Topsy-Turvy ละครฉากชีวิต



Topsy-Turvy
ละครฉากชีวิต

ดูหนังในหนังสือ, Starpics Movie Edition ฉบับที่ 540 กันยายน 2543


*ถ้าเอ่ยชื่อ วิลเลี่ยม กิลเบิร์ต และ อาร์เธอร์ ซัลลิแวน คนไทยคงไม่คุ้นเคยเท่าใดนัก แต่ในยุโรปและสหรัฐ บุคคลทั้งสองถือว่าเป็นเพชรเม็ดงามในวงการละครเพลงโอเปร่าเลยทีเดียว

สารภาพตามตรงว่าผู้เขียนเองก็ไม่คุ้นเคยกับ วิลเลี่ยม กิลเบิร์ต และ อาร์เธอร์ ซัลลิแวน มาก่อน อาจเคยผ่านตามาบ้างแต่ไม่ได้จดจำ จนเมื่อได้ชมหนังอังกฤษเรื่อง Topsy-Turvy (1999) ประวัติชีวิตช่วงหนึ่งของทั้งสองทำให้สนใจใคร่รู้เรื่องราวของพวกเขา และสืบเสาะค้นหามาฝากไว้ตรงนี้

วิลเลี่ยม ชเวงค์ กิลเบิร์ต เกิดเมื่อปี 1836 เป็นบุตรชายศัลยแพทย์ทหารเรือปลดเกษียณ หลังจากผ่านงานด้านการทหารและทนายความในช่วงวัยหนุ่ม อัจฉริยภาพด้านการประพันธ์ของเขาจึงเริ่มต้นโดยปรากฏผ่านงานวิจารณ์ละครและคำประพันธ์ประเภทตลกขบขันในนิตยสารยอดนิยมของอังกฤษชื่อ FUN ในนามปากกา “บ๊าบ” (Bab) ซึ่งเป็นชื่อเล่นในวัยเด็ก

กิลเบิร์ตก้าวสู่วงการละครเพลงโดยเริ่มจากบทละคร 2 เรื่อง ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างงดงามในปี 1871 เป็นการร่วมงานกับคีตกรเอกนาม อาร์เธอร์ ซัลลิแวน และถือเป็นก้าวแรกของคู่หูนักประพันธ์และคีตกรคู่สำคัญแห่งวงการละครเพลงโอเปร่า ซึ่งต่อมาได้ร่วมกันสร้างสรรค์งานทั้งหมด 14 เรื่อง ตลอดระยะเวลา 25 ปี

กิลเบิร์ตได้รับแต่งตั้งเป็นอัศวินโดยพระเจ้าเอ๊ดเวิร์ดที่ 7 ในปี 1907 และเสียชีวิตขณะพยายามช่วยชีวิตผู้หญิงซึ่งกำลังจมน้ำในปี 1911 เมื่ออายุ 74 ปี

ส่วน อาร์เธอร์ ซัลลิแวน เกิดเมื่อปี 1842 ในครอบครัวนักดนตรี เขาฉายแววความสามารถตั้งแต่วัยเยาว์ ทั้งประพันธ์เพลงเองตั้งแต่อายุ 8 ขวบ ได้เป็นผู้นำวงเครื่องเป่าในวงดนตรีของพ่อ นอกจากนั้น ยังสามารถคว้าทุนเรียนดนตรีที่เยอรมนี เมื่อกลับอังกฤษเขาก็เริ่มมีชื่อเสียงทั้งในฐานะอาจารย์ นักดนตรี และนักประพันธ์เพลง ซึ่งผลงานเด่นชิ้นหนึ่งของเขาคือโอเปร่าเรื่อง Ivanhoe

ซัลลิแวนเข้าสู่วงการละครโอเปร่าแนวหัสนาฏกรรม (comic opera) เมื่อปี 1867 โดยจับคู่กับ เอฟ.ซี.บรูนานด์ ก่อนจะได้ร่วมงานกับกิลเบิร์ตในปี 1871 เรื่อยมาจนถึงงานชิ้นสุดท้าย The Grand Duke ปี 1896 และด้วยผลงานอันยอดเยี่ยมทำให้เขาได้รับแต่งตั้งเป็นอัศวินโดยพระราชินีวิคตอเรีย ในปี 1883

ตั้งแต่ปี 1872 จนเสียชีวิตในปี 1900 ซัลลิแวนต้องทนทุกข์แสนสาหัสด้วยโรคไต ระยะเวลาดังกล่าวแสดงให้เห็นว่างานชิ้นเยี่ยมมากมายของเขาเกิดขึ้นภายใต้การคุกคามของโรคร้าย และเขาได้ใช้ดนตรีเป็นเครื่องเยียวยาตนเองจนวาระสุดท้าย

