Slumdog Millionaire เด็กสลัมเงินล้าน การตลาดไร้ราก




Slumdog Millionaire
เด็กสลัมเงินล้าน การตลาดไร้ราก

พล พะยาบ
คอลัมน์อาทิตย์เธียเตอร์ มติชนรายวัน 18 และ 25 มกราคม 2552


*หมายเหตุ : บทวิจารณ์นี้เขียนหลังรู้ผลรางวัลลูกโลกทองคำ และก่อนประกาศผู้เข้าชิงออสการ์



(1)

หลังจากเป็นขวัญใจนักวิจารณ์มาแล้วหลายสำนัก ล่าสุดได้เป็นพระเอกบนเวทีลูกโลกทองคำด้วยการคว้าถึง 4 รางวัล รวมรางวัลใหญ่อย่างบทภาพยนตร์ กำกับภาพยนตร์ และภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประเภทดรามา

นาทีนี้ “เด็กสลัมเงินล้าน” ราศีจับมากขึ้นอีกโขจนอาจไปไกลถึงเส้นชัยออสการ์ แม้ว่าตัวหนังเองจะไม่ตรงกับ “ทาง” ของออสการ์นัก ถ้าเทียบกับหนังเต็งเรื่องอื่นอย่าง The Curious Case of Benjamin Button, Frost/Nixon และ Milk

Slumdog Millionaire เป็นผลงานกำกับฯของ แดนนี่ บอยล์ คนทำหนังชาวอังกฤษผู้สร้างชื่อจากเรื่อง Trainspotting (1996) ส่วนคอหนังบ้างเราจะรู้จักดีจากหนังฉาวเรื่อง The Beach (2000) และหนังซอมบี้เรื่อง 28 Days Later (2002) มีผู้กำกับฯร่วมเป็นชาวอินเดียคือ โลเวลีน ทันดัน จากบทหนังของ ไซมอน โบฟอย ซึ่งดัดแปลงจากนิยายขายดีเรื่อง Q and A ของ วิกาส สวารัป นักการทูต-นักเขียนชาวอินเดีย

เนื้อหาในหนังไม่ยึดตามหนังสือโดยตรง แต่หลักๆ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเด็กหนุ่มจากสลัมในเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย ผู้พิชิตเงินล้านในเกมโชว์ทางโทรทัศน์ Who Wants to Be a Millionaire? (หรือเกมเศรษฐีในฉบับไทย) แต่กลับถูกตำรวจจับไปเค้นความจริงโดยกล่าวหาว่าเขาโกงคำตอบ เรื่องราวที่เหลือเป็นการเล่าย้อนประวัติชีวิตอันโชกโชนของเด็กหนุ่ม เพื่อให้เห็นว่าเหตุใดเขาจึงรู้คำตอบของแต่ละคำถาม ตั้งแต่ข้อแรกจนถึงข้อสุดท้าย

หนังถ่ายทำในอินเดียตลอดทั้งเรื่อง ใช้นักแสดงชาวอินเดีย พูดภาษาฮินดีพอๆ กับภาษาอังกฤษ และมีกลิ่นอายแบบหนังบอลลีวู้ด เพราะเป็นโรแมนติก-ดรามาแนวชวนฝันที่อบอวลด้วยเพลงประกอบสไตล์ภารตะ

เห็นได้ว่ารูปร่างหน้าตาของ Slumdog Millionaire คือความโดดเด่นอันแตกต่างซึ่งเรียกความสนใจ-ความตื่นเต้นจากผู้ชมได้ไม่ยาก ผู้สร้างฉลาดพอที่ไม่โยกย้ายเรื่องราวต้นฉบับให้มาเกิดขึ้นในบ้านตนเองโดยเปลี่ยนมุมไบเป็นลอนดอน นิวยอร์ค หรือเมืองอื่นๆ และไม่เปลี่ยนตัวละครเป็นพวกตนเองอย่างที่หนังฮอลลีวู้ดชอบทำ

สำหรับผู้ชมในอังกฤษและสหรัฐซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายเบื้องต้น Slumdog Millionaire จึงไม่ใช่ “ไพรัชภาพยนตร์” ที่เป็นเรื่องราวของชาวตะวันตกโดยมีฉากหลังในต่างประเทศเช่นที่เห็นกันเป็นประจำ หรือถ้าเจาะจงฉากหลังอินเดียก็มีอยู่มากมาย หากเป็นเรื่องของชาวอินเดียในอินเดีย และไม่มีชาวตะวันตกมาเกี่ยวข้อง

