127 Hours อ่อนแอตามลำพัง



127 Hours
อ่อนแอตามลำพัง

พล พะยาบ


*ดูหนังเรื่อง 127 Hours แล้วนึกถึงรายการสารคดีและหนัง 2-3 เรื่อง

เรื่องแรกเป็นรายการสารคดีชุด Man vs. Wild ที่มีผู้ดำเนินเรื่องชื่อ แบร์ กริลส์ อดีตหน่วยรบพิเศษของอังกฤษ บุกป่าฝ่าดงแบบเรียลิตี้เพื่อสอนวิธีเอาตัวให้รอดในสภาพธรรมชาติอันหฤโหด ได้ทั้งความรู้และความสนุกจนอารมณ์อยากผจญภัยเต้นเร่าขึ้นมาทุกครั้งที่ได้ชม

เรื่องต่อมาเป็นรายการสารคดีชุด I Shouldn't Be Alive จำลองเหตุการณ์ที่ใครคนหนึ่งหรือคนกลุ่มหนึ่งเผชิญหน้ากับเหตุอันตรายถึงชีวิตในสถานที่ธรรมชาติห่างไกลผู้คน ซึ่งสุดท้ายแล้วพวกเขาโชคดีเหลือเกินที่รอดมาได้

สุดท้ายเป็นหนังเรื่อง Into the Wild (2007) จากเรื่องจริงของชายหนุ่มผู้หันหลังให้โลก ใช้ชีวิตตามลำพังในป่าอลาสกา ในที่สุดต้องตายอย่างโดดเดี่ยว

127 Hours เป็นเรื่องจริงของชายหนุ่มผู้ไม่แยแสคนรอบตัวคล้ายกัน แต่ไม่ได้ทำตัวโรแมนติกแบบในเรื่อง Into the Wild ซึ่งในภาวะใกล้ตายพวกเขาต่างถวิลหาความสัมพันธ์ที่เคยทิ้งขว้างระหว่างทางเดินชีวิต

ตัวเอกใน 127 Hours โชคดีเหลือเกินที่รอดมาได้เหมือนใครหลายคนใน I Shouldn't Be Alive เพื่อย้ำเตือนว่าความเก่งกล้าเรื่องการใช้ชีวิตกลางแจ้งอย่างใน Man vs. Wild ไม่เคยทำให้มนุษย์เป็นคู่ต่อสู้ที่เหมาะสมของธรรมชาติ

จากหนังสืออัตชีวประวัติ Between a Rock and a Hard Place ของ แอรอน ราลสตัน แปรเป็นบทภาพยนตร์โดย แดนนี่ บอยล์ และไซมอน โบฟอย โดย แดนนี่ บอยล์ ลงมือกำกับด้วย อำนวยการสร้างโดย คริสเตียน โคลสัน และได้ เอ.อาร์. ราห์มัน ทำดนตรีประกอบ เรียกได้ว่าทีมเดิมจากความสำเร็จของ Slumdog Millionaire (2008) นั่นเอง ผลคือหนังกวาดคำชมมากมายและเฉิดฉายในทุกเวทีรางวัล โดยเฉพาะการเข้าชิงออสการ์ 6 สาขา รวมภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

เริ่มต้นในค่ำคืนที่ แอรอน ตระเตรียมข้าวของเพื่อออกเดินทางไปยังอุทยานแห่งชาติแคนยอนแลนด์สในรัฐยูทาห์ซึ่งเขาคุ้นเคยเป็นอย่างดี มีโทรศัพท์จากน้องสาวเข้ามาแต่เขาไม่ได้สนใจ เสร็จสรรพก็ขับรถไปตามลำพังโดยไม่ได้บอกใครไว้เลยว่าจะไปที่ใด

เช้าวันต่อมาเขาขี่จักรยานและเดินต่อไปยังจุดที่ตั้งใจไว้ ระหว่างนั้นเจอนักท่องเที่ยวสาว 2 คน หลงทางอยู่จึงอาสานำทางไปให้ สองสาวชวนเขาไปร่วมปาร์ตี้ในคืนถัดไป แอรอนตอบรับคำชวนก่อนจะแยกย้ายกันเดินทางต่อ

