bloggang.com mainmenu search


ปภ.ยันพร้อมช่วยใต้หากท่วมฉับพลัน-ยะลาฝนตกท่วม5ต. ปภ.ยันพร้อมช่วยใต้หากท่วมฉับพลัน-ยะลาฝนตกท่วม5ต.
INN News

สนับสนุนเนื้อหา


อธิบดี ปภ. คาดวันนี้ภาคใต้ยังฝนหนักต่อเนื่อง สั่งทุกจังหวัดเตรียมพร้อมช่วยเหลือประชาชน หากเกิดน้ำท่วมฉับพลัน - ปริมาณฝนยะลาน้อยลงกว่าวานนี้ ยังมีพื้นที่น้ำท่วมขัง 5 ตำบล ส่วน พัทลุงยังท่วม ด้าน นครศรีฯ ลุ่มน้ำปากพนังยังหนัก

 

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)  เปิดเผยถึงการติดตามสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา ว่า บริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข่างแรงจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น โดยวันที่ 21 ม.ค.2560 จะมีฝนหนักถึงหนักมากบริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ส่วนช่วงวันที่ 22  – 25 ม.ค. 2560 จะมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส 

ทั้งนี้ นายฉัตรชัย กล่าวว่า ปภ. จึงได้ประสานจังหวัดดังกล่าว และศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 11 สุราษฎร์ธานีและเขต 12 สงขลา เตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนักและฝนตกสะสมที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่มในพื้นที่เสี่ยงภัย โดยจัดเจ้าหน้าที่จะติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด รวมถึงจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว วัสดุอุปกรณ์ และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยประจำจุดเสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วน


ปภ.สรุปยังมีน้ำท่วมใต้7จังหวัด 5 จังหวังเร่งฟื้นฟู

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ว่า ฝนที่ตกหนักตั้งแต่เดือนธันวาคม 59 ถึงปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดอุทกภัย วาตภัย น้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ภาคใต้และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมีจังหวัดได้รับผลกระทบ 12 จังหวัด รวม 122 อำเภอ 755 ตำบล 5,812 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 563,616 ครัวเรือน 1,725,714 คน ผู้เสียชีวิต 80 ราย ผู้สูญหาย 4 ราย ถนน 4,314 จุด คอสะพาน 348 แห่ง ท่อระบายน้ำ 243 แห่ง ฝาย 126 แห่ง อ่างเก็บน้ำ 2 แห่ง สถานที่ราชการเสียหาย 25 แห่ง โรงเรียน 2,336 แห่ง  ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายอยู่ระหว่างการฟื้นฟู 5 จังหวัด ได้แก่ ระนอง นราธิวาส ปัตตานี กระบี่ และตรัง

ทั้งนี้ นายฉัตรชัย กล่าวว่า  ปภ.ได้ร่วมกับหน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดมสรรพกำลังและทรัพยากรปฏิบัติการให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว โดยทำความสะอาดบ้านเรือน สิ่งสาธารณประโยชน์สถานที่ราชการ และซ่อมแซมระบบสาธารณูปโภค รวมถึงเส้นทางคมนาคมให้ใช้งานได้ตามปกติตลอดจนเร่งสำรวจความเสียหาย เพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูเยียวยาผู้ประสบภัยที่ครอบคลุม ทั้งด้านการดำรงชีพชีวิตและทรัพย์สิน การประกอบอาชีพและสิ่งสาธารณประโยชน์ ต่อไป


ยะลาฝนลดน้ำท่วมขัง5ตำบล-ปชช.เดือดร้อน2พันคน

 

คืบหน้าสถานการณ์น้ำท่วม ในพื้นที่ จ.ยะลา เช้าวันนี้ ยังคงมีท้องฟ้ามืดครื้มและมีฝนตกลงมา แต่ไม่หนักเหมือนเมื่อวานนี้ ทำให้มีน้ำท่วมขังในพื้นที่ซ้ำซากในเขตอำภอเมืองยะลา ที่ ต.สะเตงนอก ม.3 บ้านเปาะยานิ ชุมชนหลังวัดตรีมิตร ชุมชนวิฑูรอุทิศ ยังคงมีน้ำท่วมขังสูงประมาณ 20-30 เซนติเมตร เนื่องจากปัญหาปริมาณน้ำที่มีสะสมจากฝนตกหนัก ระบายน้ำออกไม่ทัน

สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดยะลา ได้รายงานสถานการณ์น้ำท่วมในเขตพื้นที่ อ.เมืองยะลา มีพื้นที่ถูกน้ำท่วม 5 ตำบล ได้แก่ ต.พร่อน ต.สะเตงนอก ต.ยุโป ต.ลำใหม่ และ ต.ท่าสาป มีประชาชนได้รับความเดือนร้อนจำนวน 2,882 คน 720 ครัวเรือน ถนน 1 สาย สะพาน 1 แห่ง ฝายกั้นน้ำ 1 แห่ง พื้นที่ทางการเกษตร 566 ไร่ ที่ได้รับความเสียหาย

ด้าน ทางชลประทานยะลา ได้ทำหนังสือแจ้งไปยัง เขื่อนเก็บน้ำชลประทานปัตตานี ให้แจ้งเตือนประชาชนท้ายเขื่อน อ.เมือง อ.หนองจิก  อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำ เตรียมขนย้ายสิ่งของไว้ในที่สูง


นราฯยังอ่วมจับตาริมเขาเสี่ยงน้ำป่าหลากดินสไลด์

นายสมหวัง เรืองเพ็ง ปลัดจังหวัดนราธิวาส เปิดเผยกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า สถานการณ์อุทกภัยครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 ฝนยังคงตกอย่างต่อเนื่อง มีหลายพื้นที่ที่ต้องจับตาใกล้ชิด อย่างเช่นพื้นที่ติดเชิงเขา อย่าง อ.สุคิริน  อ. จะแนะ อ.ศรีสาคร เพราะฝนตกหนักและสะสมต่อเนื่อง ทำให้ดินอุ้มน้ำมาก มีโอกาสที่อาจจะเกิดน้ำป่าหลาก ดินสไลด์ ได้ ซึ่งทางการได้มีการแจ้งเตือนประชาชนไว้ล่วงหน้าแล้ว ส่วนในอำเภออื่นๆ ที่มีฝนตกหนัก อย่าง อ.แว้ง อ.สุไหงโก-ลก อ.เจาะไอร้อง ที่มีน้ำฝนระดับ 200 มิลลิเมตร จะประสบกับปัญหาน้ำท่วมขัง  และจากปริมาณฝนที่มากเกินปกติ ทำให้ ระดับน้ำในลุ่มแม่น้ำ 3 สายหลัก ทั้งแม่น้ำบางนรา แม่น้ำสายบุรี และแม่น้ำสุไหงโกลก เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งน่าเป็นห่วงคือ แม่น้ำบางนรา และแม่น้ำสุไหงโกลก  เพราะเป็นพื้นที่ที่มีฝนตกในระดับสูง ทำให้น้ำทะลักเข้าสู่พื้นที่ 2 ฝั่งแม่น้ำ อย่างไรก็ตามต้องติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด เพราะกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าฝนจะตกต่อเนื่องไปถึงวันที่ 25 ม.ค. ทางการสั่งทุกหน่วยงานรับมืออุทกภัยที่เกิดขึ้นแล้ว

 


 

พัทลุงน้ำกัดเซาะพนังหลากท่วมบ้านเรือนปชช.

