bloggang.com mainmenu search


ศาลแพ่งมีคำสั่งไม่คุ้มครองชั่วคราว “ถาวร เสนเนียม” แกนนำ กปปส.ร้องขอห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังสลายการชุมนุม ชี้ยังไม่มีเหตุสลายม็อบ จึงยังไม่จำเป็นต้องคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา

       วันนี้ (31 ม.ค.) ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำสั่งในคดีที่นายถาวร เสนเนียม แกนนำ กปปส. เวทีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ,ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน ในฐานะ ผอ.ศรส. และ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. ในฐานะรองผอ.ศรส. จำเลยที่ 1-3 ในข้อหาละเมิด เพื่อขอให้ศาลเพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง และห้ามใช้กำลังสลายการชุมนุม พร้อมขอศาลไต่สวนฉุกเฉินเพื่อขอคุ้มครองชั่วคราว

       เมื่อถึงเวลานัดนายถาวร พร้อมด้วยทนายความมาศาล ส่วนจำเลยที่ 2 ได้มอบอำนาจให้ตัวแทนยื่นคำร้องคัดค้านอำนาจศาลแพ่งว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจศาลปกครอง ศาลแพ่งไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนี้ ซึ่งศาลได้รับไว้พิจารณาและนัดฟังคำสั่งในวันที่ 6 ก.พ.นี้

       โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คำร้องโจทก์ที่อ้างเหตุในการขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา โดยขอให้ศาลมีคำสั่งอ้างมิให้มีการดำเนินการตามประกาศหรือข้อกำหนด 12 ข้อ ประกอบด้วย 1. ห้ามจำเลยทั้งสาม ใช้หรือสั่งเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ใช้กำลังหรืออาวุธเข้าสลายการชุมนุมของโจทก์และประชาชน 2. ห้ามจำเลยทั้งสามมีคำสั่งยึดหรืออายัดสินค้า เครื่องอุปโภคบริโภค เคมีภัณฑ์หรือวัตถุอื่นใดที่ใช้ในการชุมนุมของโจทก์ 3. ห้ามจำเลยทั้งสามออกคำสั่งตรวจค้น รื้อถอน หรือทำลายอาคารสิ่งปลูกสร้างหรือสิ่งกีดขวางของโจทก์ 4. ห้ามจำเลยทั้งสามสั่งการให้การซื้อขาย ใช้ หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งสินค้า เวชภัณฑ์ เครื่องอุปโภคบริโภคฯ ที่อาจใช้ในการชุมนุมของโจทก์ต้องรายงานหรือได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน 5.ห้ามจำเลยทั้งสาม สั่งการห้ามกระทำการที่เป็นการปิดการจราจร เส้นทางคมนาคม หรือกระทำการที่ไม่อาจใช้เส้นทางได้ตามปกติ ในทุกเขตพื้นที่ ที่โจทก์ใช้ในการชุมนุม 6.ห้ามจำเลยทั้งสามประกาศ กำหนดพื้นที่ที่ห้ามการชุมนุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป 7.ห้ามจำเลยทั้งสามสั่งการห้ามใช้เส้นทางคมนาคมหรือยานพาหนะหรือกำหนดเงื่อนไขในการใช้เส้นทางคมนาคม ที่ใช้ในการชุมนุม 8.ห้ามสั่งโจทก์ใช้อาคารหรือเข้าไป หรืออยู่ในสถานที่ใด หรือห้ามเข้าไปในพื้นที่ใดๆ 9.ห้ามจำเลยทั้งสามสั่งให้โจทก์และประชาชนที่ร่วมกันชุมนุมออกจากพื้นที่การชุมนุม หรือออกคำสั่งห้ามไม่ให้เข้าไปในพื้นที่การชุมนุม 10. ห้ามจำเลยทั้งสามใช้หรือสั่งเจ้าหน้าที่ให้ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม ของโจทก์ 11.อนุญาตให้โจทก์และประชาชนทั่วไปใช้หรืออยู่ในพื้นที่ที่มีการประกาศกำหนดได้ และ 12. อนุญาตให้โจทก์ใช้เส้นทางคมนาคมหรือยานพาหนะ หรือจอดยานพาหนะในพื้นที่ที่มีการประกาศกำหนดได้

