ดาวน์โหลดโปรแกรม ดูละครย้อนหลัง อ่านเรื่องราวของความรู้รอบตัว วิทยาศาสตร์ ท่องเที่ยว สุขภาพ อาหาร รถยนต์ต่างๆ ไม่ทิ้งเรื่องราวความบันเทิงและเรื่องส่วนตัวอีกด้วย
Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2553
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
7 มิถุนายน 2553
 
All Blogs
 
มิติวิทยาศาสตร์พื้นบ้านสู่การเรียนการสอน

มิติวิทยาศาสตร์พื้นบ้านสู่การเรียนการสอน

กระบวนการคิดและการเรียนรู้ของมนุษย์ได้มีวิวัฒนาการมาจากกการสังเกตสิ่งต่างๆ รอบตัว โดยนำเสนอด้วยการสื่อสารทางภาษาหรือสัญลักษณ์เพื่อถ่ายทอดความเข้าใจในสิ่งที่ตนเองรับรู้ผ่านมายังบุคคลรอบข้าง เกิดการสั่งสมและสืบทอดสิ่งที่เรียนรู้จนพัฒนาเป็นระบบความรู้ตามรูปแบบการดำรงชีวิตและวัฒนธรรมของแต่ละชุมชน

ความรู้ท้องถิ่น เป็นระบบความรู้ที่พัฒนาการอย่างต่อเนื่อง โดยผ่านมิติของความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นวิทยาศาสตร์และไม่เป็นวิทยาศาสตร์ ความรู้เหล่านี้มีการสั่งสมและสืบทอดผ่านรุ่นสู่รุ่น อาจเป็นความรู้ที่มีการสั่งสมอยู่ภายในตัวบุคคล ได้แก่ ปราชญาชาวบ้าน หมอพื้นบ้าน ผู้รู้ในท้องถิ่นหรืออาจใช้กลวิธีอื่นเพื่อถ่ายทอดความรู้ ได้แก่ ข้อวัตรปฏิบัติ ภาษาพูด ภาษาเขียน คำกลอน บทสวด ฯลฯ ซึ่งกลายเป็นระบบความรู้ที่สร้างสรรค์ประโยชน์ต่อลูกหลานในท้องถิ่นนั้นๆ

บทความฉบับนี้ ผู้เขียนได้สะท้อนความคิดเกี่ยวกับบทบาทของ ความรู้ท้องถิ่น กับ ความรู้สากล ซึ่งเห็นได้ว่า นักวิทยาศาสตร์ นักปราชญา ละนักการศึกษาเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการผสมผสานระหว่างสององค์ความรู้นี้เข้าด้วยกัน และนำไปปฏิบัติในทางการศึกษาแต่ละระดับ เพื่อให้การจัดการศึกษามีคุณค่าและความหมายที่แท้จริงต่อผู้เรียน โดยส่งเสริมให้ผู้เรียนตระหนักถึงบทบาทและหน้าที่ในการแสวงหาความรู้รอบตัว เข้าใจความเป็นจริงของธรรมชาติสามารถรับรู้ อธิบาย และสื่อความหมายอย่างเป็นวิทยาศาสตร์

ความรู้ท้องถิ่นเป็นระบบความรู้ที่มีการสั่งสมและถ่ายทอดกันอย่างต่อเนื่อง มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กับธรรมชาติและสภาพการดำรงชีวิตของมนุษย์ มีความสมดุลระหว่างความรู้และความคิดสร้างสรรค์สมัยใหม่ สามารถที่จะอธิบายได้ทั้งหมด โดยเฉพาะมิติในด้านการคิด วิธีการสั่งสมและถ่ายทอดความรู้ของชุมชนแบบดั้งเดิม

การเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ ยิ่งจำเป็นต้องอาศัยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ สามารถพิสูจน์และยืนยันกันได้ด้วยประจักษ์พยาน และสามารถนำไปใช้อ้างอิงได้ ด้วยเหตุผลที่ว่า ความรู้ท้องถิ่นกับความรู้สากลส่งผลกระทบโดยตรงต่อเยาวชน องค์การสหประชาชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม (UNESCO) ได้จัดตั้งโครงการศึกษาวิจัยเพื่อปกป้องความรู้ท้องถิ่น หรือภูมิปัญญาท้องถิ่นขึ้น โดยเสนอแนวคิดการจัดการศึกษาวิทยาศาสตร์อย่างยั่งยืนไว้ ดังนี้

การเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ต้องชี้ประเด็นให้ผู้เรียนได้คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมการเรียนรู้แบบดั้งเดิมกับวิทยาศาสตร์อย่างชัดเจน

ผู้สอนต้องคอยเอื้ออำนวยต่อผู้เรียนได้พัฒนากระบวนการคิดให้สามารถก้าวข้ามของระบบความคิดของโลกทัศน์นี้

