|
3 ตึกใหญ่แห่งแดนกังหนำ
ในสมัยโบราณ ชาวจีนเห็นว่าตึกหรือหอสูง เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจบารมีและความศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้นหอโบราณของจีนโดยมาก จึงสร้างขึ้นโดยเชื้อพระวงศ์หรือขุนนางชั้นสูง เพื่อวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันไป อาทิ เพื่อประโยชน์ทางการทหาร ระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญ หรือเพื่อประกาศคุณงามความดี หรือแม้แต่เพื่อใช้เป็นการปราบอาถรรพณ์ ปีศาจชั่วร้าย บ้างก็สร้างอุทิศให้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันเป็นที่เคารพนับถือแห่งตน แต่ในชีวิตประจำวันโดยมากกลายเป็นจุดชมทิวทัศน์ธรรมชาติไป สถาปัตยกรรมลักษณะนี้โดยมากเป็นที่นิยมและแพร่หลาย ในแดนกังหนำ หรือ เจียงหนันของจีน (ดินแดนทางทางตอนล่างของแม่น้ำแยงซีเกียง) หอโบราณซึ่งเป็นที่รู้จักเลื่องลือกันในแดนกังหนำ ได้แก่ หอเถิงหวัง (มณฑลเจียงซี), หอกระเรียนเหลือง (มณฑลหูเป่ย) และ หอเยี่ยว์หยัง(มณฑลหูหนัน) จนได้ชื่อว่าเป็น 3 หอแห่งแดนกังหนำ ( (江南三大名楼))

หอเถิงหวัง ((滕王阁)) แรกสร้างสมัยต้นราชวงศ์ถัง ปี ค.ศ. 653 ในรัชกาลถังเกาจงหลี่ยวน โดย เถิงหวังหลี่หยวนอิง (น้องชายของหลี่ซื่อหมิน) ได้สร้างหอเถิงหวังขึ้นระหว่างที่มาดำรงตำแหน่งแม่ทัพรักษาเมือง ด้วยจุดประสงค์ให้เป็นหอระวังไฟ และเป็นสถานที่พักผ่อนชมทิวทัศน์ในฤดูกาลต่างๆ ต่อมาในปี ค.ศ. 675 หวังป๋อ (ค.ศ. 650675) หนึ่งในสี่กวีอัจฉริยะแห่งราชวงศ์ถังตอนต้น ได้เดินทางมาเยือนหอเถิงหวัง และได้ประพันธ์บทกวีชื่นชมความงามเอาไว้ เนื่องจากบทกวีดังกล่าวเป็นที่แพร่หลายในเวลาต่อมา จึงทำให้ชื่อเสียงความงามของหอเถิงหวังเป็นที่รู้จักทั่วไปในแผ่นดิน ปราชญ์กวีเลื่องชื่ออีกจำนวนไม่น้อย ต่างเคยเดินทางมาเยี่ยมเยือนสถานที่นี้

หอเถิงหวัง ผ่านศึกสงครามการทำลายล้างและสร้างใหม่ถึง 29 ครั้ง ซึ่งไม่เพียงรักษาต้นแบบอย่างโบราณเอาไว้ การซ่อมสร้างแต่ละครั้งยังมีขนาดขยายใหญ่ขึ้น โดยครั้งสุดท้ายถูกเผาทำลายระหว่างสงครามปฏิวัติในปี 1926 จวบถึงปี 1983 เริ่มงานซ่อมสร้างครั้งใหญ่ แล้วเสร็จในปี 1989 หอเถิงหวังใหม่มีอาณาบริเวณกว่า 47,000 ตารางเมตร สูง 57.5 เมตร 9 ชั้น โดยเลียนแบบสถาปัตยกรรมสมัยซ่ง มีขนาดและความสูงที่สุดในสามหอแห่งแดนกังหนำ ที่ตั้ง ริมฝั่งแม่น้ำกั้นเจียง เมืองหนันชาง มณฑลเจียงซี

หอกระเรียนเหลือง ((黄鹤楼))