นอกจากมีชื่อเสียงโด่งดังในอังกฤษแล้ว ผลงานร่วมของกิลเบิร์ตและซัลลิแวนโดย “ซาวอยเธียเตอร์” ได้เปิดการแสดงในหลายประเทศในยุโรป รวมทั้งตระเวนแสดงทั่วสหรัฐอเมริกา ทำให้ทั้งสองเป็นที่รู้จักและได้รับการยกย่องตลอดระยะเวลากว่าศตวรรษ มีการนำผลงานของทั้งสองมาจัดแสดงใหม่หลายต่อหลายครั้ง รวมทั้งถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์

*ไหนๆ ผู้เขียนก็ได้เล่าประวัติคร่าวๆ ของคู่หูนักประพันธ์และคีตกรเอกแล้ว จึงขอบอกกล่าวลำดับผลงาน 14 เรื่อง ของพวกเขาตั้งแต่ปี 1871-1896 ไว้ด้วย ได้แก่ Thespis, Trial by Jury, TheSorcerer, H.M.S.Pinafore, The Pirates of Penzance, Patience, Iolanthe, Princess Ida, The Mikado, Ruddigore, The Yeomen of the Guard, The Gondoliers, Utopia Limited และ The Grand Duke

Topsy-Turvy ผลงานของผู้กำกับฯไมค์ ลีห์ ที่ทำให้ผู้เขียนอยากรู้จักกิลเบิร์ตและซัลลิแวนมากขึ้นนำเสนอเรื่องราวของทั้งสองหลังเสร็จงานจาก Princess Ida มาจนถึงเบื้องหลังการสร้างงานชิ้นเยี่ยมเรื่อง The Mikado

หนังเริ่มต้นในปี 1884 เมื่อละครเรื่อง Princess Ida ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ซัลลิแวน (อัลลัน คอร์ดูเนอร์) ป่วยหนัก เขาเดินทางไปยังฝรั่งเศสเพื่อรักษาสุขภาพและเพื่อหลบเลี่ยงที่จะต้องทำงานกับกิลเบิร์ต (จิม บรอดเบนท์) อีกครั้ง เพราะเบื่อหน่ายความซ้ำซากของงานที่ผ่านมาของกิลเบิร์ต ซึ่งมักมีเนื้อหาวนเวียนอยู่กับจินตนาการแฟนตาซี ห่างไกลจากโลกแห่งความจริง

ส่วนกิลเบิร์ตที่หงุดหงิดกับคำวิพากษ์วิจารณ์ละครของเขาว่ามีแต่เรื่องวุ่นๆ ไม่เป็นสาระ ก็ยังคงเดินหน้าเขียนบทละครเรื่องใหม่ที่มีเนื้อหาไม่หนีไปจากเรื่องเดิมๆ โดยมี ริชาร์ด คาร์ต (รอน คุก) เจ้าของโรงละครซาวอยเธียเตอร์ และเฮเลน (เวนดี้ น็อตติ้งแฮม) เลขาฯคนสนิท คอยลุ้นแกมบังคับให้กิลเบิร์ตและซัลลิแวนร่วมกันทำงานชิ้นใหม่ให้สำเร็จ

กระทั่งกิลเบิร์ตไปเที่ยวที่ชุมชนชาวญี่ปุ่นซึ่งจัดให้เยี่ยมชมวิถีชีวิตและศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น เขาซื้อดาบญี่ปุ่นมาแขวนไว้ในห้องทำงาน และดาบเล่มนี้นี่เองที่ทำให้เขาเกิดแรงบันดาลใจเขียนบทละครเรื่อง The Mikado ซึ่งซัลลิแวนก็พึงพอใจและยอมกลับมาร่วมงานกันอีกครั้ง จนละครเรื่องนี้ได้รับการยอมรับว่าเป็นสุดยอดชิ้นงานของพวกเขา

ครึ่งหลังของหนังเป็นเบื้องหลังการทำงาน ทั้งการคัดเลือกตัดแสดง การซ้อมบท ซ้อมร้องเพลง กับปัญหาน่าปวดหัวของนักแสดงหลายคน ไม่ว่าจะเป็นอาการป่วยของโกรสสมิธ (มาร์ติน ซาเวจ) ผู้รับบทโค-โค ความขุ่นเคืองของเทมเปิ้ล (ทิโมธี่ สปอลล์) ผู้รับบทมิคาโดะที่ถูกกิลเบิร์ตตัดเพลงเอกทิ้ง หรือความหงุดหงิดกับเครื่องแต่งกายญี่ปุ่นของนักแสดงหลายคน แต่ในที่สุดด้วยความร่วมมือร่วมใจกันของทีมงานทุกคน The Mikado จึงเสร็จสมบูรณ์และเปิดการแสดงครั้งแรกในวันที่ 14 มีนาคม 1885 พร้อมกับความสำเร็จอันยิ่งใหญ่