ทว่าไม่นานจากนั้นแอรอนที่กำลังไต่ช่องเขาอย่างชำนาญก็พลาดร่วงลงมาโดยมีหินก้อนเขื่องร่วงตามมาทับแขนข้างขวาติดแน่นกับผนังของช่องเขานั้น

แอรอนพยายามดึงแขนและทั้งผลักทั้งยกให้ก้อนหินขยับเขยื้อนแต่ก็ไม่เป็นผล สุดท้ายจึงต้องใช้อุปกรณ์ในมีดพับเอนกประสงค์ที่พกมาซึ่งทั้งเล็กและทื่อ (เขาลืม “สวิสอาร์มี่” ไว้ที่บ้าน) สกัดหินเพื่อให้พอขยับแขนออกมาได้ แต่เมื่อใช้เวลาทั้งวันจนวันรุ่งขึ้นแอรอนก็รู้ว่าไม่มีทางสำเร็จ แม้กระทั่งการตัดแขนทิ้งก็เป็นไปไม่ได้ด้วยมีดทื่อๆ เล่มนี้

*อาหารหมดไป น้ำดื่มร่อยหรอ ความหวังเลือนหายลงเรื่อยๆ โดยมีความกลัวเข้าแทนที่ แอรอนเริ่มปล่อยความคิดล่องลอยไปไกล เขานึกถึงเบียร์เย็นๆ ในปาร์ตี้ของสองสาว นึกถึงโทรศัพท์ของแม่ที่เขาไม่ยอมรับสาย นึกถึงเพื่อนที่ทำงานซึ่งเขาไม่ได้เอ่ยปากบอกว่าไปไหน นึกถึงภาพในอดีต พ่อ แม่ น้องสาว คนรักที่เขาตัดสัมพันธ์อย่างไม่ไยดี เหล่านี้มีความหมายขึ้นมาในช่วงเวลาที่เขาโหยหาต้องการ

แอรอนบันทึกวิดีโอเพื่อกล่าวลาพ่อกับแม่ รู้ว่าเขากำลังจะตายอย่างโดดเดี่ยว เมื่อร่างกายอ่อนแอลง จิตใจยิ่งอ่อนแอตามไปด้วย เขาเริ่มเห็นภาพหลอน ได้ยินเสียงแว่ว จินตนาการไปต่างๆ นานา แต่ถึงจุดหนึ่งแอรอนตระหนักถึงชีวิตที่เหลืออยู่ นึกถึงการได้อยู่กับคนมากมายที่เขาเคยหันหลังให้ และใครบางคนที่จะผ่านเข้ามาในช่วงชีวิตที่เหลือ

ก่อนอื่นเขาต้องหลุดพ้นไปจากตรงนี้ให้ได้ ทางออกเดียวคือการตัดแขนทิ้งด้วยมีดทื่อๆ เล่มนั้น!

เมื่อเรื่องราวว่าด้วยนักปีนเขาติดแหง็กอยู่กับที่รอคอยความตายในดินแดนรกร้างผู้คนมาอยู่ในมือ แดนนี่ บอยล์ การนำเสนอย่อมไม่มีทางเป็นแค่หนังผจญภัยลุ้นระทึกหรือมีบทสนทนาน้อยนิดด้วยมีตัวละครแค่หนึ่ง เทคนิคและความหวือหวาตามสไตล์ของบอยล์ถูกนำมาใช้ ทั้งการตัดต่ออย่างฉับไว มุมกล้องเปลี่ยนไปมา เทคนิคด้านภาพอย่างการแบ่งเฟรมภาพเป็น 3 ช่อง บอกภาวะจิตใจของตัวละคร เหล่านี้ช่วยให้หนังเดินหน้าอย่างมีสีสัน

ดนตรีประกอบของ เอ.อาร์. ราห์มัน ซึ่งมีรูปแบบและสไตล์เพลงหลากหลายเติมรสชาติอย่างเหมาะเจาะ แม้บางฉากจะฟังรกไปบ้าง

