ความเข้าใจทำไมน้ำท่วมโคราช
ทำไมน้ำท่วมโคราช
ภาพ : Djjeapzy Happytime
ท่ามกลางสายฝนกระหน่ำ ท่ามกลางความสับสนวุ่นวายของผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งหลาย ทั้งพ่อค้าแม่ขายที่saveone ทั้งคนทำงานที่รถติดแหง่กอยู่บนถนนในหลายพื้นที่ ในกระแสโซเชี่ยลก็เพลิดเพลินกับการกระหน่ำแชร์รูปภาพน้ำท่วมในที่ต่างๆ แล้วมโนกันไปตามใจฉันว่ามันเพราะอะไรน้ำถึงได้ท่วมโคราชง่ายดายปานฉะนี้
และแน่นอน จำเลยที่หนึ่งจะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจากเทศบาลนครในฐานะผู้รับผิดขอบโดยตรง หลากหลายข้อความตามอารมณ์เมามันแล้วแต่จะเสกสรรค์ว่าเทศบาลนั้นไร้สมรรถภาพ และทำอะไรก็ผิดไปเสียหมด แต่ในขณะที่ผู้รู้หน้าคีย์บอร์ดเหล่านั้นพิมพ์ถ้อยคำลงไปแล้วรอดูว่าใครจะมาlikeกันกี่มากน้อย บุคลากรทั้งหลายของเทศบาลก็วิ่งวุ่น อลหม่านอยู่กับการแก้ปัญหาให้ทุเลา ทำในทุกสิ่งทุกอย่าง อย่างที่ใครก็คงไม่อยากมาลงมือทำหากว่ามันไม่ใช่"หน้าที่"ที่ต้องรับผิดชอบ
ในเวลาที่มีปัญหามาสู่เมือง สิ่งสำคัญที่ทุกคนในเมืองต้องกระทำเป็นเบื้องแรกคือเราต้องเข้าใจในบทบาทของคนที่เขารับผิดชอบและต้องมีกำลังใจให้คนเหล่านั้นเขาผจญกับปัญหาให้ลุล่วงผ่านไปให้ได้(แม้จะทำไม่ทันใจคนอยากได้ไปบ้างก็ตาม) ไม่ใช่การตำหนิติเตียนว่าโน่นนี่จนคนทำงานหมดกำลังใจ และที่สำคัญเราต้องตอบตัวเราเองให้ได้ด้วยว่า ตัวเรานั้นมีส่วนช่วยในการแก้ปัญหาที่ว่านั้นหรือไม่ หรือว่าเราเป็นผู้เพิ่มปัญหานั้นให้มันซับซ้อนขึ้นเสียเอง หากเป็นกรณีหลังนั่นหมายความว่าเราคือพลเมืองที่เป็นภาระของเมืองอย่างแท้จริง
ภาพ : อภินันท์ สีม่วงงาม
ลองมาทำความเข้าใจกันดูหน่อยไหมว่าทำไม เมืองโคราช จึงถูกน้ำท่วมได้ง่ายดายหนักหนา ภาพที่ท่านเห็นนี้คือเมืองโคราชในมุมสูง เส้นสีเหลืองที่เห็นในภาพคือแนวเขตเทศบาลนครนครราชสีมา เส้นสีขาวทั้งหลายคือถนน ตรอก ซอย ที่เกิดจากการพัฒนาบ้านเมือง(สังเกตได้ว่ามันจะมีความถี่มากในเขตเทศบาลเพราะบ้านเมืองตั้งถิ่นฐานหนาแน่น) เส้นสีแดงคือแขนงของร่องน้ำและลำคลองที่มีอยู่ในพื้นที่ ส่วนเส้นสีดำคือระดับความสูงของพื้นที่ต่างกันในแต่ละเส้นๆละ 5 เมตร