นอกจากผู้ชมจะได้ติดตามเรื่องราวของตัวละครชาวอินเดียประกอบฉากหลังอย่างทัชมาฮาลและมุมไบแล้ว หนังยังเต็มไปด้วยเรื่องราวและบรรยากาศเอ็กโซติกสร้างความตื่นตา-ประหลาดใจ สมทบด้วยวัฒนธรรมอินเดียผ่านเรื่องราวและบทเพลงประกอบมากมาย โดยผู้สร้างตั้งใจเลือกมืออาชีพจากบอลลีวู้ด(เอ.อาร์. ราห์มัน) ดูแลเรื่องดนตรีประกอบทั้งหมด

เรียกได้ว่าอะไรที่เป็นเปลือกนอกซึ่งใช้โชว์ความเป็นอินเดีย ผู้สร้างจะใช้บริการจากแหล่งโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ถ่ายทำ นักแสดง คนทำดนตรีประกอบ ขณะที่ทีมงานหลักและย่อยซึ่งอยู่เบื้องหลังยังเป็นชาวตะวันตก

องค์ประกอบงานสร้างดังกล่าวทำให้ Slumdog Millionaire ไม่ต่างจากหนังอินเดีย เพียงแต่คนสร้างเป็นฝรั่ง และมีกลุ่มเป้าหมายเบื้องต้นคือฝรั่งด้วยกันเองก่อนจะส่งต่อไปทั่วโลก

เป็นการสวมรอยวัฒนธรรมอย่างหนังบอลลีวู้ดให้กลายเป็นผลผลิตของชาวตะวันตกโดยตรง นอกจากจะกระตุ้นความสนใจ-ความตื่นเต้นแก่ชาวตะวันตกแล้ว ตลาดหนังบอลลีวู้ดซึ่งมีอยู่ทั่วโลกโดยเฉพาะแหล่งใหญ่ในสหรัฐและอังกฤษย่อมไม่ปฏิเสธหนังเรื่องนี้ ก่อนที่หนังจะเดินทางไปโกยเงินในอินเดียช่วงปลายเดือนมกราคม

ลักษณะคล้ายกับที่สตูดิโอโคลัมเบียและโซนี่เคยร่วมทุนให้ อั้งลี่ ทำหนังกำลังภายในแบบจีนแท้ๆ เรื่อง Crouching Tiger, Hidden Dragon จนได้เข้าชิงออสการ์ถึง 10 สาขา รวมทั้งสาขาหนังยอดเยี่ยมในปี 2001

ต่างกันตรงที่อั้งลี่เป็นคนจีนทำหนังจีน แต่บอยล์เป็นคนอังกฤษที่คิดทำหนังอินเดีย

*แน่นอนว่าความสำเร็จของ Slumdog Millionaire ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะความแปลกต่างที่ดึงดูดความสนใจ แต่หนังยังมีเนื้อหาที่โดดเด่นน่าติดตามประกอบกับฝีมือกำกับฯอันแม่นยำของบอยล์ ทำให้หนังเข้าไปอยู่ในใจผู้ชมในที่สุด

อย่างไรก็ตาม คงปฏิเสธไม่ได้ว่าถ้า Slumdog Millionaire ไม่ใช่เรื่องราวเกี่ยวกับเด็กหนุ่มชาวอินเดียและใช้อินเดียเป็นฉากหลัง แต่เป็นเรื่องราวของเด็กฝรั่งคนหนึ่งประกอบฉากหลังอันคุ้นเคย จุดสนใจอาจจะมีไม่เทียบเท่าและเบี่ยงเบนไปคนละทาง

หรือหาก Slumdog Millionaire เป็นหนังบอลลีวู้ดโดยผู้สร้างชาวอินเดียก็คงไม่สามารถเข้าถึงผู้ชมและก่อกระแสรุนแรงในวงกว้างได้เท่านี้

