bloggang.com mainmenu search

หมดเขตกร่าง! หวอเถื่อนเกลื่อนเมืองต้องเข้าระบบ
คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น หมดเขตกร่าง! หวอเถื่อนเกลื่อนเมืองต้องเข้าระบบ
หมดเขตกร่าง! หวอเถื่อนเกลื่อนเมืองต้องเข้าระบบ
เสียงหวีดหวอดังสนั่นชวนให้หวาดหวั่นถึงเหตุด่วนเหตุร้าย ทว่าในความเป็นจริงใครจะรู้ว่าที่อยู่บนรถโดยสารอาจเป็นใครบางคนที่ยิ้มเยอะสนุกสนานกับอำนาจที่ตัวเองได้รับมาใช้อย่างไม่ชอบธรรมอยู่

ความกร่างบนท้องถนนที่แผดมาในสรรพเสียงของไซเรน และฉายฉาดอยู่ในแสงสีของสัญญาณไฟวับวาบเป็นปัญหาหนึ่งของความไร้ระเบียบที่เกิดขึ้นอย่างบ่อยครั้ง ทั้งที่ความจริงแล้วแสงไฟสัญญาณเหล่านี้คือสิ่งจำเป็นและอาจหมายถึงการช่วยชีวิตคน แต่กลับถูกนำมาใช้อย่างผิดที่ผิดทาง จนถึงตอนนี้อาจถึงเวลากวาดล้างสิ่งเหล่านั้นให้หมดไปแล้ว

ไฟเถื่อนเกลื่อนเมือง

รถแล่นเร่งเร็วเปิดไฟสัญญาณวับวาบพร้อมเสียงไซเรนรุนแรงเร่งเร้าเป็นเหตุการณ์ไม่ปกตินักบนท้องถนน ท่ามกลางการจราจรอันแสนแออัดของกรุงเทพฯ รถหลายคันเบี่ยงทางหลบให้รถพร้อมสัญญาณไฟเร่งรุดนำหน้า หลายคนอาจเคยพบเจอกับรถเหล่านั้นมาบ้าง ทว่าในรถที่เร่งร้อนนำหน้าไปด้วยเหตุด่วนเหตุร้าย ในบางครั้งบางคราวก็เป็นแต่เพียงสัญญาณไฟที่ผิดกฎหมาย ไม่เกี่ยวกับเหตุด่วนเหตุร้าย หากแค่เปิดไว้เพื่อเร่งไปทำธุระส่วนตัว

“ที่ผ่านมาได้รับการร้องเรียนจากประชาชนเป็นจำนวนมากถึงกรณีที่มีรถบรรเทาสาธารณภัยผิดกฎหมายมีการติดสัญญาณไซเรนโดยไม่ได้รับอนุญาต และมีการขับขี่โดยประมาท ใช้ความเร็วสูงส่วนใหญ่เป็นอาสาสมัครเป็นลูกข่ายของมูลนิธิต่างๆ ซึ่งตรงนี้อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของบุคคลอื่นได้” พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงศักดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล(รองผบช.น.) กล่าว

โดยปัญหาไฟสัญญาณเถื่อนนั้นมักจะมาในรูปแบบของรถสาธารณภัยหรือรถฉุกเฉินของมูลนิธิต่างที่ทำงานเกี่ยวกับการกู้ภัย ทั่วประเทศไทยนอกจากมูลนิธิใหญ่ๆที่เป็นที่รู้จักแล้ว ยังมีมูลนิธิลูกข่ายอีกมากมายที่ร่วมด้วยช่วยกันทำงานในลักษณะของการเป็นอาสาสมัคร

ทว่าด้วยความที่ไม่มีต้นทุนในการบริหารจัดการมากนัก พร้อมทั้งบุคลากรที่เข้ามาทำงานมีลักษณะเป็นอาสาสมัครหลายครั้งการจัดการจึงมีข้อจำกัดของความไม่เป็นมืออาชีพอยู่บ้าง ทั้งรถที่ใช้ในการทำงานกู้ภัย กระทั่งการทำงานที่บางครั้งมีการใช้สัญญาณไฟโดยไม่จำเป็น นอกจากนี้ยังมีกรณีเกิดเหตุทะเลาะวิวาทกันระหว่างมูลนิธิอีกด้วย

