ธันวาคม 2553

 
 
 
1
2
3
5
6
8
16
17
18
20
21
22
23
24
26
27
28
29
30
31
 
 
All Blog
ข้างหลังชีวิต ภาคมัชฌิมวัย ตอน"หนอนหนังสือ"(1)




ในที่สุดผมก็ลาออกจากการเป็นครูโรงเรียนนาคประสิทธิ์ เมื่อเดือนมีนาคม 2506 รวมระยะเวลาทำงานเป็นครูที่โรงเรียนนี้ สามปีการศึกษา (พ.ศ. 2503-2505)

ผมไปหาครูสงวน อั้นคง ที่หอสมุดแห่งชาติ เล่าให้ท่านฟังว่าผมลาออกจากโรงเรียนนาคประสิทธิ์แล้ว ท่านถามผมว่ามีแผนงานที่จะไปทำงานอะไรที่ไหนหรือยัง ผมตอบท่านว่ายัง ท่านจึงพูดว่าสนใจที่จะทำงานที่นี่ใหม กรม(ศิลปากร)เขากำลังประกาศรับสมัครเจ้าหน้าที่ตำแหน่งบรรณารักษ์จัตวา (เทียบเท่า ซี สาม) ผมบอกท่านว่าสนใจครับ ท่านจึงพาผมไปหาหัวหน้าแผนกหอสมุด ให้ผมเขียนใบสมัคร แล้วรีบนำหลักฐานเอกสารมาให้ทีหลัง หลักฐานที่หอสมุดแห่งชาติต้องการคือ ใบสุทธิว่าจบมัธยมปีที่หก ใบแสดงว่ามีคุณวุฒิทางด้านบรรณารักษ์ศาสตร์ สำเนาทะเบียนบ้าน

ผมรีบจัดการนำเอกสารหลักฐานมาให้ในวันรุ่งขึ้นทันที เมื่อมาถึงก็พบประกาศรายชื่อผู้สมัครงานตำแหน่งนี้ จำนวน 5 คนรวมทั้งผมด้วย พร้อมทั้งกำหนดวันสอบข้อเขียน และสอบสัมภาษณ์ในสัปดาห์ต่อมา เมื่อผมสอบข้อเขียนและสอบสัมภาษณ์เรียบร้อยแล้ว สัปดาห์ต่อมาก็ประกาศผลสอบ ปรากฏว่าผมสอบได้ที่หนึ่งจากจำนวนผู้สมัครสอบ 5 คน ตำแหน่งนี้รับเพียงหนึ่งคนเท่านั้น เป็นอันว่าผมสอบได้ จากนี้ผมก็ไปที่แผนกสารบรรณ กรมศิลปากร ซึ่งอยู่หน้าประตูวิเศษชัยศรี พระบรมมหาราชวัง เพื่อขอรับหนังสือส่งตัวไปสอบประวัติที่ สภอ.สามพราน นครปฐม เนื่องจากสอบเข้ารับราชการได้

เป็นครั้งแรกที่ผมต้องพิมพ์ลายนิ้วมือทั้งสิบนิ้ว(คล้ายๆกับผู้ต้องหา คดี) และรับหนังสือการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อยืนยันว่าผมไม่มีคดีแต่ อย่างใด จากนี้ผมก็นำหนังสือยืนยันมาส่งให้แผนกสารบรรณ กรมศิลปากร พร้อมกับรับหนังสือรายงานตัวเข้าทำงาน

หอสมุดแห่งชาติสมัยนั้นเป็นหน่วยงานราชการสังกัดกรมศิลปากร ในฐานะระดับกองเรียกว่ากองหอสมุดแห่งชาติ หัวหน้ากองคือ นายบวร ธีมากร แบ่งงานออกเป็นสามแผนกคือ แผนกหอสมุด รับผิดชอบงานด้านสารบรรณของกอง และงานอื่นๆที่ไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของแผนกใด หัวหน้าแผนกคือ นายจินต์ วัฒนปฤดา (ผู้แต่งเพลง กังหันต้องลม ให้วงดนตรีสุนทราภรณ์ และเป็นหลานชายของหลวงวิจิตรวาทการ) แผนกหนังสือตัวพิมพ์ (หมายถึงรับผิดชอบเกี่ยวกับหนังสือที่พิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์) หัวหน้าแผนกคือ นายธูป นวลยง แผนกหนังสือตัวเขียน (รับผิดชอบดูแลรักษาหนังสือหรือสมุดข่อย ใบลาน หรือวัสดุอื่นใดที่แกะสลัก จารด้วยลายมือ รวมทั้งศิลาจารึกต่างๆด้วย โดยมีผู้เชี่ยวชาญภาษาโบราณและภาษาบาลี สันสกฤต ภาษาขอม เป็นผู้ดูแลและชำระข้อความให้ถูกต้อง) หัวหน้าแผนกคือ นายบุนนาค พยัฆเดช

