bloggang.com mainmenu search
“Uber Taxi” ถูกใจแต่ผิดกฎหมาย ดีกว่าถูกกฎหมายแต่ไม่ได้ดั่งใจ!!? “ส่งรถ เติมแก๊ส ขับอ้อม มารยาทแย่ ฯลฯ” กับข้อแม้อีกมากมายที่สามารถพบเจอได้บ่อยๆ จากการใช้บริการ “แท็กซี่มิเตอร์ถูกกฎหมาย” แต่กลับไม่เจอปัญหาเหล่านี้เลยจากบริการ “Uber Taxi ที่ถูกตีตราว่าผิดกฎหมาย” ตาม พ.ร.บ. รถยนต์ พ.ศ. 2522 จึงทำให้หลายต่อหลายคนสนับสนุน “บริการผิดกฎหมายแต่ถูกใจ” มากกว่า “บริการไม่ได้ดั่งใจแต่ถูกกฎหมาย” ในขณะที่กรมการขนส่งทางบกยังไม่มีทางออกที่ลงตัวให้กับสังคม จึงถือเป็นโอกาสทองที่ผู้เชี่ยวชาญจะช่วยชี้ทางให้ตาสว่างกันเสียที!!



เป็นไปได้ไหม? ให้ “Uber” ถูกกฎหมาย

“ทำให้ถูกกฎหมายได้อยู่แล้วครับ!!” รศ.ดร.ธวัชชัย เหล่าศิริหงษ์ทอง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการจราจรและขนส่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ประกาศกร้าวด้วยน้ำเสียงมั่นใจ ก่อนวิเคราะห์เจาะลึกลงรายละเอียดให้เข้าใจถึงแก่น

“อย่างรถตู้ป้ายดำที่มีตอนแรก จู่ๆ ทางรัฐบาลยังประกาศว่าให้เป็นรถตู้ที่ใช้ได้ตามปกติ ให้เปลี่ยนเป็นป้ายเหลืองได้เลย แต่จริงๆ แล้ว สำหรับผม การทำให้ถูกกฎหมาย เราไม่ควรไปทำลายจุดเด่นของเขา เราควรจะทำให้ถูกกฎหมายโดยการส่งเสริมให้เขาทำหน้าที่ช่วยให้คนเดินทางได้อย่างที่คนต้องการ ถ้ามองแบบนี้ก็เหมือนกับ Uber เข้ามาช่วยให้ทางราชการทำภารกิจบางอย่างนะ เพราะเขาสามารถจัดการกับบริการนี้ได้แบบถูกใจประชาชนเพียงแต่ยังไม่ถูกกฎหมาย และประเด็นที่มีอยู่ตอนนี้ก็คือ คนบางส่วนกำลังกังวลใจว่า Uber จะมาเป็นคู่แข่งของระบบรถแท็กซี่ปัจจุบันที่ถูกกฎหมายแต่ไม่มีคนชอบ

เพราะฉะนั้น ถ้าภาครัฐมาคุยกับ Uber เข้ามาช่วยจัดการให้เขาทำต่อไปให้ดีและทำแบบถูกกฎหมาย ซึ่งอาจจะไม่ได้ทำยากเลย เช่น จับทุกคันมาลงทะเบียน ต้องมีเลขประจำตัว และอาจจะมีเจ้าหน้าที่คอยตรวจติดตามบริการ ซึ่งต้องทำควบคู่ไปกับการช่วยดูแลแก้ปัญหากลุ่มแท็กซี่ปกติ ถ้ามีปัญหาเรื่องค่าโดยสารมันถูกไป ไม่คุ้ม รัฐบาลก็ต้องหาทางช่วย หรือปัญหาเรื่องประชาชนไม่ได้รับการบริการอย่างที่คาดหวัง ซึ่งความคาดหวังที่ว่านี้ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องได้ผลที่เนี้ยบเหมือน Uber นะครับ มันคนละโมเดลกัน เรตค่าตอบแทนมันคนละแบบ

และที่สำคัญกว่านั้นคือ เราจะทำให้ถูกกฎหมายในประเด็นไหน ภาษาอังกฤษเรียกว่า Regulation คือการสร้างกฎระเบียบขึ้นมา ถ้าเราพูดถึงแท็กซี่ปกติ จะมีกฎกติกาตั้งขึ้นมาอยู่แล้วว่า จะต้องทาสีรถแบบนี้ ต้องมีการติดตั้งบัตรของคนขับแบบนี้ คนขับแท็กซี่ต้องแต่งกายแบบนี้ๆ นะ ระบบขนส่งสาธารณะมันจะมีตัวชี้วัดว่าสิ่งที่ควรจะเป็นคืออะไร และเราจะต้องไปสร้างกติกาตามนั้น

