จาก Kolya ถึง Empties สุดท้ายคือความว่างเปล่า?



จาก Kolya ถึง Empties
สุดท้ายคือความว่างเปล่า?

พล พะยาบ
คอลัมน์อาทิตย์เธียเตอร์ มติชนรายวัน 3 และ 10 สิงหาคม 2551


*(1)

ย้อนไปช่วงปี 1996-1997 มีหนังจากสาธารณรัฐเช็กเรื่องหนึ่งโดดเด่นเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อทั้งออสการ์และลูกโลกทองคำ(ซึ่งเป็นสองเวทีสุดป๊อป) ต่างพร้อมใจกันมอบรางวัลหนังภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม นอกเหนือจากรางวัลอีกมากมาย และตัวหนังเองที่สร้างรอยยิ้มและความประทับใจแก่ผู้ชม

หนังเรื่องนั้นมีชื่อว่า Kolya

ผ่านมาร่วม 10 ปี ทีมงานหลักที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ Kolya ตั้งแต่คนทำดนตรีประกอบ ผู้กำกับภาพ มือตัดต่อ ผู้อำนวยการสร้าง พร้อมหัวขบวนคนสำคัญคือ ผู้กำกับฯ ยาน สเวรัก กับคุณพ่อของเขา ซเดเน็ก สเวรัก ในตำแหน่งคนเขียนบทและแสดงนำ ได้กลับมารวมตัวกันอีกครั้งกับหนังเรื่อง Vratne lahve หรือในชื่อภาษาอังกฤษว่า Empties (2007)

ในเมื่อเป็นการทำงานร่วมกันของทีมงานหลักเมื่อ 10 ปีก่อน ระหว่างหนังเรื่อง Kolya กับ Empties จะมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันหรือไม่อย่างไรบ้าง ทั้งในด้านงานสร้างและแก่นสารความคิด อย่างน้อยในฐานะที่ Kolya ถือเป็นบทบันทึกทางสังคมเชโกสโลวะเกียยุคหลุดพ้นจากระบอบคอมมิวนิสต์ โดยคนทำหนังชาวเช็กและมีโอกาสสื่อสารให้โลกได้สัมผัสรับรู้

หนึ่งทศวรรษผ่านไปมุมมองต่อประเทศของพวกเขาจะเป็นอย่างไร

กล่าวถึง Kolya กันก่อน หนังใช้ฉากหลักเป็นกรุงปรากช่วงปี 1989 ซึ่งเป็นปีที่เกิด “การปฏิวัติกำมะหยี่” (Velvet Revolution) โค่นล้มระบอบคอมมิวนิสต์ในเชโกสโลวะเกีย ลูกา (ซเดเน็ก สเวรัก) นักเชลโลสูงวัยตกอับ หาเลี้ยงชีพด้วยการเล่นดนตรีในงานศพและรับลงสี-ซ่อมแซมตัวอักษรป้ายหลุมศพ เขาครองตัวเป็นโสดและเสเพลไปวันๆ ซ้ำมีหนี้ก้อนใหญ่ที่ยากจะใช้คืนได้หมด

วันหนึ่งเจ้าหนี้ผู้ปรารถนาดีแนะนำงานพิเศษรายได้งามให้เขาด้วยการเป็น “เจ้าบ่าวกำมะลอ” ให้หญิงชาวรัสเซียนที่อยากเป็นพลเมืองเชโกสโลวะเกีย ลูกาปฏิเสธหนักแน่นอยู่นานกระทั่งความจำเป็นบางอย่างทำให้เขาปลี่ยนใจ

งานแต่งงานปลอมๆ ผ่านไปได้ไม่นานลูก้าก็ได้รับข่าวร้ายว่าเจ้าสาวหนีไปเยอรมนีตะวันตก ตำรวจลับเริ่มตามดมกลิ่นความผิดปกติในเรื่องนี้ แย่กว่านั้นคือเขาจำต้องรับเลี้ยงดู โคลยา เด็กชายวัย 5 ขวบ ลูกของเธอที่ถูกทิ้งไว้ตามลำพัง