       เห็นว่าคำขอของโจทก์ตามข้อ 1,3 และ 5-12 นั้นพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นกฎหมายที่มีเจตนารมณ์ให้อำนาจฝ่ายบริหารมีอำนาจพิเศษบางประการสำหรับบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินรวมถึงการออกประกาศและข้อกำหนดต่างๆ เท่าที่มีเหตุจำเป็นเพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลกระทำการหรือร่วมมือกระทำการใดที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรง หรือ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการระงับเหตุการณ์ร้ายแรงนั้น แต่การใช้อำนาจของฝ่ายบริหารไม่ได้ตัดสิทธิ์ผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องความเสียหายจากทางราชการ หากการใช้อำนาจของรัฐเป็นการใช้อำนาจโดยไม่สุจริต เลือกปฏิบัติและเกินสมควรแก่เหตุ หรือเกินกว่ากรณีจำเป็น ตามมาตรา 17 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีกทั้งการดำเนินตามกฎหมายฉบับนี้จะต้องไม่กระทบสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุม โดยสงบและปราศจากอาวุธ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 แม้โจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสามออกประกาศและมีข้อกำหนดรวมถึงมีการประชุมวางแผนจัดเตรียมกำลัง เจ้าพนักงานตำรวจชุดกองร้อยปราบจลาจล จำนวน 16,000 นาย เพื่อใช้ในการสลายการชุมนุมของโจทก์และประชาชนก็ตาม แต่เมื่อยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอย่างใดอย่างหนึ่งว่า ขณะที่โจทก์กับพวกได้ชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ตามที่รัฐธรรมนูญได้รับรองสิทธิ์จำเลยทั้งสาม ได้สั่งการหรือดำเนินการใดๆ ที่แสดงให้เห็นว่าจะมีการใช้กำลังเข้าสลายโจทก์และประชาชนที่มาร่วมชุมนุม ข้อเท็จจริงที่ได้ฟังจากการไต่สวนจึงยังไม่มีเหตุเพียงพอ ที่จะนำวิธีการคุ้มครองชั่วคราว ก่อนพิพากษาตามคำขอของโจทก์มาใช้

       ส่วนคำขอของโจทก์ตามข้อ 2 และ 4 นั้น เมื่อได้ฟังจากการไต่สวน โจทก์และประชาชนใช้สิทธิ์และเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ เพื่อแสดงเจตนารมณ์ทางการเมือง โดยมีเหตุผลมาจากความไม่ไว้วางใจในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ถือเป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ที่ได้รับความคุ้มครอง การที่จะออกคำสั่งหรือกระทำการใดๆ ที่จะกระทบหรือขัดขวางการชุมนุมโดยสงบแล้ว ย่อมเป็นการกระทบต่อสิทธิของโจทก์ การออกประกาศตามมาตรา 11 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในส่วนที่ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีคำสั่งยึดหรืออายัดสินค้า เครื่องอุปโภค บริโภค เคมีภัณฑ์หรือวัตถุอื่นใด ในกรณีที่มีเหตุสงสัยว่าจะใช้สิ่งนั้น เพื่อสนับสนุนการกระทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน และสั่งการให้ซื้อ ขาย ใช้ หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งสินค้า เวชภัณฑ์ เครื่องอุปโภคบริโภค เคมีภัณฑ์ หรือวัสดุอุปกรณ์ที่จะใช้ในการก่อความไม่สงบหรือก่อการร้าย ต้องรายงานหรือได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน ซึ่งมีผลบังคับรวมถึงโจทก์และผู้ชุมนุมนั้นด้วย ส่วนดังกล่าวจึงกระทบต่อการดำรงชีวิตของโจทก์และประชาชนโดยปกติสุข ซึ่งโจทก์มีนายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาฯ สมช. เบิกความว่า การออกประกาศของจำเลยทั้งสาม เพื่อที่จะจำกัดหรือควบคุม โดยมุ่งเน้นไปที่ผู้ชุมนุมเป็นหลัก แสดงให้เห็นว่าการดำเนินการของจำเลยทั้งสาม เป็นการมุ่งเน้นที่จะจำกัด หรือควบคุมการใช้สิทธิของโจทก์และผู้ชุมนุมตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองไว้ ฉะนั้นจึงมีคำสั่งห้ามมิให้จำเลยทั้งสาม ดำเนินการดังกล่าว ตามที่ปรากฏในประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 11 จนกว่าจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น ส่วนประกาศและข้อกำหนดอื่นๆ ให้จำเลยทั้งสามกระทำการไปโดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่เกินสมควรแก่เหตุ หรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็นเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนและพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ซึ่งต้องปฏิบัติตามประกาศและข้อกำหนดนั้น

