bloggang.com mainmenu search
หัวมุมถนนกับอาคารสุดคลาสสิกที่ "แพร่งภูธร”        ในเขตกรุงเทพมหานครเมืองหลวงของไทยแห่งนี้ มีย่านเก่าอยู่มากมายซึ่งแต่ละแห่งนั้นล้วนมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ศิลปะและวัฒนธรรมรวมถึงวิถีชีวิตของผู้คนในย่านนั้นซึ่งได้ดำเนินจนมาถึงปัจจุบัน แต่ในหมู่ย่านทั้งหลายนั้น ย่านที่มีชื่อเรียกแปลกออกไปจากหลายๆที่นั้น คือ ”ย่านแพร่ง” คำว่าแพร่งนี้ใช้เรียกทางแยกสามทางซึ่งเรามักได้ยินบ่อยว่า “ทางสามแพร่ง” ในกรุงเทพฯมีเส้นทางลักษณะนี้อยู่มากมายซึ่งปัจจุบันไม่ได้เรียกแบบอดีตแล้ว แต่ก็ยังคงเหลือย่านที่ยังคงชื่อเหล่านี้ไว้ตั้งแต่อดีตนั้นคือ “ย่านแพร่ง” ย่านนี้ประกอบด้วย แพร่งภูธร แพร่งนรา แพร่งสรรพสาตร ทั้งสามแพร่งนี้อยู่ในละแวกเดียวกัน รวมกันเรียกว่า ”ย่านแพร่ง” หรือที่หลายคนนิยมเสียกว่าย่าน "สามแพร่ง"

       ย่านแพร่งมีถนนเล็กๆเชื่อมต่อกัน ในย่านแพร่งแห่งนี้มีมนต์เสน่ห์ของบ้านเก่าที่ยังสวยงามตามสถาปัตยกรรมในครั้งอดีต โดยสถาปัตยกรรมในย่านนี้เป็นแบบชิโนโปรตุกีส (Sino-Portuguese) ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่มีการผสมผสานระหว่างจีนและโปรตุเกสและยังคงอยู่ให้ได้เห็นถึงปัจจุบันในย่านแห่งนี้

อาคารกระทรวงกลาโหม อีกหนึ่งความคลาสสิก ริมคลองคลอดฝั่งถนนอัษฎางค์        ย่านแพร่งแห่งนี้ตั้งอยู่ที่เขตพระนครอยู่ระหว่างถนนอัษฎางค์และถนนตะนาว ใกล้กันนั้นคือย่านเสาชิงช้า (คลิกอ่านเรื่องเที่ยวย่านเสาชิงช้า) หากใครได้มีโอกาสมาเที่ยวก็สามารถเดินเที่ยวชมตึกเก่าพร้อมกับแวะชิมแวะซื้ออาหารหรือขนม เพราะในย่านแพร่งแห่งนี้เป็นที่ตั้งของร้านอาหารต้นตำรับซึ่งมีอยู่มากมายหลายร้าน (คลิกอ่านเรื่องกินย่านสามแพร่งได้ที่นี่) อีกทั้งในแต่ละแพร่งยังมีสถานที่น่าสนใจให้ได้แวะชมและเรียนรู้เรื่องราวความเป็นมาของย่านนี้อีกด้วย

       เริ่มต้นที่ “แพร่งภูธร” เป็นย่านการค้าที่อยู่ระหว่างถนนตะนาว และถนนอัษฎางค์ ริมคลองหลอด เชิงสะพานช้างโรงสี เดิมคือ วังสะพานช้างโรงสี วังเหนือซึ่งเป็นที่ประทับของ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ ซึ่งต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดฯ ให้แบ่งพื้นที่ทำเป็นตึกแถว ซึ่งยังคงรักษาสถาปัตยกรรมในสมัยนั้นไว้มาถึงทุกวันนี้ จุดเด่นของเพร่งแห่งนี้ คือแนวตึกแถวเก่าที่เรียงรายล้อมรอบเกาะกลางสวนหย่อมซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานีอนามัย”สุขุมาลอนามัย” อีกทั้งยังมีร้านค้ามากมาย อาทิ ร้านขายเครื่องดนตรีสากล ร้านขายเครื่องเงิน ร้านขายขนมหวาน

