ธันวาคม 2553

 
 
 
1
2
3
5
6
8
16
17
18
20
21
22
23
24
26
27
28
29
30
31
 
 
All Blog
ข้างหลังชีวิต ภาคปฐมวัย(3)


เมื่อตอนที่แล้วผมเขียนเกริ่นไว้ว่า คุณป้าที่อยู่ตลาดกระทุ่มแบน ชวนให้ไปพักอาศัยอยู่ด้วย คุณป้าท่านนี้มีน้องสาวสองคนและน้องชาย 1 คน ท่านชื่อ กิมกุ้ย แซ่อึ้ง ต่อมาใช้นามสกุลว่า ควรสมบูรณ์ น้องสาวรองจากท่านชื่อ ทองม้วน (แม่ของผม) น้องสาวคนสุดท้องชื่อ กิมเปี๊ยะ ท่านมีน้องชายอีก 1 คน บวชพระตลอดชีวิต ผมเรียกท่านว่า หลวงลุงเสียว น่าจะเป็นพี่ชายแม่ของผม ต่อมาครอบครัวคุณป้าใช้นามสกุลว่า สำราญภูติ

คุณป้าเปิดร้านขายของชำ(โชห่วย)ที่ตลาดกระทุ่มแบน ขายสินค้ามากมายจิปาถะ ร้านนี้กว้างสองคูหาของอาคารพาณิชย์สองชั้น มีถนนด้านหน้าร้านติดกับคลองภาษีเจริญ สามีของคุณป้าผมเรียกสรรพนามแบบคนจีนว่า อาเตี๋ยว(ลุง) เป็นคนจีนมาจากประเทศจีนตั้งแต่ยังหนุ่มๆ บุคลิกภาพค่อนข้างอ้วน ใจดี มีเหตุผล ปกติอาเตี๋ยวจะนั่งประจำอยู่ที่โต๊ะเขียนหนังสือด้านหลังร้าน ตรงประตูเข้าไปหลังร้าน หลังร้านมีบริเวณกว้างขวางใช้เป็นห้องครัว ห้องน้ำ และมีที่นั่งเป็นเตียงสำหรับนั่งเล่น ชั้นบนมีบันไดขึ้นไปอีกห้องหนึ่ง ซึ่งผมใช้ห้องนี้เป็นที่พักของผม คืนหนึ่งหลังจากผมทำการบ้านเสร็จ ผมไม่รู้จะทำอะไร ก็ลากลังกระดาษสามสี่ใบใต้เตียงนอนมาดู พอเปิดออกผมตกใจมาก เพราะในลังนั้นมีธนบัตรใหม่เอี่ยมอัดแน่นอยู่ ต่อมาทราบว่าเป็นธนบัตรประเทศจีน ที่ทางการจีนประกาศยกเลิกไม่ใช้ หลังจากรัฐบาลเมาเซตุงปกครองประเทศ อาเตี๋ยวสมัยนั้นเข้าใจว่าเป็นนักลงทุนเล่นธนบัตรจีน

คุณป้ามีลูกสาวหนึ่งคนชื่อจีนว่า เซี่ยมเกียง ชื่อไทยว่า อุษา จบชั้นมัธยมปีที่ 6 จากโรงเรียนราชินีบูรณะ จังหวัดนครปฐม นับว่าเป็นหญิงสาวที่เรียนระดับสูงคนหนึ่งในสมัยนั้น ต่อมามีลูกชายติดกันสามคนคือ ไพรัช ไพโรจน์ และมณเฑียร ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นไพบูลย์ ไพโรจน์อายุรุ่นเดียวกับผม เรียนอยู่ห้องเดียวกันที่โรงเรียนมัธยมวัดหนองแขม

ตลาดกระทุ่มแบนในสมัยนั้นนับว่ามีความเจริญมากทีเดียว มีผู้คนจากตำบลใกล้เคียงมาจับจ่ายซื้อสินค้ากันแต่ละวันเป็นจำนวนมาก ถนนคอนกรีตหน้าร้านของคุณป้ามีความยาวประมาณหนึ่ง กม.หรือมากกว่านี้ผมจำไม่ค่อยได้ โดยเริ่มต้นจากสำนักงานเทศบาลตำบลกระทุ่มแบน มาถึงที่ว่าการอำเภอกระทุ่มแบน ถนนสายนี้แหละเป็นที่เดินช็อปปิ้งของหนุ่มสาวสมัยนั้นรวมทั้งผมด้วย ผมมีเพื่อนที่เดินเที่ยวกันสองสามคน ที่จำชื่อได้แม่นยำเพราะเดินกันทุกคืนชื่อ เยี่ยม เปรมาตุน เราจะเริ่มเดินกันตั้งแต่เวลาประมาณหนึ่งทุ่ม เดินกลับไปกลับมาไม่รู้กี่เที่ยว ถึงเวลาประมาณสองทุ่มก็เลิกแยกย้ายกันกลับบ้านไปทำการบ้าน จากนี้ก็จะมีเด็กหนุ่มรุ่นใหญ่มาเดินต่อ

