Man on the Train เพราะไม่อาจเป็นใครได้แท้จริง


Man on the Train
เพราะไม่อาจเป็นใครได้แท้จริง

- พล พะยาบ -

คอลัมน์อาทิตย์เธียเตอร์ มติชนรายวัน 30 ตุลาคม 2548


Man on the Train หรือ L’homme du train หนังปี 2002 ของผู้กำกับฯ ปาทริซ เลอกงต์ เป็นหนังดรามาสุขุมนุ่มลึก เกี่ยวกับชาย 2 คนที่มีชีวิตแตกต่างกันสิ้นเชิง มาพบและรู้จักกันด้วยไมตรีจิต ต่างคนต่างอยากลอง “มีชีวิต” แบบอีกคนหนึ่ง

หนังเปิดเรื่องด้วยภาพรถไฟแล่นกึงกังเข้าจอดเทียบชานชาลา ชายวัยกลางคนใบหน้าเรียบเฉยเดินลงมาจากรถไฟ เขาคือ มิลาน(จอห์นนี่ ฮัลลิเดย์) โจรปล้นธนาคารซึ่งเดินทางมายังเมืองเล็กๆ ในชนบทอันเงียบสงบ เพื่อสมทบกับเพื่อนร่วมแก๊งเพื่อก่อการในช่วงสุดสัปดาห์

ระหว่างแวะซื้อยาแก้ปวดหัว ชายชราคนหนึ่งเข้ามาทักทายและชวนมิลานไปกินยาที่บ้าน เขาชื่อมาแนสกิเยร์(ฌอง โรชฟอร์) เป็นครูสอนวรรณคดีเกษียณอายุ ท่าทางงกๆ เงิ่นๆ คุยเก่ง ต่างจากมิลานซึ่งเงียบขรึม ไว้ท่าที

ตลอดสุดสัปดาห์นั้น มิลานจำเป็นต้องพักกับมาแนสกิเยร์เนื่องจากไม่มีโรงแรมเปิดให้บริการช่วงฤดูหนาว ระยะเวลาไม่กี่วันเพียงพอให้ทั้งสองรู้จักกันมากขึ้น

...ละสายตาจากชีวิตของตนเอง มองไปยังชีวิตที่แตกต่างของคนอื่น


มิลานเข้าไปสัมผัสชีวิตเรียบง่ายสงบเงียบของมาแนสกิเยร์ ส่วนมาแนสกิเยร์ก็พึงพอใจกับการได้ลองเลียนแบบชีวิตโลดโผนของมิลาน

โดยไม่ได้มองว่าชีวิตของคนหนึ่งซ้ำซาก น่าเบื่อ ขณะที่อีกคนช่างสุ่มเสี่ยงยิ่งนัก

มิตรภาพร่วมแบ่งปันเดินทางมาถึงวันสุดท้ายซึ่งทั้งสองมีภารกิจสำคัญที่ต้องสะสาง มิลานกับเพื่อนร่วมแก๊งทำตามแผนปล้นธนาคาร ส่วนมาแนสกิเยร์เข้ารับการผ่าตัดหัวใจ

โดยไม่รู้ว่าจะได้กลับมาใช้ชีวิตเช่นใดต่อไป....

จุดที่โดดเด่นของ Man on the Train คือบุคลิกของหนังที่ดูสุขุม เยือกเย็น เหมือนผู้ใหญ่ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากมาย ผสานกับภาพโทนน้ำตาลที่ดูสอดรับลงตัวกับตัวละครสูงวัยในโลกของมาแนสกิเยร์ ตรงข้ามกับภาพโทนน้ำเงินเย็นตา แต่น่าหวาดหวั่น แทนโลกของมิลาน

เรื่องราวดำเนินไปช้าๆ ไม่มีช่วงตอนกระตุ้นปลุกเร้าจนเกินพอดี แต่ชัดเจนต่อการช่วยให้เราเข้าใจตัวละครทั้งสองมากขึ้นเรื่อยๆ

บุคลิกอีกอย่างของหนังที่สัมผัสได้คือ บุคลิกแบบหนังคาวบอยที่เห็นกันบ่อยครั้ง เกี่ยวกับตัวละครเจนโลกผู้เปลี่ยวเหงาเดินทางมาถึงเมืองไกล ยื่นมือเข้าช่วยเหลือคนในเมือง ก่อนจะจากไปแม้มีคนเหนี่ยวรั้งไว้ก็ตาม โดยมีเสียงกีตาร์สไลด์สำเนียงแบบหนังตะวันตกคอยปูอารมณ์อยู่ตลอดเวลา