ใช่เพียงองค์ประกอบงานสร้างตามที่ได้กล่าวมาที่หนุนเสริมให้หนัง “เป็นอินเดีย” มากที่สุด บทหนังยังมีการปรับเปลี่ยนจากนิยายต้นฉบับโดยตัดทิ้งตัวละครพระคาทอลิกผู้เลี้ยงดูเด็กหนุ่มเมื่อยังเล็ก และตัวละครนายทหารชาวออสเตรเลียนซึ่งมีบทบาทสำคัญที่ช่วยให้เด็กหนุ่มรู้คำตอบของคำถามข้อหนึ่ง เพื่อให้เหลือเฉพาะตัวละครและเรื่องราวในแบบอินเดียจากฝั่งโลกตะวันออกล้วนๆ

ตรงเนื้อหาเกี่ยวกับศาสนานี่เองมีประเด็นชวนคิดว่าเหตุใดผู้สร้างจึงปรับพื้นหลังของตัวละครให้เป็นเด็กหนุ่มชาวมุสลิมโดยตั้งชื่อว่า จามาล มาลิค แทนเด็กกำพร้าไม่รู้กำพืดเนื่องจากถูกทอดทิ้งกระทั่งพระที่เก็บมาเลี้ยงต้องตั้งชื่อเป็นกลางๆ ว่า ราม โมฮัมเหม็ด โธมัส ซึ่งรวมชื่อทางศาสนาฮินดู อิสลาม และคริสต์ ไว้ด้วยกัน

นอกจากนี้ หนังยังใส่เหตุการณ์ความรุนแรงซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิตเมื่อกลุ่มชนชาวฮินดูบุกทำลายบ้านเรือนและฆ่าชาวมุสลิมจำนวนมาก ซึ่งหนึ่งในเหยื่อของเหตุการณ์นี้คือแม่ของจามาล

เหตุผลเรื่องการกลบเกลื่อนคติโลกตะวันตกที่คุ้นเคยให้เหลือแต่โลกตะวันออกอาจจะเป็นเหตุให้ตัวละครเอกไม่ใช่เด็กกำพร้าที่ถูกพระคาทอลิกเก็บมาเลี้ยงอย่างในต้นฉบับ แต่ทำไมเขาต้องกลายเป็นมุสลิมแทนที่จะเป็นชาวฮินดูซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่ของอินเดีย

ทั้งพื้นหลังชาวมุสลิมและเหตุการณ์ความขัดแย้งทางศาสนาเป็นการเล่นกับกระแสโลกปัจจุบันของผู้สร้างหรือเปล่า...ไม่มีคำตอบสุดท้ายให้เฉลยว่าถูกหรือผิด

แต่เพราะพื้นหลังชาวมุสลิมซึ่งปรับเปลี่ยนเข้ามานี่เองกลายเป็นช่องโหว่ที่ผู้สร้างมองข้าม เมื่อถึงฉากที่สองพี่น้องจามาลกับซาลิมเดินทางมาถึงทัชมาฮาล อนุสรณ์สถานอันน่าภาคภูมิใจของชาวมุสลิมอินเดีย พวกเขาตกตะลึงในความงามและความยิ่งใหญ่ แต่กลับไม่รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏเบื้องหน้าคืออะไร

สองพี่น้องชาวมุสลิมผู้ปลาบปลื้ม อามิตาบห์ บาจจาน พระเอกชาวฮินดู และรู้จักวรรณกรรมฝรั่งเศสเรื่อง “สามทหารเสือ” แต่กลับไม่รู้จักอัญมณีแห่งศิลปะมุสลิมอย่างทัชมาฮาล

หรือตัวละครเติบโตขึ้นแบบไร้ราก ไม่ต่างจากหนังอินเดียเรื่องนี้ที่ถูกสวมรอยทางวัฒนธรรมโดยชาวตะวันตก




(2)

ฉากทัชมาฮาลไม่เพียงแสดงให้เห็นถึงความไร้รากของตัวละครสองพี่น้องชาวมุสลิมที่ไม่รู้จักอนุสรณ์สถานแห่งนี้ทั้งที่รู้จักเรื่องไกลตัวอื่นๆ แต่ยังเป็นรอยต่ออันเป็นจุดเริ่มที่ผู้สร้างยัดบทสนทนาภาษาอังกฤษให้ตัวละครโดยให้จู่ๆ สองพี่น้องซึ่งพูดภาษาฮินดีมาตลอด เปลี่ยนมาพูดอังกฤษได้คล่องปากเมื่อต้องสวมบทบาทมัคคุเทศก์(เถื่อน) เพื่อหาเงินประทังชีวิต แถมเป็นการพูดภาษาอังกฤษด้วยการ “มั่ว” ประวัติทัชมาฮาลเป็นคุ้งเป็นแคว

