bloggang.com mainmenu search

ทุ่ม 600 ล้าน! แก้บีทีเอส หั่นสถานี “สะพานตากสิน” คุ้มสำหรับใคร?
ยุบ-ไม่ยุบ ยุบ-ไม่ยุบ ตัดสินใจแกว่งไปแกว่งมาอยู่หลายรอบ ล่าสุด ดูเหมือนว่าทางบีทีเอสจะตัดสินใจขาดแล้ว ตั้งงบ 600 ล้าน เตรียมยุบสถานีสะพานตากสิน แล้วแปลงให้เป็น Sky Walk ราคาสูงเพื่องดดรามา มั่นใจว่าผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ต้องการให้รถไฟฟ้าวิ่งเร็วขึ้นอย่างปลอดภัย
       ทั้งยังหวังว่าชุมชนสะพานตากสินจะพอใจกับสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทุ่มให้ บวกกับผลประโยชน์ที่เคยได้จากสถานีชั่วคราวแห่งนี้ก็มากมาย บอกเลยถึงเวลาต้องเสียสละเพื่อส่วนรวมแล้ว!!?




“สถานีชั่วคราว” สร้างทำไม ถ้าคิดจะรื้อ?

(สภาพการใช้งานรางเดี่ยว ที่เดียวที่สถานี "สะพานตากสิน" ทำให้เสียเวลาการเดินทาง)

“เรากะสร้างสถานีนี้เอาไว้เป็นสถานีสุดท้ายและตั้งใจสร้างเป็นสถานีชั่วคราวมาตั้งแต่แรกแล้วครับ” ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ประธานกรรมการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) วิสาหกิจของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ประกาศเจตนารมณ์เอาไว้อย่างชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องที่หลายคนกำลังสนใจ

ถามว่าในเมื่อรู้ว่าจะต้องทุบ จะสร้างทำไมตั้งแต่ทีแรก? ผู้ดูแลโครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (BTS) จึงช่วยอธิบายรายละเอียดในเชิงลึกให้เข้าใจว่า เป็นเพราะทาง กทม.ต้องการสร้างส่วนต่อขยาย สร้างสถานีข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่ม จึงทำให้สถานีนี้ไม่ใช่สถานีสุดท้ายอีกต่อไป แต่กลายเป็นสถานีตรงกลางที่เป็นต้นเหตุที่ทำให้ระบบขนส่งเกิดความล่าช้า เพราะสถานีนี้เพียงสถานีเดียวที่ไม่สามารถใช้ระบบรางคู่ เปิดให้รถ 2 ขบวนสวนกันไปมาได้ แต่ดันมีแค่รางเดียวให้บริการ การรอเพื่อจะสับรางบริเวณนี้จึงทำให้เละไปทั้งระบบและกลายเป็นปัญหาจนถึงเวลาต้องแก้ไข!

“จะเห็นได้ว่าระยะห่างระหว่างสถานีสุรศักดิ์กับสถานีสะพานตากสิน ก็เลยจะสั้นกว่าระยะห่างระหว่างสถานีอื่น คือห่างกันแค่ 700 เมตร จากที่สถานีอื่นจะห่างกันประมาณ 1.2 กม. เป็นเพราะวางไว้แล้วตั้งแต่ต้นครับว่าจะให้สถานีเป็นแค่สถานีชั่วคราว แต่พอสร้างไปสักพักหนึ่งประชาชนก็เริ่มติดเพราะเป็นสถานีริมแม่น้ำ แต่ตัวสถานีมันสร้างคร่อมอยู่บนรางที่สองของรถไฟฟ้า เพราะเนื้อที่ตรงนั้นถูกสะพานตากสินบีบทำให้เหลือที่ไม่มากนักในการสร้างสถานี จึงจำเป็นต้องวางตัวสถานีคร่อมเอาไว้บนรางรางหนึ่ง แล้วให้เหลือแค่รางเดียวที่ให้บริการได้


(รางเดี่ยว วิ่งได้เลนเดียว สถานีสะพานตากสิน)

