พลเมืองจูหลิง : ชิ้นส่วนของอคติ? [Full Version]



พลเมืองจูหลิง
ชิ้นส่วนของอคติ?

พล พะยาบ


*หมายเหตุ : บทวิจารณ์ “พลเมืองจูหลิง : ชิ้นส่วนของอคติ?” ตีพิมพ์ในคอลัมน์อาทิตย์เธียเตอร์ หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 30 สิงหาคม 2552 ส่วนที่นำมาลงนี้เป็นบทวิจารณ์ฉบับเต็มที่ยังไม่ผ่านการตัดทอนและปรับแต่งให้สั้นลงเพื่อให้พอดีกับพื้นที่



ตั้งใจดูเรื่องนี้ตั้งแต่คราวฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯเมื่อปีที่แล้ว แต่เนื่องจากฟ้าฝนไม่เป็นใจทำให้พลาดไปทั้งที่จองตั๋วไว้แล้วล่วงหน้า เมื่อได้โอกาสเข้าฉายที่โรงหนังเฮาส์ช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาจึงไม่ยอมพลาดซ้ำอีก (ถึงสัปดาห์นี้หนังยังคงฉายอยู่)

พลเมืองจูหลิง (Citizen Juling) คือภาพยนตร์สารคดีความยาว 3 ชั่วโมง 42 นาที ว่าด้วยเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีเหตุโศกนาฏกรรมซึ่งเกิดกับครูจูหลิง ปงกันมูล ที่โรงเรียนบ้านกูจิงลือปะ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เป็นจุดศูนย์กลาง

ผู้สร้าง 3 คน ประกอบด้วย ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ มานิต ศรีวานิชภูมิ และสมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ใช้เวลาราว 4 เดือน นับแต่เหตุการณ์ดังกล่าว ทำความรู้จักกับหญิงสาวชาวเหนือตัวเล็กใจใหญ่ที่มุ่งมั่นตั้งใจไปสอนศิลปะแก่เด็กๆ ชาวใต้แต่กลับต้องแลกด้วยชีวิต ลงพื้นที่ตรวจสอบความเป็นมา-เป็นไปของเหตุการณ์ รวมถึงกรณีสะบ้าย้อยและมัสยิดกรือเซะ โดยมีภาพกว้างของประเทศไทยเชื่อมโยงอยู่อย่างแยกไม่ออก ตั้งแต่ฉากเปิดเรื่องที่ฉายภาพความปลื้มปิติของประชาชนในวันฉลองสิริราชสมบัติ 60 ปี ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า จนถึงฉากปิดท้ายในวันที่ผู้คนไปร่วมถ่ายรูปกับทหารและรถถังหลังคืนรัฐประหารล้มรัฐบาลทักษิณ

ลักษณะของสารคดีเป็นการบันทึกติดตามการลงพื้นที่และกิจกรรมต่างๆ ของทีมผู้สร้างโดยไกรศักด์เป็นผู้อยู่หน้ากล้อง เสริมด้วยเสียงของผู้อยู่หลังกล้องอีก 2 คน ช่วยสอบถาม-สัมภาษณ์ หนังจึงโดดเด่นในเรื่องความสดและพลังที่ส่งออกมาผ่านภาพหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า รวมถึงอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรง

หนังยังมีจุดที่น่าชื่นชมและน่าจะหยิบยกมากล่าวถึงหลายอย่าง แต่เนื่องจากพื้นที่ไม่มากนักจึงขอว่ากันเฉพาะจุดที่ผู้เขียนติดใจและเห็นว่าสำคัญที่สุด

