ดาวน์โหลดโปรแกรม ดูละครย้อนหลัง อ่านเรื่องราวของความรู้รอบตัว วิทยาศาสตร์ ท่องเที่ยว สุขภาพ อาหาร รถยนต์ต่างๆ ไม่ทิ้งเรื่องราวความบันเทิงและเรื่องส่วนตัวอีกด้วย
Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2553
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
5 มิถุนายน 2553
 
All Blogs
 
รวมฮิต 'เทคโนโลยีทำลูก' ตัวช่วยผู้มีบุตรยาก

รวมฮิต 'เทคโนโลยีทำลูก' ตัวช่วยผู้มีบุตรยาก



แต่งงานมานานกว่า 1 ปี ตลอดจนมีเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ แต่ทำไมยังไม่ตั้งครรภ์สักที นั่นเป็นสัญญาณเตือนแล้วว่า คุณกำลังอยู่ในภาวะ "การมีบุตรยาก" โดยหลักการแล้ว แม้ว่าภาวะนี้จะไม่ใช่โรค แต่ก็เป็นปัญหาสำหรับคู่สมรสที่หวังอยากจะมีเจ้าตัวเล็กไม่น้อย

ดังนั้นเพื่อความสมบูรณ์แบบของชีวิตครอบครัว นพ.ภากร มิ่งมิตรพัฒนะกุล สูติ-นรีแพทย์ ศูนย์ผู้มีบุตรยาก โรงพยาบาลกรุงเทพ ได้รวบรวมวิธีการรักษาโดยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ที่ทันสมัยระดับโลกไว้เป็นตัวเลือก และแนวให้กับคู่สมรสที่มีบุตรยาก ซึ่งมีรายละเอียดขั้นตอนการทำลูกดังต่อไปนี้

คัดเชื้อเพื่อฉีดเข้าโพรงมดลูก (Intrauterine insemination: IUI)

เป็นการรักษาการมีบุตรยากที่สะดวก และประหยัด เหมาะสำหรับคู่สมรสที่ไม่มีปัญหาทางร่างกาย โดยเก็บน้ำเชื้อของฝ่ายชายในช่วงวันตกไข่ของฝ่ายหญิง แล้วใช้น้ำยาเพาะเลี้ยงคัดแยกเฉพาะอสุจิที่แข็งแรง และนำไปฉีดเข้าโพรงมดลูก เพื่อเพิ่มโอกาสในการผสมกับไข่ของฝ่ายหญิงได้ดีขึ้น

ทำกิ๊ฟท์ (Gamete Intrafallopian Transfer: GIFT)

เป็นการรักษาที่มีอัตราการตั้งครรภ์สูง โดยนำไข่ที่เจาะออกมาผสมกับเชื้ออสุจิของฝ่ายชาย แล้วใส่กลับเข้าไปในท่อนำไข่ เพื่อให้เกิดการปฏิสนธิภายในท่อนำไข่ของฝ่ายหญิง หรืออีกวิธีหนึ่งก็คือ “ซิฟท์ (Zygote Intrafallopian Transfer: ZIFT)” แต่จะทำให้ไข่เกิดการปฏิสนธิภายนอกแล้วใส่กลับเข้าไปในร่างกายของฝ่ายหญิง โดยดมยาสลบ และเจาะรูที่หน้าท้องสามตำแหน่ง

เด็กหลอดแก้ว (In Vitro Fertilization: IVF)

เป็นการรักษาที่สะดวกไม่ต้องดมยาสลบ ไม่ต้องเจาะหน้าท้อง แต่ให้อัตราการตั้งครรภ์สูงใกล้เคียงกับการทำกิฟต์ โดยกระตุ้นไข่ให้สุขเต็มที่แล้วเจาะไข่ผ่านทางช่องคลอด และนำมาผสมเชื้ออสุจิของฝ่ายชายเลี้ยงในตู้เพาะเลี้ยงตัวอ่อน จนแบ่งตัวเป็นระยะ 4-8 เซลล์ หรือเลี้ยงจนเป็นระยะ “บลาสโตซีท” แล้วจึงนำมาใส่กลับเข้าโพรงมดลูกผ่านทางช่องคลอด

อย่างไรก็ดี วิธีอุ้มบุญเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยกระบวนการทำ เด็กหลอดแก้ว เพราะฉะนั้นการอุ้มบุญกับการทำเด็กหลอดแก้วมีวิธีการเหมือนกัน แต่จะแตกต่างกันในขั้นตอนการย้ายตัวอ่อนไปฝากในโพรงมดลูกของคุณแม่อีกท่านหนึ่ง ด้วยเหตุผลที่ว่าคุณแม่ทางพันธุกรรม หรือคุณแม่เจ้าของไข่ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้เองด้วยข้อบ่งชี้ต่างๆ

