The Piano Teacher เสียงเพลงผิดคีย์ของครูเปียโน



The Piano Teacher
เสียงเพลงผิดคีย์ของครูเปียโน

ดูหนังในหนังสือ, Starpics Movie Edition ฉบับที่ 595 พฤศจิกายน 2545


*ภาพใบปิดที่มีชาย-หญิงแต่งชุดดำนั่งคุกเข่ากอดจูบแนบชิด ในสถานที่ที่ดูแล้วน่าจะใช่ห้องน้ำ มีตัวหนังสือซึ่งเป็นชื่อหนังแปลง่ายๆ ได้ว่า “ครูเปียโน” ไม่ต้องสงสัยเลยว่านี่เป็นหนังเกี่ยวกับการสอน “นอกหลักสูตร” ระหว่างครูกับลูกศิษย์ ซึ่งนอกจากต้องหลบๆ ซ่อนๆ จากสายตาผู้อื่นแล้ว ยังเป็นการปะทะขัดแย้งกันระหว่างจริยธรรมและแรงปรารถนา...อันเป็นพื้นฐานของหนังที่ว่าด้วยเรื่องทำนองนี้

ส่วนสิ่งที่อยู่ระหว่างจริยธรรมและแรงปรารถนานั้น จะเป็นความรัก ความใคร่ ความเหงา หรือความแค้น ก็แล้วแต่หนังแต่ละเรื่องจะกำหนดทิศทางไว้อย่างไร แต่สำหรับ The Piano Teacher (La Pianiste) หนังพูดฝรั่งเศสปี 2001 ของผู้กำกับ ไมเคิล ฮาเนเก้ คงไม่อาจระบุแรงขับเคลื่อนได้แน่ชัด นอกจากอ้างถึง “สภาพจิต” บิดเบี้ยวผิดปกติของตัวละคร และคงต้องพึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิเคราะห์มากกว่าคนดูหนังทั่วไปในการแจกแจงเจาะจงลงไปได้

พ้นจากเรื่องสภาพทางอารมณ์และจิตใจแล้ว The Piano Teacher ยังมีประเด็นเรื่องวัฒนธรรมชนชั้นและการแสดงอำนาจมาเกี่ยวข้อง ทำให้หนังเรื่องนี้ดูซับซ้อนเข้าใจยากมากยิ่งขึ้น

The Piano Teacher เล่าเรื่อง เอริก้า (อิซาเบลล์ อูแปรต์) สาวใหญ่ผู้มีอาชีพเป็นครูสอนเปียโนในสถาบันดนตรีชั้นนำของเวียนนา เธออาศัยอยู่กับแม่จอมเจ้ากี้เจ้าการ (แอนนี่ จิราร์โดต์) ที่ชอบบ่นว่าเรื่องความประพฤติของลูกสาว เช่นการกลับบ้านผิดเวลา การใช้เงินสิ้นเปลือง เอริก้าจึงมักทะเลาะกับแม่อย่างรุนแรง แต่ลงท้ายทั้งสองก็ปลอบใจกัน และนอนร่วมเตียงกันทุกคืน

เอริก้าเป็นครูผู้เข้มงวด ไม่เคยมีรอยยิ้มปรากฏระหว่างที่เธอสอนเปียโนลูกศิษย์ เธอมักจะดุว่า พร่ำพูดถึงทฤษฎี และการตีความของบทเพลงราวกับเป็นบทพูดที่ตายตัว หลังเลิกงานเอริก้าชอบแวะตามร้านขายหนัง-หนังสือโป๊ สูดดมร่องรอยน้ำกามในห้องลับเฉพาะ แวะโรงหนังไดร์ฟ-อิน แอบดูหญิง-ชายบรรเลงเพลงรักใคร่กันในรถ หรือใช้มีดโกนเฉือนอวัยวะเพศตนเองในห้องน้ำ