ประเด็นที่หนังบอกกล่าวอย่างชัดเจนคือ รัฐบาลไทยรักไทยเป็นจุดเริ่มต้นของความไม่สงบในภาคใต้ที่ลุกลามบานปลาย โดยใช้อำนาจรัฐกระทำต่อประชาชนอย่างไร้ความเป็นธรรม และนโยบายปราบยาเสพติดที่อาจเป็นชนวนเหตุสำคัญ ปัญหาอยู่ตรงที่ผู้สร้างไม่ได้นำเสนอประเด็นเหล่านี้ผ่านข้อมูลหลักฐานที่เป็นรูปธรรม ไม่มีการสืบค้น-ขุดคุ้ย-สอบถามจากหลายฝ่ายอย่างรอบด้านและลงรายละเอียด ส่วนใหญ่จะบอกเล่าผ่านบทสนทนาระหว่างไกรศักดิ์กับคณะผู้ติดตามหรือกลุ่มคนที่มาต้อนรับ (หนังไม่ได้ใส่ชื่อเสียงเรียงนามของผู้ที่ปรากฏในหนังเลย)

แน่นอนว่าบางเรื่องราว-บางข้อมูลเคยปรากฏเป็นข่าวหรือในรูปของเอกสารที่ผ่านการพิจารณาแล้ว แต่ในบริบทของหนังสารคดีที่มีลักษณะสำรวจตรวจสอบให้เห็นภาพเชื่อมโยงชัดเจนขึ้น การอ้างลอยๆ ผ่านการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการนั้นไม่เพียงพอให้หนังมีน้ำหนักที่น่าเชื่อถือและพอจะอ้างอิงต่อได้

สิ่งที่ผู้สร้างทำเพื่อหาข้อเท็จจริงในกรณีต่างๆ ที่ยังขาดความกระจ่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นกรณีครูจูหลิง สะบ้าย้อย หรือมัสยิดกรือเซะ มีแค่การสอบถามชาวบ้านซึ่งแม้จะอยู่ในพื้นที่และเกี่ยวข้องกับผู้เสียชีวิต แต่ทุกคนล้วนแต่ไม่ใช่พยานที่เห็นเหตุการณ์ ไม่มีใครให้คำตอบได้ว่าเกิดอะไรขึ้น ไม่มีการสอบถามกับเจ้าหน้าที่ระดับสูง ไม่ติดตามสอบถามกลุ่มคนที่ถูกจับกุมตัวอย่างน่าเคลือบแคลง ทั้งที่ผู้สร้างที่ลงพื้นที่นำทีมโดยบุคคลระดับวุฒิสมาชิก

หนังพาผู้ชมไปยังสถานที่เกิดเหตุ เห็นสถานที่จริง เห็นกระทั่งกองเลือด สามารถสร้างภาพขึ้นในจินตนาการผ่านคำบอกเล่าของหลายคน สะเทือนใจกับญาติของผู้เสียชีวิต สงสารเห็นใจชายที่เมียของเขาถูกเจ้าหน้าที่จับกุม สัมผัสได้ถึงความคับข้อง-เจ็บแค้น

แต่สุดท้ายผู้ชมก็กลับออกมาโดยไม่ได้เข้าใจอะไรมากขึ้นเลย

*ถ้าการสำรวจตรวจสอบพบอุปสรรคเรื่องการไม่ให้ความร่วมมือของเจ้าหน้าที่หรือชาวบ้านไม่กล้าให้ข้อมูล หนังก็ต้องแสดงออกมาให้เห็นเพื่อให้แก่นสารของหนังเรื่องอำนาจรัฐกับชาวบ้านยิ่งมีน้ำหนักมากขึ้น แทนที่จะปล่อยทิ้งไว้แล้วมาออกตัวในช่วงท้ายของหนังว่าการถ่ายทำหนังสารคดีเรื่องนี้ยังไม่สามารถตอบข้อสงสัยหลายอย่าง ทั้งที่ตลอดเวลากว่า 3 ชั่วโมง ผู้สร้างเองเป็นคนจุดประเด็นข้อสงสัยมากมาย เกือบทั้งหมดเป็นข้อสงสัยที่พกพาลงไปจากกรุงเทพฯ ไม่ใช่จากหลักฐานหรือจากปากคำของชาวบ้านระหว่างการลงพื้นที่ ซึ่งลงท้ายข้อสงสัยเหล่านี้ก็เหมือนถูกโยนทิ้งไว้ให้เกิดความเคลือบแคลงต่อไป

