ธันวาคม 2553

 
 
 
1
2
3
5
6
8
16
17
18
20
21
22
23
24
26
27
28
29
30
31
 
 
All Blog
ข้างหลังชีวิต ภาคมัชฌิมวัย ตอน"หนอนหนังสือ"(2)




ก่อนจะก้าวข้ามไปเรื่องอื่นๆ ขอแทรกเรื่องนี้คือหอสมุดแห่งชาติได้หนังสือมาบริการผู้อ่าน 3 วิธี วิธีแรกคือการจัดซื้อหนังสือด้วยเงินงบประมาณ(อันน้อยนิด) วิธีที่สองคือได้รับจากโรงพิมพ์หรือสำนักพิมพ์ ตาม พรบ.การพิมพ์ พ.ศ. 2483 จำนวน 2 เล่มหรือ 2 ฉบับต่อการพิมพ์หนึ่งเรื่อง วิธีนี้ได้รับหนังสือน้อยมาก เพราะโรงพิมพ์มักจะไม่ค่อยเอาใจใส่จัดส่งหนังสือให้ และ พรบ.การพิมพ์ก็กำหนดบทลงโทษโรงพิมพ์ที่ฝ่าฝืนเพียงปรับเป็นเงินสองเท่าของ ราคาหนังสือที่ไม่ได้จัดส่ง วิธีที่สามคือมีผู้บริจาคให้ วิธีนี้ถึงแม้จะมีไม่บ่อยนักในแต่ละปี แต่หนังสือที่ได้รับบริจาคมาก็เป็นหนังสือดี หนังสือเก่าที่มีคุณค่า ยกตัวอย่าง หม่อมเจ้าหญิงพูนพิสมัย ดิสกุล บริจาคหนังสือของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ พร้อมทั้งเครื่องใช้ส่วนตัวของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ จำนวนถึง 7000 กว่าเล่ม กรมศิลปากรจัดตั้งเป็นห้องสมุดพิเศษให้ชื่อว่า หอสมุดดำรงราชานุภาพ จัดสร้างเป็นอาคารทรงไทยสวยงามมาก ตั้งอยู่ด้านหลังหอสมุดแห่งชาติ สนามหลวง

เมื่อหอสมุดแห่งชาติย้ายมาที่ทำการใหม่ท่าวาสุกรี อาคารหอสมุดดำรงราชานุภาพก็ไม่มีคนดูแลชำรุดทรุดโทรมรกร้าง มีต้นไม่ขึ้นปกคลุมไปหมด น่าเสียดายมาก ทราบว่าไม่กี่ปีมานี้วัดมหาธาตุฯได้ทำการรื้อถอนและสร้างเป็นอาคารใหม่ สำหรับใช้สอยด้านอื่นๆไปแล้ว

ผมทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ลงทะเบียนหนังสืออยู่ประมาณหนึ่งปี พี่เอมอรหัวหน้าก็ขอให้มาช่วยเรื่องการจัดหมู่หนังสือและทำบัตรรายการ ผมจึงมีความรู้และประสบการณ์ด้านนี้เพิ่มขึ้น เรียกว่าทำงานสองอย่าง ได้รับการปรับอัตราเงินเดือนขึ้นปีละ 2 ขั้น จำนวนเงิน 50 บาท และเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยที่ได้รับเงินเดือนขึ้นปีละ 2 ขั้น ติดต่อกันมาหลายปี

สมัยนั้นอุปกรณ์ติดต่อสื่อสารระหว่างหน่วยงานราชการ กระทรวง ทบวง กรม ก็คือ โทรศัพท์ หอสมุดแห่งชาติมี 1 เลขหมาย กองประวัติศาสตร์และวรรณคดีที่อยู่อาคารเดียวกัน แต่ค่อนไปทางด้านกรมศิลปากรกันมี 1 เลขหมาย ราชบัณพิตยสถานที่อยู่อาคารเดียวกันแต่ค่อนมาทางด้าน ม.ธรรมศาสตร์ มี 1 เลขหมาย เรียกว่าเป็นอุปกรณ์เครื่องใช้ที่หายากสุดๆในสมัยนั้น