แม้ Topsy-Turvy จะเป็นหนังที่สร้างจากเรื่องจริงว่าด้วยบุคคลสำคัญ 2 คนในวงการละครเพลง แต่ผู้กำกับฯ ไมค์ ลีห์ ซึ่งควบหน้าที่เขียนบท ไม่ได้สร้างหนังเรื่องนี้โดยมีจุดประสงค์เด่นชัดเพื่อเคารพและยกย่องบุคคลทั้งสอง หากเป็นการนำเสนอ “สิ่งที่เกิดขึ้นจริง” และ “ผลที่ตามมา” ในช่วงเวลาสั้นๆ ของกิลเบิร์ตและซัลลิแวน โดยจับเอาช่วง “ขาลง” และการกลับมาผงาดอีกครั้งซึ่งคาบเกี่ยวกันภายในระยะเวลาเพียง 2 ปี

ไมค์ ลีห์ เคยกล่าวว่า Topsy-Turvy ไม่ใช่ทั้งหนังชีวประวัติและสารคดี แต่เป็นผลงานสร้างสรรค์เรื่องราวตามที่ปรากฏเป็นหลักฐาน ดังนั้น กิลเบิร์ตและซัลลิแวนในหนังจึงไม่ใช่บุคคลที่เลิศลอยสูงเด่น ยังมีภาพบางด้านที่ไม่ใคร่ดีนักถูกนำเสนอพร้อมกัน เช่น การไม่เคารพพ่อ-แม่ และอาการเย็นชาต่อภรรยา ลูซี่ (เลสลีย์ แมนวิลล์) ของกิลเบิร์ต หรือความทะนงในสภาพภาพของซัลลิแวน

นอกจากนี้ แม้ว่ากิลเบิร์ตและซัลลิแวนจะเป็นตัวเอกของเรื่อง แต่ตลอดความยาว 160 นาทีของ Topsy-Turvy ไม่ได้เทความสำคัญทั้งหมดไปที่คนทั้งสอง การทำงานเป็นทีมคือประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งของหนัง ส่งให้ทุกตัวละครในทุกสถานะต่างร่วมมีบทบาทและเป็นส่วนหนึ่งของ Topsy-Turvy หรืออีกนัยหนึ่งคือ เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จของ The Mikado นั่นเอง

*ไล่มาตั้งแต่ คาร์ต เจ้าของซาวอยเธียเตอร์ และเฮเลน ซึ่งมีส่วนสำคัญในการผลักดันสร้างละครเรื่องนี้ นักแสดงทั้งหมดไม่ว่าจะเป็น เทมเปิ้ล, โกรสสมิธ, เลลี่ (เควิน แม็คคิดด์) กลุ่มนักแสดงประสานเสียงทั้งชาย-หญิง นักดนตรี พวกเขาเหล่านี้ต่างมีชีวิตชีวา มีบทบาทเบื้องหน้าเบื้องหลังมากบ้างน้อยบ้างที่พอจะทำให้เห็นว่าพวกเขาไม่ใช่เป็นเพียง “ตัวประกอบ” ของหนัง (ละคร) เท่านั้น แม้กระทั่งเด็กที่คอยบอกคิวให้นักแสดงเตรียมตัว 5 นาทีก่อนแสดง ครั้งหนึ่งเขาเข้ามาในห้องแต่งตัวของ 2 นักแสดงสาวที่กำลังร้องเพลง เขารอจนร้องจบ แล้วบอกเธอทั้งสองว่าอีก 4 นาที แทนที่จะเป็น 5 นาที

นี่คือตัวอย่างของเรื่องราวเล็กๆ ที่ใช่ว่าจะไร้ความสำคัญ

นอกจากนำเสนอความเป็นทีมเวิร์คของคณะละครแล้ว Topsy-Turvy ได้แสดงถึงความตั้งใจจริงของคนกลุ่มหนึ่งต่อศิลปะการละคร ไม่ว่าชีวิตจริงจะมีเรื่องราวทุกข์ใจเช่นไร แต่เมื่อถึงเวลาซักซ้อมหรือแสดงพวกเขาก็ทุ่มเทให้อย่างเต็มที่ อีกทั้งหนังยังพูดถึง 2 ขั้วตรงข้ามระหว่างโลกแห่งความจริงกับโลกมายาที่อาจข้ามล้ำเขตแดนกันและกันอยู่เสมอ เช่น อาการเห็นภาพปิศาจมาหลอกหลอนของพ่อของกิลเบิร์ตจนลูกชายมองพ่อด้วยความพิศวงงงงวย หรือจินตนาการเรื่องอำนาจล้นเหลือของมิคาโดะแห่งญี่ปุ่นในละคร คล้ายตั้งใจเปรียบกับอิทธิพลของจักรวรรดินิยมอังกฤษในเวลานั้น

