|
10 เส้นทางเดินเท้าท่องเที่ยวสุดโหดในจีน # 2
เส้นทางลำดับที่ 1-5
ลำดับที่ 1 เส้นทางเดินเท้าในเขตม่อทัว หมู่บ้านสุดท้ายที่ถนนหลวงยังเข้าไม่ถึงเส้น

เส้นทางเดินเท้าเส้นแรกที่จะแนะนำก็คือ ม่อทัว ในเขตปกครองตนเองทิเบต (ฝั่งตะวันออกเฉียงใต้) เป็นสถานที่ที่แม้แต่ชาวจีนเองก็ไม่ค่อยมีใครรู้จักนัก เพราะตั้งอยู่ในตำบลที่ยังไม่มีถนนตัดผ่าน จึงกลายเป็นสวรรค์ของนักผจญภัยผู้พิสมัยการเดินทัศนาจรเป็นอย่างมาก ม่อทัว มีความหมายในภาษาทิเบตว่า ดอกบัวที่ซ่อนเร้น เป็นสถานที่ซึ่งมีทัศนียภาพและประเพณีพื้นบ้านที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว หนทางเดินหฤโหดมากเนื่องจากต้องเผชิญกับความทารุณของระดับความสูง สภาพอากาศและการคมนาคมที่เลวร้าย โดยเฉพาะในฤดูหนาว ซึ่งเส้นทางถูกปิดเพราะปกคลุมไปด้วยหิมะ จะเปิดระหว่างเดือนสิงหาคมถึงตุลาคมเท่านั้น ดังนั้น ที่นี่จึงกลายเป็นที่ดึงดูดนักเดินเท้าอาชีพจำนวนหนึ่งอย่างมาก การเดินเท้าเข้าม่อทัว ก่อนอื่นต้องทำเรื่องขอใบอนุญาตที่เรียกว่า เปียนฝางเจิ้ง ที่ที่ว่าการ เขตหลินจือ เริ่มออกเดินจากที่นี่ผ่านหมู่บ้านเล็กบนเขาสูงและทิวทัศน์ทะเลสาบที่งดงาม หากจะเดินเท้าให้ทั่วม่อทัวต้องใช้เวลาราว 9 วัน เป็นเส้นทางที่ท้าทายพละกำลัง ความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว ตลอดจนไหวพริบปฏิภาณของนักเดินทางอย่างมาก
ลำดับที่ 2 เดินเท้าขึ้นชมยอดเอเวอเรสต์ สัมผัสความรู้สึกบนแผ่นดินสูงสุดของโลก

คงไม่มีใครไม่รู้ถึงกิตติศัพท์ความยากลำบากในการขึ้นยอดเขาเอเวอเรสต์ ซึ่งตั้งอยู่บนเทือกเขาหิมาลัยอันยิ่งใหญ่ตามชายแดนประเทศจีนและเนปาล และมีนักไต่เขาเพียงไม่กี่คนที่สามารถพิชิตยอดเขาแห่งนี้ได้ แม้แต่คนที่จะเดินเท้าขึ้นไปเฉียดยอดเอเวอเรสต์ถึงบริเวณที่เรียกว่า "เอเวอเรสต์ เบสแคมป์" ก็หาตัวได้น้อยเช่นกัน กล่าวกันในหมู่ชาวจีนว่า จะหาคนที่จะเดินขึ้นไปเหยียบยอดเขาแห่งนี้ ช่างยากเย็นราวกับการเสาะหาขนหงส์เขากิเลนเลยทีเดียว การเดินเท้าไปเอเวอเรส เบสแคมป์ ในพื้นที่เขตปกครองตนเองทิเบต จุดที่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวกันว่า สามารถชมยอดเขาเอเวอเรสต์ได้สวยและใกล้ชิดกว่ามองจากฝั่งประเทศเนปาล โดยทั่วไปนักเดินเท้านิยมเลือกเส้นทางจาก เมืองติ้งยื่อ และออกทางตำบลเหล่าติ้งยี่ ใช้เวลาเดิน 2 วันบนความสูงเหนือระดับน้ำทะเลกว่า 5,200 เมตร ถึงเบสแคมป์ จุดที่นักไต่เขาจะเริ่มปีนขึ้นสู่ยอดเอเวอเรสต์ จากจุดนี้จะสามารถมองเห็นยอดเอเวอร์เรสได้จากมุมไกลๆ แต่เพียงเท่านี้ก็ทำให้เราซึมซับความยิ่งใหญ่ของเทือกเขา แห่งนี้ได้
ลำดับที่ 3 ก้าวย่างสู่ภูไตรผาริมฝั่งแยงซี คือ บทกวีชิ้นเลิศแห่งสหัสวรรษ

