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 |
14 | 15 | 16 | 17 | 18 | 19 | 20 |
21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26 | 27 |
28 | 29 | 30 | |
|
 |
|
ปัญญาที่แท้ก็ต้องชัด ถ้าไม่ชัดก็ยังไม่เป็นปัญญา |
|
เลิกหมักหมมความคลุมเครือพร่ามัวไว้ในสังคมไทย พัฒนาความเข้มแข็งทางปัญญาด้วยความรู้เข้าใจให้ชัดเจน
ตรงนี้ ก็เลยขอแทรกเรื่องโยงออกไปข้างนอกนิดหน่อยว่า ในสังคมไทยนี้ เต็มไปด้วยสิ่งที่ไม่ชัดเจน ถ้าจะก้าวหน้าเจริญงอกงามได้จริง จะต้องก้าวไปกับความชัดเจน อะไรต่ออะไร เฉพาะอย่างยิ่งความเข้าใจในถ้อยคำที่สื่อไปถึงหลักการทั้งหลาย จะต้องชัดเจน แล้วความชัดเจนนี้ก็จะทำให้เกิดปัญญา ทำให้เจริญปัญญา คือความรู้ความเข้าใจที่ชัดเจนมองเห็นชัดแจ้งนั่นแหละ คือ ปัญญา ปัญญาจะเป็นปัญญาแท้ก็ต้องชัด ถ้าไม่ชัดก็ยังไม่เป็นปัญญา
ในสังคมไทยที่เต็มไปด้วยความไม่ชัดเจน อะไรต่ออะไรคลุมเครือไปหมด รู้ก็รู้กันอย่างพร่าๆ มัวๆ แล้วก็เลยเว้าๆ แหว่งๆ ผิดๆ พลาดๆ เพี้ยนๆ จึงทำให้ปัญญาอ่อนแอ หรือเกิดความอ่อนแอทางปัญญา เป็นอันตราย เป็นตัวกีดกั้นขัดขวางความความเจริญก้าวหน้า
เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา นี้เป็นตัวอย่างสำคัญของความไม่ชัดเจนในสังคมไทย มันเป็นคุณธรรม เป็นจริยะพื้นฐานของสังคมมนุษย์ แต่เราเข้าใจกันผิดเพี้ยนมาก จะต้องรีบแก้ไขปัญหาให้ได้
พูดได้เลยว่า ถ้าเอาพรหมวิหารเข้ามาอยู่ในหลักที่แท้ไม่ได้ สังคมจะเอาดีไม่ได้ แต่ถ้าทำได้ สังคมจะดีแน่นอน มีแค่ ๔ ตัวนี้ สังคมก็ได้หลักประกันแล้ว
ตอนนี้ เรามาถึงหลักธรรมชุดพรหมวิหาร ๔ ที่มีอุเบกขาเป็นหลักคุมท้าย แต่ไม่จบแค่นี้ ธรรมสำหรับสังคมยังมีต่อไปอีก ว่าที่จริงพรหมวิหารนั้นเป็นธรรมประจำใจ เป็นจริยะด้านจิตใจ อย่างที่ได้บอกแล้วว่า พรหมวิหาร คือธรรมประจำใจของท่านผู้มีคุณความดีกว้างขวางยิ่งใหญ่อย่างพระพรหม ทีนี้ เมื่อมันอยู่ในจิตใจอย่างเดียว มันก็ไม่พอ จะต้องออกสู่การปฏิบัติจัดการในสังคม จึงจะเกิดเป็นผลจริงจัง
ในตอนที่ออกสู่ปฏิบัติการในสังคมนั้น จึงมีธรรมะที่จะมารองรับช่วงอีกชุดหนึ่ง ซึ่งก็มี ๔ ข้อเหมือนกัน ก็เลยถือโอกาสนำมากล่าวในที่นี้ด้วย หลักธรรมชุดที่ว่านี้ ไม่เฉพาะท่านผู้พิพากษาเท่านั้นที่จะใช้ แต่ทุกคนในสังคมนี้มีหน้าที่ที่จะปฏิบัติทั้งนั้น เราทุกคนในฐานะผู้อยู่ร่วมสังคม ต้องช่วยกันบำรุงรักษาสังคมด้วยการปฏิบัติให้ถูกต้อง