กระทั่งเอริก้าได้พบทางออกแห่งพฤติกรรมแสนโลดโผนของตนเอง เมื่อได้รู้จัก วอลเตอร์ (เบนัวต์ มาชีเมล) หนุ่มหล่อฐานะดีมีพรสวรรค์ในการเล่นเปียโนซึ่งหลงใหลได้ปลื้มเอริก้าอย่างมาก วอลเตอร์ตามตื๊อเธอ ทดสอบความสามารถด้านเปียโนจนได้เข้าเรียนกับเธอ แม้ว่าตอนแรกเอริก้าจะมีท่าทีไม่สนใจ พยายามกันเด็กหนุ่มออกไปจากชีวิต แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งที่เธอต้องการแสดงความเป็นเจ้าของ เอริก้าก็กลั่นแกล้งทำร้ายได้อย่างเลือดเย็นแม้ลูกศิษย์ของเธอเอง ตามด้วยการเปิดรับวอลเตอร์พร้อมเงื่อนไขสารพัดซึ่งล้วนแล้วแต่แสดงถึงความวิปริตรุนแรงทางกามารมณ์

วอลเตอร์รับไม่ได้กับเงื่อนไขเหล่านั้น เมื่อเขาทำท่าจะไปจากเธอ เอริก้ากลับตามไปขอร้องอ้อนวอน โดยยอมทำทุกอย่างที่วอลเตอร์ต้องการ และกลายเป็นว่าเธอต้องเจอกับความรุนแรงไม่คาดคิด โดยที่เธอไม่ได้เป็นฝ่ายควบคุม

ไม่น่าแปลกใจหากผู้ชมทั่วไปจะไม่อาจเข้าใจชัดเจนนักกับการกระทำของตัวละครในหนังเรื่องนี้ที่เต็มไปด้วยความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด หนังเปิดเรื่องด้วยการทะเลาะเบาะแว้งถึงขั้นทำร้ายร่างกายกันระหว่างแม่-ลูก ไม่กี่วินาทีต่อมาทั้งสองร้องไห้เสียใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้น หรือในครึ่งชั่วโมงสุดท้ายที่เอริก้าและวอลเตอร์ผลัดกันแสดงพฤติกรรมราวกับคนเสียสติ กระทั่งทิ้งท้ายความสงสัยที่ไร้คำอธิบายไว้ให้แก่ผู้ชม

อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าแรงขับเคลื่อนตัวละครใน The Piano Teacher นั้น เกี่ยวกับสภาพจิตใจที่ผิดปกติ ดังนั้น การจะทำความเข้าใจหนังเรื่องนี้โดยยกเอาเรื่องจิตวิเคราะห์เป็นตัวตั้ง สำหรับผู้เขียนและเชื่อว่าผู้ชมทั่วไปคงไม่ใช่แนวทางที่ดีนัก ขณะที่ตัวหนังเองที่ดัดแปลงจากนิยายของ เอลฟรีเด เยลิเนค นักเขียนชาวออสเตรีย ยังมีบางเรื่องบางประเด็นที่ชวนให้คิดทำความเข้าใจอยู่พอสมควร

*หนังแสดงให้ทราบจากบทสนทนาระหว่างแม่-ลูกตั้งแต่ต้นเรื่องว่าเอริก้ามาจากครอบครัวที่ไม่ได้ร่ำรวย ถึงขนาดที่ผู้เป็นแม่ต้องคอยควบคุมการใช้จ่ายของลูก สิ่งเดียวที่ทำให้แม่ภาคภูมิใจและทำให้เธอมีโอกาสได้เข้าสังคมชั้นสูง คือความสามารถด้านเปียโนอันยอดเยี่ยมของเอริก้า เป็นความสามารถด้านเพลงคลาสสิกซึ่งจัดว่าเป็นรสนิยมของชนชั้นผู้มีอันจะกิน