เมื่อก่อนก็ไม่ค่อยมีปัญหามาก จนกระทั่งจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ บวกกับระยะเวลาการเดินทางของรถก็เริ่มติด เพราะรถไฟฟ้าที่วิ่งผ่านสถานีนี้ต้องรอสับรางใช้รางเดียวที่สถานีนี้เสมอ ทำให้เสียช่วงเวลาเร่งด่วนไปถึงประมาณ 110 เปอร์เซ็นต์ของความสามารถในการขนส่งต่อเที่ยว หมายความว่าจะมีผู้โดยสารที่ขึ้นไม่ได้ประมาณ 10 คนต่อเที่ยวเมื่อรถมาถึง ทำให้ต้องรถขบวนหน้าและความล่าช้าก็สะสมไปเรื่อย

ยิ่งสถานีนี้มาอยู่สถานีตรงกลางของสาย ยิ่งส่งผลต่อความล่าช้าที่เกิดขึ้น ปกติแล้วสถานีอื่นๆ จะใช้เวลาประมาณ 3 นาทีในการเดินทาง แต่พอมาผ่านจุดนี้ปุ๊บ จะกลายเป็น 5 นาที เพราะต้องรอใช้ราง ทำให้เวลาโดยรวมเสียไป ปัญหาหลักที่ต้องการจะรื้อสถานีชั่วคราวนี้ก็มาจากเรื่องนี้นี่แหละครับ ที่ต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นเพราะว่ารถไฟฟ้าได้รับความนิยม คนใช้กันมากขึ้นแล้วก็เรียกร้องให้รถมาเร็วๆ หน่อย อย่าให้รอนานโดยเฉพาะเวลาเร่งด่วน แต่ถ้าจะปรับให้รถวิ่งเร็วขึ้นก็จะไม่ปลอดภัย และถึงยังไงถ้าไม่แก้ไขตรงนี้ ก็จะมาช้าตรงสถานีสะพานตากสินอยู่ดี

กรุงเทพธนาคมกับบีทีเอส ผู้ประกอบการ คุยกับทาง กทม.แล้วว่า จำเป็นจะต้องทำให้ตรงนี้เป็นรางคู่เหมือนเดิม พอเป็นรางคู่ ตัวสถานีที่มันตั้งอยู่บนรางรางนึงก็ต้องเอาออก ก็มีโจทย์ว่าจะทำยังไงดี ระหว่างไปสร้างตัวสถานีสะพานตากสินใหม่โดยให้ไปเกาะสะพาน คือขยับตัวสถานีเดิมหลบออกไปไม่ให้มาตั้งอยู่บนราง หรืออีกวิธีคือทำให้สถานีนี้ยังเปิดใช้อยู่ แต่ให้ไปใช้บริการสถานีสุรศักดิ์ซึ่งอยู่ห่างออกไป 700 เมตรแทน เพื่อให้รถยังวิ่งต่อไปได้อย่างสะดวก และลดเวลาวิ่งต่อขบวนลงให้ได้ โดยปล่อยให้ทั้งระบบเป็นรถไฟรางคู่ทั้งหมด ไม่ใช่แค่รางเดี่ยวเฉพาะแค่จุดนี้อย่างที่เป็นอยู่



ถ้าสร้างสถานีมาชั่วคราวแล้วจะทำทำไม? คำตอบก็คือสร้างขึ้นมาเพื่อให้คนต่อเรือได้อย่างสะดวก ถามว่า กทม.หรือทางเราจะได้ประโยชน์อะไรในการเอาสถานีสะพานตากสินออก ไม่ได้เลยครับ การอำนวยความสะดวกในโครงการนี้มีแต่จะเสียเงินเพิ่มขึ้น แถมยังถูกคนด่าด้วย แต่เราแค่ต้องการให้คนที่ใช้บริการทั้งระบบมีความสะดวกรวดเร็วในการใช้บริการมากขึ้น ไม่ต้องมารอนาน 2-3 ขบวนถึงจะได้ขึ้นจากสถานีสะพานตากสิน

สิ่งที่ผมอยากจะย้ำก็คือ โครงการนี้มันไม่ได้เปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนเลย ทางขึ้นลงและบันไดเลื่อนก็เหมือนเดิม แถมจะดีขึ้นด้วย ถามว่าจู่ๆ เราอยากทำมั้ย ไม่มีใครอยากจ่ายเงินเพิ่มเลยครับ แต่ทำเพื่อให้ได้บริการที่ดีขึ้น