สถานการณ์ฝนที่ตกลงมาหนักตลอดทั้งวันที่ผ่านมา จนล่าสุดเมื่อช่วงเย็นและค่ำที่ผ่านมาน้ำป่าจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัดพัทลุง ที่ไหลหลากลงมาจากเทือกเขาผ่านมายังพื้นที่ลุ่มน้ำคลองท่าแนะ  ของ อำเภอศรีบรรพตได้ไหลลงมาท่วมบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่ ต.ชะมวง อ.ควนขนุน โดยเฉพาะในพื้นที่หมู่ที่ 9 ต.ชะมวง ระดับน้ำท่วมสูงราว 40-50 เซนติเมตร และบางจุดกระแสน้ำไหลเชียว เนื่องจากน้ำได้กักเซาะพนังกันน้ำจนขาดทำให้น้ำได้ไหลบ่าออกจากลำคลองท่วมบ้านเรือนประชาชน และภายในบริเวณวัดล้อในท้องที่ใกล้เคียง โดยทางเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 434 พัทลุง และเจ้าหน้าที่ทหารจากกองพันทหารช่างที่ 402 ค่ายอภัยบริรักษ์เร่งลงพื้นที่สำรวจและเร่งให้การช่วยเหลือ พร้อมนำเครื่องยังชีพมอบให้กับพระภิกษุที่อาศัยอยู่ภายในวัดล้อที่น้ำป่าไหลหากท่วม

ในเบื้องต้นตรงพื้นที่ดังกล่าวในรอบ 1 เดือนกว่า ได้ถูกน้ำท่วมมาแล้ว 3 ระลอก และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 ทำให้ชาวบ้านยังไม่ขนย้ายสิ่งของลงจากที่สูงเพราะยังไม่มั่นใจในสถานการณ์น้ำท่วม จึงยังไม่มีผลกระทบมากนัก 


 

สงขลาน้ำท่วมระลอก4สะบ้าย้อยอพยพ202คน

หลังจากที่เกิดฝนตกต่อเนื่องกันระยะนี้ทำให้หลายพื้นที่เกิดน้ำท่วมซ้ำเป็นรอบที่4 เช่นที่บ้านแลแบง หมู่1 ต.สะบ้าย้อย อ.สะบ้าย้อย น้ำป่าจากเทือกเขาสันกาลาคีรี ได้ไหลลงมาเข้าท่วมตั้งแต่ช่วงเช้าของวันนี้และได้มีการอพยพชาวบ้านออกจากหมู่บ้านแล้ว 36 ครัวเรือนจำนวน 202 คน ไปอาศัยอยู่ที่ศูนย์อพยพชั่วคราวภายในศาลาประชาคมอำเภอสะบ้าย้อย 

นอกจากนี้ น้ำยังได้ไหลเข้าท่วมพื้นที่ภายในเขตเทศบาลตำบลสะบ้าย้อยบางส่วนโดยเฉพาะเส้นทางสายสะบ้าย้อย-บ้านโหนด น้ำท่วมสูงประมาณ 50 เมตร และสถานการณ์ยังน่าเป็นห่วงเนื่องจากยังมีน้ำหนุนขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับในพื้นที่4 อำเภอริมทะเลสาบสงขลาขณะนี้บางพื้นที่เริ่มถูกน้ำจากทะเลสาบสงขลาหนุนเข้าท่วมซ้ำอีกครั้งเช่นในพื้นที่ อ.กระแสสินธุ์ หลายชุมชนระดับน้ำสูงขึ้นและอยู่ในภาวะเฝ้าระวัง 10 ไฟล์แนบ


 

นครศรีฯสั่งตั้งศูนย์อำเภอตำบลหมู่บ้านช่วยท่วม

นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า แม้ว่าช่วงเช้าวันนี้ (21 ม.ค.) ฝนได้หยุดตกแล้ว แต่ทางจังหวัดยังคงต้องเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไปอีก 1-2 วัน โดยขอให้อำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งได้แจ้งเตือนประชาชนให้ติดตามข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิดต่อไป หากมีการสั่งให้อพยพก็ขอให้ปฏิบัติตามด้วยโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยดินโคลนถล่ม ใกล้ทางน้ำไหล และที่ราบลุ่มต่ำ 

