Tahaan แผ่นดินนี้ของใคร



Tahaan
แผ่นดินนี้ของใคร

พล พะยาบ
คอลัมน์อาทิตย์เธียเตอร์ มติชนรายวัน 5 เมษายน 2552


*เชื่อว่าหลายคนที่เห็นใบปิดหนังเรื่องนี้โดยไม่รู้จักมาก่อน คงคาดเดาว่าเป็นหนังอิหร่านหรือชาติในละแวกใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ภาพเด็กกับลายังชวนให้นึกถึงหนังอิหร่าน-เคิร์ดเรื่อง A Time for Drunken Horses (2000) ของ บาห์มัน กอบาดี เกี่ยวกับเด็กน้อยที่ต้องร่วมคาราวานขนของเถื่อนข้ามพรมแดนอิหร่าน-อิรักซึ่งเต็มไปด้วยหิมะโดยใช้ลาบรรทุกสิ่งของ

อันที่จริง ใบปิดที่มีภาพเด็กกับลาใต้ชื่อหนังว่า Tahaan (2008) คือหนังอินเดียจากมุมไบ หรือเรียกว่าเป็นหนังบอลลีวู้ดนั่นเอง

ความพิเศษที่ทำให้ Tahaan เป็นหนังอินเดียที่มีภาพลักษณ์แปลกและแตกต่างออกไปคือ หนังเล่าเรื่องราวของชาวแคชเมียร์และถ่ายทำในแคชเมียร์-ดินแดนแห่งความขัดแย้งยาวนานและมีลักษณะเฉพาะตัวหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะทางสังคมของผู้คนอย่างเผ่าพันธุ์ ศาสนา ภาษา การดำรงชีวิต และลักษณะทางภูมิศาสตร์ ทั้งยังเป็นพื้นที่เฉพาะซึ่งไม่ค่อยได้เห็นในภาพยนตร์นอกจากเป็นฉากของเรื่องราวว่าด้วยความขัดแย้ง-การแบ่งแยกดินแดน ไม่อย่างนั้นก็เป็นฉากหลังอันงดงามราวสวรรค์ให้กับหนังรักสไตล์บอลลีวู้ดที่มาถ่ายทำที่นี่

ไหนๆ เอ่ยถึงแคชเมียร์กับภาพยนตร์แล้วขอเล่าย้อนไปสักนิด...อันที่จริง แคชเมียร์เคยมีอุตสาหกรรมหนังของตนเอง แต่ตกต่ำและยุติลงโดยสิ้นเชิงระหว่างเกิดสงครามอินเดีย-ปากีสถานครั้งใหญ่ในปี 1965 และปี 1971 หนังแคชเมียร์เรื่องสุดท้ายคือ Habba Khatoon ออกฉายเมื่อปี 1967 กระทั่งปี 2006 หรือ 39 ปีต่อมา ถึงได้มี Akh Daleel Loolech (A Love Story) หนังดิจิตอลทุนต่ำแต่เป็นหนังแคชเมียร์แท้ๆ เปิดฉายในโรงภาพยนตร์เก่ากลางเมืองศรีนครในแคว้นชัมมูและแคชเมียร์ให้คนท้องถิ่นได้ชื่นชม

Tahaan หรือชื่อในตลาดนานาชาติว่า Tahaan : A Boy with a Grenade ซึ่งไม่ได้มีเนื้อหามุ่งไปที่ความขัดแย้งหรือการแบ่งแยกดินแดนเป็นหลัก แต่เลือกถ่ายทอดเรื่องราวเล็กๆ และภาพชีวิตของชาวแคชเมียร์ เก็บภาพบ้านเรือนและภาพภูมิประเทศให้ได้สัมผัสอย่างเต็มตา จึงดึงความสนใจได้อย่างมากกระทั่งถือเป็นจุดเด่นสำคัญของหนัง แต่ก็น่าเสียดายที่หนังใช้ภาษาฮินดีแทนที่จะเป็นภาษาท้องถิ่นอื่นๆ ซึ่งชาวแคชเมียร์ใช้เป็นภาษาหลัก

สันทศ สิวาน ผู้กำกับ-เขียนบทหนังเรื่องนี้มีชื่อเสียงและเครดิตพอตัว เขาเคยทำหนังมหากาพย์ทุนหนาเรื่อง Asoka (2001) หรืออโศกมหาราช ซึ่งเคยฉายและยังหาซื้อได้ในบ้านเรา ผลงานสร้างชื่อระดับนานาชาติของเขาอีกเรื่องคือ The Terrorist (1999) ว่าด้วยหญิงสาวกับปฏิบัติการระเบิดพลีชีพ