ส่วนตัวเอริก้าเองก็มีบุคลิกหยิ่งยโสไร้รอยยิ้มประดับบนใบหน้าที่เชิดสูงอยู่ตลอด แม้ในขณะที่เธออยู่ในหมู่ผู้ชายในร้านขายหนังโป๊ เธอยังสามารถเชิดหน้าด้วยความมั่นใจโดยไม่แคร์สายตาใคร ในฉากนี้หนังได้ใส่เสียงเพลงต่อเนื่องจากฉากก่อนหน้าที่เอริก้าบรรเลงเปียโนร่วมกับนักดนตรีอีก 2 คน ต่อเนื่องมาระหว่างที่เธอเดินทางจนถึงร้านดังกล่าว ราวกับว่าเธอได้พกพาเอาความสูงส่งของดนตรีคลาสสิกไว้กับตัวตลอดเวลา

เอริก้าไม่ใช่คุณครูผู้ใจดี ตรงกันข้าม เธอมักจะพูดจาประชดแดกดันเมื่อลูกศิษย์เล่นไม่ได้ดังใจ เช่นครั้งหนึ่งเธอประชดลูกศิษย์ที่เล่นเปียโนไม่ลึกซึ้งถึงตัวเพลงว่า “เล่นโน้ตผิดพลาดในเพลงของเบโธเฟน ยังฟังเพราะกว่าการตีความไม่ได้เรื่อง” ไม่ใช่ด้วยฐานะครูที่ “สูงกว่า” เท่านั้น แต่เอริก้าได้ปฏิบัติตัวให้ “เหนือกว่า” อย่างจงใจ เหมือนกับการวางอำนาจ และแน่นอนว่าไม่มีลูกศิษย์คนไหนกล้าโต้แย้งหรือแสดงความไม่พอใจ นอกจากก้มหน้าก้มตาเล่นเปียโนต่อไป

ดังนั้น ฉากเปิดตัวของวอลเตอร์ที่ถูกเอริก้าปิดประตูลิฟต์ใส่ แต่เขากลับไม่สะทกสะท้าน วิ่งขึ้นบันไดได้ทันถึงที่หมายพร้อมกับเธอที่ใช้ลิฟต์ จึงเปรียบเหมือนการเทียบชั้นท้าทายอำนาจของเอริก้า จนสร้างความไม่พอใจให้เธอ และตั้งป้อมตอบโต้วอลเตอร์ด้วยการแสดงความเหนือกว่าข่มเขาหลายต่อหลายครั้ง

หลังจากไม่แยแสและต่อต้านวอลเตอร์ในช่วงแรก ทันทีที่เอริก้าเห็นว่าวอลเตอร์ไปใกล้ชิดกับลูกศิษย์สาวคนหนึ่งของเธอ เอริก้าจึงเปลี่ยนวิธีการเพื่อให้ตนเองยังเป็นฝ่ายที่อยู่เหนือกว่าวอลเตอร์ต่อไปด้วยการเปิด “เกมรัก” ซึ่งเธอเป็นผู้กระทำฝ่ายเดียว โดยยื่นคำขาดห้ามวอลเตอร์ร่วมเล่นได้ตามใจ มิฉะนั้นเธอจะยุติเรื่องทั้งหมด

เอริก้าร่างกฎอันวิปริตรุนแรงให้วอลเตอร์กระทำตาม แม้กฎดังกล่าวจะเป็นไปในรูปแบบมาโซคิสม์ คือให้เธอเป็นผู้ถูกกระทำ แต่นั่นก็เพียงเปลือกนอกเท่านั้น เพราะเอริก้ายังถือเป็นผู้กำหนดความเป็นไปด้วยกฎของเธออยู่นั่นเอง

