Sisters in Law ‘แคเมอรูน’คดี


Sisters in Law
‘แคเมอรูน’คดี

พล พะยาบ
คอลัมน์อาทิตย์เธียเตอร์ มติชนรายวัน 16 กันยายน 2550


*Sisters in Law (2005) เป็นหนังสารคดีความยาว 104 นาที สัญชาติอังกฤษ/แคเมอรูน ว่าด้วยสถานะของผู้หญิงในสังคมมุสลิมแห่งแอฟริกาตะวันตก กำกับโดย 2 สาวต่างสีผิว คนแรกเป็นสาวชาวอังกฤษชื่อ คิม ลองกิน็อตโต เจ้าของหนังสารคดีระดับรางวัลหลายเรื่อง อีกคนที่มาร่วมกำกับคือ ฟลอเรนซ์ อยีซี สาวชาวแคเมอรูน ปัจจุบันกำลังเรียนและสอนด้านภาพยนตร์อยู่ในสหราชอาณาจักร

หนังเดินทางไปฉายมากกว่า 120 เทศกาลทั่วโลก และคว้า C.I.C.A.E. Award จากเมืองคานส์ เป็นรางวัลใหญ่สุด

ถ่ายทำในเมืองคุมบา ประเทศแคเมอรูน(บ้านเกิดของอยีซี) ติดตามการทำงานของ เวรา กาสซา อัยการเขต บีทริซ ตูบา ผู้พิพากษา ร่วมด้วย เวราลีน ทนายอุปถัมภ์ ในคดีความที่เด็กและผู้หญิงจากหมู่บ้านชาวมุสลิมถูกคนใกล้ตัวทำร้ายร่างกายสารพัดรูปแบบ

คดีหลักๆ มีอยู่ 4 คดี คดีแรก อมินา สาวใหญ่ต้องการหย่าเพราะไม่อาจทนให้สามีทุบตีและบังคับขืนใจได้อีกต่อไป คดีที่สอง โซนิตา เด็กหญิงวัย 9 ขวบ ถูกชายชาวไนจีเรียซึ่งเป็นเพื่อนบ้านหลอกไปข่มขืนในบ้าน คดีที่สาม เด็กหญิงตัวน้อยถูกน้าตีด้วยไม้แขวนเสื้อจนร่างกายเต็มไปด้วยบาดแผล และคดีที่สี่ ลาดี สาวใหญ่หนีสามีออกจากบ้าน เธอต้องการหย่าเพราะถูกสามีทำร้ายร่างกาย

กล้องทำหน้าที่เพียงบันทึกเหตุการณ์ ไม่ได้ปรุงแต่งใดๆ ทั้ง 4 คดีถูกนำเสนอตั้งแต่กระบวนการสอบสวน ขึ้นศาล จนถึงคำพิพากษา ได้เห็นอารมณ์ความรู้สึกทุกข์ทรมานของหญิงสาวซึ่งผลักให้เธอออกมายืนยันอย่างหัวเด็ดตีนขาดว่าอย่างไรก็ไม่กลับไปอยู่กับสามี ทั้งที่สิ่งที่เธอทำเช่นการฟ้องร้องสามีนั้นเป็นสิ่งต้องห้ามของสังคมมุสลิมที่นั่น และการหย่าก็เป็นเรื่องที่ไม่มีทางเกิดขึ้นในสังคมที่วางสถานะของผู้หญิงไว้ไม่สูงนัก

คำพูดระหว่างการสอบสวนและคำบอกเล่าต่อผู้ถ่ายทำสารคดีทำให้เรารู้ว่าผู้หญิงชาวมุสลิมที่นี่ไม่ได้รับการศึกษา พวกเธอต้องกลายเป็น “ภรรยา” ทันทีที่มีประจำเดือน โดยพ่อแม่ของเด็กสาวยินยอมรับสินสอดจากฝ่ายชายแม้เป็นเงินไม่มากนัก เมื่อจ่ายสินสอดไปแล้วถือว่าเด็กสาวเป็นสมบัติของฝ่ายชาย และเขามีสิทธิที่จะกระทำอะไรก็ได้ด้วยสถานะของสามีที่สูงกว่า

จากคดีที่ปรากฏในหนัง ฝ่ายสามีต่างเป็นคนสูงอายุ และดูวัยต่างจากภรรยาไม่ต่ำกว่า 20-30 ปี นั่นแสดงว่าเด็กหญิงที่นี่ต่างตกเป็นเครื่องมือทางเพศของผู้ชายสูงวัยด้วยข้ออ้างอันชอบธรรมเรียกว่า “การแต่งงาน”

*กฎทางสังคมมากมายถูกยกมาบังคับล้อมกรอบฝ่ายหญิง เช่นต้องได้รับอนุญาตจากสามีก่อนออกจากบ้าน กระทั่งเป็นข้ออ้างให้สามีทำร้ายทุบตีหากภรรยาฝ่าฝืน ซึ่งผู้ชมจะได้เห็นว่าฝ่ายชายล้วนมีท่าทีเบื้องต้นว่าตนเองมีสิทธิทำเช่นนั้นด้วยเหตุผลสั้นๆ ว่าฝ่ายหญิงเป็นภรรยา และนี่คือธรรมเนียมที่คนที่นี่ยึดถือปฏิบัติมาช้านาน