ช่วงที่พักอาศัยอยู่ที่ตลาดกระทุ่มแบน มีเกร็ดประวัติเกี่ยวกับทีวีนิดหนึ่งคือ ทีวีช่องสี่ขาวดำ ที่ตั้งอยู่บางขุนพรหมเริ่มออกอากาศเป็นครังแรก ชาวบ้านร้านตลาดสมัยนั้นตื่นเต้นกันมาก แต่ทั้งตลาดน่าจะมีทีวีดูไม่กี่เครื่อง ร้านนิลดำ เป็นร้านที่เปิดให้ชาวบ้านและเด็กๆอย่างผมมีโอกาสได้ดูทีวีเป็นครั้งแรกในชีวิต ร้านนี้มีหลานสาวคนหนึ่งเรียนอยู่ห้องเดียวกับผมชื่อ อ่อนศรี เนตยารักษ์ จบการศึกษาแล้วเธอทำงานองค์การโทรศัพท์จนเกษียณอายุ ผมไม่เคยพบเธอมานานหลายสิบปีแล้ว สิ่งประทับใจอีกอย่างหนึ่งคือมีห้องสมุดประชาชนตั้งอยู่ชั้นล่างของที่ว่าการอำเภอฯ ซึ่งเป็นสถานที่ที่ผมไม่เคยได้้ใช้บริการมาก่อน นับว่าถูกใจหนอนหนังสืออย่างผมเป็นอันมาก

ก่อนจะจบการเรียนที่โรงเรียนมัธยมวัดหนองแขม ผมมีโอกาสไปเที่ยวงานวันเด็กแห่งชาติ ที่ทางราชการจัดขึ้นเป็นปีแรก ทางโรงเรียนหยุดให้ไปเที่ยวหนึ่งวัน ไม่อยากจะเล่าประสบการณ์ที่เข้ากรุงเทพครั้งแรกในชีวิต ผมไปเดินป้วนเปี้ยนกับเพื่อนสองสามคนที่ข้างโรงเรียนสวนกุหลาบ เชิงสะพานพุทธ ไม่กล้าไปไหนไกลๆกลัวหลงทาง

ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญต่อชีวิตผมครั้งแรกคือ จบชั้นมัธยมปีที่หกแล้วไม่รู้จะไปเรียนต่อที่ไหน สมัยนั้น พ.ศ. 2497 วงการศึกษายังไม่มีครูแนะแนวการเรียน จนปัญญาเข้าก็มาโยนหัวโยนก้อย ทางเลือกของผมมีทางเดียวคือ ต้องเรียนต่อโรงเรียนสายอาชีวศึกษา เพราะไม่เก่งวิชาคำนวณ ครั้นจะไปเรียนเตรียมอุดมศึกษาก็ไม่ได้ โรงเรียนสายอาชีวศึกษาตอนนั้นมีที่นิยมเรียนกันสี่โรงเรียนคือ โรงเรียนพณิชยการพระนคร (พพ) โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย โรงเรียนช่างกลปทุมวัน และโรงเรียนเพาะช่าง

หรือจะไปเรียนสายการทหารก็มี โรงเรียนนายสิบทหารบก โรงเรียนจ่าอากาศ โรงเรียนจ่าทหารเรือ โรงเรียนกรมแผนที่ทหารบก หรือโรงเรียนการไปรษณีย์ เป็นต้น ผมตัดสินใจเรียนที่โรงเรียนเพาะช่าง(ลูกชายคุณป้าชื่อไพโรจน์ก็ไปเรียนกับผมด้วย) ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตเพาะช่าง เหตุผลมีประการเดียวคือไม่มีวิชาคำนวณ และมีใจรักวาดเขียนพอเป็นกระสายยา

โรงเรียนเพาะช่างสมัยที่ผมเข้าเรียน เพิ่งเปิดเป็นสองภาคคือ ภาคเช้ากับภาคบ่าย ผมสมัครเข้าเรียนภาคเช้า มีวิชาหลักๆคือ แผนกครูการช่าง แผนกวิจิตรศิลป์ และแผนกหัตถกรรม ปีแรกเรียนรวมทุกวิชา ผลการสอบปลายปีหากใครได้เปอร์เซ็นต์เกินกว่าหกสิบ มีสิทธิ์เลือกเรียนแผนกไหนก็ได้ ผมเลือกเรียนแผนกวิจิตรศิลป์

อาจารย์ใหญ่สมัยนั้นคือ อาจารย์จิตร บัวบุศ มีลูกสาวเรียนอยู่ชั้นเดียวกับผมชื่อ สโรชา อาจารย์ที่ผมศรัทธาและนับถือในวิชาความรู้ของท่านมากๆคือ อาจารย์เฉลิม นาคีรักษ์ ท่านเก่งทางด้านเขียนสีน้ำ และอีกหนึ่งท่านคือ อาจารย์สงวน รอดบุญ เก่งทางด้านวาดลายเส้น สีน้ำ ที่โดดเด่นที่สุดก็คือฝีมือในการแยกสีแม่พิมพ์ (บล็อก) เพราะระบบการพิมพ์สมัยนั้นยังใช้บล็อกโลหะเป็นแม่พิมพ์ในการพิมพ์ภาพ ส่วนตัวอักษรก็ใช้ตะกั่วหล่อเป็นตัวอักษร แล้วนำมาเรียงกันในรางเล็กๆ(เรียกว่า เคส)ให้เป็นข้อความตามต้องการ นำไปอัดบนแท่นพิมพ์อีกครั้ง คิดดูเถอะหนังสือพิมพ์รายวันหนึ่งหน้า จะต้องใช้เวลาเรียงตัวพิมพ์นานแค่ไหน แต่แปลกมากๆ บรรดาช่างเรียง(ตำแหน่งที่เรียกในโรงพิมพ์)สมัยนั้น มีความสามารถในการเรียงตัวอักษรเร็วมากๆ