เครื่อง โทรศัพท์ที่ใช้อยู่ตอนนั้น ประมาณ พ.ศ. 2506 นับเป็นเครื่องโทรศัพท์ที่ผมเห็นและได้ใช้ครั้งแรกในชีวิต เสียงกริ่งมันดังกังวานแสบหูจริงๆ เวลามีโทรศัพท์มาแต่ละครั้งต้องวิ่งตามหากัน เพราะโทรศัพท์ตั้งอยู่ที่แผนกหอสมุด ตรงเจ้าหน้าที่ทำบัตรสมาชิก พูดถึงเรื่องนี้ขอแทรกเกร็ดเล็กๆไว้นิดนึง สมัยนั้นผู้ที่จะมาใช้บริการอ่านหนังสือจะต้องทำบัตรสมาชิกหอสมุดแห่งชาติ ก่อน เมื่อจะอ่านหนังสือห้องใดก็นำบัตรสมาชิกไปให้เจ้าหน้าที่ดูแลห้องนั้น ยกเว้นห้องอ่านหนังสือพิมพ์และนิตยสาร เจ้าหน้าที่ทำบัตรคือ คุณวิจักขณ์ คำชาวนา อายุอานามรุ่นเดียวกับผม เคยบวชพระสอบมหาเปรียญสามประโยคมาก่อน แต่ไม่ชอบให้คนเรียกว่า มหา

แผนกหนังสือตัวเขียน จะมีเจ้าหน้าที่เคยบวชเป็นพระมาแล้วทั้งนั้น ตั้งแต่ระดับมหาเปรียญสามประโยคถึงเก้าประโยค น่าจะเป็นเพราะแผนกนี้ต้องใช้ความรู้ทางด้านภาษาบาลีและสันตกฤษตเป็นส่วน ใหญ่ ดูบุคลิกแต่ละคนเคร่งขรึมและคงแก่เรียนทั้งนั้น

ในบรรดาผู้ ที่มาค้นคว้าหาหนังสืออ่านเป็นประจำ ผมรู้จักคุ้นเคยหลายท่าน บุคคลเหล่านี้ล้วนมีคุณูประการต่อผมในเวลาต่อมา อาทิ พี่วรุณ ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักเขียนที่ใช้นามปากกาว่า ฝน อยุธยา พี่แก้วฟ้า อัจฉริยกุล นักแต่งเพลงชื่อดัง คุณวรชัย อัมพุช (น้องชายเสี่ยศุภชัย อัมพุช) คุณพ่อของผู้บริหารระดับสูงเครือห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ (คุณสุรัตน์ คุณกฤษณา) ส.(สมบัติ)พลายน้อย นักเขียนแนวรวบรวมเรียบเรียงที่มีชื่อเสียง ฯลฯ




Create Date : 12 ธันวาคม 2553
Last Update : 4 มกราคม 2560 10:56:13 น.
Counter : 716 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

หนุ่มร้อยปี
Location :
กรุงเทพ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 24 คน [?]



บล็อกนี้สร้างสรรค์ขึ้นเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2549 โดย ชายไทยวัยสูงอายุ มีวัตถุประสงค์ในการบันทึกและนำเสนอเรื่องราวต่างๆแบบครอบจักรวาล อาทิ ภาพยนตร์ ดนตรี รายการทีวี หนังสือน่าอ่าน อาหารน่ากิน ท่องเที่ยว สะสมสิ่งของ ตำนานชีวิตบุคคลน่าสนใจ รู้ไว้ใช่ว่า จิปาถะ
ฯลฯ เป็นต้น คำขวัญประจำบล็อก ประสบการณ์ชีวิตที่ดีในอดีต คือทรัพยากรที่ทรงคุณค่าในปัจจุบัน คำขวัญประจำตัวเจ้าของบล็อก "อายุเป็นเพียงตัวเลข" บรรณาธิการบริหารบล็อกคือ หนุ่มร้อยปี บล็อกนี้ไม่สงวนลิขสิทธิ์ตามกฏหมาย ท่านใดเห็นว่าข้อเขียนหรือภาพประกอบในบล็อกนี้มีประโยชน์ สามารถนำไปใช้ได้ แต่โปรดอ้างอิงชื่อบล็อกนี้ด้วย จักขอบคุณยิ่ง