มาถึงจุดนี้ เอริก้ากำลังจะกลายเป็นผู้อยู่เหนือกว่าโดยเบ็ดเสร็จ ถ้าวอลเตอร์ไม่เกิดขยะแขยงในความวิปริตของเอริก้าและผละหนีไป พร้อมกับตุ้มแห่งอำนาจที่ถูกเหวี่ยงไปอยู่กับวอลเตอร์ทันที การตามไปอ้อนวอนขอร้องวอลเตอร์ทั้งที่เขาไม่ไยดี ลงท้ายด้วยภาพเอริก้าเปิดประตูเดินโซซัดโซเซออกไปบนลานน้ำแข็งกว้าง ทำให้มาดสตรีผู้เย่อหยิ่งของเธอต้องสูญสลายลงโดยสิ้นเชิง

ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อวอลเตอร์มาหาเอริก้าที่บ้านและลงมือกระทำการรุนแรงบางอย่างทั้งที่เอริก้าไม่ได้รับความสุขจากการกระทำนี้เหมือนที่เธอเคยต้องการ เท่ากับว่าวอลเตอร์ได้แสดงบทบาทเป็นผู้กุมอำนาจเหนือกว่า และกำหนดความรุนแรงใน “เกมรัก” เสียเอง

ผู้หญิงที่ต้องใช้ปัจจัยภายนอกฉาบหน้าเพื่อแสดงอำนาจอย่างเอริก้า อำนาจนั้นจึงไม่ใช่อำนาจที่คงทนถาวรและมีกำลังมากพอ และเมื่อใช้อำนาจในทางที่รุนแรงเพื่อความพอใจส่วนตัวก็จะถูกมองเป็นความผิดเพี้ยนไม่ปกติ ขณะที่วอลเตอร์คือผู้ชายที่พร้อมจะแสดงอำนาจได้ทุกเมื่อแม้ในด้านที่รุนแรง โดยไม่คิดว่าเป็นเรื่องผิดแปลกแต่อย่างใด

ฉากเล็กๆ ฉากหนึ่งที่วอลเตอร์และเพื่อนๆ กรูกันลงไปบนลานน้ำแข็งเพื่อเล่นกีฬาแห่งความรุนแรงอย่างฮ็อคกี้ ทั้งที่มีกลุ่มผู้หญิงกำลังฝึกซ้อมสเก็ต วอลเตอร์เพียงแค่ใช้รอยยิ้มก็ทำให้สาวๆ ยอมเลิกเล่น แสดงถึงประเด็น “อำนาจและความรุนแรงเป็นสิทธิของผู้ชาย” ได้อย่างดี

*ฉากสุดท้ายที่เอริก้ามองวอลเตอร์เดินลับหายไปในห้องแสดงดนตรีด้วยแววตาเจ็บแค้นพร้อมกับทำร้ายตนเองไปด้วย จึงเป็นผลลัพธ์ที่น่าเจ็บปวดยิ่งนักสำหรับผู้หญิงเช่นเธอ หนังทิ้งท้ายเป็นภาพเอริก้าเปิดประตูเดินออกไปจากสถานที่นั้นทั้งที่เธอมีกำหนดการแสดงดนตรี ราวกับว่าเอริก้าหันหลังให้กับสิ่งที่เธอใช้เสริมตัวตนทั้งฐานะและอำนาจให้สูงส่งเกินกว่าความเป็นจริงมาตลอดชีวิต

สังเกตว่ามีสองเหตุการณ์การกระทำที่คล้ายกันของเอริก้าที่กล่าวถึงไว้แล้วและควรหยิบมาพูดถึงอีกครั้ง นั่นคือการที่เธอเปิดประตูเดินออกจากสถานที่หนึ่ง ครั้งแรกคือเมื่อไปอ้อนวอนวอลเตอร์ และเปิดประตูเดินโซซัดโซเซออกไปบนลานน้ำแข็ง กับฉากจบเป็นการเปิดประตูเดินออกจากโรงละคร