วันที่ 15 ธันวาคม 2557 ที่จะถึงนี้จึงเป็นวันชี้ชะตาที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเริ่มกวดขันรถที่ทำผิดกฎหมาย โดยรถฉุกเฉินที่ไม่ได้เข้าระบบทั้งหมดจะต้องหยุดวิ่ง โดยหากมีผู้กระทำผิดจะมีการดำเนินการจับกุมและยึดสัญญาณไฟทันที


“จะมีการประสานงานระหว่างรถฉุกเฉินและตำรวจจราจรในท้องที่ หากพบเห็นรถฉุกเฉินจะต้องเร่งอำนวยการจราจรให้ผ่านไปโดยเร็ว อย่างไรก็ตาม รถฉุกเฉินหรือรถบรรเทาสาธารณภัยซึ่งขออนุญาตติดไซเรนจะติดได้เฉพาะไฟสีน้ำเงินเท่านั้นและมีขั้นตอนโดยยื่นขอกับทางศูนย์เอราวัณกทม. เพื่อตรวจสอบอุปกรณ์ช่วยเหลือประชาชนเบื้องต้น จากนั้นจึงขออนุญาตกับบก.จร. และหนังสืออนุญาตมีอายุ3ปี”

ในส่วนของการดำเนินการเชิงรุกที่จะต่อไปนั้น พีระพงษ์ สายเชื้อ รองปลัดกรุงเทพมหานครเผยว่า ทางศูนย์เอราวัณจะเร่งดำเนินการจัดทำสติกเกอร์รับรองโดยใช้สัญลักษณ์สตาร์ออฟไลต์เพื่อแสดงว่า รถดังกล่าวเป็นรถฉุกเฉินที่อยู่ในระบบของศูนย์เอราวัณ

“ปัจจุบันมีรถฉุกเฉินที่เข้าระบบอยู่ประมาณ160 คันและมีเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการสอบปฐมพยาบาลเบื้องต้นประมาณ800 กว่าคน ก็อยากขอความร่วมมือกับอาสาสมัครในหลายๆ ที่ให้เข้ามาดำเนินการขออนุญาตให้ถูกต้องก่อนออกไปวิ่งบนท้องถนน”

ในส่วนของรายละเอียดการบริหารจัดการรถฉุกเฉินที่ได้รับสติกเกอร์นั้น เขาเผยว่า ต้องมีการนำรถเข้ามาตรวจสอบขั้นพื้นฐานเพื่อดูรายละเอียดว่า รถที่เข้าสู่ระบบมีเครื่องมือเบื้องต้นสำหรับช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน และเจ้าหน้าที่ผ่านการฝึกอบรมการช่วยเหลือเบื้องต้น

“หลังจากผ่านการรับรองจากศูนย์เอราวัณแล้วจึงจะสามารถขอหนังสือใช้สัญญาณไฟจากบก.จร.ได้เพราะหากมีการขออนุญาตใช้ไซเรนแต่ยังไม่ผ่านการรับรองจากศูนย์เอราวัณจะถือว่าผิดพ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ศูนย์เอราวัณได้แบ่งเขตการทำงานเพื่อช่วยเหลือประชาชนออกเป็น 9โซน และต่อไปก็จะมีการทำระบบคิวอาร์โค๊ดควบคู่ไปกับสติกเกอร์ซึ่งคาดว่าจะเสร็จในปี 2558 อีกด้วย”

อยากเป็นฮีโร่ต้องทำอย่างถูกต้อง

อาสาสมัครกู้ภัยถือเป็นหน่วยงานที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยความรวดเร็วในการมาถึงที่เกิดเหตุ แต่หากมองในมุมของปัญหาที่เกิดขึ้น ผลประโยชน์ที่ทับซ้อนอย่างการแย้งกันทำงานทับพื้นที่ กินหัวคิวส่งโรงพยาบาล จนถึงการใช้สัญญาณไฟโดยไม่จำเป็น ขับรถแต่งซิ้งกร่างบนท้องถนนจนถึงขั้นต้องเร่งหามาตรการในการจัดระเบียบ

โดยตามกฎระเบียบที่มีอยู่แล้วนั้นระบุว่า รถฉุกเฉินที่จะติดสัญญาณไฟวับวาบต้องขออนุญาต จากกองบัญชาการตำรวจนครบาล ส่วนต่างจังหวัดต้องทำเรื่องขออนุญาตจากผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด โดยรถกู้ภัยอาสาสมัครต่างๆ จะต้องใช้สัญญาณไฟสีเหลืองเท่านั้น