ถ้ามีเมตตาอยู่ในใจอย่างเดียว เราก็เลยเอาเมตตามานั่งแผ่อยู่นั่น ก็ไม่ต้องทำอะไร เคยมีฝรั่งคนหนึ่งเขียนหนังสือเรื่องเมืองไทย และเรื่องนั้นก็สัมพันธ์กับพระพุทธศาสนา เขาเขียนถึงเมืองไทยบอกว่า พุทธศาสนานี้สอนคนไทยให้เป็นคนดี ให้ทำความดี แล้วทำความดีแบบพุทธศาสนาทำอย่างไร เขาก็ยกตัวอย่างว่า พุทธศาสนาสอนให้ทำความดี ก็ให้นั่งแผ่เมตตา (ไม่ใช่นั่งแผ่เมตตาอย่างเดียว นอนแผ่ด้วยก็ได้ ทั้งนั่งแผ่และนอนแผ่) ตกลงว่า คนไทยเราชาวพุทธนี่เป็นคนดีได้ง่าย แต่ทำได้อย่างเดียว คือนั่งนอนแผ่เมตตา เท่านี้ก็พอ ฝรั่งคนนี้เป็นนักปราชญ์ใหญ่คนหนึ่งของตะวันตกในยุคสมัยใหม่ ชื่อว่า อัลเบิร์ด ชไวเซอร์ (Albert Schweitzer, 1875-1965)
จำได้ว่า ในตอนที่ตั้งคณะรัฐประศาสนศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นขั้นเตรียมการเพื่อจะมาเป็นนิด้า คือ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ในระยะนั้น ก็มีคณะทำงานร่วมประสานกับต่างประเทศ คือฝ่ายไทยกับฝ่ายมหาวิทยาลัยอินเดียน่า ทำนอง consortium ก็มีอาจารย์อเมริกันท่านหนึ่ง ที่มีบทบาทสำคัญในงานนี้ คือ Professor Joseph L. Sutton ท่านผู้นี้ ก็เขียนหนังสือขึ้นมาเกี่ยวกับเรื่องรัฐประศาสนศาสตร์ในเมืองไทย มีชื่อทำนองว่า Problems of Politics and Administration in Thailand ท่านก็ยกคำของท่านอัลเบิร์ด ชไวเซอร์ นั้นมาอ้าง เพื่อย้ำว่า พุทธศาสนานี้แหละ เป็นตัวอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาสังคมไทย
ตอนนั้นก็มีครูอาจารย์ ท่านผู้ใหญ่ผู้น้อยของไทย ออกมาว่ากล่าว บ้างก็ถึงขั้นที่เรียกว่าด่าศาสตราจารย์ผู้นี้กันพักหนึ่ง ก็ทำให้คิดว่าอย่าไปด่าเขาเลย คือควรวางใจเป็นกลาง นี่แหละอุเบกขา คือ เราวางใจเรียบสงบรับฟังก่อน เพราะว่า ด้านหนึ่ง เราอาจจะมีข้อบกพร่องให้เขาเห็น เป็นจุดปรารภ เราก็จะได้ตรวจสอบและมาปรับปรุงแก้ไขตัวเอง อีกด้านหนึ่ง เราก็ดูให้ชัด ถ้าเขาเข้าใจผิดในหลักธรรม เราก็ต้องชี้แจงให้เขาเข้าใจให้ถูกต้องต่อไป
พระพุทธเจ้าตรัสสอนพระไว้ว่า ถ้าใครมาด่าพระพุทธเจ้า ด่าพระธรรม ด่าพระสงฆ์ ก็อย่าไปโกรธเขา ให้ฟังและพิจารณา ถ้าเขาพูดไม่ถูก ก็ค่อยๆ พูดชี้แจงแก้ไขด้วยปัญญา ว่าไปตามความเป็นจริง อันนี้ก็เหมือนกัน เราควรจะได้ประโยชน์จากดคนที่ด่าเรา ถ้าเราไม่ฟัง เราอาจจะเสียประโยชน์เปล่า เขาอุตส่าห์คิดตั้งนานกว่าจะมาด่าได้ บางคนคิดนานเป็นเดือนเป็นปีก็มี ท่านศาสตราจารย์ผู้นี้น่ะแน่นอน ต้องคิดต้องค้นอย่างน้อยก็เป็นเดือนเลยกว่าจะด่าหรือติเตียนออกมาได้ ท่านเสียพลังงานไปเยอะ เราควรจะได้ประโยชน์จากคำติคำด่าของท่าน
