The Blood of My Brother & Iraq in Fragments : อิรัก เรียลิตี้



The Blood of My Brother & Iraq in Fragments
อิรัก เรียลิตี้

พล พะยาบ
คอลัมน์อาทิตย์เธียเตอร์ มติชนรายวัน 6 และ 13 มกราคม 2551


(1)

หากการนำเสนอเรื่องราวโดยถ่ายทำด้วยการถือกล้องด้วยมือซึ่งให้ภาพสั่นไหวดิบหยาบในหนังเกี่ยวกับวิกฤตตะวันออกกลางอย่าง Syriana (2005) และเห็นชัดขึ้นใน The Kingdom (2007) คือการใช้ประโยชน์จากความคุ้นเคยของผู้คนที่มีต่อภาพข่าวทางโทรทัศน์ โดยเฉพาะข่าวเกี่ยวกับอิรักที่มีให้เห็นทุกเมื่อเชื่อวัน เพื่อสร้างความสมจริงให้แก่ภาพยนตร์

หนังสารคดีอย่าง The Blood of My Brother : A Story of Death in Iraq (2005) และ Iraq in Fragments (2006) ย่อมเป็นความสมจริงที่มาพร้อมกับความน่าเชื่อถือ ในยุคที่ใครก็เป็นผู้เสนอข่าวสารข้อเท็จจริงได้เพียงแค่มีกล้องวิดีโอ ซึ่งเข้ามาทดแทนข้อเท็จจริงอันขาดพร่องจากการหลีกเลี่ยง-ปกปิด-บิดเบือนของสื่อกระแสหลักและอำนาจรัฐ

ดังนี้ เราจึงได้เห็นภาพความเป็นไปของชาวมุสลิมในอิรักซึ่งได้รับผลกระทบรุนแรงจากน้ำมือของสหรัฐอเมริกาในแง่มุมที่ไม่อาจสัมผัสพบเห็นได้ทั่วไป แม้ภาพที่เห็นจะเป็นตัวอย่างเพียงส่วนน้อย ไม่ได้ครอบคลุมทุกอาณาบริเวณแห่งปัญหาและความทุกข์ยากก็ตาม

The Blood of My Brother : A Story of Death in Iraq (2005) หนังสารคดีความยาว 90 นาที เป็นผลงานของ แอนดรูว์ เบอเรนด์ส ช่างภาพชาวนิวยอร์คซึ่งยังไม่เคยกำกับหนังมาก่อน นอกจากเป็นโปรดิวเซอร์หนังสารคดีชีวิตชาวประมงเรื่อง Urk(2003) และเคยตัดต่อหนังเล็กๆ เรื่อง Sometime in August(1999) เขาใช้เวลา 6 เดือน ในอิรัก บันทึกภาพความเป็นไปต่างๆ ได้กว่า 150 ชั่วโมง ผลิตเป็นหนังสารคดี 2 เรื่อง เรื่องหนึ่งคือ When Adnan Comes Home เกี่ยวกับความทุกข์ทรมานของเด็กหนุ่มวัย 16 ปี ที่ถูกจับข้อหาขโมยสายเคเบิล อีกเรื่องคือ The Blood of My Brother

*The Blood of My Brother เล่าถึงการจากไปของ ราอัด ชายหนุ่มผู้ถูกทหารอเมริกันยิงเสียชีวิต ขณะอาสาไปอารักขามัสยิดหลังจากเกิดเหตุระเบิดพลีชีพในเขตคาดิมิยา กรุงแบกแดด แม้ศพของเขาจะได้รับการแห่แหนยกย่องจากชาวเมืองในฐานะผู้สละชีวิตเพื่อศาสนา แต่ก็ยังไม่อาจเยียวยาความโศกเศร้าและความยากลำบากให้แก่ครอบครัวที่อยู่ข้างหลัง

เมื่อขาดราอัดซึ่งเป็นลูกชายคนโตและเป็นคนหาเลี้ยงครอบครัว อิบราฮิม น้องชายวัย 19 ปี จึงต้องรับภาระดูแลครอบครัวโดยเดินหน้ากิจการร้านถ่ายรูปของพี่ชายต่อไป ทั้งที่ใจของอิบราฮิมอยากแก้แค้นเอาคืนโดยร่วมกับกองกำลังซึ่งเคลื่อนไหวต่อต้านสหรัฐ

