The World โลกทั้งใบในปักกิ่ง


The World
โลกทั้งใบในปักกิ่ง

พล พะยาบ
คอลัมน์อาทิตย์เธียเตอร์ มติชนรายวัน 9 กรกฎาคม 2549


หมายเหตุ : เจี่ย จางเคอ ผู้กำกับฯ The World เพิ่งพาผลงานเรื่อง Sanxia Haoren หรือ Still Life รับรางวัลสิงโตทองคำในเทศกาลภาพยนตร์เวนิซ ประเทศอิตาลี จากการประกาศเมื่อวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา


ระยะเวลาพอสมควรแล้วที่วงการหนังโลกให้ความสำคัญกับคำว่า “โดนแบนในประเทศ” ราวกับเป็นคุณสมบัติที่น่ายกย่อง กระทั่งคำนี้กลายเป็นคำโฆษณาปะหน้าซึ่งช่วยยกระดับให้หนังเรื่องหนึ่งๆ โดดเด่นเป็นที่สนใจในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะกับหนังจากชาติที่มีกฎการเซ็นเซอร์เคร่งครัดอย่างอิหร่านและจีน

แม้ว่าเสรีภาพแห่งศิลปะคือสิ่งที่ไม่ควรถูกปิดกั้น และการเซ็นเซอร์ด้วยกรอบที่แน่นหนาเกินพอดีจะเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง แต่จุดที่ต้องไม่ลืมคือ การที่หนัง “โดนแบนในประเทศ” เหล่านี้เป็นที่สนใจ อาจไม่ใช่เพราะความดีงามของตัวหนังหรือความกล้าหาญของผู้สร้างเท่านั้น

แต่เป็นเพราะหนังเหล่านี้ถูกส่งเข้ามาอยู่ภายใต้แนวคิดเสรีนิยม-ทุนนิยมที่ครอบงำทั่วทุกมุมโลก รวมทั้งทุกเวทีหนังระดับนานาชาติ

ความเคร่งครัดรัดแน่นคือความเลวร้าย และผู้ที่กล้าท้าทายหลุดพ้นย่อมไม่ต่างจากฮีโร่...


เจี่ย จางเคอ(Jia Zhangke) ผู้กำกับฯรุ่นที่ 6 ของจีนแผ่นดินใหญ่ คือหนึ่งใน “ฮีโร่” นักสร้างหนังที่มีคำโฆษณาติดตัวในระดับนานาชาติว่าเป็นคนทำหนังใต้ดิน เพราะหนังของเขา 3 เรื่อง ประกอบด้วย Xiao Wu (1997) Platform (2000) และ Unknown Pleasures (2002) ล้วนแต่สร้างโดยไม่ผ่านการอนุมัติจากกองเซ็นเซอร์จีน

เมื่อมีข่าวว่าเขาทำหนังเรื่องล่าสุดคือ The World(2004) ตามขั้นตอนอย่างถูกต้อง จนได้รับการรับรองจากคณะกรรมการภาพยนตร์แห่งชาติให้มีฐานะเป็นผู้กำกับฯอีกครั้ง จึงกลายเป็นประเด็นให้พูดถึงอีกว่า...เจี่ย จางเคอเปลี่ยนไป พร้อมกับเปลี่ยนคำห้อยท้ายจากเดิมว่า “ใต้ดิน” (underground) มาเป็นผู้กำกับฯ “บนดิน” (aboveground) แทน

อันที่จริง สาเหตุหนึ่งที่เขาเปลี่ยนมาปฏิบัติตนเป็นคนทำหนังตามกรอบอย่างถูกต้อง เพราะนโยบายด้านการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ของจีนผ่อนคลายลงไปมากหลังจากบรรดาผู้กำกับฯรุ่นใหม่รุกเข้าเจรจากับทางการจนเป็นผลสำเร็จ และก่อนที่เจี่ย จางเคอจะลงมือทำ The World

กฎที่ผ่อนปรนซึ่งช่วยให้คนทำหนังชาวจีนมีอิสระมากขึ้น เช่น แต่เดิมต้องส่งบทหนังทั้งหมดให้คณะกรรมการรับรอง เปลี่ยนเป็นส่งเพียงเรื่องย่อความยาว 1,500 คำ หรือกฎที่ว่าด้วยหน่วยงานที่มีหน้าที่พิจารณาเซ็นเซอร์ แต่เดิมถูกรวบเอาไว้ที่กระทรวงวิทยุ ภาพยนตร์ และโทรทัศน์แห่งชาติ ได้เปลี่ยนมากระจายให้แก่หน่วยงานประจำภาค ซึ่งมีทั้งหมด 6 หน่วยงาน เป็นผู้พิจารณา

