bloggang.com mainmenu search

“ยิ่งลักษณ์” โดนอีกดอก!! มติ ป.ป.ช.7 ต่อ 0 ชี้มูลผิดจำนำข้าว ชงวุฒิฯ ถอด ยังไม่ฟันอาญา
ประธาน ป.ป.ช.เผยมติ 7 ต่อ 0 ฟัน "ยิ่งลักษณ์" ผิดโครงการจำนำข้าว ตาม ม.178 ส่อจงใจใช้อำนาจขัดกม. ส่งวุฒิสภา ถอดถอนต่อ ชี้เคยเตือนแล้วว่ามีปัญหาทุจริต แต่ไม่ระงับยับยั้งโกง ส่วนคดีอาญาให้สอบต่อ

    วันนี้ (8 พ.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อเวลา 16.00 น.นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ศาสตราจารย์พิเศษวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. และนายประสาท พงษ์ศิวาภัย กรรมการ ป.ป.ช. ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า ตามที่ประธานวุฒิสภาได้ส่งคําร้องขอให้วุฒิสภาถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกจากตําแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากมีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อํานาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจํานําข้าวและการระบายข้าวและเหตุมีเหตุควรสงสัยว่า นายกรัฐมนตรีเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นตามอํานาจหน้าที่โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ไต่สวนข้อเท็จจริงโดยให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งคณะเป็นองค์คณะในการไต่สวน นั้น

       บัดนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งคณะได้ดําเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงและมีมติด้วยคะแนนเสียง 7 ต่อ 0 เสียง เห็นว่าพฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหามีมูลเป็นการส่อว่าจงใจใช้อํานาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 178 และเป็นการส่อว่าจงใจใช้อํานาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเป็นเหตุแห่งการถอดถอนออกจากตําแหน่ง จึงนําเสนอสํานวนดังกล่าวต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาในวันนี้

       คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ผู้ถูกกล่าวหาดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรีและอยู่ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลซึ่งได้กําหนดนโยบายจํานําข้าวมาตั้งแต่ต้น และในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ที่มีอํานาจหน้าที่ในการกําหนดนโยบายและการมีส่วนร่วมในการบริหารโครงการ ซึ่ง ป.ป.ช.ได้มีหนังสือแจ้งไปยัง ผู้ถูกกล่าวหาถึงสองครั้งแล้วว่าโครงการดังกล่าวจะก่อให้เกิดปัญหาและความเสียหายอย่างยิ่ง ทั้งจะก่อให้เกิดการ ทุจริตในทุกขั้นตอนของกระบวนการรับจํานํา

       นอกจากนี้ผู้ถูกกล่าวหายังรับทราบปัญหาในการดําเนินโครงการจากการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งรายงานผลการดําเนินโครงการที่ผ่านมา ว่ามีผลขาดทุนสะสมสูงถึง สามแสนกว่าล้านบาท อีกทั้งหนังสือของสํานักงานการตรวจเงินแผ่นดินแจ้งผลการตรวจสอบโครงการสรุปได้ว่าโครงการมีจุดอ่อนหรือความเสี่ยงในทุกขั้นตอนตั้งแต่การขึ้นทะเบียนเกษตรกรจนถึงการระบายข้าว ซึ่งเป็นช่องทางนําไปสู่การสวมสิทธิ์การจํานําและการทุจริตในโครงการ เกิดผลกระทบสร้างความเสียหายต่อเงินงบประมาณแผ่นดินทั้งเกษตรกรและเสี่ยงต่อระบบการคลังของประเทศ ไม่เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน แม้ในชั้นนี้พยานหลักฐานยังไม่ปรากฏชัดเจนว่าผู้ถูกกล่าวหามีส่วนร่วมในการทุจริตหรือสมยอมให้เกิดการทุจริตหรือไม่ก็ตาม