ปัจจุบันประเทศไทย ครม.ได้คลอดกฎหมายอุ้มบุญแล้ว โดยให้ทำได้ในคู่สามี-ภรรยา ซึ่งกำหนดให้การผสมเทียม ต้องกระทำต่อหญิงที่มีสามีที่ชอบด้วยกฎหมายแล้วเท่านั้น และต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากสามี และภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีการใช้อสุจิจากผู้บริจาค

โดยกำหนดวิธีการดำเนินการตั้งครรภ์แทนไว้ 2 กรณี คือ 1.การใช้ตัวอ่อนที่เกิดจากอสุจิและไข่ของสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายที่ประสงค์ให้มีการตั้งครรภ์แทน และ 2.การใช้ตัวอ่อนที่เกิดจากอสุจิหรือไข่ของสามี หรือภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายที่ประสงค์จะให้มีการตั้งครรภ์แทน กับอสุจิหรือไข่ของผู้อื่น ซึ่งหมายความว่าต่อไปหญิงที่รับอุ้มบุญไม่สามารถใช้ไข่ของตัวเองผสมกับอสุจิ ของพ่อโดยกฎหมายได้ เพื่อป้องกันความรู้สึกผูกพัน

ฉีดเชื้ออสุจิเพียงหนึ่งตัวเข้าไปในเซลล์ไข่ หรืออิ๊กซี่ (Intracytoplasmic Sperm Injection: ICSI)

เหมาะสำหรับคู่สมรสที่มีอสุจิน้อยมากจนไม่สามารถปฎิสนธิไข่ได้เอง หรือไม่มีตัวอสุจิเลย แต่อัณฑะยังคงมีการผลิตอสุจิอยู่ โดยนำเข็มแก้วเล็กๆ ฉีดอสุจิเพียง 1 ตัวเข้าไปในไข่ 1 ใบ แล้วเลี้ยงจนกลายเป็นตัวอ่อน และใส่กลับเข้าไปในโพรงมดลูก


การรักษาภาวะมีบุตรยาก ขึ้นอยู่กับอาการของคู่สมรส โดยผ่านการตรวจร่างกายทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง เมื่อมาตรวจ แพทย์จะตรวจหาจาก 3 สาเหตุหลัก ได้แก่

1. ไม่มีการตกไข่

2. ท่อนำไข่อุดตันหรือมีพังผืดในอุ้งเชิงกราน

3. เชื้ออสุจิของฝ่ายชายอ่อน ตรวจนับด้วยคอมพิวเตอร์

จากนั้นแพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัย และรักษาตามสาเหตุ อาทิ การให้ยากระตุ้นการตกไข่ การส่องกล้องผ่าตัด หรือคัดเชื้อฉีดเข้าโพรงมดลูก เมื่อรักษาเต็มที่แล้วยังไม่ตั้งครรภ์ แพทย์จะพิจารณาการรักษาด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ที่เหมาะสม อาทิ เด็กหลอดแก้วต่อไป

การชักนำให้ไข่ตกในหญิงที่มีภาวะมีบุตรยาก

การชักนำให้ไข่ตก (Ovulation induction) เป็นการใช้ยากระตุ้นการเจริญเติบโตของฟองไข่ (Follicle) จนถึงระยะที่เหมาะสมจนกระทั่งมีการตกไข่ (ovulation) หรือใช้ฮอร์โมนเพื่อชักนำให้เกิดการตกไข่ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ตัวอสุจิที่ผ่านโพรงมดลูกเข้าไปยังท่อนำไข่จนพบกับไข่ที่ตกมาจากรังไข่และเกิดการปฏิสนธิต่อไป

จุดมุ่งหมายต้องการให้มีไข่ตกเหมือนรอบธรรมชาติแต่มีความแน่นอนมากขึ้น เนื่องจากตามรอบธรรมชาติแม้จะมีประจำเดือนอย่างสม่ำเสมอแต่พบว่ามีการตกไข่เพียงแต่ร้อยละ 80 เท่านั้น หมายความว่าในการมีประจำเดือนประมาณ 12-13 ครั้งในหนึ่งปีจะพบว่ามีไข่ตกเพียง 9-10 รอบเท่านั้นและจะน้อยกว่านี้ถ้าหญิงนั้นมีประจำเดือนไม่สม่ำเสมอ แต่การใช้ยาจากภายนอกกระตุ้นนั้นจะพบไข่ตกได้ถึงร้อยละ 80-90 ดังนั้นการรักษานี้จึงเหมาะกับคู่สมรสที่ฝ่ายหญิงมีปัญหาไข่ไม่ตก หรือในกรณีที่ไม่พบปัญหาชัดเจน