จุดเด่นของ Kolya อยู่ที่เสน่ห์ของตัวละครทั้งผู้สูงวัยอย่างลูกาและโคลยาวัย 5 ขวบ กับเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนรุ่นปู่-หลานที่ค่อยๆ กระชับผูกพันมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกัน เนื้อหาซึ่งเข้าถึงผู้ชมได้ง่าย ไม่เคร่งเครียด กลับยังมีประเด็นทางสังคม-การเมืองที่เข้มแข็ง ทั้งครอบคลุมให้เห็นเด่นชัดและแฝงอยู่ให้ใคร่ครวญคิดตาม

*ตัวอย่างเช่นความสัมพันธ์ระหว่างลูกากับโคลยาซึ่งเป็นเด็กรัสเซียน ในช่วงเวลาฉากหลังของหนังนั้นเชโกสโลวะเกียอยู่ภายใต้อิทธิพลของสหภาพโซเวียต การเอาใจใส่ดูแลโคลยาของลูกาหลายครั้งหลายหนจึงมองได้ถึงสถานะและบทบาทอันเหลื่อมล้ำ ไม่ว่าจะเป็นฉากที่ลูกาคุกเข่าถอดและสวมรองเท้าให้โคลยา หรือภาพโคลยาขี่คอแล้วเอามือปิดตาลูกาซึ่งถูกใช้เป็นภาพหลักบนใบปิดหนัง สื่อถึงโซเวียตซึ่งควบคุมหรือมีอำนาจเหนือเชโกสโลวะเกียได้อย่างดี

อย่างไรก็ตาม วันเวลาแห่งการกดขี่ได้ผ่านพ้น เชโกสโลวะเกียเป็นอิสระ รัฐบาลคอมมิวนิสต์ถูกโค่นล้ม ประเทศกลายเป็นประชาธิปไตย ประชาชนได้เฉลิมฉลอง นี่คือตอนจบของ Kolya ด้วยบรรยากาศชื่นมื่นสุขสม แต่เรื่องราวนับจากนั้นจะเป็นอย่างไร

ไม่มีคำตอบให้เห็นชัดเจนใน Empties เนื่องจากเนื้อหาของหนังไม่ได้เกี่ยวข้องกับประเด็นทางสังคม-การเมืองเหมือน Kolya ซเดเน็ก สเวรัก กลับมาแสดงนำในบทหนังที่เขาเขียนขึ้นเองโดยรับบทเป็น คาโลน ครูสอนวรรณกรรมในโรงเรียนมัธยมวัย 65 ปี สุดทนกับพฤติกรรมของเด็กคนหนึ่งจนต้องขอเกษียณตนเอง แต่พอเป็นคนว่างงานอยู่กับบ้านได้ไม่นาน คาโลนก็เริ่มมองหางานทำ

งานแรกของคาโลนดูจะสวนทางกับวัยและสังขารยิ่งนัก เพราะเป็นงานขี่จักรยานส่งเอกสาร แม้ เอลิชกา ภรรยาจะทัดทานห้ามปราม รวมทั้งแสดงเจตจำนงว่าต้องการให้คาโลนใช้เวลาหลังเกษียณอยู่กับเธออย่างเต็มที่ แต่สามีหัวดื้อไม่ยอมสนใจกระทั่งเกิดอุบัติเหตุระหว่างขี่จักรยานจนขาแข้งหัก

ฟื้นตัวไม่ทันไรคาโลนก็ได้งานใหม่ในซูเปอร์มาร์เก็ต เป็นคนรับคืนขวดเบียร์-ขวดน้ำเปล่าจากลูกค้าเพื่อออกใบเสร็จคืนเงิน งานนี้ทำให้คาโลนได้พบเจอและรู้จักคนมากมาย เปิดโอกาสให้เขาได้ยื่นมือช่วยเหลือผู้อื่นทั้งผ่านการร้องขอและถือวิสาสะทำให้เอง ไล่ตั้งแต่การจับจ่ายซื้อของแล้วนำไปส่งให้หญิงชราที่เจ็บป่วย จับคู่เพื่อนร่วมงานกับลูกค้าสาวใหญ่ ส่งเด็กหนุ่มในแผนกเดียวกันไปเรียน “คอร์สพิเศษ” กับครูสาวอดีตเพื่อนร่วมงาน ที่สำคัญคือจับคู่ให้อดีตเพื่อนครูอีกคนกับ เฮเลนกา ลูกสาวของคาโลนเองซึ่งกำลังปวดใจหลังจากถูกสามีทิ้งไปคบหญิงอื่น