คนที่มองว่าการสร้างสถานีสะพานตากสินชั่วคราวนี้ เป็นการผลาญงบประมาณเกินไป มันเปลืองไปมั้ย? ผมก็ต้องตอบว่าตรงนี้ได้ให้บริการมา 10 กว่าปีแล้วนะครับ มันได้เอื้อประโยชน์กับผู้คนที่จะเดินทางจากรถไฟฟ้ามาต่อเรือ หรือเรือมารถไฟฟ้า หรือมาลงพื้นที่ธุรกิจตรงนั้นเพื่อเข้าโรงแรมมานานแล้ว ที่สร้างชั่วคราวก็ถือว่าคุ้มแล้วครับ ตอนนี้ที่ตัดสินใจรื้อก็เพื่อให้ได้บริการที่ดีขึ้นต่อคนใช้ทั้งระบบ

ถ้าถามว่าการรื้อต้องจ่ายเงินมั้ย จริงๆ แล้วไม่ต้องจ่ายเลยก็ได้ครับ ถ้าแค่จะรื้อก็แค่ปิดสถานีไปเลยง่ายๆ ไม่ต้องเปลืองเงินอะไรเลย แต่ทาง กทม.ซึ่งเป็นเจ้าของโปรเจกต์และกรุงเทพธนาคม เราคิดอะไรมากกว่านั้นครับ เรามองเรื่องการอำนวยความสะดวกให้คนที่คุ้นเคยกับตรงนี้ด้วยให้ทำทุกอย่างได้เหมือนเดิม และลงทุนทำทางเลื่อนอีก 700 เมตร นี่แหละครับคือเหตุผลที่ว่าทำไมต้องผลาญงบประมาณ ก็เพื่อจะเอามาสร้างทางเลื่อนอำนวยความสะดวกให้ประชาชนและชุมชนบริเวณสะพานตากสินยังไงล่ะครับ”



ไม่เคยหรอก วางแผนระยะยาว!

(วงสีแดง สถานีที่กำลังจะหายไป)

ลองให้มองจากสายตาคนนอก ผ่านมุมมองผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบโครงสร้างดูบ้าง พิชัย วงศ์ไวศยวรรณ นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ขอออกตัวก่อนว่ายังไม่รู้รายละเอียดโครงการในเชิงลึกว่าตอนที่เสนอเป็นแผนแม่บท ระบุเอาไว้ว่าให้สถานีตากสินเป็นสถานีชั่วคราวมาตั้งแต่แรกแล้วหรือไม่ และถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะให้การสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ มองผลกระทบในระยะยาวให้มากกว่านี้

“เท่าที่ผมได้เคยได้ยินมา ก็เคยได้ข่าวว่าสถานีนี้สร้างไว้แค่ชั่วคราวนะครับ เพียงแต่ชั่วคราวที่เราเห็นๆ กันอยู่ก็ถือว่าใช้กันมาได้นานพอสมควรจนทำให้คนเคยชินไปแล้ว พอคนใช้ไปนานๆ ถ้าจะยกเลิกสถานีตรงนี้แล้วเปลี่ยนไปใช้สถานีสุรศักดิ์ซึ่งห่างออกไปอีก 700 เมตร ก็อาจจะทำให้คนที่ใช้บริการเป็นประจำได้รับผลกระทบหรือรู้สึกว่าชีวิตความเป็นอยู่สะดวกสบายน้อยลง ถ้าให้วัดจากความรู้สึก ถามว่าไกลมั้ย 700 เมตร ก็ไกลอยู่เหมือนกันนะ ยิ่งถ้าคนที่เคยขึ้นที่สะพานตากสิน จากเคยเดิน 500 เมตรจากบ้านมาถึงสถานี ต่อไปก็ต้องบวกระยะทางเพิ่มขึ้นไปอีก กลายเป็นต้องเดินเป็นกิโลฯ เพื่อไปต่อสถานีรถไฟฟ้าสุรศักดิ์ ก็ไม่รู้ว่าผู้ใช้บริการที่เคยชินกับสถานีแบบเดิมไปแล้วเขาจะรับได้กันมากน้อยแค่ไหนนะครับ

ทำงานด้านนี้มา เข้าใจดีครับว่าการจะสร้างอะไรๆ ในเมืองแห่งนี้มันยากจริงๆ มีข้อจำกัดหลายอย่างมากเพราะเป็นเมืองที่มีความแออัดสูง จะสร้างทางรถไฟฟ้าตัดผ่านที่ไหนขึ้นมามันไม่ใช่การร่างแบบในกระดาษแล้วสร้างตัดเนื้อที่เดิมได้เลย แต่ต้องพิจารณาจากหลายอย่างว่า ถ้าขึ้นสถานีตรงนี้ มองเรื่องระยะทางแล้วอาจจะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด แต่ถ้ามองเรื่องผลกระทบและความเป็นไปได้แล้ว มันต้องเวนคืนที่ชาวบ้านถึง 1,000 หลังคาเรือน เทียบกับอีกเส้นนึงที่อาจจะต้องเวนคืนน้อยกว่า อาจจะแค่ 300 หลังคาเรือน สุดท้าย ก็ต้องเลือกที่จะเกิดผลเสียน้อยที่สุดแล้วครับ