จบจากฉากทัชมาฮาล ตัวละครยังใช้ภาษาอังกฤษต่อเนื่องไปจนจบเรื่อง แม้แต่การพูดคุยกันเองหรือคุยกับตัวละครอื่นซึ่งก่อนหน้านี้พูดกันด้วยภาษาฮินดี

จริงอยู่...การสนทนาด้วยภาษาอังกฤษในอินเดียไม่ใช่เรื่องผิดปกติ และเหตุผลที่ผู้สร้างใส่รอยต่อโดยเปลี่ยนจากการพูดภาษาฮินดีมีคำแปลให้อ่านเป็นการพูดอังกฤษแทนก็เพื่อสนองความต้องการของตลาดเป้าหมายซึ่งผู้ชมใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักและมักจะเบื่อหน่ายการอ่านคำบรรยาย แต่รอยต่อดังกล่าวไม่ถูกเชื่อมให้เนียนพอ และเชื่อว่าผู้ชมส่วนใหญ่คงสะดุดกับการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันนี้

อย่างไรก็ตาม อาการไร้รากของตัวละครทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจของผู้สร้าง หากมองในด้านบวกแบบเชื่อมโยงกับนัยยะตามเนื้อหาของหนังถือว่าบังเอิญสอดคล้องไปกันได้อย่างดี นัยยะที่ว่าคือการเติบใหญ่ขยายตัวของเมืองมุมไบแบบรื้อล้างสิ่งที่มีอยู่เดิม พร้อมกับอิทธิพลของเงินที่ควบคุมชีวิตผู้คน

เด็กยากจนจากสลัมในมุมไบต่อสู้ดิ้นรนชีวิตก่อนจะแตกหักกับพี่ชายที่หันไปรับใช้ผู้มีอิทธิพล ตามหาหญิงผู้เป็นที่รักซึ่งรู้จักกันตั้งแต่วัยเยาว์ สุดท้ายได้เงินล้านจากเกมโชว์ทางโทรทัศน์ เรื่องราวดังกล่าวไม่ได้เป็นเพียงเรื่องเล่าผจญภัยโลดโผนสู่ปลายทางความสำเร็จ หรือเป็นโรแมนติคชวนฝันของคู่รักท่ามกลางอุปสรรคเท่านั้น แก่นสารเรื่องราวที่คู่ขนานไปตั้งแต่ต้นจนจบคือ หนังพูดถึงคุณค่าความหมายจากรากฐานของชีวิตที่ค่อยๆ ล่มสลายลง สวนทางกับความเจริญรุดหน้าของเมืองและโลกสมัยใหม่

เริ่มจากการสูญเสียแม่ พลัดพรากจากหญิงคนรัก ทะเลาะกับพี่ชาย บริเวณสลัมที่เคยเป็นบ้านกลายเป็นตึกสูง เมืองเต็มไปด้วยการคมนาคมขนส่งและเทคโนโลยีสื่อสารทันสมัย แต่การสื่อสารระหว่างตัวละครกลับตกหล่น กระทั่งก้าวเดินไปคนละทิศทาง

*ฉากที่ดีที่สุดฉากหนึ่งจึงเป็นเหตุการณ์ที่สองพี่น้องจามาลกับซาลิมได้กลับมาพบเจอกันอีกครั้งบนอาคารสูงที่กำลังก่อสร้าง โดยจามาลต้องเป็นฝ่ายขึ้นลิฟต์ไปหาพี่ชาย จุดที่สองพี่น้องนั่งพูดคุยกันอยู่สูงลิบเหมือนเช่นการหลุดลอยจากพื้นฐานที่มาของพวกเขา ฉากหลังเบื้องล่างทั่วบริเวณเป็นสิ่งปลูกสร้างแห่งเมืองใหม่ และสิ่งปลูกสร้างเหล่านี้ยังเป็นเงาสะท้อนอยู่บนแว่นกันแดดของซาลิมซึ่งรับใช้ผู้มีอิทธิพลคุมเมือง