การบริการแท็กซี่มันคือการบริการสาธารณะสำหรับคนที่ต้องการความพิเศษในการเดินทาง เช่น ต้นทาง-ปลายทางนั้น เขาไม่มีรถเมล์วิ่งผ่าน หรือเขาต้องการอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่เป็นส่วนตัว นั่งอยู่คนเดียวในแท็กซี่แล้วต้องการโทรศัพท์หรือทำธุระบางอย่างโดยใช้เวลาเทียบเท่ากับที่อยู่บนรถยนต์ เพราะฉะนั้น ความหมายของการมีแท็กซี่ มันมีข้อมาตรฐานที่บอกไว้ว่าการบริการของแท็กซี่คืออะไร


(ประกาศแน่ชัดว่า Uber ผิดกฎหมายจริง)


ผมเข้าใจว่าเกณฑ์การคัดเลือกตามระบบกฎหมายอาจจะไม่ได้เป็นตัวชี้วัดเรื่องการเป็นคนขับรถที่ดีได้ แต่ของ Uber เองเขาจะเข้าไปสร้างกลไกเรื่องการเลือกรถและคนขับของเขาเองเอาไว้ชัดเจนมาก และเกณฑ์ของเขามันส่งผลผลิตออกมาเป็นที่ถูกใจคน เหมือนอย่างเซเว่นอีเลฟเว่น เขาก็ไปคัดคนมาและจัดร้านแล้วมันถูกใจคน มันแปลว่ากลไกการจัดการที่คัดเรื่องรถเรื่องคนแล้วคลอดออกมาเป็นแท็กซี่มิเตอร์ธรรมดาทุกวันนี้ มันอาจจะเป็นกลไกการคัดเลือกที่อาจจะส่งผลให้ได้บริการที่ไม่ได้ถูกใจประชาชน

ถ้ากลับไปดูเรื่อง Uber Taxi จะรู้ว่าไม่ได้เกิดประเด็นนี้แค่ในประเทศเรานะครับ แต่เกิดขึ้นมาแล้วกับหลายๆ ประเทศ สิงคโปร์ก็มีเหมือนกัน มีกลุ่มคนขับแท็กซี่ปกติออกมาประท้วงกันแบบนี้แหละ ถามว่าในเมื่อมันไม่ถูกกฎหมายแต่ทำไมถึงเข้ามาเติบโตในไทยได้ เพราะกลไกของเทคโนโลยีครับ มันสามารถทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ได้โดยที่ข้ามหัวราชการไปเลย ลัดวงจรไปเลย แต่เมื่อกิจกรรมตัวนี้มันโตขึ้นระดับหนึ่ง มันก็ถึงเวลาที่ต้องถูกตรวจสอบ

อย่างกรณีปัญหาเรื่องแท็กซี่ทั้งหมดนี้ มันเหมือนมี Trigger (ตัวปัญหา) สะกิดว่าเราต้องมาจัดการมันนะ สำหรับกรณีนี้ Trigger ตัวแรกก็คือ “ผู้ประกอบการแท็กซี่ที่เสียผลประโยชน์” ตัวที่สองก็คือ “ประชาชนที่เรียกร้องให้มีบริการแบบนี้” และตัวสุดท้าย “เจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้ตรวจการขนส่งที่คอยเฝ้าระวังการบริการเหล่านี้” ซึ่งต้นเหตุของการเกิดประเด็นนี้ขึ้นมาน่าจะเป็นฝั่งคนขับแท็กซี่ปกติ เหมือนที่เกิดปัญหาในสิงคโปร์เลยครับ รูปแบบเดียวกัน จากนั้นหน่วยงานราชการก็เลยต้องเข้ามาสร้างกติกากำกับ Uber ที่น่าสนใจคือ การเข้ามาสร้างกติกาของภาครัฐสิงคโปร์ เขาตั้งอยู่บนพื้นฐาน “การถือเอาประโยชน์สาธารณะเป็นที่ตั้ง” ก็เลยสามารถหาทางออกได้”



ถึงปรับขึ้นราคามิเตอร์ก็ห่วยอยู่ดี!!?