นอกจากเรื่องราวของอิบราฮิมและครอบครัวแล้ว หนังนำเสนอปฏิบัติการของทหารอเมริกันร่วมกับทหารอิรักในการกวาดล้างอาวุธและตรวจจับฝ่ายต่อต้าน และเน้นเป็นพิเศษกับภาพความเคลื่อนไหวที่แสดงถึงการปะทุเชื้อความชิงชังอเมริกันในหมู่ชาวมุสลิมชีอะห์ผู้เคารพศรัทธาในตัว ม็อกตาดาร์ อัล-ซาเดอร์ หนึ่งในผู้มีอิทธิพลสูงสุดของอิรักทั้งทางการเมืองและศาสนา ในซาเดอร์ ซิตี้ อันเป็นฐานที่มั่นของเขา โดยมีกองทัพมาห์ดีซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธคอยเปิดศึกปะทะกับทหารสหรัฐทั้งในซาเดอร์ ซิตี้ และนาจาฟ

ไม่ไกลจากบ้าน ชาวอิรักจำนวนหนึ่งพกพาความชิงชังเคียดแค้นไม่ต่างจากที่อิบราฮิมมีอยู่เต็มอกตอบโต้สหรัฐ แต่อิบราฮิมกลับจำต้องหันหลังให้เพื่อดูแลครอบครัว ท่ามกลางปัญหาหนี้สินมากมายและกิจการร้านถ่ายรูปซึ่งไม่อาจเดินหน้าได้ต่อไป

สำหรับ Iraq in Fragments เป็นที่รู้จักมากกว่า The Blood of My Brother จากการเข้าชิงออสการ์สาขาหนังสารคดีเมื่อปี 2007 (แพ้ให้กับ An Inconvenient Truth) รวมทั้งเข้าชิงและคว้ารางวัลจากหลายเวที เป็นผลงานกำกับฯเรื่องที่ 2 ของ เจมส์ ลองลีย์ ต่อจาก Gaza Strip เมื่อปี 2002 เขาใช้เวลาในอิรักถึง 2 ปี ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2003 ถึงเมษายน ปี 2005 ได้ฟุตเตจร่วม 300 ชั่วโมง กระทั่งกลายเป็น Iraq in Fragments เนื้อหาของหนังซึ่งกล่าวถึงสภาพชีวิตของชาวอิรักหลังการโค่นซัดดัมและยึดครองแทนของสหรัฐจึงค่อนข้างหลากหลายและลงลึกในรายละเอียด

หนังแบ่งออกเป็น 3 ภาค เริ่มจากเรื่องราวของเด็กชายโมฮัมเหม็ด วัย 11 ขวบ ในย่านชาวสุหนี่ในกรุงแบกแดด เขาอยู่ตามลำพังกับย่าทำให้ไม่ได้เรียนหนังสือต่อเนื่องเพราะต้องทำงานในร้านซ่อมรถ ส่วนพ่อเป็นตำรวจที่โดนจับเพราะวิพากษ์วิจารณ์ซัดดัม ฮุสเซ็น จนโมฮัมเหม็ดไม่คิดว่าจะได้พบหน้าพ่ออีก หนังเริ่มต้นด้วยคำพูดของโมฮัมเหม็ดว่าความสวยงามของกรุงแบกแดดอันตรธานไปสิ้นเมื่อไฟสงครามลุกลามมาถึง กระนั้น ไม่ว่าก่อนหรือหลังเกิดสงคราม สภาพชีวิตของเด็กชายดูจะไม่แตกต่างกันนัก

ภาพเฮลิคอปเตอร์อปาเช่ที่บินเหนืออาคารกับภาพพัดลมเพดานหมุนวนในช่วงแรกชวนให้นึกถึงฉากต้นเรื่องของ Apocalypse Now (1979) หนังวิพากษ์สงครามเวียดนามของ ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา

ภาคสองเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของชาวชีอะห์ในเมืองนาจาฟและนาซีริยาห์ภายใต้การนำของ ม็อกตาดาร์ อัล-ซาเดอร์ และการดูแลของ ชีค อาวส์ ทั้งพิธีกรรมทางศาสนา การชุมนุมต่อต้านการยึดครองของสหรัฐ การเดินขบวนอย่างสงบเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวมุสตาฟา ยาคูบี ที่ถูกจับในคดีสังหาร อยาโตลลาห์ ซาเอ็ด อัล โคอี ก่อนลงท้ายด้วยหลายชีวิตต้องสูญเสีย ภาพกองทัพมาห์ดีถืออาวุธปืนกวาดล้างพ่อค้าขายเหล้าในนาซีริยาห์

