Invictus ‘แมนเดลา’วางไทร์



Invictus
‘แมนเดลา’วางไทร์

พล พะยาบ
คอลัมน์อาทิตย์เธียเตอร์ มติชนรายวัน 7 กุมภาพันธ์ 2553


*ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการสร้างหนังประวัติชีวิตหรือหนังที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับ เนลสัน แมนเดลา บุรุษผู้ยิ่งใหญ่แห่งแอฟริกาใต้ นักแสดงผิวสีชั้นนำอย่าง แดนนี โกลเวอร์ (Mandela, 1987) ซิดนีย์ พัวติเยร์ (Mandela and de Klerk, 1997) เดนนิส เฮย์เบิร์ต (Goodbye Bafana, 2007) ต่างเคยสวมบท “แมนเดลา” มาแล้วและได้เครดิตกันพอสมควร (สองคนแรกแสดงในหนังสำหรับฉายทางโทรทัศน์)

แต่ Invictus (2009) ถือเป็นหนังว่าด้วยแมนเดลาที่มีองค์ประกอบงานสร้างโดดเด่นที่สุดด้วยเหตุปัจจัยหลายๆ อย่าง

เริ่มจากผู้มานั่งแท่นกำกับคือ คลินต์ อีสต์วูด ซึ่งนับวันยิ่งมากทั้งบารมีและฝีมือ ได้คู่หูอย่าง มอร์แกน ฟรีแมน ที่เคยร่วมงานกันจนได้ออสการ์หนังยอดเยี่ยมมาแล้ว 2 เรื่อง (Unforgiven และ Million Dollar Baby) ประกบกับ แมตต์ เดมอน ที่กำลังไปได้ดีกับงานขายฝีมือ

ใช้ทุนสร้าง 50 ล้านดอลลาร์ เนื้อหาพูดถึงหน้าประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เคยถูกถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์ ว่าด้วย “อำนาจเกมกีฬา” ในการแข่งขันรักบี้ชิงแชมป์โลกปี 1995 อันเป็นหมุดหมายสำคัญแห่งความปรองดองภายในชาติและสื่อถึงจุดเริ่มต้นของแอฟริกาใต้ยุคใหม่ที่สื่อไปยังนานาประเทศ

ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าย้อนไปคราวที่ เนลสัน แมนเดลา ตอบคำถามสื่อมวลชนระหว่างโปรโมตหนังสืออัตชีวประวัติ Long Walk to Freedom เมื่อปี 1995 ว่าถ้าหนังสือเล่มนี้เป็นภาพยนตร์อยากให้ มอร์แกน ฟรีแมน แสดงเป็นตัวเขา จากนั้นทั้งสองได้เป็นมิตรที่ดีต่อกัน และเป็นแรงกระตุ้นให้ฟรีแมนตั้งใจทำหนังชีวประวัติแมนเดลาจากหนังสือ Long Walk to Freedom ให้สำเร็จ

แม้ว่าโครงการดังกล่าวจะล้มพับไปในขั้นตอนเขียนบทหนัง แต่ความตั้งใจของฟรีแมนยังต่อเนื่องมาจนได้พบหนังสือที่เหมาะกับการสร้างหนังมากกว่า เขาผลักดันปลุกปั้นจนเกิดเป็นหนังเรื่อง Invictus และได้แสดงเป็นแมนเดลาในที่สุด

มองแบบเชื่อมโยงกันก็คล้ายกับว่า แมนเดลาเป็นผู้จุดประกายโดยอ้อมให้เกิดหนังเรื่องนี้ตั้งแต่ 15 ปีก่อน

หนังสือที่เป็นต้นเรื่องของ Invictus มีชื่อว่า Playing the Enemy: Nelson Mandela and the Game That Changed a Nation เขียนโดย จอห์น คาร์ลิน ดัดแปลงเป็นบทหนังโดย แอนโธนี เพ็คแฮม หนึ่งในมือเขียนบท Sherlock Holmes เวอร์ชั่นล่าสุด

ส่วนชื่อ Invictus มาจากชื่อบทกวีขนาดสั้นของ วิลเลียม เออร์เนสต์ เฮนลีย์ มีความหมายว่า “ไม่ยอมพ่ายแพ้”

