4 : 30 เวลาที่ฟ้าใกล้สว่าง


4 : 30
เวลาที่ฟ้าใกล้สว่าง

พล พะยาบ
คอลัมน์อาทิตย์เธียเตอร์ มติชนรายวัน 10 ธันวาคม 2549


*อุตสาหกรรมหนังสิงคโปร์น่าจะเป็นอุตสาหกรรมหนังที่เติบโตรวดเร็วและประสบความสำเร็จแบบก้าวกระโดดมากที่สุดในเอเชีย เมื่อมองว่าประเทศนี้เพิ่งจะมีหนังของตนเองเรื่องแรกเมื่อปี 1991 หรือ 15 ปีก่อน จากเรื่อง Medium Rare ผลงานของ อาเธอร์ สมิธ ผู้กำกับฯชาวอังกฤษ ทั้งยังขาดทุนบานเบอะเมื่อคราวออกฉาย

แต่เพียง 4 ปีหลังจากนั้น ผู้กำกับฯ อีริค คู ก็พาหนังทุนต่ำเรื่อง Mee Pok Man อวดสายตาชาวโลกและได้รับเสียงตอบรับในทางบวก ก่อนจะตอกย้ำที่ทางให้แก่ตนเองและวงการหนังสิงคโปร์ด้วย 12 Storeys ปี 1997 ในฐานะหนังสิงคโปร์เรื่องแรกที่ไปฉายยังเมืองคานส์ ตามติดด้วยความสำเร็จของ Forever Fever ของ เกลน โกย ที่ค่ายมิราแมกซ์ยอมทุ่มเงิน 4.5 ล้านเหรียญสิงคโปร์ ซื้อไปฉายในสหรัฐ

ความสำเร็จดังกล่าวอาจเป็นเพราะหนังสิงคโปร์เริ่มเดินหน้าพอดีกับช่วงเวลาที่กระแสหนังเอเชียกำลังไหลเชี่ยวกรากบนเวทีหนังโลก เมื่อได้นายทุนและบุคลากรที่พร้อมพุ่งไปข้างหน้าอย่างเต็มตัวเป็นผู้คอยขับเคลื่อนด้วยแล้ว...อะไรก็ดูจะฉุดไม่อยู่

นายทุนกลุ่มสำคัญของวงการหนังสิงคโปร์คือ เรนทรี พิคเจอร์ ซึ่งเปิดตัวในช่วงปลายทศวรรษ 90 และมีส่วนสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมหนังสิงคโปร์เป็นเสมือน “เสือตัวใหม่” แห่งเอเชียตะวันออก

ผลผลิตเด่นๆ ของเรนทรี เช่นการร่วมมือกับผู้ผลิตจากฮ่องกงทำหนังเรื่อง The Eye (คนเห็นผี-2002) และ Infernal Affairs II (ต้นฉบับ 2 คน 2 คน-2003) หนังฮิตในประเทศเรื่อง Chicken Rice War (2000) และ One Leg Kicking (2001) รวมทั้งหนังที่น่าจะเป็นที่รู้จักในบ้านเรามากที่สุดเรื่อง I Not Stupid (ผม...ไม่โง่-2002) ของ แจ๊ค เนียว

ข้อมูลที่ไม่เกี่ยวกับหนัง แต่ช่วยให้เห็นภาพว่าทำไมอุตสาหกรรมหนังสิงคโปร์จึงเติบโตรวดเร็วคือ เรนทรี พิคเจอร์ เป็นบริษัทลูกของ มีเดียคอร์ป ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจสื่อผู้ผูกขาดกิจการโทรทัศน์ในสิงคโปร์ และหากไล่เรียงสายใยทางธุรกิจต่อไปเรื่อยๆ ก็จะพบชื่อคุ้นๆ ของ “เทมาเส็ก โฮลดิงส์” กลุ่มบริษัทของรัฐบาลสิงคโปร์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยในที่สุด

สำหรับผู้กำกับฯสิงคโปร์ซึ่งเป็นที่รู้จักนอกประเทศ นอกจาก อีริค คู และแจ๊ค เนียว แล้ว รอยสตัน ตัน คือผู้กำกับฯหนุ่มมาแรงอีกคนหนึ่งที่ถูกจับตามองในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา

*รอยสตันผันตัวจากการกำกับหนังโฆษณามาทำหนังยาวเรื่องแรกชื่อ “15” ในปี 2003 โดยขยายความจากหนังสั้นชื่อเดียวกันของตนเอง หนังเกี่ยวกับแก๊งวัยรุ่นสุดหวือหวาที่มีฉากยาเสพติดเรื่องนี้โดนกรรมการเซ็นเซอร์ของสิงคโปร์หั่นทิ้งหลายฉากและได้เรตอาร์หรือจำกัดผู้ชมที่มีอายุ 21 ปีขึ้นไป ว่ากันว่าเหตุผลลึกๆ ที่ทางการไม่ปลื้มเพราะหนังใช้ภาษาฮกเกี้ยนมากเกินไป แทนที่จะใช้ภาษาจีนกลางหรือภาษาอังกฤษ

ปี 2005 รอยสตันมีงานใหม่ชื่อ 4 : 30 ด้วยสไตล์นิ่งเงียบสงบเสงี่ยมต่างจากผลงานเรื่องแรกโดยสิ้นเชิง ชื่อหนังหมายถึงเวลาตี 4 ครึ่ง ซึ่งรอยสตันอธิบายว่าเป็นช่วงเวลาที่เขาสัมผัสถึงความเหงาจับจิต ขณะเดียวกันก็รู้สึกถึงการเชื่อมต่อกับผู้คนได้ เป็นความรู้สึกขัดแย้งที่ยากอธิบายจนต้องถ่ายทอดออกมาเป็นหนัง

หนังเล่าถึงเด็กชายวัย 11 ขวบ ชื่อ เซียวหวู อยู่ตามลำพังในอพาร์ตเมนต์เพราะแม่ไปทำงานที่ปักกิ่ง นานๆ ครั้งแม่จึงจะโทรทางไกลมาหา เขาไม่มีใครดูแล ไม่มีคนพูดคุย ไม่มีเพื่อน

ตอนกลางวันเซียวหวูไปโรงเรียน แต่เขามักจะเผลอหลับจนถูกครูลงโทษ บ่อยครั้งเขาไม่ยอมทำการบ้านตามที่ครูสั่ง โดยเฉพาะการวาดรูป “ความใฝ่ฝัน” โดยเซียวหวูบอกว่าเขาไม่เคยฝัน และการเขียนเรียงความเรื่อง “คนเก่งของฉัน” ซึ่งเด็กผู้ชายมักจะเขียนถึงพ่อของตนเอง

อันที่จริงเซียวหวูไม่ได้อยู่คนเดียว ยังมีชายชาวเกาหลีวัยสามสิบชื่อ จุง ที่แม่พามาเช่าพักในอพาร์ตเมนต์ แต่ทั้งสองไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกัน ต่างคนต่างอยู่ ไม่มีการพูดคุยทักทาย ราวกับว่าต่างพกพาโลกลำพังไว้กับตัวตลอดเวลา

เรื่องที่จุงไม่เคยรู้คือ เวลาตี 4 ครึ่ง ซึ่งจุงมักจะเมาหลับใหลไม่รู้สึกตัว เซียวหวูจะย่องเข้ามาในห้องของเขา ค้นสัมภาระและหยิบสิ่งของเล็กๆ น้อยๆ กลับออกไป

ในแสงสลัวของช่วงเวลาที่ฟ้าใกล้สว่าง เซียวหวูจะพินิจพิจารณา “สิ่ง” เหล่านั้น พร้อมกับบันทึกลงในหนังสือ ราวกับเป็นการค่อยๆ ทำความรู้จักเพื่อนเพียงคนเดียวในโลก

โดยเรื่องราวเกี่ยวกับจุงเพียงเรื่องเดียวที่เซียวหวูรู้แน่ชัดคือ จุงต้องการฆ่าตัวตาย

วันคืนคืบเคลื่อนเชื่องช้า โลกของคนเหงา 2 คน ได้เข้ามาซ้อนเหลื่อมกันในที่สุด เซียวหวูและจุงค่อยๆ เปิดทางให้แก่กันมากขึ้น ทำให้บางค่ำคืนแห่งความเหงา ทั้งสองไม่ต้องโดดเดี่ยวลำพัง

กระนั้น โลกที่ซ้อนเหลื่อมกันใช่ว่าจะเป็นเช่นนั้นตลอดไป เหมือนเช่นห้วงยามที่ต้องเคลื่อนผ่านไปเสมอ