ทั้งนี้ เพราะมี “ความจริง” อยู่ในละคร เช่นเดียวกับมี “จินตนาการ” ในชีวิตจริง เกินกว่าจะแยกขาดจากกัน

และเมื่อมองไปที่วิธีการนำเสนอของหนังจะยิ่งเห็นประเด็นดังกล่าวชัดเจนขึ้น เพราะบางฉากชีวิตจริงถูกถ่ายทอดออกมาเหมือนผู้ชมกำลังชมละคร ด้วยการตั้งกล้องแช่ทิ้งไว้ตรงกึ่งกลางภาพ ขณะที่ฉากละครบทเวทีกลับมีการเคลื่อนกล้อง-ตัดต่อ เพื่อเสริมแต่งตัวละครให้ผู้ชมสัมผัสใกล้ชิดราวกับเป็นชีวิตจริง

ผู้กำกับฯไมค์ ลีห์ ยังใช้วิธีการให้นักแสดงทำความรู้จักตัวละครที่ตนสวมบท ค้นหาบุคลิกท่าทางด้วยตนเองในแต่ละฉากไปพร้อมๆ กับที่ลีห์เขียนบทหนัง เป็นวิธีการที่เขาใช้มาตลอด รวมทั้งใช้ในหนังดัง 2 เรื่อง ของเขาคือ Naked (1993) และ Secrets & Lies (1996) ที่สำคัญ นักแสดงทุกคนต่างมีความสามารถจริงๆ ทั้งการร้อง การเต้น และเล่นดนตรี คนที่รับบทเป็นนักแสดงใน Topsy-Turvy จึงต้องสวมบทเป็นตัวละครบทเวทีอีกชั้นหนึ่ง (บางคนอาจถึง 2-3 บท) จนเหมือนกับลีห์ได้สร้างละครเพลงขึ้นมาจริงๆ แล้วนำมาใส่ไว้ในหนัง แม้ว่าจะไม่ครบทุกองก์ทุกฉาก แต่ฉากละครเหล่านี้นี่เองที่สร้างสีสันให้กับหนังอย่างเต็มเปี่ยม ด้วยบทเพลงอันไพเราะ (โดยเฉพาะเพลงน่ารักๆ อย่าง Three Little Maids from School Are We) ฉาก และเครื่องแต่งกายสวยสดงดงาม เหมาะสมกับรางวัลออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม แต่งหน้ายอดเยี่ยม และน่าจะคว้ารางวัลออกแบบงานสร้างยอดเยี่ยมอีกรางวัลหนึ่งบนเวทีออสการ์

สำหรับผู้เขียน ถ้าหนังอย่าง Looking for Richard (1996) ของ อัล ปาชิโน และ Shakespeare in Love (1998) ของ จอห์น แมดเดน คือหนัง 2 เรื่องล่าสุดในทำเนียบหนังยอดเยี่ยมเกี่ยวกับกลุ่มคนละครเวที

เพิ่ม Topsy-Turvy เข้าไปอีกเรื่องหนึ่งย่อมไม่มีข้อกังขาใดๆ ในใจ



imdb



Create Date : 26 ตุลาคม 2552
Last Update : 26 ตุลาคม 2552 18:44:01 น.
Counter : 2455 Pageviews.

1 comments
  
อ่านจบแล้ว เรื่องนี้ยังไม่เคยดูเลยครับ จากที่อ่านมาก็น่าสนใจทีเดียว แต่สำหรับ happy go lucky งานล่าสุดของไมค์ ลีห์ นี่ผมชอบเอามากๆ
เทียบกับเรื่องนี้จากที่อ่านของคุณพล ฯ happy go lucky ก็มีประเด็นคล้ายอยู่เหมือนกันระหว่างจินตนาการและความจริง ความทับซ้อนและข้อดีข้อเสียองแตละขั้วความคิด
ถ้ามีโอกาสจะเสาะหามาดูละกัน
เมื่อวานเพิ่งดู broken embrace มา ก็ชอบเหมือนกันตามสไตล์ผู้กำกับ ถือว่าอยู่ในมาตรฐาน
ว่าแต่คุณดู "เฉือน" รึยัง (อย่าอ่านผิดเป็นถูกเฉือนน่ะ) มองแบบเข้าข้างหนังไทยหน่อย ผมว่าเรื่องนี้ใช้ได้ทีเดียวน่ะ
โดย: beerled IP: 58.9.248.32 วันที่: 27 ตุลาคม 2552 เวลา:16:42:49 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Aloneagain.BlogGang.com

แค่เพียงรู้สึกสุขใจ
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]

บทความทั้งหมด