Lion's Den สายใยในกรงขัง



Lion's Den
สายใยในกรงขัง

พล พะยาบ
คอลัมน์อาทิตย์เธียเตอร์ มติชนรายวัน 14 มิถุนายน 2552


*รอบปีที่ผ่านมามีหนังอาร์เจนตินาโดดเด่นเป็นพิเศษหลายต่อหลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคือ Lion's Den หรือ Leonera (2008) ผลงานล่าสุดของ ปาโบล ตราเปโร คนทำหนังในกลุ่ม “นิว อาร์เจนไตน์ ซินีมา” หรือผู้กำกับคลื่นลูกใหม่ของอาร์เจนตินาซึ่งเริ่มต้นช่วงปลายทศวรรษ 1990

ความน่าสนใจของ Lion's Den อยู่ที่ความเข้มข้นของเนื้อหาว่าด้วยการคลอดและเลี้ยงดูลูกน้อยขณะที่แม่ถูกกักตัวอยู่ในเรือนจำ ซึ่งถือเป็นประเด็นที่มากด้วยข้อขัดแย้งแตกต่างในแต่ละประเทศ ทั้งยังมีคำถามถึงความเหมาะควรในบางแง่มุมเสมอมา

หนังติดตามเรื่องราวของนักศึกษาสาวชื่อ ฮูเลีย หลังเกิดเหตุฆาตกรรม-ทำร้ายร่างกายในห้องพักของเธอ ผู้ตายคือ นาห์เวล แฟนหนุ่มของฮูเลีย ชายอีกคนบาดเจ็บสาหัสชื่อ รามิโร ซึ่งฮูเลียระบุภายหลังว่าเป็น “คนรัก” ของนาห์เวลที่ย้ายมาอยู่ด้วย ส่วนฮูเลียมีเพียงรอยฟกช้ำและคราบเลือดตามร่างกาย

ทั้งรามิโรและฮูเลียตกเป็นผู้ต้องหาฆาตกรรม รามิโรถูกควบคุมตัวในโรงพยาบาล ขณะที่ฮูเลียถูกส่งเข้าเรือนจำในเขตที่จัดไว้เฉพาะสำหรับผู้ต้องขังตั้งครรภ์และหลังคลอด เนื่องจากก่อนเกิดเหตุเธอเพิ่งพบว่าตนกำลังจะมีลูกกับนาห์เวล

บริเวณห้องขังเหมือนหอพักขนาดย่อม ทุกคนมีห้องส่วนตัวที่ไม่ต้องล็อคประตู แต่จะมีลูกกรงกั้นบริเวณนี้อีกชั้นหนึ่ง มีพื้นที่รวมให้บรรดาแม่ๆ ลูกๆ ทำกิจกรรม ภายนอกอาคารมีสนามเด็กเล่น มีเนิร์สเซอรี่รับดูแลเด็กแทนแม่ในบางช่วงเวลา สภาพความเป็นอยู่ค่อนข้างมีอิสระจนนักโทษคนหนึ่งเอ่ยกับฮูเลียว่าโชคดีแล้วที่ตั้งท้อง

ถึงกระนั้น ในช่วงแรกที่ต้องจ่อมจมอยู่กับความหดหู่สิ้นหวัง ฮูเลียพยายามกำจัดลูกในท้องของเธอ

ยังดีที่ฮูเลียมี มาร์ทา สาวลูกสองที่อยู่ห้องติดกันคอยดูแลเอาใจใส่ รวมทั้ง โซเฟีย แม่ที่ทิ้งเธอไปเมื่อหลายปีก่อนกลับมาอยู่บูเอโนสไอเรสเพื่อคอยช่วยเหลือลูกสาวทั้งเรื่องทนายสู้คดีและข้าวของเครื่องใช้ภายในเรือนจำ แม้ฮูเลียจะตอบรับความห่วงใยและการช่วยเหลือจากแม่อย่างไม่สนิทใจก็ตาม