       แต่การที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่บริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อสภาผู้แทนราษฎรว่าจะป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐอย่างจริงจัง โดยยึดหลักความโปร่งใสและมีธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ทั้งไม่พิจารณาระงับยับยั้งโครงการตั้งแต่เริ่มรับทราบความเสียหายอันร้ายแรงที่สุดของประเทศจากการดําเนินโครงการ จึงมีมติ 7 ต่อ 0 เสียงว่าพฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหาเป็นการส่อว่าจงใจใช้อํานาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 178 และส่อว่าจงใจใช้อํานาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายตาม พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฯ มาตรา 11 (1) อันเป็นเหตุแห่งการถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาออกจากตําแหน่งตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 270 จึงให้แยกสํานวนการถอดถอนส่งไปยังวุฒิสภา เพื่อดําเนินการตามอํานาจหน้าที่ต่อไป

       ส่วนคดีอาญานั้น ที่ประชุมมีมติให้ดําเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไปจนกว่าจะสิ้นกระแสความ ทั้งนี้โดยไม่ตัดพยานที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้างมาในคําร้องขอนําสืบแก้ข้อกล่าวหาหลังสุด โดยให้นําไปพิจารณาในสํานวนคดีอาญาต่อไป

       ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีร้องขอให้ป.ป.ช.ลงพื้นที่ตรวจสอบสต๊อกข้าวว่า ไม่มีข้าวหายจากโกดัง เพื่อยืนยันว่า โครงการไม่ได้ขาดทุน นายวิชา กล่าวว่า ป.ป.ช.ไม่ได้พิจารณาว่า ข้าวหายไปจากสต๊อกหรือไม่ แต่พิจารณาถึงการขาดทุนสะสมในโครงการดังกล่าว ที่ไม่ได้มีการจำหน่ายข้าวออกไป ส่วนการพิจารณาให้รัฐบาลชดใช้ค่าเสียหายจากการขาดทุนในโครงการกว่า 3 แสนล้านบาทนั้น ป.ป.ช.จะนำไปพิจารณาในสำนวนคดีอาญาต่อไป ยืนยันว่า ป.ป.ช.ตัดสินไปตามข้อเท็จจริง ไม่มีธง และไม่ได้รับลูกต่อจากการที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นายกฯพ้นสภาพการเป็นรัฐมนตรี

       นายประสาท กล่าวว่า สำหรับคดีนี้คณะกรรมการป.ป.ช. ได้เปิดโอกาสอย่างเต็มที่ให้กับผู้ถูกกล่าวหาตามระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการไต่สวนข้อเท็จจริงของพนักงานไต่สวน พ.ศ.2550 โดยได้เปิดโอกาสให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้อ้างพยาน ชี้แจงเอกสาร และวาจาอย่างเต็มที่ ซึ่งสำหรับการอ้างพยานของน.ส.ยิ่งลักษณ์ในครั้งแรกมีจำนวน 11 ปาก แต่คณะกรรมการป.ป.ช.พิจารณาแล้วว่ามีพยานที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ถูกกล่าวหาจำนวน 4 ปากเท่านั้น หลังจากสอบพยานจำนวน 4 ปาก ต่อมาน.ส.ยิ่งลักษณ์ ขอให้มีการสอบพยานบุคคลเพิ่มอีก 7 ปากเดิม แต่คณะกรรมการป.ป.ช.พิจารณาแล้วเป็นเอกฉันท์ว่าไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ผู้ถูกกล่าวหาถูกกล่าวหา อีกทั้งมีข้อเท็จจริงเพียงพอแล้ว กระทั่งล่าสุดก่อนคณะกรรมการป.ป.ช.จะลงมติชี้มูล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ขอให้ สอบพยานบุคคลเพิ่มเติมจำนวน 6 ปาก ซึ่งไม่เกี่ยวกับพยานเดิมที่เคยถูกปฏิเสธไป โดยคณะกรรมการป.ป.ช.เห็นว่า ยังมีสำนวนในคดีอาญาอยู่ เพื่อประโยชน์จึงไม่ตัดพยานจำนวนดังกล่าวออกไป แต่จะนำไปรวมเอาไว้ในการพิจารณาในสำนวนคดีอาญาของผู้ถูกกล่าวหาในโอกาสต่อไป เพื่อความเป็นธรรม ทั้งนี้ ขอบคุณนายกฯที่เข้าสู่กระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริง

       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับมติของ ป.ป.ช. 7 ต่อ 0 นั้น จากปัจจุบันที่มี ป.ป.ช.ดำรงตำแหน่งอยู่ 8 คนนั้น เนื่อง พล.ต.อ.สภาพร หลาวทอง กรรมการ ป.ป.ช. ได้ขอถอนตัวจากการทำหน้าที่ไต่สวนคดีดังกล่าวไปก่อนหน้านี้ เนื่องจากสมัยที่รับราชการในฐานะจเรตำรวจแห่งชาตินั้น เคยได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าว ในส่วนของการสูญหายของข้าวในโกดังทั่วประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาก่อน

รายละเอียดการแถลงของคณะกรรมการ ป.ป.ช.


ประสาท พงษ์ศิวาภัย

       ผมขอเรียนว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ และถือว่าผู้ใหญ่มากของประเทศ เพราะฉะนั้นท่านประธานได้กรุณากล่าวไว้ว่า เราจะถือทางปฏิบัติว่าเพื่อให้รอบคอบและชัดเจนยิ่งขึ้น จึงได้ตั้งองค์คณะไต่สวนโดยใช้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทั้งคณะ เป็นองค์คณะไต่สวน โดยมีผม นายประสาท พงษ์ศิวาภัย และ อ.วิชา มหาคุณ เป็นกรรมการผู้รับผิดชอบสำนวน ที่จริงมีท่าน อ.กล้านรงค์ จันทิก ด้วย แต่ท่านพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ไปก่อน ก็เลยเหลือ 2 ท่าน

       ผมเรียนตรงนี้เพื่อให้เห็นว่า เราได้ใช้ความรอบคอบมากในเรื่องนี้ และเปิดโอกาสอย่างเต็มที่ที่จะดำเนินการให้โปร่งใส เที่ยงธรรม กับผู้ถูกกล่าวหา ได้ปฏิบัติตามระเบียบการไต่สวนข้อเท็จจริง ตามประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช.ว่าด้วยการไต่สวนข้อเท็จจริง พ.ศ.2555 โดยเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหา คือท่านอดีตนายกรัฐมนตรี ได้อ้างพยานชี้แจงทั้งเอกสารและด้วยวาจาอย่างเต็มที่

       ผมขอสรุปในเรื่องการอ้างพยานของท่านว่า ท่านได้อ้างพยานมาครั้งแรก 11 ปาก ป.ป.ช.ได้ดูแล้วเห็นว่า ที่เกี่ข้องกับประเด็นที่กล่าวหา มีเพียง 4 ปาก เราก็สอบ 4 ปาก โดยมีปากหนึ่งขอผลัดไป 1 สัปดาห์ เพื่อไปประชุมที่ต่างประเทศ เราก็รอ เพราะเราเห็นว่ามันเกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหาในสำนวน อย่างนี้เราเปิดโอกาสเต็มที่เลย แม้รอ 1 อาทิตย์ เราก็ยอม ตามนั้นเลย

       หลังจากนั้นเราก็สอบทั้ง 4 ปาก แล้วก็คิดว่าคงเสร็จสิ้น แต่ท่านอดีตนายกฯ ท่านได้ขอมาอีกครั้งหนึ่ง คือ 7 ปากเดิม ซึ่ง ป.ป.ช.ก็พิจารณาแล้วเห็นว่า เราได้พิจารณาไปแล้วเป็นเอกฉันท์ว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ที่จะต้องถูกกล่าวหาในเรื่องที่ผู้ถูกกล่าวหาได้ถูกกล่าวหาในครั้งนี้ และเรามีข้อเท็จจริงเพียงพอแล้ว เราจึงยืนยันตามเดิมไป

       ต่อมา ท่านก็เสนอมาอีก 6 ปาก ซึ่ง 6 ปากนั้นก็อยู่ใน 7 ปากเดิมที่เราปฏิเสธไป โดย 5 ปากใน 6 ปากนั้น ท่านมีเอกสารมาด้วย เราก็รับเอาไว้ ในเอกสารทั้ง 5 ปากนั้น เอาไว้หมด เพื่อจะได้ประกอบในสำนวนพิจารณาให้ความเป็นธรรม