หอกระเรียนเหลืองแรกสร้างสมัยสามก๊ก ใน ค.ศ. 223 ภายหลังก๊กอู๋ยึดได้เมืองจิงโจว หรือ เกงจิ๋ว โดยก๊กอู๋สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นหอสังเกตการณ์ ป้องกันการโจมตีจากก๊กสูของเล่าปี่ แต่เรื่องเล่าขานเกี่ยวกับที่มาของหอกระเรียนเหลือง ซึ่งเป็นที่แพร่หลายนั้นกล่าวกันว่า สถานที่ตั้งเดิมของหอกระเรียนเหลือง เป็นร้านเหล้าเล็กๆ ที่เปิดเป็นที่พักคนแรมทาง ครั้งหนึ่งเจ้าของร้านได้ให้อาหารและที่พัก แก่นักพรตที่แต่งกายซ่อมซ่อท่านหนึ่งโดยไม่คิดเงิน นักพรตนั้นจึงใช้เปลือกส้มวาดเป็นรูปกระเรียนสีเหลืองที่ผนังร้าน เมื่อปรบมือขึ้นครั้งหนึ่ง ภาพกระเรียนบนฝาผนังก็จะออกมาร่ายรำอย่างงดงาม นักพรตได้มอบกระเรียนเหลืองนี้ไว้เพื่อเป็นการตอบแทนน้ำใจเจ้าของร้าน นับแต่นั้นก็มีลูกค้าเข้ามาอุดหนุนทางร้านกันคับคั่ง เพื่อมาดูการแสดงของกระเรียนเหลือง กิจการของร้านเฟื่องฟูร่ำรวยขึ้น สิบปีต่อมานักพรตนั้นกลับมาอีกครั้ง และเมื่อกระเรียนเหลืองออกมาจากผนัง นักพรตก็ขึ้นขี่กระเรียนบินจากไป เจ้าของร้านจึงสร้างหอกระเรียนเหลืองขึ้น เพื่อเป็นการระลึกถึงบุญคุณของนักพรตนั้น หอกระเรียนเหลือง เป็นแหล่งรวมของบรรดาปราชญ์กวีและปัญญาชนจากทั่วทุกสารทิศ ซึ่งก็ได้ฝากผลงานบทกวีที่มีชื่อไว้ไม่น้อย ในจำนวนนี้มีผลงานของ ชุยเฮ่า ((崔颢)) ปราชญ์สมัยถัง ได้แต่งบทกวีเกี่ยวกับความงามสง่าของหอแห่งนี้ รวมทั้งคำเล่าขานของหอกระเรียนเหลืองนี้เอาไว้อย่างละเอียด จนกลายเป็นต้นแบบให้กวีในรุ่นหลังได้ศึกษาต่อมา จวบจนปี 1884 รัชสมัยจักรพรรดิกวงสูแห่งราชวงศ์ชิง เกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ หอกระเรียนเหลืองถูกเผาทำลายลง

ในปี 1957 เนื่องจากได้มีการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำแยงซี ที่ผากระเรียนเหลือง ณ ที่ตั้งเดิมของหอกระเรียนเหลืองไปแล้ว ดังนั้น ในปี 1984 เมื่อรัฐบาลจีนใหม่ประจำอู่ฮั่น มีโครงการสร้างหอกระเรียนเหลืองขึ้นใหม่ เนื่องในโอกาสครบ 100 ปีที่หอกระเรียนเหลืองถูกเผาทำลายไป เมื่อครั้งสมัยจักรพรรดิกวงสูแห่งราชวงศ์ชิง จึงต้องย้ายหอกระเรียนเหลืองไปปลูกสร้างยังที่ตั้งใหม่บนยอดเขาเสอซัน หอกระเรียนเหลืองในปัจจุบัน สร้างขึ้นด้วยปูนและเหล็กเลียนแบบโครงสร้างแบบไม้ที่เป็นของเดิม เป็นหอ 5 ชั้น สูง 51 เมตร ระหว่างชั้นยังมีชั้นแทรก รวมทั้งสิ้นเป็น 10 ชั้น ถือเป็นสัญลักษณ์ประจำเมืองอู่ฮั่น ที่ตั้ง (แห่งเดิม) ผากระเรียนเหลือง (แห่งใหม่) เขาเสอซัน เขตอู่ชางเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย

หอเยี่ยว์หยัง ((岳阳楼)) แรกสร้างในสมัยสามก๊ก (ค.ศ. 215) ในดินแดนของก๊กอู๋ ภายใต้การนำของซุนกวน ได้สร้างหอนี้ขึ้นเพื่อใช้เป็น หอสังเกตการณ์ป้องกันการโจมตีของกวนอูจากเมืองจิงโจว (เมืองเกงจิ๋ว) มีชื่อว่า หอส่องทัพ สมัยจิ้นตะวันตกได้ชื่อว่าเป็น หอเมืองปาหลิง เมื่อถึงสมัยถัง ภายหลังงานประพันธ์ของหลี่ไป๋เป็นที่แพร่หลาย ก็รู้จักกันในนาม หอเยี่ยว์หยัง จัดเป็นหอโบราณที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในสามหอแห่งแดนกังหนำ หอเยี่ยว์หยังเป็นสถานที่ชมธรรมชาติยอดนิยม ของบรรดาปราชญ์กวีมีชื่อในสมัยถัง อาทิ ตู้ผู่, หานอี้ว์, ไป๋จีว์อี้, หลี่ซังอิ่น เป็นต้น เมื่อถึงปี 1045 ขุนนางเถิงจื่อจิง แห่งราชวงศ์ซ่งเหนือ ได้ทำการซ่อมสร้างครั้งใหญ่ และขอให้ ฟ่านจงเหยียน ที่เป็นปราชญ์และนักปกครองแห่งยุค ได้เขียน บันทึกหอเยี่ยว์หยัง เอาไว้ ชื่อเสียงของหอเยี่ยว์หยังจึงขจรขจายเป็นที่รู้จักกันทั่วไป
 ปราชญ์ " ฟานจงเหยียน " ผู้บันทึกเรื่องของ หอเยี่ยว์หยัง เมื่อกล่าวถึง บันทึกหอเยี่ยว์หยัง ที่ชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ของหอเยี่ยว์หยัง ยังประดับด้วยบทกวีดังกล่าวที่สลักบนไม้จันทน์ ด้วยข้อความและลายมือที่เหมือนกันราวฝาแฝด แต่ชิ้นหนึ่งจัดทำขึ้นในราวศตวรรษที่ 18 อีกชิ้นหนึ่งจัดทำขึ้นในศตวรรษที่ 19 กล่าวกันว่า ชิ้นหนึ่งเป็นลายมือของ จางเจ้า ปราชญ์ราชเลขาฯ สมัยจักรพรรดิเฉียนหลงแห่งราชวงศ์ชิง ภายหลังมีขุนนางท้องถิ่นคนหนึ่ง ต้องการแสดงความสามารถเชิงอักษรของตน จึงเลียนแบบลายมือของจางเจ้า จัดทำ บันทึกหอเยี่ยว์หยัง ขึ้น แต่นายช่างที่แกะสลักงานชิ้นนี้ไม่พอใจการกระทำของขุนนางนั้น จึงแกะสลักอักษรตัวหนึ่งให้ผอมบางเป็นพิเศษ เพื่อให้สามารถแยกจากต้นฉบับได้ จากนั้นขุนนางคนนั้นได้ปลดผลงานของจางเจ้าลงมา เปลี่ยนเป็นผลงานของตนเอง แล้วนำชิ้นที่เป็นลายมือของจางเจ้า ใส่เรือเพื่อขนย้ายไปที่อื่น แต่เรือก็มาล่มจมลงเสียก่อน ขุนนางที่ไปกับเรือจมน้ำเสียชีวิต ผลงานของจางเจ้า ถูกงมขึ้นมาจากก้นทะเลสาบต้งถิง และถูกนำกลับมาประดับไว้ที่หอเยี่ยว์หยังอีกครั้ง ดังนั้นหอแห่งนี้จึงประดับด้วยผลงานแกะสลักที่เหมือนกันสองชิ้น