เวลานอนหลับคาโลนมักจะฝันโลดโผนถึงผู้หญิงที่เขารู้จักหลายคนในชุดวาบหวิว จนอยากลองสัมผัสประสบการณ์แบบนั้นในชีวิตจริง แต่กับเอลิชกา, คาโลนกลับไม่มีอารมณ์ความรู้สึกใดๆ มอบให้ และนับวันเธอยิ่งคิดว่าสามีไร้สิ้นเยื่อใยใดๆ ต่อเธอ

แม้งานใหม่จะสร้างความสุข-ความสบายใจให้คาโลนได้มากมาย แต่ปัญหาก็เกิดขึ้นเมื่อทางซูเปอร์มาร์เก็ตคิดจะติดตั้งเครื่องรับคืนขวดแทนการจ้างพนักงานซึ่งต้นทุนสูงกว่า

คาโลนจึงกำลัง “หมดความหมาย” เหมือนเช่นเอลิชกาซึ่งคิดว่าตน “หมดความหมาย” สำหรับคาโลน

นี่คือสภาวะ “ว่างเปล่า” ในวัยชรา ที่สะท้อนมุมมองต่อสาธารณรัฐเช็กไปพร้อมกัน





*(2)

หนังเรื่อง Empties มีหลักใหญ่ใจความที่จับต้องได้ชัดเจนเกี่ยวกับสภาวะแห่งวัยชราซึ่งเกิดความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจ ทั้งยังต้องพบเจอกับสภาพความเปลี่ยนแปลงจากสังคมและผู้คนรอบตัว

ตัวละครอดีตครูสอนวรรณกรรมอย่างคาโลนต้องเผชิญกับความรู้สึกว่าตนเองกำลังหมดคุณค่า เขาถูกเด็กนักเรียนแสดงกิริยาไม่ดี ขาดความเคารพนับถือ เมื่อหมดความอดทนแล้วลาออกมาอยู่กับบ้าน คาโลนกลับยิ่งห่อเหี่ยวเฉื่อยชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องเจอหน้าภรรยาวัยเดียวกันทุกวัน

ทางออกของคาโลนคือการออกไปหางานทำ เพราะนอกจากจะทำให้รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าแล้ว ยังไม่ต้องจมปลักอยู่กับบ้าน แถมงานแรกคืองานขี่จักรยานส่งเอกสารพาให้คาโลนรู้สึกกระปรี้กระเปร่าราวกับคนหนุ่ม แต่สังขารอันจริงแท้ได้ประท้วงใส่จนต้องเปลี่ยนงานไปเป็นพนักงานรับคืนขวดเปล่าในซูเปอร์มาร์เก็ต กระทั่งการพบปะผู้คนและกิจกรรมช่วยเหลือ-จับคู่ให้คนอื่นคือคุณค่าใหม่ที่คาโลนค้นพบให้ตนเอง

ส่วนความสัมพันธ์กับคู่ชีวิตอันอับเฉาเฉยชานั้น หลังจากแรงปรารถนาถูกปลดปล่อยออกมาในความฝันสุดโลดโผน คาโลนจึงคิดจะหาทางออกโดยลองของจริงกับสาวใหญ่อดีตเพื่อนครู แต่โชคร้าย(หรือโชคดี) เกิดความผิดพลาดบางประการทำให้คาโลนอดลิ้มลองรสชาติแปลกใหม่ และยังไม่ได้ชื่อว่าเป็นคนนอกใจภรรยา