ขณะเดียวกัน เรื่องที่ให้ตัวละครตกอยู่ในภาวะโหยหาผู้คนจนมองเห็นภาพในอดีตมากมาย และการที่ตัวละครบันทึกภาพลงกล้องวิดีโอ นอกจากจะช่วยให้หนังไม่เงียบจนเกินไปแล้ว ยังเป็นการแนะนำและค่อยๆ บอกเล่าความเป็นมาของตัวละคร โดยไม่ต้องเสียเวลาปูเรื่องในช่วงเริ่มต้นแม้แต่น้อย

อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าบทสรุปของตัวละครคือการถวิลหาความสัมพันธ์ที่เคยทิ้งขว้าง เป็นภาวะของคนใกล้ตายไม่ต่างจากตัวละครใน Into the Wild ซึ่งแม้จะปลีกวิเวกแบบโรแมนติกขนาดไหน หากต้องทุกข์ทนตามลำพังอย่างสิ้นหวัง สิ่งที่ผ่านเข้ามาในห้วงยามเช่นนี้ย่อมเป็นภาพความผูกพันใส่ใจจากใครบางคน

เหนือกว่านั้น...ภาพที่บอยล์เลือกใส่แทรกเข้ามาตั้งแต่ต้นเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นภาพฝูงชนบนท้องถนน ผู้คนในระบบขนส่งมวลชน ในเทศกาลรื่นเริง การแข่งขันกีฬา ศาสนพิธี เปรียบเทียบกับภาพภูมิประเทศไกลลิบที่เต็มไปด้วยเทือกเขา-แนวหินตั้งตระหง่าน ไร้สิ่งมีชีวิตนอกจากมนุษย์ตัวเล็กๆ ไร้หนทางต่อสู้คนหนึ่ง ประกอบกับภาพเขียนสีโบราณขนาดใหญ่บนแนวเขาซึ่งแอรอนพบเจอหลังจากรอดตายมาได้

ทั้งหมดแสดงถึงอารยธรรม สังคมมนุษย์ การรวมกลุ่มของสัตว์สังคมที่ไม่อาจอยู่ตามลำพังนับเนื่องมายาวนาน มนุษย์เอาชนะธรรมชาติด้วยอารยธรรมและจำนวนคน แต่เป็นเพียงเศษชีวิตต่ำต้อยหากอยู่อย่างโดดเดี่ยวท่ามกลางธรรมชาติ

ที่สุดแล้วตัวละครจึงคิดได้ว่าถ้าไม่ตายแบบถูกธรรมชาติกลืนกิน ก็ต้องกลับไปยังที่ที่ตนจากมา

ที่ซึ่งทำให้มนุษย์คนหนึ่งอุ่นใจกว่าเมื่ออยู่ท่ามกลางธรรมชาติมากมายนัก



Create Date : 14 เมษายน 2554
Last Update : 14 เมษายน 2554 2:45:25 น.
Counter : 2358 Pageviews.

4 comments
  

สวัสดีปีใหม่ไทย
ไม่เจ็บ ไม่ไข้ ไม่จน
แหล่มค่ะ
ว่าแล้วก็โหวตในสาขาภาพยนตร์ให้ค่ะ
โดย: อุ้มสี วันที่: 15 เมษายน 2554 เวลา:0:30:57 น.
  

สงสารตั้งแต่หินกลิ้งลงมาในทีแรกเลยค่ะ Y_Y


โดย: renton_renton วันที่: 27 เมษายน 2554 เวลา:3:03:59 น.
  
หวัดดีครับ ไม่ได้แวะมาเยี่ยมซะนาน
โดย: beerled วันที่: 16 พฤษภาคม 2554 เวลา:23:55:50 น.
  
ขอบคุุณครับ
kitchenaidmixerblackfriday
โดย: aomzon (aomzon ) วันที่: 10 ตุลาคม 2554 เวลา:19:19:53 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Aloneagain.BlogGang.com

แค่เพียงรู้สึกสุขใจ
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]

บทความทั้งหมด