ความห่างเหินระหว่างพี่น้องมองเห็นได้จากระยะห่างที่พวกเขานั่งคุยกัน ฝ่ายหนึ่งพูดถึงเงินซึ่งเป็นหัวใจของเมือง แต่อีกฝ่ายต้องการรู้เรื่องของหญิงสาวผู้เป็นหนึ่งในใจ

นอกจากความขัดแย้งทางศาสนา(พระเจ้าคนละองค์) ที่ทำให้สองพี่น้องสูญเสียแม่และบ้านกระทั่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิตแล้ว เรื่องราวต่อจากนั้นล้วนแต่มีเงินซึ่งเปรียบเป็น “พระเจ้า” คอยกำหนดชะตากรรม ไล่ตั้งแต่การถูกฝึกให้เป็นขอทาน เป็นไกด์เถื่อน สังหารและปล้นเงินใครคนหนึ่งเพื่อช่วยหญิงคนรัก จากนั้นซาลิมอุทิศตนให้แก่ผู้มีอิทธิพล ส่วนจามาลสมัครเล่นเกมโชว์ชิงเงินล้าน

อย่างไรก็ตาม เกมโชว์ชิงเงินล้านซึ่งน่าจะชัดเจนตั้งแต่แรกว่าตัวละครเห็นเงินเป็นเป้าหมายสำคัญ แต่สุดท้ายหนังค่อยๆ เผยว่าจามาลไม่ได้ถูกเงินลากจูงอย่างที่เราคิด

จามาลมีเหตุผลที่ต้องสมัครเข้าเล่นเกม มีคำถามมากมายซึ่งสำคัญกว่าคำถามของพิธีกรรออยู่ที่ไหนสักแห่ง และรางวัลอันยิ่งใหญ่ไม่ใช่เงินล้าน แต่เป็น “ความรัก” ที่มีคุณค่าความหมายยิ่งกว่า

เป็น “ความรัก” ที่ทำให้ตัวละครลุกขึ้นมากำหนดชะตาชีวิตของตนเอง หาใช่ “เงิน” อีกต่อไป

ปลายทางของเรื่องราวที่ดูเหมือนว่าตัวละครตกเป็นเบี้ยล่างและต้องตามน้ำอย่างไร้แรงขัดขืน จึงกลับกลายมีทางออกที่สวยงามทั้งในระดับเนื้อหาและแก่นสาร

นี่คือบทสรุปที่น่าประทับใจผ่านการลำดับจัดวางเรื่องราวอย่างชาญฉลาดตั้งแต่ต้น แม้เมื่อทบทวนดูจะเห็นว่าหนังออกแนวชวนฝันเกินกว่าความเป็นไปได้ แต่เมื่อถึงเครดิตตอนจบพร้อมกับที่ตัวละครและผู้คนจำนวนมากร่วมกันเต้นรำร้องเพลงแบบหนังบอลลีวู้ด เหตุผลเรื่องความสมจริงใดๆ ก็ไม่จำเป็นต้องใส่ใจอีก

แดนนี่ บอยล์ ผู้เป็นเอกด้านสไตล์การเล่าเรื่องแม่นยำอย่างยิ่งในการเรียงร้อยเรื่องราวหลากอารมณ์เข้าด้วยกัน ทั้งเคร่งเครียด สนุกสนาน ตื่นเต้น สีสันของวัยเยาว์ ความหม่นมืดของโลกอาชญากรรม และบรรยากาศหลากหลายของอินเดีย ใช้องค์ประกอบภาพ เทคนิคด้านภาพ การตัดต่อ เพลงและดนตรีประกอบอย่างคุ้มค่าในทุกๆ บทตอน จนได้เป็นหนังที่ดูสนุกชวนติดตาม น่าค้นหา และสร้างความประทับใจได้ไม่ยาก

โดยภาพรวม Slumdog Millionaire คือ “งานบันเทิงชั้นดี” อย่างไร้ข้อกังขา เมื่อได้แรงบวกจากการออกแบบสินค้าให้แปลกต่างจากตลาดซึ่งกำหนดไว้แต่เริ่มต้น หนังจึงติดลมบนจนรับความสำเร็จกันไม่หวาดไม่ไหว

ส่วนจะดีเด่นจนเรียกว่าเป็น “หนังยอดเยี่ยม” ได้หรือเปล่า สำหรับผู้เขียนมองว่ายังไม่ถึงขั้นนั้น




 

Create Date : 28 กุมภาพันธ์ 2552
15 comments
Last Update : 28 กุมภาพันธ์ 2552 19:25:02 น.
Counter : 2697 Pageviews.