เหตุฆาตกรรมยังคลุมเครือว่าเรื่องจริงเป็นอย่างไร ฮูเลียบอกว่าคืนนั้นเมื่อกลับมาถึงห้องพัก นาห์เวลและรามิโรกำลังทะเลาะกันอย่างรุนแรง รามิโรพุ่งเข้าหาเธอ จากนั้นเธอจำอะไรไม่ได้อีก ต่างจากคำให้การของรามิโรที่ชี้ว่าฮูเลียเป็นผู้ทำร้ายเขาและฆ่านาห์เวลซึ่งดูมีน้ำหนักกว่า

ความยุ่งยากและยืดเยื้อของคดีทำให้ในที่สุดฮูเลียคลอดลูกทั้งที่ยังเป็นผู้ต้องขัง เธอตั้งชื่อลูกชายว่า โทมัส พากลับเข้าเรือนจำและเลี้ยงดูเขาในนั้นซึ่งตามกฎหมายของอาร์เจนตินาอนุญาตให้ลูกอยู่กับแม่จนถึง 4 ขวบ

เวลาผ่านไปฮูเลียคุ้นเคยกับการใช้ชีวิตในเรือนจำมากขึ้น พร้อมกับโทมัสซึ่งค่อยๆ เติบโตภายในห้องขังและกำแพงปิดล้อม สายใยระหว่างแม่-ลูกแน่นหนาจนเกินกว่าที่ฮูเลียจะยอมปล่อยให้ลูกถูกพลัดพรากไป แต่เธอก็ตระหนักว่าสายใยดังกล่าวไม่อาจถักทอต่อไปหากยังไร้อิสรภาพอยู่เช่นนี้

*พิจารณาจากเนื้อหา Lion's Den ใกล้เคียงกับเรื่อง El bonaerense (2002) ผลงานลำดับที่สองของตราเปโรซึ่งสร้างชื่อให้เขาเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ ด้วยต่างพูดถึงประเด็นทางสังคมโดยส่งตัวละครเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งแล้วเฝ้ามองจากสิ่งที่ตัวละครพบเจอ

ใน El bonaerense ตราเปโรสำรวจวงการตำรวจที่มีด้านมืดมากมาย ทั้งเส้นสาย รีดไถ และคอร์รัปชั่น ส่วน Lion's Den นำเสนอโลกในเรือนจำโดยเฉพาะผู้ต้องขังหญิงที่ตั้งครรภ์และเลี้ยงลูกในคุก กระทั่งเด็กต้องกลายเป็นส่วนหนึ่งในนั้นด้วย

อย่างไรก็ตาม หากนำผลงานของตราเปโรอีก 2 เรื่อง ได้แก่ Rolling Family (2004) และ Born and Bred (2006) มาพิจารณาด้วยจะเห็นจุดร่วมอันเป็นลักษณะเฉพาะอยู่ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นสายสัมพันธ์ในครอบครัว (โดยเฉพาะพ่อหรือแม่กับลูก) ที่เป็นหลักยึดของตัวละครนำ เนื้อหาซึ่งกล่าวถึงการเคลื่อนย้าย เปลี่ยนแปลง หรือกระทั่งหลบหนีจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง ก่อนปิดท้ายด้วยฉากที่ตัวละครพาตนเองพ้นจากความยุ่งยากต่างๆ

สถานที่ในหนังของตราเปโรจึงมีความหมายต่อเรื่องราวมากกว่าเป็นแค่ฉากหลัง เช่น เมืองมิซิโอเนสใน Rolling Family ปาตาโกเนียใน Born and Bred รวมถึงเรือนจำใน Lion's Den

ฉากเรือนจำถ่ายทำในสถานที่จริงในจังหวัดบูเอโนสไอเรสซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นในวงการภาพยนตร์อาร์เจนตินา ภายใต้การรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มข้นและใช้นักโทษจริงๆ เป็นตัวประกอบ ขณะที่ผู้คุม ยาม และพนักงานบางคนคือเจ้าหน้าที่ของเรือนจำจริงๆ ที่มาร่วมเข้าฉากด้วย