ถามว่าหนังสารคดีจำเป็นต้องค้นหาคำตอบเพื่อคลายข้อสงสัยหรือไม่ คำตอบคือไม่จำเป็น...ถ้าเพียงแต่หนังสารคดีเรื่องนั้นๆ ไม่มีท่าทีชี้นำไปในทางใดทางหนึ่งอย่างเห็นได้ชัดอย่างเรื่องพลเมืองจูหลิง

เพราะเมื่อชี้นำแล้วทำได้แค่โยนข้อสงสัยไว้มากมายนอกจากผู้ชมจะไม่ได้อะไรแล้ว หากประเด็นของหนังเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งระหว่างฝักฝ่าย หนังสารคดีเรื่องนั้นย่อมไม่พ้นถูกตีค่าในทางลบ กระทั่งส่วนที่ดีของหนังถูกมองข้ามไป

ถามอีกครั้งว่าหนังสารคดีไม่สามารถชี้นำไปทางใดทางหนึ่งหรือ คำตอบคือชี้นำได้...ยิ่งหากผู้สร้างมั่นใจว่ากำลังนำเสนอในเรื่องที่ถูกต้อง แต่เมื่อต้องการชี้นำแล้วสิ่งที่ขาดไม่ได้คือข้อมูลหลักฐานที่หนักแน่นพอจะสนับสนุนความคิดของตนหรือกระทั่งโน้มน้าวให้ผู้ชมคล้อยตาม

ยกตัวอย่างเรื่อง Fahrenheit 9/11 (2004) ของ ไมเคิล มัวร์ แม้จะถูกปักป้ายว่าตั้งใจโจมตี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช แต่สิ่งที่เขาค้นคว้า รวบรวม สืบเสาะมาประมวลเข้าด้วยกันนั้น เกินกว่าจะถูกเหยียดแคลนในฐานะคนทำหนังสารคดีคนหนึ่ง

หรือเรื่อง No End in Sight (2007) ของ ชาร์ลส์ เฟอร์กูสัน ซึ่งแม้ไม่ได้ออกตัวชัดเจนว่าตั้งใจโจมตีนโยบายสงครามอิรักของรัฐบาลบุชจูเนียร์ แต่การไล่เรียงเบื้องหลัง-เบื้องหน้าตั้งแต่ 9/11 ถึงความวุ่นวายในอิรักหลังสงคราม ค่อนข้างครอบคลุมแง่มุมผ่านการสัมภาษณ์และฟุตเตจวิดีโอมากมาย กระทั่งสุดท้ายสามารถ “จับโกหก” ได้กลางอากาศโดยผู้สร้างไม่จำเป็นต้องป่าวร้อง แต่ผู้ชมรับรู้ได้เอง ถือเป็นความสำเร็จของหนังสารคดีที่ควรยึดเป็นแบบอย่างยิ่งนัก

บอกตามตรงว่าผู้เขียนเองมีความคิด-ความเชื่อบางอย่างตรงกับสิ่งที่หนังพยายามนำเสนอด้วยซ้ำ แต่หลังจากดูหนังจบแล้วกลับไม่พบว่าหนังช่วยยืนยันความคิด-ความเชื่อดังกล่าวให้สามารถจับต้องได้มากกว่าเดิมเลย แล้วผู้ชมที่ไม่มีความคิด-ความเชื่อใดๆ มาก่อนจะได้อะไรกลับไปบ้าง ยังไม่นับผู้ชมจากฟากฝั่งตรงข้ามที่คงมองหนังสารคดีเรื่องนี้เป็นแค่เครื่องมือโจมตีฝ่ายตน