รถที่ฝ่าฝืนแอบติดเอง ถือเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก มาตรา 132 ขับรถในทางเดิน ใช้ไฟสัญญาณแสงวับวาบโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท นอกจากนี้หากมีการใช้สัญญาณเสียง
ไซเรน ก็จะมีความผิดกรณีการใช้เสียงไซเรน ก็มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาทด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้หากอาสาสมัครมูลนิธิต่างๆ ที่ไม่ได้ใช้รถของหน่วยงานต้นสังกัด แต่ใช้รถส่วนตัวที่ติดตั้งสัญญาณไฟ หากยังไม่มีเหตุให้ใช้ก็ควรถอดไฟเก็บ หรือใช้ซองหุ้มไว้ หากเป็นแบบโป๊ะก็ต้องหุ้มด้วยซองให้มิดชิด และควรใช้แสงให้ถูกต้อง โดยเจ้าหน้าที่สามารถตรวจใบอนุญาตใช้ไฟฉุกเฉินได้

ทั้งนี้ ไฟฉุกเฉินนั้นมีการระบุถึงสิทธิของรถฉุกเฉินไว้ในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ว่า

“มาตรา 75 ในขณะที่ผู้ขับขี่ขับรถฉุกเฉินไปปฏิบัติหน้าที่ ผู้ขับขี่มีสิทธิดังนี้ (1) ใช้ไฟสัญญาณแสงวับวาบ ใช้เสียงสัญญาณไซเรน หรือเสียงสัญญาณอย่างอื่นตามที่อธิบดีกำหนดไว้ (2) หยุดรถหรือจอดรถ ณ ที่ห้ามจอด (3) ขับรถเกินอัตราความเร็วที่กำหนดไว้ (4) ขับรถผ่านสัญญาณจราจรหรือเครื่องหมายจราจรใดๆ ที่ให้รถหยุด แต่ต้องลดความเร็วของรถให้ช้าลงตามสมควร (5) ไม่ต้องปฏิบัติตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้หรือข้อบังคับการจราจรเกี่ยวกับช่องเดินรถ ทิศทางของการขับรถหรือการเลี้ยวรถที่กำหนดไว้ในการปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง ผู้ขับขี่ต้องใช้ความระมัดระวังตามควรแก่กรณี

“มาตรา 76 เมื่อคนเดินเท้า ผู้ขับขี่ หรือผู้ขี่หรือควบคุมสัตว์เห็นรถฉุกเฉินในขณะปฏิบัติหน้าที่ใช้ไฟสัญญาณแสงวับวาบ หรือได้ยินเสียงสัญญาณไซเรน หรือเสียงสัญญาณอย่างอื่นตามที่อธิบดีกำหนดไว้ คนเดินเท้า ผู้ขับขี่หรือผู้ขี่หรือควบคุมสัตว์ต้องให้รถฉุกเฉินผ่านไปก่อนโดยปฏิบัติดังต่อไปนี้(1) สำหรับคนเดินเท้าต้องหยุดและหลบให้ชิดขอบทาง หรือขึ้นไปบนทางเขตปลอดภัย หรือไหล่ทางที่ใกล้ที่สุด (2) สำหรับผู้ขับขี่ต้องหยุดรถหรือจอดรถให้อยู่ชิดขอบทางด้านซ้ายหรือในกรณีที่มีช่องเดินรถประจำทางอยู่ทางด้านซ้ายสุดของทางเดินรถต้องหยุดรถหรือจอดรถให้อยู่ชิดช่องเดินรถประจำทาง แต่ห้ามหยุดรถหรือจอดรถในทางร่วมทางแยก(3) สำหรับผู้ขี่หรือควบคุมสัตว์ต้องบังคับสัตว์ให้หยุดชิดทาง แต่ห้ามหยุดในทางร่วมทางแยกในการปฏิบัติตาม (2) และ (3) ผู้ขับขี่และผู้ขี่หรือควบคุมสัตว์ต้องรีบกระทำโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะกระทำได้และต้องใช้ความระมัดระวังตามควรแก่กรณี”

กฎของการใช้สัญญาณไฟวับวาบถือเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องยึดถือ สมศักดิ์ นัคลาจารย์ ที่ปรึกษาระบบข้อมูลการจัดการข้อมูลเว็บไซต์ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์และสวัสดิการสังคม มหาวิทยาลัยหัวเฉียว กล่าวถึงประเด็นการขับขี่ของหน่วยงานกู้ภัยที่สังคมมองว่า ขับเร็วและไม่มีมารยาทนั้น เป็นปัญหาที่เกิดจากความหลากหลายของบุคลากรที่เข้ามาทำงานอาสา