ตอนแรกมีความเคลื่อนไหวจากภาครัฐว่าอาจมีการปรับขึ้นอัตราราคามิเตอร์ของแท็กซี่ทั่วประเทศภายในวันที่ 1 ธ.ค. แต่พอถึงเวลาจริง กลับขอพักยกการพิจารณาเอาไว้ก่อน เกี่ยวกับประเด็นนี้ ผู้ใช้ขนส่งมวลชนประเภทนี้ต่างวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่า การปรับขึ้นราคาจะเกิดประโยชน์อะไร เชื่อว่าถึงปรับขึ้นไปก็ไม่ช่วยให้บริการดีขึ้นอยู่ดี!!? ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการจราจรและขนส่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จึงอยากให้ลองเปิดใจและให้โอกาสดูจะดีกว่า เพราะลองมองให้ลึกถึงต้นตอปัญหาจะพบว่า “ค่าตอบแทน” มีผลต่อปัญหาหลายๆ อย่างจริงๆ

“ถ้าคิดกันแบบนี้ก็คงไม่มีการพัฒนาการที่ดีขึ้นได้หรอกครับ คงจะต้องให้โอกาสทางแท็กซี่ได้พัฒนาตัวเองนะ ผมคิดว่าเขาก็มีกลุ่มที่พยายามพัฒนาตัวเอง และผมคิดว่าเราไม่ควรไปกังวลกับกรณีของ Uber เพราะถ้ามีออปชั่นของแท็กซี่แบบพิเศษอยู่ คนขับแท็กซี่ปกติก็น่าจะแปลงกายไปทำแท็กซี่แบบพิเศษได้ด้วย หรือถ้าแปลงกายลำบาก ทางราชการก็อาจจะต้องมีการจัดระบบกำกับดูแลเพื่อให้เขาสามารถทำได้

ผมคิดว่าแท็กซี่ธรรมดาถูกกว่า Uber แน่นอน และตอนนี้มันมีความพยายามที่จะต่อยอดจะแท็กซี่ธรรมดาออกมาอีก เป็นแอปพลิเคชัน 2 ตัวที่ออกมา เป็นคู่แข่ง Uber คือ “Easy Taxi” กับ “Grab Taxi” ซึ่งจะบวกค่าบริการจากอัตราธรรมดาเข้าไปอีก 20 บาท ทำคล้ายๆ Uber เลยครับ เป็นการจับคู่ระหว่างผู้ใช้บริการกับผู้ให้บริการผ่านแอปพลิเคชัน สามารถตรวจสอบได้ว่าแท็กซี่คันที่มารับป้ายทะเบียนอะไร คนขับคือใคร ตกลงกันไว้แล้วว่าจะรับที่ต้นทางและปลายทางที่ไหน แล้วก็เก็บค่าโดยสารตามมิเตอร์ เป็นบริษัทเอกชนเข้ามาช่วยจัดการกับแท็กซี่


(Grab Taxi อีกแอปพลิเคชันที่ช่วยเติมช่องว่าง ปัญหาแท็กซี่)


บริการ Easy Taxi กับ Grab Taxi เป็นบริการเหมือน Call Center ทำหน้าที่รับโทรศัพท์จองแท็กซี่ให้ผู้โดยสาร และทำโดยไม่ผิดกฎหมาย แต่ถ้ามาเทียบกับ Uber แล้ว มันจะมีจุดเด่นจุดด้อยกันคนละแบบ ที่เห็นได้ชัดเลยคือรถของ Uber จะเป็นรถที่มีคุณภาพดีขึ้น เช่น Toyota Camry เทียบกับแท็กซี่ทั่วไปก็อาจจะเป็น Toyota Altis เป็นรถคนละเกรดกัน และลักษณะการให้บริการก็จะต่างกัน ถ้าเป็น Uber จะมีการบริการที่มากกว่าให้ เช่น มีน้ำเตรียมไว้ให้ในรถ มีท็อฟฟี่ให้ด้วย และคนขับก็ดูมีรูปร่างหน้าตาและการแต่งกายที่ดูภูมิฐาน

เพราะฉะนั้น Grab Taxi กับ Easy Taxi จะไม่เหมือนกันเสียทีเดียว เพราะทั้งสองอย่างนี้ เขาแค่เข้าไปจัดการช่องทางในการเจอลูกค้าผ่านแอปพลิเคชัน แต่ผู้บริการอาจจะยังต้องไปเจอกับแท็กซี่และคนขับแท็กซี่ หรืออะไรก็ตามที่ยังคงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในแท็กซี่ปกติ ในขณะที่ Uber จะมาเป็นเหมือนแพกเกจใหม่ ก็เหมือนกับร้านโชห่วยกับร้านเซเว่นอีเลฟเว่น จะมีการจัดการกับสินค้าหลายๆ อย่างที่แตกต่างกัน เขาเรียกว่าเป็นการจัดการแบบ Total Service มันมีมิติของการออกแบบ