เมื่อเห็นภาพนี้และเข้าใจความหมายของแต่ละเส้นที่ปรากฎในภาพ เราจะรู้ได้ทันทีว่าเหตุที่น้ำท่วมโคราชนั้น มันเป็นเพราะการพัฒนาที่ผิดที่ผิดทาง ไม่สนใจ ไม่ใส่ใจในลักษณะของพื้นที่และความเป็นไปของธรรมชาติในพื้นที่เลย สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ผูกพันเกี่ยวเนื่องมายาวนานตั้งแต่สมัยก่อน ปรากฎเป็นภาระลำบากของเมืองขึ้นเรื่อยๆในยุคต่อๆมา และในยุคของเราหากทุกคนยังไม่พยายามเข้าใจถึงต้นเหตุแล้วคิดแก้ปัญหากันไปตามใจอย่างที่เคยเป็นมา ลูกหลานยุคต่อไปจากเรานี้จะยิ่งทวีความลำบากมากขึ้นเพราะปัญหาจะมากขึ้นซับซ้อนขึ้นและแน่นอนความเสียหายก็จะยิ่งมากขึ้นด้วย
โดยลักษณะภูมิศาสตร์ที่เป็นเนินสูงในด้านล่างตามภาพที่ว่ามาแล้ว เมื่อมีฝนตกน้ำจะไหลไปตามร่องน้ำต่างๆจากบริเวณเนินมทส. หรือสวนสัตว์ เพื่อไหลไปรวมกับลำน้ำในแนวนอน(คือลำตะคอง)ที่อยู่ในที่ต่ำกว่า แต่ในการพัฒนาเมือง เราตัดถนนมิตรภาพและถนนสายอื่นๆขวางแนวการไหลของร่องน้ำเหล่านี้กลายเป็นเหมือนเขื่อนกั้นน้ำไม่ให้ไหลต่ำลงไป แน่นอนเมื่อมันไหลไม่ได้น้ำเหล่านี้ก็ยกตัวสูงขึ้นกลายเป็นน้ำท่วม น้ำขังอย่างที่เราประสบอยู่ทุกวันนี้อย่างไรเล่า
ภาพ : อภินันท์ สีม่วงงาม
ลองมาดูภาพนี้กัน จำลองให้เห็นระดับสูงต่ำของพื้นที่เมืองด้วยสีต่างๆ สีเขียวที่เห็นในภาพคือบริเวณที่มีความสูงมากที่สุดของเมืองแล้วไล่ระดับต่ำลงไปตามสีต่างๆที่จางลง จนกระทั่งถึงสีน้ำเงินเข้มคือบริเวณที่ถือว่าต่ำสุดของเมืองนี้ซึ่งในสมัยโบราณเรียกขานกันว่า"ทุ่งทะเล"หรือ"หัวทะเล" ซึ่งเป็นบึงรับน้ำขนาดใหญ่มีพื้นที่มากกว่า 4,000 ไร่ แต่ในปัจจุบันถูกรุกล้ำทำเป็นพื้นที่หาประโยชน์ ที่ไม่เคยเป็นโฉนดก็กลายเป็นโฉนดให้พัฒนาได้ (ใครอยากมีปัญหาชีวิตก็จงลองไปค้นหาดูว่ามันกลายเป็นโฉนดได้อย่างไร) จนพื้นที่รับน้ำกว้างใหญ่ในอดีตเหลืออยู่เพียงแค่ 400 ไร่เท่านั้น ความสามารถในการรับน้ำที่น้อยลงไป การพัฒนาใหม่ที่เพิ่มขึ้นแบบตรงกันข้ามกันเป็นสิบ เป็นร้อยเท่า ตรงไหนเคยเป็นที่ลุ่มก็หาดินมาถมปลูกสร้างอาคารกันไป ใครสร้างทีหลังก็ถมสูงให้มันหนีน้ำห่างจากคนสร้างทีแรก เป็นแบบนี้ทั่วไป เมื่อถึงหน้าฝนมา น้ำทั้งหลายมันก็ได้แต่งงเพราะไม่รู้จะไปหาที่รับน้ำตรงไหน จะแปลกอะไรล่ะที่มันจะท่วมกันสนุกใจอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
ภาพ : อภินันท์ สีม่วงงาม
ภาพนี้จะเห็นได้ชัดเจนขึ้นว่าเราสร้างถนนขวางทางน้ำที่จะไหลลงไปหาลำตะคอง แล้วยังมีการพัฒนาบรรดาอาคารต่างๆทั้งหลายเกิดขึ้นมาตามเวลาที่ผ่านไปอีก เหมือนทยอยสร้างเขื่อนขวางน้ำไว้เรื่อยๆ น้ำไม่ท่วมมันจะไปเหลืออะไรล่ะพี่น้อง
Create Date : 03 สิงหาคม 2558 |
Last Update : 3 สิงหาคม 2558 16:16:19 น. |
|
20 comments
|
Counter : 25829 Pageviews. |
|
|
|