รถไฟคือสัญลักษณ์สำคัญของหนัง แม้จะปรากฏเพียงฉากแรกและฉากสุดท้าย แต่รถไฟคือสัญลักษณ์ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับโลกสมัยใหม่ เป็นมายาคติที่มักจะถูกหยิบมาใช้เพื่อแสดงถึงการเดินทางข้ามไปยังโลกแปลกใหม่อยู่เสมอ อาทิ รถไฟสู่โลกพ่อมดในแฮร์รี่ พอตเตอร์ รถไฟวิเศษพาไปพบซานตาคลอสที่ขั้วโลกเหนือใน The Polar Express ฯลฯ

รถไฟใน Man on the Train ได้นำมิลานมาสู่โลกที่เขาไม่เคยรู้จักมักคุ้น เหมือนกับมาแนสกิเยร์ที่ต้องการโดยสารรถไฟไปจากเมืองที่เขาอยู่มาตลอดชีวิตในตอนจบของหนัง


ในส่วนของเนื้อหา บทหนังจับความแตกต่างระหว่างตัวละครทั้งสองมาเน้นผ่านวัตถุสิ่งของ ไม่ว่าจะเป็นปืน แจ๊คเก็ตหนัง ของมิลาน สัญลักษณ์นอกคอกที่มาแนสกิเยร์ลองฝึกยิง-สวมใส่ ขณะที่มิลานขอรองเท้าแตะจากมาแนสกิเยร์ โดยบอกว่าไม่เคยใส่มาก่อน ความนุ่มสบายของรองเท้าที่มิลานสัมผัสก็เปรียบเสมือนชีวิตเงียบสงบเรียบง่ายที่ไม่เคยอยู่ในสารบบชีวิตของมิลาน

นอกจากนี้ การที่หนังให้มาแนสกิเยร์เคยมีอาชีพเป็นครูสอนวรรณกรรม โปรดปรานบทกวี ภาพของของครูและลักษณะของศิลปะวรรณกรรมยิ่งเน้นความแตกต่างกับโจรปล้นแบงค์อย่างมิลานขึ้นไปอีก

การพยายามสวมบทบาทแทนอีกคน ทั้งฉากที่มาแนสกิเยร์รวบรวมความกล้าเข้าจัดการกับแขกที่ส่งเสียงดังในร้านอาหาร กับฉากที่มิลานวิเคราะห์วรรณคดีเรื่อง เออเฌนี กร็องเด้ต์ ของ ออนอเร่ เดอ บัลซัค ทั้งที่ไม่เคยอ่านให้แก่เด็กที่มาเรียนที่บ้าน จึงดูอิหลั่กอิเหลื่อ ไม่ลงตัว แต่ก็เห็นชัดว่าพวกเขา “ปรารถนา” ในบทบาทนั้นๆ

ร้านขายยาสำหรับมิลานในตอนต้นเรื่อง กับโรงพยาบาลสำหรับมาแนสกิเยร์ในตอนท้าย จึงล้วนมีนัยยะเพื่อ “เยียวยา” ทั้งสองคน

เยียวยาด้วยการเติมสีสันใหม่-บทบาทไม่คุ้นเคยให้แก่ชีวิต..ให้แก่ซากร่างที่ตนเองอาศัยอยู่แม้เพียงชั่วครู่คราว

เพราะรู้ทั้งรู้ว่าไม่อาจเป็น “ใคร” ได้แท้จริง



Create Date : 21 กรกฎาคม 2549
Last Update : 21 สิงหาคม 2549 2:20:59 น.
Counter : 2838 Pageviews.

2 comments
๏ ... รามคำแหง แรงคำหาม ... ๏ นกโก๊ก
(2 ม.ค. 2567 14:22:51 น.)
พบเจอภาพอะไร? ส่วนหนึ่งของภาพน่าสนใจจึงตัดมาใช้ คุกกี้คามุอิ
(1 ม.ค. 2567 03:56:23 น.)
ทนายอ้วนจัดดอกไม้ - จัดดอกไม้ง่ายๆ – แจกันสวัสดีปีใหม่ 2567 - กุหลาบพวงสีชมพู - ขาว ทนายอ้วน
(2 ม.ค. 2567 15:16:32 น.)
สวัสดีปีใหม่ Rain_sk
(1 ม.ค. 2567 21:38:33 น.)
  
น่าสนใจอีกแล้วค่ะ

แล้วก็ทำให้นึกไปถึงหนังของ czech เรื่อง Autumn Spring ที่มีตัวละครเป้น 2 ผู้สูงอายุเหมือนกัน (แต่เนื้อหาไม่เหมือนอ่ะ แหะ แหะ )

โดย: renton_renton วันที่: 24 กรกฎาคม 2549 เวลา:1:09:58 น.
  
ผมว่า Leconte เค้าทำหนังดราม่า ได้สนุกดี พวก The widow of saint pierre หรือ The girl on the bridge ก็ดูแล้วได้อะไรดี
โดย: PE IP: 124.121.123.50 วันที่: 21 ธันวาคม 2549 เวลา:13:51:32 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Aloneagain.BlogGang.com

แค่เพียงรู้สึกสุขใจ
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]

บทความทั้งหมด