ขณะเดียวกัน เอลิชกา ภรรยาของคาโลนที่ขมขื่นกับความเฉยชาของสามี เมื่อมีชายวัยเดียวกันมอบความรัก-ความปรารถนาในแบบที่คาโลนไม่มีให้อีกแล้ว เอลิชกาจึงหวั่นไหวไปมากมายจนคาโลนเกิดหึงหวงขึ้นมาบ้าง กระทั่งนำไปสู่ฉากสำคัญช่วงท้ายที่คาโลนเซอร์ไพรส์เอลิชกาโดยพาขึ้นบัลลูนยักษ์เพื่อรื้อฟื้นความหลัง

ฉากดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากคาโลนตัดสินใจลาออกจากงานเมื่อรู้ว่าตนเองต้องหมดคุณค่าลงอีกครั้ง เพราะซูเปอร์มาร์เก็ตซื้อเครื่องรับคืนขวดอัตโนมัติมาติดตั้งแทนการจ้างพนักงาน

การตัดสินใจลาออกและการกลับมามอบความรักแก่ภรรยาจึงเกี่ยวเนื่องกัน โดยแสดงถึงภาวะตระหนักรู้ของคาโลนว่าเขาควรคิดและดำเนินชีวิตเช่นไรในช่วงเวลานับจากนี้ไป

นอกจากใจความหลักเกี่ยวกับสภาวะแห่งวัยชราแล้ว ระหว่างที่หนังเล่าเรื่องราวของตัวละครสูงวัยซึ่งกำลังประสบปัญหาเฉพาะตัว หนังได้สะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงทางสังคมตามกระแสโลกยุคใหม่จนตัวละครเกิดความรู้สึกแปลกแยกสับสน ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ ห้องสมุดประชาชนที่กลายสภาพเป็นร้านทำฟัน ขณะที่เครื่องรับคืนขวดอัตโนมัติยิ่งแสดงถึงโลกยุคใหม่ที่การสื่อสัมพันธ์ระหว่างผู้คนลดน้อยลงทุกที

ตรงกันข้ามกับคาโลนซึ่งนอกจากจะเก่า(แก่)เรื่องอายุแล้ว เขายังเป็นครูสอนวรรณกรรมซึ่งดูคร่ำครึในสายตาคนรุ่นใหม่ ทั้งยังชอบเฝ้ามองรถจักรไอน้ำ-สิ่งตกค้างจากยุคอดีต

แง่มุมที่สะท้อนถึงโลกยุคใหม่นี่เองที่สามารถจำกัดให้เจาะจงลงได้ว่าหนังกำลังสะท้อนถึง “สาธารณรัฐเช็ก” ในปัจจุบันซึ่งปรับเปลี่ยนจากสังคมนิยมเป็นทุนนิยมโลกาภิวัตน์เต็มตัว นอกจากเครื่องอำนวยความสะดวก อุปกรณ์ทันสมัย รวมทั้งซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ที่กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของชาวเช็กแล้ว มีรายละเอียดว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงระหว่างสองยุคสมัยให้เห็นชัดเจนอีกหลายจุด

เช่นฉากที่คาโลนกำลังสอนเกี่ยวกับ ยาโรสลาฟ เวอร์ชลิชกี้ กวีชาวเช็กผู้ยิ่งใหญ่ แล้วถูกเด็กนักเรียนรายหนึ่งคอยพูดสอดแทรกขึ้นบ่อยครั้ง เด็กคนนี้อ้างว่าที่สหรัฐอเมริกานักเรียนพูดโดยไม่ต้องยกมือ ซ้ำยังเถียงคาโลนว่านี่คือประเทศเสรี ครูจึงไม่มีสิทธิ์สั่งให้เขาหยุดพูด

โลกเสรีซึ่งนำโดยสหรัฐอเมริกาจึงไม่ได้แผ่อิทธิพลเหนือประเทศนี้ในวงกว้าง แต่คุกคามแม้แต่ชั้นเรียนวรรณกรรมเช็ก