เมื่อช่องทางเปิดกว้างให้อิสระ คนทำหนังหลายคนรวมทั้ง เจี่ย จางเคอจึงยินดีที่จะเข้าตามตรอกออกทางประตู โดยมุ่งหวังว่าคนจีนในประเทศจะได้ชมผลงานของพวกเขาง่ายขึ้นเพียงซื้อตั๋วเข้าไปชมในโรงภาพยนตร์ จากเมื่อก่อนที่มีเพียงวิธีเดียวคือการซื้อหาดีวีดีทั้งลิขสิทธิ์และของเถื่อน

จุดที่น่าสนใจคือ หนังเรื่องแรกของเจี่ย จางเคอ ที่พูดได้เต็มปากเต็มคำว่าเป็นหนังจีน มีฉากหลังเป็นโลกอันกว้างใหญ่ที่ถูกนำมารวมไว้ในกรุงปักกิ่ง

The World กล่าวถึงเรื่องราวชีวิตของคนต่างจังหวัดที่ทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิดมาทำงานในเมืองหลวง โดยหญิงสาวอย่างเสี่ยวเถา ทำงานเป็นนักแสดง-นักเต้นรำใน “เวิลด์ ปาร์ค” สถานที่กว้างใหญ่ชานกรุงปักกิ่งซึ่งจำลองสถานที่สำคัญทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นหอไอเฟลขนาด 1 ใน 3, บิ๊กเบน, ทัช มาฮาล, สโตนเฮนจ์ และอีกมากมายหลายแห่ง แม้แต่ตึกแฝดเวิลด์ เทรดฯ ของสหรัฐ ซึ่งบัดนี้กลายเป็นอดีตไปแล้ว ก็ยังหาดูได้ที่นี่

ในเวิลด์ ปาร์ค นอกจากเสี่ยวเถาแล้ว ยังมี ไถ้เชิง แฟนของเธอ และเอ้อเสี่ยว น้องของไถ้เชิง ทำงานเป็น รปภ. ทุกๆ วันเขาและเธอตระเวนจาก “ประเทศ” หนึ่งไปอีก “ประเทศ” หนึ่ง ได้ขึ้นไปยืนอยู่บนหอไอเฟล เพื่อจะมองลงมาเห็นได้ทั่วโลก ราวกับว่าเป็นแดนสวรรค์ที่คนต่างจังหวัดอย่างพวกเขามีโอกาสเอื้อมถึง


อย่างไรก็ตาม โลกแห่งความจริงที่ต้องพบเผชิญคือ พวกเขายังต้องนอนในห้องพักอุดอู้และอับชื้น ต้องทำงานเพื่อหารายได้พิเศษ โดยเสี่ยวเถารับงานกลางคืน ส่วนเถิงไช้พัวพันกับแก๊งผิดกฎหมาย ขณะที่เอ้อเสี่ยวถูกจับได้ว่าขโมยของ

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องราวมากมายที่ทำให้โลกของพวกเขาห่างไกลกับโลกอันงดงาม ทั้งเหตุร้ายที่เกิดกับคนจากบ้านเกิดเดียวกันซึ่งมาทำงานก่อสร้างในปักกิ่ง ได้รู้จักสาวรัสเซียนที่ต้องจากลูกน้อย 2 คน ลักลอบเข้าเมืองจีนมาทำงานเป็นนักแสดงในเวิลด์ ปาร์ค แต่สุดท้ายต้องออกไปขายตัว พบกับคู่รักนักแสดงหนุ่ม-สาวที่ทะเลาะกันจนจุดไฟเผาตัวเอง

และเรื่องเลวร้ายที่สุดที่เกิดกับเสี่ยวเถาคือ เธอจับได้ว่าไถ้เชิงนอกใจ จนเสมือนว่าโลกของเธอสิ้นสุดลงนับแต่นั้น