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบอุกภัยเป็นไปอย่างรวดเร็วและครอบคลุมทุกพื้นที่จังหวัด จึงได้สั่งการให้มีการจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ในระดับอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน โดยมีโครงสร้างเหมือนกับศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ระดับจังหวัด เพื่อให้ง่ายต่อการอำนวยการ การสั่งการ การติดต่อสื่อสารและการช่วยเหลือผู้ประสบภัยไม่ให้ตกหล่น สำหรับผู้ใหญ่บ้านหากตรวจสอบพบว่าได้นำถุงยังชีพไปเก็บไว้เองไม่ยอมแจกจ่ายประชาชนที่ประสบภัยถือว่ามีความผิด จะถูกให้ออกจากตำแหน่งทันที


 

กรมชลฯรายงาน สุราษฏร์ฯ นครศรีฯ น้ำยังขังบางพื้นที่

กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัดภาคใต้ ประจำวันเสาร์ ที่ 21 มกราคม 2560 ว่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สถานการณ์ในพื้นที่เข้าสู่ภาวะปกติ เเต่ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ จังหวัดชุมพร สถานการณ์ปัจจุบันเข้าสู่ภาวะปกติ จังหวัดสุราษฏร์ธานี ยังคงมีน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำ อ.เคียนซา อ.พุนพิน อ.บ้านนาสาร อ.เมือง อ.ดอนสัก และ อ.บ้านนาเดิม จังหวัดตรัง ปัจุบันเเม่น้ำตรังลดลง พื้นที่ส่วนใหญ่เข้าสู่ภาวะปกติ ยังคงเหลือน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำปากเเม่น้ำอำเภอกันตัง จังหวัดนครศรีธรรมราช สถานการณ์น้ำท่วมในเขตอำเภอรอบนอกเทศบาลนครศรีธรรมราชเข้าสู่ภาวะปกติ ส่วนพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังในลุ่มต่ำยังมีน้ำท่วมขัง 0.50 เมตร 

ด้าน จังหวัดพัทลุง มีน้ำท่วมบริเวณ ต.ทะเลน้อย อ.ควนขนุน ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ รับน้ำจาก อ.ชะอวด เเละเทือกเขาบรรทัด โดยต้องเร่งระบายน้ำออกสู่อ่าวไทย คาดการณ์ว่าใช้ระยะเวลา 15-20 วัน จึงเข้าสู่ภาวะปกติ เเต่คงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ จังหวัดสงขลา มีพื้นที่น้ำท่วมทั้งหมด4อำเภอ ได้เเก่ อ.ระโนด อ.กระเเสสินธุ อ.สทิงพระ เเละ อ.สิงหนคร ระดับน้ำประมาน 0.10-0.30 เมตร ปัจจุบันน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง 


แม่น้ำโก-ลกล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านประชาชนสูง80ซ.ม.

นายปรีชา นวลน้อย นายอำเภอ สุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส เปิดเผย สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า สถานการณ์ตอนนี้ (21 ม.ค.) ช่วงเช้าฝนหยุดไปแล้ว แต่มาตกอีกครั้งในช่วงบ่ายจนถึงปัจจุบัน แต่ปริมาณไม่มากเท่าไร แต่ 1-2 วันที่ผ่านมา (19-20 ม.ค.) ฝนตกหนักมีปริมาณฝนสะสม 300 กว่ามิลลิเมตร ซึ่งจากฝนสะสมมากทำให้แม่น้ำ สุไหงโก-ลก ล้นตลิ่ง เข้าท่วมบริเวณบ้านประชาชนที่อยู่ริมแม่น้ำ ระดับน้ำประมาณ 80 เซ็นติเมตร  มีการอพยพประชาชน 7-8 ครัวเรือน มาอยู่ในศูนย์อพยพเรียบร้อยแล้ว  ส่วนถนนหาทางในตัวเมืองสุไหงโก-ลก ยังสามารถสัญจรไปมาได้ ยังไม่น่าเป็นห่วง 

ทั้งนี้ ในพื้นที่รับน้ำมาจาก อ.สุคริน และ อ.แว้ง ซึ่งขณะนี้ ปริมาณน้ำจากทั้ง 2 อำเภอไม่สูงมากนัก ทำให้ยังไม่น่าเป็นห่วงมาก สำหรับความเสียหายในเรื่องทรัพย์สินไม่มาก เพราะมีการแจ้งเตือนให้ประชาชนยกของขึ้นที่สูงตั้งแต่ฝนเริ่มเเข้ามาแล้ว อย่างไรก็ตามต้องติดตามสถานการณ์ต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 25 ม.ค. ตามคำพยากรณ์ของกรมอุตุตนิยมวิทยา