สำหรับบล็อกโลหะที่จะใช้เป็นแม่พิมพ์พิมพ์ภาพหน้าปกนิตยสาร ถ้ามีสี่สีก็ต้องมีสี่แผ่น ที่นี้ละเป็นฝีมือของช่างแยกสี ที่จะแยกสีว่าชิ้นไหนสีอะไร เวลาพิมพ์ต้องพิมพ์ทีละสี เช่น สีแดง สีน้ำเงิน สีเหลือง สีดำ พอพิมพ์ครบสี่ครั้ง ภาพที่ออกมาจะผสมกันอย่างแนบเนียน สวยงามมาก อาจารย์สงวน รอดบุญ ถือเป็นคนมีฝีมือระดับเทพในเรื่องแยกสี ร้านทำบล็อกแถวถนนบ้านหม้อ ตรงข้ามโรงเรียนเสาวภา ต่างยินดีที่จะจ่ายค่าแยกสีให้อาจารย์ไม่อั้น สมัยนั้นหากท่านหยิบนิตยสารฉบับหนึ่งขึ้นมา เปิดเข้าไปหน้าในตรงรายชื่อผู้จัดทำ จะพบข้อความว่า แยกสีโดย สงวน รอดบุญ เกือบทุกฉบับในสมัยนั้น

ข้อมูลจาก //www.1938centuryboy.wordpress.com



Create Date : 04 ธันวาคม 2553
Last Update : 26 ธันวาคม 2559 9:35:32 น.
Counter : 608 Pageviews.

4 comments
  

สวัสดีค่ะคุณหนุ่ม..

เมื่อวานได้มีโอกาสได้ไปนั่งสมาธิและสวดมนต์

ใต้โลหะปราสาท ณ วัดราชนัดดามาค่ะ

และได้เดินดูไฟถนนราชดำเนิน..สวยค่ะ

โดย: คนผ่านทางมาเจอ วันที่: 4 ธันวาคม 2553 เวลา:19:11:04 น.
  
กราบสวัสดีศิษย์ผู้พี่ค่ะ
เพิ่งทราบว่าเรียนที่เพาะช่าง สถาบันเดียวกันแต่ห่างกันหลายปีเลยค่ะ
ปี 2494 นี่ ศิษย์ผู้หลานเพิ่งเกิดค่ะ

โดย: addsiripun วันที่: 4 ธันวาคม 2553 เวลา:23:19:38 น.
  
มีเค้าว่าจะเป็นจิตรกรแล้วนะครับ.
โดย: เจียวต้าย IP: 58.11.27.62 วันที่: 7 ธันวาคม 2553 เวลา:12:24:22 น.
  
นั่นสิ พี่เจียวต้าย แต่ชีวิตมันผันแปร ผมทิ้งพู่กันมาหลายสิบปีแล้ว ทำมาหากินอย่างอื่นเพลินไปเลย
โดย: หนุ่มร้อยปี (หนุ่มร้อยปี ) วันที่: 9 ธันวาคม 2553 เวลา:7:27:01 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

หนุ่มร้อยปี
Location :
กรุงเทพ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 24 คน [?]



บล็อกนี้สร้างสรรค์ขึ้นเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2549 โดย ชายไทยวัยสูงอายุ มีวัตถุประสงค์ในการบันทึกและนำเสนอเรื่องราวต่างๆแบบครอบจักรวาล อาทิ ภาพยนตร์ ดนตรี รายการทีวี หนังสือน่าอ่าน อาหารน่ากิน ท่องเที่ยว สะสมสิ่งของ ตำนานชีวิตบุคคลน่าสนใจ รู้ไว้ใช่ว่า จิปาถะ
ฯลฯ เป็นต้น คำขวัญประจำบล็อก ประสบการณ์ชีวิตที่ดีในอดีต คือทรัพยากรที่ทรงคุณค่าในปัจจุบัน คำขวัญประจำตัวเจ้าของบล็อก "อายุเป็นเพียงตัวเลข" บรรณาธิการบริหารบล็อกคือ หนุ่มร้อยปี บล็อกนี้ไม่สงวนลิขสิทธิ์ตามกฏหมาย ท่านใดเห็นว่าข้อเขียนหรือภาพประกอบในบล็อกนี้มีประโยชน์ สามารถนำไปใช้ได้ แต่โปรดอ้างอิงชื่อบล็อกนี้ด้วย จักขอบคุณยิ่ง