Uber อาจจะกำหนดไว้ว่าถ้าอยากจะเข้าร่วมเครือข่ายการบริการเดียวกับเขา คุณจะต้องมีคุณสมบัติแบบนี้ๆ และมีกระบวนการในการกำกับดูแลควบคุมกันเอง ในขณะที่แท็กซี่ปกติจะมีมาตรฐานการควบคุมซึ่งกำหนดขึ้นโดยกรมการขนส่งทางบกและหัวหน้ากลุ่ม เช่น สหกรณ์แท็กซี่


แต่ผมไม่ได้มองว่าต้องยุติ Uber หรือให้ Grab Taxi กับ Easy Taxi เข้ามาจัดการกับแท็กซี่ทั้งหมด เพื่อให้ระดับทัดเทียมกับ Uber นะ เพียงแค่ต้องปล่อยให้แต่ละระบบทำหน้าที่ของมันไป แล้วเข้าไปควบคุมให้เป็นไปตามครรลองของกฎหมายเท่านั้นเอง

คงต้องเข้าไปควบคุมให้แต่ละระบบดีขึ้นด้วยตัวของมันเอง คือระบบเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อช่วยการเดินทางของประชาชนให้ดีขึ้น เช่น ถ้าประชาชนไม่ยินยอมให้แท็กซี่ปรับขึ้นราคา รัฐบาลก็ต้องหาทางช่วยแท็กซี่ทางอื่น เช่น อาจจะไม่ต้องให้เสียภาษี หรือซื้อรถมาทำแท็กซี่ได้ราคาถูกกว่าชาวบ้าน มีสวัสดิการพิเศษให้แท็กซี่ เพื่อให้พวกเขาสามารถช่วยทำหน้าที่รับส่งคนให้เป็นไปตามที่รัฐบาลตั้งใจเอาไว้ได้ อาจจะคล้ายๆ กับระบบ “รถเมล์ฟรีจากภาษีประชาชน” อันนั้นรัฐบาลก็จ้างวิ่งเหมือนกัน”



2 หน่วยงานที่ปฏิรูปแล้วประเทศพัฒนา!!
“อยากให้มาดูว่าเราจะแก้ปัญหาแท็กซี่โดยรวมได้ยังไง และสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบันที่บอกว่าถูกกฎหมาย เป็นกติกา ตรงตามเงื่อนไขที่เคยสร้างไว้ เราควรจะเปลี่ยนแปลงตรงนี้ยังไงได้บ้างเพื่อให้เราก้าวไปสู่อีกสเต็ปหนึ่งที่พัฒนาขึ้น

แท็กซี่ในปัจจุบันถือเป็นผู้ได้รับเคราะห์กรรมจากกระบวนการของภาครัฐ เขาอยู่ในสถานภาพนี้ก็เพราะการจัดการของภาครัฐไม่ชักนำไปสู่จุดที่ควรจะเป็น เพราะฉะนั้น ผมคิดว่ารัฐบาลควรจะกลับไปทำรถเมล์ให้ดี คนจะได้ไม่ต้องมาพึ่งแท็กซี่เป็นหลัก นี่ไม่ได้หมายความว่าผมต้องการทำลายระบบแท็กซี่นะครับ แต่ถ้าจัดการได้แบบนี้ ต่อไปแท็กซี่จะได้ไม่ส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมากอย่างที่เป็นอยู่ แค่ขึ้น 1 สตางค์ คนจำนวนมากก็เดือดร้อนแล้ว คนก็เลยไม่ยอม เพราะจริงๆ แล้วคนเหล่านี้ควรจะไปใช้รถเมล์ที่มีคุณภาพที่รัฐบาลจัดให้แล้ว

ถามว่าจะทำยังไงให้มาตรฐานแท็กซี่ทั่วไปในบ้านเราได้มาตรฐานเหมือนทั่วโลก ประการแรกเลย เราคงต้องแก้ที่ตัวระบบแท็กซี่ครับ และประการที่สองคือ เราต้องแก้เรื่องระบบรถโดยสารประจำทางด้วย คือมันเป็นของสองอย่างที่ต้องมาคู่กันครับ ถ้าพูดถึงการเดินทางของคนส่วนใหญ่ว่าควรจะโดยสารด้วยรถอะไร ก็ควรจะเป็นรถประจำทาง แต่แท็กซี่ควรจะเป็นการเดินทางของคนส่วนน้อย เป็นเรื่องของความจำเป็นเฉพาะกลุ่ม ถ้าคิดแบบนี้ก็จะทำให้แยกได้ชัดเจนว่าราคาค่าบริการแท็กซี่จะแตกต่างจากขนส่งสาธารณะที่คนส่วนใหญ่ใช้ทั่วไปนะ คือต้องยอมรับว่าเมื่อมันพิเศษ มันก็ต้องมีราคาสูงกว่าบริการแบบอื่น