ไม่ใช่แค่การชี้นำโดยปราศจากการหาคำตอบเท่านั้น วิธีการนำเสนอและท่าทีของผู้สร้างได้ลดทอนความน่าเชื่อถือของหนังสารคดีลงด้วย ไม่ว่าจะเป็นเสียงวอยซ์โอเวอร์ของใครไม่รู้ที่บอกว่าทักษิณมีอำนาจมากกว่าฮิตเลอร์ (ตลอดทั้งเรื่องมีแค่เจ้าของร้านสูงวัยที่เป็น “ชาวบ้านแท้ๆ” เพียงคนเดียวที่พูดออกมาชัดเจนว่าเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้นในยุคทักษิณจนต้องปิดร้านเร็วขึ้น)

หรือในระหว่างพูดคุยกับเพื่อนชาวเหนือเกี่ยวกับการฆ่าอย่างโหดเหี้ยมที่เกิดขึ้นทางภาคเหนือ แล้วไกรศักดิ์ก็พูดขึ้นว่า “นายกฯก็คนเหนือ” จากนั้นทั้งสองและผู้สัมภาษณ์หญิงที่อยู่หลังกล้องก็หัวเราะกับมุขตลกนี้ ยังไม่นับเสียงสัมภาษณ์ของผู้สัมภาษณ์หญิงคนเดียวกันที่มักชี้นำ เสริมใส่อารมณ์และเออออไปกับผู้ให้สัมภาษณ์ซึ่งไม่ใช่ท่าทีที่หนุนเสริมความน่าเชื่อถือของหนังสารคดี

ถามว่าคำพูดลอยๆ และมุขตลกเสียดสีดังกล่าวช่วยสนับสนุนแก่นสารความคิดของหนังได้หรือไม่

คำตอบคือไม่เลย!

ทุกวันนี้มี “เว็บไซต์-เว็บบอร์ด” ที่เผยแพร่ข้อเขียนประเภท “สรุปเอาเอง” เพื่อให้ “พวกเดียวกันเอง” อ่านเกลื่อนแล้ว

มีสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ที่พูดในสิ่งที่อยากพูด แม้จะเต็มไปด้วยอารมณ์-ความสะใจอยู่ทั่วประเทศ

ถ้าจะมีหนังสารคดีสักเรื่องที่พูดถึงเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พูดถึงจิตใจอันบริสุทธิ์งดงามและยิ่งใหญ่ของผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่ชื่อ จูหลิง ปงกันมูล หนังสารคดีเรื่องนั้นก็ไม่ควรถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อความสะใจของใคร

เพราะขณะที่ “พลเมืองจูหลิง” กำลังปะติดปะต่อภาพความขัดแย้ง-แบ่งแยก และอคติที่เกิดขึ้นระหว่างผู้กุมอำนาจรัฐ ระหว่างรัฐกับประชาชน และระหว่างประชาชนด้วยกัน

ตัวหนังเองก็กำลังแสดงตนเป็นชิ้นส่วนของอคติในภาพปะติดปะต่อนั้นเช่นกัน




Create Date : 01 กันยายน 2552
Last Update : 2 กันยายน 2552 17:20:48 น.
Counter : 1533 Pageviews.

8 comments
  
ยังไม่ได้ดูหนังนะครับ แต่อ่านบทวิจารณ์ในมติชนแล้วชอบมาก เลยตามมาให้กำลังใจ
โดย: yatiko วันที่: 1 กันยายน 2552 เวลา:11:05:17 น.
  
ยังไม่ได้ดูหนังครับ

แต่อ่านแล้วก็น่าคิดตาม...
โดย: Seam - C IP: 58.9.204.140 วันที่: 1 กันยายน 2552 เวลา:13:02:35 น.
  

ขอบคุณ
ที่นำภาพยนต์ดีดีมาฝากเสมอค่ะ
โดย: อุ้มสี วันที่: 1 กันยายน 2552 เวลา:20:28:23 น.
  
ตอนที่ดูหนังเรื่องนี้ แอบคิดไปถึง Farenheit 9/11 เหมือนกันครับ
ทั้งเรื่องให้คนทำหนังเป็นตัวดำเนินเรื่อง ทั้งเรื่องการตั้งธงไว้แล้วก่อนทำหนัง...
โดย: ฟ้าดิน วันที่: 3 กันยายน 2552 เวลา:3:24:41 น.
  