       นายถาวร กล่าวภายหลังฟังคำสั่งศาลแพ่งว่า จากที่ตนได้ยื่นให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวจำนวน 12 ข้อ ศาลได้อนุญาตจำนวน 2 ข้อ คือ ห้ามไม่ให้จำเลยทั้ง 3 สั่งยึดหรืออายัด สินค้า เครื่องอุปโภค บริโภค เคมีภัณฑ์ หรือวัตถุอื่นใดเพื่อใช้ในการชุมนุม และห้ามจำเลยทั้งสาม สั่งการให้การซื้อ ขาย ใช้วัตถุดังกล่าว ต้องรายงานหรือได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ก่อน แต่สิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดมากกว่าคำสั่งคุ้มครอง 2 ข้อที่กล่าวมานั้น คือศาลได้มีคำสั่งให้จำเลยทั้งสาม กระทำการไปโดยสุจริต ไม่เลือกปฎิบัติ ไม่สมควรแก่เหตุ หรือกระทำการไม่เกินกว่าเหตุจำเป็น ทั้งนี้ศาลยังได้มีการกล่าวถึงคำวินิจฉัยครั้งนี้่ว่า การชุมนุมของมวลมหาประชาชนครั้งนี้เป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ เมื่อเป็นเช่นนี้ศาลจึงรับคำร้องไว้พิจารณา รัฐบาลเองก็ควรที่จะรับฟังคำสั่งศาล ไม่เลือกปฎิบัติ ส่วนกรณีร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รักษาการรมว.แรงงาน ในฐานะผอ.ศรส.ได้เดินทางมายื่นคำร้องต่อศาล โดยระบุว่า ศาลแพ่งไม่มีอำนาจที่จะรับคำร้องไว้รับพิจารณา ซึ่งตนมองว่าเป็นการถ่วงเวลา เพราะศาลแพ่งเองก็มั่นใจอยู่แล้วว่ามีอำนาจที่จะพิจารณา ทั้งนี้ตนพอใจในคำสั่งศาล ซึ่งจะไม่มีการยื่นอุธรณ์คำสั่งดังกล่าว

       “ให้จำเลยทั้งสาม ฟังคำสั่งศาลที่ต้องกระทำโดยสุจริต ถ้ากระทำการโดยไม่สุจริตถือว่าทำผิดคำสั่งศาล และต้องไม่เลือกปฎิบัติ เช่น คนเสื้อแดง ทางรัฐบาลก็ต้องนำพ.ร.ก.ฉุกเฉินไปใช้เหมือนกันด้วย ทั้งนี้ถ้ารัฐบาลสั่งเจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุมก็เท่ากับกระทำการโดยไม่สุจริต ถือว่าผิดคำสั่งศาล”


//manager.co.th/Crime/ViewNews.aspx?NewsID=9570000012167
Create Date :31 มกราคม 2557 Last Update :31 มกราคม 2557 21:15:12 น. Counter : 1236 Pageviews. Comments :0