หนังเริ่มต้นด้วยภาพจำลองภาพข่าวตั้งแต่แมนเดลาได้รับอิสรภาพในปี 1990 หลังจากถูกจองจำนานถึง 27 ปี จนถึงช่วงเวลาที่ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีผิวดำคนแรกของแอฟริกาใต้ในปี 1994 กระทั่งเป็นจุดสิ้นสุดของยุคอพาร์ไทด์หรือนโยบายกีดกัน-แบ่งแยกสีผิวอย่างเป็นทางการ

แมนเดลา (ฟรีแมน) ในวัย 76 ปี เริ่มต้นวันใหม่ในฐานะผู้นำประเทศเหมือนเช่นทุกวัน เขาเดินออกกำลังกายนอกบ้านโดยมีการ์ด 2 คน เดินตามอย่างระแวดระวังและตื่นตระหนก ต่างจากแมนเดลาซึ่งดูจะไม่ห่วงกังวลต่อความปลอดภัยของตนเองนัก

*ภารกิจสำคัญของแมนเดลาคือการสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนในชาติ ไม่แบ่งแยกกีดกันหรือแก้แค้นเอาคืนกันอีกต่อไปเพื่อให้ประเทศเดินไปข้างหน้า สัญญาณแรกแห่งความสมานฉันท์จึงเกิดขึ้นใกล้ตัว ไม่ว่าจะเป็นการขอให้เจ้าหน้าที่ผิวขาวในทำเนียบประธานาธิบดีอยู่ช่วยงานเขาและประเทศนี้ต่อไป หรืออนุญาตให้การ์ดผิวขาวทำงานรักษาความปลอดภัยตัวเขาร่วมกับการ์ดผิวดำ

เมื่อได้ชมเกมรักบี้ของทีมชาติแอฟริกาใต้หรือที่เรียกว่า “สปริงบ็อคส์” ซึ่งเล่นได้ย่ำแย่ท่ามกลางกองเชียร์คนผิวดำที่เอาใจช่วยทีมฝั่งตรงข้ามเพราะถือว่าสปริงบ็อคส์คือหนึ่งในสัญลักษณ์ของยุคอพาร์ไทด์และการปกครองโดยชนกลุ่มน้อยผิวขาว ขณะที่อีกไม่กี่เดือนข้างหน้าแอฟริกาใต้จะได้เป็นเจ้าภาพการแข่งขันรักบี้ชิงแชมป์โลกครั้งที่ 3 หลังจากโดนบอยคอตต์ไม่ให้เข้าร่วมในสองครั้งแรกเนื่องจากนโยบายอพาร์ไทด์

แมนเดลาจึงมองเห็นโอกาสสำคัญที่จะใช้เกมรักบี้หลอมรวมใจชาวแอฟริกาใต้ให้เป็นหนึ่งเดียว พร้อมกับสื่อให้โลกรับรู้ว่าแอฟริกาใต้จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

เขาเรียก ฟรองซัวส์ พีนาร์ (เดมอน) กัปตันทีมเข้าพบเพื่อพูดคุยให้ข้อคิดและตามให้กำลังใจทีมอย่างต่อเนื่อง ยับยั้งแผนโละสีเสื้อและสัญลักษณ์ของสปริงบ็อคส์แม้คนผิวดำส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย อีกทั้งแสดงตนอย่างเปิดเผยว่าสนับสนุนสปริงบ็อคส์เพื่อเป็นตัวอย่างให้แก่ทุกคน

รักบี้ชิงแชมป์โลกซึ่งงวดเข้ามาทุกขณะจึงไม่ได้มีความหมายแค่การต่อสู้เพื่อชัยชนะในเกมกีฬาเท่านั้น สำหรับแมนเดลา...นี่อาจเป็นช่วงเวลาแห่งชัยชนะของชาวแอฟริกาใต้ทั้งประเทศ

แม้เป็นหนังที่อิงกับประวัติศาสตร์การเมืองและการเหยียดผิว แต่ด้วยท่าทีของหนังที่มุ่งนำเสนอแก่นสารว่าด้วยวิสัยทัศน์อันแหลมคมและความสำเร็จของแมนเดลาผ่านเกมรักบี้ รายละเอียดเรื่องการเมือง แรงเสียดทานรอบทิศ หรือปัญหาอุปสรรคในด้านต่างๆ จึงไม่ถูกกล่าวถึงหรือกล่าวถึงเพียงผิวเผิน