ปัจจุบัน หอเยี่ยว์หยัง ถือเป็นสถาปัตยกรรมเพียงหนึ่งเดียวในสามหอแดนกังหนำ ที่ยังมีโครงสร้างเป็นไม้ตามแบบสถาปัตยกรรมแบบเก่า (หลังการบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยชิงแล้วร้อยกว่าปีที่ผ่านมา ผ่านศึกสงครามหลายครั้งแต่ไม่สียหาย) บูรณะครั้งหลังสุดในปี 1984 แม้ว่าหอมีความสูงเพียงสามชั้น มีขนาดเล็กกว่าหอเถิงหวังและหอกระเรียนเหลือง แต่ถือได้ว่า เป็นหอที่ยังคงรักษาสภาพบรรยากาศแบบเก่า เอาไว้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุด
ที่ตั้ง ริมฝั่งทะเลสาบต้งถิง* เมืองเยี่ยว์หยัง มณฑลหูหนัน
*ทะเลสาบต้งถิงหู เป็นทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่เป็นที่สองในประเทศจีน เดิมมีขนาด 6,000 ตร.กม. เป็นทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุด ภายหลังเนื่องจากนโยบายขยายพื้นที่เพาะปลูกของภาครัฐ อีกทั้งการสะสมของตะกอนดิน เมื่อถึงปี 1986 พื้นที่ทะเลสาบหดเล็กลงเหลือเพียง 2,625 ตร.กม. เป็นรองจากทะเลสาบพานหยังในมณฑลเจียงซีซึ่งมีขนาด 3,914 ตร.กม.
*** ขอบคุณ (Thank You) ที่มาของข้อมูล, บทความและภาพประกอบ - manager online - //www.qianlong.com - //www.china.org.cn - //www.sohu.com - //www.people.com - //ly.kj110.cn - //www.lotour.com - //www.hwjyw.com
Create Date : 02 สิงหาคม 2552 |
Last Update : 2 สิงหาคม 2552 19:24:55 น. |
|
17 comments
|
Counter : 2223 Pageviews. |
 |
|
|
โดย: พลังชีวิต วันที่: 2 สิงหาคม 2552 เวลา:21:40:35 น. |
|
|
|
โดย: ibozla วันที่: 2 สิงหาคม 2552 เวลา:23:22:18 น. |
|
|
|
โดย: da IP: 124.122.66.103 วันที่: 2 สิงหาคม 2552 เวลา:23:48:18 น. |
|
|
|
โดย: peijing วันที่: 3 สิงหาคม 2552 เวลา:18:35:51 น. |
|
|
|
โดย: หลังคาดำแดง วันที่: 3 สิงหาคม 2552 เวลา:19:25:23 น. |
|
|
|
โดย: เอ๊กกี่ IP: 125.25.117.190 วันที่: 3 สิงหาคม 2552 เวลา:19:42:04 น. |
|
|
|
โดย: peijing วันที่: 3 สิงหาคม 2552 เวลา:21:32:13 น. |
|
|
|
โดย: พี่จิ IP: 117.47.194.172 วันที่: 4 สิงหาคม 2552 เวลา:9:40:54 น. |
|
|
|
โดย: สำราญใจ IP: 202.156.50.212, 218.186.10.239 วันที่: 4 สิงหาคม 2552 เวลา:9:46:07 น. |
|
|
|
โดย: peijing วันที่: 5 สิงหาคม 2552 เวลา:23:14:03 น. |
|
|
|
โดย: เจ้าป้ามหาภัย IP: 117.47.212.78 วันที่: 11 สิงหาคม 2552 เวลา:1:02:56 น. |
|
|
|
โดย: หญ้าหนวดแมว วันที่: 12 สิงหาคม 2552 เวลา:0:33:49 น. |
|
|
|
โดย: i_namm IP: 10.6.100.39, 203.148.187.139 วันที่: 18 สิงหาคม 2552 เวลา:8:05:26 น. |
|
|
|
โดย: *revolniar* วันที่: 13 ตุลาคม 2552 เวลา:20:52:18 น. |
|
|
|
| |
|
|