คดีตัวอย่างที่ถูกบันทึกถ่ายทอดตั้งแต่เริ่มต้นกระทั่งมีผลตัดสินให้ฝ่ายหญิงเป็นอิสระนี้ คือจุดเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลงที่กาสซา ตูบา และเวราลีน สามสาวมือกฎหมายต้องการให้เกิดขึ้นในสังคมแคเมอรูน คือการต่อสู้เพื่อให้ผู้หญิงมีสิทธิในความเป็นมนุษย์เทียบเท่ากับผู้ชาย ซึ่งฉากที่อมินากับลาดีหลุดพ้นจากบ่วงแร้วชื่อว่า “การแต่งงาน” นั้นสร้างแรงสั่นสะเทือนทางอารมณ์ได้อย่างดี และแสดงให้เห็นว่ามีความหวังที่จะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นในสังคมนี้

แม้แก่นสารของหนังเรื่องนี้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะมีให้เห็นในหนังหลายเรื่อง เช่นในหนังอิหร่าน หรือหนังเซเนกัลเรื่อง Moolaade เกี่ยวกับประเพณีการขริบอวัยวะเพศหญิง ของผู้กำกับฯ อุสมาเน เซมเบเน แต่ด้วยเหตุที่ Sisters in Law เป็นหนังสารคดี ความจริงจากอีกดินแดนหนึ่งที่ให้ผู้ชมได้สัมผัสอย่างใกล้ชิดต่างหากคือคุณค่าที่น่ายกย่องชื่นชม

จุดที่หนังทำได้อย่างน่าทึ่งคือบทบาทของกล้องที่เหมือนไม่มีอยู่ในสถานที่นั้นๆ ท่าทีความรู้สึกหรือลักษณะอาการไม่ว่าจะเป็นสุข เศร้า โกรธ เหนื่อยล้า หรือหยิ่งยโส ของคนธรรมดามีชีวิตจริงๆ ไม่ใช่นักแสดง และไม่คุ้นเคยกับกล้อง ที่มาปรากฏตัวในฉากถูกแสดงออกมาอย่างเป็นธรรมชาติ ทำให้ผู้ชมเชื่อว่าหนังสามารถเก็บความจริงมานำเสนอได้มากที่สุด

กระนั้น ส่วนที่อาจจะถือเป็นจุดด้อยคือ หนังเทน้ำหนักไปในทางบวกตั้งแต่ต้นจนจบ ประกอบกับตัวอัยการและผู้พิพากษาเองก็ได้รับความเคารพยำเกรงจากชาวบ้าน จึงเหมือนว่าพวกเธอคุมทิศทางของคดีไว้ในมือ ถ้าให้หนังสารคดีทำหน้าที่อย่างรอบด้านกว่านี้ ผู้ถ่ายทำน่าจะนำเสนอฝ่ายที่มีปฏิกิริยาในทางลบต่อการฟ้องร้องของผู้หญิงบ้าง

ซึ่งแน่นอนว่าต้องมี และน่าจะรุนแรงพอสมควร



Create Date : 02 กุมภาพันธ์ 2551
Last Update : 2 กุมภาพันธ์ 2551 1:54:56 น.
Counter : 2239 Pageviews.

5 comments
  
อยากดู Moolaade มากๆครับ
รู้สึกว่าแอฟริกา มีอะไรที่น่าสนใจเยอะ
แต่ไม่ค่อยออกมาสู่โลกกว้างเท่าไหร่นัก
(อย่างปีที่แล้วโชคดีที่ได้ดู Bamako ในเวิลด์ฟิล์ม)

ส่วนเรื่องนี้ สิ่งที่สะกิดใจผมมากที่สุดคือ
ทำไมเขาถึงปล่อยให้ผู้หญิงไปเป็นอัยการได้ ในสังคมที่กดขี่ขนาดนั้น
ดู irony ยังไงชอบกลนะ
โดย: nanoguy IP: 125.24.86.126 วันที่: 2 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:17:39:52 น.
  
แอฟริกา แอฟริกา ฉันรักเธอ
โดย: เช้านี้ยังมีเธอ วันที่: 2 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:21:37:04 น.
  

ตอบ nanoguy
ผมว่าเป็นเรื่องวัฒนธรรมท้องถิ่นครับ
การกดขี่เกิดขึ้นในสังคมเล็กๆ ห่างไกลความเจริญ มีความเป็นชนเผ่า
ในส่วนที่เจริญแล้วของแคเมอรูน ผู้หญิงคงไม่ถูกกดขี่แบบนี้
เหมือนที่มีข่าวการทรมานผู้หญิงในเนปาล ก็เกิดขึ้นในหมู่บ้านห่างไกลเช่นกัน

อัยการคงถูกแต่งตั้ง หรือผ่านกระบวนการมาจากส่วนกลาง
เวลาชาวบ้านพูดกันเองด้วยภาษาถิ่น เธอถึงได้รีบบอกให้พูดภาษาอังกฤษ
และเพราะเธอเป็นคนจากส่วนกลาง
ชาวบ้านถึงได้เคารพยำเกรงเธอ
โดย: แค่เพียงรู้สึกสุขใจ วันที่: 3 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:16:38:54 น.
  
หนังแนวๆ นี้ส่วนใญหญ่ จะออกแนว ได้รางวัล ดราม่า น้ำตาท่ามจอ กันไป ... ผมเองดูทีไร ชักชวนให้หลับอยู่ตลอด อะนะ สงสัยคงต้องหันไปดูหนังตลก(ไทย) ซะบ้างแล้วล่ะ ..
โดย: haro_haro วันที่: 4 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:13:28:47 น.
  
โดย: renton_renton วันที่: 4 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:23:29:46 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Aloneagain.BlogGang.com

แค่เพียงรู้สึกสุขใจ
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]

บทความทั้งหมด