การที่เราจะได้ประโยชน์จากคำติคำคำด่าของเขา ก็โดยเอามาตรวจสอบมองดูตัวเอง โดยเฉพาะสังคมของเรา ว่าเป็นอย่างที่เขาว่าไหม แต่ต้องดูเป็นด้วยนะ ส่วนทางด้านฝรั่ง เราก็ต้องเข้าใจเขาด้วย
ฝรั่งมาเป็นนักวิชาการ พอจะดูพุทธศาสนา เขามักมีจุดอ่อนอย่างหนึ่ง คือ เขาคุ้นชินมากับศาสนาแบบบังคับความเชื่อในสังคมของเขา ซึ่งเมื่อเห็นคนที่เชื่อปฏิบัติอย่างไร ความเชื่อที่เป็นหลักของศาสนาก็มักจะอย่างนั้น แต่พุทธศาสนาไม่ใช่ศาสนาแบบนั้น (พวกที่ศึกษาเรื่องศาสนาอย่างจริงจัง จึงมักไม่ยอมเรียกพุทธศาสนาว่าเป็นศาสนาในความหมายของศัพท์ฝรั่งว่า religion) แต่พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ให้ศึกษาปฏิบัติ คนรู้เข้าใจแค่ไหนอย่างไร ก็เชื่อและปฏิบัติไปแค่นั้น
เพราะเหตุที่ไม่ได้บังคับความเชื่อที่จะไปปฏิบัติให้แม่นมั่นลงไป และคำสอนที่จะศึกษาก็กว้างขวางมากมาย คนก็ปฏิบัติไปแค่ที่ตัวรู้เข้าใจ เมื่อเป็นอย่างนี้ ถ้าการศึกษาอ่อน ได้แค่ถือตามฟังตามกันไป ไม่นานเลย ประชาชนก็เชื่อถือปฏิบัติพุทธศาสนาผิดเพี้ยนบ้าง ใช้ธรรมผิดทางผิดที่บ้าง ปฏิบัติไม่ครบชุดบ้าง ฝรั่งมาเห็น ก็จับเอาความเชื่อถือปฏิบัติผิดเพี้ยนพร่องแพร่งของชาวบ้าน มาบอกว่าเป็นพุทธศาสนา ไปอ่านคำสอนก็มากมายนักหนา ไม่สามารถศึกษาให้ทั่วถึง ก็จับเอาบางส่วนบางตอนที่เข้ากันมารับสมอ้าง เรื่องก็มาเป็นอย่างนี้
คำกล่าวว่าของฝรั่งหรือนักวิชาการแบบที่ว่านั้น จึงมักเป็นการสรุปข้ามขั้นตอน จะได้ประโยชน์ก็ตรงที่เอามาดูคนไทยและสังคมไทย และเราก็เอามาใช้ประกอบในการพัฒนาให้การศึกษาแก่คนไทยได้ด้วย
ทีนี้ เราก็มาดูคนไทยและสังคมไทย ซึ่งก็เป็นอย่างที่ว่านั่นแหละ เราก็จึงต้องใช้วิธีแยกว่า หนึ่ง ตัวหลักธรรมที่แท้สอนว่าอย่างไร สอง คนไทยที่ว่าเป็นชาวพุทธนี้ เข้าใจหลักธรรมนั้นอย่างไร คือธรรมที่แท้ไม่ค่อยจะเป็นอย่างที่คนไทยเข้าใจ แล้วในสังคมไทยก็เลยมีแต่ปัญหา เรื่องอย่างนี้อยู่เรื่อย
ขอแทรกอีกหน่อย วันหนึ่ง โดยบังเอิญได้ยินทางวิทยุ มีอาจารย์ท่านหนึ่ง ยกเอาธรรมะในพุทธศาสนาขึ้นมาอ้าง บอกว่า นี่นะ พุทธศาสนาสอน อัตตา หิ อัตตโน นาโถ ว่าตนเป็นที่พึ่งของตน ก็จึงทำให้คนไทยเอาแต่ตัว ไม่ช่วยกัน มีอะไรก็เป็นเรื่องของตัวเอง คุณก็ช่วยตัวเองไปสิ นี่รายหนึ่งละ
ต่อมาอีกไม่กี่วันไม่ทราบ ก็โดยบังเอิญได้ยินวิทยุอีกแหละ อีกอาจารย์หนึ่งมาพูดบอกว่า พุทธศาสนานี่ สอนให้คนมีเมตตา กรุณา ทำให้คนไทยช่วยเหลือกันมาก คนไทยก็เลยขี้เกียจ ไม่ทำงานทำการ เพราะมัวหวังพึงให้คนอื่นเมตตา คอยรอรับเมตตา