(สถานีที่กำลังจะถูกใช้งานแทน สะพานตากสิน)

ผมเลยมองว่าการวางสถานีสะพานตากสินเอาไว้ตั้งแต่ตอนนั้น น่าจะเป็นหนทางที่ผู้สร้างพอจะทำได้ดีที่สุด ณ ขณะนั้น เขาคงไม่อยากให้รถไฟฟ้าที่ตั้งใจสร้างให้รางคู่ กลายเป็นแบบรางเดี่ยวอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ แต่ที่จำเป็นต้องให้เป็นแบบนั้น คงเพราะมีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ หรือจะยังพอมีทางออกอื่นๆ อีกบ้างมั้ยที่ไม่ใช่แค่เลือกว่าจะรื้อสถานีสะพานตากสินหรือไม่รื้อ เรายังสามารถทำให้สถานีนี้เป็นรางคู่ได้อยู่หรือไม่

การตัดสินใจบางอย่างมันอาจจะดีแค่ในช่วงเวลานั้น มันขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่เปลี่ยนไปครับ อย่างสถานีสะพานตากสินก็ตั้งมาได้หลายสิบปีแล้ว ถ้าสมมติว่า 20 ปีก่อนเรามีแบบแผนแม่บทระบุเอาไว้อีกแบบหนึ่ง แต่พอ 20 ปีให้หลังอะไรๆ มันเปลี่ยนไป สิ่งที่เคยคิดไว้ว่ามันเวิร์กในอดีต มาดูอีกที มันอาจจะไม่ได้เวิร์กกับสภาพความเป็นอยู่ในปัจจุบันแล้วก็ได้ ถ้าถึงตอนนั้นก็คงต้องตัดสินใจกันให้ดีๆ ครับว่าจะเลือกแบบไหน”

ส่วนงบประมาณ 600 ล้านบาทที่วางงบประมาณกันเอาไว้ว่าจะเปลี่ยนจากสถานีรถไฟฟ้าสะพานตากสิน สร้างเป็นทางเลื่อน Sky Walk ไปยังสถานีสุรศักดิ์แทนนั้น ถามว่าเป็นเรตที่สูงเกินไปหรือไม่เพื่อแลกกับความสะดวกรวดเร็วในการใช้รถไฟฟ้า นายกสมาคมสถาปนิกสยามฯ ตอบว่า คงวัดความคุ้มจากตัวเงินกันไม่ได้ วัดกันยาก แต่ถ้าให้มองในภาพรวมแล้ว ก็ถือว่าน่าจะทำให้ความสะดวกสบายของชีวิตคนเมืองเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น เพราะเวลาที่ต้องเสียไปกับการนั่งหรือยืนรอ มันสามารถเอาไปทำอะไรๆ ได้อีกตั้งหลายอย่าง แต่ถ้าจะให้ดีกว่านี้ ควรชี้แจงรายละเอียดให้ชัดเจนและวางแผนระยะยาวกันให้มากกว่านี้


“เรื่องการวางแผนระยะยาวเกี่ยวกับเรื่องสถาปัตย์, ผังเมือง เป็นปัญหามานานแล้วครับในประเทศเรา ต้องบอกว่าส่วนใหญ่ประเทศไทยเป็นประเทศที่เหมาะกับสุภาษิตที่ว่า “วัวหายล้อมคอก” ก็เลยชอบแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าหรือสร้างอะไรขึ้นมาโดยที่อาจจะไม่ได้คำนึงถึงผลระยะยาวเท่าไหร่ อาจจะเหมาะสมแค่ช่วงเวลานั้นๆ แต่พอวันเวลาเปลี่ยนไปก็ค่อยมารื้อสร้างกันใหม่ อันนี้เห็นกันได้บ่อยๆ ไม่ใช่แค่โครงการรถไฟฟ้า