ขั้นตอนการรักษา

ขั้นตอนประกอบด้วยการเริ่มใช้ยากระตุ้นรังไข่ในช่วงต้นของรอบเดือน การติดตามการเจริญเติบโตของฟองไข่ การชักนำให้ไข่ตกด้วยยาฮอร์โมนหรือตรวจหาวันไข่ตกด้วยแถบตรวจฮอร์โมนจากปัสสาวะ และการกำหนดวันมีเพศสัมพันธ์หรือฉีดเชื้อผสมเทียม การรักษาด้วยวิธีนี้ไม่สามารถใช้เพียงการรับประทานยาและกำหนดวันมีเพศสัมพันธ์ได้เลย แต่ต้องประกอบด้วยส่วนที่สำคัญมากคือการติดตามและประเมินการเติบโตของฟองไข่หรือการตรวจด้วยวิธีต่างๆเพื่อหาวันไข่ตกซึ่งแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน เพื่อให้การกำหนดวันไข่ตกมีความแม่นยำมากที่สุด

การใช้ยา

ยาที่ใช้มีทั้งยารับประทานและยาฉีด ยารับประทานแพทย์มักให้เริ่มทานในช่วงวันที่ 3-5 ของการมีประจำเดือนวันละ 1-3 เม็ดเป็นระยะเวลา 5 วัน ส่วนยาฉีดมักใช้ร่วมกับยารับประทาน หรืออาจใช้ยาฉีดอย่างเดียวก็ได้ในบางกรณี แต่ขนาดยาและวันที่ฉีดมีความแตกต่างได้มากตามการปรับยาของแพทย์เพื่อให้เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละคน ยาเหล่านี้เป็นยาที่ต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ จึงไม่แนะนำให้ไปซื้อยาใช้เองเนื่องจากอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการใช้ยาได้


การประเมินวันไข่ตก

แพทย์มักใช้การตรวจอัลตราซาวด์ทางช่องคลอดเพื่อติดตามการเจริญเติบโตของฟองไข่เป็นระยะตามช่วงเวลาที่เหมาะสม ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะได้รับการตรวจ 1-2 ครั้งในรอบเดือนนั้นๆ โดยทั่วไปในรอบธรรมชาติที่ไม่ได้ใช้ยากระตุ้น เมื่อฟองไข่โตจนกระทั่งเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 18 มิลลิเมตรขึ้นไปก็จะเกิดการตกไข่ แต่รอบที่ได้รับยากระตุ้นขนาดของฟองไข่ก่อนการตกไข่มักจะโตกว่านั้นเล็กน้อย ซึ่งแพทย์ผู้รักษาจะใช้ความเชี่ยวชาญประเมินวันไข่ตกจากข้อมูลการตรวจอัลตราซาวด์แต่ละครั้ง

นอกจากนี้ยังมีการตรวจหาวันไข่ตกด้วยการตรวจระดับฮอร์โมน LH ในปัสสาวะ ธรรมชาติของร่างกายมนุษย์จะผลิตฮอร์โมน LH ขึ้นมาจนถึงระดับสูงสุดประมาณ 1 วันก่อนการตกไข่ แต่มักจะไม่มีความแน่นอนว่าต้องเป็นวันที่เท่าไรในรอบเดือนนั้น ดังนั้นหลักการปฏิบัติในวิธีนี้จึงต้องคาดการณ์วันไข่ตกก่อนแล้วใช้การตรวจทั้งก่อนและหลังวันไข่ตกที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะสามารถให้คำแนะนำได้เป็นอย่างดี และการตรวจวิธีนี้มีความแม่นยำร้อยละ 80-90

ส่วนการตรวจอุณหภูมิกายช่วงตื่นนอนตอนเช้าได้เสื่อมความนิยมในการใช้ตรวจหาวันไข่ตกไปมากแล้ว เนื่องจากความแม่นยำต่ำ มีความยุ่งยากในการจดบันทึก และมีวิธีที่ง่ายกว่าคือการตรวจระดับฮอร์โมน LH ในปัสสาวะมาทดแทนซึ่งราคาถูกลงมากในปัจจุบัน จึงขอเว้นไม่อธิบายรายละเอียดในที่นี้

อย่างไรก็ดี การกำหนดวันไข่ตกอีกวิธีหนึ่งคือ การฉีดยากระตุ้นการตกไข่ แพทย์จะวัดขนาดฟองไข่จากการตรวจอัลตราซาวด์ทางช่องคลอดก่อน เมื่อได้ขนาดที่เหมาะสมแล้วแพทย์จะฉีดยากระตุ้นการตกไข่เข้ากล้าม และหลังจากนั้นอีกประมาณ 34-46 ชั่วโมงจะเกิดการตกไข่ ดังนั้นแพทย์จึงแนะนำให้ฉีดเชื้อผสมเทียมหรือมีเพศสัมพันธ์หลังการฉีดยากระตุ้นการตกไข่ประมาณ 36 ชั่วโมง