ผู้สอนต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้เรียนเพื่อนำไปสู่การเป็นบุคคลและสังคมแห่งการเรียนรู้

การจัดการเรียนการสอนต้องเชื่อมโยงประเด็นความรู้ ทักษะ และคุณค่าของวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ให้เข้ากับบริบทของสังคมและวัฒนธรรมท้องถิ่น
ในขณะที่การเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนส่วนใหญ่มักเน้นวิทยาศาสตร์สมัยใหม่เป็นกระแสหลัก ดังนั้น เราจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงวัฒนธรรมการเรียนรู้ของคนในแต่ละท้องถิ่น ก่อนที่จะผสมผสานความรู้สมัยใหม่เข้าไปเพื่อไม่ให้ผู้เรียนเกิดความขัดขืนต่อกระบวนการสร้างความรู้ด้วยตนเองตามสภาพชีวิตจริง โดยยึดการมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้ตามประสบการณ์ที่ผู้เรียนได้คุ้นเคย

Jegede (1995) ได้เสนอรูปแบบการเรียนรู้แบบคู่ขนานไว้ 4 รูปแบบ (ภาพที่ 1) ซึ่งรูปแบบการเรียนรู้แบบคู่ขนานจะส่งผลต่อการพัฒนาระบบกระบวนการเรียนรู้ที่เป็นความจำระยะยาวของผู้เรียน การเรียนรู้แบบนี้จะมีคุณค่าและความหมายมากกว่าการท่องจำ หรือจับจดกับเนื้อหาวามากเกินไป ผู้เรียนสามารถที่จะเรียนรู้โดยต่อยอดจากความรู้ท้องถิ่นไปสู่ความรู้วิทยาศาสตร์ สากลในเชิงผสมผสานดังนี้



ภาพที่ 1 การเรียนรู้แบบคู่ขนาน (ดัดแปลงมาจาก jagade 1995)


รูปแบบที่ 1 การเรียนรู้ที่มีสภาวะคล้ายคลึงกัน (paralell collateral learning) ผู้เรียนสามารถที่จะเรียนรู้ และสั่งสมความรู้เป็นความจำระยะยาวเกี่ยวกับความคิดรวบยอดทางวิทยาศาสตร์ได้เป็นอย่างดี แต่ยกเว้นในกรณีที่หลักฐานทางวิทยาศาสตร์อันใหม่มีความน่าเชื่อถือมากกว่าอันเดิม ทำให้ความคิดรวบยอดทางวิทยาศาสตร์อันใหม่ที่มีความชัดเจนน่าเชื่อถือและอธิบายได้ดีกว่า


รูปแบบที่ 2 การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน (simultaneous collateral learning) ผู้เรียนสามารถที่จะเรียนรู้และสั่งสมความรู้แบบใหม่กับแบบดั้งเดิมได้ในเวลาเดียวกัน โดยมีสิ่งเร้ามากระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ เช่น ปัจจัยพื้นฐานเกี่ยวกับตัวผู้เรียน และปริมาณของสิ่งเร้า ปัญหาและวิธีการแก้ปัญหา สิ่งเหล่านี้จะกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน


รูปแบบที่ 3 การเรียนรู้เกิดขึ้นเนื่องจากสภาวะที่จำกัด (dependen collateral learning) ผู้เรียนจะเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้ดีก็ต่อเมื่อความคิดแบบดั้งเดิมของผู้เรียนได้ถูกท้าทายด้วยความคิดใหม่ ส่งผลให้ผู้เรียนเกิดการปรับขยายแนวคิดออกไป นั้นหมายความว่า ความคิดแบบดั้งเดิมมีข้อจำกัดบางประการที่มิอาจอธิบายได้โดยความเชื่อ ซึ่งเป็นความรู้แบบดั้งเดิมก็จะถูกความรู้เข้ามาแทนที่ด้วยการอธิบายอย่างเป็นระบบและตรวจสอบได้