หนังสะท้อนภาพของคนที่ดิ้นรนจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง เพื่อหา “โลก” ที่ดีกว่าให้แก่ตนเอง คนต่างจังหวัดก็ดิ้นรนเข้าเมือง บางคนมีจุดหมายไกลถึงต่างประเทศ ขณะที่คนต่างชาติกลับลักลอบเข้ามาทำงานในเมืองจีน

ต่างคนต่างค้นหา แต่ใช่ว่าโลกที่งดงามจะหาได้ง่ายๆ

โลกจำลอง “เวิลด์ ปาร์ค” คือฉากที่มีความหมายมาก หนังแสดงให้เห็นหลายครั้งว่าคนจำนวนไม่น้อยหลงใหลได้ปลื้มกับการได้เห็นสถานที่สำคัญจากทั่วโลก ทั้งที่มันเป็นเพียงแค่ของปลอม(เช่นเดียวกับฉากที่พูดถึงคนนิยมตัดเสื้อผ้าเลียนแบบแบรนด์นอก)

ยิ่งหนังเน้นให้เห็นความงามของโลกปลอมๆ มากเท่าไร ก็ยิ่งเปรียบเทียบให้เห็นว่าโลกแห่งความจริงที่ได้พบเห็นตามมานั้นช่างแตกต่างกันมากเหลือเกิน จนกระทั่งบางครั้งดูเป็นตลกร้ายที่สุดท้ายมีแต่จะทำให้เจ็บปวด

หนังเปิดเรื่องได้อย่างยอดเยี่ยมทั้งในด้านการสื่อความหมายและปูทางเข้าสู่เรื่องราวต่อๆ มา ด้วยซีเควนซ์แนะนำเสี่ยวเถาและสถานที่ทำงานของเธอ เริ่มจากฉากแรกซึ่งถ่ายแบบ long take ด้านหลังเวที เสี่ยวเถาในชุดสาวแขกเดินถามหาพลาสเตอร์เพื่อปิดแผลที่เท้าของเธอ ก่อนจะออกไปร่ายรำประกอบเพลงร่วมกับเพื่อนนักแสดงในชุดประจำชาติอื่นๆ

นัยว่าโลกที่ทุกคนเดินทางท่องไปใช่ว่าจะราบรื่นสวยหรู หากมีแต่ความเจ็บปวดแฝงอยู่...

ต่อมา เสี่ยวเถานั่งรถลอยฟ้าซึ่งสมมุติว่าเป็นเครื่องบิน เธอบอกไถ้เชิงผ่านทางโทรศัพท์มือถือว่ากำลังไปอินเดีย จากนั้น เธอตะโกนออกมาจากเครื่องบิน ทักทายเอ้อเสี่ยวที่กำลังแบก “ถังน้ำ” ผ่านทะเลทรายและปิรามิดกิซา


เป็นฉากที่ฟังดูเกินจริงราวกับนิทานหรืออนิเมชั่น เพื่อเน้นให้รู้สึกถึง “มายา” ของโลกที่ตัวละครอยู่ ที่เจ็บปวดกว่านั้นคือ ความจริงแล้วพวกเขาไม่เคยได้ไปไหน แต่ถูกขังอยู่ในโลกอันทุรนทุรายของตนเองตลอดเวลา

ฉากเสียดเย้ยลักษณะนี้ยังมีให้สังเกตคิดตามอีกหลายต่อหลายฉาก โดยมี “เวิลด์ ปาร์ค” เป็นเครื่องมือที่ผู้กำกับฯเลือกใช้อย่างได้ผล

นอกจาก “เวิลด์ ปาร์ค” จะเป็นเสมือนตัวละครหนึ่งแล้ว โทรศัพท์มือถือก็เช่นกัน พวกเขาย่อโลกมาไว้ในโทรศัพท์ ใช้ติดตามตัว และสื่อสารกันด้วยการส่งข้อความ ภาพอนิเมชั่นแสดงความรู้สึกซึ่งหนังใส่แทรกเข้ามายามที่ตัวละครส่งข้อความถึงกัน จึงหมายถึงการสื่อสารที่ยากจะจับต้องได้และยิ่งทำให้โลกของพวกเขาเคลื่อนห่างจากกัน