หรือถ้าจะให้พูดถึงกรณีรถไฟฟ้าที่ผมเห็น คงต้องพูดถึงรถไฟฟ้าสถานีบางนาครับ จะเห็นว่าทางออกที่เชื่อมรถไฟฟ้าตรงนั้นจะไปลงตรงที่ กรมอุตุนิยมวิทยา พอดี มันก็ทำให้เกิดคำถามว่าทำไมไม่สร้างสถานีให้ไปลงตรง ไบเทคบางนา ที่น่าจะมีรถสัญจรไปมาและมีคนใช้หนาแน่นกว่า มันก็อาจจะคล้ายๆ กับถ้าเทียบสถานีสะพานตากสินกับสถานีสุรศักดิ์ สถานีสะพานตากสินเป็นจุดเชื่อมรถต่อเรือ น่าจะมีคนใช้ตรงนั้นมากกว่าอยู่แล้ว

เวลาจะทำตัดสินใจสร้างโครงการอะไรแบบนี้ อยากจะให้พิจารณาความคิดเห็นของประชาชนและการทำประชาพิจารณ์ ด้วยครับว่า ผู้ใช้เขาต้องการแบบไหน เพราะสิ่งที่ผู้สร้างตัดสินใจให้บางทีอาจจะไม่ได้ตอบโจทย์คนใช้จริงๆ ก็ได้”



มีแต่ได้กับได้ ถ้าชุมชน “สะพานตากสิน” ยอม?

("ทางเลื่อน" แบบเดียวกันที่ใช้ในสนามบินสุวรรณภูมิ แต่ที่นี่จะยาว 700 เมตร ทุ่ม 600 ล้าน แก้ปัญหาที่ต้องยุบสถานี)

ถามว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะกระทบต่อพฤติกรรมและความเคยชินของประชาชนมากน้อยแค่ไหน ประธานกรรมการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ให้คำตอบว่า “ไม่เปลี่ยนแปลงครับ ทางขึ้นลงต่างๆ จะยังเหมือนเดิม แต่จุดขายตั๋ว จุดขึ้นลงรถจะขยับไปอีก 100 เมตร หมายความว่าสถานีสะพานตากสินยังเป็นจุดขึ้นลงได้เหมือนเดิม แต่แทนที่จะขึ้นมาถึงแล้วสามารถซื้อตั๋วได้เลย ก็เปลี่ยนเป็นต้องต่อ “ทางเลื่อน” ระยะประมาณ 700 เมตรแทน เป็นทางเลื่อนแบบในสนามบินที่เรียกว่า “Walkalator” ซึ่งจะใช้เวลาเดินทางไปถึงจุดขึ้นรถไฟฟ้าสุรศักดิ์ประมาณ 3-5 นาทีขึ้นอยู่กับว่าจะเดินเร็วหรือช้าแค่ไหน ทั้งหมดลงทุนประมาณ 600 ล้าน แต่จะทำให้ระบบไหลเวียนรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

รายละเอียดโครงการตรงนี้ คนจะกลัวว่าเราจะไปยกเลิกสถานีสะพานตากสิน ไปทุบทิ้ง ไม่ใช่อย่างนั้นครับ เพราะทางขึ้นลงและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เคยมีอยู่เดิมก็จะยังมีอยู่เหมือนเดิม แต่ที่จะเกิดขึ้นคือทางเชื่อมที่คล้ายๆ แถวสถานีชิดลมกับสถานีสยามตรงไปต่อเชื่อมที่ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ แต่แทนที่จะเป็นทางเดินใต้รางรถไฟฟ้า ก็จะเป็นทางเลื่อนเพิ่มให้ด้วย ใครอยากเดินบนทางปกติหรือทางเลื่อนก็แล้วแต่จะเลือก

คนจะคิดกันไปว่าพอเปลี่ยนเป็นไปใช้สถานีสุรศักดิ์แล้ว ทางโรงแรมหรือพ่อค้าแม่ค้า ผู้อยู่อาศัยละแวกสถานีสะพานตากสินจะมีปัญหา มันไม่ใช่เลยครับ เพราะระบบทุกอย่างยังเหมือนเดิม แต่จุดขายตั๋วกับจุดจอดรถจะขยับไป 700 เมตรเท่านั้นเอง แล้วก็จะเชื่อมระหว่าง 2 จุดนี้ด้วยทางเลื่อน


(ทางขึ้นสถานียังคงมีอยู่ แต่ด้านบนกลายเป็นทางเชื่อมแทน)