แน่นอนว่าหนัีงตั้งธงไว้อยู่แล้ว แต่ในการตั้งธงนั้นหนังตัดต่อและนำเสนอออกมาด้วยท่าทีเย้ยหยันเสียมากกว่าในหลายๆส่วนนะครับ ไม่ว่าจะเป็นการจ้องถ่าย "รูปที่มีทุกบ้าน" ในลักษณะที่ต่างกับหนังไทยเรื่องอื่นๆ หรือไดอะล็อกหลายส่วนทั้งเรื่องคนเหนือเอย หรือเรื่องดอกไม้ปลอมเอย

อีกส่วนหนึ่ง การที่ได้วุฒิสมาชิกลงไปในพื้นที่ จริงๆแล้วก็ทำให้ได้ข้อมูลที่มากขึ้นกว่าที่ออกตามสื่อหลักอยู่พอสมควร แต่ผมมองว่าที่ทำให้หนังไม่ได้ลงลึกในรายละเอียดมากนัก เป็นเพราะอุปสรรคหลายๆอย่างในการเข้าถึงประเด็นปัญหาเรื่องความรุนแรงในภาคใต้เสียมากกว่า

ผมถึงชอบครึ่งหลังมากกว่าครึ่งแรกที่ค่อนข้างจะ informative เพราะครึ่งหลังเป็นการแสดงให้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นและอคติของผู้คนต่อเหตุการณ์ในภาคใต้เสียมากกว่า (โดยเฉพาะตอนที่ครูของครูจูหลิงออกมาอ่านบทกลอนด้วยน้ำเสียงอำมหิต) จนเสียดายอยู่หน่อยๆว่าทำไมเลือกสัมภาษณ์เพียงแค่คนใกล้ตัวของครูจูหลิง หรือคนทำตั้งใจอะไรบางอย่างเพื่อไม่ให้ได้ภาพกว้างออกไปกว่านี้

แต่ยังไงก็ดี ผมก็ยังถือว่าหนังเรื่องนี้มีคุณค่าในตัวของมันหลายๆจุดนะครับ อย่างน้อยมันก็ไม่ได้ผลิตซ้ำอะไรที่ชัดเจนหรือย้ำอะไรเดิมๆแต่เพียงอย่างเดียว (แม้จะบอกว่าทักษิณเป็นจุดกำเนิดของเหตุการณ์ภาคใต้ก็ตาม) เพียงแต่ว่าสิ่งนั้นไม่สามารถพูดออกมาเป็นวอยซ์โอเวอร์ได้เท่านั้นเอง
โดย: nanoguy IP: 125.24.132.31 วันที่: 4 กันยายน 2552 เวลา:12:29:00 น.
  

อย่างที่ออกตัวไว้ครับว่าพื้นที่น้อย อยากเขียนถึงหลายจุดก็จริง แต่ประเด็นที่เขียนไปเป็นประเด็นสำคัญที่สุดที่มีผลต่อหนังทั้งเรื่อง จะเขียนสั้นๆ ก็กลัวไม่เคลียร์ เดี๋ยวจะถูกใครเอาไปตีความตามใจ

ผมว่าถ้าตัดประเด็นตั้งธงทิ้งไป หนังทั้งเรื่องก็คือบันทึกความคิดความรู้สึกของคนไทยในห้วงเวลาหนึ่งโดยใช้เหตุการณ์ภาคใต้มาเชื่อมโยง แม้จะไม่กว้างและหลากหลายนัก ไม่ว่าจะเป็นครูของครูจูหลิง (อย่างที่ nanoguy บอก) อาของครูจูหลิงที่ถูกถามว่าแค้นมั้ย หรือเนตรนารีที่บอกว่า “คนใต้ทำ” (เพื่อนผมที่เป็นคนตรังได้ยินถึงกับร้องว่า “อ้าว!” 555)