และเมื่อนึกทบทวนดูจะเห็นว่าตัวละครสำคัญทั้งสองคือเอริก้าและวอลเตอร์ต่างมีการเปิดประตู “เข้า-ออก” ให้เห็นตลอดทั้งเรื่อง เริ่มตั้งแต่ฉากแรกเอริก้าเปิดประตู “เข้า” บ้าน (ขณะที่ฉากสุดท้ายเธอเปิดประตู “ออก”) เปิดประตูเข้าห้องลับฉายหนังโป๊ เปิดประตูสถาบันดนตรีที่เธอสอนเพื่อแอบมองวอลเตอร์ ก่อนจะกลับเข้าไปข้างใน

เห็นได้ว่า “ประตู” เป็นสิ่งกั้นระหว่างพื้นที่แห่งตัวตน (บ้าน, สถาบันดนตรี, ห้องลับ, โรงละคร) กับสังคมภายนอก เป็นพื้นที่แห่งตัวตนที่เอริก้าสามารถเปิดเผยและปลดเปลื้องความต้องการเบื้องลึก (การยกฐานะ, ความต้องการทางเพศ, อำนาจ) ได้เต็มที่ ซึ่งเธอพร้อมจะป้องกันไม่ให้คนนอกได้เข้ามารบกวนหากเธอไม่ต้องการ

ส่วนการเปิดประตูของวอลเตอร์นั้นต่างออกไป แม้ว่าครั้งแรกการพยายามเปิดประตูลิฟต์ที่มีเอริก้าอยู่ข้างในจะไม่สำเร็จ แต่หลังจากนั้น วอลเตอร์ได้ “บุกรุก” พื้นที่ส่วนตัวของเอริก้าตลอดเวลา ทั้งการเปิดประตูห้องสอนเปียโนของเอริก้าโดยไม่ได้รับอนุญาต เปิดประตูห้องน้ำที่เอริก้าเก็บตัวอยู่ เปิดประตูเข้าอพาร์ตเมนต์และห้องพักเอริก้า รวมไปถึงครั้งสุดท้ายที่เขาบุกไปตอนกลางคืน บังคับให้เอริก้าเปิดประตูห้องก่อนจะทำร้ายเธอ ซึ่งวอลเตอร์ไม่เคยรู้สึกผิดต่อการกระทำเหล่านี้เลย ยิ่งกว่านั้น เอริก้ายังต้องเป็นฝ่ายผละไปเสียด้วยซ้ำ ดังเช่นเมื่อเธอบุกไปหาวอลเตอร์ที่สนามฮ็อคกี้ และอีกครั้งในฉากสุดท้าย

การแสดงพื้นที่ส่วนตัวและการเข้า-ออกพื้นที่ดังกล่าวของแต่ละตัวละคร จึงเป็นส่วนหนึ่งของหนังในการกล่าวถึงประเด็นเรื่องสิทธิการแสดงออกและอำนาจของชาย-หญิงซึ่งแตกต่างกันอย่างชัดเจน

ทั้งหมดนี้ทำให้ The Piano Teacher จัดเป็นหนังในแนว “เฟมินิสม์” หรือการสะท้อนความเหลื่อมล้ำด้านสิทธิความเป็นผู้หญิงที่เข้มข้นเรื่องหนึ่ง ด้วยการหยิบยกเรื่องราวมาเปรียบเทียบกล่าวถึงในแง่มุมที่ต่างไปจากหนังแนวนี้เรื่องอื่นๆ อีกทั้งได้การแสดงอันยอดเยี่ยมของนักแสดงนำทุกคน โดยเฉพาะอูแปรต์ในบทเอริก้าที่ทำให้เธอคว้ารางวัลที่เมืองคานส์

กระนั้น ด้วยพฤติกรรมของตัวละครอันชวนให้สับสนสงสัย ไปจนถึงกระอักกระอ่วนชวนหดหู่ ทำให้ The Piano Teacher ห่างไกลจากความเป็นหนังสำหรับชมเพื่อความบันเทิงเริงใจ แต่เป็นเหมือนอาหารรสเฝื่อนเคี้ยวยากที่กินอิ่มท้องแบบทรมาน



Create Date : 17 กุมภาพันธ์ 2551
Last Update : 17 กุมภาพันธ์ 2551 2:06:11 น.
Counter : 11802 Pageviews.