ที่ผ่านมาก็มีประชาชน ผู้ประกอบการ กลุ่มร้านค้า-โรงแรม กลุ่มคนที่คิดว่าทางเราจะรื้อสถานี รวมตัวกันเดินทางมาคัดค้านไม่ให้ทำโครงการนี้ เราก็อธิบายรายละเอียดไปและพยายามทำความเข้าใจกันอยู่ว่า นี่ไม่ใช่โครงการสร้างรถไฟฟ้าขนาดใหญ่อะไรครับ เป็นโครงการขนาดเล็ก เอาตัวสถานีออกและเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกเข้าไปให้ ตอนนี้ก็ยังต้องอธิบายกันครับว่า คนที่มาเรือต่อรถไฟฟ้า หรือมารถไฟฟ้าต่อเรือ ก็ยังทำได้ตามปกติ เพียงแต่ต้องใช้ทางเลื่อนเข้ามาช่วยเท่านั้นเอง ทางเดินจะดีกว่าเดิมด้วยซ้ำครับ

เป็นไปได้มั้ยที่จะยังให้มีตัวสถานีสะพานตากสินอยู่และทำให้เป็นรางคู่ไปด้วยได้ คำตอบคือ “ทำได้” ครับ แต่ทำได้ในตอนไหน ทำได้ที่ต้นทุนเท่าไหร่ก็อีกเรื่องนึง ถ้าจะเลือกทางนี้ก็จะพอมีวิธีคือให้ขยับตัวสถานีไปพิงหรือไปเกาะกับโครงสร้างสะพานตากสิน แต่จะเป็นการเกาะไว้ข้างเดียวซึ่งอาจจะทำให้สะพานขาดความสมดุล ทำให้เกิดปัญหาต่อไป ถ้าจะทำต่อไปให้ปลอดภัยก็ต้องแก้ด้วยการเพิ่มน้ำหนักสะพานอีกข้างนึงเข้าไปให้มันสมดุลกัน งบประมาณที่ใช้ก็จะเกินกว่า 600 ล้านอีกเยอะทีเดียว

ถามว่าจะทำแบบนู้นแบบนี้แทนได้มั้ย วิศวกรเขาก็บอกว่ามันทำได้ทั้งนั้นแหละ แต่ทำได้ที่ราคาเท่าไหร่ ก็ต้องคิดพิจารณากันอีกเยอะแยะเลย และสะพานตากสินตรงนั้น ทางกรมทางหลวงชนบทเขาเป็นคนสร้างมา และถ้าเราต้องเอาน้ำหนักของสถานีไปพิงไว้กับสะพานของเขา ถ้าสะพานเขาเกิดทรุดก็อาจจะเกิดปัญหาตามมาว่าใครจะรับผิดชอบงบประมาณตรงนั้น


(อนาคต สถานีสะพานตากสิน จะเป็นระบบรางคู่เหมือนสถานีอื่นๆ)

ผมก็ได้แต่ให้ข้อมูลทั้งหมด ส่วนจะเหมาะสมหรือไม่ ก็คงต้องให้ประชาชนช่วยกันคิดวิเคราะห์ดูครับ ส่วนทางเรา กรุงเทพธนาคม ในฐานะผู้ดำเนินการ จริงๆ แล้ว ถ้าไม่ทำเรื่องนี้ เราไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่มอีก 600 ล้าน แล้วก็ไม่ต้องถูกด่าด้วย คนที่ใช้บีทีเอสทั้งระบบวันละมหาศาลเองก็จะไม่รู้หรอกครับว่าทำไมรถมันวิ่งช้า ทำไมวิ่งให้เร็วขึ้นไม่ได้ ซึ่งจริงๆ สามารถวิ่งให้เร็วขึ้นได้ครับถ้าแก้ปัญหาความล่าช้าที่สถานีสะพานตากสินตรงจุดนี้นี่แหละครับ

อยากให้รู้ว่า การให้บริการอะไรก็แล้วแต่ ทางผู้ให้บริการก็ไม่อยากจะทำให้เกิดผลกระทบ แต่ในเมื่อต้องเลือก เราก็พยายามจะทำให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด และเป็นประโยชน์ที่สุดต่อส่วนรวม”

ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Live

Create Date :24 ธันวาคม 2557 Last Update :24 ธันวาคม 2557 8:22:32 น. Counter : 14255 Pageviews. Comments :0