รูปแบบที่ 4 การเรียนรู้ที่เกิดจากความเชื่อมั่น (secured collateral learning) การเรียนรู้แบบนี้เป็นการสร้างสภาวะการขัดแย้งทางด้านสติปัญญาทำให้ผู้เรียนเข้าใจวิทยาศาสตร์พื้นบ้านก่อน แล้วนำความรู้เหล่านั้นมาปรับขยายในชั้นเรียน เป็นการผสมผสานระหว่างความรู้แบบเก่ากับแบบใหม่ ความคิดรวบยอดที่เกิดขึ้นก็จะกลายเป็นความจำระยะยาว
จากแนวคิดของ Jegede เราสามารถที่จะปรับขยายวิธีการส่งเสริมและพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียนได้โดยใช้ชุมชนพื้นฐาน จากนั้นนำความรู้วิทยาศาสตร์เข้ามาอธิบายและสื่อสารความหมายผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เพื่อลงข้อสรุป ซึ่งเป็นวิธีการที่ดีกว่าการนำเนื้อหาวิชาหรือความรู้วิทยาศาสตร์สมัยใหม่เป็นตัวตั้ง ซึ่งการถ่ายทอดความรู้แบบนี้ มักทำให้ผู้เรียนรู้สึกว่าเป็นสิ่งแปลกแยกจากชีวิตประจำวัน ไม่ก่อให้เกิดคุณค่าอย่างเต็มที่ต่อกระบวนการพัฒนาความคิดและทักษะในการดำรงชีวิตที่แท้จริง กระบวนทัศน์ใหม่ในแวดวงวิทยาศาสตร์ศึกษาจำเป็นที่ต้องคำนึงถึงจิตวิญญาณซึ่งหัวใจของการสร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ การเรียนรู้แบบคู่ขนานเป็นแนวทางในการนำความรู้ท้องถิ่นมาสื่อประสานเข้ากับความรู้วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ โดยให้ผู้เรียนได้หยิบยกประเด็นสิ่งต่างๆ รอบตัวมาประยุกต์ใช้ให้ใกล้เคียงเข้ากับความจริงของชีวิต

Cobern และ Loving (2001) ได้ให้จำกัดความของวิทยาศาสตร์ออกเป็น 3 หมวด ดังนี้

วิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ธรรมชาติ มีความเป็นปรนัย (objectivity) และเป็นความรู้เชิงประจักษ์ (empirical Knowledge)

มาตรฐานทางวิทยาศาสตร์มีพื้นฐานมาจากอภิปรัชญา และการทำความเข้าใจเกี่ยวกับสภาวะความเป็นจริงของโลก และ

คุณภาพและคุณค่าของวิทยาศาสตร์อยู่บนพื้นฐานของการวิพากษ์โดยสังคมวิทยาศาสตร์
ส่วน Stanley และ Brickhouse (2001) ได้กล่าวถึงจุดอ่อนของสังคมวิทยาศาสตร์ไว้ 3 ประการ คือ

ข้อจำกัดด้านสติปัญญาของมนุษย์ในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับสภาวะความเป็นจริงของโลก

การอธิบายเกี่ยวกับสภาวะความเป็นจริงล้วนมีความไม่แน่นอน และ

วิทยาศาสตร์กับบทบาทวัฒนธรรมมีรูปแบบที่แตกต่างกัน
การก้าวข้ามระหว่างความรู้แบบดั้งเดิมกับความรู้วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ได้รับผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและรูปแบบการดำรงชีวิตประจำวัน การเปลี่ยนแปลงทางด้านพฤติกรรมของมนุษย์และสังคม ความคาดหวัง ความเชื่อและความคิดในการก้าวข้ามพรมแดนวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ ระหว่างระดับรากหญ้าและระดับสากล การสอนวิทยาศาสตร์พื้นบ้าน จึงควรจะสอนให้เด็กเข้าใจถึงธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ควบคู่ไปกับปรากฏการณ์ธรรมชาติ ช่วยให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น และสามารถยกระดับการคิดและเรียนรู้ให้เป็นแบบคู่ขนานได้

Snively และ Corsiglia (2001) ได้เสนอกระบวนการผสมผสานความรู้ท้องถิ่นเข้ากับความรู้วิทยาศาสตร์สากลในการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ไว้ทั้งหมด 5 ขั้นตอน ดังนี้


ขั้นตอนที่ 1 เลือกความคิดรวบยอดทางวิทยาศาสตร์หรือหัวข้อที่น่าสนใจ (เช่น การแพทย์ การเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ การดูแลสิ่งแวดล้อม)


ขั้นตอนที่ 2 จำแนกความรู้ของบุคคล ซึ่งรูปแบบความรู้นี้มักได้มาจากการผสมผสานเกี่ยวกับความสำคัญของความเชื่อส่วนบุคคล การระดมความคิดเกี่ยวกับหัวเรื่องมราสนใจหรือการตั้งคำถามเกี่ยวกับความคิดรวบยอด จากนั้น จำแนกความคิดความเชื่อและข้อคิดเห็นของแต่ละบุคคล


ขั้นตอนที่ 3 สร้างมุมมองทางการวิจัย โดยศึกษาจากความรู้วิทยาศาสตร์สมัยใหม่และความรู้ดั้งเดิม ความรู้ที่มีในท้องถิ่น จัดทำระบบสารสนเทศแล้วจำแนกความเหมือนและความแตกต่างของสองระบบความรู้ จากนั้นอธิบายตามสภาพความจริงของข้อมูล โดยอ้างอิงจากข้อค้นพบในการสร้างมุมมองทางการวิจัย