“รถของมูลนิธิจะเป็นมาตรฐานไม่ได้ดัดแปลงอะไร แต่ถ้าเป็นอาสาสมัครในกลุ่มเครือข่ายมันก็เป็นเรื่องในกลุ่มคนที่รับผิดชอบตัวเอง ปกติเขาก็ต้องแจ้งกรมการขนส่งทางบกอยู่แล้วหากมีการปรับแต่งรถ ซึ่งรถสแตนดาร์ดก็เหยียบกันเร็วอยู่แล้ว

“มันเหมือนเท่ที่มีสิทธิพิเศษได้ขับแบบที่คนอื่นทำไม่ได้ ความเร็วขนาดนี้ พอติดไฟปุบทุกคนก็ต้องเอื้อให้ แต่ที่ทุกคนเอื้อก็เพราะต้องการเห็นความช่วยเหลือที่รวดเร็ว ช่วยชีวิตให้เร็วที่สุด ถ้าเปิดไฟฉุกเฉินเพราะต้องการจะไปกินก๋วยเตี๋ยวให้เร็ว มันก็ต้องถูกจับได้ ตรวจสอบได้ ถามว่ามีเกิดขึ้นมั้ย? ผมบอกได้ว่าต้องมี คึกคะนองบ้าง”

ในส่วนของนโยบายการจับกุมคุมเข้มที่จะออกมานั้น เขาเห็นว่าดีต่อหน่วยงานกู้ภัย เพราะเท่าที่เป็นอยู่ตอนนี้ก็หน่วยกู้ภัยกระจายตามโรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งเพียงพอต่อการช่วยเหลือประชาชนอยู่แล้ว

“มันก็ดีที่หน่วยงานไหน องค์กรไหนที่ไม่ถูกต้อง ติดสัญญาณโดยไม่ถูกต้อง อย่างไม่ได้รับอนุญาต หรือไม่ได้รับอนุญาตแต่ผิดเงื่อนไขอื่นๆ แล้วยังใช้ต่อไม่ตรงตามระเบียบก็จะได้หมดไป ปัญหาประพฤติไม่ถูกต้องจะได้น้อยลงด้วย คือมันคงไม่ถึงขั้นว่าประสบอุบัติเหตุแล้วประชาชนจะไม่มีคนเข้าช่วย มันก็มีหน่วยงานมากพอสมควรอยู่แล้ว”

ทั้งนี้ หน่วยงานด้านกู้ภัยที่อยู่นอกระบบก็ถือว่ามีอยู่มากพอสมควร โดยมักเป็นหน่วยงานที่ตั้งโดยชุมนุม วัด หรือศาลเจ้าต่างๆ แน่นอนว่ามีเจตนาที่ดี แต่อาจมีปัญหาจากคนทำงานที่มีความหลากหลายได้

“ผมก็ไม่ทราาบสาเหตุที่แท้จริงของการที่หน่วยงานเหล่านั้นไม่เข้าระบบ ซึ่งการเข้าระบบมันก็มีเรื่องของการจดทะเบียน การฝึกอบรมที่ต้องมีให้ครบทั้งจากกระทรวงสาธารณสุข หรือการต้องดูแลสมาชิกพอสมคาร ใครทำผิดก็ต้องถูกยกเลิกใบอนุญาตไป แต่ทั้งประเทศเราก็ยังไม่รู้ว่าหน่วยงานไหนถูกต้องไม่ถูกต้อง เพราะคนเข้าคนออกมันหมุนเวียนเปลี่ยนกันไปเรื่อยๆ”

ท้ายที่สุดเขาเผยว่า การทำงานของแต่ละมูลนิธินั้นมีการดูแลที่ต่างกัน ทว่าการทำให้ถูกต้องก็ยังคงเป็นสิ่งที่สำคัญอยู่

“เอาของไม่ดีออกไปบ้าง ถ้าเขามีเจตนาดีจริงๆ ก็เข้าสู่กระบวนการซะ ให้ถูกต้อง จัดการให้เรียบร้อย ได้รับการฝึกอบรมให้เรียบร้อยไป อย่างนี้จะได้สบายใจ ทั้งคนทำงานเอง ทั้งคนที่ได้รับความช่วยเหลือ และทำให้ไม่มีคนที่ไม่ดีเข้ามาในระบบด้วย”

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE
Create Date :11 ธันวาคม 2557 Last Update :11 ธันวาคม 2557 8:33:47 น. Counter : 2197 Pageviews. Comments :0