ขณะที่หนังเหงาๆ เรื่องอื่นมักจะไม่บอกกล่าวปมหรือปูมหลังความเป็นมาของตัวละครเท่าใดนัก แต่รอยสตันได้เติมเต็มตัวละครใน 4 : 30 ให้ผู้ชมได้รับรู้ถึงปมปัญหาสำคัญอันเป็นที่มาของพฤติกรรมของตัวละคร และถือเป็นความดีความชอบของบทหนังที่เขียนโดยรอยสตันและ เลียม เยียว ในการสื่อถึงเรื่องดังกล่าวทั้งที่หนังทั้งเรื่องมีบทสนทนานับครั้งได้ รวมทั้งใช้ภาพเล่าเรื่องง่ายๆ คอยช่วยเสริม

*เช่น ฉากที่บอกว่าเซียวหวูไม่มีพ่อ และให้ข้อมูลเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับจุงในสายตาของเซียวหวู ผ่านการอ่านเรียงความเพียงฉากเดียว หรือฉากกลางดึกที่เซียวหวูดูหนัง พร้อมกับพูดบทสนทนาของตัวละครหนึ่งโต้ตอบกับอีกตัวได้อย่างแม่นยำ ทำให้เข้าใจได้ว่าเซียวหวูดูหนังเรื่องนี้เพื่อฆ่าเวลายามดึกดื่นมาแล้วหลายรอบ และการโต้ตอบกับตัวละครในหนังก็เหมือนกับได้ปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์(สังเกตว่าเซียวหวูพูดทับบทของตัวละครหญิงโต้ตอบกับตัวละครชาย เมื่อนำมาเชื่อมกับเรื่องราวความใกล้ชิดกับจุง หนังจึงมีแง่มุมของรักร่วมเพศปะปนอยู่)

หากการย่องเข้าห้องจุง หยิบสิ่งของ และจดบันทึก คือการทำความรู้จักเพื่อนเพียงคนเดียวของเซียวหวู หนังได้ค่อยๆ เพิ่มระดับให้เซียวหวูรู้จักจุงมากขึ้น โดยครั้งแรกสิ่งที่เซียวหวูหยิบกลับออกมาเป็นเพียงขยะที่บอกว่าจุงกินอะไร ชิ้นต่อมาคือชิ้นส่วนจากร่างกายของจุง อีกวันหนึ่งเป็นภาพถ่ายคู่ของคนทั้งสอง จนเมื่อเซียวหวูกับจุงแบ่งปันความรู้สึกต่อกัน ชิ้นส่วนในบันทึกวันต่อมาจึงเป็นคราบน้ำตาบนเสื้อ

การที่เซียวหวูบันทึกความสัมพันธ์เหล่านี้ไว้ท้ายแต่ละบทของหนังสือจึงเปรียบเป็นเรื่องราวที่ดำเนินคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง และเซียวหวูไม่ต้องการสูญเสียมันไป และเพราะเหตุนี้ เมื่อความสัมพันธ์ดังกล่าวต้องสะบั้นลงก่อนถึงบทสุดท้ายจึงนำพาความโศกเศร้าถึงที่สุด เหมือนว่าโลกก่อนฟ้าสว่างของเซียวหวูจะมืดมิดลงตลอดกาล

ว่าไปแล้วเรื่องของคนเหงาผู้โหยหากับการล่วงล้ำ “พื้นที่ส่วนตัว” อาจทำให้นึกถึง Chungking Express(1994) ของหว่องกาไว ขณะเดียวกัน เรื่องราวทำนองนี้กับสไตล์ภาพนิ่งเงียบ เนิ่นนาน และพฤติกรรมไม่เด่นชัดของตัวละครก็ใกล้เคียงกับ Vive L’Amour(1994) ของ ไฉ้หมิงเลี่ยง อย่างยิ่ง

ไม่เพียงเท่านั้น ฉากตัวละครชาวต่างชาติพยายามแขวนคอในห้องพัก กับความสัมพันธ์ของคนเหงา 2 คน ยังพ้องกับ Last Life in the Universe(2003) ของ เป็นเอก รัตนเรือง ซึ่งตามหลังหนังสองเรื่องนั้นมาก่อน

เนื้อหาว่าด้วยอาการเหงา อ้างว้าง ไร้จุดหมายของผู้คน ที่เคยเป็นเทรนด์หนึ่งของหนังเอเชีย(และทั่วโลก) มาตั้งแต่ทศวรรษก่อนนี่เอง ทำให้ 4 : 30 ดูจะเป็นการผลิตซ้ำและเดินตามมาอย่างเชื่องช้า จนมองไม่เห็นความแปลกใหม่เมื่อพิจารณาจากบรรยากาศของหนังและวิธีการนำเสนอ