ขณะเดียวกัน กระบวนการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นในนาซีริยาห์ก็ดำเนินคืบหน้าไปไม่ราบรื่นนัก เมื่อมีทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายศาสนา แต่ละฝ่ายยังแยกเป็นกลุ่มเฉพาะอีกชั้นหนึ่ง ช่วยสะท้อนถึงการเมืองระดับชาติได้อย่างดี

ภาคสามชื่อว่า “ฤดูใบไม้ผลิของชาวเคิร์ด” พาไปยังเมืองเล็กๆ ทางตอนเหนือของอิรัก ชาวเคิร์ดที่นี่มีอาชีพทำอิฐ เพาะปลูก และเลี้ยงสัตว์ ภาพชีวิตสงบเงียบเรียบง่าย อีกทั้งภาพทิวทัศน์งดงามตามธรรมชาติ แสดงให้เห็นว่าพวกเขาผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งความทุกข์ทรมานสมัยซัดดัมครองอำนาจมาได้แล้ว

หนังจับเรื่องราวของอิหม่ามชราผู้วาดหวังให้ สุไลมาน ลูกชายคนหนึ่งสืบทอดหน้าที่ ขณะที่เด็กชายใฝ่ฝันอยากเป็นหมอ อย่างไรก็ตาม ความเป็นจริงของชีวิตอาจกำหนดทางเดินให้โดยไม่ได้เป็นอย่างใจใครก็ได้ นอกจากนี้ หนังตามไปดูการเลือกตั้งซึ่งชาวบ้านถูกกะเกณฑ์ให้เลือกพรรคของชาวเคิร์ด มีเสียงของอิหม่ามสรุปว่าบัดนี้ผู้นำชาวเคิร์ดพ่วงพี แต่คนจนยังครวญครางเพราะความหิว

*อันที่จริง ยังมีอีกเรื่องราวหนึ่งที่ลองลีย์ถ่ายทำไว้แต่ไม่ได้นำมารวมไว้ใน Iraq in Fragments เป็นหนังสั้นความยาว 21 นาที เรื่อง Sari’s Mother (หาดูได้ในดีวีดี) เรื่องราวเกี่ยวกับแม่ที่ต้องดิ้นรนให้ลูกน้อยผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง หลังจากระบบสาธารณสุขของประเทศล่มสลายเมื่อเกิดสงครามและสหรัฐเข้ายึดครองอิรัก




(2)

แม้วิธีนำเสนอและการเข้าถึงประเด็นปัญหาของหนังสารคดีจะมีแนวทางหรือมุมมองให้เลือกใช้ได้หลากหลาย แต่สิ่งที่ แอนดรูว์ เบอเรนด์ส กับผลงานเรื่อง The Blood of My Brother : A Story of Death in Iraq และเจมส์ ลองลีย์ กับ Iraq in Fragments เลือกทำนั้นเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

นั่นคือสำรวจชีวิตและความเป็นไปของชาวอิรักหลังการรุกรานของสหรัฐ โดยถ่ายทอดผ่านคนเล็กๆ ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งอยู่นอกเหนือขอบเขตการนำเสนอของสื่อทั่วไป

ที่น่าคิดคือการถ่ายทอดภาพชีวิตและความคิดความรู้สึกของชาวอิรักอย่างใกล้ชิด ให้เขาเหล่านี้บรรยายความรู้สึกด้านลบ ทั้งความทุกข์ยาก ความเศร้าโศก ความหวาดกลัว ความเกรี้ยวกราดโกรธขึ้ง ในห้วงเวลาหลังสงคราม โดยไม่ให้พื้นที่แก่ฝ่าย “ผู้ปกครองชั่วคราว” อย่างสหรัฐเลย นอกจากภาพการปฏิบัติงานเพียงเล็กน้อย ซ้ำยังเป็นภาพถือปืนลาดตระเวนตลาด และบุกตรวจค้นบ้านยามวิกาล (ในเรื่อง The Blood of My Brother)