 

 

นครศรีลุ่มน้ำปากพนังยังหนัก-4อำเภอจม

ศูนย์ประมวลและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานสถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดนครศรีธรรมราชวันนี้ (21 ม.ค.2560) ว่าสถานการณ์น้ำท่วมในเขตรอบนอกเทศบาลนครศรีธรรมราช เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว แต่ในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง (อ.ปากพนัง อ.เชียรใหญ่ อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.ชะอวด) ยังคงมีน้ำท่วมขัง 0.50 เมตรในที่ลุ่มต่ำก่อนออกสู่ทะเล ปัจจุบันมีปริมาณน้ำคงเหลือในพื้นที่ประมาณ 600 ล้านลบ.ม.  เนื่องจากยังมีฝนตกหนักในพื้นที่ การคาดการณว่าสภาพน้ำท่าในคลองสายหลักในพื้นที่ด้านล่าง บริเวณออกสู่ทะเล จะมีแนวโน้มเริ่มทรงตัว รอการระบายออก พื้นที่ลุ่มต่ำยังคงมีน้ำท่วมขัง 

 

กรมชลประทาน ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำจํานวน 112 เครื่อง  ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำจํานวน 69 เครื่อง  เครื่องจักรเปิดทางน้ำ จํานวน 1 คัน รถขุดแบคโฮ จํานวน 2 คัน เครื่องปั่นไฟ จํานวน 1 เครื่อง รถบรรทุกขนเครื่องจักร จํานวน 1คัน รถบด จํานวน 1 คัน ช่วยเหลือที่โครงการอ่างเก็บน้ำคลองดินแดงอันเนื่องมาจากพระราชดําริ อําเภอพิปูน และได้รับการสนับสนุนเครื่องผลักดันน้ำเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยจํานวน 70 เครื่องจากกองทัพเรือติดตั้งบริเวณปตร.ชะอวด-แพรกเมืองจํานวน 30 เครื่อง และปตร.ฉุกเฉิน จํานวน 20 เครื่องเพื่อเป็นการเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่การเกษตร คลองระบายน้ำของกรมชลประทาน และคลองธรรมชาติ


 

สุราษฏร์พื้นที่ลุ่มต่ำท่วม-อ.เคียนซาสูงกว่าตลิ่ง 

ศูนย์ประมวลและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานสถานการณ์น้ำท่วมวันนี้ (21 ม.ค.2560) ว่า จังหวัดสุราษฏร์ธานี ยังคงมีพื้นที่น้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำ อําเภอเคียนซา อําเภอพุนพิน อําเภอบ้านนาสาร อําเภอเมือง อําเภอดอนสัก และอําเภอบ้านนาเดิม   โดยอําเภอพระแสง ระดับน้ำลดลงต่ำกว่าระดับตลิ่ง 0.76เมตร มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นใน 1-2 วันนี้ แต่ไม่ล้นตลิ่ง อําเภอเคียนซา ระดับน้ำลดลงแต่ยังสูงกว่าระดับตลิ่ง 0.29 เมตร แนวโน้มลดลง คาดต่ำกว่าตลิ่งในวันที่ 21ม.ค. 60 อําเภอพุนพินระดับน้ำลดลงต่ำกว่าระดับตลิ่ง 0.10 เมตร (เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากน้ำทะเลหนุนในบางช่วงเวลา) แต่ไม่มีผลกระทบต่อพื้นที่เศรษฐกิจในเขตเทศบาลเมืองท่าข้าม อําเภอเมือง ระดับน้ำลดลงต่ำกว่าระดับไม่มีผลกระทบ  ทาง ชลประทานสุราษฎรธานี  เร่งผลักดันน้ำ ตัดยอดน้ำออกสู่ทะเลทางคลองพุนพิน เพื่อลดปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขตอําเภอเมืองสุราษฎร์ธานี และได้ติดตั้ง เครื่องผลักดันน้ำ จํานวน 27 เครื่อง ที่ ปตร.คลองท่าโพธิ์ 2 เครื่อง ปตร. ไชยา 2 เครื่องและคลองบางกล้วยใหญ่ 6 เครื่อง และสะพานศรีวิชัยข้ามคลองพุนพิน 15 เครื่อง  และได้รับการสนับสนุนจากกองทัพเรือ สนับสนุนเรือผลักดันน้ำ จํานวน 26 ลํา ดําเนินการติดตั้งบริเวณสะพานพระจุลฯจํานวน 16 เครื่อง และบริเวณสะพานพุนพิน จํานวน 10 เครื่อง และเพิ่มเครื่องผลักดันน้ำบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำตาปี (บริเวณร้านอาหารอาเตี่ย) จํานวน 10 เครื่อง