อย่างไรก็ตาม แนวคิดที่ใช้เรื่อง “เงื่อนเวลา” และ “ความมืด-แสงสว่าง” มาผูกกับความเหงา ถือว่าน่าสนใจและแตกต่างจากหนังเรื่องอื่น ทั้งยังทำให้หนังมีมิติทางอารมณ์ความรู้สึกเสมือนเป็นบทกวีเหงาเศร้าบทหนึ่ง

ที่สำคัญคือ ไม่เสแสร้งและบีบคั้นอารมณ์จนเกินพอดี



Create Date : 07 กุมภาพันธ์ 2550
Last Update : 4 มีนาคม 2551 23:05:52 น.
Counter : 2035 Pageviews.

8 comments
  
อยากดูจัง เหงาๆนิ่งๆอย่างนี้..
ชอบที่ น้องเซียวหวู มีวิธีการหาเพื่อนได้เหงาซึมจับใจจริงๆ
โดย: renton_renton วันที่: 7 กุมภาพันธ์ 2550 เวลา:22:26:37 น.
  
โอว ไม่เคยดูหนังสิงคโปร์มาก่อนเลย
ทั้งที่ใกล้ตัวแค่นี้เอง
โดย: ลูกค้ากะดึก IP: 124.120.96.105 วันที่: 7 กุมภาพันธ์ 2550 เวลา:22:26:57 น.
  
น่าดูจัง
โดย: ลูกหนอน. วันที่: 8 กุมภาพันธ์ 2550 เวลา:20:58:59 น.
  
คัยมีหนัง หร์อเวปบ้าง
เราอยากดูมากเลยคับ
pyot2002@yahoo.com
โดย: อชิ IP: 125.24.135.56 วันที่: 2 พฤษภาคม 2550 เวลา:20:35:46 น.
  
ชอบการเขียนของคุณจังครับขออนุญาติลิ้งและนำข้อเขียนบางประโยคไปใส่ในเว็บให้คนอื่นได้อ่านบ้าง
โดย: nan IP: 124.121.50.249 วันที่: 26 กันยายน 2552 เวลา:14:57:07 น.
  
ผมเพิ่มดูจบเมื่อกี้ครับ...

เป็นหนังที่ดูแล้วอิ่มจริงๆ

อยากให้ทุกคนได้ดูกัน

โดย: por IP: 58.8.170.253 วันที่: 8 พฤศจิกายน 2552 เวลา:2:03:26 น.
  
ต้องหามาดูแน่นอนค่ะ
เป็นหนังที่อยู่ใน list การซื้อหนังครั้งต่อไปด้วย
จากคำโปรยที่บอกว่า

4.30 (จีน) ว่ากันว่าเวลาตีสี่ครึ่งคือเวลาที่คนมักจะคิดฟุ้งซ่า นและมีสถิติการฆ่าตัวตายสูงสุด เพราะมันดึกเกินว่าจะนอนแต่ก็เช้าเกินกว่าจะออกไปไหน ต่อไหน เนื้อเรื่องผูกพันอยู่กับเด็กชายที่มักจะลอบมองพี่ชา ยข้างห้องและพยายามทำทุกอย่างเพื่อเขา มีใครคนหนึ่งเรียกหนังเรื่องนี้ว่า "ตื่นขึ้นมาเหงา" ลองไปค้นหาความหมายกันนะครับ


แต่ตอนนี้ 40 กว่าเรื่องที่เพิ่งซื้อมายังดูไม่ถึง 5 เรื่องภายใน 2 เดือนเลย
แหะ ๆ
โดย: ยัยลีลี วันที่: 28 สิงหาคม 2553 เวลา:14:41:25 น.
  

4 : 30 เวลาที่ฟ้าใกล้สว่าง อยากดูอะคับ ใครมีให้ดูบ้าง
โดย: อยากดูอะคับ ใครมีให้ดูบ้าง IP: 192.168.200.138, 182.52.68.29 วันที่: 16 พฤษภาคม 2555 เวลา:22:38:46 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Aloneagain.BlogGang.com

แค่เพียงรู้สึกสุขใจ
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]

บทความทั้งหมด