แม้ผู้สร้างไม่ได้พูดเองโดยตรง ในระดับหนึ่ง...หนังสารคดี 2 เรื่องนี้ย่อมมีสถานะเป็นหนังต่อต้านสงครามปลดปล่อยอิรัก

อีกระดับหนึ่ง...หนังทั้งสองมีสถานะเป็นเหมือนสื่อทางเลือกที่ให้คนอิรักซึ่งเป็นชาวบ้านธรรมดา (อาจรวมถึงฝ่ายต่อต้านสหรัฐ)ได้พูดบ้าง ท่ามกลางพื้นที่สื่อหลักซึ่งถูกยึดครองโดยผู้กุมความเป็นไปทั้งในฝ่ายสหรัฐและฝ่ายอิรัก

ขณะที่เรื่องของชาวบ้านมีแค่ยอดบาดเจ็บล้มตายที่ผ่านการตกแต่งแล้ว!

นอกจากเลือกถ่ายทอดความเป็นไปของชาวอิรักโดยหยิบเอาเรื่องราวของใครคนหนึ่งเป็นกรณีตัวอย่างเหมือนกันแล้ว ทั้ง The Blood of My Brother และ Iraq in Fragments ต่างนำเสนอความเคลื่อนไหวของชาวชีอะห์ผู้ศรัทธาในตัว ม็อกตาดาร์ อัล-ซาเดอร์ ในเมืองซาเดอร์ ซิตี้ รวมถึงติดตามกองทัพมาห์ดีซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มนี้ ทั้งๆ ที่มีกลุ่มและกองกำลังติดอาวุธลักษณะใกล้เคียง เช่น กองกำลังบาเดอร์ของกลุ่ม SCIRI หรือฝ่ายกบฏสุหนี่

สันนิษฐานว่าเหตุผลที่หนังทั้งสองพร้อมใจติดตามกลุ่มของอัล-ซาเดอร์ เป็นเพราะเข้าถึงง่ายและเสี่ยงน้อยกว่า อีกทั้งกลุ่มนี้มีการรวมตัวแสดงออกทางศาสนาที่ชัดเจนและขรึมขลังเพราะอยู่ภายใต้การนำของฝ่ายศาสนา ขณะที่กองกำลังบาเดอร์-กลุ่ม SCIRI มีรูปแบบของ “การเมือง” มากกว่า

ถ้าเป็นอย่างข้อสันนิษฐานย่อมหมายความว่าผู้สร้างได้ตั้งโจทย์ว่าจะนำเสนอเรื่องราวของชาวอิรักโดยขับเคลื่อนเชื่อมโยงกับศาสนาอิสลาม

ใน The Blood of My Brother ค่อนข้างชัดเจนว่าผู้สร้างดึงมิติทางศาสนามาใช้เป็นสำคัญ นอกจากจะมีภาพพิธีกรรมและความคิดความเชื่อของชาวมุสลิมอยู่มากมายแล้ว เรื่องราวการเสียชีวิตของราอัดที่ถูกทหารสหรัฐยิงเกิดขึ้นที่ศาสนสถานซึ่งเขาอาสาไปเฝ้ายาม กระทั่งได้รับยกย่องว่าเป็นผู้สละชีวิตเพื่อศาสนา(martyr)

หลังจากนั้น คำว่า “ผู้สละชีวิตเพื่อศาสนา” ถูกเอ่ยถึงอีกหลายครั้ง ทั้งหมายถึงราอัดและเมื่อมีผู้เสียชีวิตคนอื่นๆ เพราะน้ำมือของทหารสหรัฐ ประกอบกับภาพการชุมนุมทางศาสนาของคนนับร้อยพันที่ค่อยๆ เพิ่มดีกรีความไม่พอใจไปจนถึงชิงชังเคียดแค้นสหรัฐ เนื่องจากถูกยึดครอง กดขี่ และสร้างความขมขื่นมากขึ้นเรื่อยๆ

ข้อความหนึ่งถูกเอ่ยโดยผู้นำการชุมนุมว่า “เราเคยถูกปกครองโดยเผด็จการคนเดียว(ซัดดัม) แต่บัดนี้เรามีกลุ่มเผด็จการ(สหรัฐและกองกำลังนานาชาติ)”