 

เขียนได้ดีจังเลยค่ะ เรื่องนี้เราอยากดูมากๆ

 

โดย: ไกลนั้น IP: 58.9.64.40 28 กุมภาพันธ์ 2552 23:14:30 น.  

 

ผมชอบตอน end credit ด้วย ที่ออกมาเต้นๆ กันตามขนบหนังอินเดียนั่น แจ่มเชียว

 

โดย: เอกเช้า IP: 124.120.193.103 28 กุมภาพันธ์ 2552 23:45:34 น.  

 

ตอนนี้กำลังอินกับฉากจามาลมุดส้อมเพื่อวิ่งไปขอลายเซ็นอามิตาบห์ บาจจานครับ
เข้าใจเค้าสุดๆ โดยเฉพาะตอนที่ซาลิมชุบมือเปิบขโมยลายเซ็นนั้นไปขาย
(ยังไงก็ขอบคุณสำหรับคำแนะนำครับ ผมได้ดำเนินการไปก่อนแล้ว)

 

โดย: beerled 1 มีนาคม 2552 12:29:40 น.  

 

ตอนแรกผมก็รู้สึกแปลกๆ ก็ความในมองโลกในแง่ดีสุดๆ ของหนังเรื่องนี้เหมือนกันครับ (เพราะมาตอนแรก นึกว่าหนังจะเป็นแนว City of God)

แต่พอดูรู้สึกว่า เขาเลือกที่จะมาแนว feel good (feel good สุดฤทธิ์ในฉาก end credit ) ก็เลยไม่รู้สึกขัดอะไรมากมาย

 

โดย: ฟ้าดิน 2 มีนาคม 2552 1:41:59 น.  

 

ตอนท้ายเรื่องที่จามาลชนะเงินล้าน แต่ต้องไปนั่งรอหญิงสาวที่ทางรถไฟ ช่างเป็นบทสรุปของ "ความรักเหนือเงินตรา" ได้เป็นอย่างดี

ชอบความเก๋ของหนังครับ แต่ก็ไม่ได้โดยใจถึงที่สุดครับ

 

โดย: Seam - C IP: 58.9.201.160 2 มีนาคม 2552 12:44:19 น.  

 

ผมกลับรู้สึกว่าโมเมนต์ช่วงท้ายๆ (หากไม่นับฉากอาบเงินที่อีกนิดนึงก็จะ "ดัดจริต" แล้ว) ที่แสนจะดราม่า แฟนตาซี ฟีลกู้ด เป็นจุดที่ "จริง" ที่สุดของหนังเรื่องนี้ซะงั้น 555+

พยายามปลุกปล้ำแผ่น Frost/Nixon แต่ไม่สำเร็จ
สงสัยต้องเอาไปเปลี่ยนก่อน...

อ้อ ผมเห็นดีัวีดี "รัก-ออกแบบไม่ได้" ปั๊มมาขายแล้วล่ะ (ไม่รู้คุณภาพเป็นไง) ทำปกคล้ายๆ "กุึมภาพันธ์" (ซึ่งเรื่องหลังออกมาแบบ full screen ทำให้ผมไม่ค่อยมั่นใจคุณภาพของเรื่องแรกเท่าไหร่ไปด้วย 55+)

ที่พี่ไรต์มาให้ ยังไม่ได้ดูเลย.....

 

โดย: nanoguy IP: 125.24.163.114 3 มีนาคม 2552 7:10:58 น.  

 





ตอบ beerled
ถ้ามีความคืบหน้าแจ้งด้วยนะครับ

ตอบ nanoguy
กุมภาพันธ์ เป็นฟุลสกรีนเหรอ ผมว่าจะซื้อซะหน่อย เซ็งเลย
เท่าที่ทราบ รักออบแบบไม่ได้ มีคำเตือนเหล้า-บุหรี่ครับ แต่ปิดได้
และเห็นคนบ่นหลายคนว่าภาพไม่คมชัด
ในเว็บบูมเมอแรงบอกว่าเป็น Widescreen 16:9 (Anamorphic)


 

โดย: แค่เพียงรู้สึกสุขใจ 3 มีนาคม 2552 12:27:48 น.  