ระหว่างการตรวจระดับฮอร์โมน LH ในปัสสาวะกับการฉีดยากระตุ้นการตกไข่อาจมีผู้สงสัยว่าวิธีใดดีกว่ากัน ได้มีการวิจัยเปรียบเทียบแล้วพบว่ามีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไปตามปัญหาพื้นฐานของผู้ป่วยแต่ละคน รวมทั้งเทคนิคในการกระตุ้นไข่แต่ละแบบ ดังนั้นแพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้พิจารณาให้เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละราย

โอกาสประสบความสำเร็จ

โอกาสการตั้งครรภ์ในคู่สมรสปกติประมาณร้อยละ 30 ในเดือนแรกไปแล้ว ดังนั้นโอกาสการตั้งครรภ์ในคู่สมรสที่มีปัญหามีบุตรยากที่ใช้การรักษาวิธีนี้ก็ไม่สามารถจะมากกว่าร้อยละ 30 ไปได้ โดยเฉลี่ยโอกาสการตั้งครรภ์จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 10-20 ต่อรอบเดือน ด้วยเหตุนี้จึงแนะนำให้ทำการชักนำให้ไข่ตกซ้ำประมาณ 3-6 รอบเดือนก่อนจะเปลี่ยนไปรักษาด้วยวิธีอื่นต่อไป

ภาวะแทรกซ้อน

จุดมุ่งหมายของการชักนำให้ไข่ตกนั้นต้องการให้มีไข่ตกเพียง 1 ใบเท่านั้น แต่การตอบสนองต่อยากระตุ้นไข่ในผู้ป่วยแต่ละรายไม่เท่ากัน ทำให้บางรายมีไข่ตกมากกว่า 1 ใบต่อรอบ จึงพบโอกาสการตั้งครรภ์แฝดจากการรักษาด้วยวิธีนี้ประมาณร้อยละ 5-8 ซึ่งมากกว่าตามธรรมชาติ

สำหรับการตั้งครรภ์แฝดนี้ถือว่าเป็นภาวะแทรกซ้อนของการรักษานี้ เนื่องจากเป็นการตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูงต่อทั้งมารดาและทารก แต่ในประเทศไทยคู่สมรสทีมีปัญหามีบุตรยากส่วนใหญ่ยินดีที่จะมีลูกแฝด และมีความเชื่อมั่นในการดูแลของสูติแพทย์สูงมาก จึงทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าการรักษาผู้มีบุตรยากนั้น”จงใจ”ให้เกิดครรภ์แฝดได้ อย่างไรก็ตามแพทย์ผู้ทำการรักษานั้นจะแจ้งเตือนผู้ป่วยก่อนเสมอโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ารอบใดคาดว่าจะมีไข่ตกมากกว่า 1 ใบ เพื่อร่วมกันพิจารณาแนวทางการรักษาในรอบนั้นๆ

สุดท้ายในวันไข่ตกต้องมีตัวอสุจิว่ายเข้าไปในโพรงมดลูกจนถึงท่อนำไข่เพื่อเจาะเข้าไปในไข่ให้เกิดการปฏิสนธิตามมา โดยอาจมีเพศสัมพันธ์ตามปกติหรือใช้การฉีดเชื้อผสมเทียมก็ได้ พิจารณาตามความเหมาะสมของปัญหาในผู้ป่วยแต่ละราย

สำหรับผู้ที่อยากเป็นคุณพ่อคุณแม่ และมีปัญหาในการมีบุตร ไม่ว่าด้วยประการใดๆ ก็ตาม การเข้ามารับคำปรึกษาเป็นสิ่งที่ไม่ยุ่งยากจนเกินไป ปัจจุบันมีหลายแนวทางที่แพทย์จะมีคำแนะนำที่เหมาะสมให้กับแต่ละคู่ เพราะฉะนั้นการแก้ไขปัญหามีบุตรยากไม่ยากอย่างที่คิด เพียงแต่บางครั้งอาจจะไม่ได้มารับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญทำให้ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอสำหรับการพิจารณาว่าจะทำการรักษาอย่างไรต่อไป


ที่มา
ผู้จัดการออนไลน์


Create Date : 05 มิถุนายน 2553
Last Update : 5 มิถุนายน 2553 21:29:24 น. 0 comments
Counter : 1431 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

scimovie
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 108 คน [?]




แหล่งรวบรวมความรู้ โปรแกรม เพลง หนัง เกมส์ วิทยาศาสตร์ ดูละคร เรื่องย่อ ภาพยนตร์ การเงิน และอื่นๆ อีกมากมาย สุดท้ายขอกำลังใจให้มีแรงอัพเดทตลอดๆ ครับ ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยมเยียนกันครับ
Friends' blogs
[Add scimovie's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.