หนังติดตามเรื่องราวของ ทาฮาน เด็กชายวัย 8 ขวบ ในครอบครัวปศุสัตว์ยากจน ประกอบด้วยตา แม่ผู้เป็นใบ้ และพี่สาวของทาฮาน ส่วนพ่อหายสาบสูญไปตั้งแต่ 3 ปีก่อน แม่มักจะนำรูปถ่ายของพ่อไปสอบถามที่หน่วยทหาร แม้ไม่เคยได้คำตอบแต่ทุกคนยังเฝ้าหวังว่าวันหนึ่งพ่อจะกลับมา

*ทาฮานมีสัตว์เลี้ยงเป็นลาชื่อ บีร์บาล ซึ่งเขาถือเป็นเพื่อนสนิทและไปไหนมาไหนกับมันเสมอ แต่แล้วเมื่อตาเสียชีวิต บีร์บาลถูกเจ้าหนี้ซึ่งตารับผิดชอบจ่ายดอกเบี้ยแทนพ่อยึดเอาไปพร้อมทรัพย์สินอื่นๆ ทาฮานทำทุกทางเท่าที่เด็ก 8 ขวบจะทำได้เพื่อให้บีร์บาลกลับมาอยู่กับเขาแม้กระทั่งการขโมย แต่สุดท้ายบีร์บาลก็ถูกขายต่อให้พ่อค้าสูงวัยชื่อ สุบัน ดาร์ ที่ขนสินค้าข้ามไปขายยังหมู่บ้านอีกฟากหนึ่งของภูเขา

ทาฮานเสนอตัวต่อสุบันว่าสามารถควบคุมบีร์บาลได้ พร้อมขอทำงานแลกกับการได้ตัวบีร์บาลกลับคืน แม้สุบันจะปฏิเสธแต่เมื่อเจอลูกตื๊อของทาฮานในที่สุดก็ยอมให้ร่วมขบวนขนสินค้าไปด้วยโดยที่เด็กน้อยไม่รู้ว่ามูลค่าของลาไม่สามารถแลกได้ด้วยการช่วยขนสินค้าเพียงเที่ยวเดียว เมื่อถึงจุดหมายสุบันจึงไม่ยอมคืนบีร์บาล ทั้งยังมอบเป็นของขวัญให้แก่หลานชายวัยเดียวกับทาฮาน

ระหว่างเดินทางกลับบ้านอย่างผิดหวังนั้นเอง เด็กหนุ่มท่าทางมีพิรุธชื่อ ไอดรีส ซึ่งเฝ้ามองทาฮานตรงจุดตรวจของทหารตั้งแต่แรก เข้ามาตีสนิทและแนะว่ามีใครคนหนึ่งช่วยนำบีร์บาลกลับมาได้ แต่ทาฮานต้องยอมให้ไอดรีสซุกซ่อนบางสิ่งไว้ในสินค้าของสุบันขณะผ่านด่านตรวจในการเดินทางเที่ยวต่อไป

ยิ่งกว่านั้นคือไอดรีสมอบระเบิดมือลูกหนึ่งแก่ทาฮาน พร้อมสำทับว่าเมื่อโอกาสเหมาะเขาจะบอกเองว่ามันใช้งานอย่างไร

ดูเหมือนว่าการเดินทางเพื่อนำลากลับคืนได้ลากเด็กน้อยเข้าสู่โลกอันโหดร้ายโดยไม่รู้ตัว

หนังอย่าง Tahaan คือรูปแบบเนื้อหาที่เห็นบ่อยครั้งโดยใช้ความไร้เดียงสาของตัวละครเด็กถ่ายทอดหรือเชื่อมโยงไปยังเรื่องราวความเลวร้ายที่เกิดขึ้นจริง อาจเพื่อให้ความเลวร้ายถูกลดทอนให้เบาลง หรือให้เห็นภาพขัดแย้งอย่างชัดเจนกระทั่งเกิดปฏิกิริยาหรืออารมณ์ร่วมมากขึ้น

การใช้ตัวละครเด็กใน Tahaan ได้ทั้งการลดทอนความเลวร้ายผ่านการนำเสนอเหตุการณ์หลักว่าด้วยความพยายามนำลากลับคืน ส่วนสถานการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งถูกใส่แทรกเข้ามาเพียงเพื่อให้รู้ถึงสภาพการณ์ที่ไม่ปกติซึ่งผู้คนที่นี่ต้องใช้ชีวิตอยู่กับมัน ไม่ว่าจะเป็นเสียงปืนจากอีกฟากของภูเขา ทหารจำนวนมากเดินแถวบนถนน การตรวจค้นบ้านกลางดึก เสียงตามสายเรียกชาวบ้านผู้ชายไปรวมตัวกัน และอีกหลายเหตุการณ์โดยไม่มีการให้รายละเอียดว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง

อย่างไรก็ตาม เมื่อความขัดแย้งเข้าประชิดตัวละครเด็กเช่นในช่วงท้ายและในฉากสำคัญ ผู้ชมก็พร้อมส่งอารมณ์ร่วมเข้าประชิดติดตามจนแทบลืมหายใจ

ทาฮานและครอบครัวคือตัวอย่างของชาวแคชเมียร์ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความขัดแย้งเหนือดินแดนแห่งนี้ ใช่เพียงสูญเสียสมาชิกในครอบครัวไปหนึ่งคน แต่การขาดหายไปของพ่อได้ส่งผลต่อสภาพจิตใจและความเป็นอยู่ของทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ถึงกระนั้น ท่ามกลางความเศร้าและความยากลำบาก บางเวลาพวกเขายังมีช่วงเวลาแห่งรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ ตื่นเต้นยินดีเมื่อได้ฟังคุณตาเล่าตำนานว่าด้วยความอัศจรรย์แห่งชีวิต

คือความอัศจรรย์อันเกิดจากความศรัทธา ความหวัง การก้าวเดินอยู่บนทางที่ถูกที่ควร เหมือนเช่นเสียงอาซานและบทสวดซึ่งแว่วดังอยู่หลายคราวราวกับคอยชี้นำให้ก้าวไปสู่ทิศทางที่ดีงามอยู่เสมอ

เมืองพาฮาลแกมในแคว้นชัมมูและแคชเมียร์ซึ่งเป็นฉากหลังและเป็นสถานที่ถ่ายทำคือหนึ่งในเมืองที่เกิดโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่จากเหตุแห่งความขัดแย้ง (เช่นเหตุการณ์สังหารหมู่ผู้แสวงบุญชาวฮินดู 30 คน เมื่อปี 2000) แต่เมืองเดียวกันนี้ยังได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในสถานที่ที่งดงามที่สุดในโลก

ไม่ผิดนักถ้าจะสรุปว่าทุกสิ่งมีหลายด้านเสมอขึ้นอยู่กับเราจะเลือกมองจากฝั่งใด

เหมือนเช่นคำถามว่าภูเขา ท้องฟ้า หรือสรรพสิ่งต่างๆ ในแคชเมียร์เป็นของใคร แม้ต่างสูญเสียผู้เป็นที่รักจากความขัดแย้งเหนือดินแดนนี้เหมือนกัน แต่ไอดรีสผู้จมอยู่กับความเคียดแค้นกับผู้อาวุโสซึ่งผ่านโลกมาเยอะอย่างสุบันกลับให้คำตอบต่างกันโดยสิ้นเชิง คนหนึ่งพยายามไขว่คว้าแย่งชิงแม้ด้วยวิธีการรุนแรง อีกคนมองว่าไม่มีใครยึดครองภูเขาหรือท้องฟ้าได้ มนุษย์ต่างหากที่เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ

แย่ตรงที่ผู้พยายามไขว่คว้าแย่งชิงมักไม่ยอมเลิกราง่ายๆ




Create Date : 10 มกราคม 2553
Last Update : 10 มกราคม 2553 12:58:05 น.
Counter : 1614 Pageviews.

2 comments
  

ความเคียดแค้นจากวัยเด็กกว่าจะเข้าใจธรรมชาติก็ล่วงเข้าวัยชรา
ระหว่างทางการเติบโตนั้น..โลกก็ลุกเป็นไฟไปหมดแล้ววว..


ใบปิดไม่เหมือนหนังอินเดียจริงๆ ค่ะ ^_^


โดย: renton_renton วันที่: 10 มกราคม 2553 เวลา:22:18:29 น.
  

เป็นหนังที่ไม่ควรพลาดเลยเน๊าะ
ชอบที่คุณเขียนในตอนท้ายจังค่ะ
"แย่ตรงที่ผู้พยายามไข่คว้าแย่งชิง
มักไม่ยอมเลิกราง่าย"
โดนค่ะโดน
โดย: อุ้มสี วันที่: 10 มกราคม 2553 เวลา:23:08:25 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Aloneagain.BlogGang.com

แค่เพียงรู้สึกสุขใจ
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]

บทความทั้งหมด