21 comments
  

บทวิจารณ์นี้เขียนไว้ตั้งแต่ 5 ปีก่อน ตอนที่ยังไม่คุ้นเคยกับ ไมเคิล ฮาเนเก้

และเพิ่งดู The Piano Teacher เป็นเรื่องแรกสำหรับผลงานของเขา

เนื้อหาในบทวิจารณ์จึงคิดและเขียนขึ้นจากหนังเรื่องนี้ล้วนๆ ไม่ได้อ้างถึงตัวฮาเนเก้ว่าเป็นใคร ทำหนังอะไรมาบ้าง ลักษณะพิเศษในผลงานของเขาคืออะไร และเชื่อมโยงกับหนังเรื่องนี้ได้หรือไม่ อย่างไรบ้าง

ซึ่งถ้าผมเขียนใน พ.ศ.นี้ ไม่พ้นเนื้อหาต้องออกมาแบบบรรทัดข้างบนแน่ๆ

จะว่าไปแล้ว งานวิจารณ์จากหนังล้วนๆ อย่างนี้ก็ดีเหมือนกัน เพราะเท่ากับว่าเราไม่มีกรอบมาชี้นำหรือจำกัดความคิด

ตัวหนังเองก็มีโอกาสถูกพินิจพิเคราะห์จากตัวตนที่เป็นอยู่อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องเอาไปเทียบเคียงกับหนังเรื่องอื่น หรือถูกมองผ่านผู้ที่สร้างมันขึ้นมา

แต่ก็นั่นแหละครับ...

ถึงอย่างไรการพินิจพิเคราะห์หนังโดยมองสภาพแวดล้อม-เงื่อนไขปัจจัย-ความเป็นมาควบไปด้วย ในทำนองเดียวกับการศึกษาประวัติศาสตร์ ก็เป็นแนวทางที่ไม่ควรละเลยอยู่ดี
โดย: แค่เพียงรู้สึกสุขใจ วันที่: 17 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:2:08:39 น.
  
แวะมาแปะไว้ก่อนค่ะ ขอตัวไปกรี๊ดดังๆกับหนังเรื่องนี้ก่อน เดี๋ยวกลับมาใหม่
โดย: renton_renton วันที่: 17 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:10:05:57 น.
  
แวะมาอ่านวิจารณ์ด้วยคนค่ะ
ซื้อเรื่องนี้เก็บไว้ดูเหมือนกันค่ะ หนังดีเชียว
Photobucket
โดย: Shallow Grave วันที่: 17 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:12:51:51 น.
  
น่าจะวิจารณ์คนดูมั้ง ฮ่า ๆ

รวมๆ แล้วน่าสนใจ ปมในใจ ลึกลับของมนุษย์

การแสดงตัวตน การแผ่อำนาจเหนือผู้อื่น

วิญญาณทาสและเจ้าไม่เคยหมดสิ้น!
โดย: ปุถุซน วันที่: 18 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:9:39:48 น.
  
ชอบฉากจบค่ะ มันจี๊ดมาก อย่างที่ไม่รู้จะอธิบายอย่างไร
รู้แต่ว่าเป็นหนึ่งใน 15 เรื่องของความประทับใจจากโพลส่วนตัวค่ะ
โดย: renton_renton วันที่: 18 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:12:10:30 น.
  
ญ หรือ ช กันแน่ที่ซาดิส
เพลงที่บรรเลง ไปกับหนัง เขากันได้ดีทีเดียวฮะ
โดย: haro_haro วันที่: 18 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:13:19:44 น.
  