ที่ท่านพูดกันทางวิทยุนั้น ถูกไหม สองท่านนั้นพูดตรงกันข้าม แต่ก็ถูกทั้งนั้นเลย คือคนที่ปฏิบัติผิดอย่างนั้นมีอยู่ แล้วคนที่เอามาพูด ก็ดูถูกตามที่เขาปฏิบัติผิด แต่แล้วทั้งหมดนั้น ทั้งคนปฏิบัติและคนดู ก็มาผิดด้วยกันอีกชั้นหนึ่ง คือมีการศึกษาที่กะพร่องกะแพร่ง รวมตลอดไปถึงคนที่สอนก็กะพร่องกะแพร่ง ไปๆ มาๆ ก็กะพร่องกะแพร่งกันหมดทั้งสังคม เป็นสัญญาณเตือนมานานแล้วว่า ควรจะชำระสะสางยกเครื่องสังคมชาวพุทธไทยทั้งหมด
นี้เป็นเรื่องของการขาดความรู้ความเข้าใจ แล้วปฏิบัติไขว้เขว และมองธรรมะไม่ถูกทิศถูกทาง ไม่ถูกจุดถูกแง่ เรื่องนี้ก็ทำนองเดียวกัน ปัญหาในชุด เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา นั่นแหละ ที่แยกเอามาพูดเป็นเสี่ยงๆ และไม่พูดให้ตลอด พูดได้แค่เมตตา กรุณา ไม่ถึงอุเบกขา แล้วอุเบกขาก็เข้าใจผิดอีก ก็ยุ่งนุงนัง และเป็นปมเสียหายไปหมด
ฉะนั้น การที่เขาว่าเขาด่า ถึงจะไม่ใช่หมายความว่าเขาพูดถูกแล้ว แต่ก็ต้องเอามาเป็นเครื่องเตือนตัวเอง ต้องถือว่ามันเป็นตัวกระตุ้นกระตุกเราให้ทำการตรวจสอบสืบค้นให้ชัดเจน

ย้ำตรงนี้อีกที ก็เห็นว่าเป็นเช่นนั้นจริงๆ
ฝรั่งมาเป็นนักวิชาการ พอจะดูพุทธศาสนา เขามักมีจุดอ่อนอย่างหนึ่ง คือ เขาคุ้นชินมากับศาสนาแบบบังคับความเชื่อในสังคมของเขา ซึ่งเมื่อเห็นคนที่เชื่อปฏิบัติอย่างไร ความเชื่อที่เป็นหลักของศาสนาก็มักจะอย่างนั้น แต่พุทธศาสนาไม่ใช่ศาสนาแบบนั้น (พวกที่ศึกษาเรื่องศาสนาอย่างจริงจัง จึงมักไม่ยอมเรียกพุทธศาสนาว่าเป็นศาสนาในความหมายของศัพท์ฝรั่งว่า religion) แต่พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ให้ศึกษาปฏิบัติ คนรู้เข้าใจแค่ไหนอย่างไร ก็เชื่อและปฏิบัติไปแค่นั้น
เพราะเหตุที่ไม่ได้บังคับความเชื่อที่จะไปปฏิบัติให้แม่นมั่นลงไป และคำสอนที่จะศึกษาก็กว้างขวางมากมาย คนก็ปฏิบัติไปแค่ที่ตัวรู้เข้าใจ เมื่อเป็นอย่างนี้ ถ้าการศึกษาอ่อน ได้แค่ถือตามฟังตามกันไป ไม่นานเลย ประชาชนก็เชื่อถือปฏิบัติพุทธศาสนาผิดเพี้ยนบ้าง ใช้ธรรมผิดทางผิดที่บ้าง ปฏิบัติไม่ครบชุดบ้าง ฝรั่งมาเห็น ก็จับเอาความเชื่อถือปฏิบัติผิดเพี้ยนพร่องแพร่งของชาวบ้าน มาบอกว่าเป็นพุทธศาสนา ไปอ่านคำสอนก็มากมายนักหนา ไม่สามารถศึกษาให้ทั่วถึง ก็จับเอาบางส่วนบางตอนที่เข้ากันมารับสมอ้าง เรื่องก็มาเป็นอย่างนี้
Create Date : 02 พฤศจิกายน 2564 |
Last Update : 3 พฤศจิกายน 2564 10:03:25 น. |
|
0 comments
|
Counter : 400 Pageviews. |
 |
|
|
|
|
 |
|
|
|