โรงเรียนตะละภัฏศึกษา "เเพร่งนรา"        หากเดินลัดเลาะริมถนนอัษฎางค์ฝั่งตรงข้ามจะเป็นตึกกรมแผนที่ทหารซึ่งเป็นตึกที่มีสถาปัตยกรรมแบบชิโนโปรตุกีส (Sino-Portuguese) ริมคลองหลอดซึ่งมีความสวยงามไม่แพ้กัน เดินตามทางมานั้นเราก็จะพบกับแพร่งถัดมานั้นก็คือ ”แพร่งนรา” แพร่งแห่งนี้เป็นย่านการค้าที่ตั้งอยู่ระหว่างวัดสุทัศน์เทพวราราม กับวัดมหรรณพาราม ระหว่างถนนตะนาว และถนนอัษฎางค์ อยู่ทางทิศเหนือของแพร่งภูธรและอยู่ทางทิศใต้ของแพร่งสรรพสาตร ถนนทอดยาวสองฝั่งเป็นตึกแถวเก่าสวยงาม ภายในซอยเดิมเป็นที่ตั้งวังของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ และยังเป็นที่ตั้งของ ”โรงเรียนตะละภัฏศึกษา” อาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ที่ตกแต่งอย่างสวยงาม นับว่าในซอยแพร่งนราแห่งนี้ยังมีความคลาสสิคของยุคเก่าด้วย

ซุ้มประตูเก่า “แพร่งสรรพสาตร” "แพร่งสรรพสาตร” เป็นแพร่งสุดท้ายในย่านแพร่งแห่งนี้ตั้งอยู่ระหว่างถนนตะนาว กับถนนอัษฎางค์ อยู่ทางทิศเหนือของแพร่งนรา ที่แพร่งนี้สถาปัตยกรรมเก่าๆได้ถูกไฟไหม้ใหญ่ถึง 2 ครั้งและจางหายไป จึงเหลือเพียงซุ้มประตูวังเก่าที่ตั้งเด่นไว้ให้ดูต่างหน้า โดยซุมประตูที่ว่านี้ คือวังสรรพสาตรศุภกิจ วังที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ ก่อสร้างตามแบบศิลปะยุโรป มีกรอบประตูโค้งประดับแผ่นปูนปั้นที่กึ่งกลาง หน้าบันกรุกระจกสีกึ่งกลางเป็นช่องโปร่งตั้งรูปหล่อเทพธิดากรีกชูโคมไฟ

       ในย่านแพร่งแห่งนี้ด้านฝั่งถนนตะนาว ยังเป็นที่ตั้งของวัดไทยและวัดจีนหากใครได้มาเยี่ยมเยือนในย่านนี้ก็สามารถแวะทำบุญได้อีกด้วย โดยวัดแรกถัดจากแพร่งสรรพสาตรมา เป็นที่ตั้งของ “ศาลเจ้าพ่อเสือ” เป็นศาลเจ้าเก่าแก่ของย่านแห่งนี้คนจีนเรียกศาลเจ้านี้ว่า "ตั่วเหล่าเอี้ย" โดยเป็นที่ประดิษฐานรูปเอี่ยนเถี้ยนส่งเต้, รูปเจ้าพ่อเสือ, รูปเจ้าพ่อกวนอู และรูปเจ้าแม่ทับทิม เป็นที่นิยมในการมาสักการะขอพรเทพเจ้าต่างๆ มีผู้คนเนื่องแน่นไม่ขาดสาย

บริเวณด้านหน้าศาลเจ้าพ่อเสือ        เลยถัดมาลัดเลาะริมถนนตะนาวมุ่งหน้าสู่ถนนราชดำเนินทางด้านขวาเป็นที่ตั้งของวัด “วัดมหรรณพารามวรวิหาร” พระอารามหลวงชั้นตรีสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 สถาปัตยกรรมภายในวัดมีทั้งแบบไทยและแบบที่ได้รับอิทธิพลมาจากจีน หลังคาของพระอุโบสถ ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา มีพระประธานปั้นด้วยปูน ลงรักปิดทอง เป็นพระพุทธรูปสมัยกรุงศรีอยุธยา ส่วนพระวิหารมีขนาดเท่ากับพระอุโบสถ รวมทั้งมีศิลปะแบบเดียวกัน มีพระพุทธรูปหล่อสมัยสุโขทัยนามว่า “พระร่วงทองคำ” ประดิษฐานอยู่เป็นที่เคารพเลื่อมใสของผู้คนในย่านนี้

“พระร่วงทองคำ” วัดมหรรณพารามวรวิหาร        หากใครที่ต้องการที่จะรำลึกถึงภาพเมือครั้งอดีต “ย่านแพร่ง” แห่งนี้ก็คงไม่ทำให้ผิดหวัง ถึงแม้วิถีชีวิตในแบบเก่าจะไม่ค่อยมีให้ได้เห็นแล้วแต่ในด้านสถาปัตยกรรมอาคารบ้านเรือนเมื่อครั้งอดีตที่ยังคงอยู่และยังไม่จางหายไป อีกทั้งย่านแพร่งในส่วนที่เป็นอาคารเก่าในเวลานี้กำลังได้รับการบูรณะทาสีใหม่ หากใครได้มาชมแล้วก็คงเป็นภาพที่งดงามไม่แพ้ย่านไหนๆเลยทีเดียว

       *****************************************************************************************************************************
//www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9560000048781
Create Date :26 เมษายน 2556 Last Update :26 เมษายน 2556 21:24:42 น. Counter : 1726 Pageviews. Comments :2