เป็นอีกเรื่องที่ผมชอบ หนังหม่นมืดได้ใจ และเท่ห์มากกับตอนจบ รสนิยมทางดนตรีที่สูงลิ่วและรสเพศที่ต่ำทรามให้ทำนองอารมณ์ที่เพี้ยนดีจริงๆ
ถ้ามีโอกาสก็อยากเขียนถึงเรื่องนี้เหมือนกัน
โดย: beerled IP: 203.154.187.189 วันที่: 18 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:16:17:13 น.
  

ทุกคนที่แวะมาครับ


วันนี้ไปดู ช็อคโกแลต

เอ่อ....
โดย: แค่เพียงรู้สึกสุขใจ วันที่: 18 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:20:38:42 น.
  

เป้นหนังที่ผมชอบที่สุดในชีวิตเรื่องนึงเลยครับ ดูไปก็ช็อคไป

ฉากอูแปต์ดูพระเอกเล่นเปียโนเจ๋งมาก เธอทำสีหน้าประมาณ 700 อารมณ์ใน 15 วินาที (ฮ่าๆๆ)

อยากดู Funny Game Remake จังแฮะ
โดย: merveillesxx วันที่: 19 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:1:45:19 น.
  
วันนี้ดีใจเป็นที่สุดค่ะ
เพราะตั้งแต่เข้าบล็อกนี้มา
อ่านเอนทรี่นู้นนี้ ก็ล้วนแต่เป็นหนังที่ยังไม่เคยดูมาก่อนทั้งนั้น

ยกเว้นเรื่องนี้

(พระเจ้าจอร์จ มันรู้สึกดีจริงๆ)

อย่างที่ว่า หนังมันเฝื่อน ฝาด ซะ
-__-" ไม่ได้อยากจะดูซ้ำเพื่อเก็บรายละเอียดอะไรเลย
มันไม่ใช่หนังประเภทนั้นจริงๆ
(เรื่อง PAN ฯ นั้นยังสามารถอยู่บ้าง)

พูดไปพูดมา
ก็ลืมเอาหนังไปคืนร้านเฟมอีกแล้ว
โอ้ยย อยากตาย
โดย: ม่วนน้อย วันที่: 19 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:10:17:20 น.
  
เอ๋ เพิ่งขึ้นไปอ่านเมนต์
หนังล่าสุดที่ไปดูคือช็อกโกแลตหรือคะ
น่าเอาแทค 70 ข้อมาให้ทำจริงๆ เชียว
มันมีถามด้วยว่า
หนังเรื่องล่าสุดที่คุณไปดูคือ
โดย: ม่วนน้อย วันที่: 19 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:10:21:44 น.
  
เคยดูเรื่องอื่นๆของผู้กำกับคนนี้
แต่ยังไม่มีโอกาสได้ดูเรื่องนี้เลยครับ
ทั้งๆที่ได้รู้จักเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก

เมื่อหลายปีที่แล้ว ตอนที่เยเลนิกได้โนเบลใหม่ๆ เห็นว่าจะมีงานแปลภาษาไทยออกมา
แต่ตอนนี้ก็ยังไม่เห็นวี่แววเลย
โดย: wayakon IP: 58.9.235.183 วันที่: 21 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:18:25:54 น.
  
วันนี้เป็นวันแรกที่เรากลับมา
หลังจากหายไปเกือบปี
เพิ่งไปเยี่ยมบล็อกของคุณเรนตัน
แล้วก็มาที่นี่ เป็นที่ที่สอง

แต่ทั้งสองบล็อก
พูดถึงหนังของ ฮาเนเก้
(คุณเรนตัน เขียนถึง funny games)
นับว่าเป็นฤกษ์ดี
กลับมาวันแรก ก็เจอแต่หนังของผู้กำกับคนโปรด

เรายังไม่ได้เขียนอะไร
ขอลาดตระเวนไปเรื่อยๆก่อน
แล้วจะกลับมาที่นี่บ่อยๆ
ขอให้มีชีวิตที่สนุกทุกๆวันค่ะ
โดย: goldfish memory วันที่: 22 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:1:16:43 น.
  