       และสุดท้าย ล่าสุด ท่านได้ขอมาอีก 6 ปากใหม่ ไม่ได้เกี่ยวกับพยานเดิมเลย ตรงนี้เราก็เห็นความสำคัญว่า ขณะนี้เรากำลังพิจารณาเรื่องพิธีการว่าส่อจงใจที่จะไม่ปฏิบัติตามข้อบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ หรือข้อกฎหมาย แต่อย่างไรก็ดี เพื่อประโยชน์ของผู้ถูกกล่าวหา เราก็ไม่ตัดพยาน ก็นำพยานใหม่ทั้ง 6 ปาก ไปรวมไว้ในการที่จะพิจารณาในสำนวนคดีอาญาต่อไป เพราะว่ามันจะมีถึงเรื่องการพิจารณาในเรื่องคดีอาญากับผู้ถูกกล่าวหาด้วย ในโอกาสไป เพราะฉะนั้นเราก็รวบรวมเอาไว้เพื่อให้ความเป็นธรรมกับท่าน

       ก็ต้องขอขอบพระคุณคุณยิ่งลักษณ์ ที่ท่านได้เข้าสู่กระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริงอย่างเต็มที่ โดยก็ถือว่าท่านได้แสดงสปิริตของท่านในส่วนนี้ ขอโทษด้วยที่เราไม่สามารถจะให้ได้สืบพยานครบที่ท่านต้องการ เพราะอย่างที่ผมนำเรียน ซึ่งเป็นไปตามการวินิจฉัยที่เป็นไปตามข้อกฎหมายและระเบียบของเราโดยเคร่งครัด

วิชา มหาคุณ

       ผมก็ขอสรุปการชี้มูลความผิดเพื่อดำเนินการถอดถอนอดีตนายกรัฐมนตรี กรณีจำนำข้าว ดังนี้

       ก่อนหน้านี้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทั้งคณะ ในฐานะองค์คณะไต่สวน ก็ได้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง และมีมติด้วยคะแนนเสียง 7 ต่อ 0 เสียง เห็นว่า พฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหามีมูล เป็นการส่อจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 178 และส่อว่า จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเป็นเหตุแห่งการถอดถอนออกจากตำแหน่ง จึงได้นำเสนอสำนวนดังกล่าวต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาในวันนี้

       คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และอยู่ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ซึ่งกำหนดนโยบายจำนำข้าวมาตั้งแต่ต้น และในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและการมีส่วนร่วมในการบริหารโครงการ ซึ่งทาง ป.ป.ช.มีหนังสือแจ้งไปยังผู้ถูกกล่าวหาถึง 2 ครั้ง ว่า โครงการดังกล่าวจะก่อให้เกิดปัญหาและความเสียหายอย่างยิ่ง ทั้งจะก่อให้เกิดการทุจริตทุกขั้นตอนของกระบวนการรับจำนำ

       นอกจากนี้ ผู้ถูกกล่าวหารับทราบปัญหาในการดำเนินการของโครงการ จากการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งรายงานผลการดำเนินการโครงการที่ผ่านมา ขาดทุนสะสมสูงถึง 3 แสนกว่าล้านบาท อีกทั้งยังมีหนังสือของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินแจ้งผลการตรวจสอบโครงการ สรุปได้ว่า โครงการมีจุดอ่อน หรือความเสี่ยงทุกขั้นตอน ตั้งแต่การขึ้นทะเบียนเกษตรกรจนถึงการระบายข้าว ซึ่งเป็นช่องทางนำไปสู่การสวมสิทธิ์การจำนำ และการทุจริตในโครงการ เกิดผลกระทบสร้างความเสียหายต่อเงินงบประมาณแผ่นดิน และเกษตรกร อีกทั้งเสี่ยงต่อระบบการคลังของประเทศ ไม่เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน แม้ในชั้นนี้ พยานหลักฐานยังไม่ปรากฏชัดเจนว่า ผู้ถูกกล่าวหามีส่วนร่วมในการทุจริต หรือสมยอมให้เกิดการทุจริต หรือไม่ก็ตาม แต่การที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่บริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อสภาผู้แทนราษฎรว่า จะป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐอย่างจริงจัง โดยยึดหลักความโปร่งใสและมีธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ทั้งไม่พิจารณายับยั้งโครงการตั้งแต่เริ่มรับทราบความเสียหายร้ายแรงที่สุดของประเทศ