นอกจากเรื่องราวของแมนเดลาซึ่งช่วงเวลานั้นเหมือนจะหายใจเข้า-ออกเป็นรักบี้แล้ว รายละเอียดในหนังส่วนใหญ่ถูกใส่เข้ามาเพื่อรองรับประเด็นการสร้างความสมานฉันท์อย่างมีสีสัน เช่น สถานการณ์ระหว่างการ์ดมาดเข้มสองสีผิวที่ต้องมาทำงานร่วมกันอย่างเสียไม่ได้แต่สุดท้ายกลับยิ้มหวานให้กัน คนรับใช้หญิงผิวดำในบ้านของพีนาร์มีชีวิตชีวาขึ้นมาเมื่อรู้ว่าเจ้านายจะได้เข้าพบแมนเดลา จนถึงฉากเชียร์รักบี้ในช่วงท้ายซึ่งกำแพงความแบ่งแยกได้ถูกทำลายลง

ผลคือ Invictus เป็นหนังที่ดูสนุกและผ่อนคลายได้ตั้งแต่ต้นจนจบ เนื่องจากไม่มีบทตอนเคร่งเครียด แถมมีฉากเรียกรอยยิ้มได้เป็นระยะ

บทหนังตั้งแมนเดลาไว้เป็นหลัก แล้วนำแอฟริกาใต้ในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อ กับพีนาร์ (รวมถึงทีมสปริงบ็อคส์) ในช่วงตกต่ำย่ำแย่มาเปรียบเทียบเชื่อมโยงกับสถานะของคนที่เคยไร้ทางสู้ของแมนเดลาได้อย่างลึกซึ้ง การผ่านช่วงยากลำบากด้วยแรงใจชุบชูตนเองอย่าง “ไม่ยอมพ่ายแพ้” ย่อมนำพาสู่เป้าหมายที่ต้องการได้ในที่สุด เหมือนเช่นชัยชนะของสปริงบ็อคส์และแอฟริกาใต้ซึ่งมีแมนเดลาอยู่เบื้องหลัง

หากตั้งโจทย์ว่า Invictus เป็นหนังที่มุ่งเชิดชูบุคคลสำคัญของแอฟริกาใต้และของโลก หรือสร้างภาพเชิงอุดมคติโดยถ่ายทอดผ่านเหตุการณ์หนึ่ง คำตอบย่อมเป็นความยอดเยี่ยม แต่หากถามถึงหนังประวัติศาสตร์บทสำคัญหรือหนังสะท้อนภาพแอฟริกาใต้อย่างสมจริงก็ต้องถือว่าหนังยังมีจุดที่ควรแก้ไขหรือต้องเติมคำลงในช่องว่างอีกพอสมควร

เพราะนอกจากบทหนังจะถูกเปลี่ยนแปลงแต่งเติมจากความจริงหลายจุดแล้ว รายละเอียดมากมายที่ถูกละเลย รวมไปถึงการนำเสนอภาพสวยหรูของความสมานฉันท์ราวกับเป็นตอนจบแบบแฮปปี้เอ็นดิ้ง ยิ่งทำให้หนังจับต้องได้น้อยลงและกลายเป็นแค่งานบันเทิงสูตรสำเร็จเรื่องหนึ่ง

กระทั่งผู้เขียนคิดต่อเล่นๆ ว่า ดู Invictus จบแล้ว เปิดดูหนังเอเลี่ยนบุกแอฟริกาใต้เรื่อง District 9 แก้เลี่ยนหน่อยก็ดีเหมือนกัน



Create Date : 12 มิถุนายน 2553
Last Update : 12 มิถุนายน 2553 14:39:35 น.
Counter : 2160 Pageviews.

3 comments
  
คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ...

เคยดูหนังเรื่องนี้ด้วยล่ะ
โดย: อุ้มสี วันที่: 12 มิถุนายน 2553 เวลา:20:42:50 น.
  

ยังไม่ได้ดูเลยค่ะ

แต่ถ้าบอกว่าดู District 9 แก้เลี่ยนแล้ว ก็พอจะนึกอารมณ์หนังออกค่ะ


โดย: renton_renton วันที่: 16 มิถุนายน 2553 เวลา:13:46:54 น.
  
ยังไม่ได้ดูครับ แต่คิดแบบเดียวกับคุณเรนตั้นเลยครับ ^^
โดย: Seam - C IP: 61.90.87.12 วันที่: 19 มิถุนายน 2553 เวลา:15:59:05 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Aloneagain.BlogGang.com

แค่เพียงรู้สึกสุขใจ
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]

บทความทั้งหมด