 

ผู้ว่าฯตรังระบุอุทกภัยคลายแล้ว-จับตาริมฝั่งแม่น้ำ

นายศิริพัฒ พัฒกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เปิดเผยว่าขณะนี้สถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่คลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ประชาชนเข้าทำความสะอาดบ้านเรือน และเข้าพักอาศัยเรียบร้อยแล้ว ยังคงเหลือเพียงพื้นที่เกษตรในที่ลุ่มต่ำ ได้แก่ สวนยางพารา สวนปาล์ม ยังมีน้ำท่วมขังอีกเล็กน้อย ประมาณ 10-20 ซม. ทั้งนี้การเกิดอุทกภัยของจังหวัดตรังในพื้นที่จำนวน 6 อำเภอ แต่ละพื้นที่ ได้รับความเสียหายทั้งต่อบ้านเรือน ทรัพย์สิน และพื้นที่ทางการเกษตรของประชาชนในพื้นที่ แต่สภาพของการเกิดอุทกภัยในครั้งนี้ประชาชนสามารถขนย้ายทรัพย์สินต่าง ๆ ได้ทันท่วงที เนื่องจากมีการแจ้งเตือนและส่วนราชการได้ลงพื้นที่ดูแลประชาชน และให้การช่วยเหลือในการขนย้ายทรัพย์สินตั้งแต่เริ่มแจ้งเตือน ประชาชนจึงได้มีการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ภัยที่เกิดขึ้น สำหรับพื้นที่วิกฤตในครั้งนี้จะเป็นครัวเรือนที่อยู่ใกล้แม่น้ำตรัง ทั้งในอำเภอรัษฎา อำเภอห้วยยอด อำเภอเมืองตรัง และอำเภอกันตัง ซึ่งปริมาณน้ำมีเป็นจำนวนมาก และไหลค่อนข้างแรง ท่วมขังเป็นเวลาหลายวัน และบางพื้นที่ในเขตอำเภอเมืองตรังซึ่งเป็นที่ลุ่มต่ำ เช่น บริเวณวัดประสิทธิชัย (วัดท่าจีน) ต.บางรัก อ.เมืองตรัง ซึ่งขณะนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้มีการนำกลังพลและเครื่องจักรกลเข้าปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือในการสูบน้ำระบายลงแม่น้ำตรัง สถานการณ์ก็ได้กลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว แต่พื้นที่ที่ยังต้องเฝ้าระวังในขณะนี้หากเกิดฝนตกลงมาอีก ได้แก่ พื้นที่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำตรัง ในเขตอำเภอเมืองตรัง เช่น ตำบลหนองตรุด ตำบลบางรัก เทศบาลตำบลนาตาล่วง ตำบลนาท่ามใต้ และตำบลนาโต๊ะหมิง  ซึ่งได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แจ้งเตือนประชาชนทุกระยะในการเฝ้าระวังสถานการณ์ 


 

ฝนถล่มปัตตานีหนักสุด 143.6 ม.ล.

คลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) รายงานปริมาณฝน  วันที่ 21 ม.ค. 2560 เวลา 15:00  สูงสุดที่ ต.ตะโละแมะนา ที่ทำการเกษตรอำเภอทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี 143.6 มิลลิเมตร รองลงมาคือที่นราธิวาส ต.จวบ สำนักงานเกษตรอำเภอเจาะไอร้อง 141 มิลลิเมตร ถัดมาคือที่ จ.ปัตตานี ต.เขาตูม 138.2  จ.ยะลา ต.ตาเซะ 15.2  มิลลิเมตร ถัดมาคือ จ.ยะลา ต.กายูบอเกาะ ที่ว่าการอำเภอรามัน 96.8  มิลลิเมตร


นราฯน้ำซัดถนนพัง - 2,400 ครัวเรือนถูกตัดขาด

 

นายสิทธิชัย ศักดา ผู้ว่าราชการ จ.นราธิวาส เดินทางพร้อมด้วย พล.ต.วิชาญ สุขสง ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส โดยได้นำชุดทหารช่างจากกองพันทหารช่างที่ 15 กองพลทหารราบที่ 15 ซึ่งมี พ.ท.วิสุทธิ์ นวลละออง ผู้บังคับกองพันทหารช่างที่ 15 เป็นหัวหน้าชุด เดินทางเข้าตรวจสอบบริเวณถนนสายบ้านค่าย-อ่าวมะนาว ซึ่งตั้งอยู่ ม.2 บ.ค่าย ต.กะลุวอเหนือ อ.เมือง จ.นราธิวาส ที่ถูกกระแสน้ำกัดเซาะในช่วงคืนที่ผ่านมา จนทำให้ถนนถูกตัดขาดระยะทางประมาณ 8 เมตร ความลึกกว่า 2 เมตร ส่งผลให้ราษฎรที่อาศัยในพื้นที่ 3 หมู่บ้านคือ ม.1 บ.บางมะนาว ม.7 บ.ปูลากาป๊ะ และ ม.12 บ.บูกิตอ่าวมะนาว ซึ่งอยู่ใกล้อ่าวมะนาว สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของ จ.นราธิวาส รวม 2,400 ครัวเรือน ประมาณกว่า 8,000 คน เดือดร้อนอย่างหนัก ไม่สามารถสัญจรไปมาได้ เสมือนถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ซึ่งชุดทหารช่างฯ ได้ทำการตรวจสอบความเสียหาย ก่อนที่จะได้นำกำลังพลเข้าทำการติดตั้งสะพานชั่วคราว ซึ่งเป็นรถสะพานเครื่องหนุนมั่น ความยาว 15 เมตร ความกว้าง 5 เมตร สามารถรับน้ำหนักได้ 15 ตัน เพื่อเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ให้ราษฎรสามารถสัญจรได้ชั่วคราว ส่วนการก่อสร้างถนนถาวรแทนที่ชำรุดนั้น 

ทางด้าน พ.ท.วิสุทธิ์ หน.ชุดฯ กล่าวว่า ต้องรอทางจังหวัดนราธิวาสอนุมัติงบประมาณในการฟื้นฟู แต่คาดว่าภายในเดือนนี้จะสามารถเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ และใช้เวลาในการดำเนินการให้แล้วเสร็จไม่น่าจะเกิน 2 สัปดาห์ เพื่อที่จะให้กลับเข้าสู่สภาวะปรกติโดยเร็วที่สุด สำหรับการให้ความช่วยเหลือในครั้งนี้เป็นไปตามโครงการกองทัพบกช่วยเหลือประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยในหลายห้วงที่ผ่านมา 

นอกจากนี้ นายสิทธิชัย ผวจ.นราธิวาส พร้อมด้วย พล.ต.วิชาญ ผบ.ฉก.นราธิวาส ยังได้มอบถุงยังชีพจำนวน 40 ชุดให้แก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้เป็นการเบื้องต้นอีกด้วย   


Create Date :22 มกราคม 2560 Last Update :22 มกราคม 2560 15:55:44 น. Counter : 613 Pageviews. Comments :0