ท่าทีจริงๆ ของหนังที่ผมว่ามีคุณค่าคือการบันทึก ส่วนผู้ชมจะเก็บไปประมวล ไปปะติดปะต่อคิดเองอย่างไรก็เป็นเรื่องของแต่ละคน

รวมถึง “รูปที่มีทุกบ้าน” ด้วย ซึ่งผมว่าหนังไม่ได้แสดงออกชัดเจนนักว่าจะให้ผู้ชมคิดอะไร มุมมองของบางคนอาจจะคิดว่าหนังกำลังตั้งคำถาม แต่ก็ไม่แปลกถ้าใครจะคิดแบบคอนเซอร์เวทีฟว่าหนังกำลังฉายภาพ “องค์ประกอบตามแบบแผน” ของความเป็นไทย เพราะนอกจากจะมีรูปนั้นแล้ว หนังยังพาไปวัดและมัสยิด มีบทสนทนาว่าด้วยคำสอนของทั้งสองศาสนา ไหนจะภาพใบปิดที่เป็นรูปธงชาติขาดเป็นริ้ว พร้อมคำโปรยว่า “ด้วยรักในชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ราวกับจะบอกว่าเหตุการณ์ความไม่สงบและอคติต่างๆ กำลังทำลายความเป็นชาติ (ซึ่งประกอบด้วย 1.......2.......3.......)

(แต่ก็นั่นแหละครับ อย่างเราๆ พอเห็นว่าหนังเลือกฉากเปิดเรื่องกับฉากปิดเรื่องอย่างนั้นซึ่งให้ความรู้สึกแอ็บเสิร์ดยิ่งนัก ก็ไม่คิดหรอกว่าผู้สร้างจะคิดตามแบบแผนอย่างย่อหน้าที่แล้ว)

ทีนี้...ภาพส่วนใหญ่ที่หนังบันทึกให้ผู้ชมเก็บงำคิดเองนั้น อยู่ดีๆ ก็ถูกประเด็นที่แข็งแรงกว่า จับต้องได้มากกว่า กลบเกลื่อนไปด้วยท่าทีชี้นำจนทำให้ภาพรวมของหนังเสียไปด้วย ซึ่งผมอยากบอกว่าที่เป็นเช่นนี้เพราะเลือกอาจารย์ไกรศักดิ์มาเป็นคนเดินเรื่องนั่นเอง ถ้าเป็นคนอื่นอาจจะไม่สุดโต่งแบบนี้ (คุณอิ๋งก็อาจไม่ตามน้ำเท่านี้) แต่ในทางกลับกันก็ต้องถือว่าอาจารย์ไกรศักดิ์เหมาะกับการเป็นคนเดินเรื่องมากๆ ด้วยเสน่ห์และศักยภาพในการนำเสนอของแก

หรือหากตัดใจ “ตัดทิ้ง” มุขเย้ยหยัน-เสียดสีให้เป็นแค่ “เรื่องส่วนตัว” ของผู้สร้าง หนังก็จะมีภาพรวมที่ดีขึ้นเยอะ

โดยรวมแล้วผมจึงรู้สึกเสียดายซะมากกว่า


โดย: พล พะยาบ (แค่เพียงรู้สึกสุขใจ ) วันที่: 4 กันยายน 2552 เวลา:15:51:57 น.
  
น่าดูทีเดียวครับ ขอบคุณครับ ที่มีบทความดีๆให้อ่านอีกแล้ว
โดย: McMurphy วันที่: 4 กันยายน 2552 เวลา:19:43:56 น.
  
ว่าจะไปดูหลายครั้งแล้ว แต่ไม่ว่างซะที
อ่านบทความจบแล้วครับ แต่คงยังให้ความเห็นก่อนดูหนังไม่ได้
แล้วจะแวะมาเยี่ยมใหม่ครับ
โดย: beerled IP: 58.9.246.163 วันที่: 6 กันยายน 2552 เวลา:23:04:33 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Aloneagain.BlogGang.com

แค่เพียงรู้สึกสุขใจ
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]

บทความทั้งหมด