bloggang.com mainmenu search
”วัดอาฮงศิลาวาส” “เมืองบาดาล” คำๆ นี้ชวนให้นึกถึงดินแดนอันเป็นปริศนาที่ไม่สามารถหาคำตอบได้ว่ามีอยู่จริงหรือไม่ มักใช้เรียกสถานที่ลึกลับที่มาพร้อมกับตำนานเล่าขาน ซึ่งโดยส่วนมากก็จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องราวเร้นลับที่ไม่สามารถหาคำตอบได้

       แต่ “เมืองบาดาล” บางแห่ง อาจรวมไปถึงสถานที่ที่ได้จมลงไปสู่พื้นสาครโดยเกิดขึ้นจากฝีมือมนุษย์หรือเกิดจากภัยธรรมชาติ แต่ไม่ว่าอย่างไร "เมืองบาดาล" แต่ละแห่งก็มีมนต์เสน่ห์ที่แตกต่างออกไปให้เราได้ไปสัมผัสกัน

แก่งอาฮง-สะดือแม่น้ำโขง-วังพญานาค        เมืองบาดาลที่มีเรื่องเล่าขานกันมากที่สุด คือเมืองบาดาลแห่ง “แม่น้ำโขง” แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำสายใหญ่ที่ทอดยาวผ่านหลายประเทศ บางส่วนของแม่น้ำโขงกั้นเป็นพรมแดนระหว่างประเทศไทยและลาว ลำน้ำโขงในส่วนนี้เองที่มีตำนานเรื่องเมืองบาดาล เกี่ยวพันกับเหตุการณ์ความมหัศจรรย์ของปรากฏการณ์ "บั้งไฟพญานาค" ที่ในคืนวันออกพรรษาจะปรากฏลูกไฟสีแดงพวยพุ่งขึ้นจากลำน้ำโขงขึ้นไปสู่ท้องฟ้าและหายไป เป็นเรื่องเล่าขานถึงพญานาคที่ได้ทำบั้งไฟถวายเป็นพุทธบูชา

ปากทางเข้า “ถ้ำดินเพียง” เส้นทางสู่เมืองพญานาค ตลอดสายน้ำโขงที่ทอดยาว โดยเฉพาะบริเวณช่วงจังหวัดหนองคาย-บึงกาฬ มีเรื่องเล่ามากมายของผู้คนตลอดสองฝากฝั่งถึงเมืองบาดาลซึ่งถือเป็นเมืองของพญานาคนั่นเอง โดยเฉพาะบริเวณ "แก่งอาฮง" ที่อยู่บริเวณใกล้กับวัดอาฮงศิลาวาส อำเภอเมือง  จังหวัดบึงกาฬ แม่น้ำโขงบริเวณหน้าวัดอาฮงแห่งนี้เชื่อกันว่าเป็นจุดที่ลึกที่สุดของแม่น้ำโขง เรียกกันว่า “สะดือแม่น้ำโขง” ชาวบ้านเชื่อว่า ณ สะดือแม่น้ำโขงนี้เองคือวังบาดาลของพญานาค

ภายใน “ถ้ำดินเพียง” “ถ้ำดินเพียง” ในอำเภอสังคม จังหวัดหนองคายก็เป็นอีกหนึ่งสถานที่ในเรื่องราวความเร้นลับของเมืองบาดาล ถ้ำแห่งนี้ถูกค้นพบโดยชาวบ้านที่ออกล่าสัตว์ป่าจนไปพบถ้ำนี้โดยบังเอิญ ภายในถ้ำแห่งนี้มีห้อง โพรง ช่อง ซอก ซอย รู อันเกิดจากการกัดเซาะของน้ำใต้ดินที่เต็มด้วยส่วนโค้ง ส่วนเว้า จำนวนมากนับเป็นพันๆ ช่องทางสามารถใช้สัญจรทะลุเชื่อมถึงกันได้อย่างไม่น่าเชื่อซึ่งเล่ากันว่าคล้ายเส้นทางการเลื้อยของพญานาค ชาวบ้านเชื่อกันว่าถ้ำแห่งนี้เป็นเส้นทางไปสู่เมืองพญานาคที่สามารถเดินทางไปใต้ลำโขง ไปๆมาๆระหว่างหนองคายกับเวียงจันทน์ได้ โดยมีเรื่องเล่าว่า ในถ้ำแห่งนี้เป็นเส้นทางที่พระธุดงด์จากลาวใช้ข้ามฝั่งลอดใต้แม่น้ำโขงเข้ามายังเมืองไทย เส้นทางเดินนี้ต้องเป็นพระผู้ทรงศีลแก่กล้าเท่านั้นจึงจะมองเห็นเส้นทาง