แต่ทุกวันนี้ แท็กซี่เหมือนอยู่ตรงกลางระหว่างของถูกกับของแพง ทำให้เขาทำตัวให้พอดีไม่ได้ ถามว่าเราจะแก้ปัญหาแท็กซี่ให้หลุดยังไง เราก็ต้องไปปรับรถประจำทางให้ดี แล้วก็ค่อยเด้งกลับมาเรื่องแท็กซี่ ภายใต้บริบทกรุงเทพฯ ที่คนพูดถึงปัญหาแท็กซี่กันเยอะก่อนแล้วกันนะครับ เพราะจริงๆ แล้วยังมีปัญหาอีกหลายแบบเกี่ยวกับแท็กซี่ที่พัทยาอีกที่มีเรื่องมาเฟียแท็กซี่ ดังนั้น ถ้าจะแก้ปัญหาแท็กซี่ให้ได้ผลจริงๆ จึงไม่ควรมีรูปแบบเดียว ควรจะแบ่งเป็นโครงสร้างหลายรูปแบบ และรัฐบาลก็ควรเป็นฝ่ายสร้างเงื่อนไขให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้วย

ปัญหามันซับซ้อนครับ เหมือนกับปัญหารถติดในกรุงเทพฯ นั่นแหละ มันไม่ใช่แค่ควบคุมไม่ให้คนไปซื้อรถ หรือใช้ตำรวจจราจรมาจับกุมแล้วปัญหาจะหมดไป แต่ต้องพูดถึงเรื่องการทำรถไฟฟ้า รถเมล์ การบริการจัดการผังเมืองใหม่ มันเป็นปัญหาของปัญหา ปัญหาเชิงระบบ



จะว่าไปการเกิด Uber มันก็ไม่ต่างไปจากการเกิดขึ้นของรถตู้เท่าไหร่นะครับ ที่แท็กซี่ธรรมดากำลังถูก Uber เข้ามาแทรกแซง มันก็เหมือนที่รถตู้เข้าไปแทรกแซงลูกค้าของรถประจำทางนั่นแหละ นึกออกมั้ยครับ หมายความว่าถ้าคุณจะจัดการกับ Uber บอกว่าไม่ควรมี นั่นหมายความว่าคุณควรทำลายบริการรถตู้ทั้งระบบด้วย

ทุกวันนี้ปัญหาเรื่องแท็กซี่แก้ยากเพราะยังมีคนจำนวนมากต้องใช้แท็กซี่อยู่ ปัญหาแท็กซี่มันมาจากความล้มเหลวจากปัญหารถโดยสารประจำทาง และลองสังเกตดูนะครับ คนที่ให้บริการรถสาธารณะทั้งหมดจะลำบากเดือดร้อนกันหมดเลย คือ เงินน้อย รถเก่า แถมยังถูกด่าทุกวัน ฯลฯ

ในขณะที่รัฐบาลกำลังมองไปข้างหน้าในเรื่องการสร้างรถไฟหลายล้านล้าน แต่การให้บริการด้านขนส่งมวลชนแก่ประชาชนในชีวิตประจำวันกลับล้มเหลว ทำไมไม่เห็นมีใครออกมาพูดเรื่อง ขสมก. ทำไมไม่มีใครพูดถึงเรื่องการบริการรถสาธารณะแบบใหม่ พอมีแสงปลายอุโมงค์ที่เรียกว่า Uber ออกมาก็เลยกลายเป็นประเด็นใหญ่เลย

ประเทศไทยเราถ้าจะปฏิรูปประเทศให้ดีขึ้นได้ ต้องปฏิรูป “กรมการขนส่งทางบก” กับ “ตำรวจ” นี่แหละครับ ประเทศถึงจะเจริญได้ เพราะเป็นหน่วยงานที่ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนจำนวนมาก ถ้าสามารถปรับ 2 หน่วยงานนี้ได้ คุณภาพชีวิตของคนในประเทศเราจะดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดแน่นอนครับ”

ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Live
Create Date :02 ธันวาคม 2557 Last Update :2 ธันวาคม 2557 7:35:11 น. Counter : 2502 Pageviews. Comments :0