ผมได้รับการบรรจุเข้าทำงานในแผนกหนังสือตัวพิมพ์ อัตราเงินเดือน 450 บาท ขั้นเงินเดือนขั้นละ 25 บาท หน้าที่ลงทะเบียนหนังสือใหม่ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

แผนกหนังสือตัวพิมฑ์แบ่งงานออกเป็นสามหน่วยคือ หน่วยลงทะเบียนหนังสือ หน่วยจัดหมู่หนังสือและทำบัตรรายการหนังสือ หน่วยซ่อมหนังสือ แต่ละหน่วยมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานหน่วยละ 1 คน อยู่ภายใต้การดูแลและรับผิดชอบของพี่เอมอร (จำนามสกุลท่านไม่ได้) จบปรัญญาตรี บรรณารักษศาตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย

ผมจำได้ว่าวันแรกที่ผมเข้าทำงานมีหนังสือใหม่ที่รอการลงทะเบียน กองเป็นภูเขาเลากามีฝุ่นจับหนา จำนวนประมาณพันกว่าเล่ม พี่เอมอรหัวหน้าใหม่เข้ามาหาแนะนำวิธีการลงทะเบียนหนังสือ และบอกผมว่าน้องไม่ต้องรีบร้อนนะ ลงทะเบียนวันละสามเล่มสี่เล่มก็ได้ เดี๋ยวจะท้อใจไปเสียก่อน

สาเหตุที่มีหนังสือรอการลงทะเบียนจำนวนมหาศาลนี้ ผมมาทราบภายหลังว่าเจ้าหน้าที่ลงทะเบียนคนก่อนลาาอกไปประมาณสามเดือนแล้ว กรมฯจึงประกาศรับสมัครเจ้าหน้าที่คนใหม่ก็คือผม (อย่าได้แปลกใจระบบราชการเป็นอย่างนี้มานานแล้ว)

แต่ด้วยความที่เป็นคนหนุ่มวัยยี่สิบกว่า กำลังไฟแรงผมจึงลุยเต็มกำลัง ลงทะเบียนหนังสือวันละ 10-20 เล่ม ต่อมาพี่เอมอรก็มาบอกว่าถ้าลงทะเบียนวันละมากๆอย่างนี้ คงจัดหมู่หนังสือและทำบัตรรายการไม่ทัน หนังสือก็คงยังไม่สามารถส่งไปที่ห้องบริการผู้อ่านได้ (ผมก็มาทราบภายหลังอีกว่าพี่เอมอรนั่นแหละเป็นคนจัดหมู่หนังสือและทำบัตร รายการ ไม่มีเจ้าหน้าที่คนไหนมาช่วย เพราะคนเดิมถูกย้ายไปอยู่กองอื่นๆของกรมฯ

ตามขั้นตอนของหอสมุดแห่งชาติ เมื่อหนังสือลงทะเบียนแล้ว ก็มาจัดหมวดหมู่ตามระบบทศนิยมของดิวอี้ แล้วเขียนหมวดหมู่หนังสือที่สันปกด้วยดินสอไฟฟ้าลงบนแถบเคมีสีขาว ระดับสูงต่ำของเลขหมู่หนังสือทุกเล่มต้องเท่ากัน เพื่อความสวยงาม จากนั้นจึงส่งไปยังห้องบริการผู้อ่าน ซึ่งแบ่งเป็นห้องภาษาไทย และห้องภาษาอังกฤษ สำหรับหนังสือพิมพ์รายวันและนิตยสารไม่ต้องลงทะเบียน เมื่อได้รับแล้วก็ส่งที่ห้องหนังสือพิมพ์และนิตยสารเลย