Iraq in Fragments นั้นแตกต่างไป แม้จะมีเรื่องราวส่วนที่ 2 ซึ่งเกี่ยวกับกลุ่มม็อกตาดาร์ อัล-ซาเดอร์ และกองกำลังมาห์ดีที่เคลื่อนไหวต่อต้านสหรัฐ แต่นี่เป็นเพียงส่วนที่นำเสนอเรื่องราวของฝ่ายชีอะห์ คั่นระหว่างเรื่องของชาวสุหนี่และชาวเคิร์ด ซึ่งทั้ง 3 ฝ่าย ต่างมีสถานะและทัศนคติที่ต่างกันไป

ฝ่ายสุหนี่กล่าวว่าสหรัฐกอบโกย และถามว่าพรรคดาวะ(พรรคของ นูรี อัล-มาลิกิ นายกรัฐมนตรีฝ่ายชีอะห์) มัวไปอยู่ที่ไหนตลอด 35 ปี มาถึงก็ได้เสวยสุขและไม่สนใจชาวสุหนี่ ฝ่ายชีอะห์พยายามกีดกันสุหนี่(ในการประชุมเรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่น) และตั้งตนเป็นฝ่ายใช้ความรุนแรงเสียเอง ส่วนฝ่ายเคิร์ดถูกหาว่าเป็นต้นเหตุให้สหรัฐเข้ามารุกราน เป็นพวกลบหลู่ศาสนา จนอิหม่ามชาวเคิร์ดถามกลับว่าแล้วทำไมพวกระเบิดพลีชีพถึงเรียกว่าจิฮัดหรือเป็นผู้สละชีวิตเพื่อศาสนา

*สถานะและทัศนคติที่ต่างกันนี้คือหลักใหญ่ใจความของ Iraq in Fragments ที่ชี้ว่าหลังการรุกรานของสหรัฐ อิรักยังคงแบ่งแยกเป็นส่วนๆ ยากจะประสานเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งมิติทางศาสนาถูกใช้เพื่อเน้นให้เห็นถึงความแตกแยกภายใต้ศาสนาเดียวกัน

โดยรายละเอียดและภาพรวม Iraq in Fragments ดูจะเหนือกว่า The Blood of My Brother ตรงที่นำเสนอภาพตัวอย่างความเป็นไปของชาวอิรักได้ครบทั้ง 3 ฝ่ายหลัก แม้จะยังไม่ครบในทุกความเคลื่อนไหวตามข้อจำกัดของหนังก็ตาม ที่สำคัญคือหนังไม่ได้พุ่งเป้าเพียงว่าสหรัฐคือผู้ร้ายที่สร้างความหายนะให้อิรัก แต่ในหมู่ชาวอิรักเองต่างฝ่ายต่างก็เป็นผู้ร้ายในสายตาของอีกฝ่ายด้วยกันทั้งสิ้น

ชื่อของซัดดัม ฮุสเซน ถูกเอ่ยถึงบ่อยครั้ง ไม่ใช่การก่นด่าสาปแช่ง แต่ถูกยกมาเปรียบเทียบว่ามี “ซัดดัม” คน(กลุ่ม)ใหม่มาแทนที่ในร่างอื่น

งานด้านภาพของ Iraq in Fragments คือจุดเด่นของหนัง มีทั้งดิบหยาบแบบภาพข่าวและงดงามสร้างสรรค์ อย่างไรก็ตาม จุดที่ผู้เขียนไม่เห็นด้วยนักคือการตัดต่อภาพและเสียงซึ่งถี่และดูปรุงแต่งมากเกินไป จนเกิดความไม่แน่ใจในเนื้อหาว่าถูกล่อลวงให้คิดไปตามการตัดต่อมากน้อยเพียงใด ทั้งที่นี่เป็นหนังสารคดีซึ่งควรนำเสนอความเป็นจริงให้มากที่สุด

สำหรับ The Blood of My Brother มีฉากปะทะกันระหว่างกองกำลังมาห์ดีกับทหารสหรัฐที่แสดงให้เห็นว่าผู้สร้างเสี่ยงตายแค่ไหน ใช่เพียงภาพอันน่าตื่นเต้นเท่านั้น ผลลัพธ์ของการเสี่ยงตายยังทำให้ได้ภาพซึ่งสัมผัสได้ถึงอารมณ์ความรู้สึกของคนที่ออกไปสู้รบบนถนนหน้าบ้าน และคนที่บ้านต้องกลายเป็นสนามรบ