       จากการดำเนินการโครงการดังกล่าว คณะกรรมการจึงมีมติ 7 ต่อ 0 เสียง ว่า พฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหา เป็นการส่อว่า จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 178 และส่อว่า จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหาราชการแผ่นดิน มาตรา 11(1) อันเป็นเหตุแห่งการถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาออกจากตำแหน่ง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 270 จึงให้แยกสำนวนการสอบสวนส่งไปยังวุฒิสภา เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

       ส่วนคดีอาญานั้น ที่ประชุมมีมติให้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไป จนกว่าจะสิ้นกระแสความ ทั้งนี้ โดยไม่ตัดพยานที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้างมาในคำร้อง ขอนำสืบแก้ข้อกล่าวหาหลังสุด โดยให้นำไปพิจารณาในสำนวนคดีอาญาต่อไป

       จึงแถลงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ

       ผมเพิ่มเติมว่า ตามที่มีข่าวแพร่สะพัดไปว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช.รับลูกมาลงมติเพื่อที่จะดำเนินการกับคณะรัฐมนตรีทั้งชุดนั้น ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด คุณนิวัฒน์ธำรง ซึ่งปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรีอยู่ในขณะนี้ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกรณีที่เราไต่สวนนี้เลย เป็นเพียงพยานที่เราเรียกมาเป็นพยานบุคคล ส่วนจะเกี่ยวข้องหรือไม่นั้น ยังไม่ได้พิจารณาอะไรเลยเกี่ยวกับคุณนิวัฒน์ธำรง เพราะฉะนั้นก็เฉพาะตัวคุณยิ่งลักษณ์เท่านั้น และก็เฉพาะกรณีถอดถอน ไม่เกี่ยวกับคดีอาญาด้วย

       คือเราได้พิจารณาขององค์คณะทั้งชุดไปแล้ว ต้องดำเนินการไต่สวนทั้งชุด และพิจารณาทั้งชุดไปก่อนแล้ว ที่ผมได้สรุปไว้บอกว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทั้งคณะได้ดำเนินการไต่สวน และมีมติไปก่อนแล้วด้วยคะแนนเสียง 7 ต่อ 0 เสียง

ประสาท พงษ์ศิวาภัย

       ผิดไปนิดหนึ่งที่ว่าเรื่องพิจารณาในขณะนี้ที่เราพิจารณากรณีถอดถอนอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ มีท่าน อ.วิชา กับผม 2 คน เป็นกรรมการที่รับผิดชอบสำนวน ส่วนที่เอ่ยถึง อ.กล้านรงค์ อ.วิชา กับผมนั้น นั่นเมื่อครั้งที่เป็นกรรมการรับผิดชอบคดีที่กล่าวหาว่าทุจริตการจำนำข้าวของคุณบุญส่ง แล้วต่อมาท่านกล้านรงค์ ท่านเกษียณไป ก็เลยเหลือผมกับท่าน อ.วิชา นั่นอีกคดีหนึ่ง แต่คดีนี้มีผม กับท่าน อ.วิชา 2 คน รับผิดชอบสำนวน

ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ

       เรื่องถอดถอนมันจะมีเรื่องห้ามไม่ให้ปฏิบัติหน้าที่ 5 ปีด้วย ในการดำรงตำแหน่งทางการเมือง อย่างกรณีอื่นๆ ที่พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว เราก็ยื่นไป ทางวุฒิสภาก็พิจารณาแล้วเห็นว่ายังมีกรณีที่ยังเหลืออยู่ คือห้ามไม่ให้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งทางการเมือง เป็นระยะเวลา 5 ปี ก็เป็นเรื่องของวุฒิสภาต้องดำเนินการต่อไป

       ภาพจากทวิตเตอร์ @winaithornPNC









Create Date :08 พฤษภาคม 2557 Last Update :8 พฤษภาคม 2557 21:33:10 น. Counter : 1496 Pageviews. Comments :0