*อาชีพครูของคาโลนซึ่งหากเป็นสมัยคอมมิวนิสต์ถือเป็นงานที่อิงกับรัฐหรือพรรค บัดนี้กลับไร้ความหมาย หมดสิ้นความเคารพนับถือจากเด็กๆ แม้แต่ลูกสาวของคาโลนเองยังปฏิเสธที่จะคบหากับคนเป็นครูเพราะมองว่ารายได้น้อย เช่นเดียวกับเพื่อนร่วมงานสูงวัยในซูเปอร์มาร์เก็ตที่เคยเป็นทหารก็ถูกผู้จัดการและคนอื่นๆ มองเป็นตัวตลก

สภาวะ “ว่างเปล่า” ตามชื่อหนังจึงไม่ใช่แค่ความว่างเปล่าแห่งวัยชรา แต่หนังได้ตั้งคำถามถึงความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เมื่อปี 1989 ซึ่งเป็นบทลงท้ายของเรื่อง Kolya และน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งดีๆ ในประเทศเชโกสโลวะเกีย(ซึ่งต่อมาแยกเป็นเช็กและสโลวัก) ว่าสุดท้ายแล้วอาจเป็นแค่ภาพฝันสวยหรูท่ามกลางความจริงอันเปล่ากลวง

ตัวละครผู้อาวุโสอย่างคาโลนที่เคยผ่านช่วงสังคมนิยมมาครึ่งชีวิตจึงไม่อาจกลมกลืนกับปัจจุบัน กระทั่งรู้สึกว่าเสรีภาพคือความว่างเปล่า จับต้องไม่ได้

หากเชื่อมโยงตัวละครลูกาจากเรื่อง Kolya ซึ่งอยู่ตามลำพังมาตลอด ก่อนที่ตอนจบหนังบอกเป็นนัยว่าเขาได้ถูกเติมเต็มด้วยการมีครอบครัว ผ่านเวลามาถึงเรื่อง Empties ตัวละครมีครอบครัวพร้อมหน้า แต่สมาชิกกลับต่างรู้สึกขาดพร่อง ไม่ว่าจะเป็นพ่อ-คาโลน แม่-เอลิชกา หรือลูกสาว-เฮเลนกา

หรือนี่คือคำตอบว่าเสรีภาพแห่งโลกสมัยใหม่ไม่อาจเติมเต็มความสุขให้ใครได้อย่างที่คาดหวังกันไว้

อย่างไรก็ตาม ความว่างเปล่าไม่ใช่บทสรุปที่หนังปล่อยทิ้งไว้อย่างไร้ทางออก หากย้อนกลับไปดูฉากสุดท้ายของเรื่อง Kolya ซึ่งเป็นภาพแทนสายตาเด็กชายชาวรัสเซียนมองผ่านกระจกเครื่องบินเห็นผืนเมฆหนาทึบปกคลุมเหนือเชโกสโลวะเกีย มาถึงฉากเปิดเรื่องของ Empties เมฆที่เคยหนาทึบกลับเบาบางล่องลอย มุมกล้องเบิร์ดอายส์วิวเห็นกรุงปรากสงบสวยงาม เหมือนหนังสื่อถึงสาธารณรัฐเช็กในยุคโลกเสรีไร้สิ้นเงื้อมเงาของโซเวียตอย่างเมื่อก่อน กระทั่งเชื่อมโยงมาถึงบทสรุปแท้จริงของหนังในซีเควนซ์สุดท้ายที่คาโลนพาเอลิชกาขึ้นบัลลูนยักษ์เพื่อฉลองโอกาสครบรอบแต่งงาน 40 ปี แล้วชี้ชวนให้ชมทัศนียภาพของสาธารณรัฐเช็กงดงามไกลสุดตา

คาโลนกล่าวว่า “เราลอยอยู่เหนือประเทศของเรา, ดินแดนซึ่งเราใช้ชีวิตร่วมกันมาตลอด 40 ปี” คำพูดนี้ชวนให้คิดว่าหนังกำลังกล่าวถึงช่วงเวลาหลังจากเชโกสโลวะเกียกลายเป็นรัฐสังคมนิยมอย่างเป็นทางการในปี 1960 ซึ่งชีวิตคู่ของคาโลนและเอลิชกาได้เริ่มต้นและผ่านทุกข์-สุขมาจนปัจจุบัน

ดังนั้น ความเปลี่ยนแปลงของสาธารณรัฐเช็ก(หรืออดีตเชโกสโลวะเกีย) ไม่ว่าจะเป็นสังคมนิยมภายใต้เงื้อมเงาของโซเวียตหรือกลายเป็นประชาธิปไตยเสรี

จึงไม่สำคัญเท่ากับว่า...ถึงอย่างไรนี่คือผืนแผ่นดินถิ่นเกิดที่มีความรักเป็นรากฐานสำคัญ




Create Date : 27 พฤศจิกายน 2551
Last Update : 27 พฤศจิกายน 2551 12:29:30 น.
Counter : 3148 Pageviews.