ระบบการจัดหมวดหมู่ของหนังสือใหม่มีรายละเอียดดังนี้
ระบบทศนิยมดิวอี้

ระบบทศนิยมดิวอี้ (Dewey Decimal Classification) เรียกย่อๆ ว่า D.C. หรือ D.D.C เป็นระบบการจัดหมวดหมู่หนังสือในห้องสมุดที่นิยมระบบหนึ่ง คิดค้นขึ้นโดยชาวอเมริกัน เมลวิล ดิวอี้ ในขณะที่เขา กำลังเป็นผู้ช่วยบรรณารักษ์อยู่ที่วิทยาลัยแอมเฮอร์ส (Amherst College)
การจัดหมวดหมู่หนังสือตามระบบทศนิยมของดิวอี้ แบ่งหนังสือออกเป็นหมวดหมู่ต่างๆ จากหมวดหมู่ใหญ่ไปหาหมวดหมู่ย่อยต่างๆ

หมวดใหญ่
การแบ่งหมวดหมู่หนังสือระดับที่ 1 แบ่งตามประเภทของสรรพวิชาใหญ่ๆ 10 หมวด โดยใช้ตัวเลขหลักร้อยเป็นตัวบ่งชี้
000 เบ็ตเตล็ดหรือความรู้ทั่วไป (Generalities)
100 ปรัชญา (Philosophy)
200 ศาสนา (Religion)
300 สังคมศาสตร์ (Social sciences)
400 ภาษาศาสตร์ (Language)
500 วิทยาศาสตร์ (Science)
600 วิทยาศาสตร์ประยุกต์ หรือเทคโนโลยี (Technology)
700 ศิลปกรรมและการบันเทิง (Arts and recreation)
800 วรรณคดี (Literature)
900 ประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ (History and geography)

หอสมุดแห่งชาติหลังเก่า ด้านหลังวัดมหาธาตุฯ ติดกับสนามหลวง

ภาพสมัยทำงานตำแหน่งบรรณารักษ์จัตวา แผนกหนังสือตัวพิมพ์




Create Date : 11 ธันวาคม 2553
Last Update : 3 มกราคม 2560 10:39:08 น.
Counter : 754 Pageviews.

1 comments
  
สวัสดีค่ะ..

ช่วงนี้เลยมีเวลาว่างมาขึ้นนะค่ะ..

ดีจัง..จะได้เขียนบันทึกเรื่องราวต่างๆได้มากขึ้นและละเอียดขึ้น..

โดย: คนผ่านทางมาเจอ วันที่: 11 ธันวาคม 2553 เวลา:11:06:04 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

หนุ่มร้อยปี
Location :
กรุงเทพ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 24 คน [?]



บล็อกนี้สร้างสรรค์ขึ้นเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2549 โดย ชายไทยวัยสูงอายุ มีวัตถุประสงค์ในการบันทึกและนำเสนอเรื่องราวต่างๆแบบครอบจักรวาล อาทิ ภาพยนตร์ ดนตรี รายการทีวี หนังสือน่าอ่าน อาหารน่ากิน ท่องเที่ยว สะสมสิ่งของ ตำนานชีวิตบุคคลน่าสนใจ รู้ไว้ใช่ว่า จิปาถะ
ฯลฯ เป็นต้น คำขวัญประจำบล็อก ประสบการณ์ชีวิตที่ดีในอดีต คือทรัพยากรที่ทรงคุณค่าในปัจจุบัน คำขวัญประจำตัวเจ้าของบล็อก "อายุเป็นเพียงตัวเลข" บรรณาธิการบริหารบล็อกคือ หนุ่มร้อยปี บล็อกนี้ไม่สงวนลิขสิทธิ์ตามกฏหมาย ท่านใดเห็นว่าข้อเขียนหรือภาพประกอบในบล็อกนี้มีประโยชน์ สามารถนำไปใช้ได้ แต่โปรดอ้างอิงชื่อบล็อกนี้ด้วย จักขอบคุณยิ่ง