งานสร้างดังกล่าวน่าจะทำให้ภาพที่ปรากฏในหนังตรงตามจริงในระดับหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นสภาพพื้นที่สำหรับผู้ต้องขังที่มีลูก กิจกรรมและระเบียบปฏิบัติขั้นตอนต่างๆ ที่ใช้กับผู้ต้องขัง

ด้วยระเบียบปฏิบัติซึ่งถ่ายทอดให้เห็นอย่างละเอียดนี่เองทำให้ฉากที่ฮูเลียถูกส่งตัวเข้าเรือนจำครั้งแรก ถูกตรวจค้นร่างกาย ถามชื่อและข้อมูลส่วนตัว และพิมพ์รอยนิ้วมือทั้งสิบนิ้ว กับฉากที่ฮูเลียพาโทมัสเข้าเรือนจำหลังคลอดซึ่งต้องผ่านขั้นตอนเหล่านี้เช่นกัน แม้กระทั่งการพิมพ์รอยนิ้วมือที่เปลี่ยนเป็นพิมพ์รอยเท้าเล็กๆ ทั้งสองข้าง กระตุกให้ผู้ชมรู้สึกอย่างรุนแรงว่าเด็กน้อยแรกคลอดคนนี้ไม่ต่างจากนักโทษคนหนึ่ง

หนังไม่ได้ต่อต้านระบบคลอดและเลี้ยงลูกในเรือนจำ แต่นำเสนอเรื่องราวตัวอย่างเสมือนเป็นคำถามว่าสมควรแค่ไหนที่เด็กไร้เดียงสาได้รับสิทธิในการอยู่ใกล้ชิดแม่แต่ต้องสูญเสียอิสรภาพ ยิ่งในอาร์เจนตินาซึ่งกำหนดให้เด็กอยู่ในเรือนจำได้ถึงอายุ 4 ขวบ (ข้อมูลเบื้องหลังระบุว่าสภาพแวดล้อมในเรือนจำมีผลต่อบุคลิกและพฤติกรรมบางอย่างของเด็ก)

ดังนั้น แม้ฮูเลียเป็นตัวละครนำที่ผู้ชมติดตามเอาใจช่วย แต่เพื่อให้เกิดปมขัดแย้งต่อคำถามข้างต้นผู้สร้างจึงไม่ได้ทำให้เธอเป็นตัวละครที่น่าเห็นใจตลอดเวลา เมื่อถึงฉากที่ฮูเลียคลุ้มคลั่งและก่อการจลาจลเพื่อเรียกร้องให้แม่คืนโทมัสกลับมาอยู่กับเธอในเรือนจำจึงก่อปมขัดแย้งในความรู้สึกของผู้ชมได้อย่างดี

ด้านหนึ่งมองเห็นความรักท่วมท้นที่ฮูเลียมีต่อลูก อันเป็นพัฒนาการของตัวละครหลังจากก่อนหน้านี้เธอคิดจะกำจัดเด็กในท้องด้วยซ้ำ แต่เมื่อโทมัสซึ่งได้ออกไปพบโลกภายนอกแล้วต้องกลับเข้าเรือนจำอีกครั้ง ฮูเลียย่อมถูกตั้งคำถามเรื่อง “ความเห็นแก่ตัว” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

คือ “ความเห็นแก่ตัว” ซึ่งแนบชิดกับ “ความรัก” ของผู้เป็นแม่จนยากจะแยกออก

และไม่ว่าดีหรือร้าย คนที่ต้องรับผลนั้นโดยตรงก็คือลูก




Create Date : 08 มกราคม 2553
Last Update : 9 มกราคม 2553 18:44:07 น.
Counter : 1596 Pageviews.

1 comments
  

คงเป็นภาพที่น่าสลดใจมาก ที่รอยเท้าเล็กๆ ถูกพิมพ์เป็นบันทึกไว้ราวฐานะนักโทษ..

โดย: renton_renton วันที่: 10 มกราคม 2553 เวลา:21:57:50 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Aloneagain.BlogGang.com

แค่เพียงรู้สึกสุขใจ
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]

บทความทั้งหมด