5555555555555 ช็อคโกแลต
เอาเถอะพี่


The Piano Teacher ซื้อแผ่นมาไว้พอควรแล้วครับ ยังคงดองอยู่เช่นเคย

แต่เมื่อกี้ไปอ่าน Cocalero มา น่าดูมากๆ
และตอนนี้เรื่องน่ายินดีคือ มีคนซื้อ Deliver Us from Evil มาปั๊มแผ่นแท้แล้ว ^^
หลังจากที่ปีนั้น เมืองไทยรู้จักแต่สารคดีที่ชื่อ An Inconvenient Truth
โดย: nanoguy IP: 125.24.84.164 วันที่: 22 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:3:19:45 น.
  
เห็นน้องหนูน่ารักมั่ก
ว่าจะไปดูหน่อย
อ้าว ดูดาวสองดาว
ไม่ดีกว่า ถอยดีกว่า..
ไปหาหนังนอกกระแสมาดูท่าจะเหมาะเหม็ง
เงินทองยิ่งหายาก(ทั้งในใจก็อยากเอาใจช่วยหนังไทย)อยากจะดูว่าตั้งแต่องก์บาก พัฒนาไปแค่ไหน หรือยัง ต้มยำกุ้งกินอยู่
โดย: สัญจร ดาวส่องทาง วันที่: 22 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:12:28:22 น.
  

ตอบ merveillesxx
อยากดูเหมือนกัน

ตอบ ม่วนน้อย
Pan's Labyrinth ผมชอบระหว่างดู
แต่พอจบแล้วกลับเฉยๆ

ตอบ wayakon
นั่นสิครับ น่าจะยังไม่มีงานแปลเลยนะ

ตอบ goldfish memory
ผมก็ว่าหายไปไหน
ยินดีที่กลับมาครับ

ตอบ nanoguy
Deliver Us from Evil แผ่นแท้!...ข่าวดีจริงๆ
ช่วง 2-3 ปีนี้ หนังสารคดีน่าดูเยอะมากๆ

ตอบ สัญจร ดาวส่องทาง
ผมดูก็เพราะอยากรู้ว่าเป็นไงน่ะครับ
ทั้งที่ตั้งใจว่าจะไม่ซีเรียสเรื่องบทหรือความน่าเชื่อถือ
แต่มันก็แย่ซะจนทำเป็นมองไม่เห็นไม่ได้
ถึงบู๊แทบตายก็เลยไม่รู้สึกสนุกกับหนัง
โดย: แค่เพียงรู้สึกสุขใจ วันที่: 22 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:16:29:53 น.
  
ลืมบอกไปครับ สารคดีอีกเรื่องที่ออกมาพร้อมๆกับ Deliverฯ ก็คือเรื่อง My Kid Could Paint That
โดย: nanoguy IP: 125.26.133.74 วันที่: 23 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:15:40:37 น.
  
โดย: แค่เพียงรู้สึกสุขใจ วันที่: 25 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:4:04:57 น.
  
โดย: ม่ามา IP: 222.123.14.42 วันที่: 7 มีนาคม 2551 เวลา:14:51:47 น.
  
อยากรู้ว่าหาซื้อหนังแบบนี้ได้ที่ไหนคะ
โดย: Duddy IP: 110.77.229.174 วันที่: 26 กรกฎาคม 2555 เวลา:17:11:36 น.
  
เพิ่งมีโอกาสได้รับชม ขอบคุณบทความนี้มากค่ะ ช่วยขยายความและตีความให้กับผู้ชมได้เยอะเลย
โดย: Aticha IP: 118.172.88.84 วันที่: 17 กรกฎาคม 2564 เวลา:18:07:23 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Aloneagain.BlogGang.com

แค่เพียงรู้สึกสุขใจ
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]

บทความทั้งหมด