8 comments
  



เรื่อง Empties จะฉายในเทศกาลภาพยนตร์ยุโรป
ที่เอสเอฟเวิลด์ วันที่ 28 พ.ย.-7 ธ.ค. และวิสต้า กาดสวนแก้ว เชียงใหม่ 12-21 ธ.ค.

เช็กวัน-รอบฉาย และรายชื่อหนังเรื่องอื่นๆ ที่นี่


โดย: แค่เพียงรู้สึกสุขใจ วันที่: 27 พฤศจิกายน 2551 เวลา:2:30:31 น.
  



ได้ดู 24 : Redemption แล้ว (ตอนพิเศษ เรียลไทม์ 2 ชั่วโมง)
ตั้งชื่อเล่นๆ ให้ว่า ‘แจ็ค บาวเออร์ อิน แอฟริกา’
ไม่ค่อยสะใจเท่าไหร่ แต่ก็พอชดเชยความอยากดูซีซั่น 7 ได้บ้าง


โดย: แค่เพียงรู้สึกสุขใจ วันที่: 27 พฤศจิกายน 2551 เวลา:2:31:15 น.
  
หลายปีก่อน มีน้องคนหนึ่งเอาหนังเรื่อง Kolya มาให้ดู ผมเก็บไว้นานมากจนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่ได้ดู จนไม่รู้่ว่าแผ่นหายไปไหนละ แฮะ ๆ

มาฉายเชียงใหม่แบบนี้ ก็จะไปดูครับคุณพลฯ
โดย: I will see U in the next life. วันที่: 27 พฤศจิกายน 2551 เวลา:11:31:21 น.
  
เอ๊ คุณเอ้เคยโดนก๊อปบทกวีกับเขาด้วยเหรอคะเนี่ย (มาช้าไปโหน่ย ตามอ่านจากบล็อกที่แล้วค่า)
โดย: ม่วน. IP: 125.24.255.66 วันที่: 27 พฤศจิกายน 2551 เวลา:17:41:06 น.
  
ชอบ Kolya ครับ หนังน่ารักดี

แต่ Empties นี่ยังไม่เคยดู
โดย: เอกเช้า IP: 124.120.194.221 วันที่: 27 พฤศจิกายน 2551 เวลา:19:49:19 น.
  
น่าดูจังค่ะ
โดย: The bitter sweet person วันที่: 28 พฤศจิกายน 2551 เวลา:15:09:40 น.
  
Kolya ยังไม่ได้ดูค่ะ

พี่แจ็ค อิน อัฟริกา หนุกดี มีโรเบิร์ต คาร์ไลล์ด้วย ถ้าหนังขยายเป็น 24 ชั่วโมงแบบเรียลไทม์เชื่อว่าจะยิ่งน่าดูกว่านี้ ยังขยายได้อีก

โดย: renton_renton วันที่: 29 พฤศจิกายน 2551 เวลา:11:05:08 น.
  
เพิ่งได้ดูเรื่อง kolya ดีครับเรียบง่ายแต่น่าสนใจ อาจจะเป็นเพราะสถานที และช่วงเวลา บุคคลิกของตัวแสดงนำ ไม่ใช่คนที่สมบูรณ์แบบ จึงทำให้หนังเรื่องนี้ดูน่าสนใจ น่ารักมาก....
โดย: hahru IP: 58.64.65.195 วันที่: 31 มกราคม 2552 เวลา:10:21:58 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Aloneagain.BlogGang.com

แค่เพียงรู้สึกสุขใจ
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]

บทความทั้งหมด