การเดินทัศนาจรสู่ภูไตรผาแห่งแม่น้ำฉางเจียง (แยงซี) หรือซันเสีย โดยเฉพาะในปีนี้ทางการท่องเที่ยวจีนรณรงค์แผนท่องเที่ยวเส้นทางนี้อย่างคึกคัก เพราะนับเป็นการชมฉากสุดท้ายของภูเขาอันยิ่งใหญ่ ท่ามกลางสายน้ำที่ยาวที่สุดในประเทศจีน ก่อนที่ภาพความงดงามทั้งหมดจะจมลงสู่สายน้ำ เนื่องจากระดับน้ำจะสูงขึ้นตามโครงการสร้างเขื่อนยักษ์ซันเสียที่จะเสร็จสิ้นลงในปี ค.ศ.2009 'ซันเสีย' คือ คำเรียกของหน้าผาใหญ่สามลูกทางตอนบนของแม่น้ำแยงซี ช่วงตั้งแต่เมืองไป๋ตี้เฉิงในเขตนครฉงชิ่ง จนมาถึงหนันจินกวนในเมืองอี๋ชางเขตมณฑลหูเป่ย รวมความยาว 192 กิโลเมตร ได้แก่ ผาจี้ว์ถังเสีย ผาอูเสีย ผาซีหลิงเสีย (เรียงจากทิศตะวันออกไปตะวันตก) การเดินทัศนาจรสู่เขตทิวทัศน์ภูไตรผาในเขตรอยต่อนครฉงชิ่ง (ทางตะวันออกเฉียงเหนือ) กับมณฑลหูเป่ย (ทิศตะวันตก) นี้ ยังไม่มีเส้นทางที่แน่นอน อยู่ที่นักเดินเท้าแต่ละคนจะวางแผนหรือเลือกเส้นทางกันเอง โดยมีจุดสำคัญได้แก่ เมืองไป๋ตี้เฉิงไปชมผาจี้ว์ถังเสีย มุ่งสู่อำเภออูซัน ในฉงชิ่ง เพื่อข้ามเข้าเขตอำเภอปาตงในหูเป่ยชมผาอูเสีย และต่อไปยังเมืองอี๋ชาง เพื่อไปชมผาซีหลิงเสีย นอกจากธรรมชาติแล้วเส้นทางนี้ยังมี วัดวาอารามและแหล่งศิลปวัฒนธรรมที่น่าสนใจให้ชมระหว่างทางด้วย ถึงแม้เส้นทางดังกล่าวจะไม่เจอกับอุปสรรคเรื่องระดับความสูง ทว่าผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าเส้นทางสู่ซันเสียเต็มไปด้วยอันตราย ที่นักผจญภัยต้องเตรียมพร้อมให้ดีก่อนเดินทาง
ลำดับที่ 4 สู่เส้นทางจาริกแสวงบุญบนยอดเขาเซียน 'กั่งเหรินปอฉี'

มีชาวทิเบตและชาวพุทธไม่น้อยที่ใช้พลังศรัทธาพิชิต "ภูเขากั่งเหรินปอฉี" ที่ตั้งอยู่ในเขตอาหลี ทางทิศตะวันตกในเขตปกครองตนเองทิเบตมาแล้ว ภูเขาดังกล่าวได้รับการขนานนามว่า ภูเขาเซียน เป็นถิ่นที่พุทธศาสนิกชนชาวทิเบตนิยมเดินทางไปแสวงบุญกันมากที่สุด เชื่อกันว่าในปีม้า (ปีมะเมีย) ใครได้ไปแสวงบุญบนเขาแห่งนี้ ถือเป็นสิริมงคลยิ่งยวดเป็นทวีคูณ
เส้นทางจาริกแสวงบุญสู่เขากั่งเหรินปอฉี เริ่มจากต้าจิน ระหว่างทางผ่านวัดเก่าแก่ของทิเบตหลายแห่ง เดินทางเป็นวงกลมอ้อมเขาใช้เวลา 3 วัน ความยากลำบากของการขึ้นเขานี้อยู่ที่สภาพอากาศอันทารุณ บนระดับความสูงเหนือระดับน้ำทะเลกว่า 5,000 เมตร
ลำดับที่ 5 ป้ายสุดท้ายของดินแดนเชียงการีล่า ย่าหนิงในเต้าเฉิง

อำเภอเต้าเฉิง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกในซื่อชวน (เสฉวน) มณฑลที่อุดมสมบูรณ์ด้วยแหล่งธรรมชาติอันงดงาม เคยได้รับการกล่าวขานว่า เป็นจุดสิ้นสุดของดินแดนที่เรียกว่า "เชียงการีล่า" แม้ว่าข้อขัดแย้งเรื่องการกำหนดเขตเชียงการีล่าได้ยุติลง เมื่อมีการยกจงเตี้ยน (ในมณฑลหยุนหนัน) ให้เป็นอำเภอเชียงการีล่า แต่ความงดงามทางธรรมชาติของดินแดนเต้าเฉิงไม่เคยลดเลือนไปจากสายตาของผู้มาเยือน โดยเฉพาะ ย่าหนิง ซึ่งเป็นทิวทัศน์ที่ทอดตัวอย่างสงบงามอยู่ทางทิศตะวันออกของที่ราบสูงทิเบต-ชิงไห่ ท่านสามารถเดินทางออกจากอำเภอเต้าเฉิง มุ่งหน้าลง ใต้ผ่านเซ่อลาเข้าสู่ย่าหนิง โดยใช้เวลาเดินเท้า 3 วัน
ขอขอบคุณ (Thank You) ข้อความ, ข้อมูลและรูปภาพ - ผู้จัดการออนไลน์ 4 สิงหาคม 2548 - จงกั๋วจิงจี้เน็ต
Create Date : 21 พฤษภาคม 2550 |
Last Update : 5 มิถุนายน 2550 17:21:54 น. |
|
2 comments
|
Counter : 1230 Pageviews. |
 |
|
|
โดย: หญ้าหนวดแมว วันที่: 22 พฤษภาคม 2550 เวลา:0:09:26 น. |
|
|
|
| |
|
|