จุดปลายสุด “ถ้ำน้ำเขาศิวะ”        ส่วนที่ "ถ้ำน้ำเขาศิวะ" อำเภอคลองหาด จังหวัดสระเเก้ว ที่พึ่งถูกค้นพบและเปิดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเมื่อไม่นานมานี้ ก็นับได้ว่าเป็นเมืองบาดาลเช่นกัน ตลอดเส้นทางที่ทอดยาวเข้าไปในถ้ำนั้นมืดมิดนักท่องเที่ยวต้องเดินลุยน้ำเข้าไปชมซึ่งบางส่วนมีความลึกมาก ปลายถ้ำนั้นเป็นทางตัน เมื่อชมถึงจุดปลายสุดแล้วจะต้องเดินย้อนกลับมา แต่ที่ปลายสุดแห่งนี้เองวิทยากรผู้นำทางได้เล่าถึงเรื่องราวความเร้นลับว่า ก่อนที่จะเปิดให้เข้ามาท่องเที่ยวได้มีการสำรวจโดยเจ้าหน้าที่ ซึ่งได้เตรียมอุปกรณ์ดำน้ำมาด้วย เมื่อถึงปลายสุดของถ้ำได้มีการดำน้ำลงไปสำรวจเพราะบริเวณนี้เป็นบริเวณตาน้ำที่ลึกที่สุด และหลังจากที่เจ้าหน้าที่ได้ดำลงไปสำรวจเเล้ว เมื่อกลับขึ้นมาได้เล่าว่าข้างล่างนั้นเป็นเหมือนเมืองบาดาล เจ้าหน้าที่คนนั้นได้เพียงแค่เล่าเรื่องราวแต่ไม่หันกลับไปมองบริเวณนั้นอีกและยังไม่มีใครกล้าที่จะดำลงไปอีก จึงกลายมาเป็นเรื่องราวปริศนาที่เล่าต่อๆ กันมาของถ้ำน้ำเขาศิวะแห่งนี้

เมืองบาดาล “สังขละบุรี” โผล่ให้ชมยามน้ำลด        สำหรับเมืองบาดาลที่ไม่ได้มาพร้อมตำนานเร้นลับ หากเกิดจากน้ำมือมนุษย์ก็คือที่ "อำเภอสังขละบุรี" จังหวัดกาญจนบุรี โดยเมื่อครั้งอดีตชุมชนดั้งเดิมของชาวมอญได้มีการสร้างหมู่บ้านบริเวณจุดรวมของ แม่น้ำ 3 สาย ได้แก่ แม่น้ำซองกาเลีย แม่น้ำรันตี และแม่น้ำบีคลี่ ต่อมาในปีพ.ศ.2527 มีการสร้างเขื่อนเขาแหลม หรือเขื่อนวชิราลงกรณ์ ทำให้บ้านเมืองบริเวณนี้ต้องจมลงใต้สายน้ำ ชาวบ้านต้องย้ายที่อยู่และที่ทำกินไปอยู่บนพื้นที่สูงกว่าเดิม ส่วนหมู่บ้านเก่าที่ยังคงมีสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ทิ้งร้างไว้นั้นกลายเป็นก้นเขื่อน เมื่อน้ำลดจึงจะมองเห็นสิ่งปลูกสร้างเหล่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ "วัดวังก์วิเวการาม" (หลังเก่า) ที่ในหน้าแล้งน้ำลดลงจนสามารถลงไปเดินชมซากโบสถ์หลังเก่าได้ ส่วนในหน้าน้ำหากล่องเรือออกไปจะมองเห็นตัววัดรำไรอยู่ใต้สายน้ำ เกิดเมืองบาดาลแห่งสังขละบุรีขึ้น(ติดตามอ่าน วิถีมอญ-เมืองบาดาล-สะพานมอญ”...“สังขละบุรี” มีดีไม่มีสร่าง ได้ตามลิงค์นี้)

“เวียงหนองหล่ม” ที่ตั้งเมืองโยนกนครเมื่อครั้งอดีต ( ภาพจาก oknation.net)        ส่วนเมืองบาดาลที่เกิดขึ้นจากภัยธรรมชาตินั้นได้แก่ “โยนกนคร” มีเรื่องราวการล่มสลายของโยนกนครจนเป็นเมืองบาดาลอยู่มากมาย แต่ทฤษฎีที่เป็นวิทยาศาสตร์และน่าเชื่อถือนั้นก็คือ เมืองโยนกนครแห่งนี้ล่มสลายลงเพราะแผ่นดินไหว เนื่องจากเมืองได้สร้างอยู่บริเวณที่ดอนกลางหนองน้ำในปล่องภูเขาไฟซึ่งดับไปแล้ว โดยเป็นพื้นที่ๆ ไม่มั่นคง ประกอบกับเมืองยังตั้งอยู่บนรอยเลื่อนสองแห่ง เมื่อเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมืองโยนกนครจึงล่มลงกลายเป็นเมืองบาดาลทิ้งปริศนาความเร้นลับให้แก่คนรุ่นหลังได้ไขกันต่อไป

       เนื่องจาก “เมืองบาดาล” แต่ละแห่งล้วนแล้วแต่ลึกลับ มีมนต์เสน่ห์และมาพร้อมตำนานความเชื่อ การเข้าชมสถานที่แต่ละแห่งจึงควรให้ความเคารพในสถานที่และปฏิบัติตามข้อบังคับอย่างเคร่งครัดด้วย

       * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
//www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9560000066298
Create Date :03 มิถุนายน 2556 Last Update :3 มิถุนายน 2556 20:59:30 น. Counter : 9079 Pageviews. Comments :1