 

เรื่องนี้ชอบมากครับ

 

โดย: คนขับช้า 3 มีนาคม 2552 23:42:54 น.  

 

ผมอิงตามข้อมูลในหลังแผ่นดีวีดีนะครับ สำหรับ "กุมภาพันธ์" (ส่วน รักออกแบบไม่ได้ บนแผ่นบอกว่าเป็น 16:9)

เพิ่งไปสอย Rachel Getting Married กับ Blindness มา หวังว่าจะมีเวลาได้ดู (55+)

 

โดย: nanoguy IP: 125.24.155.174 4 มีนาคม 2552 0:07:53 น.  

 

เพิ่งดู Frost/Nixon ครับ
รู้สึกเหมือนกันว่า Michael Sheen นี่เป็นจุดอ่อนของหนังจริงๆเลย 5555

 

โดย: nanoguy IP: 125.24.119.234 5 มีนาคม 2552 5:47:57 น.  

 


^
^
นึกว่ารู้สึกอยู่คนเดียว



 

โดย: แค่เพียงรู้สึกสุขใจ 5 มีนาคม 2552 6:28:52 น.  

 

เขียนเก่งมากๆ ค่ะ สุดยอด ไว้จะมาติดตามบ่อยๆ นะคะ

 

โดย: arcoiris 5 มีนาคม 2552 9:24:17 น.  

 

ทางหัวหน้าข่าวบันเทิงโทรมาคุยกับผมแล้ว ผู้ถูกกล่าวหาอ้างว่าได้เขียนเรื่องนี้เป็นรายงานส่งอาจารย์ที่รามคำแหงเมื่อ 7 ก.พ 52 (ก่อนผมเขียนใน blog)
"ผมละปวดหัวกับเด็กสมัยนี้จริงๆ..."
ปล.ผมได้อ่านรายงานตัวนั้นของเค้าแล้ว งานเขียน "เด็กสลัมเงินล้าน การตลาดไร้ราก"
ชิ้นนี้ของคุณมีเอี่ยวด้วยน่ะ ทั้งสำนวนเรื่องการ "ไร้ราก" และ "เด็กสลัมเงินล้าน"
จอห์น คอนเนอร์ จริงๆ น้องคนนี้
แล้วจะมาคุยใหม่ครับ

 

โดย: beerled 5 มีนาคม 2552 20:26:56 น.  

 


^
^
ใช่ครับ จากที่อ่านในเว็บ
ค่อนข้างแน่ใจว่ายืมไปจากผมในบางส่วน ด้วยถ้อยคำและความคิดในทางเดียวกัน
แต่ก็เล็กน้อยกว่าถ้าเทียบกับของคุณ

อยากแนะนำวิธีจัดการวิธีอื่นซึ่งได้ผลมากกว่าตั้งแต่แรกแล้วครับ
แต่ด้วยสถานะของผมเอง ถ้าแนะนำอะไรแรงไปก็ไม่เหมาะ

ยังคิดเลยว่าเป็นคนอื่นคงใช้วิธีแรงๆ ไปแล้ว
ไม่แจ้งหลังไมค์จนได้รับการปฏิเสธแบบนี้


 

โดย: แค่เพียงรู้สึกสุขใจ 5 มีนาคม 2552 21:46:24 น.  

 

"ยังคิดเลยว่าเป็นคนอื่นคงใช้วิธีแรงๆ ไปแล้ว
ไม่แจ้งหลังไมค์จนได้รับการปฏิเสธแบบนี้"

ผมถือเป็นคำแนะนำแล้วนะ 555

 

โดย: beerled 5 มีนาคม 2552 21:56:49 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


แค่เพียงรู้สึกสุขใจ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




บทวิจารณ์ภาพยนตร์รางวัลกองทุน
ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ปี 2549

..............................








พญาอินทรี




ศราทร @ wordpress
Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2552
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
 
28 กุมภาพันธ์ 2552
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แค่เพียงรู้สึกสุขใจ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.