หนังค่อนข้างยาวด้วยเวลาร่วม 140 นาที แบ่งออกเป็นบทตอนคร่าวๆ มีชื่อกำกับไว้ ไล่ตั้งแต่ ปารีสชานกรุงปักกิ่ง, ค่ำคืนแห่งอูลานบาตอร์ *, เรื่องเล่าจากโตเกียว และโลกที่เปลี่ยนผัน ด้วยเรื่องราวที่ไม่ปะติดปะต่อเท่าใดนัก คืบเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างเชื่องช้า ภาพระยะไกลงดงามจำนวนมากช่วยสื่อถึงความเปลี่ยวเหงาในโลกจำลองที่ตัวละครหลงเข้ามาจนยากจะหาทางออก

หลายฉากปราศจากบทสนทนา บ่อยครั้งที่เป็นการถ่ายแบบตั้งกล้องทิ้งไว้ สไตล์เหล่านี้คล้ายกับงานของ ยาสุจิโร่ โอสุ ผู้กำกับฯชั้นครูชาวญี่ปุ่น ซึ่งเจี่ย จางเคอ นำชื่องานมาสเตอร์พีซของโอสุเรื่อง Tokyo Story มาตั้งเป็นชื่อตอนหนึ่งในหนังด้วย ขณะที่แก่นสารในหนังของคนทั้งสองต่างพูดถึง “ความเปลี่ยนแปลงของคนในสังคม” เหมือนกัน

องค์ประกอบต่างๆ นี้อาจทำให้บางคนเบื่อหน่ายในการชมได้ง่ายๆ แต่ถึงอย่างไร “โลก” ใบนี้ก็ยังน่าสนใจเกินกว่าจะเบือนหน้าหนี



* อูลานบาตอร์ เป็นเมืองหลวงของมองโกเลีย ในบทบรรยายไทยของดีวีดี "ร้านหนึ่ง" ให้คำแปลผิดความหมายว่า เทือกเขาอูลาน



Create Date : 15 กันยายน 2549
Last Update : 17 กันยายน 2549 12:17:55 น.
Counter : 2388 Pageviews.

6 comments
สวัสดีปีใหม่ ๒๕๖๗ มาช้ายังดีกว่าไม่มา
(2 ม.ค. 2567 07:30:30 น.)
สวัสดีปีใหม่ Rain_sk
(1 ม.ค. 2567 21:38:33 น.)
สวัสดีปีใหม่ ๒๕๖๗ มาช้ายังดีกว่าไม่มา
(2 ม.ค. 2567 07:30:30 น.)
ทนายอ้วนจัดดอกไม้ - จัดดอกไม้ง่ายๆ – แจกันสวัสดีปีใหม่ 2567 - กุหลาบพวงสีชมพู - ขาว ทนายอ้วน
(2 ม.ค. 2567 15:16:32 น.)
  
โดย: เจ้าชายไร้เงา วันที่: 15 กันยายน 2549 เวลา:16:56:24 น.
  
โดย: renton_renton วันที่: 15 กันยายน 2549 เวลา:19:00:05 น.
  
เราว่ามันเป็นวิกฤติอย่างหนึ่งของสังคมหรือประเทศที่กำลังโตอย่างเร็ว แต่คนในประเทศพัฒนาตามไม่ทัน

หนังน่าดูจังค่ะ แต่ช่วงนี้เครียด ๆ อยากหาหนังตลก ๆ เบาสมองดูมากกว่า เฮ้อ...
โดย: unwell วันที่: 16 กันยายน 2549 เวลา:13:45:34 น.
  
อ่านตามแล้วอยากดูเลยครับ จะหาดูได้ที่ไหนเนี่ย
หรือต้องพึ่งร้านนอกกระแสซะแล้วเรา
โดย: sTRAWBERRY sOMEDAY วันที่: 16 กันยายน 2549 เวลา:14:34:01 น.
  
ไม่ค่อยได้ดูหนัง
แต่อ่านแล้วทำให้อยากหามาดู

ไม่นึกว่านอกจากเขียนกวี
ยังเก่งเรื่องหนังอินดี้ด้วย

แวะมาเยี่ยมเยียนครับ
โดย: แน กระสอก IP: 210.86.130.110 วันที่: 17 กันยายน 2549 เวลา:11:14:25 น.
  
^
^
^
ลืมล็อกอินเหมือนกัน
โดย: วีรธรรม IP: 210.86.130.110 วันที่: 17 กันยายน 2549 เวลา:11:16:45 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Aloneagain.BlogGang.com

แค่เพียงรู้สึกสุขใจ
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]

บทความทั้งหมด