ด้วยหนังทั้ง 2 เรื่อง นำเสนอภาพความเป็นไปของชาวอิรักผ่านคนเล็กๆ จึงไม่ได้ให้พื้นหลังเกี่ยวกับอิรักหลังสหรัฐยึดครองว่าเป็นไปอย่างไร มีใครเกี่ยวข้องบ้าง กระนั้น หนังได้เอ่ยชื่อเฉพาะจำนวนมากผ่านคำพูดของผู้ที่หนังถ่ายทำโดยไม่มีส่วนขยายให้รู้ว่าคืออะไรหรือเป็นใคร หลายชื่อเขียนถึงแล้วในบทความนี้ เช่น อัล-ซาเดอร์ มาห์ดี อัล-มาลิกิ ดาวะ ยังมีชื่ออื่นๆ อีกเช่น ซิสตานี เบรเมอร์ อาลาวี ฯลฯ ดังนั้น หนังจึงเรียกร้องผู้ชมให้รู้พื้นหลังข่าวคราวเกี่ยวกับอิรักบ้าง เพื่อจะได้เข้าใจในรายละเอียดที่มีอยู่พอสมควร

ที่สำคัญคือเพื่อให้เข้าถึงชาวอิรักดียิ่งขึ้น



Create Date : 03 สิงหาคม 2551
Last Update : 4 สิงหาคม 2551 15:52:17 น.
Counter : 1704 Pageviews.

9 comments
  
ตอนดู Iraq in Fragments ก็รู้สึกอยู่บ้างเหมือนกันค่ะว่าบางภาพบางฉาก ดูจงใจจัดภาพจัดแสงให้สวยเกินกว่าที่จะบอกว่าตัวเองเป็นสารคดี..หรือเปล่า...

แต่เหนืออื่นใด ใส่ใจในแก่นของเรื่องดีกว่า หุหุ
โดย: renton_renton วันที่: 3 สิงหาคม 2551 เวลา:20:39:52 น.
  
ผมดูหนังอิรักไม่ไหวแล้วครับ พอกันที 555

ช่วงนี้ได้ดูแต่หนังสั้นในงาน หนังมาราธอนครับ ก็มีอะไรเหวอๆ อยู่เรื่อย
โดย: merveillesxx วันที่: 4 สิงหาคม 2551 เวลา:3:51:18 น.
  
อยากดู 2 เรื่องนี้บ้างต้องทำไงครับ
(อยู่ ตจว.) หนังมีบรรยายไทยหรือเปล่า
montblanc025@hotmail.com
โดย: zuka1 IP: 118.173.191.105 วันที่: 5 สิงหาคม 2551 เวลา:14:04:37 น.
  
ผมเองได้ดูแค่หนัง/สารคดี สงครามในอิรัก จากผกก.ดังๆในยูเอสออฟเอเองครับ ส่วนหนังหรือสารคดีประมาณนี้ ถ้าไม่เกี่ยวข้องกับงาน หรืออยู่ในห้วงที่อยากรับรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง ที่กำลังเกิดขึ้นบนโลก ผมคงปล่อยผ่านมันไปก่อนครับ
โดย: BloodyMonday วันที่: 5 สิงหาคม 2551 เวลา:19:06:32 น.
  
หลังไมค์นะฮะ
โดย: renton_renton วันที่: 7 สิงหาคม 2551 เวลา:11:35:15 น.
  
Shine a Light ได้ดูก็โอเคครับ แต่ถ้าซานตาคลอสมีจริง ก็อยากจะให้ใครก็ได้ หน้ามืดซื้อมาฉายใน IMAX จังครับ แหะๆๆ
โดย: BloodyMonday วันที่: 9 สิงหาคม 2551 เวลา:15:38:56 น.
  
โดย: renton_renton วันที่: 11 สิงหาคม 2551 เวลา:10:41:06 น.
  

เข้ามาบอกว่า
.. คิดถึงงงงงงงงงงงง

โดย: LunarLilies* วันที่: 12 สิงหาคม 2551 เวลา:15:16:34 น.
  

^
^
คิดถึงก็ไปดู เทวตาตกมันส์ สิ





โดย: แค่เพียงรู้สึกสุขใจ วันที่: 12 สิงหาคม 2551 เวลา:20:10:37 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Aloneagain.BlogGang.com

แค่เพียงรู้สึกสุขใจ
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]

บทความทั้งหมด