ขั้นตอนที่ 4 ขั้นสะท้อน โดยการเรียงลำดับมุมมองทางการวิจัย แล้วนำมากำหนดเป็นความคิดรวบยอด หรือประเด็นที่ต้องการสังเคราะห์ จากนั้น ทำการสังเคราะห์จ้อมูล เกี่ยวกับความคิดรวบยอด หรือประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคุณค่า จริยธรรม และความรู้ เปรียบเทียบมุมมองของผู้เรียนระหว่างก่อนและหลังการนำระบบความรู้มาเชื่อมโยง


ขั้นตอนที่ 5 ประเมินกระบวนการ โดยการประเมินจากกระบวนการตัดสินใจ ผลกระทบต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคล ความก้าวหน้าของผู้เรียนในการเรียนรู้และประเมินความรู้สึกของผู้เรียน
การพัฒนาความคิดรวบยอดทางวิทยาศาสตร์ โดยการยึดชุมชนและท้องถิ่นเป็นแกนหลักในการส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ยอมรับที่จะเรียนรู้พูดคุย และการรับฟังความเหมือนแลความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรม ต้องคำนึงถึงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างและรูปแบบการคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ โดยที่วัฒนธรรมเดิมไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนโครงสร้างตัวเองทั้งหมด ก่อนที่จะรับวัฒนธรรมใหม่เข้าไป สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ผู้เรียนได้ผูกโยงเรื่องราวและสื่อความหมายได้ง่ายกว่าการนำทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์หรือความรู้จากตะวันตกมาใช้ในการเรียนการสอนทันที ซึ่งถือว่าห่างไกลจากสิ่งที่ผู้เรียนคุ้นเคย

สรุป


วิทยาศาสตร์มิใช่เป็นเพียงแค่ความรู้หรือเทคนิควิธีการในการเสาะแสวงหาความจริง หรือความรู้ของกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ แต่ วิทยาศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเปลี่ยนแปลงการพัฒนาสติปัญญาและจารีตทางสังคม การจัดการเรียนการาสอนวิทยาศาสตร์โดยคำนึงถึงท้องถิ่นและสากลจึงเป็นสิ่งที่กำลังท้าทายนักวิทยาศาสตร์ศึกษา เพื่อนำไปสู่การสร้างมิติใหม่ของการเรียนเพื่อพัฒนากระบวนการคิด การนำวิทยาศาสตร์พื้นบ้านมาใช้ในการเรียนการสอน จะช่วยส่งเสริมความงอกงามทางสติปัญญา ผู้เรียนสามรถดำรงชีวิตอยู่ในชุมชนไดอย่างปกติสุข บนพื้นฐานของกระบวนการเรียนรู้ตามสภาพภูมิศาสตร์ นิเวศวิทยา ความเชื่อ ปรัชญา วิถีชุมชน และวิถีแห่งการดำรงชีวิต

บนพื้นฐานที่ได้เรียนรู้อันมีรากเหง้ามาจากท้องถิ่น ทำให้ผู้เรียนได้สั่งสมความรู้ ความเข้าใจ และบ่มเพาะความคิดในสิ่งที่มีคุณค่าต่อการพัฒนาตนเองและสังคมอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม กระแสความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากปัจจัยภายนอกชุมชน กำลังส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและรูปแบบการดำรงอยู่ของวัฒนธรรมชุมชน การเรียนการสอนวิทยาศาสตร์จะต้องทำความเข้าใจถึงแก่นวัฒนธรรมการเรียนการสอนของท้องถิ่นนั้นๆ และคำนึงถึงความสอดคล้องระหว่างจุดมุ่งหมายของการศึกษา พัฒนาศักยภาพตามที่สังคมคาดหวัง และส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เกิดความซาบซึ้งในวิทยาศาสตร์ โดยไม่ละทิ้งความภาคภูมิใจและคุณค่าของความเป็นท้องถิ่น





โดย ประสาท เนืองเฉลิม


ที่มาข้อมูล : วารสารวิชาการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปีที่ 10 ฉบับที่ 2 เมษายน - มิถุนายน 2550
เครดิต : ผู้จัดการออนไลน์


Create Date : 07 มิถุนายน 2553
Last Update : 7 มิถุนายน 2553 9:40:37 น. 0 comments
Counter : 8655 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

scimovie
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 108 คน [?]




แหล่งรวบรวมความรู้ โปรแกรม เพลง หนัง เกมส์ วิทยาศาสตร์ ดูละคร เรื่องย่อ ภาพยนตร์ การเงิน และอื่นๆ อีกมากมาย สุดท้ายขอกำลังใจให้มีแรงอัพเดทตลอดๆ ครับ ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยมเยียนกันครับ
Friends' blogs
[Add scimovie's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.